top of page

ช่างภาพโปสการ์ดเมืองไทย

จตุพร รัตนิน

นุดา เรื่อง

ทามม์ ภาพ





ชื่อของจตุพร รัตนิน อาจไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป แต่สำหรับคนที่ชอบส่งโปสการ์ด คงคุ้นเคยชื่อนี้เป็นอย่างดี โปสการ์ดของหลายสถานที่ หลายจังหวัดในเมืองไทย เป็นฝีมือถ่ายกาพของเขา ยิ่งไปกว่านั้น เขาคือเจ้าของบริษัท vis-ART ผู้ผลิตโปสการ์ด สื่อแห่งความคิดถึง ความทรงจำที่เดินทางไปได้ทุกมุมโลก


บริษัทตั้งมากี่ปีแล้วคะ


เกือบ 10 ปี ช่วง 5 ปีแรกผมก็ทำงานที่อื่นด้วย ที่เป็นงานหลัก งานนี้เป็นบริษัทส่วนตัว วันหนึ่งมาดู 2-3 ชั่วโมง ถ้ามีเวลาว่าง วันหยุดก็ไปถ่ายภาพ ตอนนั้นทำงานประจำอยู่โรงพยาบาลของคุณลุง ทำอยู่ก็ขอ

อนุญาตหยุดยาวหน่อย ถ้าเป็นช่วงเทศกาล


ทำไมถึงคิดทำโปสการ์ดล่ะคะ เพราะเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โปสการ์ดดูจะยังไม่เป็นที่นิยม


คือผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ไปที่ไรก็ชอบดูการ์ด ซื้อการ์ด เลยมีความรู้สึกว่าฝรั่งนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยเยอะ บ้านเราก็มีการ์ดอยู่ในตลาด แต่ไม่ค่อยเห็นการพัฒนา พิมพ์ออกมาคุณภาพไม่ดี ผมคิดว่าตัวเองน่าจะลองทำและทำได้ดีกว่าที่มีอยู่ ถามเพื่อนที่อยู่เอเจนซีว่าต้องพิมพ์ที่ไหนบ้าง และคิดว่ามุมที่เราถ่ายมันน่าจะมีคุณภาพดีกว่ามั้ง คิดว่าน่าจะทำได้ เลยเริ่มทำดู ตรงนี้คือจุดหนึ่ง แต่จริงๆ อยากทำเพราะใจอยาก


คุณจตุพรจบโดยตรงทางการถ่ายภาพ


ไม่ได้จบเลยครับ คือผมจบวิทยาศาสตร์เชิงเคมี ชีววิทยา แล้วมาต่อบริหาร MBA แต่ตัวเองเป็นคนชอบ

ถ่ายรูป ตั้งแต่สมัยมัธยม ช่วงเรียนปริญญาตรีก็ถ่ายรูปเพื่อนๆ มีกิจกรรมอะไรก็ถ่าย เก็บบ้าง ไม่เก็บบ้าง พอเริ่มคิดจับงานด้านนี้จริงๆ จึงค่อยกลับมาดูว่าตัวเองมีสไลด์อะไรบ้าง แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งหรือชำนาญในการถ่าย เพียงแต่อาศัยประสบการณ์ ในการที่เราถ่ายจำนวนเยอะ มีโอกาสไปในสถานที่ต่างๆ แล้วก็ถ่ายตามที่เราชอบ


ในแง่การตลาดมองกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใครคะ


กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เข้ามาในเมืองไทย ส่วนใหญ่ผมวางว่าเป็นชาวตะวันตก ตลาดที่จะเป็นชาวเอเชียคงน้อยเพราะอาจคุ้นเคยว่าเมืองไทยเป็นยังไง สีสัน วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน อาจไม่ได้มีความตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าเป็นยุโรป เขาอาจจะไม่เคยเห็นวัด ภาพชีวิตของชาวนา จะรู้สึกน่าสนใจขึ้น เพราะฉะนั้นแนวภาพก็มองง่ายๆ ว่านักท่องเที่ยวจะไปดู ไปเที่ยวที่ไหน ความรู้สึกครั้งแรกที่เขาประทับใจกับเมืองไทย ที่เขาไม่มีในเมืองเขา มีอะไรบ้าง อย่างสมมติมเดินทางไปต่างประเทศก็พยายามเก็บความรู้สึกว่าเราชอบอะไร ประทับใจอะไรในครั้งแรกที่ได้เห็น และพยายามดูแนวว่าบริษัททัวร์เขาจะพาไปที่ไหนบ้าง เราจะได้เจาะพื้นที่ตรงนั้น พอทำในจุดที่นักท่องเที่ยวเดินทางไป เราก็ได้พัฒนาในแนวที่เราอยากทำได้มากขึ้น เช่นในเรื่องของภาพชีวิต


ช่วงแรกจะถ่ายรูปตามสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ


จริงๆ แรกๆ ทำจากความชอบก่อน ผมเห็นรูปไหนผมถ่ายสวย ผมก็เอามาทำ ไม่ได้มองว่าจะขาย

นักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผมชอบมากพิมพ์ออกมาแล้วจะขายไม่ดี เช่น พอร์ตเทรตหน้าคน บางทีเป็นภาพชีวิตเด็กเล่นน้ำ ผมคิดว่าได้บรรยากาศ พอทำไปได้สักพัก มันไม่ใช่เรื่องของการทำธุรกิจ เลยต้องมีการปรับเปลี่ยนภาพ ผมเองก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ระหว่างการทำงาน


ตอนนี้ช่างภาพในบริษัทมีกี่คนคะ


ผมทำคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนหลังผมก็ซื้อภาพจากคนอื่น ที่เป็นเพื่อนถ่ายรูปด้วยกัน เพราะพอทำเป็นธุรกิจ เราไม่มีเวลาที่จะไปถ่ายตามที่ต่างๆ เนื่องจากตอนนี้บริษัทไม่ได้ทำโปสการ์ดอย่างเดียว เรามาทำเรื่องของการ์ดส.ค.ส.ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์ของศิลปินมา การ์ดตรงนี้ที่ทำเพราะต้องการให้เป็นตัวแทนของเมืองไทย เป็นงานศิลปะของเมืองไทย ไปพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ ผมก็จะไปแวะดู เลยมีเพื่อนที่เป็นศิลปินเขาแนะให้ลองทำดู ตอนแรกไม่มั่นใจ แต่ลองดูสักตั้ง เพราะในรูปของบริษัททำโปสการ์ดตัวเดียว มันก็เป็นช่วงของเทศกาล ช่วงนี้นักท่องเที่ยวเข้าก็ขายดี และเรามีพนักงานประจำอีก จึงจำเป็นต้องหารายได้ที่คิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มของคนไทยมากขึ้นหน่อย มีการซื้อได้ทั้งปี ทำไป ทำมา ช่วง 3-4 ปีแรกขาดทุน แต่ช่วงหลังแนวโน้มดีขึ้น


จำได้ไหมคะว่าภาพถ่ายชุดแรกที่ทำเป็นโปสการ์ดคือชุดไหน


ชุดแรกส่วนใหญ่เป็นสถานที่ในกรุงเทพฯ เป็นวัดพระแก้ว วัดอรุณฯ ตลาดน้ำ ส่วนใหญ่เป็นกรุงเทพฯ

เพราะเดินทางสะดวก เลิกงานแล้วก็แวบไปหน่อย


ชุดแรกที่พิมพ์ออกมาก็มีชื่อคุณจตุพรในฐานะคนถ่ายเลย


ครับ เพราะผมคิดว่าน่าจะให้เครดิตกับคนถ่าย ในระยะหลังที่ผมเองซื้อภาพมา แรกๆ ก็ไม่กล้าให้ชื่อ

คนถ่ายที่ติดต่อมา เพราะกลัวในเชิงตลาดว่าจะมีคนมาทำแข่งกับเราหรือเปล่า สุดท้ายก็ตัดประเด็นนี้ไป คิดว่าเขาถ่ายมาเราก็ควรจะให้เครดิต


ก่อนจะออกไปถ่ายภาพแต่ละครั้งจะตั้งคอนเซ็ปต์ไว้ก่อนหรือเปล่าว่าอยากทำโปสการ์ดชุดอะไร


ไม่เชิงนะ บางทีตั้งใจไว้ว่าเราจะทำตลาดที่นี่ ก็พยายามถ่ายตรงนั้น แต่ไม่ถึงกับว่าต้องให้ได้ เพราะจะ

เครียดเกินไป ผมคิดว่าสถานที่นี้ช่วงเช้าน่าจะดี ผมก็ไปรอช่วงตอนเช้า ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้พรุ่งนี้มาใหม่ หรือถ้ามาคราวนี้ไม่ได้ คราวหน้าก็มาใหม่ ผมไม่เครียดกับการถ่ายรูปว่าต้องเอาให้ได้ อย่างช่างภาพมืออาชีพ

ที่ได้แอสชายมาและต้องพยายามทำให้ได้


แต่โปสการ์ดบางชุดเห็นมีเรื่องของประเพณี อย่างนี้การทำงานต้องตั้งไว้ว่าช่วงเดือนนี้ต้องไปเก็บภาพ


ไม่เครียดขนาดนั้น ช่วงประเพณีก็จะมีประเพณีพร้อมกันหมด อย่างเช่นออกพรรษา บางครั้งตั้งใจไปเพื่อจะให้ได้ภาพ อย่างแห่เทียนเข้าพรรษา บางทีเราไปถ่ายเยอะ มันก็ไม่ได้ใช้ทั้งหมด แต่สามารถเก็บบันทึกแล้วมาเลือกใช้ทีหลัง


ช่วงประเพณีคนเยอะมีปัญหากับ การถ่ายภาพบ้างไหมคะ


จริง ๆ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบคนเยอะ แต่ในเมื่อเป็นประเพณีคนต้องเยอะ เป็นบรรยากาศของคน เราก็ถ่ายบรรยากาศไป หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผมว่ามันให้บรรยากาศที่ดี บรรยากาศ สีหน้าของคนที่ตั้งใจมา เป็นเรื่องของความศรัทธา นอกจากบางอันที่ต้องถ่ายเจาะรายละเอียด นั่นก็เป็นอีกเรื่อง


สังเกตว่าคุณชอบถ่ายภาพโคลสอัพ


ผมถ่ายภาพเจาะเป็นส่วนใหญ่ ช่วงนี้อาจชอบแนวนี้ หรือว่าถนัด แต่ผมคิดว่าอีกสักพักคงเปลี่ยนไป ผมอาจกว้างขึ้น อาจเปลี่ยนแนวไป บางทีผมถ่ายภาพไปก็มีความรู้สึกว่าความคิดมุมมองมันตัน ๆ เบื่อมุม

ตัวเอง หนีไม่ออกเหมือนกัน ไม่รู้จะเอามุมไหน บางทีด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์ด้วย เรื่องของความไม่ขยันด้วย บางทีบอกว่าอย่างนี้ง่ายก็กดไป สะดวกดี เราเองก็พยายามศึกษา อ่านหนังสือ ดูหนังสือ พยายามที่จะเปลี่ยนมุมตัวเอง ไม่อยากอยู่ที่เดิมมาก เพราะถ่ายไปแล้วก็เบื่อ ไม่ชอบซ้ำมุมกับคนอื่น แต่บางทีก็ซ้ำเพราะถ้าถ่ายมุมๆ แปลกๆ กลัวในเชิงการตลาดเหมือนกัน แต่ก็ทำไว้สองส่วนสะสมไว้ ยังไม่กล้าพิมพ์ออกมา


ส่วนใหญ่คุณจะเดินทางไปคนเดียว


บางทีก็ไปกับเพื่อน แต่ส่วนใหญ่ไปคนเดียว เพราะบางทีเพื่อนไปไม่ได้ เวลาของผมไม่แน่นอน ช่วงไหนงานไม่ค่อยมีก็จัดกระเป๋าไปเลย พักนี้จะไปตั้งแต่วันศุกร์ อาทิตย์กลับ วันจันทร์ทำงาน


จะแบ่งเวลาให้การเดินทางถ่ายภาพไว้ก่อน


ครับ นอกจากเป็นช่วงเทศกาล หรือเราตั้งใจจริง ๆ ก็โอเค ไปยาวหน่อย อย่างช่วงที่ผ่านมาผมไปยาวมาก ไปภูเก็ตตั้งใจไปเก็บภาพทะเล แต่ท้องฟ้าปิด แต่ก็ได้ท้องฟ้าอีกแบบหนึ่ง คิดว่ายังไม่ถูกใจต้องไปใหม่อีกที เพราะเราก็มองว่า หาดแถวนี้ยังไม่ค่อยมีคนทำโปสการ์ด อยากทำให้ดีกว่านี้ ช่วงหลังมานับดู ครึ่งเดือนไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ไปอยู่ต่างจังหวัดเสียเยอะ


เคยเห็นโปสการ์ดที่แม่ฮ่องสอนเป็นภาพมุมสูงของพระธาตุดอยกองมูภาพนั้นถ่ายยังไงคะ


งานนั้นผมไม่ได้เป็นคนถ่าย เป็นงานของเพื่อนที่ผมซื้อสไลด์มา เขาเป็นคนถ่าย โดยปีนเสาเทเลคอม

ถ่ายมาตอนเช้า มีหมอก ผมไม่กล้าปีน เคยไปขอเขาปีนเหมือนกัน แต่เขาบอกอันตราย มีไฟฟ้า


แล้วตัวเองเคยเสี่ยงกับการทำงานอย่างนี้ไหมคะ


อ๋อ ผมเคยปีนไปแต่ปีนไม่ถึงกลัวตก จะว่าเสี่ยงก็คงไม่เสี่ยงมาก เพียงแต่บางครั้งเราขับรถไบในบางพื้นที่เป็นโคลนเละมาก มีโอกาสลื่นสูง หรือต้องขับผ่านสะพานที่เป็นไม้ ที่สามารถพังได้ ผมก็รู้สึกว่าแค่นี้ก็โหดแล้ว คงไม่เสี่ยงมาก ถ้าต้องเสี่ยงถึงชีวิต ผมว่าอย่าเพิ่งดีกว่า แต่ถ้าจำเป็นและคิดว่าตัวเองปลอดภัยก็ทำ ถ้ามันคุ้มที่จะทำ


เคยคิดตั้งทีมงานถ่ายรูปเพื่อทำโปสการ์ดไหม


เคยคิดเหมือนกัน ถ้าบริษัทมีความพร้อมพอ จะทำในลักษณะที่ว่า รวบรวมกลุ่มเพื่อน ทีมงาน จ้างเป็น

โปรเจ็กด์เลย แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ถึงจุดที่สามารถจะทำอย่างนั้นได้ ผมเคยลองทำเหมือนกันนะเป็นโปรเจกต์เล็กๆ ผมอยากถ่ายภาพแนวนี้ อย่างเช่น ตุ๊กตุ๊กในกรุงเทพฯ หรือว่าการใช้ชีวิตคนกรุงเทพฯ บนถนน แต่ถ่ายออกมาไม่ประสบผลสำเร็จ เราไม่ชอบมุมที่เขาทำมา เขาอาจไม่เข้าใจว่าเราไปพรีเซันต์ในการทำโปสการ์ด เลยสบายใจถ้าจะทำงานเอง เพราะผมจะเข้าใจว่า ถ้าทำเป็นการ์ดจะออกมาเป็นอย่างนี้ มุมนี้

น่าจะใช้ได้


นอกจากถ่ายโปสการ์ดเมืองไทยแล้ว มีโอกาสไปทำโปสการ์ดที่อื่นอีกไหมคะ


ได้ไปทำที่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ทางนั้นเขาจ้างมา ผมก็เอาเลย ตระเวนถ่าย ตอนนั้นมีประสบการณ์อยู่แล้ว เขาก็พาผมไปตรงโน้นตรงนี้ มีเวลาบ้างไม่มีเวลาบ้าง บางทีให้เวลาแป๊บหนึ่งกับสถานที่ ท้องฟ้าก็ไม่เปิด มันไม่ได้ แต่เราก็ต้องถ่าย เหมือนทัวร์ ให้เวลาแล้วก็ถ่ายๆ มันไม่ค่อยดีอยากจะไปถ่ายใหม่ แต่ก็ต้องพิมพ์ออกมาให้ทันเวลาที่เขากำหนด แต่ไม่ถูกใจเรา พักหลังบอกเขาว่าผมขอเวลาหน่อยนะ จัดเวลาอย่างนี้นะ สบายๆ คุณทิ้งผมไว้ก็ได้ คืออยากจะถ่ายให้ออกมาดี ไม่ได้คิดถึงค่าจ้างมาก เพราะถ้าพูดถึงมันไม่คุ้มกันหรอก ผมคิดว่ามันคุ้มในลักษณะยาว ได้มีโอกาสเดินทาง และมีโอกาสเก็บภาพ


กับงานโปสการ์ดที่ลาวไปมานานหรือยังคะ


ตั้งแต่ช่วงที่หลวงพระบางยังไม่เปิดเลย ไปตอนนั้นต้องมีญาติมารับ ถ้าไม่มีญาติมารับตรงด่านเข้าไม่ได้

ไปตอนนั้นเพื่อนก็ให้ผมแกล้งเป็นคนลาว บอกว่าอย่าพูดไทยนะ นั่งเฉยๆ ก็เป็นคนลาวไป จึงได้มีโอกาสไปถ่ายรูป ตอนหลังเขาเปิดประเทศรู้สึกเปลี่ยนเร็วมาก มีถนนเข้ามา 3 ปีที่แล้วผมไปช่วงเทศกาลสงกรานต์

มีรถกว่า 100 คัน


แล้วประเทศเพื่อนบ้านอื่นล่ะคะ


จริงๆ ที่พม่าผมก็ไปถ่าย แต่ยังไม่มีโอกาสที่จะทำขาย เขมรก็มีโครงการ ตอนนี้รับงานพิมพ์โปสการ์ดให้ที่

เวียดนาม เขาก็เชื่อใจผม ทุกงานที่เป็นงานพิมพ์ผมจะเน้นทุกกระบวนการ ดูสีเองทุกครั้ง ให้สีออกมาดูแล้วบรรยากาศสดใส ให้คนดูชอบ เพราะโปสการ์ดเป็นการซื้อด้วยอารมณ์คนซื้อ คือดูปุ๊บถูกใจซื้อ ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจ ทำไมของเราพิมพ์ไม่สวยเท่าคนอื่น ก็เลยถามคนอื่น เขาบอกสไลด์คุณไม่ดี แยกสีไม่ดี ผมเลยขอดูสไลด์ที่เขาบอกว่าดี เป็นยังไง จะได้เปรียบเทียบกัน พอดูปุ๊บก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปว่าดีไม่ดีเป็นยังไง


ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องการทำงานแทบทุกกระบวนการ


คือตั้งแต่การทำเพลท ตอนแรกผมไม่รู้ พิมพ์ที่นี่ ก็ให้เขาจัดการทั้งหมด ตอนหลังก็มาดูว่าทำไมแยกสีไม่ดี

ควรแก้ไขสียังไง พอพิมพ์จริงก็ไปดูอีกทีว่าสีไม่ควรเพิ่มน้ำหนักสี ควรลดสีไหน เราเองก็ได้เรียนรู้จากที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย


เวลาเดินทางไปต่างจังหวัดเห็นโปสการ์ดตัวเองวางขายรู้สึกอย่างไร


ก็รู้สึกดี แต่รู้สึกว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้นะ


เคยลุ้นไหมคะว่าอยากให้คนซื้อของเราไป


คือคิดว่าถ้าขายดีก็ดี แต่ไม่ถึงกับลุ้นว่าต้องหยิบของเรา ถ้าเขาหยิบของคนอื่น เราต้องมาพิจารณาว่าทำไมเขาไม่เลือก เราไม่มีรูปนั้นหรือเปล่า ภาพนั้นเขาดีกว่า หรือทำไมคนหยิบภาพนั้นมากเป็นพิเศษ ยิ่งเป็นภาพถ่ายบรรยากาศ สีหน้าคน เป็นงานที่ก๊อปปิ้กันไม่ได้ อยู่ที่จังหวะ บางทีก็ได้ภาพดี เขาดีก็ต้องปล่อยเขาไป เราเองต้องมาเน้นเรื่องของการตลาด การกระจายสินค้า เรื่องของราคาที่น่าสนใจ


มีคนเคยส่งโปสการ์ดฝีมือของคุณเองกลับมาให้คุณไหม


เคยมีเหมือนกันเป็นฝรั่ง เขารู้ว่าเราทำ เขาก็เขียนมาว่าชอบโปสการ์ดคุณมาก อยากให้พิมพ์ให้หน่อย ส่วนการ์ดส.ค.ส.จะมีมากหน่อยเพราะใช้ชื่อที่พิมพ์ว่าอาร์ติสท์ คัลเลอร์ ซึ่งบางอันผมไม่ได้เขียนชื่อบริษัทด้วย เขาก็ส่งมาให้ เราก็ดีใจเหมือนกันที่การ์ดเราแพร่หลาย เพราะเราไม่แน่ใจว่าการ์ด ส.ค.ส.ที่ทำคนจะชอบ

จะซื้อเยอะหรือเปล่า เนื่องจากเป็นแนวศิลปะ มีคนชอบกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งกลุ่มของตลาด


ตลาดโปสการ์ดตอนนี้เป็นยังไงคะ


ถ้าพูดถึงคนไทยคงไม่ดีขึ้น แต่ตลาดที่เราทำอยู่นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี แนวโน้มก็เปลี่ยนไป ถ้าเป็น

ของยุโรป อเมริกามามากขึ้นจะทำให้การขายดี เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเขา ถ้าเป็นย่านเอเชีย ฮ่องกง ไต้หวัน จะไม่ค่อยซื้อโปสการ์ดเท่าไหร่ ซึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมไม่ต่างกันเยอะ ภาพที่เห็น

เจนตา และอาจเป็นเพราะคนเอเชียไม่ชอบการเขียน อย่างฝรั่งเขาจะชอบเขียน ชอบส่งถึงเพื่อน บอกให้รู้ว่าตอนนี้อยู่ที่นี่แล้วนะ บางทีก็ขึ้นอยู่กับทัวร์ด้วย เท่าที่คุยกับลูกค้าที่เป็นร้านขายของทั่วไปให้กับ

นักท่องเที่ยว เขาบอกช่วงนี้ขายไม่ดี ไกด์ไม่เปิดเวลาให้นักท่องเที่ยวซื้อของ ดูเสร็จต้อนขึ้นรถ จบ


ดูน่าภูมิใจนะคะมีภาพของตัวเองส่งไปอีกมุมหนึ่งของโลก


ก็รู้สึกดีครับ เคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนว่าในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครรู้จักผมหรอก แต่ว่ารู้จักระหว่างประเทศนะ

แต่จริงๆ ระหว่างประเทศเขาก็ไม่รู้หรอกว่าหน้าตาผมเป็นยังไง รู้แค่ว่าเป็นคนถ่ายภาพคนหนึ่งเท่านั้น

ผมก็คิดว่าเป็นคนถ่ายภาพธรรมดาคนหนึ่ง


ถ่ายภาพโปสการ์ด อุปกรณ์จะแตกต่างจากการถ่ายภาพทั่วไปไหม


ผมว่าจริงๆ ก็มีแตกต่างบ้าง ผมเคยอ่านหนังสือเขาก็บอกว่าช่างภาพถ้าจะถ่ายภาพ อันที่หนึ่งถ้าลงทุนอุปกรณ์ได้ดี ถ้าคุณทำได้โดยไม่เดือดร้อน ทำไว้ก่อน ผมก็มองว่ามันก็จริง ถ้าเกิดเป็นช่างภาพที่มีประสบการณ์มามากแล้ว ถ้ามีอุปกรณ์ที่ดีมันก็ทำให้เก็บภาพที่คุณภาพดีที่สุด แต่ผมมองว่าคนที่เก็บบันทึกภาพต้องมีประสบการณ์มีมุมมองของตัวเอง มุมมองสำคัญ นอกเหนือจากอุปกรณ์ สำคัญคือมุมมองและโอกาส ผมคิดว่าโอกาสดีที่สุด


แล้วตัวเองส่วนใหญ่ได้โอกาสดีไหม


โอกาสไม่ค่อยดีเยอะ อย่างไปทะเล ไปทีไรท้องฟ้าไม่ดี เราคิดว่าช่วงนี้น่าจะดีแล้ว อย่างเช่น ธันวาคมก็เดินทางไป ปรากฎว่าปีนี้ไม่ดี ทึมๆ ฟ้าปิด ไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับทะเล ก็คิดว่าตัวเองไม่ได้ให้เวลาศึกษาโอกาสตรงนั้นเพียงพอ ผมคิดว่ามีโอกาสมากก็ทำให้ได้ภาพดีขึ้นเยอะ แสงดี ทุกอย่างใส จบ คราวนี้อยู่ที่มุมแล้ว


เดินทางมาครบทุกจังหวัดแล้วหรือยังคะ


ไม่แน่ใจ อาจจะเดินทางผ่าน แต่ไปเที่ยวและให้เวลากับสถานที่จริงยังไม่ครบ จริงๆ ผมอยากจะศึกษาว่าแต่ละจังหวัดมีอะไรที่น่าสนใจ มีวัด ภาพเขียนฝาผนัง ประเพณีอะไร แต่ยังไม่มีโอกาสศึกษาได้เยอะ


มองว่าจังหวัดแต่ละจังหวัดในประเทศไทยสามารถนำภาพเป็นโปสการ์ดได้ไหม


ผมคิดว่าทุกจังหวัดมีโอกาส ภาพบางอย่างเป็นภาพประเพณีที่มีทั่วไปในเมืองไทย อย่างเช่นเรื่องของการทำบุญตักบาตร ผมว่าเป็นเรื่องที่ใช้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ขอให้ภาพนั้นมันมีบรรยากาศ สามารถอธิบายประเพณี สังคม ก็เป็นตัวแทนของเมืองไทยได้


การเดินทางครั้งต่อไปของคุณ ลองหาโปสการ์ดสักแผ่น สองแผ่นเขียนความรู้สึก ความประทับใจ ส่งไปให้คนที่คิดถึงหรือส่งถึงตัวเอง แล้วคุณจะพบเสน่ห์ของโปสการ์ด


 

จาก: คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ นิตยสารขวัญเรือน มกราคม 2542


ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page