กับ “ความน่าจะเป็น”
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

แต่ไหนแต่ไรมาข้าพเจ้าร่ำร้องอยากจะเป็น 'นาย(ของ)ภาษา' ที่เขียนหนังสือได้ตรงใจตัวเองจริงๆ รวมทั้งรสชาดที่ไม่ผิดเพี้ยนจากใจเลยจนนิด
ปราบดา หยุ่น เขียนไว้ว่า “คนที่อยากจะเป็นคนดี แสดงว่ายังไม่ใช่คนดี” ข้าพเจ้าก็รู้ดีว่าตัวเองยังไม่ใช่นาย(ของ)ภาษา เพราะยังอยากจะเป็นนักหนา
ที่อ้างปราบดาก็เพราะเพิ่งอ่านเรื่องสั้นชุด ความน่าจะเป็น เพื่อความทันสมัยในฤดู‘ซีไรต์’ ข้าพเจ้าไม่เคยพบปราบดา ไม่เคยอ่านการวิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับ ความน่าจะเป็น แค่ได้ยินว่าเกิดปฏิกริยาโต้ตอบหลากหลายต่อการชนะรางวัลซีไรท์ของหนังสือเล่มนี้
ตัวปราบดาเองจะเป็นนาย(ของ)ภาษาหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าคิดว่า ตัวเขาเท่านั้นที่จะรู้ว่าภาษาสื่อความหมายให้เขาได้ถึงใจและตรงใจเขาเองแค่ไหน
ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกแปลกๆว่า ปราบดากับภาษาไม่ใช่นายบ่าว แต่เป็นเพื่อนเล่น เป็นเพื่อนคู่ใจที่สนิท สนุกและบางครั้งก็ซุกซน แล้วก็ยังรู้สึกแปลกๆต่อไปว่า เพื่อนซี้คู่นี้ชวนกันซอกแซก ทดลอง สำรวจตรวจค้นผจญภัย ลากเส้นละเลงสี ภาษาของปราบดาดิ้นได้ และดิ้นได้ดี เพราะดิ้นอย่างมีที่มาที่ไป ไม่ใช่สักแต่ว่าดิ้น เพื่อเป็นขวัญใจคนอ่านรุ่นใหม่ หรืออะไรทำนองนั้น
“…เพลงเบาจากวิทยุในรถ(เมล์) คงเล่าเรื่องราวของสาวน้อยบ้านนาที่เข้าเมืองมาเสียน้ำตาในอ่างน้ำจนตัวเปื่อยใจแป้ว ฟังแล้วกินใจ อยากเป็นวีรบุรุษเข้าไปปลดปล่อยสาวน้อยเหล่านี้จากห้วงอเวจี เหมือนปล่อยสิ่งมีชีวิตในสวนสัตว์ให้เป็นอิสสระ…” อ่าฮ้า…ใช่แล้ว…อัตตาในความสงสาร… หมามุ่ยแสบคันสำหรับ ‘ความดี’ ที่ภูมิพองไปด้วยตัวตน
ในเรื่องสั้นเชิง absurd ชื่อ อะไรในอากาศ ปราบดาล้อเลียนสำนวนโวหารตลอดเรื่องที่มีบรรยากาศที่ข้าพเจ้าอยากเอาเองว่าจะเรียกว่า humorous pseudo-erotic surrealism (เพราะไม่รู้จะเรียกอะไร) เขาใช้อารมณ์ขันฉีกตำราว่าด้วยระดับภาษาที่สอดคล้องกับตัวละครและสถานการณ์ “…ตีนของเธอก็เปล่า และยังมีอีกหลายชิ้นส่วนที่เปลือยเปลี่ยวอยู่ใต้เนื้อผ้า หญิงสาวพูดเสียงแหลมว่า ‘เกิดอะไรที่นี่ ดูเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่ทับถมกันอยู่…”
อันที่จริงอยากจะยกตัวอย่างจากตอนอื่นที่เหมาะเหมงและมีสีสันกว่า แต่กระดากด้วยวัย
ความช่างสังเกตและขี้สงสัยคุ้ยคิดของปราบดา ท้าทายให้เรามองจากสารพัดจุดคิดที่ไม่เคยคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง นักเว้นวรรค และ ตามตาต้องใจ ข้าพเจ้าอ่านสองเรื่องนี้อย่างระมัดระวังเพื่อที่จะได้รายละเอียดพิลึกๆ ที่หลุดร่วงจากสมองคิดอันน่าทึ่งของ 'ผม' ในเรื่องแรก และเด็กหญิงต้องใจในเรื่องหลัง
หนุ่มปราบดาคนนี้มีความเป็นปัจเจกที่เป็นธรรมชาติโดยไม่เสแสร้งหรือโอ้อวด “Let my heart be still a moment and this mystery explore; / ‘It is the wind and nothing more” “ให้ใจฉันนิ่งสักช่วงขณะและหยั่งค้นความลึกลับนี้… / มันเป็นแค่ลม ไม่ใช่อะไรมากไปกว่านั้น” เขาใช้สองบรรทัดจากบทกวีของ Edgar Allan Poe มาโปรยนำหน้าสารบัญ เหมือนจะบอกแต่ต้นว่าเขาไม่ได้คิดว่าสิ่งที่อยู่ในเล่มจะลึกล้ำอะไรนักหนา ก็เพียงแค่ลม… ก็จริง ขนาดชีวิตก็ยังผูกอยู่กับลม หยุดหายใจไม่กี่นาทีจะเหลืออะไร
ข้าพเจ้าชอบรูปถ่ายธรรมดาๆที่เขาใช้นำแต่ละเรื่อง เป็นรูปที่ถ่ายง่ายๆ พื้นๆ ไม่เน้นความเป็นศิลปะแต่ประการใด มีแนวคิดของเรื่องผสมอยู่อย่างไม่ตั้งอกตั้งใจจะให้ชัดเจน
ปราบดาตั้งโจทย์สดใหม่ที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องหมายคำถามในใจตัวเอง เกิดคำตอบหรือการสันนิษฐานที่ค่อนข้างจะลื่นไหลกลายเป็นเครื่องหมายคำถามอันใหม่ คนอ่านจะคิดต่อหรือไม่คิดต่อก็ได้…ตามอัธยาศัย…
เพราะปราบดาเขียนเรื่องเหมือนเล่นว่าว เขาชักซ้ายผ่อนขวาพาไปถึงบรรทัดสุดท้ายให้จบลงด้วยการทิ้งความรู้สึกคันๆ ไว้ให้อยากเกาต่อ เขาไม่ขมวดปมหรือเรียกร้องการตีความ เมื่อว่าวติดลมบนจนได้ที่แล้ว ก็ตัดสายป่านให้ลอยต่อ หรือจะร่อนลงก็ได้
ในเรื่อง นักเว้นวรรค ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเว้นที่ยาวผิดปกติระหว่างตัวอักษรและประโยคในการเขียนของนางสาววันดี 'ผม' สรุปกับตัวเองว่าคำว่า ช่องไฟ น่าจะเป็น ช่องคอย โดยให้เหตุผลสารพัด ในตอนจบ
“…รถเมล์กำลังชะลอความเร็ว ผู้โดยสารกรูกันไปยืนออที่ประตู
‘แล้วเจอกันใหม่นะคะ’
แล้วเธอก็ไป
ผมนั่งนิ่งผ่านช่องคอยอีกเจ็ดช่อง
แล้วผมก็ลง”
เป็นการจบที่เต็มได้ด้วย ช่องคอย ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามี ช่องคอย ช่องใหญ่กว่าเพื่อนหลังประโยคท้ายสุด “แล้วผมก็ลง”
คำว่า 'ช่อง' บวกคำว่า 'คอย' นั้นให้อารมณ์การหยุดรอดูสิ่งที่จะตามมาหรือจะเกิดต่อไป จากประโยคที่เขียนไปแล้ว …หยุด… รอดูซิ…ว่าประโยคที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ช่องคอย มีกลิ่นไอความหวัง ไม่ใช่คอยหาย ต้องมีอะไรต่อซิน่ะ อะไรนั้นคืออะไรnยังไม่ทราบ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ช่องคอย หลังประโยคสุดท้ายของชีวิตก็คงต้องจะยาวสักหน่อย
ขอออกตัวเสียตรงนี้เลยว่าข้าพเจ้าไม่ได้กำลังเขียนบทวิจารณ์ แค่เขียนคุยมาตามใจนึก
ข้าพเจ้าเคยเมินคำว่า 'เขวี้ยง' ว่าเป็นคำต่ำศักดิ์ต่ำศรี ไร้พื้นที่ในพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน จนกระทั่งได้อ่าน ตามตาต้องใจ ตอนครูมดเขวี้ยงชอล์กใส่เด็กหญิงต้องใจ ผู้ยืนหยัดในความเชื่อของตัวเองว่าหนึ่งบวกหนึ่งไม่เป็นสอง ด้วยเหตุผลด้านประสบการณ์ต่างๆ เช่นพ่อหนึ่งบวกแม่หนึ่ง เป็นสามคือพ่อแม่และเด็กหญิงต้องใจ
ข้าพเจ้าคิดเอาว่า 'เขวี้ยง' น่าจะเป็นลูกผสมจาก 'ขว้าง' กับ 'เหวี่ยง' และยอมรับว่าคงไม่มีคำอื่นมาแทนในบริบทนี้ได้ จะใช้ 'ขว้าง' ก็เสียอรรถรส เพราะวิถีและอาการของชอลค์ที่ถูก 'ขว้าง' ย่อมไม่เหมือนชอลค์ที่ถูก 'เขวี้ยง' ซึ่งมีวิถีที่โค้งบิด และรสชาติหงุดหงิด
ชอล์กโดนที่โหนกแก้มซ้ายเด็กหญิงต้องใจพอคันๆ แต่ครูมดนักเขวี้ยงกลับเป็นฝ่ายน้ำตาไหล
“เด็กหญิงต้องใจสรุปว่า การตอบตามความคิดคนส่วนใหญ่ คือปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตและเอาตัวรอด การตอบตามความคิดตัวเองคือปัจจัยหนึ่งในการนอนตาหลับ เด็กหญิงต้องใจยังสรุปได้อีกว่า 'ระหว่างคนเขวี้ยงกับคนถูกเขวี้ยง คนเขวี้ยงเจ็บมากกว่า…' ”
นับว่าการถูก 'เขวี้ยง' นำเด็กหญิงเจ้าปัญหาไปสู่ปัญญาในระดับที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ว่าแล้วก็อดสงสัย
ไม่ได้ว่าเมื่อเด็กหญิงต้องใจโตขึ้น เธอจะมีอะไรมิอะไรที่คล้ายนายปราบดาไหมหนอ
ชอบการบรรยายดวงตาของเจ้าปลงใน ด้วยตาเปล่า “… เหมือนมีกระแสไฟฟ้าแรงสูงลัดวงจรจนแตกเป็นประกายแวบวับอยู่เป็นหย่อม เหมือนมีฝนแสนห่าที่ต้องฝ่าแสนหน…”
ภาษาไทยเรามีอายุหลายร้อยปี ที่ยังกระฉับกระเฉงกะปรี้กะเปร่าเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ก็เพราะคงจะเป็นเพราะมีเพื่อนเล่นที่มีชีวิตชีวาเปลี่ยนหน้ากันเข้ามามาทุกยุคทุกสมัย
อ่านงานชุดนี้ของปราบดา หยุ่นแล้ว ข้าพเจ้าเห็นทีจะเลิกอยากเป็นนาย(ของ)ภาษา ลองเป็นเพื่อนเล่นดูบ้างจะเป็นไร ว่าไปแล้วเพื่อนอาจจะทำให้เพื่อนได้ดีกว่าบ่าวรับใช้นายก็เป็นได้
จาก : มติชนสุดสัปดาห์