top of page

ธรรมะ ศิลปะ และศรัทธา

ของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน


เรื่อง : พจน์ หาญพล

ภาพ : เอกฉัตร ภักดิ์ศรีวงศ์




เอ่ยชื่อคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน แทนที่เราจะคิดถึงคุณหญิงในแบบฉบับตามคตินิยมทั่วไป ที่มักประกอบกิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์พร้อมไปกับงานอาชีพ หากทว่าคุณหญิงท่านนี้กลับมีกิจกรรมโดดเด่นไป

ในด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นคุณหญิงผู้ที่เราเรียกขานได้อย่างเต็มปากว่า “กวี” ด้วยความสามารถใน

การใช้ภาษาได้ไพเราะจับใจ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นงานสงเคราะห์เช่นกัน หากแต่เป็นงานสงเคราะห์ด้านจิตใจ ที่มิได้ปรากฏให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ดังเช่นที่เมื่อปี 2535 งานเขียนชุด “ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง” สะท้อนถ่ายความหมายของความช่างคิด ช่างสังเกตออกมาได้อย่างละเมียดละไม

บนฐานของการปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกขพลาราม

ระยะที่คุณหญิงหันมาสนใจ “ธรรมะ” นี้ เกิดข้อคิดเนื้อความอันน่าสนใจ ฝากไว้ในวงวรรณกรรมหลายประการ และนำมาสู่การสนทนาในวันนี้


เริ่มสนใจธรรมะนานแล้วหรือครับ


18 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นนึกเสมอว่าเป็นคนไม่มีศาสนา คือดิฉันเชื่ออะไรยากมาก มาวันหนึ่งเมื่อ 18 ปีมาแล้ว คุณแม่สามีถูกจักรยานชนล้มลงกลางถนนอโศกนี่ ตอนนั้นท่านอายุ 60 กว่า แขนหัก กระดูกตุงออกมาเห็นได้ชัด แทนที่ท่านจะโกรธหรือตกใจ กลับใจเย็นมาก ท่านค่อยๆ เอามืออีกข้างประคองแขน

ที่หัก ไม่บ่นสักคำ ท่านบอกว่าไม่ให้เอาโทษคนขี่ เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจ ท่านมีสติสั่งงานจนเรียบร้อย แล้วเราก็ไปโรงพยาบาลตำรวจด้วยกันสองคน หมอเขาดึงแขนใส่เฝือกชั่วคราวให้ โดยที่คุณแม่ไม่ดมยาสลบเลย กระดูกหักแบบ compound fracture นะคะ เพราะต่อมาต้องผ่าตัดดามเหล็ก


วันนั้นถามคุณแม่ว่าทำใจอย่างไร ไม่เจ็บหรือ ก็เห็นท่านเหมือนจะเป็นลมอยู่เหมือนกัน ท่านว่าเจ็บน่ะเจ็บ แต่จะไปเดือดร้อนทำไม ในเมื่อมันเป็นแค่ “เวทนา” แล้วท่านก็อธิบายเรื่องขันธ์ 5 ให้ฟัง แหม! น่าสนใจ ดิฉันก็เลยศึกษาธรรม แล้วก็ทำให้เข้าใจ ตัดสินใจอะไรๆ อย่างมีสติมากขึ้น ทำให้เข้าใจอารมณ์ตัวเอง ปฏิบัติธรรมตามแนวท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็นมากกว่าที่จะศรัทธาอย่างจริงจัง แต่ก็ได้รู้จักการเรียนรู้ที่ไม่เคยมาก่อน เป็นการเรียนรู้ที่เกิดที่ใจ ความที่เป็นคนชอบคิด ชอบเรียน ชอบอ่านเขียน เราก็เคยให้ความสำคัญกับการใช้สมองมาก เราไม่เคยรู้ว่า มีการเรียนรู้อีกประเภทหนึ่งที่เกิดจากใจที่นิ่งใส ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาดหรอกนะคะ เป็นความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของกายกับใจเราเอง


เลยศึกษาเรื่องนี้มาต่อเนื่อง


ไม่หรอกค่ะ ทิ้งไปตั้งสิบกว่าปี หลงไปทำอะไรอื่นๆ มากมาย แต่มาเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว มีความทุกข์ใจมาก ทำให้เราต้องหันเข้ามาจัดการกับจิตใจของตัวเอง ในเมื่อเรารู้ว่าความทุกข์มันอยู่ที่ใจ คืออยู่ที่ความรู้สึกนึกคิดของเรา ก็ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของใจเราใช่ไหม ตอนนั้นทุกข์มาก ทั้งที่มีลูกดี มีเกียรติยศเงินทองทุกอย่างพร้อม แต่ว่าทำไมใจเราทุกข์ ได้คิดถึงเรื่องที่เคยศึกษาและปฏิบัติเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว รู้สึกว่ารอไม่ได้อีกแล้ว ก็โทรศัพท์ถามเพื่อนว่ามีที่ไหนที่เราจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมได้ทันที เขาส่งเราไปวัดสวนโมกข์ ที่ไชยา


สมัยนั้นท่านอาจารย์พุทธทาสยังเทศน์ ยังสอนอยู่ แล้วก็มีการฝึกปฏิบัติธรรมครั้งละ 10 วัน เป็นระยะ มีทั้งการฝึกอบรมทั้งสำหรับคนไทย และสำหรับฝรั่ง เราก็ไปฝึกซ้ำๆ ทั้งรุ่นไทยรุ่นฝรั่งครั้งละ 10 วัน รวม 6 ครั้งในระยะเวลา 4-5 เดือน


ในครั้งที่ 6 ก็รู้สึกว่าควรจะทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเริ่มเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างแล้ว ได้สัมผัสด้วยใจในสิ่งที่ไม่เคยมาก่อน ก็เลยกราบเรียนท่านอาจารย์พุทธทาสว่าจะขออยู่สวนโมกข์ปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนดกลับกรุงเทพฯ อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ท่านกรุณาช่วยฝึกสอนให้อย่างเมตตาเป็นที่สุด ท่านให้ไปอยู่คนเดียว ในบ้านที่ไกลจากบ้านอุบาสิกาอื่น บ้านนั้นเป็นบ้านใหญ่ริมป่าที่ตะโกนก็ไม่มีใครได้ยิน เป็นประสบการณ์ที่ฝึกให้เราค่อยๆ เห็นภาวะต่างๆ ของจิตใจของเรามากขึ้น และเราก็เริ่มจัดการกับมันได้ทีละน้อย มันเป็นการเรียนรู้ด้วยใจนะคะ อยู่คนเดียวเงียบๆ อย่างนั้นไปจนเกือบครบ 3 เดือน จนลูกจะรับปริญญาก็เลยกลับ อันนี้ต้องออกตัวว่าลูกๆ ดิฉันเข้าใจการปฏิบัติธรรมได้ดี ลูกสาวคนเล็กสองคนเคยไปฝึกสวนโมกข์ หลังจากนั้นดิฉันก็ขึ้นอีสาน เพราะอาจารย์รัญจวนบอกว่าให้ไปหาที่ที่วิเวกขึ้นไปอีก เราฝึกมาถึงจุดที่ไม่กลัวเลยที่จะอยู่ป่าคนเดียว ดิฉันก็ไปอยู่อีสานเกือบ 3 เดือน อยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร สมัยนั้นยังไม่มีคนรู้จักวัดนี้มากเหมือนเดี๋ยวนี้


ได้อ่านหนังสือธรรมะมาก ชอบอ่านธรรมะของใครมากครับ


ชอบของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านอาจารย์ชา และหลวงปู่ดุลมากเป็นพิเศษค่ะ ขององค์อื่นๆ ก็ชอบ เช่น ของท่านไพศาล วิสาโล


ตอนนี้กำลังอ่านเล่มไหน


“อุปลมณี” ศิษย์ท่านอาจารย์ชาพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงท่าน “อุปลมณี” หมายถึง มณีแห่งเมืองอุบล คือ องค์ท่านอาจารย์ชา อ่านแล้วชอบมากๆ เลย หนา 500 กว่าหน้า เป็นชีวประวัติเชิงวิเคราะห์ อ่านสนุกนะคะ รูปภาพก็ให้ความรู้สึกและความเข้าใจได้ดีมาก ภาษาก็ดีมาก ที่จะง่ายก็ง่าย ที่จะสวยก็สวย สนุกชวนติดตามจริงๆ ที่สำคัญก็คือเราได้เห็นว่าท่านอาจารย์ชาเป็นปุถุชนที่ต้องต่อสู้กับกิเลสของตัวเองอย่างหนักหนา และท่านใช้ทั้งสติปัญญา ทั้งความอดทนที่จะเอาชนะตัวเอง


ก่อนบวชท่านรักผู้หญิงคนหนึ่งมาก ชื่อแม่จ่าย สร้างเนื้อสร้างตัวเตรียมแต่งงานอยู่นาน จนพ่อแม่

ผู้หญิงรอไม่ไหว เลยบังคับลูกสาวให้แต่งงานกับเพื่อนคู่หูของท่านอาจารย์ชาเองนั่นแหละ ท่านยอมรับกับศิษย์ท่านว่า 7 ปีแรกของการบวช ใจท่านยังตัดอาลัยแม่จ่ายไม่ขาด จนออกธุดงค์กรรมฐานแล้วนั่นแหละ ความรู้สึกจึงค่อยๆ จางหายไป ท่านสารภาพเลยว่าเรื่องผู้หญิงเป็นเรื่องที่เป็นปัญหากับใจท่านมาก เวลาที่ผู้หญิงใส่บาตรก็ไม่กล้ามองหน้า แล้ววันหนึ่งที่คิดว่าอยู่ตัวแล้ว เงยหน้ามองผู้หญิงที่ใส่บาตรเท่านั้นแหละ ท่านก็ “วูบตาเลย” ท่านท้อใจมากมาย ว่าเมื่อไรกิเลสจะหมดเสียที ดิฉันอ่านแล้วอดหัวเราะไม่ได้


นึกถึงตัวเองตอนไปอยู่ปฏิบัติธรรมเมื่อไม่นานมานี้ การปฏิบัติธรรมก็เพื่อขัดเกลาจิตเราให้ค่อยๆ เกิดการละวาง แต่ที่ไหนได้พอเผลอนิดหนึ่งใจแว๊บออกไปออกแบบตุ้มหูสำเร็จเป็นคู่ๆ (หัวเราะ) จิตมนุษย์มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ยิ่งกว่าลิง กว่าค่าง ถ้าเผื่อเราไม่รู้ทันมัน ทั้งชีวิตเราก็จะคิดแต่ว่าเราจะทำไอ้นั่น ทำเสร็จ จะทำไอ้นี่อีกแล้ว ความคิดคนเราก็วิ่งเวียนอยู่อย่างนี้ จิตมนุษย์นี่มันซับซ้อนมากนะ มันจะผูกติดอยู่กับความคิดความรู้สึก เราสร้างมันขึ้นแล้วเราก็ติดอยู่กับมัน ความคิดนี่มันคืออะไร ดูให้ดีซิ มันเปลี่ยนแปร มันหายไป มันเกิดใหม่ เหมือนควันไฟ แต่เราผูกติดอยู่กับมันจังนะ มนุษย์ที่เครียดนี่ ก็เครียดเพราะความคิด สิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แล้วก็แปรเปลี่ยน อุ๊ย! มันเสียเวลานะ เรื่องราวของท่านอาจารย์ชาใน

“อุปลมณี” ให้กำลังใจเรามากเลย ว่าเราก็มีทางสู้กับภัยที่อยู่ในใจเรา และอาวุธก็คือ สติกับสมาธิซึ่งทำให้เรารู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นในใจตัวเอง แล้วความคิดที่วุ่นวายไร้สาระก็จะค่อยๆ น้อยลง


ดิฉันมาเข้าใจพระธรรมพระวินัยหลายข้อจาก “อุปลมณี” เข้าใจจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับท่าน กับการแก้ปัญหาของท่าน มีคนถามท่านว่า ท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ดิฉันชอบใจมากที่ท่านตอบว่าท่านเป็นท่านก็เป็น ไม่เป็นก็ไม่เป็น ท่านว่าท่านไม่ได้เป็นอะไร และก็ไม่มีอะไรจะเป็น เรื่องของเราเรื่องของเรา... ก็ทำนองเดียวกันกับที่ท่านพุทธทาส ที่ดิฉันเคยฟังฝรั่งถามอย่างท้าๆ ว่า อรหันต์หรือไม่ ถ้าไม่ตอบก็แสดงว่าท่านไม่กล้าจริง ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านก็ว่า เรื่องนี้มีพุทธบัญญัติควบคุมไม่ให้พูดถึง นอกจากนั้นแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นการผิดมารยาทที่จะถามเรื่องส่วนตัวใช่ไหม ฝรั่งเงียบไปเลย


คุณหญิงคิดอย่างไรในเรื่องพระอริยะ คิดว่ามีองค์ไหนในยุคปัจจุบัน


สำหรับตัวเอง ไม่ปักใจเชื่อว่าพระรูปไหนเป็นพระอริยะ ก็ดิฉันมีภูมิปัญญาแค่ไหนล่ะที่จะไปรู้ระดับจิตของผู้อื่น คิดว่าการไปติดกับการสันนิษฐานว่าองค์นี้เป็น องค์นั้นไม่เป็น เป็นการเสียเวลา และก็เป็นการปรุงแต่งในความคิดของเราเองทั้งนั้น จะทำให้ถูกหลอกง่ายๆ เอาซะด้วย ดิฉันโชคดีที่ครูบาอาจารย์ไม่ให้ยึดติด


ท่านพุทธทาสพูดเสมอว่าอย่ามาสนใจท่าน ให้สนใจธรรมะของพระพุทธองค์ที่ท่านนำมาบอกกล่าว เพราะธรรมะนั้นเป็นทางให้เราพ้นทุกข์ทางใจ อาจารย์รัญจวนท่านก็สอนดิฉันว่าอย่าติดสถานที่ อย่าติดบุคคล อย่าติดครูบาอาจารย์ มันเป็นสิ่งที่กีดขวางการเข้าถึงธรรมะ ท่านอาจารย์แบนที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ท่านก็บอกว่าไม่ต้องไปวิ่งหาพระอรหันต์นอกตัวเองเลย ให้พากเพียรแสวงหาความเป็นอรหันต์ในใจของตัวเองเถิด ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ที่สอนให้เข้าใจว่าการยึดติดนั้นเป็นภัยแก่ตัวเอง การบรรลุธรรมนั้นไม่ใช่เกิดจากการไปกราบไหว้ขอจากใครที่ไหน เราบรรลุธรรมก็ต่อเมื่อเราฝึกจิตถึงจุดที่มันปล่อยวางและเห็นสัจธรรมมากขึ้นตามลำดับ


แต่ในระหว่างนั้นก็ต้องมีผู้นำทางที่ดี


ใช่ค่ะ ดิฉันโชคดีที่ผู้นำทางของดิฉันแต่ละท่านให้ดิฉันพึ่งความเพียรของตัวเอง อาจารย์รัญจวนท่านเคยบอกขณะดิฉันกำลังท้อถอยในการปฏิบัติธรรมว่า ถ้าท่านสามารถที่จะเอาความรู้ที่ใจท่านไปใส่

ในใจดิฉันได้ ท่านก็ทำให้แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่มีใครป้อนใครได้ บอกทางกันได้ แต่จะปฏิบัติให้ถึงจุดที่ปล่อยวางแต่ละขั้นนั้นไม่มีใครทำให้ใครได้


คุณหญิงคิดว่าได้ผ่านพ้นช่วงติดยึดกับครูบาอาจารย์แล้ว


ไม่ใช่ผ่านพ้นนะคะ ที่ไม่ติดอาจารย์เพราะอาจารย์ไม่ให้ติด แล้วก็สอนไม่ให้ติด


ในปัจจุบันมีสำนัก และสำนักนั้นมีความอิ่มเอิบเมื่อมีคนไปขึ้น คล้ายกับโอบรอบเอาไว้เป็นสาวก คุณหญิงเห็นเป็นอย่างไร


อันนี้เราจะล่วงรู้ว่าเจ้าสำนักนั้นๆ คิดอย่างไรไม่ได้ แต่สำหรับครูบาอาจารย์ของดิฉันทุกองค์ที่เน้นในเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา คือการเข้าถึงไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การจะเข้าถึงนั้นจะต้องอยู่กับปัจจุบันที่เราสัมผัสได้ด้วยการรู้ของตัวเราเอง ที่จริงเราจะรู้อะไรนอกเหนือไปจากตัวเราเอง ที่เรียกว่าใจ กาย ดิฉันไม่สามารถจะบอกว่าเจ้าสำนักนั้นๆ ท่านผิดหรือถูก หรือว่าผู้ที่ห้อมล้อมติดตามนั้น ผิดหรือถูก แต่ในเมื่อท่านเป็นครูบาอาจารย์ ท่านก็คงจะเมตตาศิษย์ของท่าน เหมือนครูบาอาจารย์ของดิฉันเมตตาต่อดิฉัน และเน้นเสมอว่า มันอยู่แค่นี้แหละมันอยู่ที่กายกับใจ จะถึงธรรมได้ก็อยู่ที่กายกับใจ สติกับสมาธิต้องเสมอกัน แค่นั้นเอง นี้เป็นคำตอบที่อาจจะไม่ตรงนัก


หลังๆ นี่ได้พูดกันบ่อยๆ ว่าพวกโยมไม่รู้จักพระวินัย ก็เลยทำให้พระเสีย เช่น เอาดอกไม้ไปคล้องคอท่าน เอาเสื้อแปลกๆ ไปใส่ให้ท่าน ท่านขัดศรัทธาไม่ได้ท่านก็ยอม เอ๊ะ แต่ดิฉันเคยเห็นพระที่ขัดศรัทธาโยมได้อย่างนุ่ม


ทราบมาว่าคุณหญิงชอบศิลปะ และทำงานศิลป์มามาก


ดิฉันชอบศิลปะมากมาตั้งแต่เด็ก สมัยอยู่อังกฤษเป็นเด็กที่เดินอยู่ในแกลเลอลี่คนเดียวได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น รู้สึกแต่ว่ามันอยู่ในเลือด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพหรือเรื่องภาษา สำหรับดิฉัน ภาพ เสียง ภาษาเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกันจนแทบจะว่าเป็นส่วนของกันและกัน


และที่มาสนใจธรรมะ มีผลสืบเนื่องมาจากความสนใจศิลปะหรือไม่


คงจะมี เพราะทั้งสองอย่างเป็นเรื่องจิตใจ ทั้งสองอย่างจะต้องมีความละเอียดในการรับรู้สัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ท่านเรียกว่า อายตนะ ทั้งที่สำคัญที่สุดคือทางใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศิลปะ หรือเรื่องของธรรม ที่ต่างกันก็ตรงที่ธรรมะใช้กับการรับรู้จากอายตนะทั้ง 6 นี้นำไปให้เกิดการรู้ทันกับปัจจุบันจนเห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่ยึดติดกับสิ่งใด ส่วนในด้านศิลปะนั้นการรับรู้จากอายตนะ 6 นี้มักจะทำให้เราเกิดอารมณ์ต่างๆ ลุ่มหลง โศกเศร้า และอะไรอื่นๆ แต่ศิลปะก็นำเราไปทางธรรมะได้ ความละเอียดในการรับรู้หรือในการสื่อ ทำให้เราเห็นธรรมชาติของความไม่เที่ยงในสิ่งต่างๆ แม้กระทั่งความคิดของเราเอง...พูดถึงความคิด การได้ไปอยู่เงียบกับตัวเองเป็นเดือนๆ ทำให้เห็นว่าความคิดของเรานี้เป็นมายาและพันธนาการที่เรานึกไม่ถึง ขณะที่เราวุ่นๆ อยู่ในกระแสโลก ดิฉันเขียนเกี่ยวกับความคิดไว้หลายแห่ง แล้วก็จากหลายมุม ตามที่รู้สึกในช่วงนั้น คือช่วงที่อยู่สวนโมกข์ ใน “ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง” อย่างบทนี้ ชื่อ “ใบประดู่”


เช้านี้เห็นใบประดู่ตาย

ติ้วลมอยู่กลางอากาศ

หลุดจากต้นหล่นไม่ถึงดิน

หมุนตามแรงลม

เร็วบ้างช้าบ้างกลางแดดสาย

ดูใกล้ ๆ เห็นแขวนติดกับกิ่งไม้ด้วย

ใยแมงมุมบางใส

เหมือนใยเพชร

ดูเหมือนลอยอยู่ ที่แท้ไม่อิสระ

สายใยล่ามไว้ให้เป็นทาสลม

มนุษย์เราช่างไขว่คว้าหาพันธนาการ

หลุดจากใจมา กลายเป็นทางวิญญาณ

ทางความคิด

เส้นใยบางเบา

เหนียวเหลือใจ


จริงนะคะ คนบางคนอาจจะคิดว่า เราไม่ติดวัตถุ สละทรัพย์ ทิ้งบ้านทิ้งช่อง แต่เราติดคนหรือเปล่า เราคิดว่าเราขาดคนนั้นไม่ได้ คนนี้ไม่ได้ เอาละ สมมุติว่าเราไม่ติดคน แต่เราก็ติดกับความเชื่อ เชื่อว่าอาจารย์เราเป็นอรหันต์ เรารับประทานข้าวก้นบาตรท่าน หรือเอาผ้าขาวให้ท่านเหยียบแล้วเอามาเช็ดหน้ามาบูชาจะได้บุญ ความคิดของเราทั้งนั้นนะที่ผูกเราเอาไว้กับความเชื่อ ความคิดพึ่งสิ่งนอกตัว ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน


ครูบาอาจารย์ที่ดีแต่ละท่านมีศิลปะในการสอนทั้งนั้น ในสมัยที่ดิฉันไปเข้าอบรมที่สวนโมกข์ เราจะเดินจากศูนย์อบรมตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเดินมาถึงสวนโมกข์ มานั่งรอที่หน้ากุฏิท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านก็จะออกมาเริ่มเทศน์ตั้งแต่ตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า ท่านจะบอกว่าท่านเทศน์ตอนนี้เป็นช่วงที่ชีวิตกำลังตื่น ดอกไม้กำลังจะบาน สรรพชีวิตกำลังตื่นจากหลับ เป็นช่วงเวลาผู้คนจะรับธรรมะได้ดีที่สุด ท่านมีศิลปะการใช้ภาษาสร้างภาพแล้วก็ใช้สิ่งแวดล้อมให้เราเกิดความรู้สึกร่วมได้มาก รู้สึกว่าใช่ ในช่วงที่โลกกำลังตื่นนี้ จิตเรากำลังมีพลัง สิ่งรอบกายเรากำลังสดชื่นตื่นตัว พระอาทิตย์กำลังค่อยๆ สว่างขึ้น ภาพการฟังเทศน์ตอนตะวันเริ่มสางของท่านอาจารย์พุทธทาสนี่ ก็มีที่ดิฉันเขียนไว้ใน “ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง” ในบทที่ชื่อว่า “ไก่แจ้” คือท่านอาจารย์ท่านเลี้ยงไก่แจ้ไว้เยอะแยะ อดคิดไม่ได้ว่านี่ก็เป็นศิลปะการสอนของท่านเพราะมันก็ทำให้เราต้องพิจารณาตัวเองเหมือนกันนะ ว่าเราดีกว่าไก่ซักแค่ไหนเชียว วันหนึ่งนั่งฟังเทศน์ไป ดูไก่ไป ก็นึกอย่างนี้ออกมา


ไก่แจ้ท่านอาจารย์มันพากันอหังการ์อย่างแจ้ ๆ

บนลานฝุ่น

พองขน ยกขา ขยับปีก ท้าตีท้าเตะ

แอ่นอกอ้าปากร้องก๊อกๆ ว่าข้านี้

ใหญ่กว่าใครๆ

กางปีกวิ่งไล่ขี่ตัวเมียขณะ

ท่านอาจารย์เทศน์

ธรรมขั้นโลกุตตระ

ท่ามกลางมนุษย์นับร้อยที่บากบั่นมา

จากใกล้ไกล

ฝรั่ง แขก ญี่ปุ่น ไทย ที่ดั้นด้นมา

ฟังธรรมยามฟ้าสาง

ที่ลานกรรณิการ์

ท่านอาจารย์ท่านเทศน์สัจจธรรม

ในสรรพสิ่ง

แต่เจ้าเตี้ยหงอนแดงไม่สนใจ

อัตตามันแข่งกันเบ่งบานคับโลกแจ้ๆ

โลกข้าวเปลือก แกลบ กับกลิ่นกรรณิการ์


จริงไหมละคะ เรื่อง กิน กาม เกียรติไง ไก่มันวุ่นวายอยู่กับข้าวเปลือก แกลบ กับตัวเมีย ตัวผู้ใช่ไหม กลีบกรรณิการ์ ขาวสะอาดมีอยู่บนลานฝุ่น...เหมือนธรรมะมีโลกเรา... แต่ไก่มันก็ไม่มีเวลาสนใจ


ดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าศิลปะกับธรรมะขัดกันนะ เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือที่เป็นกลาง จะใช้ในการสื่ออารมณ์ที่รุนแรง หรือชักจูงคนให้เขาไปในทางที่ติด ที่หลงก็ได้ แต่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านใช้ปลุกเราให้เปิดรับธรรมะ แต่ความเป็นคนช่างคิดช่างสังเกตนี่ก็เป็นปัญหาในการปฏิบัติธรรมนะ เพราะจิตมันนิ่งยาก คิดนะ ปรุงแต่งนะ แล้วเรายังไม่เขียนอีกด้วย “ไหมฟาง” เคยเขียนเกี่ยวกับ “ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง” ว่ากันว่า นักคิดนักวิชาการปฏิบัติธรรมได้ยาก เพราะติดกับการคิดการวิเคราะห์ แต่กวียิ่งน่าเป็นห่วง เพราะชอบวาดกรอบที่สวยๆ ให้กับความคิดของตนเองอีกด้วย ยิ่งติดใหญ่

ศิลปะเป็นสื่อหรือเครื่องมือที่จะโน้มนำใจไปทางบวกหรือทางลบก็ได้ แต่สื่อสมัยใหม่อื่นๆ ดูจะมีคนสนใจมากกว่าวรรณกรรมมากนัก


ถ้าเห็นว่าวรรณกรรมมีศิลปะในการนำเสนอและเนื้อหาที่ดีกว่า เราจะทำอย่างไร


เคยมีคนบอกว่าน่าจะเอา “ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง” มาทำเป็นสื่อโทรทัศน์เพราะจะเป็นการให้ธรรมะถึงคนในวงกว้าง แต่เราหาสปอนเซอร์ไม่ได้ ปัญหามีอยู่ว่าการสื่อด้วยช่องทางนี้ ต้องอาศัยแรงเงิน ไม่เหมือนวรรณกรรมซึ่งคนเขียนก็เขียน สำนักพิมพ์พิมพ์ขาย มันลงทุนน้อยกว่าสื่อโทรทัศน์ ซึ่งต้องเอาใจคนดูหมู่ใหญ่ คนส่วนใหญ่ต้องการอะไรๆ ที่มันเร้าใจ ก็ธรรมชาติคนเราก็เหมือนน้ำ คือไหลลงมันง่ายกว่าไหลขึ้น เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำให้ตื่นตัวเร้าใจผู้ถูกเร้าก็ชอบใจ


เพราะฉะนั้นจะไปว่าที่สื่อก็ไม่ถูกหรอกนะ เป็นเรื่องพาณิชย์ แต่เราจะใช้ศิลปะในการสื่อทางภาพกับเสียงชักจูงใจคนให้เขาหันเข้าหาธรรมะได้ในวงกว้าง ทำได้และทำได้ดีด้วย เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือที่ใช้ให้มันดีมันก็ดี ทางไหนก็ได้ทั้งนั้น


ปัญหามันแค่ว่าผู้ที่จะให้เงินสนับสนุนมันไม่ค่อยจะมี เพราะเขาคิดว่ามันเสี่ยงเรื่องธรรมะ เรื่องพุทธศาสนา โอ๊ย น่าเบื่อแน่ แต่ถ้าเราจะช่วยกันก็ต้องเริ่มต้นค่ะ ใช้ศิลปะให้เป็นประโยชน์ในทางนี้ ที่คนดูได้ประโยชน์จากธรรมะของพระพุทธเจ้า เข้าถึงธรรมชาติของตัวเอง มันเป็นอะไรที่เขาจะค่อยๆ พอใจ เมื่อเขาค่อยๆ พบว่าเขาเย็นขึ้น เขาสุขขึ้น เขาก็จะชอบ และในที่สุดคุณจะได้เป็นสปอนเซอร์รายการที่มีคนดูมากได้เหมือนกัน แต่คุณต้องยอมรับในขั้นต้นเสียก่อน


เดี๋ยวนี้ดิฉันก็เห็นนะว่ามีหลายรายการที่สอดแทรกสาระเข้าไปในเรื่องราวที่สนุก แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นแบบมองออกข้างนอก การสร้างแบบให้มองในใจตัวเองไม่มี ยังไม่เห็นทำถึงขั้นเอาศิลปะมาประกอบ “มองข้างใน” นี่ไม่ใช่มองข้างในของคนอื่นนะ มองข้างในของตนเอง และดิฉันเห็นด้วยกับคนที่อยากจะทำเรื่องอย่างนี้ให้กระทบใจคน


ถ้าคุณหญิงมีโอกาสจะทำไหม


ไม่แน่ใจค่ะ ยังปฏิบัติธรรมไม่ไกลพอ อายุก็มากแล้ว เวลาในชีวิตเหลือน้อยลงทุกที รู้ตัวว่าทำอะไรทุกอย่างยังมีอัตตามาก อย่างที่ดิฉันให้สัมภาษณ์คุณอยู่นี้ก็มีอัตตาสูง อยากให้คุณเห็นด้วย อยากแสดงความคิดเห็นให้คนอื่นยอมรับ ถ้าให้ดิฉันทำรายการ ก็คงทำเพราะอยากให้คนอื่นได้สัมผัสอะไรบางอย่างที่เราสัมผัสแล้วทำให้ทุกข์น้อยลง ไม่ใช่แก้ทุกข์นะ แต่ทำให้ทุกข์เกิดน้อยลง อยากชักชวนให้คนอื่นคล้อยตาม ให้เขาอยากทดลองทำในสิ่งที่ช่วยให้ดิฉันรับรู้ธรรมชาติของตัวเองมากกว่าที่ดิฉันได้เคยรับรู้มาในชีวิต ก่อนการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แต่อย่างว่าแหละนิสัยเดิมของดิฉันคือทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด คือตัวตนสูงนั่นแหละ ติดดี ไม่รู้จักปล่อยวาง ก็เลยกลัวว่าถ้ารับทำรายการอย่างนี้ ตัวตนก็พองใหญ่ เพราะเรายังฝึกจิตตัวเองได้ไม่ถึงขั้น สรุปว่าไม่ทำดีกว่าให้คนอื่นที่ชำนาญกว่าทำไป ดิฉันพร้อมที่จะช่วยในส่วนที่ช่วยได้ คืองานมันท้าทายดีเหลือเกิน เป็นเมื่อก่อนโดดเข้าทำแน่ๆ เลย แต่เดี๋ยวนี้ติดเบรก เพราะรู้เสียแล้วว่า เมื่อเรารับงานทางโลกที่ท้าทายความสามารถของเรา ตัวตนมันก็จะขึ้นมาบอกว่าฉันนี่เสียชื่อไม่ได้ ฉันต้องทำให้ได้ดี (หัวเราะ) เป็นการยึดติดกับความสามารถของตัวเองขึ้นมาอีก


แล้วเดี๋ยวนี้ได้อ่านงานวรรณกรรมบ้างไหมครับ


อ่านค่ะยังอ่านอยู่ แต่น้อยลงมาก อ่านแล้วมันไม่หลงใหลเท่าเมื่อก่อน มันไม่มีอารมณ์ไปกับวรรณกรรมเหมือนแต่ก่อน เรียกว่าอ่านอย่างมีสติขึ้นละมัง


สำหรับเด็ก ๆ นี่ เราจะมีวิธีถ่ายทอดธรรมะกับเขาอย่างไร


สำหรับเด็กเล็ก ๆ ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านว่าสอนอย่าให้เขาตัวตนสูง เช่น ถ้าเขาวิ่งชนโต๊ะเจ็บตัว ก็อย่าไปตีโต๊ะเพื่อเอาใจเด็กอย่างพ่อแม่สมัยก่อนชอบทำกัน แต่หาทางให้เด็กรู้ว่าเขาเจ็บเพราะเขาเองเป็นคนวิ่งชนโต๊ะ นี่ไงคะก็ธรรมะ เมื่อมีการกระทำก็มีผลจากการกระทำนั้น เรื่องกรรมกับวิบาก ขั้นอนุบาลไงคะ อาจารย์รัญจวนท่านก็พูดเสมอว่าการสอนธรรมะ ควรจะเริ่มกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล เทคนิคที่ใช้ไม่ว่ากับเด็กชั้นไหนไม่ใช่ด้วยการสอน แค่หลักต้องสอนให้เด็กซึมซับด้วยการปฏิบัติด้วย ตามวุฒิภาวะแต่ครูเองต้องเข้าใจธรรมะ ปฏิบัติเพราะการรู้ด้วยสมองนี่อย่างหนึ่ง การรู้ด้วยใจเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นการรู้ในเรื่องเดียวกัน อันนี้สำคัญมาก ครูควรจะผ่านการปฏิบัติธรรมบ้าง ไม่มากก็น้อย ยิ่งมากยิ่งดี เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องที่มุ่งสู่การละ การปล่อยวาง ซึ่งทำให้มนุษย์เรามีประสิทธิภาพขึ้นมาก ไม่ว่าจะในเรื่องของการคิดหรือการกระทำ


ในระดับมหาวิทยาลัยละครับ


ในระดับเด็กมหาวิทยาลัยพบว่าไม่ยากเลยที่จะคุยเรื่องธรรมะ แกมักจะเข้าใจง่ายและสนใจมากเมื่อแกเห็นว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติในตัวแกเอง ดิฉันเคยเป็นอาจารย์พิเศษคณะวารสารศาสตร์สอนวิชาวิจารณ์ภาพยนตร์และการละครระยะหนึ่ง สมัยนั้นเด็กเขาจะชอบให้พาไปดูหนัง และก็ไปนั่งร้านก๋วยเตี๋ยวโต๊ะยาวทีเดียว แล้วก็ถก พอเราถกมาถึงจุดที่ลงลึกเข้าไป วิเคราะห์ตัวละครหรืออะไรก็ตาม อดไม่ได้เลยที่จะมีธรรมะเข้ามาแทรก ความที่ดิฉันเคยเข้าใจหลักธรรมมาก่อนและได้ปฏิบัติมาบ้างแล้ว คือไม่ได้แทรกโดยตั้งใจเลย เพราะธรรมะก็คือสภาวธรรมของทุกสิ่งทุกอย่าง สภาวธรรมนี้ครอบคลุมธรรมชาติมนุษย์เราอยู่ โอโห! เด็กจะสนใจว่านี่หรือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไม่นึกเลยว่ามีอย่างนี้ จะซักถาม สนใจกันมาเลยค่ะ


ดิฉันว่าเด็กมหาวิทยาลัยพร้อมรับ เพียงถ้าเราให้โดยแทรกเข้าไปในวิชาต่างๆ ที่เขาวิเคราะห์ได้ สังเกตได้ ส่วนใหญ่เขารับได้ดีมาก และถ้าเราสามารถจะใช้สื่อภาพและเสียง เราจะได้คนที่สนใจธรรมะวัยนี้ เพราะเป็นวัยที่เขากำลังพบอะไรอยู่ในใจเขาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผิดหวัง ความไม่มั่นใจ ความหวั่นไหว ความว้าเหว่ เป็นวัยที่มีคำถามกับโลกและกับตัวเองเยอะมาก ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็จะค่อยๆ ช่วยให้เขาค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง แล้วมันก็จะทำให้เขาตัดสินใจอะไรๆ อย่างมีสติมากขึ้น ทำให้เขาเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น ถึงแม้เขาจะไม่สามารถยับยั้งอารมณ์บางอย่างได้ แต่เขาจะรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เขาจะโทษตัวเองและคนอื่นน้อยลง และเขาจะกลับมาตั้งสติใหม่ได้ง่ายขึ้น เมื่อเขาอกหักเขาจะเริ่มมาวิเคราะห์ว่านี่มันอะไร ทำไมมันถึงได้ทุกข์นาดนี้ เขาจะเกิดการเรียนรู้จากความเจ็บปวด และไม่ท้อแท้จนทำลายตัวเอง หัวใจของพระพุทธศาสนานั้นคือการละ เมื่อละได้ แค่ไหนความทุกข์ก็เกิดกับใจน้อยลงตามสัดส่วน โอ๊ย! เด็กขั้นมหาวิทยาลัยรับธรรมะได้ดีมาก เป็นวัยที่รับได้ดี สำคัญที่ครูบาอาจารย์มีศิลปะในการสอนให้เขาละหรือเปล่า นี่ไงล่ะคะอีกบทบาทหนึ่งของศิลปะในเรื่องของธรรมะ"

และสำหรับคุณหญิงจำนงศรี ในฐานะที่เป็นนักเขียนก็ยังคงบทบาทที่จะสร้างสรรค์งานเขียนออกมาให้อ่านกันอีกต่อไปประมาณเดือนมิถุนา ศกนี้ จะมีผลงานใหม่ออกมาเป็นหนังสือเด็กชื่อ “ฉันชื่อปูลม” เนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร คุณหญิงฝากไว้ขอให้คอยติดตาม


 

จาก: นิตยสารก้าวไกล ปีที่ 4 ฉบับที่ 12 /เมษายน 2537

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page