top of page

หมาจิ้งจอกในหัวใจ (1)

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ การเดินทางผ่านการเวลาจาก

‘ฝนตกยังต้องฟ้าร้องยังถึง’ สู่ ‘เจ้าแสดแปดขา’


โดย เพทาย บุษบัน




'ช่างเต็มอิ่ม ' น้อยครั้งที่การคุยกับใครสักคนจะปลุกความรู้สึกนี้ออกมา จนสัมผัสได้ในการทำงานสัมภาษณ์จำเจเป็นอาชีพ


การพบกับ คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ ในช่วงจังหวะที่เธอกำลังถูกกล่าวขวัญชื่นชมในเรื่องหนึ่งอยู่ เพื่อพูดคุยเรื่องอื่น แล้วพบว่ามันช่างคุ้มค่านั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดา


ตอนที่คุณหญิงจำนงศรีเปิดโอกาสให้พบนั้น หนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร ของเธอกำลังดังระเบิด

ใคร ๆ ก็นัดหมายมาเพื่อพูดคุยเรื่องนี้ ไม่มีใครกลัวว่าเรื่องซ้ำๆ จะน่าเบื่อ เพียงขอให้มีเรื่องราวเกี่ยวกับปูมประวัติตระกูล 'หวั่งหลี' เล่มนี้ให้ได้เอ่ยถึงหน้ากระดาษของตัวเอง ก็ถือว่าไม่ตกข่าวแล้ว


แต่คุณหญิงผู้ยังพราวพริ้งอ่อนวัยกว่าอายุจริงท่านนี้ ไม่ใช่นักเขียนธรรมดาที่ยอมไหลไปตามกระแสข่าวที่จุดพลุได้ตามอำเภอใจของสื่อ จึงไม่ง่ายที่จะได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับเธอจริงๆ ในสิ่งที่สื่ออยากให้เป็น หรือวางกรอบไว้ล่วงหน้าเพื่อจะเอาใบหน้ากับเรื่องราวสวยๆ ของเธอไปใส่ไว้อวดใครๆ เพียงฉาบฉวย


อาจจะเพราะครั้งหนึ่งเธอเคยผ่านงานหนังสือพิมพ์บางกอกเวิร์ลด์มาแล้ว ไม่ใช่ในฐานะผู้สื่อข่าวและ

คอลัมนิสต์ธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นบรรณาธิการข่าวสตรีและสังคมที่อายุน้อยที่สุดในยุคนั้น


ผู้ไปขอสัมภาษณ์จึงมักถูกผู้ให้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายสัมภาษณ์เสียก่อนทุกคราวไป


“ทำไมคุณถึงสนใจดิฉันคะ ?” หลายๆ คนที่ติดต่อไปขอสัมภาษณ์ จะถูกถามด้วยประโยคนี้

“คุณสนใจงานของดิฉันจริง ๆ หรือ รึว่าสนใจแค่ตัวดิฉัน ?”


คนส่วนใหญ่สนใจเธอเพราะหนังสือเล่มโด่งดัง 'ดุจนาวากลางมหาสมุทร' และคนจำนวนมากรู้จักเธอ

ผิวเผินจากการประโคมเพียงแค่นั้น

“ดิฉันไม่อยากให้คนสนใจตัวดิฉันเพียงเพราะแค่เนื้อหาในหนังสือ แต่อยากให้สนใจในส่วนที่ดิฉันทำให้คนอ่านคิดต่อเองมากกว่า”


เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อได้พบ สนทนา แลกเปลี่ยนและรับฟังสิ่งที่อยู่ข้างในหัวใจ ที่มีมิติลึกซึ้งถึงแก่นพุทธธรรม กับวิถีทางที่จะเลือกให้ชีวิตง่ายและงามได้ไม่ยากเย็น


การเดินทางเข้าไปในหัวใจของเธอต่างหากที่น่าศึกษา น่าค้นหาและใคร่ครวญหวนคิด ให้เป็นสาระในชีวิต มากเสียยิ่งกว่าการเดินทางออกสู่โลกกว้าง ด้วยเรือสำเภาของตระกูลใหญ่อันมั่งคั่ง


ผู้เขียนได้พบว่าหัวใจที่อิ่มด้วยการพบตัวเองอย่างชัดแจ้งของคุณหญิงจำนงศรีนั่นต่างหาก ที่เป็นคลื่นลมให้นาวากลางมหาสมุทรลำนี้เดินทางข้ามมหานที ผ่านพายุเภทภัยไปสู่ที่หมายปลายฟ้าได้อย่างปลอดภัย

สองครั้งของการนัดหมายคราวละครึ่งวันกับหนึ่งมื้ออาหารกลางวันฝีมือคุณหญิงที่เปี่ยมด้วยรสชาติ ในเมนูง่ายๆ อย่าง แกงส้ม ไข่เจียว น้ำพริกปลาทู เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้บทสนทนาที่พรั่งพรูอย่างเหลือเชื่อ


เธอเป็นผู้หญิงพิเศษที่ใครได้รู้จักแล้วจะอิ่มไมตรี และอิ่มอาภรณ์ในการพูดคุยที่เพลิดเพลิน


ในบ้านกลางกรุงบนตึกสูง ห้องครัวของคุณหญิงจำนงศรีใหญ่กว่าห้องทำงานเธอถึง 3 เท่า สะอาด สว่างพร้อมอุปกรณ์ครบครันที่รับใช้เจ้าของแทบทุกมื้ออาหาร


การทำกับข้าวคือความสุขส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเธอ และนับวันเป็นความสุขที่พอกพูนขึ้นเรื่อยเมื่อคนชิมรสมือเจ้าประจำคือ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ เริ่มบ่นถึงความยากลำบากในการควบคุม

น้ำหนัก


เกือบทุกเช้าตีห้าครึ่งคุณหญิงจะเข้าครัวทำอาหารให้ ดร.ชิงชัยรับประทานก่อนออกไปเล่นเทนนิสและทำงาน บ่อยๆ ครั้งห้องชุดแห่งนั้นใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรองเพื่อนฝูงชาวไทย ชาวต่างชาติของ ดร.ชิงชัย โดยไม่เคยไปสั่งอาหารหรูหรามาจากไหน แม้โรงแรมรีเจนท์จะอยู่ใกล้แค่หายใจรด ถ้าจะมีมาจากข้างนอกบ้าง จากฝีมือแม่ครัวโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ซึ่งคุณหญิงเป็นประธานกรรมการอยู่


ความสุขในการลงมือทำสิ่งที่รักให้คนผู้เป็นที่รักอย่างเข้าถึงคุณค่าสิ่งนั้นเต็มเปี่ยม คือที่มาของประกายตาเปี่ยมสุขและรอยยิ้มที่ฉาบใบหน้าเป็นนิจสินในเวลานี้


“ทำกับข้าวมีอะไรๆ เหมือนการเขียนหนังสือ คือ ต้องคิด ตั้งใจ จริงใจ ใช้สมาธิ ต้องละเอียดและสนุกในการปรุงรสให้วัตถุดิบมีชีวิตชีวา อิ่มอร่อย สุขใจทั้งคนทำและคนกิน”

มิติทางความคิดอันสวยงามที่ค่อยๆ เปิดม่านขึ้นให้เห็นโลกเต็มใบของคุณหญิงจำนงศรี ทั้งสองคราวของการสนทนานั้น กลบความน่าสนใจในหนังสือเรื่องโด่งดังของเธอให้เหลือกระจ้อย


เราคุยกันเรื่องการเดินทางเข้าไปย้อนดูข้างในตัวเองของเธอเป็นประเด็นหลัก ลึกลงไปเรื่อยๆ นับแต่การปรากฏขึ้นเป็นรูปเล่มของ 'ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง' ครั้งแรก มาถึงการทำหนังสือนิทานมูลนิธิเด็กหลายเรื่อง และที่กำลังลงมือประดิดประดอยอยู่ขณะนี้คือ 'เจ้าแสดแปดขา'


ระหว่างทางเหล่านั้น คุณหญิงจำนงศรียังแอบหนีเที่ยว หลบไปทำปฏิทินสวยๆ จนได้รางวัลชื่นชมมาไม่น้อย และยังคอยเป็นกองเชียร์คู่รักจำนวนมากให้ใช้บริการคำร้อยชูรักของเธอเป็นของชำร่วยแต่งงานแทนของที่ระลึกแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคย ทั้งนี้เพื่อหารายได้ไปช่วยเด็กหญิงในกลุ่มเสี่ยง ผ่าน 'มูลนิธิเรือนร่มเย็น' ที่เธอดูแลอยู่


ชีวิตรักครั้งใหม่ของคุณหญิงเบิกโลกให้สดใสสวยงาม จดอดไม่ได้ที่จะเผื่อแผ่ถึงคนอื่น


เธอพาท่องเข้าไปในโลกกวีนิพนธ์ทั้งของตัวเอง และงานวรรณคดีแบบมีฉันทลักษณ์ที่ชื่นชอบนักหนา โดยเฉพาะ 'ลิลิตพระลอ' ซึ่งนำธรรมชาติมารับใช้วรรณกรรมได้อย่างอุดม หมดจดและสมบูรณ์


พาเข้าไปหยั่งโลกพุทธธรรมของ 'ท่านพุทธทาส' แนะนำให้รู้จักสระนาฬิเก ตัวบึ้งใยและหมู่มด ที่ประกอบกันขึ้นเป็นคำร้อยไร้ฉันทลักษณ์เล่มเล็ก ๆ 'ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง' ซึ่งเธอเดินออกไปข้างนอก แม้จะมีตรอกซอกซอยให้คนได้เลี้ยวเข้ามาเห็น ‘ข้างใน’ ได้ตลอดก็ตาม


“เพราะงานเขียนที่เดินทางเข้าไปข้างใน ทำให้ได้สังเกตและเข้าใจความละเอียดซับซ้อนของธรรมชาติมนุษย์ในตัวเอง... สังคมทุกวันนี้สนใจเรื่องข้างนอกมากกว่า ดิฉันมีความสุขนะคะ กับงานที่ต้องมองลึกเข้าข้างใน เพราะทำให้ได้เรียนรู้ด้วยใจ ทั้งในส่วนที่สัมพันธ์กับความรู้สึก และส่วนที่สัมพันธ์กับสมอง”

ด้วยเหตุนี้ คุณหญิงจำนงศรีจึงไม่ปลื้มจนเกินไปนัก กับการแห่สรรเสริญสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เพียงภายนอก เธอบอกว่าจะปลื้มยิ่งกว่าปลื้ม ถ้าหากกวีนิพนธ์บางบทหรือบางประโยคของเธอ สามารถจุดประกายความคิดบางอย่างในคนอ่านอย่างเช่น...


เช้านี้เห็นใบประดู่ตาย ติ้วลมอยู่กลางอากาศ

หลุดจากต้นหล่นไม่ถึงดิน

หมุนตามแรงลม เร็วบ้างช้าบ้างกลางแดดสาย

ดูใกล้ ๆ เห็นแขวนติดกับกิ่งไม้ด้วยใยแมงมุมบางใส

เหมือนใยเพชร

ที่มองเห็นได้เพียงเมื่อแดดกระทบให้สะท้อนแสง

ดูเจ้าใบประดู่ เหมือนลอยอยู่ ที่แท้ไม่อิสระ

สายใยล่ามไว้ให้เป็นทาสลม


มนุษย์เราช่างไขว่คว้าหาพันธนาการ

หลุดจากวัตถุ มาติดเรื่องทางใจ

หลุดจากใจ มากลายเป็นทางวิญญาณ ทางความคิด

เส้นใยบางเบา

เหนียวเหลือใจ

(ใบประดู่ จาก ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง)



นั่นคือกวีบทที่ 40 บทสุดท้ายในบันทึกประจำวันของคุณหญิงจำนงศรี ระหว่างเข้าไปปฏิบัติธรรม ใน

สวนโมกขพลาราม เป็นเวลา 3 เดือนเต็มๆ เมื่อปี พ.ศ. 2534 ก่อนที่จะไปต่อที่วัดป่า ที่จังหวัดสกลนคร

อีก 3 เดือน


การปฏิบัติธรรมเพื่อเดินทางเข้าไปศึกษาธรรมชาติที่อยู่ในตัวเองครั้งนั้น แปรมาเป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญาพุทธศาสนา ที่อาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง แสดงความชื่นชมไว้อย่างยิ่งว่า นี่เป็นตัวอย่างของการยอมสละเวลา “มองย้อนดูข้างใน” ตัวเองแล้วได้พบ ได้รู้


อาจารย์คุณรัญจวนตั้งข้อสังเกตว่าคุณหญิงจำนงศรี มีลักษณะของจิตที่ฉลาดว่องไวต่อการพิจารณาสิ่งข้างนอก จึงเป็นอุปสรรคต่อการฝึกปฏิบัติธรรม ที่ต้องเปลี่ยนวิธีการศึกษาจากการดูข้างนอก มาย้อนดู

ข้างในแทน อันเป็นการทวนกระแสความเคยชินที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิต และผลของมันคือหนังสือ

เล่มน้อยที่งดงาม ด้วยความเข้าใจดิ่งลึกในความเป็นมนุษย์


แดดเช้าส่อง

สระนาฬิเก

ดูสวยสว่าง

สงบ

ใส


แต่ไม่ใช่หรอก

มันหลอกตาเรา

ถ้าใสจริง สงบจริง ต้องเห็นดิ่งถึงก้นบึ้ง

นี่เห็นเพียงผิวที่ดึงเอาเงา

เอาภาพ เอาสี

จากสิ่งสารพันที่ตรงนั้นมาสะท้อน

ให้ดูใสสว่างเหมือนจริง

แต่ไม่ใช่หรอก

ไม่เหมือนจริง


ดูให้ดี ดูสีใบบนไม้ต้นลิ่วนั้น

เงาในน้ำเพี้ยนคล้ำ อมตะไคร่

ดูให้ดี ดูสีท้องฟ้า

มายาน้ำ เจือครามหนักกว่าฟ้าข้างบน


ภาพน้ำสะท้อนเห็นเยื่อเมฆขาว ยาวเป็นใย

ถ้านั่งนิ่งๆ จ้องให้จริง

จะเห็นว่าไม่ลอยเรียบเหมือนเจ้าต้นแบบ

หากระริกไหวไปกับพลิ้วน้ำ


ดูสระสวยกลางแดดใส หลังคืนฝนตกใหญ่

รู้ว่าใจก็อย่างนั้น

เหมือนน้ำที่ใสอย่างกระจกเงา

เห็นแค่เพียงเงาสะท้อน

รูปหลอนที่เที่ยวเวียนเที่ยวพากันมาหลอกใจ

พรางตา

ให้หลงตาม


วันนี้ผิวน้ำยังหลอกให้หลง

เสน่ห์มันอยู่ตรงความพลิ้ว

ไม่อยู่นิ่ง

เหมือนสารพันสิ่งในชีวิต

ที่ชวนพาให้วิ่งหาไม่หยุดหย่อน

จนลืมหยุดเพ่งใจให้เห็นลึก


หยุดพัก มองให้ถึงบึ้งสระ

อย่างน้อยก็รู้แล้วว่า

ยิ่งลึกลงไป น้ำยิ่งนุ่ม นิ่ง

ยิ่งลึก น้ำยิ่งใส

ยิ่งเย็น

(22 พฤษภาคม 2534)



บันทึกบทนี้ 7 ปีผ่านไปแล้ว ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ผู้เพ่งจิตสู่ก้นบึงรู้ซึ้งว่า จิตที่เปราะบางนั้นไหวและนิ่ง สลับไปมาไม่หยุดหย่อน


ไหวเมื่อไรก็จะไปหาธรรม นิ่งเมื่อไหร่ก็ได้มองเห็นและหยั่งรู้ลึกลงไปในธรรมชาติแห่งตัวตน


วนเวียนอยู่เช่นนี้...

 

จาก: คอลัมน์วรรณกรรมรายงาน ในมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 988 วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2542


ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page