top of page

มหาสมุทรในน้ำหยดเดียว

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



คุยกันเมื่อวันก่อนถึง Hero ของ จางอี้โหมว, บุรณี รัชไชยบุญ หรือ หนูเล็ก แห่งสยามสติวโอโอดครวญเสียงใสตาเป็นประกายว่า “ดูแล้วรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า !” ส่วนข้าพเจ้ากลับว่า จางอี้โหมว ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองมีค่ามาก


คงจะเป็นเพราะบุรณีดูหนังเรื่องนี้จากสายตาคนสร้างงานทั้งด้านละครเวที ภาพยนตร์และโฆษณา แต่ข้าพเจ้าดูในฐานเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบดูหนัง พูดง่ายๆ ว่าข้าพเจ้าเป็น ‘ตลาด’ ไม่ใช่นักดาบใน

ยุทธจักรอย่างบุรณี


เข้าใจได้ว่าในขณะที่บุรณียอมรับว่าฝีไม้ลายมือตัวเองรู้สึกด้อยไปถนัดใจ เมื่อเทียบชั้นกับจางอี้โหมว คนดูหนังที่ไร้เชิงกระบี่อย่างข้าพเจ้าก็รู้สึกภาคภูมิว่าจางอี้โหมวเคารพในสติปัญญาของ “ตลาด” เขาสร้าง Hero อย่างเชื่อมั่นในศักยภาพคนดูที่จะรับสาระที่ละเอียดลึกโดยไม่ต้องตอกเน้นชี้ชัด แจกแจง และเพราะเขาให้พื้นที่กับจินตนาการของคนดูอย่างเต็มที่ หนังก็เลยงามล้ำทั้งในเชิงสุนทรียะ และเชิงปรัชญา ดูได้หลายรอบ เพราะมีสาระมากมายแฝงเร้นไว้ให้ค้นหา




Hero จึงเป็นหนังที่สร้างกระแสให้เกิดบทวิเคราะห์ บทวิจารณ์ออกมากันหลายแง่หลายมุม ถึงแม้ความงามของฉาก สี ลีลาและรายละเอียดต่างๆ จะจับใจ แต่พอหลายอาทิตย์ผ่านไป ความรู้สึกข้าพเจ้าสำหรับส่วนนั้นก็เริ่มเลือน แต่กลับมาชัดตรงฉากที่ กษัตริย์ฉิน หันไปมองอักษรลักษณ์ 'ใต้หล้า' หรือ 'เทียนเซี่ย' ที่แขวนอยู่หลังบัลลังก์ แล้ววิเคราะห์ว่าอักษรนั้นประกอบด้วยอักษรจีนสามคำ ตามลำดับว่า “กระบี่ในมือ...กระบี่ในใจ... ไม่มีกระบี่ทั้งในมือและในใจ”...


กระบี่ในมือ คือการพิชิตด้วยอำนาจเด็ดขาดและความรุนแรง เรียกว่าสู้กันระดับกายภาพ กระบี่ในใจ หมายถึงการพิชิตด้วยสติปัญญา ซึ่งใน Hero นั้น ไร้นาม เล่าถึง 'สู้กันในความคิด' คู่ต่อสู้ต่างถือกระบี่ยืนนิ่งหลับตา ในขณะที่ลดเลี้ยวแล่นโลดประดาบกันในความคิด กระบวนการต่อสู้แบบดาบในใจ นี้แหละ ที่สหรัฐอเมริกากับโซเวียตรัสเซียก็นำมาใช้ประหัตประหารกันในสงครามเย็น ระหว่างค่ายทุนนิยมกับค่ายคอมมิวนิสต์ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนัก




ระดับขั้นที่สามคือ ไม่มีกระบี่ในมือและในใจ ซึ่งเป็นการปล่อยวางความรุนแรงทั้งปวงด้วยการบรรลุถึงสภาพที่ไร้ความขัดแย้ง เพราะไม่ยึดมั่นในความสำคัญของตัวตน


'ใต้หล้า' เป็นอุดมการณ์ที่จะรวมสังคมจีนที่แตกแยกแก่งแย่งความเป็นใหญ่ให้เป็นเอกภาพ เพื่อความสันติสุข เป็นจุดมุ่งหมายของทั้งฝ่ายกษัตริย์ฉินซึ่งเป็นกษัตริย์ของรัฐที่แข็งแรงที่สุด และฝ่ายนักดาบชาวจ้าวที่มีแผนฆ่ากษัตริย์ฉิน อุดมการณ์นี้จะไปให้ถึงได้ด้วยกระบวนกระบี่ใดหนึ่งในทั้งสามนี้ แล้วแต่ใครจะเลือกใช้กระบวนไหน


ข้าพเจ้าคิดว่าคำตอบว่าใครคือ วีรชน น่าจะค้นคิดตรงนี้ คงเป็นคำตอบที่ไม่ตายตัว เพราะขึ้นกับมุมมองและปรัชญาของคนมอง


ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ใครคือวีรชน แต่อยู่ที่ “...วีรชน เยี่ยงใดลวง เยี่ยงใดจริง เท่านั้น ?” ดังที่ อาจารย์

วรศักดิ์ มหันทธโนบล ได้เคยทิ้งท้ายไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ข้าพเจ้าเองก็ขอทิ้งคำถามเพิ่มเติมไว้ว่า “เพลงกระบี่กระบวนไหนเล่า ที่จะนำไปสู่เอกภาพอันเป็นสันติสุขที่แท้จริง ?”


กลับมามอง Hero เห็นกระบวนกระบี่ของจางอี้โหมวเปรียบเป็นกระบี่ในใจ เมื่อเทียบกับหนังกระแสหลัก (mainstream) ของทุกวันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระบี่ในมือสร้างงานรูปธรรมอันชัดแจ้ง มากกว่าสัจธรรมที่ต้องค้นหา ปัจจุบันคนดูหนัง ดูโทรทัศน์ โดยเฉพาะหนังฝรั่งผ่านดาวเทียมจึงชินกับการเสพรสจัดๆ ไม่ว่าเป็น eroticism ที่จะแจ้ง หรือ action ที่รุนแรง ทำนองไส้ทะลัก หัวแหว่ง เลือดกระฉูด คนทำหนังดูจะพากันทุ่มเทฝีมือในการปรุงรสให้กระแทกอารมณ์คนดู ที่นับวันจะกระแทกให้ถึงใจได้ยากขึ้นๆ จนเกือบจะกลายเป็นมาตราวัดความเก่งในการกำกับกับถ่ายทำ นัยว่าเป็นศิลปะที่จำเป็นในการสื่ออารมณ์


ฝีมือจางอี้โหมว ใน Hero ทำให้รู้สึกว่านี่ซิ เป็นศิลปะที่เหนือชั้น ดูฉากที่ลูกเกาทัณฑ์นับแสนพุ่งเข้าหานักดาบที่ยืนนิ่งรอรับ ข้างหลังเขาเป็นบานประตูใหญ่ยักษ์ตระหง่านบ่งบอกถึงอำนาจที่ล้มล้างได้ยากแวบหนึ่งข้าพเจ้าเสียววาบว่าจะต้องเห็นศพที่เหมือนหมอนปักเข็มโชกเลือด



ที่ไหนได้ ภาพที่เห็นคือ เกาทัณฑ์ปักเต็มประตูหนาแน่นราวขนเม่น ว่างเว้นเฉพาะตรงที่เขายืนหยัดเมื่อครู่ ช่องเว้นว่างเป็นรอยร่างคนนั้น บอกถึงความตายที่โดดเดี่ยวและเด็ดเดี่ยวของคนกล้าได้ชะงัดว่าภาพสยองใดๆ ทั้งสิ้น


ฉากสังวาสก็วิเศษ บอกเล่าถึงการสังวาสที่รุนแรงปราศจากรักได้อย่างงามเหลือ ภาพใต้ผ้าไหมสีแดงชาดผืนใหญ่ที่เหวี่ยงวนจนจอฉาดฉานไปด้วยกามกิเลส นี่แหละที่ว่าคนทำหนังให้เกียรติคนดูด้วยการให้พื้นที่กับจินตนาการ



สำหรับความรักที่ลึกราวห้วงสมุทรนั้น จางอี้โหมวกลั่นมาไว้ในน้ำหยดเดียว คำว่าโรแมนติกตื้นเกินไปสำหรับ ใบหน้า แววตาและนิ้วมือของกระบี่หัก เมื่อเขาทิ้งดาบหันหลังให้คมดาบคู่ต่อสู้ เพื่อแล่นรี่มาค่อยๆ ลูบเช็ดน้ำหยดเดียวที่ปลิวมาตกลงบนแก้มศพหญิงคนรัก แววตาที่มองหน้าศพนั้นมีตำนานรักเรียงร้อยถ้อยอยู่นับล้านคำ


ความตายของกระบี่หัก ที่ปล่อยดาบให้หล่นจากมือ จนหิมะเหินแทงทะลุอก ก็บอกมากมายหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นความรักหรือปรัชญาการปล่อยวางแม้กระทั่งชีวิตเพื่อสันติภาพ และเพื่อให้คนที่ตนรักเข้าถึงสัจธรรมของมือและใจที่ไร้ดาบ


ฉากแกนกลางในการดำเนินเรื่องซึ่งเป็นการเผชิญหน้าระหว่าง ไร้นาม กับ กษัตริย์ฉิน ในท้องพระโรงนั้น เป็นศึกทางสติปัญญาความคิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของ ไร้นาม เรื่องวิเคราะห์ของ กษัตริย์ฉิน หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าตามความเป็นจริงของไร้นาม ล้วนแต่เป็นกระบี่ในใจ ของตัวละครทั้งคู่ ทั้งสองฝ่ายต่างนั่งกับที่ แต่ต่อสู้กันด้วยความคิดและไหวพริบ จนถึงสุดท้าย ที่ทั้งคู่ต้องทิ้งกระบี่ทั้งในใจ จับทางเลือกอีกสองกระบวน ไร้นามเลือกกระบวนที่ ไม่มีกระบี่ทั้งในมือและในใจ ส่วน กษัตริย์ฉิน เลือกกระบวนกระบี่ในมือ ใครอยู่ใครตายคงพอเดาได้




'ใต้หล้า' หรือการรวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียว ดูจะเป็นอุดมการณ์ของจีนแผ่นดินใหญ่มาโดยตลอด

จางอี้โหมวศิลปินชาวจีนแผ่นดินใหญ่ทำให้ข้าพเจ้าคิดเล่นๆ กว้างไกลออกไปว่า หรือศิลปะจะเป็น

กระบวนกระบี่ในใจ ที่จะถางทางสู่เอกภาพทางปรัชญาที่ว่าด้วยการปล่อยวางตัว หรืออีกนัยหนึ่งคือสู่วิถีที่โลกทั้งโลกจะอยู่ร่วมกันโดยไม่มีกระบี่ทั้งในมือและในใจ ?


ความคิดเล่นๆ นี้คงเป็นไปได้ยาก พอๆ กับการกลั่นมหาสมุทรให้เป็นหยดน้ำหยดเดียว


 

จาก: คอลัมน์ บทความพิเศษ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7-13 มีนาคม 2546 ฉบับที่ 1177 ปีที่ 23



ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page