top of page

ระเบียงเลียบแม่โขง:

GMS ไม่ใช่ GMOละเอียดอ่อนยิ่งกับ ‘ไทย’


ชิงชัย หาญเจนลักษณ์




หมายเหตุ “มติชนสุดสัปดาห์” ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ จบปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชนจากฝรั่งเศส

เป็นข้าราชการกรมวิเทศสหการ 10 ปี จากนั้นได้เข้าทำงานให้ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

(International Development Research Center) ของรัฐบาลแคนาดา รวม 23 ปี โดยเป็นผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกถึง 17 ปี ขณะที่อยู่ในตำแหน่งนี้ได้เข้าร่วมในการประชุมเพื่อก่อตั้ง GMS

ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารศูนย์กฎหมายอนุภาคแม่น้ำโขง (Mekong Law Center) ซึ่งเขามีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง นอกจากนั้น ยังเป็นกรรมการบริหารสถาบันพระปกเกล้า เลขาธิการมูลนิธิวิเทศพัฒนา กรรมการบริหารสภาหอการค้าไทย ฯลฯ เป็น 1 ในจำนวนไม่กี่คน ที่สามารถให้รายละเอียดของ GMS ได้ดีที่สุด

 

GMO กับ GMS ตัวย่อภาษาฝรั่งทั้งสองนี้น่าที่จะมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมากในทศวรรษหน้า

แต่โดยเนื้อหาแล้วแตกต่างกันอย่างเรียกว่าคนละเรื่อง


GMO (Genetically Modified Organism) หรือสิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อพันธุกรรม เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพราะมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านออกมาให้ได้ยินได้ฟังมากมาย จนแทบจะไม่ต้องอธิบายตรงนี้ว่าคือการดัดแปลงทางชีวภาพในสัตว์หรือพืช โดยอาจจะนำ CHROMOSOM ของพืชเข้าไปใส่ในสัตว์ หรือของสัตว์เข้าไปใส่ในพืชพรรณ เพื่อให้มีแรงต้านทานโรคดีขึ้น หรือให้ผลิตผลมากขึ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ


ผลข้างเคียงที่จะเกิดจากการที่บริโภคสัตว์หรือพืชผักผลไม้ ที่ได้รับดัดแปลงทางชีวภาพ ยังไม่มีการวิจัยได้อย่างแน่ชัด ในขณะที่สหรัฐอเมริกาแสดงการสนับสนุน GMO อย่างเต็มที่ กลุ่มประเทศยุโรปกลับยัง

ไม่แน่ใจเรื่องของผลข้างเคียงว่าจะเป็นอันตรายในระยะยาวหรือไม่ ประเทศไทยเราก็คงจะทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ว่ากลุ่มนี้ออกมาสนับสนุนที กลุ่มนี้ออกมาคัดค้านที


สำหรับ GMS (Greater Mekong Sub Regional Economic Cooperation) หรือ “การร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภาคแม่น้ำโขง” นั้น เข้าใจได้ง่ายกว่ามาก เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีการดัดแปลงทางวิทยาศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติที่ว่านี้ ก็คือแม่น้ำโขงเส้นเลือดใหญ่ของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั่นเอง


น่าเสียดายนัก ที่การร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภาคแม่น้ำโขง หรือ GMS ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่าง

GMO ทั้งๆ ที่คนไทยน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักสายน้ำอันกว้างยาวสายนี้


แม่น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศ เริ่มต้นจากบ่อน้ำเล็กๆ ในทิเบต และไหลผ่านมณฑลยูนนานของจีน ผ่านพม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ไปลงทะเลจีนใต้ มีความยาวกว่า 4,000 ก.ม. โดยจัดเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ 12 ของโลก อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีพลเมืองกว่า 250 ล้านคน


GMS เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2535 ด้วยการริเริ่มของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ASIAN DEVELOPMENT BANK)

เพื่อพัฒนาศักยภาพของแม่น้ำโขงและดินแดนในบริเวณลุ่มแม่น้ำสายใหญ่นี้


เป็นเรื่องที่ไม่มีข้อโต้เถียงในเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับ เพียงแต่ว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ผลประโยชน์นั้นเกิดขึ้น และประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ จะได้รับผลประโยชน์นั้นอย่างเท่าเทียมกัน หรืออย่างน้อยก็มีการพยายามที่จะให้เท่าเทียมกัน นี้เองก็คือจุดเริ่มต้นของโครงการ GMS


หัวใจของ GMS อยู่ที่ความต้องการและความพยายามของประเทศทั้ง 6 ที่จะใช้ลุ่มแม่น้ำโขงในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ส่วนแขนขาก็อยู่ที่โครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการด้านคมนาคม ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาเอเชีย ในการดำเนินการ


หากการดำเนินการของหัวใจล้มเหลว แขนขาก็คงจะใช้การไม่ได้ ก็คาดหวังว่าหัวใจของ GMS จะทำงาน

สูบฉีดเลือดได้ดี แม้ว่าจะมีโรคแทรกเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้


ผมคิดว่าคนไทยเราควรจะสนใจ GMS และให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะตามสภาพภูมิศาสตร์และสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนความคุ้นเคยกับระบบเศรษฐกิจเสรี ทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะได้ประโยชน์จากความร่วมมือกับกลุ่มประเทศแม่น้ำโขงอย่างมาก อาจจะมากกว่าจากกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ด้วยซ้ำไป


ที่เห็นเด่นชัดคือ East West Economic Corridor ในกรอบของ GMS ซึ่งผมขอเรียกเป็นภาษาไทยว่า

“โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก” ไหนๆ ก็ ห้าเหลี่ยม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมเศรษฐกิจแล้ว

เพิ่มระเบียงเข้าไปคงจะไม่เป็นไร


เป็นโครงการที่มีระดับความสำคัญสูงและจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อจังหวัดพิษณุโลก ขอนแก่น ตาก และมุกดาหาร


ระเบียงนี้มีฐานอยู่บนโครงการคมนาคมที่จะเชื่อต่อเมาะลำเลิงในพม่าเข้ากับ Danang ในเวียดนามทางถนน ซึ่งจะมีความยาวกว่า 1,500 ก.ม. จากทะเลอันดามันถึงทะเลจีนใต้ โดยผ่านทางแม่สอด พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร และสุวรรณเขต ทั้งนี้ จะมีทั้งการสร้างถนนเพิ่ม และการปรับปรุงถนนที่มีอยู่แล้ว

ช่วงที่ดีที่สุดก็คงเป็นช่วงที่อยู่ในไทย


เมื่อปลายปี 2542 ธนาคารพัฒนาเศรษฐกิจเอเชีย (ADB) ได้อนุมัติให้เงินกู้แก่ลาว 32 ล้านดอลลาร์

และเวียดนาม 25 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ปรับปรุงถนนที่อยู่ในประเทศทั้งสอง ในการวางแผนตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจนั้น


นอกจากเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามจากทะเลอันดามันไปสู่ทะเลจีนตอนใต้ เพื่อส่งต่อไปยังเอเชียใต้ ซึ่ง

รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้วย โครงการนี้จะเอื้ออำนวยให้ มุกดาหาร ขอนแก่น และพิษณุโลก

เป็นศูนย์กลางความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต


นอกจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจ และถนนเชื่อมทะเลอันดามันกับทะเลจีนใต้แล้ว ภายใต้กรอบ GMS

ก็ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมาก เช่น โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมกรุงพนมเปญพาดกับนครโฮจิมินห์ ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ด้วยเงินกู้จาก ABD ถนนสายนี้ต่อไปก็เชื่อมเข้าสู่กรุงเทพฯ และไปออกทะเลจีนที่ VUNG TAU ในเวียดนาม


อีกโครงการที่น่าสนใจโครงการหนึ่งก็คือ ถนนเชื่อมเมืองคุนหมิงในยูนนานกับเชียงราย โดยผ่านพม่า

และลาว ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการต่างๆ ด้านพลังงาน ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้านการแก้ไขปัญหา

สิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมการลงทุนและการพาณิชย์


ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของ GMS ครั้งที่ 9 ที่กรุงมะนิลา ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคมศกนี้ ที่ประชุมได้ย้ำถึงความสำคัญของโครงการ GMS สำหรับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และได้ตกลงที่จะสนับสนุนให้มี

การดำเนินการตามโครงการต่างๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจ

ตะวันออก-ตะวันตก


รองนายกรัฐมนตรี ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนก่อตั้งโครงการ GMS ตั้งแต่เริ่มแรก ได้เน้นความสำคัญที่จะต้องให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในโครงการ GMSมากกว่าในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากโครงการขั้นพื้นฐานต่างๆ จำเป็นที่จะต้องได้ภาคเอกชนทั้งภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและภายนอกเป็นผู้ลงทุน


ในการดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ทางกลุ่มประเทศสมาชิก GMS จะต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส

และเป็นไปตามแนวทางของเศรษฐกิจเสรี


จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์จะสามารถบินจากสิงคโปร์ไปเมืองเว้ (HUE) ในเวียดนาม แล้วเดินทางโดยรถต่อไปเมืองดานัง (DANANG) กินข้าวกลางวันที่ดานัง และเดินทางต่อไปยังสุวรรณเขตในลาว เพื่อทานอาหารเย็นและพักค้างคืนที่สุวรรณเขต และเดินทางต่อไปทานอาหารกลางวันที่พิษณุโลก อาหารเย็นที่แม่สอด และลงเล่นน้ำทะเลอันดามันที่ชายหาดเมาะลำเลิงของพม่าในวันรุ่งขึ้น


หรือว่าเราจะต้องรอจนถึงปีพุทธศักราช 3000 เพื่อที่จะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าหัวใจของ GMS จะมีสุขภาพสมบูรณ์ สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงแขนขาได้ตลอดไปหรือไม่


แล้วใครล่ะที่จะเป็นผู้ดูแลหัวใจของ GMS ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์


 

จาก: มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1018 ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page