top of page

วิชาตัวเบา



นักอ่านหลายคนรู้จักเรื่องราวการต่อสู้และฟันฝ่าหลายชั่วอายุคนของตระกูลหวั่งหลีจากผลงานโด่งดังของคุณหญิงนักเขียน เรื่องดุจนาวากลางมหาสมุทร กันดี และเมื่อ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ได้เปิดตัวผลงานหนังสือเรื่องล่าสุดในแนวสุขภาพจิต เรื่อง วิชาตัวเบา จึงได้รับการต้อนรับจากนักอ่านอย่างล้นหลามอีกเช่นเคย

การ์ดเชิญมาถึง ‘กุลสตรี’ อย่างคนคุ้นเคยกัน ส่งข่าวมาว่าในงานเปิดตัวหนังสือ วิชาตัวเบา ของ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ มีสุภาพสตรีมาร่วมสนทนาในเรื่องเคล็ดลับการทำ วิชาตัวเบา อีก 2 ท่าน คือ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ และคุณสุพรทิพย์ ช่วงรังสี

‘ตัวเบา เบาตัว’ ย่อภูเขาให้เล็กเท่าจอมปลวกและฟังเคล็ดในการมองโลกอย่างเข้าใจด้วยวิธีคิดที่พลิกมุมมองเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี ทั้งประเด็นการพูดคุยและชื่อแขกร่วมวงสนทนาก็เร้าใจให้อยากมาร่วมงานมาก ๆ แล้ว

วิชาตัวเบา คืออะไร? เมื่อเปิดไปที่หน้า บ.ก. ได้เกริ่นว่า ...ในโลกที่วุ่นวายและหมุนเร็วกว่าเดิม อาจะทำให้ชีวิตเราหนัก เหนื่อยและหน่ายมากขึ้น เช่นนี้แล้วการแสวงหา ‘เคล็ดวิชา’ ติดตัวเพื่อทำชีวิตเราให้ง่ายขึ้น จึงเป็นเรื่องจำเป็น

วิชาตัวเบาจึงเป็นเคล็ดวิชาอย่างหนึ่ง ...ถ้าอยากทราบรายละเอียดของเคล็ดวิชานี้ ต้องติดตามเราไปฟังเสวนาครั้งนี้กันเลยค่ะ

การเสวนาเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ช่อผกา วิริยานนท์ พิธีกรบุคลิกเท่ได้ส่งคำถามแรกว่า ทำไมคุณหญิงจำนงศรีจึงได้เขียนหนังสือเรื่อง ‘วิชาตัวเบา’?

ก่อนจะตอบคำถามที่หลายคนอยากรู้ คุณหญิงได้เอ่ยขอขอบพระคุณผู้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นหรอกค่ะ สุภาพสตรีที่ยังคงความสวยไว้ได้เสมอวันนี้ก็มานั่งเสวนาอยู่ข้าง ๆ ด้วยกันนี่เอง “ต้องให้คะแนนแด่ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ ผู้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ หลังจากที่คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ แห่งสำนักพิมพ์อมรินทร์ชักชวนให้ดิฉันเขียนเรื่องที่มาจากการคิด การสังเกตและประสบการณ์ แล้วนำมาผสมผสานกัน มาเล่ามาคุยโดยเป็นมุมมองของตัวเอง แต่เมื่อจะพิมพ์เป็นรวมเล่มคิดชื่อหนังสืออย่างไรก็คิดไม่ออกเลย”


คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้อธิบายเพิ่มเติมขึ้นมาว่า

“ลูกชายเป็นคนที่ชื่นชมคุณหญิงจำนงศรีมาก ได้ยื่นเรื่องนี้มาให้แล้วบอกว่า แม่ต้องชอบแน่ ...เพียงครึ่งชั่วโมงก็อ่านจบแล้วค่ะ รู้สึกว่าสำนวนง่ายๆ นั้นอ่านสนุกและ ‘ตัวเบา’ ขึ้นทันที พอลูกบอกว่าให้ช่วยคิดชื่อหนังสือให้หน่อย ดิฉันก็เลยบอกว่า ไม่ต้องคิดมากหรอกให้ชื่อหนังสือว่า ‘วิชาตัวเบา’ เป็นชื่อที่มาโดยอัตโนมัติจริง ๆ แต่ก็กลัวคนอ่านจะคิดกันไปนะคะว่า ทำไมคุณหญิงจำนงศรีต้องมาสอนวิชากำลังภายใน? (ประโยคนี้เรียกเสียงหัวเราะกันครืน) ...ดิฉันก็เลยให้ชื่อ ‘เคาะสนิม’ ไปอีก 1 ชื่อ แต่ บ.ก. ก็เลือกชื่อแรกมา”

คุณสุพรทิพย์ ผู้หญิงเก่งแห่ง 124 คอมมิวนิเคชั่น ก็ได้อ่านจบเล่มไปแล้วเช่นกัน คุณอุ๊-พิธีกร ได้ส่งคำถามให้สาวสวยที่นั่งยิ้มหวานอยู่ว่า คุณทิพย์ชอบบทไหนมากที่สุด? นักอ่านตัวจริงก็ตอบได้ทันทีค่ะ

“ชอบที่สุดคือเรื่อง ให้ความสุขแก่กันเหมือนตื่นเช้าล้างหน้า ชีวิตคนเราต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แล้วเมื่อกลับเข้าบ้านบางครั้งก็ทำร้ายคนในบ้านด้วยกันอย่างไม่รู้ตัว แต่การคิดที่ว่า ให้ความสุขกันเหมือนตื่นเช้าล้างหน้านั้น ฟังแล้วง่ายเหลือเกิน แล้วยิ่งได้อ่านบทพาดหัวเรื่อง ทิพย์ก็ยังต้องกลับไปอ่านซ้ำอีกหลายๆ รอบ กินใจมากๆ" (อยากรู้ว่าคุณหญิงจำนงศรี เขียนกลอนบทนี้ไพเราะลึกซึ้งเพียงใด ต้องติดตามค่ะ)

คำจำกัดความของหนังสือ ‘วิชาตัวเบา’ ซึ่งคุณหญิงจำนงศรีได้นิยามไว้ว่า คือ "การมองเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นเรื่องดีนั่นเองค่ะ” พิธีกรจึงได้โอกาสถามต่อว่า ในชีวิตของคุณทิพย์เคยเจอเรื่องร้ายแล้วเราสามารถมองให้เห็นแง่ดีของเรื่องนั้นได้บ้างหรือไม่?


“โดยส่วนตัวของทิพย์เอง เรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมีทั้งขั้วดีและไม่ดี ถ้าเอาจิตเข้าไปจับในเรื่องของความไม่ดี แล้วไปเปรียบกับสิ่งที่ดีๆ แน่นอนเลยว่าถ้าเรามีสายตาจ้องจับผิดชีวิตอย่างนี้ก็ยิ่งทุกข์ เราจะไม่มีความสุขเลย ตัวทิพย์เองคิดเสมอว่า ในเรื่องที่ไม่ดีต้องมีความดีเจือปนอยู่ในนั้นเสมอ”

ซึ่งความคิด มองโลกในด้านดีคือกุญแจการหาความสุขให้แก่ตนเอง ของคุณทิพย์นั้นก็เป็นทัศนคติที่สอดคล้องไปกับแนวการเขียนหนังสือเรื่องนี้ของคุณหญิงจำนงศรีอีกด้วย


“ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้นำเพียงสถานการณ์มาเขียนแต่หยิบในเรื่องที่เป็นความรู้สึก...มุมในการมองจากเรื่องเหล่านั้นมาเขียน ซึ่งก็คือที่มาของหนังสือเรื่อง วิชาตัวเบา ขอยกตัวอย่างสัก 1 เรื่องนะคะ วันหนึ่งดิฉันอ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์พบเรื่องของคุณย่าคนหนึ่งเขียนจดหมายเข้ามาปรึกษาเรื่องลูกสะใภ้ไปมีผู้ชายคนอื่น และมีลูกกับผู้ชายคนใหม่ด้วย ส่วนลูกชายสุดที่รักของเธอก็นำลูกสาวตัวเล็กคนนี้มาเลี้ยงไว้ในบ้านอย่างรักแสนรัก เมื่อ ‘คุณย่า’ เห็นเด็กทีไรก็ทำใจไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าคุณแม่เด็กจะมาขอโทษขอโพยคุณย่าก็บอกว่ายกโทษให้ เพราะเห็นใจและเข้าใจในเหตุการณ์ แต่กลับรู้สึกว่ายังผูกใจเจ็บผู้หญิงที่ทรยศต่อลูกชายอยู่ คือรู้สึกว่า...ยกโทษแต่ไม่ให้อภัย

ดิฉันอ่านแล้วก็เข้าใจว่าเมื่อเราโกรธใคร การยกโทษนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพราะเมื่อไตร่ตรองก็จะทราบเหตุผลว่าทำไมเขาจึงต้องทำเช่นนั้น แต่การให้อภัย ยากมากค่ะ ...โดยที่เราไม่รู้ว่ามันยาก แต่อภัยจะเกิดขึ้นที่ใจและเมื่อใจนั้นนิ่งแล้ว เมื่อนิ่งถึงจุดที่ไตร่ตรองได้โดยลึกซึ้งแล้วคิดให้กลับกัน มองว่ามุมที่เลวร้ายนั้นมันก็ยังมีอีกมุมหนึ่งที่ดี ปัญญาก็จะเกิดได้เอง แล้วจะเกิดภาวะใจสงบปล่อยวาง ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ...ความรู้สึกรั้ง ๆ ถ่วง ๆ ก็จะหลุดผึงเหมือนเปลื้องโซ่ตรวนออกจากใจ เป็นอิสรภาพที่เบาสบาย ...และนี่ก็คือเคล็ด ‘วิชาตัวเบา’ ของตัวเอง” อย่างที่บอกค่ะว่า งานนี้คือการเสวนา วันนี้คุณหญิงศศิมาจึงขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วย

“เมื่ออ่านตอน ให้อภัย-ปลดโซ่จากใจ จบ ดิฉันก็เขียนจดหมายถึงคุณหญิงจำนงศรีทันทีว่า ชอบมากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่มีบางประการที่ไม่เห็นด้วยก็คือบทนี้แหละค่ะ เพราะในเรื่องนี้บอกว่า คุณศรีปฏิบัติธรรมเพื่อขอหลุดพ้นในเรื่องทางโลกให้หมด แล้วคุณศรีจะมีอะไรไปอภัยให้ใครอีกล่ะ เพราะเมื่อคนเราหลุดพ้นหมดแล้ว เราก็คงไม่รู้สึกโกรธ ไม่รู้สึกเกลียด ไม่รู้สึกทุกข์ และคงไม่มีโทษจะยกให้ใครด้วย

คุณศรีก็เลยตอบกลับดิฉันมาว่า อ๋อยคงมีเคยมีความทุกข์มากละสิ? ...เรียกว่าเราก็ได้ถกเถียงและแลกเปลี่ยนมุมมองกัน

จะว่าดิฉันไม่เคยพบความลำบากก็ไม่จริง ดิฉันพบความลำบากมามาก อย่างเช่น ลูกเสียชีวิต คงไม่มีสิ่งใดเป็นทุกข์มากเท่าลูกตายอีกแล้วนะคะ แล้วสามีของดิฉันก็ไม่ใช่คนเรียบร้อยอะไรนักหนา แต่เมื่อพบปัญหา แล้วเรามีสติไม่มองเห็นเป็นเรื่องหนัก สามารถปรับตัวให้เบาได้ ด้วยวิธีการคิดว่าถึงเขาจะเปรี้ยวจะเกินจะเลยไปบ้าง (เน้นเสียง) แต่ต่างคนต้องรักษาสิทธิของกันและกัน ซึ่งก็ทำให้เราใช้ชีวิตสมรสกันมาถึง 42 ปีแล้วค่ะ ถึงวันนี้ก็ไม่ได้ถอดเขี้ยวเล็บนะคะ แต่เล็บเขาหลุดไปเอง”

คุณหญิงศศิมาก็เรียกเสียงหัวเราะเกรียวจากคนฟังได้อีกครั้ง เราก็เลยได้ทราบเหตุผลการเลือกแขกรับเชิญการเสวนาครั้งนี้ของคุณหญิงจำนงศรีด้วย


“เมื่อทางสำนักพิมพ์ถามว่าในงานเปิดตัวหนังสือ อยากชวนใครมาคุย ดิฉันก็เลยบอกไปว่าขอผู้หญิงเก่งอย่าง สุพรทิพย์ ช่วงรังสี แล้วดิฉันก็เป็นมนุษย์ที่ชอบถกเถียง จึงขอเลือกคนที่ถกเถียงกันเป็นประจำก็คือคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ (ว่าแล้วก็หัวเราะร่วนชอบใจ) คุณหญิงอ๋อยเป็นคนมีเหตุผลและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ทำให้การถกเถียงของดิฉันไม่จืดชืด เรื่องของการพูดคุยถกเถียงดิฉันก็ได้เขียนไว้ในบทที่ชื่อว่า เถียงกับทะเลาะ กีฬาหรือสนามรบ ดิฉันเชื่อว่าใครไม่เถียง สมองก็ไม่แตกเพราะเราไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่างๆ ออกมา ดิฉันเปรียบเหมือนกับการเล่นกีฬาที่ทำให้เราแข็งแรง แต่ทะเลาะนั้นเป็นคนละเรื่อง เพราะเปรียบเป็นสนามรบ มันจะต้องมีคำว่า เธอไม่ดีอย่างนั้น เธอไม่ดีอย่างนี้ ซึ่งฟังแล้วมันยิ่งจะเข้าตัวเอง

...ดิฉันรู้สึกเขินกับชื่อ “วิชาตัวเบา” นิดหน่อยค่ะ เพราะเราไม่ได้สร้างวิชาอะไรใหม่ขึ้นมา แต่รู้สึกว่าชื่อหนังสือเล่มนี้เก๋มาก คำว่าวิชาตัวเบานั้นก็มาจากวิชาตัวหนักนั่นเอง คือถ้าเราพบเรื่องร้าย หรือมองไปเห็นข้อบกพร่องในตัวเองแล้วก็จงมองหามุมเล่นให้มันเป็นอารมณ์ขัน จนกระทั่งมันเป็น ‘ครู ’ ให้เรา”

กำลังสนุก เนื้อที่ก็พลันหมดเสียแล้วค่ะ แต่มีรางวัลคอยอยู่ท้ายเรื่องเช่นเคย

 

จาก : นิตยสารกุลสตรี ปีที่ 33 ฉบับที่ 787 ปักษ์หลัง ตุลาคม 2546



ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page