top of page

สถาบันพระปกเกล้า: ว่าด้วยเรื่อง'ธรรมภิบาล'กับชีพจร

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าได้สัมผัสการประชุมทางวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าในหัวข้อ “การเมือง การบริหาร และการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยตันศตวรรษหน้า”


ข้าพเจ้าไปไม่ใช่ฐานะนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสัมนาแต่ประการใด แต่ ในฐานะผู้ติดตาม (ภรรยาผู้ติดตามสามี) ตั้งใจว่าจะใช้เวลาว่างสะสางงานอ่าน งานเขียน ที่คั่งค้างมานานในบรรยากาศอันสงบ และอากาศชายทะเลพัทยาที่เย็นสบายสมฤดูกาล กะว่าเวลาว่างอย่างว่า คงจะมีมากโข ดูตามกำหนดการประชุมอันแน่นเพียบของผู้ที่ถูกติดตาม


แต่กลับไม่ได้ทั้งอ่านทั้งเขียนตามที่หมายมั่นไว้ เพราะเมื่อแอบเข้าไปฟังการประชุมช่วงแรกแล้ว ก็เลยฟังเรื่อยๆ ด้วยมีความอยากรู้ อยากเห็นเป็นนิสัย ยากที่จะขัดเกลา


ถึงนิสัยนี้จะทำให้งานการคั่งค้างต่อไป แต่ก็ทำให้ได้ความรู้ความคิดใหม่ๆ… คือใหม่สำหรับข้าพเจ้าซึ่งอยู่นอกวงการวิชาการ การเมือง และการปกครอง


มาเขียนบทความนี้ก็เพื่อคุยกับคนนอกวงการอย่างตัวเอง ท่านผู้อยู่ในวงการขอได้หยุดอ่านก่อนที่จะพึมพำว่า “เขารู้กันมานานแล้วละ คุณยาย”


ขออธิบายกับคนเชยๆ อย่างข้าพเจ้าว่า สถาบันพระปกเกล้าฯ เกิดขึ้นในช่วงตื่นตัวเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีหน้าที่เสริมฐานประชาสังคมเพื่อปูทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่ให้ผลประโยชน์สูงสุดกับประชาชน


ศัพท์ใหม่สำหรับข้าพเจ้าศัพท์หนึ่งคือ 'ธรรมาภิบาล' เป็นคำไทยสำหรับคำภาษาฝรั่งที่ว่า 'good governance' ซึ่งกำลังเป็นคำโปรดของนักรัฐศาสตร์การเมืองการปกครองในขณะนี้ เพราะหมายถึง

การปกครองที่ดี อันครอบคลุมถึงคุณภาพและความถูกต้องในการปฏิบัติงานของรัฐบาล นักการเมือง และข้าราชการ


คำว่า 'good governance' นี้ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เคยบัญญัติไว้ว่า ธรรมรัฐ ซึ่งมีทั้งคนที่ชอบและที่ไม่ชอบ


จำได้ว่าหลายคนติว่า ธรรม ทำให้โยงไปถึง เรื่อง ศาสนา ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า ธรรม หมายถึง ความถูกต้องและดุลยภาพ อย่างในคำว่า 'ธรรมชาติ' และ 'ธรรมดา' บางคนติว่า รัฐ ไปตรงกับคำว่า state ซึ่งไม่บงถึงการกระทำ และไม่ใช่ governance ซึ่งหมายถึง การปกครอง ตรงนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำติ

เพราะ good governance บ่งถึง การกระทำ ไม่ใช่ระบบ เช่น ประเทศใดประเทศหนึ่งอาจอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นจะมี good governance หากคลาคล่ำ ด้วยนักการเมืองและข้าราชการฉ้อฉล ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งภาคธุรกิจที่ฉ้อโกง ตลอดจนประชาชน ที่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม


อาจพูดได้ว่า good governance เป็นชีพจรของระบอบประชาธิปไตย ถ้าชีพจรเต้นอ่อนๆ ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก็อาจจะขาดเรี่ยวแรงเป็นลมเป็นแล้งไปง่ายๆ


ในมุมกลับ ประเทศที่มีการ ปกครองกึ่งเผด็จการที่อาจมี good governance ได้ ถึงแม้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบจะเอื้อให้เกิด good governance ได้ มากกว่า และต่อเนื่องกว่า เพราะประชาชนจะสามารถเป็นหัวใจที่สูบฉีดเลือดให้ชีพจรแข็งแรงสม่ำเสมอ


ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้บัญญัติคำว่า ธรรมภิบาล ซึ่งนำมาใช้ในการสัมมนาครั้งนี้ แต่ตรงกับใจข้าพเจ้ากว่า ธรรมรัฐ เพราะในเมื่อ ภิบาล หมายถึง การปกปักษ์รักษาความถูกต้อง ใกล้เคียง good governance ขึ้นอีกหน่อย


ถึงกระนั้น ผู้ถูกติดตาม ของข้าพเจ้าก็ยังมีความเห็นว่าทำไมไม่ใช้ การปกครองที่ดีเสียเลยให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ข้าพเจ้าได้แต่ตอบว่าก็ไม่ขลังนะซี คนบัญญัติศัพท์เขารู้ว่าความขลังมีความสำคัญทางจิตวิทยา ทั้งความขลังก็เป็นคุณภาพอย่างหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการได้ความเคารพเชื่อถือจากคนทั่วไป


หนึ่งในอีกหลายๆ อย่างที่ใหม่สำหรับข้าพเจ้าในการติดตามไปประชุมครั้งนี้ คือ การได้พบตัวและสดับทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล เพราะการสัมมนาครั้งนี้มีปาฐกถาพิเศษ โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมาตยา เซ็น (Dr. Amartya Sen) ซึ่งขณะนี้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อันลือชื่อของอังกฤษ ปาฐกถาของ ดร.อมาตยา เซ็น ซึ่งมีหัวข้อว่า Democracy and Development in a Globalizing World (ประชาธิปไตยและการพัฒนาในโลกโลกาภิวัฒน์) เป็นจุดดึงดูดให้คนฟังเข้าห้องประชุมอันกว้างใหญ่จนแน่นเพียบ ผู้ติดตามเหมือนข้าพเจ้าก็มานั่งฟังอยู่หลายคน


ดร.เซ็นผู้นี้ เป็นชาวอินเดีย อายุ 67 ปี เขาได้รับรางวัลโนเบล เมื่อปี พ.ศ. 2541 จากผลงานด้านเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ โดยเน้นความยากจนและทุพภิกขภัย


คงจะเป็นเพราะศึกษาสนใจเรื่องความยากจนและความทุกข์ของเพื่อมนุษย์ ดร.เซ็น จึงเป็นคนเก่ง คนสำคัญที่มีความสงบและอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เกิดความอบอุ่นใจกับผู้ที่ได้พบเห็นและ

พูดคุยด้วย


ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาเป็นชาวพุทธหรือไม่ แต่เอกลักษณ์ส่วนตัวนี้ เมื่อมาผนวกกับเรื่องที่เขาใส่ใจศึกษา ทำให้ชาวพุทธอย่างข้าพเจ้าย้อนนึกถึงหลักความจริงที่ว่า การเข้าถึงความทุกข์และสาเหตุของทุกข์ ทำให้มนุษย์แสวงหาและสามารถเข้าสู่เส้นทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพันจากทุกข์ อันเป็นเส้นทางแห่งความสุขที่สงบงาม

การนั่งรวมโต๊ะอาหารกัน ทำให้ได้สังเกตว่า ดร. เซ็นกินน้อยพูดน้อย เสียงค่อย นอกจากรอยยิ้มที่

อ่อนโยนแล้วยังมีความเกรงใจไม่เรียกร้องความเป็นพิเศษใดๆ เขาวางตัวสบายๆ สุภาพเรียบง่าย

ไม่เดือดร้อนว่าใครจะให้ความสำคัญกับเขาหรือไม่


ที่เล่าตรงนี้ยืดยาว ก็เพราะหวังว่าอาจจะสร้างตัวอย่างให้กับคนเก่ง คนสำคัญหลายๆ คนในบ้านเรา และคิดยาวไปว่า ความหนักแน่นมีสติ มักน้อยเรียบง่าย อาจเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของคุณสมบัติของนักการเมืองและข้าราชการที่จะมีส่วนผลักดันให้ธรรมาภิบาลเติบโตงอกงามเกินระดับอนุบาลอย่างที่เป็นอยู่


ในคำปาฐกถาของเขา ดร.เซ็น ให้ความสำคัญสูงมากกับความเป็นประชาธิปไตยในฐานะเข็มขัดนิรภัย (คำเปรียบเทียบของข้าพเจ้าเอง) ที่สามารถลดแรงกระแทกของวิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างเช่น วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศเอเชียตะวันออก รวมทั้งไทยประสบอยู่


แน่นอนเหลือเกินว่า ดร.เซ็น หมายถึง active democracy คือ ประชาธิปไตยที่ชีพจรเต้นอย่างเป็น

ปกติดี คือ ประกอบด้วย ธรรมาภิบาล มิใช่ประชาธิปไตยที่มีตัวระบบเป็นเครื่องแบบโอ้อวดแต่มีเนื้อแท้ที่อ่อนเปียกด้วยความทุจริตกับความเห็นแก่ประโยชศ์ส่วนตน ส่วนพรรคพวก รวมทั้งช่องว่างทางเศรษฐกิจอันกว้างใหญ่ของประชากร


ดร.เซ็นมีมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ว่าด้วยเรื่องทรัพย์สิน


ทรัพย์สินในสายตาเขารวมไปถึงสุขภาพ ซึ่งเขาถือว่าเป็นทรัพย์สินอันทรงค่ายิ่ง


ฉะนั้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจจึงหมายถึง สุขภาพไม่น้อยไปกว่ารายได้ ทำให้นึกถึงภาษิตที่ว่า ความปราศจากโรค เป็นลาภอันประเสริฐ


น่าสนใจที่เข้าเน้นในช่วงการตอบคำถามว่า ให้ระวังอย่าไปมองวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยและปัญหาทางการเมืองว่าเป็นความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจเสรีและระบอบประชาธิปไตย


หากให้เข้าใจให้ถ่องแท้ว่ามีสาเหตุมาความยังไม่ลงตัวดีของระบบต่างๆ ภายใต้กลไกทั้งสองของเรา ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาปรับอีกนานพอสมควร เห็นจะโยงไปถึง ธรรมาภิบาล อีกนั่นแหละ และแน่นอนว่าถึง บรรษัทภิบาล (การปกครองที่ดีภายในภาคธุรกิจ) ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน


ถึงจุดนี้ข้าพเจ้าก็ตั้งความหวังไว้กับสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมีหน้าที่บำรุงเยียวยาชีพจรของระบอบประชาธิปไตย ว่าจะช่วยสร้างความลงตัวนี้เกิดขึ้น ในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังไม่ชราหงำเหงือก จนร่วมปลาบปลื้มกับความสำเร็จไม่ไหว


ขอฝากไว้ว่าประชาชนทั่วไปทุกคนเป็นเซลล์ของหัวใจอวัยวะสำคัญที่จะสูบฉีดเลือดให้ชีพจรเต้นได้แข็งแรงเป็นปกติได้ ถ้าเขาได้รับความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทที่ถูกต้องของเขา ในการสร้าง ธรรมาภิบาล


บทบาทนี้จะต้องเป็นบทบาทที่มีความสมดุลในเรื่องทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของความ

เป็นประชาชน


 

จาก : มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 1010 ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2542

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page