top of page

กาพย์เห่เรือ ภาคภาษาอังกฤษ



“เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียงไปทั้งหมู่

ตัวเดียวมาพลัดคู่ เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย”


“SIGHS OH, SIGHS OF YEARING

FLYING BIRDS SLANT THE SKY

ONE FILES ALONE WITHOUT A MATE

AS ALONE AND LONELY AS I”


บทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (หรือที่สามัญชนเรียกว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง”) ข้างต้นนี้ ณ วันนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสนองพระราชดำริแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะทรงพระราชทานเผยแพร่วรรณกรรมไทยว่าด้วยเรื่องธรรมชาติแก่พระราชอาคันตุกะชาวต่างประเทศโดยคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน


กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งนั้นเป็นบทเห่เรือที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ว่าเป็นบทกาพย์เห่เรืองที่มีความไพเราะ มีลักษณะเฉพาะไม่ซ้ำแบบใคร และมีอิทธิพลแก่กวีรุ่นหลังเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงเป็นบุคคลแรกที่ทำให้กาพย์เจริญถึงขีดสุด บทประพันธ์ของพระองค์เพียบพร้อมไปด้วยเรื่องของธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 4 ตอน ประกอบด้วยบทชมกระบวนเรือ บทชมปลา บทชมไม้ และบทชมนก ซึ่งเป็นตำนานของบทกวีโบราณที่มักพรรณนาถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในขณะทรงเรือประพาส นัยว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปินของกษัตริย์ไทยและกวีหลายท่าน เมื่อทรงเรือประพาสมักให้เกิดอารมณ์และพลังสุนทรีย์ในการประพันธ์บทกวีถ่ายทอดอารมณ์ทุกครั้งคราไป


บทประพันธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งนั้นมุ่งเน้นด้านความไพเราะสัมผัสเป็นเยี่ยม มีทั้งสัมผัสนอกสัมผัสใน ทั้งสัมผัสสระและอักษร ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งท้าทายอย่างสูงสำหรับผู้แปลในอันที่จะคงคุณค่าทางวรรณกรรมนั้นไว้ซึ่งคุณหญิงจำนงศรีได้ปรารภว่า


“ความยากลำบากคงอยู่ที่การพยายามเลือกใช้เสียงให้ได้ความรู้สึกใกล้เคียงกับเสียงเดิมมากที่สุด ให้รู้สึกได้ว่าเป็นบทกวีของไทย ภาษาไทยนั้นเล่นคำเยอะมาก ทั้งคำพ้อง คำซ้ำ สัมผัสนอก สัมผัสใน ต้องพยายามหาคำที่ตรงความหมายเดิมด้วย อย่างเช่น บทชมปลาบทหนึ่งที่ว่า 'น้ำเงิน คือเงินยวง 'คำว่า 'น้ำเงิน ' โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่าคือ 'BLUE ' แต่สำหรับบทกวีนั้น มันไม่ใช่ เพราะถ้าใช้คำนั้น ความหมายจะผิดไปทันที ต้องใช้คำว่า 'SILVER DEW ' จึงได้ความหมายที่ถูกต้อง ต้องศึกษาอย่างละเอียดในการใช้คำต่างๆ อย่างบางคำต้องไปถามชาวบ้านว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร เช่นคำว่า 'แห ' ในบทชมปลาบทหนึ่งว่า 'กระแหแหห่างชาย ' ถามดูจึงรู้ว่า 'แห ' นั้นหมายถึงอาการว่ายหนีคนอย่างหนึ่งของปลากระแห จึงแปลออกมาได้ว่า 'AFFRIGHTED STARTLE FISH FLEE FROM MEN ' ตรงนี้ต้องขอขอบคุณชาวบ้านไว้ ณ ที่นี้ เพราะถือว่าเป็นผู้ไขความกระจ่างให้”"


การแปลกาพย์เห่เรือของคุณหญิงเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเวลา 2 สัปดาห์ โดยท่านใช้สถานที่สงบยิ่งในการแปล “ดิฉันไปนั่งแปลที่วัด เพราะว่าสงบดี วัดแรกที่วัดเขาสันติ และอีกวัดหนึ่งคือวัดดอนธรรมเจดีย์ ได้ถือโอกาสปฏิบัติธรรมไปด้วย”



(หนังสือ VERSES FOR THE ROYAL BARGE PROCESSION BY PRINCE DHAMMADHIBET, Translation by Khunying Chamnongsri Rutnin,)




บทกาพย์เห่เรือภาคภาษาอังกฤษที่เสร็จสมบูรณ์แล้วนั้นได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในนาม “VERSE FOR THE ROYAL BARGE PROCESSIONS” อันประกอบไปด้วยบทกาพย์เห่เรือดั้งเดิมของเจ้าฟ้ากุ้ง และบทแปล เป็นภาษาอังกฤษของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของกระบวนเรือ พันธุ์ปลา พันธุ์นก และพันธุ์ไม้ ว่าด้วยชื่อเรียกทางกวีชื่อเรียกสามัญภาษาไทย ชื่อทางวิทยาศาสตร์ และแหล่งที่อยู่อาศัยพร้อมภาพวาดประกอบ


เป็นที่น่าภาคภูมิใจของเราประชาชนชาวไทย ที่ได้มีวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมภาคภาษาอังกฤษเล่มแรก เผยแพร่คุณค่าสู่สายตาชาวต่างชาติแล้ว ณ วันนี้



 

ที่มา ; บทความจากหนังสือพิมพ์ ? ฉบับวันที่ 21-22 พ.ค. 2537




ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page