top of page

อันละเอียดอ่อนซ้อนซับ

กับ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน

วิภาพ คัญทัพ




คุยกันแบบสำคัญที่ใจ


เห็นจะเป็นเพราะอาถรรพณ์หมายเลข 6... ในวาระที่หญิงยุคใหม่ เวียนมาครบรอบปีที่ 6 คราวนี้เราจึงเพียรทำฉบับพิเศษเพื่อกำนัลผู้อ่าน ว่าด้วยเรื่องประสาทสัมผัสที่ 6


อะไรคือสัมผัสที่ 6 เป็นคำความหมายเดียวกับที่ภาษาฝรั่งมังค่าเรียกว่า Sixth Sense หรือเปล่า? คำตอบตรงนี้บทความขนาดสี่ห้าหน้าของคุณอนุช อาภาภิรม ย่อมจะเชื่อมโยงได้ชัดเจนกว่าเนื้อที่ไม่กี่บรรทัดตรงนี้


เอาว่า...เมื่อพูดถึงประสาทสัมผัส เรามักจะนึกถึง หู ตา จมูก ลิ้น และกายสัมผัส... ทั้งห้านี้ที่เรารู้จัก เข้าใจ และใช้กันอย่างคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน แต่ส่วนประสาทสัมผัสที่ 6 นี้ ก็คือ...ใจ...


บ้างว่า เพราะตื่นตากับความเจริญทางวัตถุ! ทำให้เราค่อยๆ ละเลยช่องทางรับสัมผัสทางนี้ไปโดยปริยาย...


แต่ว่าที่จริงแล้ว คนไทยเราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกันสังเกตได้ง่ายๆ อย่างเช่น ‘ใจหญิงเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน’ (ไม่ใช่ใจ ‘หญิงยุคใหม่’ อย่างแน่นอน เพราะเห็นได้ชัดว่าแน่วแน่มั่นคงกับผู้อ่านมาตลอด) หรือ ‘จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้ หยั่งถึง’ เป็นต้น แล้วเรายังมีถ้อยคำสำนวนที่เกี่ยวกับใจมากมาย เช่น ใจใส ใจหิน ใจเบา ใจจืด ใจเค็ม หรือหวานใจ อะไรทำนองนี้ แสดงว่าคนไทยเรารู้จักสนุก และสนใจเรื่องของจิตใจกันมานมนาน


บางท่านว่า ‘ว้าย! หญิงยุคใหม่ ทำไมสนใจเรื่องเก่า’ เราก็แย้งไปอย่างมั่นใจว่า ของเก่าระดับลายคราม ถ้ารู้จักใช้รู้จักปัดฝุ่น ก็แจ๋วแหว๋วได้เหมือนกันนา...? และถ้าสังเกตดูจะเห็นว่า ผู้คนทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่าขณะนี้หันมาสนใจเรื่องราวลี้ลับมากปริศนาในหัวใจ ชนิดขัดสมาธิเข้าฌานกันก็มีอยู่ไม่น้อย


อาจจะเป็นเพราะเราเริ่มคุ้นกับความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ จนไม่รู้สึกตื่นตาเหมือนอย่างเคย


เราจึงหันมาตื่นใจและตื่นตัวกับเรื่องราวเหล่านี้กันบ้าง


‘หญิงยุคใหม่’ ฉบับพิเศษเล่มนี้จึงจุด้วยทัศนะและปรากฏการณ์จากความรู้สึกนึกคิดหลากหลาย ด้วยลีลาและลวดลายต่างๆ กัน มีทั้งสัมผัสที่ 6 สัมผัสพิเศษ สัมผัสธรรมดา...สามัญสัมผัสน่าขัน และน่ารัก



อันละเอียดอ่อนซ้อนซับ กับ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน


ระยะสองปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ค่อนข้างโดดเด่น โดยเฉพาะในวงของกิจกรรมกานท์กวี ค่าที่ว่านอกเหนือจากคุณหญิงจะใช้เวลาว่างส่วนหนึ่งเพื่องานเขียนบทกวี (ภาษาอังกฤษ) จนเป็นที่รู้จักแล้ว ยังสนใจที่จะเกื้อกูลให้บทกวีแสดงบทบาทในอีกสถานะหนึ่ง กล่าวคือไม่เป็นเพียงอักษรที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือ รอคอยให้ผู้คนใช้สายตาจับจ้องมองอ่านเท่านั้น หากได้เพียรพยายามนำบทกวีมาอ่านออกเสียงให้สดับในสุนทรียรส ในบรรยากาศของแสงสีและลีลาดนตรี ดังล่าสุดที่เราท่านได้สัมผัสในรายการชุด ‘เบิกหล้าฟ้าใหม่’ อันได้รับความสนใจอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง กระทั่งต้องเพิ่มรอบแสดง


“หญิงยุคใหม่” จึงขอนัดพบคุณจำนงศรี รัตนิน ในฐานะของผู้มีอารมณ์ละเอียดอ่อนซ้อนซับ และแน่นอนเพื่อสนทนากันถึงเรื่องสัมผัสพิเศษ หรือปรากฏการณ์ในเชิงสัมผัสที่ 6 อันน่าพิศวงงงงวย!


“ไม่เชื่อว่ามีอะไร ‘เหนือธรรมชาติ’ คิดว่าอะไรๆ มันเกิดตามธรรมชาติทั้งนั้น แค่เราหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อธิบายมันได้หรือยังไม่ได้เท่านั้น ถ้ายังหาไม่ได้เราก็บอกว่ามัน ‘เหนือธรรมชาติ’ ' อีกอย่างหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องที่คิดไปเอง ตีความไปเอง สร้างขึ้นเองในจินตนาการ แล้วก็ชักไม่แน่ใจว่า มันเป็นจริง

รึเปล่า อย่างนี้อันตราย (หัวเราะ)


“ในเรื่องนี้ดิฉันขอไม่พูดถึงประสบการณ์ ขอจับประเด็นในแง่การรับรู้การสัมผัส เอาว่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนดีกว่า การรับรู้มันมีระดับหยาบไปจนถึงละเอียด ละเอียดมากขึ้นๆ ชักจะกลายเป็นเรื่องอธิบายยากขึ้น อย่างคนบางคนพบกันครั้งแรกก็รู้สึกเหมือนรู้จักกันมานาน บางคน..ในบางเรื่องนะ แทบไม่ต้องพูดกัน แล้วที่บอก...แหมใจตรงกันเลย นี่มันอะไร มันคลื่นเดียวกันใช่ไหม คลื่นเดียวกันนี่มันอะไร ใครจะตอบให้เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ แจ่มแจ้งได้ล่ะคะ”


“เรากำลังพูดถึงสัมผัสพิเศษด้วยใช่มั้ย การสื่อการรับรู้มันก็เป็นเรื่องของสัมผัส มีหยาบ มีละเอียด ที่ละเอียดมากๆ ก็เรียกกันว่า ‘สัมผัสพิเศษ’ ละมัง ดิฉันไม่เคยคิดมากนะเรื่องนี้ อย่างตัวเองกับหมาหรือแมวนี่บางครั้งก็รู้เรื่องกันดี พูดกันคนละภาษาใช่ไหม (หัวเราะ) ทำไมรู้เรื่อง เรียกว่าสัมผัสพิเศษได้ไหม แล้วสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติล่ะ เราสัมผัสได้ไหม ในระดับหยาบน่ะแน่นอน แต่ในระดับละเอียดล่ะ ละเอียดได้ถึงแค่ไหน น่าคิดนะ”


“มีบ่อยๆ ใช่มั้ย ที่คุณบอกว่า แหม! นึกถึงใครแล้ว คนนั้นโทรศัพท์เข้ามาทันทีเลย กับคนบางคน มีบ่อยมีซ้ำๆ มีเรื่องที่เราจะต้องติดต่อเค้าก็กริ๊ง... รับ เอ้า! เป็นเค้าโทรเข้ามา อาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน หรือคนละเรื่องไปเลย ที่บ้านมีโทรศัพท์ 2 เครื่อง หมุนถึงเค้าเครื่องนึง เค้าโทรเข้ามาแล้ว อันนี้ดิฉันไม่คิดว่ามันเป็นอะไรที่พิเศษหรือเหนือธรรมชาติ แค่จังหวะตรงกัน การคิดตรงกันในช่วงนั้น”


-มันเป็นการบังเอิญจังหวะพอดี หรือไงคะ


“ค่ะ บังเอิญหลายๆครั้ง (หัวเราะ) ดิฉันไม่เคยสนใจที่จะวิเคราะห์ ได้แต่สังเกตว่า เอ้อ! แหม! หลายครั้งแล้วนะสำหรับคนนี้ แต่ไม่วิเคราะห์ มันจะเป็นมันก็เป็น ดีซิ เป็นความรู้สึกที่ดี ก็ไม่ได้คิดให้เค้าโทรฯ เข้ามา ก็ดีที่จังหวะตรงกัน”


-ไม่ทราบว่า คุณหญิงสังเกตบ้างหรือเปล่าว่า จะเป็นคนที่ใกล้ชิด หรือผูกพันกับเรามาก


“ไม่เสมอไป คนที่ใกล้ชิดและผูกพันกับเรามาก มันก็มีเฉพาะบางคนที่เป็นอย่างนั้น กับลูกสาวคนโตนี่เป็นบ่อยๆ เมื่อสมัยที่เค้าอยู่อเมริกามีหลายอย่างที่เถียงกัน แต่ก็เถียงโดยที่รู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกยังไง อาจจะเป็นเพราะเราคล้ายกันมาก”


-เรียกว่าสื่อกันได้


“ใช่! สื่อกันได้เรียกว่าพูด 2 คำ เค้าก็เอ้อๆ เค้ารู้แล้ว เราก็เหมือนกันตอนที่เค้าอยู่โน้น (อเมริกา) มีช่วงที่เขามีเรื่องอึดอัดใจ เราก็รู้สึกอึดอัดโดยที่ไม่ได้มีการติดต่ออะไรกันเลย ฝันเกี่ยวกับเค้าติดๆ กัน 2 คืน ไม่ใช่ฝันร้าย แต่ไม่สบายใจมาก ไม่ทราบว่าทำไม โทรศัพท์ติดต่อไปบอกว่ารู้สึกอย่างนี้ เค้าก็บอกรู้แล้วแม่ เค้าก็ฝันและรู้สึกอย่างนั้น 2-3 วันแล้ว เหมือนกัน จังหวะและความคิดมันตรงกัน เกิดสัมผัสที่ละเอียด ไม่ใช่พิเศษหรือเหนือธรรมชาติ ไม่ใช่นะ”


-ที่ว่าอึดอัดนี่ ทางโน้น เค้ามีปัญหาอะไรหรือเปล่าคะ


“เค้าคิดอะไรที่ตัดสินใจไม่ได้ ”


-เอาเป็นว่า สัมผัสพิเศษ คุณหญิงยังไม่เชื่อ


“เอาว่าไม่คิดที่จะวิเคราะห์ให้ละเอียดว่ามันเข้าขั้นที่จะเรียกว่า พิเศษหรือไม่ มันเป็นอย่างนี้ก็ดีแล้วนี่ ใช่มั้ยคะ ได้ติดต่อกัน ปรึกษากันได้ถูกจังหวะ


-และทางด้านอื่นที่เกิดขึ้นที่เป็นเหตุการณ์ทำนองนี้


“ดิฉันไม่พูดถึงเหตุการณ์ดีกว่า ”


-จะไม่พูดว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ

“คือ ไม่ตัดสิน ชีวิตมีดีและมีไม่ดี ดิฉันว่าสัมผัสที่ละเอียดนี่เป็นส่วนที่ดีนะคะ มันทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เข้าใจกัน เห็นใจกัน ของที่มันละเอียด ไปวิเคราะห์ วิจัยมันนักเดี๋ยวมันจะช้ำ มันจะร้าวไปนะ (หัวเราะ) ก่อนจะบอกว่าเชื่อไม่เชื่อก็ต้องมีการพิสูจน์ ใช่มั้ย ดิฉันไม่เก่งเรื่องพิสูจน์ ไม่อยากเอาเรื่องการสัมผัส หรือความสัมพันธ์เข้ากล้องจุลทัศน์

ทำไมไม่เป็นอย่างหมาน่ะ เค้าจะรู้นะว่าใครชอบเค้าใครไม่ชอบเค้า โดยไม่ต้องรู้จักหรือเห็นมาก่อนหรอก คือ คนที่รักหมาหมาจะรู้ว่าเรารัก อย่างนี้จะเรียกว่าสัมผัสพิเศษไหม หรือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติหมา ธรรมชาติมนุษย์"


-คุณหญิงมีความผูกพันพิเศษกับวัตถุสิ่งของบ้างมั้ยคะ เช่นรู้สึกว่าของนี้เป็นของเรามาแต่ก่อน


“ไม่มีค่ะ อย่าว่าแต่ความผูกพันพิเศษเลย ขนาดธรรมดาก็มีน้อย ประเดี๋ยวประด๋าวของหายบ่อย หรือบางที อุ๊ย! อยากได้มันมา พอมาแล้วก็ไม่ค่อยเก็บ ไม่สะสมอะไร ไม่มีความสามารถที่จะสะสม ไม่มีความผูกพันเป็นเรื่องเป็นราว เป็นคนที่หยาบในเรื่องสิ่งของนะ—หยาบ (เน้นเสียง) คือ ทำของดีๆ หักบ้าง

แตกบ้าง หายบ้าง คือไม่อยากเป็นอย่างนี้หรอก แต่มันเป็นเอง (หัวเราะ) คือขาดความระมัดระวัง ไม่ละเอียดเลยเรื่องนี้ ไม่ดี อยากฝึกตัวเอง ไม่ให้เป็นอย่างนี้ ก็คุณพ่อเก็บของเก่า ของดีไว้ให้ บางทีก็ไม่ได้รักษามันเท่าที่ควร เก็บไม่เป็น สะสมไม่เป็น


“เรื่องความผูกพันดิฉันเป็นมากในเรื่อง ตัวคนนะ ไม่ใช่สิ่งของ ถึงจะเป็นสิ่งของที่โยงไปถึงคน ก็ไม่ติด”


-สถานที่ล่ะคะ


“กับสถานที่มี มีสถานที่ไปทีไรจะรู้สึกว่า มันมีอะไรดีๆ สำหรับเราเสมอ มีเหตุการณ์ดีๆ ได้พบคนดีๆ เป็นจุดเริ่มต้นของอะไรใหม่ๆ แต่ก็อีกนั่นแหละดิฉันอาจจะคิดไปเอง เพราะชอบมันก็ได้ ไม่ทราบนะ”


-ไม่ทราบพอจะบอกได้มั้ยคะว่าที่ไหน


ไม่บอกดีกว่า (หัวเราะ) แล้วก็มีสถานที่ที่ให้ความรู้สึกต่างออกไป อาจจะเกี่ยวกับอดีตหรือความทรงจำที่ทำให้เราได้คิด ได้มองภาพรวมที่ทำให้เข้าใจชีวิตดีขึ้น ภาพรวมที่เกี่ยวกับเวลากับการเปลี่ยนแปลงน่ะ”


-ไม่เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ


“สิ่งลี้ลับ หมายถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือเปล่า หรือว่าแค่สิ่งที่เรายังหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้แจ่มแจ้ง ถ้าเป็นอย่างหลังนี่ก็อาจจะมีบ้าง ไม่มีอะไรชัดเจน อาจจะเป็นอะไรที่ธรรมดาแต่เราบังเอิญไม่เข้าใจ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดมาก คิดมากไปก็เป็นการตีความปรุงแต่ง ทำให้หลงผิดได้”


“การสัมผัส หรือการรับรู้ หรืออะไรต่างๆ ไหลเข้ามาได้มากในเวลาที่จิตใจเรานิ่งแล้วก็เปิดกว้าง เวลาที่เราไม่ติดอยู่กับกรอบเวลาหรือความคิดที่เราสร้างขึ้นมา ดิฉันเชื่อว่า คนเรารับรู้ได้หยาบละเอียดต่างกัน เป็นที่ธรรมชาติของแต่ละคน คนคนหนึ่งอาจจะมองตึก ต้นไม้ว่านี่มันตึก นี่มันต้นไม้ มันก็แค่นั้น ผ่านๆ ไม่รู้สึกอะไร แต่อีกคนมอง...เห็น...แล้วก็เกิดความรู้สึกด้วย เห็นละเอียดไม่ว่าจะเป็นใบไม้หรือเงาตึก ก็เป็นเรื่องการรับรู้อีกนั่นแหละ เป็นไปโดยธรรมชาติ คน 2 คนนี่ไม่ใช่ว่าใครจะดีไปกว่าใครนะ แค่ให้น้ำหนักกันคนละทาง”


"นี่ก็เป็นสัมผัสการรับรู้ บางคนอาจจะรับอะไรต่างๆ จากสิ่งเหล่านี้ จนถึงขั้นที่บอกว่า ‘เหนือธรรมชาติ’ แต่ดิฉันไม่คิดอย่างนั้น คิดว่าเป็นระดับของการรับรู้เท่านั้นเอง”


-แล้วที่คุณหญิงว่ามีความผูกพันกับคนมากกว่า ในลักษณะไหนคะ


“ก็ผูกพันในลักษณะที่ว่ามันแคร์ไปหมด อันนี้มันไม่ใช่ของดีเลยนะ มันมากไป คือเดือดร้อนไปหมดว่าเค้าโกรธเรามั๊ย เค้ารู้สึกอย่างไรกับเรา มันเกิดจากความไม่มั่นใจ ไม่ดีหรอก ทำให้ไม่นิ่ง มีเพื่อนบางคนที่เรารู้สึกผูกพันมาก ชอบตั้งแต่รู้จัก”


-เรียกว่า ถูกชะตากันหรืออย่างไรคะ


‘ถูกชะตา’ นี่พูดกันบ่อย จริงๆ แล้วแปลว่าอะไร”


-คือเหมือนกับรู้จักกันมานาน


“อึม...ใช่! อย่างคนบางคนนี่เรารู้สึกว่าเหมือนกับรู้จักกันมานาน สื่อกันได้โดยไม่ต้องพูดกันมาก”


-แล้วคุณหญิงเชื่อ เรื่องดวงชะตามั้ยคะ


“พูดถึงหมอดู หรือคะ ไม่ทราบจริงๆ ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่เคยคิดจริงๆ จังๆ คิดว่าอะไรมันเกิดขึ้นก็จัดการกับมันให้ดีที่สุดในขณะนั้น ก็เลยสนใจเรื่องโชคชะตาน้อยไปหน่อย”


-แล้วอย่างในเรื่องของผลแห่งกรรม


“เชื่อค่ะ (เน้นเสียง) สร้างเหตุก็ต้องรับผล เชื่อว่าผลมันมาในรูปต่างๆ ขึ้นกับเวลาและโอกาส ไม่ชัดพอที่เราจะอธิบายได้เป็นเรื่องๆ หรอก ”


-บางครั้งเหตุนี่อาจจะไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยตามองเห็น


“ก็นั่นน่ะสิ! มันซับซ้อน มันลึก”


-และในฐานะที่คุณหญิงสนใจบทกวีนิพนธ์ และเขียนบทกวีด้วย คิดว่ากวีมีสัมผัสพิเศษเหนือคนธรรมดาอย่างที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ว่าตาที่ 3 หรือเปล่าคะ


“คำถามตอบยากอีกแล้ว ดิฉันคิดว่ากวีก็คนธรรมดานี่แหละ ดิฉันว่าเราอย่าเอาอะไรไปผูกติดกับอะไรดีกว่า อย่าไปคิดว่ากวีต้องเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ มันไม่มีอะไรที่ลงตัวอย่างนั้นหรอก แล้วก็ใครล่ะที่จะตัดสินว่าใครเป็นกวี ใครไม่ใช่กวี ดิฉันสนใจพิเศษที่ผลงาน”


-ถ้าอย่างนั้น อย่างที่เค้าพูดกันว่ากวีจะมีสัมผัสที่ละเอียดพิเศษกับเพื่อนมนุษย์ คุณหญิงมีความเห็นว่าอย่างไรคะ


“ความละเอียดในการรู้ รับรู้น่ะใช่แน่ แต่รับรู้อะไรล่ะ ด้านไหนอาจจะพิเศษไป ในด้านธรรมชาติ ปรัชญา จินตนาการ เป็นที่รู้กันว่ากวีที่ถือกันว่ายิ่งใหญ่หลายคน มีความสัมพันธ์ที่แย่มากกับเพื่อนมนุษย์ งานดีๆ ที่ออกจากจินตนาการเกือบจะล้วนๆ ก็มี อย่างงานของ โคเลอริช หรือ เอดการ์ อาเลน โพ หรือ เชลลีย์ คือ มันออกมาจากข้างใน”


-มันก็เกี่ยวข้องกับมนุษย์


“ใช่ ธรรมชาติมนุษย์ในตัวของเขาเอง”


-มันเป็นสัมผัสพิเศษของเค้าหรือเปล่า ที่เค้าดึงออกมาจากตัวเค้า


“สัมผัสที่ละเอียดใช่ จะ ‘พิเศษ’ หรือไม่ ไม่ทราบ โคเลอริชนี่สูบฝิ่น ว่ากันว่าเค้าเขียนได้ดีที่สุด เวลาได้สูบฝิ่น สำหรับคนนี้ดิฉันว่า การสัมผัสกับเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องรอง เรื่องใหญ่นะจินตนาการ...แล้วก็มีกวีที่รับรู้ได้ละเอียดนักหนาเกี่ยวกับธรรมชาติ ความคิดของตัวเอง แต่บกพร่องไปในสัมผัสเพื่อนมนุษย์งานเขาก็วิเศษนี่ ”


-สมมติว่าถ้าเราจะยกตัวอย่างในกรณีที่กวี มีสัมผัสพิเศษเหนือคนอื่น จนมีการตั้งคำถามว่าเป็นศาสดา


“ก็ต้องนับว่าเป็นเฉพาะกรณี ไม่ใช่หรือคะ ที่ไม่ใช่กวีแต่ยกย่องกันว่ามีสัมผัสพิเศษ จนนับถือกันว่าเป็นศาสดา ดิฉันไม่อยากให้พูดว่ากวีอย่างนี้ กวีอย่างนั้น มันเหมือนกับพูดว่า ไอ้นี่ขาว ไอ้นี่ดำ จริงๆ แล้วในธรรมชาติ ไม่มีสีขาวที่ไม่มีอื่นเจือ สีดำก็ไม่มี มันเป็นการปนของสีอื่นๆ ไม่มีอะไรที่เป็น 100% กวีมีคุณสมบัติอย่างไงนี่ ไม่น่าจะมีใครตอบได้นะ ใครเป็นกวีก็ตอบยาก คนรุ่นหลังน่าจะเป็นคนตอบ”


-อย่างนี้ในส่วนที่คุณหญิงสร้างงาน คุณหญิงรู้สึกต้องใช้สัมผัสพิเศษในตัวของเราหรือเปล่าคะ


“ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีอะไรบังคับ ไม่เคยคิดว่าเรามีสัมผัสอะไรพิเศษหรือไม่ ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ต้องเป็นคนอื่น ไม่ใช่ตัวเรา ขืนเรามาสนใจตรงนั้นเราคงไม่เขียน หรือเขียนงานก็คงออกมาประหลาดมาก (หัวเราะ) คงต้องออกมาอย่างจงใจ ไม่ดีแน่ ”


-และมีบางช่วงมั้ยคะที่มีความรู้สึกว่าเขียนไม่ค่อยออก


“มีบ่อยมากค่ะ มันอยู่ข้างในเอาออกมาไม่ได้ เวลาคิดมากจะเกิดกรอบ จะกังวลแล้วก็เขียนไม่ออก ไม่รู้สึกอยากเขียนแล้วก็ไม่เขียน พาลเกเรทำอย่างอื่นไปเลย ไอ้ที่เขารวมพิมพ์ออกมาเป็นเล่มน่ะ มันเขียนโดยไม่มีกรอบ เขียนโดยไม่ได้คิดว่ามันเป็นงานประเภทไหนด้วยซ้ำไป เป็นบทกวีหรือเปล่าก็ไม่รู้ เหมือนอยากเขียนภาพระบายสี แล้วก็ระบายออกมาเป็นภาษาเท่านั้นเอง”


ไม่ว่าจะเรียกสัมผัสพิเศษ หรือสัมผัสที่ 6 ก็ตามที เมื่อบทสนทนากับคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน สิ้นสุดลง ณ บรรทัดนี้


เรารู้สึกว่า...คือความสามารถของมนุษย์ธรรมดาๆ ที่สามารถพัฒนาได้


ว่าแล้วก็ชักไม่ค่อยจะตื่นเต้นเสียแล้วสิ


 

จาก “หญิงยุคใหม่” (ฉบับพิเศษฉลองครบรอบ 6 ปี) พฤษภาคม 2532

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page