top of page

แฮร์รี พอตเตอร์ กับเหรียญสองหน้า

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



เมื่อปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ฟังคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของทศวรรษพูดถึงประโยชน์ของความล้มเหลว ให้คนหนุ่มคนสาวที่กำลังปลาบปลื้มกับความสำเร็จของตนเองฟัง


คนพูดคือนักเขียนผู้ประพันธ์หนังสือเรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์


คนฟังที่เป็นกลุ่มเป้าหมายการปราศรัย คือ บรรดาบัณฑิตใหม่ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับยอดสุดของสหรัฐอเมริกา


แฮร์รี พอตเตอร์ เป็นหนังสือเด็กและเยาวชนชุดที่มียอดขายทำลายสถิติโลก ตั้งแต่เริ่มวางตลาดเมื่อ 11 ปีมาแล้วหนังสือชุดนี้มียอดขายสูงกว่า 400,000,000 เล่ม ได้รับการแปลและ มีแฟนนักอ่านผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยกว่าเด็กกับวัยรุ่น ครั้นมีผู้นำมาทำเป็นภาพยนต์ก็ทำลายสถิติโลกอีกนั่นแหละ




จึงมีนักอ่านและคนรักภาพยนตร์น้อยคนนักที่ไม่รู้จักชื่อ แฮร์รี พอตเตอร์ (Harry Potter) พ่อมดน้อยกำพร้าผู้อาภัพผู้ยืนหยัดต่อสู้ป้องกันการกลับคืนสู่อำนาจและชีวิตอมตะของโวลเดอมอร์ (Voldermort) จ้าวแห่งศาสตร์มืด ผู้ทรงพลังโหด และสามารถแยกวิญญานไปแฝงไว้ในหลายรูปกายและแห่งหน มิหนำซ้ำยังมีสมุนที่เลวร้ายสารพัดประเภท

หนังสือเล่มแรกจับความตอนแฮรี่อายุครบ 12 ส่วนเล่มสุดท้าย (เล่มที่ 7) จบลงเมื่อเขาพิชิตโวลเดอมอร์ได้สำเร็จในวัยสิบหก บทปิดท้ายกล่าวถึงแฮรี่ในบทบาทพ่อที่มาส่งลูกทั้งสามขึ้นรถไฟไปโรงเรียนฮอกวอตส์ เหมือนตัวเขาในเล่มแรก คนอ่านติดตามอย่างจดจ่อเพราะผู้เขียนเพิ่มความซับซ้อนลุ่มลึกเข้มข้นของเรื่อง ตัวละคร ความคิดและภาษาขึ้นตามวัยพ่อมดน้อย

เมื่อแรกที่ แฮร์รี พอตเตอร์โด่งดังฮือฮาขึ้นมานั้น นักวิจารณ์แตกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่เห็นว่าเป็นนิยายไร้สาระ กับกลุ่มที่เห็นว่าหนังสือแสนสนุกเล่มนี้รุ่มรวยวรรณศิลป์ แง่คิดด้านจริยธรรมและปรัชญาหลายมุมหลายระดับ ส่วนข้าพเจ้าเองนั้น ยิ่งอ่านอย่างละเอียดเท่าใด ก็ยิ่งเห็นด้วยกับกลุ่มหลัง

มาวันนี้นักวรรณกรรมโลกจำนวนมากฟันธงกันแล้วว่า แฮรี่ พอตเตอร์ มีคุณค่าเข้าข่ายวรรณกรรมคลาสิก อย่างไม่ต้องสงสัย


แล้วตัวนักเขียนงานชุดนี้ล่ะ เป็นใคร.. มีปากกาที่ร่ายเวทย์เสกมนต์ได้ เหมือนไม้วิเศษของบรรดาพ่อแม่มดในเรื่อง งั้นหรือ


J.K. Rowling

ภาพจากhttps://news.harvard.edu/gazette/story/2008/06/text-of-j-k-rowling-speech/


ในความเป็นจริง เธอเป็นหญิงสาวร่างบางชาวอังกฤษ ชื่อ Joanne K. Rowling (J.K. Rowling) เธอเคยผ่านชีวิตที่ตกต่ำอับโชค เมื่อ แฮร์รี พอตเตอร์ แรกวางตลาดนั้น เธอเป็นหม้ายลูกติด วัยสามสิบเศษ แต่งงานได้ปีเดียวก็หย่าร้าง เธอบอกคนฟังว่าตอนนั้นเธอ “ยากจนที่สุด ที่คนอังกฤษจะจนได้ โดยไม่ถึงเร่ร่อนนอนข้างถนน” และสำหรับเธอ “แสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์นั้นมีเพียงแค่ในความคิดหวัง”


เมื่อ ‘แสงริบหรี่’ นั้น เกิดโชติช่วงเจิดจ้าขึ้นมาจริง JK Rowling ก็กลายเป็นมหาเศรษฐีใจบุญที่จัดตั้งองค์กรเครือข่ายการช่วยเหลือผู้คนที่ด้อยโอกาศและเดือดร้อนในมากมายหลายด้าน

และในกลางปี 2551 เธอก็ได้รับเชิญไปเป็นผู้ปราศรัย ในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งมีทั้งบัณฑิต ผู้ปกครอง คณาจารย์และแขกอื่นๆเข้าฟังอย่างล้นหลาม กล่าวขวัญกันว่าการปราศัยครั้งนั้น ‘สุดยอด’ เพราะเป็นการพูดที่หนักแน่นด้วยสาระ งดงามด้วยลีลาภาษา ประปรายด้วยอารมณ์ขันที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนฟังได้เป็นระยะ ตลอดเวลาร่วมชั่วโมงที่เธออยู่หน้าไมโครโฟน


ใครที่อ่านแฮรี่พอตเตอร์อย่างวินิจวิเคราะห์จะรู้ดีว่า JK Rowling ชอบพลิกมองเหรียญทั้งสองหน้าของทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความดีความเลว หรือชีวิตกับความตาย และอื่นๆอีกมากหลาย มีตัวอย่างให้เห็นได้ในรายละเอียดที่ถักประสานอยู่ในนิยายยอดนิยมเรื่องนี้ให้หยิบยกมาได้ตลอดทั้งเรื่อง


ตัวอย่างหนึ่งในแง่ความดีความเลว คือ การที่มีชิ้นส่วนวิญญานที่เลวร้ายของโวลเดอมอร์แฝงฝังอยู่ใน

แฮร์รีที่มีจิตใจสะอาดสุจริต โดยที่ทั้งตัวแฮร์รีเองและคนอ่านไม่รู้ไม่แม้เฉลียวใจ (Rowling ให้เห็นว่าจิตส่วนลึกของคนดีที่ยังเป็นปุถุชนนั้น ก็ยังมีกิเลสที่ละเอียดซับซ้อนที่ซ่อนตัวอยู่ การพิชิตความเลวร้ายภายนอกก็จะยากกว่าที่หลงคิด)

จนกระทั่งใกล้จะจบเรื่องแฮร์รีจึงรู้ความจริงข้อนี้ และต่อเมื่อเขายอมรับและสละตัวตนเพื่อสลายชิ้นส่วนอันเลวร้ายนั้นให้สูญสิ้น เขาจึงสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายในการปราบอธรรมอย่างกล้าหาญงามสง่า แฮร์รีไม่เคยใช้ไม้วิเศษที่ชื่อ Elder Wand ต่อสู้โวลเดอมอร์ ทั้งๆที่มันทรงอำนาจในการเข่นฆ่าเหนือไม้วิเศษอื่นใด และทั้งๆที่ Elder Wand นั้นเลือกเขาให้เป็นเจ้าของมันโดยชอบธรรม

ในตอนจบแฮร์รีเลือกที่จะคืนไม้วิเศษแห่งอำนาจทำลายล้างนี้ให้คนที่ตายไปแล้ว เป็นการคืนมันสู่ธรรมชาติ (“ให้กลับไปที่ที่มันมา” แฮร์รีว่า) แทนที่จะเก็บไว้เป็นสมบัติของตน ข้าพเจ้ามองการคืน Elder Wand นี้เป็นนัยยะแห่งสัจจธรรมว่า ไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งมีไตรลักษณ์เป็นสามัญลักษณะ

ในสายตาของข้าพเจ้า เหรียญสองหน้าที่ JK Rowling พลิกมองได้อย่างงามสุด คือเรื่องชีวิตและความตายซึ่งสอดกระสายอยู่ตลอดเรื่อง

ในเล่มสุดท้าย Rowling ทำให้เห็นว่า การที่แฮร์รีน้อมรับความตายของตัวตนที่มีชิ้นส่วนความเลวร้ายของโวลเดอมอร์ผู้เปี่ยมล้นด้วยโลภโกรธหลง ทำให้เขากลับอยู่รอดอย่างสันติสุข แต่โวลเดอมอร์ซึ่งต่อสู้ไขว่คว้าชีวิตอมตะมาเป็นของตน กลับต้องพบความตาย

สำหรับโวลเดอมอร์นั้น ชีวิตเขาก็เป็นเพียง ‘half-life’ ชีวิตเงาๆ ที่วนเวียนอยู่กับอดีต (อำนาจที่เคยมี) และอนาคต (ความหวังจะได้อำนาจมาครองไว้ชั่วกาลปาวสาน) มายาแห่ง 'ตัวกู ของกู' ทำให้เขาคุคลั่งอหังการ์ท้าทายกฏแห่งไตรลักษณ์ จึงต้องรนร้อนทุรนรายทั้งในความเป็นและความตาย





ทำให้นึกถึงคำสอนท่านอาจารย์ในเรื่อง 'ตายก่อนตาย' ว่าถ้ายึดมั่นถือมั่นในตัวตนก็ไม่พ้นทุกข์จากโลภโกรธหลง ชีวิตก็ต้องรุ่มร้อนเหมือนไฟนรกลน แต่ผู้ที่น้อมรับความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตและวางความยึดมั่นใน'ตัวกู ของกู'ได้ ก็คือคนที่รู้จักตายก่อนตาย ไม่มีอะไรต้องกลัว ต้องยื้อ ต้องโหยหา ชีวิตก็สุขเย็นเป็นธรรมดา

ไม่น่าแปลกใจที่ Rowling นักพลิกเหรียญมือฉมัง จะเปิดประเด็นการปราศรัยด้วยใบหน้าระบายรอยยิ้มว่า“...ในโอกาสที่พวกคุณกำลังเฉลิมฉลอง’ความสำเร็จ’ ฉันจะขอพูดถึง คุณประโยชน์ของความล้มเหลว ...และในขณะที่พวกคุณกำลังจะก้าว(จากรั้วมหาวิทยาลัย)ไปสู่สิ่งที่เรียกกันว่า ‘ ชีวิตจริง’ ฉันจะขอกล่าวเชิดชู ความสำคัญอันยิ่งยวดของจินตนาการ.....”


Rowling เล่าว่า เธอเคยผ่านการล้มเหลวอย่างสุดๆนานาด้าน ทั้งชีวิตส่วนตัว ฐานะสังคมและการงาน แต่จุดต่ำสุดนั่นแหละที่เป็นพื้นฐานในการสร้างสรรงานที่พาเธอขึ้นพ้นหุบเหว


ความล้มเหลวไม่งดงามหรือน่านำมาโอ้อวดแต่ประการใด เธอว่า “แต่ทำไมฉันถึงจะพูดถึงคุณประโยชน์มันล่ะ.... ก็เพราะมันเคือการหลุดลอกของทุกสิ่งที่นอกความจำเป็น ฉันเลิกคิดว่าตัวเองจะเป็นอะไรอื่นได้นอกจากตัวเอง แล้วทุ่มพลังทำงานชิ้นเดียวที่มีความหมายกับชีวิตฉันให้เสร็จสิ้น (หนังสือแฮรี่ พอตเตอร์เล่มแรก)... ความล้มเหลวปลดปล่อยฉันให้เป็นอิสสระ เพราะสิ่งที่เคยกลัวที่สุดได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ฉันก็ยังมีชีวิต มีลูกสาวสุดที่รัก มีพิมพ์ดีดเก่าคร่ำคร่า และมีความคิดใหญ่ในสมอง ฉะนั้น หินดาลแห่งความ

ล้มเหลว(rock bottom)นั่นแหละ ที่เป็นฐานให้ฉันสร้างชีวิตใหม่... มันสอนฉันให้รู้ตัวเองอย่างที่ไม่มีอะไรอื่นจะสอนได้... ปัญญาและความเข้มแข็งจากวิกฤตการณ์ชีวิตทำให้เราหนักแน่นมั่นคงภายใน...”


Rowling บอกหนุ่มสาวที่กำลังปลื้มเปี่ยมกับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยชั้นยอดแห่งนี้ว่า “...ความสุขอยู่ในใจที่ตระหนักรู้ว่า ชีวิตไม่ไช่รายการทรัพย์สินหรือความสำเร็จ... คุณวุฒิ ประวัติการเรียนการทำงาน(CV) ไม่ใช่ชีวิตคุณ ถึงแม้คุณอาจจะพบคนในวัยต่างๆ ที่ไม่สามารถจะแยกมันออกจากกัน... ชีวิตซับซ้อนและอยู่นอกเหนือการควบคุมเบ็ดเสร็จของผู้ใด การเข้าใจน้อมรับสัจธรรมข้อนี้จะทำให้เราอยู่รอดเมื่อพานพบทุกข์ภัยในชีวิต...”

ฟังถึงตรงนี้แล้วก็อดสรุปในใจไม่ได้ว่า ทุกข์สำหรับ Rowling ไม่เพียงแค่สร้างความเข้มแข็งอดทน แต่มันเป็นวัตถุดิบไห้เธอได้พิจารณาปัจจุบันอย่างเป็นจริง ไม่คิดฝันปรุงแต่งหรือจมจ่อมในอารมณ์

พูดใด้ว่าเธอก้าวพ้นความล้มเหลวด้วยสติปัญญา เพราะแทนที่จะเปลืองพลังและเวลาโทษสิ่งภายนอก เธอกลับตั้งสติพิจารณา‘ไพ่’ที่เหลืออยู่ในมือ แทนที่จะน้อยใจในโชคชะตา เธอกลับขอบใจมันที่ช่วยกะเทาะทิ้งชีวิตส่วนเปลือก ปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระจากความกลัวและการคาดหวัง มิหนำซ้ำยังเป็นปัจจัยให้เธอตระหนักรู้ถึงเหตุของความทุกข์ใจ ตลอดจนความเป็นอนัตตาของชีวิต

จากเรื่องความล้มเหลว Rowling ก็พลิกเข้าสู่เรื่อง 'ความสำคัญของจินตนาการ' ตามประสานักพลิกสัมผัสสองด้านเหรียญชีวิต

Rowling ชี้ให้เห็นว่าขอบเขต ‘จินตนาการ’ ไม่ได้อยู่แค่เรื่องของการคิดฝัน ทว่ามันเป็นพลังความสามารถที่จะรู้สึกร่วมกับเพื่อนมนุษย์ที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างจากตน เธอว่า " ‘จินตนาการ’ มีศักยภาพที่จะแปรจิตสำนึก เปิดประตูสู่วุฒิภาวะและมุมมองที่กว้างใกลในการเรียนรู้ "


เธอเล่าว่าในวัย 20 ต้นๆ นั้น เธอทำงานในแผนกค้นคว้าขององค์กร Amnesty International กรุงลอนดอน เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยการเมืองจากประเทศต่างๆ ที่ถูกขู่เข็ญ บีบคั้น หรือเป็นเหยื่อการทารุณกรรม ส่วนใหญ่เป็นคนกล้าที่ท้าทายอำนาจอธรรมและโหดร้ายของรัฐบาลประเทศตน

เธอได้เคยอ่านจดหมายและบทความที่ถูกลักลอบออกมา ได้เห็นภาพคนที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย ภาพเหยื่อการทรมาณข่มขืนฆ่าฟัน เพื่อนร่วมงานเธอหลายต่อหลายคนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้ ที่หนีออกมาได้

เหตุการณ์ที่ฝังจิตฝังใจเธอมีมากหลาย เช่น เมื่อชาวแอฟริกันที่เคยถูกทรมาณจนแทบเป็นบ้า กลับมีน้ำใจอวยพรเธออย่างแสนสุภาพให้เธอมีชีวิตที่เป็นสุข หรือเช่น เมื่อเธอได้ยินเสียงร้องอย่างโหยหวนจากชายหนุ่มที่รับข่าวว่าแม่เขาถูกประหารชีวิต เพราะบทบาททางการเมืองของเขาเอง

ความสะเทือนใจเหล่านี้ มีส่วนสร้างจินตนาการที่เข้าถึงความทุกข์สุขของผู้อื่นซึ่งมีเมตตากรุณาผสมเจืออยู่โดยธรรมชาติ ณ วันนี้ งานสำคัญด้านหนึ่งของ Rowling คือการให้ทั้งทุนและสติปัญญาในการช่วยเหลืองานของ Amnesty International

และจินตนาการส่วนนี้แหละที่ให้ชีวิตชีวาความลุ่มลึกกับตัวละครและเรื่องราวใน ‘แฮร์รี พอตเตอร์’ วรรณกรรมชุดนี้คงไม่ได้รับการยอมรับจากนักอ่านถึงระดับบรรลือโลกเช่นนี้ ถ้ามีแต่ความสนุกโลดโผนลึกลับที่กลวงโบ๋ในแง่ความรู้สึกนึกคิด เรื่องราวของนักต่อสู้ที่ต้องทุกข์ทรมาณจากอำนาจรัฐที่โหดเหี้ยมนั้น เป็นแรงบันดาลใจสำคัญใน ‘แฮร์รี พอตเตอร์’ เล่มที่ชื่อว่า Prisoner of Azkaban (นักโทษแห่งแอสคาบัน)


ที่ Amnesty International JK Rowlingได้รับรู้รับเห็น “ความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์เพื่อที่จะได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจ” แต่เธอก็ได้สัมผัสคนที่ทุ่มเทพลังกายใจเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ที่ตัวเองไม่เคยรู้จักหรือพบเห็น “พลังจินตนาการ ก็เหมือนเวทย์มนต์พ่อมดแม่มดในนิยายของฉันนั่นแหละ มันเป็นพลังกลาง ที่เราอาจใช้ ทั้งเพื่อเอารัดเอาเปรียบ และเพื่ออกเห็นใจช่วยเหลือปัดเป่าทุกข์ให้ผู้อื่น... ทว่าหลายคนก็เลือกที่ไม่ใช้จินตนาการด้านนี้ แต่จะคุดตัวอยู่ในแค่ประสบการณ์ของตัวเอง ไม่เคยคิดที่จะสงสัยว่าคนอื่นที่ไม่ได้เกิดมาสบายอย่างเราเขารู้สึกอย่างไรกัน”




Rowling เรียกร้องบัณฑิตใหม่ฮาวาร์ดที่มีศักยภาพและโอกาสในชีวิตมากกว่าชาวโลกส่วนใหญ่ ให้ไม่นิ่งดูดายกับอธรรมความโหดร้ายในโลกกว้าง ใน แฮร์รี พอตเตอร์ เธอให้เนวิล ลองบอตทอม เด็กที่ขี้ขลาดที่ชอบอยู่อย่างปลอดภัยในมุมสงบของตนเอง กลายเป็นผู้กล้าหาญเผชิญหน้าโวลเดอมอร์ และพลิกสถานการณ์ให้ฝ่ายแฮร์รีได้มีโอกาสเข้าถึงชัยชนะในที่สุด

ปากกามนต์ขลังของ Rowling ดูเหมือนจะเป็นผลิตผลของมนุษย์ที่สามารถถอยออกมามองตนมองอัตตามนุษย์ มองสังคมโลกด้วยสติ ปัญญา และจิตที่โอนโยนหนักแน่นด้วยพรหมวิหารทั้งสี่

 

ตีพิมพ์ใน ธรรมะมาตา




ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page