top of page

แสงกับเงา… ...ปัจจุบันบนพื้นผิวอดีต

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


อภิชัย ภิรมย์รักษ์และเกล้ามาศ ยิบอินซอย กับ "เอกลักษณ์วัฒนธรรม" ของอภิชัย



เมื่อวานซืน ข้าพเจ้าก้าวขึ้นบันไดไม้ราวดำไปพบโลกของเงา


ที่นั่นมีความโหดร้ายในรูปเงาทะมึนที่ชายหนุ่มจากปักษ์ใต้สร้างขึ้นด้วยควันเทียน… ความพยายามของหญิงสาวที่จะเย็บเงาอดีตให้ทาบสนิทกับปัจจุบัน… หนังตะลุงที่งามหมดจดทั้งรูปร่าง ลวดลายและสีสัน ทอดเงา เคลื่อนไหวเชื่อมโยงลบเลือนรอยต่อระหว่างภาพจริงกับเงา ปัจจุบันกับอดีต… เงานุ่มดำสนิทของผู้รอคอยขอรับส่วนบุญที่ไม่มีทางรู้ว่าจะส่งถึงกันได้หรือไม่… เงาบนใบหน้า ซึ่งเจ้าของใช้มือกดจนบูดเบี้ยวหลอกล้อความจริงที่บิดเบือน…


เป็นโลกแห่งเงาในมติของศิลปินไทยรุ่นใหม่ 5 คน หญิง 1 ชาย 4 อายุเฉลี่ยไม่น่าเกิน 30 ปี ในนิทรรศการชื่อ Shadow Play สถานที่แสดงชื่อ อะเบาท์สตูดิโอ (About Studio) อยู่ชั้นสองของตึกแถวสมัยเก่า บนหัวมุมถนนไมตรีจิตร ไม่ไกลนักจากสถานีรถไฟหัวลำโพง


เมื่อแรกย่างก้าวเข้ามาอาจจะรู้สึกว่า "โอ๊ย… มีแค่นี้น่ะหรือ!”


เพราะผลงานที่มารวมกันมีเพียง ๙ ชิ้น


แต่ จริงๆ แล้ว กลับทำให้รู้สึกถึงความตั้งใจของผู้จัด ที่จะให้โอกาสมองลึกลงในน้ำใสที่ปริ่มสายธารเล็กๆ ให้ได้เอิบอิ่มกับรายละเอียดและความเคลื่อนไหว อันจะเห็นได้ยากถ้าหากนัยน์ตาละลานอยู่กับทะเลอันกว้างใหญ่


และที่จะให้โอกาสตัวเองจัดวางงานอย่างประณีต จัดแสงไฟ พื้นที่ว่าง เพดานและพื้นให้เล่นบทบาทร่วมกับผนัง ในการเชื่อมโยงศิลปกรรมที่คัดสรรมา


องค์รวมอันเรียบง่ายของงานนี้ งามด้วยการสอดประสาน

ต้องให้คะแนนนิยมส่วนนี้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็น 'คิวเรเตอร์' (curator) ของนิทรรศการ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ชื่อ นาโอมิ อูราเบ เธอผู้นี้เคยทำงานเป็นผู้ช่วยคิวเรเตอร์ ที่ Whitney Museum ในกรุงนิวยอร์ค (นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่นิทรรศการนี้มีแต่ชื่อภาษาอังกฤษ โปสเตอร์และแผ่นปลิวที่เป็นรายชื่องานในนิทรรศการก็มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาเอก ภาษาไทยเป็นภาษารอง ถึงแม้ศิลปินทุกคนจะเป็นคนไทย เช่นเดียวกับคนดูส่วนใหญ่)

ผู้ดำเนินงานของอะเบ้าท์สตูดิโอ เกล้ามาศ ยิบอินซอย หลานย่าของปฏิมากร มีเซียม ยิบอินซอย อธิบายบทบาทของ 'คิวเรเตอร์' ในที่นี้ว่าเป็นผู้ออกแบบนิทรรศการ เป็นผู้กำหนดแนวทาง คัดเลือกศิลปิน เลือกสรร และจัดวางงานศิลปกรรมให้สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดไว้ เธอคิดว่า คำว่า 'ภัณฑารักษ์' ยังไม่ใช่คำที่ตรงนักสำหรับฉะเพาะบทบาทนี้

Shadow Play ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกอบอุ่นเหมือนได้พบเพื่อนเก่าที่คืนความรู้สึกดั้งเดิมมาให้สัมผัส เพราะในชีวิตก็ได้คุ้นเคยกับ 'เงา' ในมิติต่างๆที่ไม่ห่างนักจากความหมายของศิลปินทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็นมิติของความกลัว ความตาย ความโหดร้าย ความหลอกลวง ความลึกลับ ความเคลื่อนไหว และความทรงจำ ที่ทำให้อดีตกับปัจจุบันเชื่อมโยงกันเหมือนเงาที่ซ้อนอยู่หลังรูปจริง


งานของ อภิชัย ภิรมย์รักษ์ เป็นเรื่องราวของความงามของแสง เงา สี และฟอร์ม ที่เกิดจากการซ้อนนี้ รูปจริงเป็นหนังตะลุงประยุกต์ สรรสร้างด้วยหนังวัว เชือก หวาย ผ้า และทองประณีตสมฝีมือคนปักษ์ใต้ที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะไทย ในมหาวิทยาลัยศิลปากร


แต่ความงดงามที่แทบจะทำให้ต้องกลั้นใจ เกิดจากความเคลื่อนไหว การทอดของแสงกับการส่ายของหนังตะลุงซึ่งห้อยจากเพดานด้วยเส้นด้าย กับเงาบนผืนผ้าขาวที่ขึงอยู่เบื้องหลัง …รูปจริงกับเงา… อดีตกับปัจจุบัน… ส่ายล้อกัน การซ้อนที่เชื่อมโยงเคลื่อนไหวนั้นงามจนใจหาย


ดูเหมือนอภิชัย จะเป็นศิลปินคนเดียวในกลุ่มที่เห็นเงาด้วยความรู้สึกที่ปลอดจากเงา


ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนสะเก็ดเก่าถูกสะกิดเกา จากความเศร้าเสียดายที่สื่อออกมาใน 'ความทรงจำ' ซึ่งเป็นงานของ ศิลปินสาวชื่อ อรชุมา เล็กเจริญศรี เธอใช้ฝีจักรเดินด้ายสีจางซ้อนไปมาเป็นใยโยงบนภาพถ่ายของตนเองในวัยเด็ก

เป็นความเพียรที่จะเย็บเงาจากอดีตให้นาบอยู่กับปัจจุบัน ยิ่งเย็บ รอยด้ายยิ่งกลบภาพให้พร่าเลือน เหมือนประสบการณ์ปัจจุบันที่พอกพูนซ้อนทับลงบนอดีต

ชุดรูป ความทรงจำ อันแผ่วพราย ของอรชุมา แขวนเฉียงออกมาจากศิลปกรรมชื่อ ตาม หรือ Followed ซึ่งเป็นเงายักษ์ทึบทะมึนจากอดีตของ ยิ่งยศ กะตากุล น้องสุดท้องในกลุ่มศิลปิน Shadow Play ที่ยังเป็นนักศึกษาปี 3 ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ


ในขณะที่ อรชุมาพยายามยึดอดีตเอาไว้ ยิ่งยศ ก็พยายามหนีความทรงจำอันโหดร้ายที่ยังทาบอยู่กับปัจจุบันอย่างตามติด


รูปทะมึนทอดทาบบนผนังขาว ใหญ่ยาวจนหักมุมบนเพดาน เงาดำเงื่อมง้ำทำให้ข้าพเจ้าแทบสะดุ้ง เมื่อก้าวพ้นกระไดเข้ามาในห้องแสดง เป็นเงาดำของชายคนหนึ่งที่เคยคุกคามศิลปินในวัยเด็ก สร้างความหวาดกลัวที่ยังไม่เลือนจากใจ

เงานี้ ยิ่งยศสร้างด้วยควันเทียน เอากระดาษขาวแผ่ติดเพดานให้ควันเทียนลอยขึ้นไปจับ จุดกำเนิดของเทคนิคนี้ คือควันไฟที่ลอยขึ้นจากเชิงตะกอนศพน้องสาวเขาเมื่อ 10 ปีก่อน ยิ่งยศจับควันที่มีความแปรเปลี่ยนเป็นธรรมชาติ มายึดไว้กับกระดาษ


เขาใช้มันเพื่อการเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวที่เขาไม่สามารถหาวิธีลบล้างได้ ข้าพเจ้าอดคิดไกลออกไปถึงคติฮินดูที่ว่า การเผาด้วยไฟคือพลังชำระล้างให้ปลอดมลทิน (Purification) และเรื่อยไปถึงการลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ อย่างนางสีดาเมื่อกลับคืนจากมือยักษ์ เจ้าลงกา


การใช้ควันไฟบนกระดาษขาว ทำให้เกิดภาพที่นุ่มลึก เส้นขอบไม่ชัดเจนเหมือนฝีแปรง


สำหรับ มิติแห่งการรอคอย หรือ Dimension of Waiting ของ ณรัชต์ กลิ่นสุดใจ ขอบเงาผู้รอคอยนั้นคมชัดจากการตัดด้วยกรรไกร กระดาษเนื้อนุ่มคล้ายกระดาษสาสร้างพื้นผิวที่มีความหนานุ่มดูดสีย้อมได้ดำสนิท งานเงาชุดนี้ จัดตั้งในลักษณะทาบบนส่วนล่างของผนัง ให้เลยลงหักมุมทอดยาวนาบพื้น แต่ละเงามาสิ้นสุดลงที่ขันทองเหลือง



ณรัชต์ กลิ่นสุดใจ "มิติแห่งการรอคอย"

ข้าพเจ้าชอบที่มีถึงสามรูปเงา คล้ายจะสะท้อนกันแต่ไม่ใช่ สองเงาเกือบขนานกันแต่กลับหัวกลับหาง พอนึกว่ามีเพียงแค่นั้นก็หันไปพบเงาที่สาม ให้ความรู้สึกของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ สิ่งที่ไม่มีตำแหน่งแห่งชัด


ข้าพเจ้าเคยมีเพื่อนส่งการ์ดมาให้ทางอินเตอร์เน็ต เขาให้ใช้ลูกศรตามจี้รูปคน 2-3 คนที่อยู่ในการ์ด แต่รูปจะหนีย้าย ไปปรากฏตรงโน้นตรงนี้ ไม่มีทางที่จะจี้ถูกได้ เพราะเขาตั้งโปรแกรมไว้ให้เป็นอย่างนั้น


ณรัชต์ สร้างงานให้เป็นคำถามในเรื่องการรับกับการให้ การรอคอยส่วนบุญ ที่ไม่มีทางรู้ว่าจะถึงหรือไม่ เหมือนลูกศรกับภาพคนในการ์ดทางอินเตอร์เน็ตใบนั้น ข้าพเจ้าไม่แปลกใจเมื่อมารู้ว่า ณรัชต์ได้แรงบันดาลใจ จากพิธีบังสุกุลส่งส่วนกุศลให้คนตาย

สำหรับข้าพเจ้าเงาแห่งการรอคอยทั้งสาม มีนิ้วมือที่สื่อการร้องขอ ช่างเป็นนิ้วมือที่รบกวนความรู้สึกส่วนลึกในใจ ทำให้เกิดสงสารมนุษยชาติที่มีตัวเองรวมอยู่ด้วย สงสารที่เต็มไปด้วยความอยาก ความต้องการสิ่งที่ตัวเองขาด ความถวิลหวังว่าการรอคอยจะสัมฤทธิ์ผล อันเป็นแรงผลักให้ซื้อล็อตเตอรี่ ขอหวย หาหมอดูให้ทำนายคู่ครอง ทำบุญเพื่อรอรับผล ฯลฯ


มีคนดูคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นใคร คงเห็นใจเจ้าเงาแห่งการรอคอย จนเอาเหรียญบาทหยอดใส่ไว้ในขันทองเหลืองใบหนึ่ง เหรียญบาทที่นอนนิ่งอยู่ในขัน ทำให้ข้าพเจ้าใจหาย เพราะนิ้วมือเล็กบางของเจ้าเงา ทาบอยู่กับเนื้อที่ว่างขาว ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นช่องว่างระหว่างเจ้าเงากับโลหะวัตถุที่กินที่และมีน้ำหนัก ข้าพเจ้ายิ่งใจหายเมื่อคุณเกล้ามาศ เอื้อมไปเก็บเจ้าเหรียญนั้นออกจากขัน

การจัดตำแหน่งภาพ ให้เกิดผลตามต้องการ เห็นได้จากวิธีที่คิวเรเตอร์ แขวนภาพพิมพ์โลหะ 2 ภาพของ ชูชัย ธวัชวดีวงศ์ ภาพทั้ง 2 มีชื่อเดียวกันคือ ภาพเหมือนตัวเองและภาพไม่เหมือนตัวเอง'(Unlike Self-portrait Self-portrait)


เป็นภาพใบหน้ากับมือของตัวศิลปินเอง มือผลักและบีบใบหน้าให้บูดเบี้ยว ให้เห็นความบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับตัวเองในชีวิตประจำวันของมนุษย์แต่ละคนในสังคม เส้นนอนของมือกับนิ้ว ทิ้งเงาหนักลงบนเสื้อยืดสีขาว ทำให้เกิดลีลาที่สื่อความรู้สึกอันแรงของศิลปินได้อย่างชัดเจน


โดยทั่วไปรูปทั้ง 2 นี้ควรแขวนใกล้กัน เพราะถือเป็นชุดงานเดียวกัน แต่ นาโอมิ อาราเบ เลือกที่จะแยกกันแขวน โดยสร้างกำแพงแคบๆขึ้น เพื่อแขวนภาพหนึ่ง เมื่อคนดูยืนอยู่หน้าภาพนั้น ก็จะมองผ่านออกไป เห็นอีกภาพแขวนบนผนังที่ห่างออกไปทางเบื้องหลัง เท่ากับเป็นการแขวนคู่กันที่ไม่คู่กัน สอดคล้องกับแนวคิดในภาพพิมพ์ของศิลปิน


นิทรรศการ Shadow Play ทำให้ข้าพเจ้ามองเงาอย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้น


เช้านี้ เมื่อข้าพเจ้าลงไปเดินที่ชายหาด เห็นรอยน้ำบนเป็นเส้นบางโค้งมากมายบนพื้นทรายที่ชายน้ำ เส้นอันอ่อนโยนเหล่านี้คงมองไม่เห็น ถ้าไม่ถูกเน้นด้วยแสงกับเงา เมื่อหันมองทะเลก็เห็นว่างามระยิบด้วยระลอกแสงที่เล่นกับเงาคลื่นบนผิวน้ำ ที่น่าขันก็คือท่าเดินของตัวเอง ที่เห็นได้เพราะแสงแดดส่องให้เกิดเงาทอดยาวบนผิวทราย

ให้ได้คิดว่าชีวิตคน ตลอดจนสังคมมนุษย์ ก็เหมือนภาพที่วาดขึ้นด้วยแสงกับเงา คือเกิดขึ้น และดำเนินไปด้วยการกระทำในปัจจุบัน บนพื้นผิวของอดีต

แล้วจะใช้แสงวาดเงา หรือจะใช้เงาวาดแสงกันดี


 

จาก : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 996 21-27 กันยายน 2542




ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page