top of page

ศิลปะ ความแกล้วกล้า และอารมณ์ขัน ของคนรุ่นใหม่ใน “ฟ้าทะลายโจร”

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



ถึง ฟ้าทะลายโจร ไม่ได้เป็นภาพยนต์ยอดเยี่ยมในการประกาศรางวัลตุ๊กตาทองปีนี้ แต่ก็ได้รับรางวัลที่สมควรที่จะได้เป็นอย่างยิ่งถึง 3 รางวัล คือ รางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลกำกับศิลปยอดเยี่ยม และรางวัลเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม


ก็เลยขอฉวยโอกาสเขียนย้อนหลังถึงหนังไทยที่คนรักภาพยนต์ควรดูที่สุดเรื่องนี้ ควรดูแต่ส่วนใหญ่พลาด เพราะหนังตัวอย่างและสื่อโฆษณาที่ออกมาในช่วงนั้นทำให้รู้สึกไปในทำนองว่า “หนังบ้าๆ อะไรกันนี่”


ข้าพเจ้าเองก็ไม่ยอมไปดู จนกระทั่งอีกสามวันหนังจะลาโรง ลูกสาวคนโตลิ่วรถมาครึ่งลากครึ่งจูงบังคับไป เพราะเขาเพิ่งได้ดูมาแล้วและรู้สึกตื่นเต้นมาก วันนั้นแม่ลูกเข้าไปนั่งรอหนังฉายอย่างวังเวงใจ เพราะทั้งโรงมีคนไม่ถึง 20 คน


แล้วข้าพเจ้าเองก็ต้องกลับไปดูเป็นครั้งที่สองในรอบสุดท้ายของการฉาย ชวนอาจารย์นิตยา มาศะวิสุทธิ์ไปด้วย…เป็นครั้งที่สองของอาจารย์เหมือนกัน… ด้วยหลงรัก ฟ้าทลายโจร อย่างถอนตัวไม่ขึ้น


หลงรักอะไรบ้างเดี๋ยวจะขยายความตามรายละเอียดเท่าที่จะเขียนได้ในเนื้อที่อันจำกัด แต่ตรงนี้จะพูด รวมๆ ก่อนว่า ถ้ามีเด็กผู้ชายตัวน้อยมายื่นช่อดอกไม้ พร้อมเอ่ยถ้อยคำที่แสนโรแมนติกว่า “รักคุณเท่าท้องฟ้าและจะรักตลอดไปจนไม่มีท้องฟ้า…” ด้วยจริงใจ ก็คงจะรู้สึกคล้ายตอนที่ดู ฟ้าทะลายโจร คือ ขำขัน ชื่นใจ สดใส สนุก และแปลกใจตัวเองที่อดซาบซึ้งหวั่นไหวไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากสุดท้ายของฟ้าทะลายโจรนั้น ทำให้รู้สึกเศร้าสะเทือนเหมือนโดนชกโดยไม่ทันตั้งตัวระวังใจ


ทำไมล่ะ… ก็เพราะมัวแต่ขบขันเพลิดเพลินอยู่กับความเปรี้ยวหวาน มัน เค็ม และความเหลือเชื่อ เหลือเกิน ของหนังที่ไปเก็บเอารสชาติละครเวทียุคเวิ้งนครเขษม มาคลุกเคล้ากับรสชาติหนังไทยยุค สุรสิตย์ สัตยวงศ์ เหยาะเชื้อหนังสือประเภทเสือดำ เสือใบของ ป. อินทรปาลิต แล้วหั่นมะกอกฝรั่งเข้าไปปรุงให้ถูกลิ้นคนรุ่นใหม่ ก่อนที่จะยำใหญ่ส่วนผสมทั้งหมดนี้ด้วยวิธีการเชิงครีเอทีฟโฆษณา จะเรียกได้ไหมว่า ฟ้าทะลายโจร เป็นงาน post modern ที่ได้นำองค์ประกอบและรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง วรรณกรรม ละคร ภาพยนตร์ หรือศีลปะ ที่มีมาจากอดีตมาเลือกรื้อแล้วประกอบขึ้นเป็นรูปแบบใหม่ ที่มีความเป็นตัวของตัวเองของคนรุ่นใหม่

แน่ๆ ว่าความใสสะอาดดั่งสายฝนของ ฟ้าทะลายโจร ไม่ได้มาจากความไร้เดียงสาของเด็กวัยใสสะอาด แต่จากศิลปะอันประณีต และการสรรสร้างที่ละเอียดอ่อนซ้อนซับ ทำให้ดูครั้งแรกสนุกด้วยเรื่องราว ลีลา แสง สี เสียง และองค์ประกอบสารพัด ดูครั้งที่สองยิ่งเพลิดเพลินด้วยรายละเอียดมากมายที่มองข้ามไปในครั้งแรก


ออกจากโรงก็นึกเลยไปเทียบกับ ไททานิค หนังที่ทำเงินมหาศาลของฮอลลีวูด เพราะทั้งคู่เป็นหนังย้อนยุคที่เอาเรื่องราวในอดีตมาขายคนรุ่นใหม่ ทั้งคู่จับแนวรักอมตะแสนเศร้าเทือกแถวดอกฟ้ากับหมาวัด หรือนางในกับไอ้โจรเป็นแกน มีพระเอกที่บังอาจก้าวข้ามเส้นแบ่งชนชั้น ฐานะ และอุปสรรคนานานับ รวมทั้งพันธะที่ผูกมัดนางเอกไว้กับคู่หมั้นที่ดูจะเหมาะสมกันดังกิ่งทองกับใบหยก แล้วก็จบลงด้วยการที่พระเอกเสียสละทุกอย่างเพื่อความรัก


ความหวานซึ้งของแจ๊คกับโรส หยอดน้ำเชื่อมจนรำๆ ให้รู้สึกเอียน ในขณะที่รักหวานช้ำระกำเลือดของเสือดำกับรำเพยนั้น เหมือนจะยืดอกท้าทายความเอียน จนเอียนไม่ลง


ทั้งนี้เพราะ ไททานิค สร้างขึ้นโดยมุ่งหมายเป็นหนังใหญ่เอาใจคนดูเพื่อประโยชน์ทางการตลาดอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งใช้สูตรและวิธีการต่างๆของฮอลลีวูดที่เห็นผลด้านการขายมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจ หรือเรื่องราวอันแสนโรแมนติกบนพื้นหลังเหตุการสะเทือนใจในประวัติศาสตร์ ตลอดจนเพลง theme song อันหวานหนึบเอาใจตลาดอย่าง My Heart Will Go On

หากทว่า ฟ้าทะลายโจร นั้นเห็นได้ชัดว่าเกิดจากความอยากท้าทาย เป็นหนังที่สรรสร้างด้วย อารมณ์ขัน ฝีมือ จินตนาการ และความ ‘มัน’ ของคนรุ่นใหม่ที่ "ร้อนวิชา…อยากยืดเส้นยืดสาย…” เหมือนอย่างที่ท่านเจ้าคุณเจ้าเมืองสุพรรณ (ไพโรจน์ ใจสิงห์) มองนายร้อยตำรวจเอกกำจร (เอราวัติ เรืองวุฒิ) เมื่อผู้กองหนุ่มหน้าใสใจกล้า เสนอขอนำกองกำลังตำรวจออกไปสยบเสือฝ้ายใจเหี้ยม ที่ไม่เคยรู้จักคำว่าปราชัย


ถึงตรงนี้จะลงรายละเอียดบางอย่างใน ฟ้าทะลายโจร ที่ทำให้ข้าพเจ้าหลงรัก


ข้อหนึ่ง… หลงรักความกล้าหาญชาญชัยของผู้สร้าง ที่ดึงเอารูปแบบเก่าๆ เพลงเก่าๆ เรื่องน้ำเน่าแบบเก่าๆ เชยๆ มาเล่นแร่แปรธาตุอย่างผาดโผน ฉีกไปฉีกมากับการนำเสนอและวิธีการที่ท้าทายกับคำถามว่า “ทำไปทำไม จะบ้าหรือ” จากแฟนหนังไทยส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกับหนังที่เหมือนจริง หรือเหนือจริงที่ดูเหมือนจริง หากแต่ความไม่เหมือนจริงของ ฟ้าทะลายโจร กลับทำให้รู้สึกอิสระใจที่จะหลุดเข้าไปในความสนุกสนานแบบแกว่งซ้ายป่ายขวาไปกับอารมณ์ที่เวี่ยงไปเวี่ยงมาของหนัง ความสนุกแบบนี้คงไม่ทำให้หลงรัก ถ้าวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงกับทีมงานของเขา ขาดความ 'มัน' และความกล้าด้านศิลปะ


…หลงรักความสวยสุดๆ ที่แสนเว่อร์ จากการจงใจจัดวางภาพ จงใจจัดใช้เทคนิคแต่งสีอย่างไม่กลัวจะไกลธรรมชาติจนกู่ไม่ถึง มีภาพมากมายหลายภาพที่ช่างสวยเหลือใจ ไม่ว่าจะเป็นศาลาคอยนางกลางบึงบัวพรายสายฝน หรือนางเอกแสนสวยเอวมดตะนอยกระโปรงบานที่ชายตาเชิดคาง ค่อยๆ ก้าวลงบันได ลาดพรมแดงมายืนกลางกระไดกว้างกลางจอเป๊ะ มิหนำซ้ำยังมีผู้กองกำจรยืนตรงรออยู่ในจุดที่พอดีเป๊ะอีกนั่นแหละ

ที่วิเศษไม่แพ้กันคือภาพ close up ควันปืนขาวที่เลื่อนไหลจากปลายกระบอกปืนสวยไม่มีที่ติ แล้วลอยม้วนบิดช้าๆ เหมือนมือนางรำก่อนที่จะค่อยๆ จางจายหายไป ภาพเลือดที่พุ่งเป็นลำโค้งขึ้นแล้วตกลงเหมือนสายทับทิม และความสดจ้านของสีสรรที่กัดกันอย่างเย้ยตาคนดู เช่น ชุดคาวบอยเจ้าเสือฝ้าย กางเกงเขียว เชิร์ตชมพูแจ๊ด แจ๊กเก็ตส้ม ผ้าผูกคอฟ้าปรี๊ด

คนรักงานทัศนศิลป์จะมองหนังทั้งเรื่องเหมือนเดินดูภาพในหอแสดงงานศิลป หากแต่เป็นงานทัศนศิลป์ที่มีลีลาเคลื่อนไหว มีเสียง มีความเงียบ มีอารมณ์ และเรื่องราวภาพยนต์เป็นองค์ประกอบ





ภาพที่ข้าพเจ้าหลงไหลมากที่สุดเห็นจะเป็นฉากที่เสือดำ (ชาติชาย งามสรรพ์) เอนพิงตอไม้เป่าหีบเพลง ในขณะที่ ฉากหลัง (backdrop) ปาดสีเหลือง กับฟ้าแข็งฉูดฉาดด้วยฝีแปรงที่โค้งแรงแบบ Fauvist ด้านหน้าเวที (ไม่ใช่เวที แต่ทำให้คิดถึงเวทีเฉลิมไทยสมัยข้าพเจ้ายังเด็ก) กลับเป็นรวงข้าวสีนุ่มที่พลิ้วไหวหวานตามสายลม ตัวฉากหลังเป็นภาพที่นิ่งแต่มีชีวิตชีวาด้วยลีลาเส้นและความอบอุ่นของสี เป็นฉากหลังที่สร้างขึ้นเป็น backdrop ให้กับอารมณ์และความเคลื่อนไหวของตัวละคร ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะคิดเลยไปถึงฉากเวที (backdrop) ระบำปลายเท้าที่ศิลปิน Marc Chagal เคยเขียนให้ New York Ballet Theatre ซึ่งก็ทำหน้าที่เดียวกันให้กับตัวละครใน ballet


ความแรงและความหวานของภาพที่ปรากฏ กลมกลืน กับอารมณ์เรื่อง ซึ่งมีทั้งรักสุดซึ้ง ทั้งบู๊สุดโหด พร้อมอารมณ์ขันให้อมยิ้ม


…หลงรักลีลาราวลีลาศนาฏศิลป์ของกล้อง ยกตัวอย่างในฉากเดียวกันนี้ เมื่อไอ้เสือมเหศวร (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ตามมาท้าดวลปืนกับเสือดำ กล้องจับมุมที่เห็นบ่อยแสนบ่อยในหนังคาวบอยเก่าๆ อย่าง High Noon หรือ Shane คือมุมต่ำที่ลอดระหว่างสะโพกที่ห้อยปืน กับมือขวาที่เตรียมพร้อม ไปเห็นคู่ดวลที่พร้อมจะชักปืนเช่นกัน มุมกล้องเก่าๆที่แสนเชยนี้ถูกนำมาใช้ให้กลายเป็นส่วนของลีลาสอดคล้องของกล้องกับการเอี้ยวตัวเคลื่อนขาของเจ้าเสือมเหศวร งามจริงๆ

…หลงรักสีสันอารมณ์และเรื่องที่แสน 'มัน' แบบสุดเชย หลงตัวละครและเครื่องแต่งกายที่แสนสวย แสนหล่อ แสนแสบ แสนยวน แสนห้าว และแสนอะไรมิอะไรอีกสารพัด หลงจนมองข้ามความ 'หลุด' ที่ค้างใจในบางจุดบางแห่ง


… หลงรักเพลงเก่าๆทั้งหลายที่เอามาเรียบเรียง และบรรเลงใหม่ (สำหรับบางเพลงเคยนึกว่า 'เชยแหลก') ให้ก้องกังวาน มีทั้งหวาน ทั้งเศร้าซึ้ง มีทั้งกระหึ่มเร้าอารมณ์ ทั้งลอดเลี้ยว ผกผาด เล่นจังหวะให้สนุกใจ


… หลงรักผู้แสดงทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ที่ดูจะสนุกสนานกับการเล่นหนัง 'บ้าบิ่น' เรื่องนี้ จนความสนุกนั้นแทบจะซึมผ่านจอออกมาให้สัมผัสได้ สนุกทั้งบทที่ต้องเล่นแบบแข็งๆ ทื่อๆ อย่างย้อนยุค และแบบยียวนอย่างมันหยดติ๋ง อย่างย้อนยุคเหมือนกัน ที่ติดตาที่สุดเห็นจะเป็น สมบัติ เมทะนี ไพโรจน์ ใจสิงห์ และศุภกรณ์ กิจสุวรรณ


เขียนมา เพราะอยากให้มีให้มีใคร เอาหนังเรื่องนี้มาฉายให้คนที่พลาดโอกาสได้ดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในวงการศิลปะ ข้าพเจ้าได้เคยคุยกับ อาจารย์กิติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ไว้ว่าถ้านำมาฉายอีก น่าที่จะให้อาจารย์กิติศักดิ์ เป็นผู้พูดนำให้ความคิดเห็นกับคนดู


ที่สำคัญหนังเรื่องนี้ต้องดูจอใหญ่ อย่าได้ซื้อวิดิโอ LVD หรือ DVD มาดูในจอโทรทัศน์เป็นอันขาด เพราะเม็ดจอและระบบเสียงจะไม่มีความละเอียดพอที่จะเอื้อให้เห็นคุณค่าของงาน คนที่ดูหนังเรื่องนี้ในจอเล็กจะไม่มีโอกาสเห็นรายละเอียดต่างๆเป็นเสน่ห์ของ ฟ้าทะลายโจร จะไม่มีโอกาสเข้าถึงความกล้าบ้าบิ่นอันน่าสรรเสริญของคนสร้างและทีมงาน จะไม่มีโอกาสเข้าใจว่าทำไมข้าพเจ้าหลงรัก ฟ้าทะลายโจร


 

จาก: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2544.



ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page