top of page

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน... แต่งนิทานเล่าจินตนาการ

โดย ตะละแม่



“…The sun rose higher and higher. She drank his radiance, and refracted it in brilliant colours as she danced on the wind – nudged lotus leaf…”


บางเสี้ยวของนิทานกวี Raindrop And the Lotus Leaf จากหนังสือชื่อ On the White Empty Page ปรากฏเบื้องหน้า พร้อมๆ กับภาพของสุภาพสตรีร่างเล็กแบบบางกำลังผลักบานประตูกระจกใสเข้ามายังหอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต เธอคือเจ้าของภาษาไพเราะดังกล่าว...คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน... แขกรับเชิญผู้ทำให้คอลัมน์คุณแม่แต่งตัวในบ่ายนี้ ดูอบอุ่นใจขึ้นกว่าเดิม

ทันทีที่เห็นเรา คุณหญิงจำนงศรีในชุดผ้าซิ่นฝ้ายสีน้ำตาล ก็ส่งยิ้มอ่อนโยนแต่กร้าวแกร่งในทีมาทักทายพร้อมกับกล่าวออกตัวว่า “ดิฉันไม่ทราบเหมือนกันนะว่าอะไรคือกวี ถ้ามีคนถามนี่จะตอบไม่ถูก ตัวเองเป็นเพียงคนที่ชอบเขียนเท่านั้น”

บทสนทนาเริ่มต้นแล้ว ท่ามกลางความเงียบสงบแต่อบอุ่น ภายในห้องประชุมสีน้ำตาลอ่อน ขณะเดียวกันแสงไฟแฟลชจากตากล้องของเราก็เริ่มส่องแสงวูบวาบขึ้น


“งานที่เขียนส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ตอนแรกก็ไม่ได้นึกว่าจะมีใครเอาไปเผยแพร่หรอก ไม่ได้คิดจะให้ใครอ่านด้วยซ้ำ ก็คงเหมือนกับบางคนที่นั่งร้องเพลงคนเดียว นั่งฮัมเพลงคนเดียวในห้องน้ำ ซึ่งเขาก็ไม่ได้คิดจะให้ใครฟังเหมือนกัน ดิฉันเขียนเล่นแทนที่จะร้องเพลง เลยไม่ได้กะว่าจะให้เป็นภาษาไหน รู้แต่ว่าเป็นคนชอบเขียน คิดอะไรก็เขียนออกมา แล้วไม่ได้คิดว่ามันเป็นบทกวีด้วย น่าจะเรียกบทเขียนนะ”

คุณหญิงจำนงศรี ปรากฏตัวอีกครั้งในชุดกระโปรงผ้าไหมสีชมพูอ่อนหวาน ขณะรอการจัดไฟเพื่อถ่ายภาพ บทสนทนาเมื่อครู่ซึ่งหยุดลงชั่วขณะจึงเริ่มขึ้นใหม่


“หลายท่านบอกว่างานเขียนของดิฉันเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งดิฉันเองก็ไม่ได้จงใจนะคะ คงจะเป็นเพราะมนุษย์เกี่ยวโยงกับธรรมชาติเสมอ


อีกประการหนึ่ง ตั้งแต่เด็กมาแล้ว ดิฉันอยู่กับธรรมชาติมาตลอดเป็นเด็กสวนฝั่งธนนะคะ บ้านอยู่ริมคลอง ช่วงสมัยเด็กนั้นไม่มีอะไรอื่นนอกจากท้องร่อง ต้นไม้ ปลาเข็ม แล้วคุณแม่เสียตั้งแต่ดิฉันอายุ 2 ขวบ จึงเติบโตมากับพวกนี้ ต้นไม้ โคลน มดแดง โทรทัศน์สมัยนั้นก็ไม่มี มีแต่ละครกรมศิลป์ ซึ่งดิฉันติดอย่างเหนียวแน่น แล้วก็หนังสือที่มากมาย อ่านหนังสือเยอะนะคะ ก็มีหนังสือกับธรรมชาตินี่ล่ะที่เป็นเพื่อนใกล้ตัว

ตอนเด็กๆ จำได้ว่าดิฉันเป็นเด็กที่เหงานะ และความเหงานี่ก็เป็นสิ่งดี มันเปิดให้อะไรหลายอย่างไหลเข้า ถ้าไม่เป็นคนเหงาก็คงไหลออกไปหมด แล้วก็จับสิ่งที่ไหลเข้าเหล่านั้น แปรเปลี่ยนเป็นภาษาหนังสือ...”

เราย้ายขบวนเข้าไปในห้องประชุมเมืองไทยประกันชีวิตเพื่อบันทึกภาพคุณหญิงในชุดผ้าฝ้ายอีกครั้ง


“เรื่องอ่านบทกวีนี่ แรกๆ เข้าไปช่วยคุณดนู ฮันตระกูล ก่อน ก็อ่านไม่ดีหรอกค่ะ เกร็งไปหมดเลย แต่หลังๆ นี่ค่อยยังชั่วแล้ว คุ้นเคยแล้ว จนขณะนี้คิดว่าเลิกอ่านเสียทีเพราะมีคนอื่นที่อ่านเก่งๆ มาสนใจกันแล้ว ก็ดีใจค่ะที่คนเริ่มสนใจการอ่านบทกวีมากขึ้น แต่ไม่ทิ้งงานเขียนกับงานของเพื่อนๆ ที่อ่านบทกวีด้วยกันหรอกค่ะ เพียงแต่จะช่วยด้านอื่นแทน...”

เราหันกลับมาพูดคุยเรื่องการแต่งกาย ซึ่งคุณหญิงระบายยิ้มอ่อนโยนก่อนกล่าวว่า


“ไม่ได้ตั้งใจเลยนะว่าจะมีสไตล์การแต่งตัวแบบไหน ไม่มีเฉพาะเจาะจงหรอก เหมือนงานเขียน

นั่นล่ะ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรพิเศษเลย แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนแต่งตัวดีอะไรด้วย เพราะไม่มีความมั่นใจนะว่า...เออ...ฉันแต่งตัวดี แต่งชุดนี้ๆ แล้วดูดี”

แต่ถ้าเปิดตู้เสื้อผ้าของคุณหญิงออกดู เราคาดว่าน่าจะพบเสื้อผ้าแบบไทยๆ มากกว่าแบบอื่น เพราะ

หลายครั้งที่คุณหญิงออกงานอ่านบทกวี มักจะปรากฏตัวในชุดผ้าไทยที่เรียบง่ายแต่งามสง่าเสมอ


“ใช่ค่ะ เสื้อผ้าในตู้จะเป็นผ้าไทยๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จะไม่เป็นชุดๆ หรอกนะคะ จะเอาอันนั้นผสมอันนี้เสมอ ส่วนใหญ่จะตามสบายตัวเองมากกว่า เออ...วันนี้ไปเห็นผ้าชิ้นนี้ ก็ซื้อไว้ทั้งๆ ที่ไม่รู้หรอกว่าจะนำไปตัดชุดอะไร แบบไหน หรือจะไปใส่กับอะไร แต่เดี๋ยวมันก็ล็อคของมันเอง คือ เดี๋ยวก็จับใส่กับซิ่นผืนนั้นหรือเสื้อตัวนี้ได้ อย่างชุดหนึ่งที่นำมาแต่งวันนี้ ก็ไม่เคยนำเสื้อตัวนี้มาใส่กับผ้านุ่งผืนนี้ พอวันนี้จะใส่ก็หยิบมาเลย ไม่มีกฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนอะไรในเรื่องเสื้อผ้า เรื่องร้านตัดเสื้อผ้าก็เหมือนกัน แต่เมื่อสมัยสาวๆ ก็สนใจเรื่องเสื้อผ้านะคะ ดูแลพอสมควร พอมาถึงตรงนี้อายุมากขึ้นก็เลยเฉยๆ ...”


“ชอบสีเหลืองอ่อนค่ะ” คุณหญิงตอบทันที เมื่อเราถามถึงสีที่โปรดปราน


“ก็บอกไม่ถูกนะคะว่าเป็นสีเหลืองอ่อนแบบไหน แต่สีเหลืองอ่อนแบบที่ชอบนี่หาใส่ยากเหลือเกิน สีชมพูก็ชอบใส่เหมือนกันค่ะ แต่ก่อนใส่บ่อยเลย ช่วงสาว ๆ นี่ใส่ประจำ แต่พออายุมากขึ้นก็ใส่น้อยลง เพราะดูมันหวานเกินไป


ผ้าซิ่นนี่ชอบใส่ที่สุด เพราะสบาย มีมากเลยนะคะผ้าซิ่น ก็ใส่ผ้าซิ่นมาตลอด ถ้าเป็นกระโปรงก็จะตัดคล้ายๆ ผ้าซิ่น ดิฉันไม่ชอบใส่กางเกง เพราะเวลางอขามันจะมาติดที่เข่ารู้สึกรุงรังมาก เวลาลุกนั่งก็อึดอัด ใส่ผ้าซิ่นนี่สบาย จะอ้วนหรือผอมแค่ไหนก็ใส่ได้ อย่างตอนนี้ดิฉันอ้วนขึ้นนะคะ ถ้าใส่กระโปรงคงต้องแก้หลายตัว”

ในส่วนของเครื่องประดับ คุณหญิงให้ความสำคัญน้อยลงกว่าเดิมด้วยเหตุผลที่ว่า


“เครื่องประดับนี่จะใส่ไม่มากเพราะรู้สึกว่ามันเป็นภาระต้องหยิบนั่นมาใส่ หยิบโน่นมาใส่ ต้องดูว่าเข้ากับเสื้อผ้าที่แต่งไหม รู้สึกยุ่งไปหมด อีกอย่างต้องคอยระวัง ต้องเก็บรักษาและดูแลอย่างดี เฮ้อ...ยุ่งเหลือเกิน


ตอนนี้ถ้ามาถามว่าชอบไหมเครื่องประดับ จะตอบได้ทันทีเลยว่าไม่ชอบแล้ว มันยุ่งยาก แถมยังดูรกๆ รุงรังอย่างบอกไม่ถูก ที่ยังใส่บ่อยหน่อยก็คือตุ้มหู เพราะดิฉันคางยาวยิ่งรวบผมยิ่งยาวต้องเอาตุ้มหู

มาช่วย


และเดี๋ยวนี้เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยด้วย พวกเครื่องประดับเลยไม่สนใจ เรื่องเดินทางนี่ธรรมดาแล้วเป็นคนชอบเตรียมตัวอะไรจุกจิกนะคะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เตรียมอะไรมากแล้ว รู้สึกมันเสียเวลาเปล่าๆ เสื้อผ้ามันก็แค่นั้น แต่ส่วนใหญ่จะเตรียมผ้าซิ่นไปค่ะ เพราะสะดวกดี”

คุณหญิงเปลี่ยนชุดอีกครั้งเป็นชุดกระโปรงหลวมๆ ซึ่งคุณหญิงใส่ประจำยามอยู่บ้าน


“ชุดนี้ถูกมากเลย พวกแม่บ้านชุมชนวัดพระยายังทำขายเพื่อหารายได้พิเศษ ก็ซื้อมาใส่อยู่บ้านค่ะ สบายดี เวลาอยู่บ้านดิฉันไม่ได้เป็นแม่บ้านแบบเต็มตัวหรอกค่ะ แต่ก็ชอบทำกับข้าวมาก จะทำเฉพาะที่มีคนทาน (หัวเราะ) ธรรมดาไม่ทำหรอก ถ้ามีคนจะทานเมื่อไหร่ เอาล่ะ...ลงมือทำทันที


และถ้ามีเวลาว่างนะคะ จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ช่วงเวลาที่ได้อ่านหนังสือจะมีความสุขมาก

เล่นเปียโนเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้เล่นแล้ว ตอนนี้ที่ต้องการมากที่สุดเลยคือเวลาว่างเพราะงานค้างๆ อยู่มีเยอะมาก อยากทำให้เสร็จๆ ไป


แต่ถ้ามีเวลาว่างหลายวัน ดิฉันจะเดินทางไปต่างจังหวัดทันที ก็หลายแห่งค่ะ แต่ช่วงหลังจะไปสวนโมกข์ ไปครั้งหนึ่งก็ประมาณหนึ่งสัปดาห์หรือสิบวัน กำลังหาโอกาสจะไปอยู่นานๆ


มีความสนใจในศาสนาพุทธมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้ามาศึกษาหรือทำอะไรมากนัก มาช่วงหลังๆ ที่ใช้เวลาอย่างจริงจัง และที่มาสนใจก็เพราะเป็นความจริงที่เป็นพื้นฐานของทุกอย่างนะ ถ้าเราไม่เข้าใจในพื้นฐานที่เป็นความจริงนี้ ชีวิตเราก็คงต้องลอยอยู่กับอะไรต่างๆ ที่เราเอามาหลอกตัวเองให้หลงไปเรื่อยๆ ร้อนไปเรื่อยๆ


มนุษย์นี่จริงๆ แล้วธรรมชาติของจิตใจก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าใครจะหนักไปทางไหนและควบคุมได้แค่ไหน ถ้าเรารู้จักตัวเองดีขึ้น ก็รู้จักคนอื่นดีขึ้นด้วย ตัวเองไม่เก่งอะไร ถึงต้องพยายามฝึก


ดิฉันเชื่อว่ามนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าเราว่าเรารักธรรมชาติ สนใจในธรรมชาติ เราก็ควรสนใจความเป็นธรรมชาติในตัวของมนุษย์ด้วย เมื่อเข้าใจมันพอสมควร เห็นว่ามันแกว่งตรงไหน ก็ค่อยๆ พยายามจัดระบบให้มันไปในทางที่ดีได้ ”

บทสนทนาจบลง พอดีกับไฟแฟลชสุดท้ายสว่างขึ้น คุณหญิงจำนงศรรี ส่งยิ้มอำลาเราที่หน้าประตูหอประชุม เราเดินลงมายังถนนข้างล่าง ผ่านอากาศร้อนอบอ้าว แต่ในใจกลับรู้สึกชุ่มเย็น


 

จาก: คอลัมน์คุณแม่แต่งตัว นิตยสารรักลูก ปีที่ 9 ฉบับที่ 100 พฤษภาคม 2534


ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page