top of page

คอนเสิร์ต “มาลัยหลากสี”

เกาเหลาดนตรีก้าวใหม่

โดย ทศวรรษ รัตนวิมล



ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ มีคอนเสิร์ตที่น่าสนใจมากงานหนึ่ง ซึ่งจัดโดยมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อน

แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ คือคอนเสิร์ต 'มาลัยหลากสี' เป็นการสร้างสรรค์งานร่วมกันของบรรดาศิลปินที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่รักและหวงแหนความเป็นไทย แต่ละคนล้วนมีความสามารถเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันเช่นครั้งนี้ โดยประกอบด้วย


ดนู ฮันตระกูล อัจฉริยะทางด้านดนตรีของไทย ผู้จัดตั้งและอำนวยการวง ไหมไทยออเคสตร้า

วงดุริยางค์สากลของโรงเรียนดนตรีศศิลิยะ ผลงานของวงไหมไทยออเคสตร้านั้นแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ที่วางตลาดในเมืองไทยนั้นก็มีถึง 2 ชุดด้วยกัน ซึ่งชุดแรกบรรเลงด้วยเครื่องสายกับฮาร์พเท่านั้น พอมาชุดที่ 2 ก็เพิ่มเครื่องเป่าเข้าไป

แต่ในคอนเสิร์ตครั้งนี้จะเพิ่มเครื่องเคาะและเครื่องอื่นๆ รวมถึง 27 ชิ้น ซึ่งนับว่ามากที่สุด เท่าที่วงไหมไทย เคยเล่น และครั้งนี้จะเป็นอีกมิติหนึ่งของวงไหมไทย ที่มีการแสดงผสมผสานกับการอ่านบทกวี ก็จะเป็น 2 มิติที่สัมพันธ์กัน ต่างไปจากการฟังเทป หรือที่เคยแสดงมาในคอนเสิร์ตครั้งก่อนๆ ผู้ที่เป็นวาทยกรของวง ไหมไทยก็ไม่ใช่ใครอื่น คือ ดร. ประทักษ์ ประทีปะเสน แห่งวงดุริยางค์ของกรมศิลปากรนั่นเอง

จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินพื้นบ้านจากลานนา ผู้สร้างดนตรีไทยในแบบพื้นเมืองทางเหนือ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว จากกาiนำเอาเรื่องราวและท่วงทำนองของพื้นบ้านมานำเสนอในแบบสากล ในคอนเสิร์ต 'มาลัยหลากสี' จะมีจรัล มโนเพ็ชรเป็นพิธีกรและร้องนำ โดยจะเสนอผลงานแสนรักของจรัลเองบรรเลงร่วมกับวงออเคสตร้า ในลีลาที่แปลกใหม่เป็นครั้งแรก

คอนเสิร์ตครั้งนี้ยังประกอบไปด้วยงานของ 2 กวีไทยผู้มีผลงานต่างรูปกัน แต่ล้วนเชี่ยวชาญในการเรียงร้อยถ้อยคำ ออกมาเป็นบทกวีที่สละสลวย ลุ่มลึกและงดงามคือเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เพชรเม็ดงามของวงการกวีในเมืองไทย ซึ่งจะอ่านงานของตัวเองประกอบดนตรี และ อุชเชนี เจ้าของงานกวีชิ้นเอกหลายชิ้นที่ได้รับการยกย่องทั้งในบ้านเราและจากต่างประเทศ

ที่จะกล่าวถึงอีกท่านหนึ่งคือคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เป็นอีกผู้หนึ่งในคอนเสิร์ตนี้ แต่เธอจะเป็นดอกไม้ที่แสนสวยและมีสีสันแปลกตากว่าใครอื่น เธอเป็นผู้ที่เขียนและผู้แปล และที่กล่าวว่าเธอเป็นดอกไม้สีสวยแปลกนั้นก็เพราะงานเขียนบทกวีของเธอเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น งานกวีและร้อยแก้วของเธอได้รับการ

ตีพิมพ์รวมเล่มแล้วในชื่อว่า ‘ON THE WHITE EMPTY PAGE ’ นอกจากเขียนงานร้อยกรองเป็นภาษาอังกฤษแล้ว เธอเป็นผู้แปลงานของ อังคาร กัลยณพงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สุนทรภู่ เจ้าฟ้ากุ้ง ฯลฯ

จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และนอกจากจะอ่านบทกวีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตามที่ต่างๆ แล้ว เธอยังเคยเป็นตัวแทนของกวีไทยในการเดินทางไปประชุมกวีโลกมาแล้ว และในครั้งนี้เธอจะเป็นผู้อ่านบทกวีของอุชเชนี

มาลัยหลากสีดำเนินงานโดยดนู ฮันตระกูล ในฐานะผู้กำกับฝ่ายดนตรี และคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ที่ปรึกษาฝ่ายศิลป์ บทเพลงที่จะนำมาเสนอเป็นเพลงไทยทั้งสิ้นและมีทั้งที่เป็นของเก่าและใหม่ เน้นการผสมผสานระหว่างทั้งของดนตรีไทยกับแนวการประสานเสียงของสากลก็ได้โดยใช้วงออเคสตร้าสมัยใหม่

ในช่วงแรกของคอนเสิร์ตจะเป็นเพลงไทยโบราณ คือเพลงแขกเชิญเจ้าเรียบเรียงโดย ดนู ฮันตระกูล เพลงอิเหนา เรียบเรียงโดย ดนู ฮันตระกูล และศักดิ์ชาย เล็กวงษ์เดิม เพลงศรีนวล ซึ่งเป็นเพลงเก่า

สมัยกรุงศรีอยุธยา เรียบเรียงโดย สุรสีห์ อิทธิกุล แห่ง บัตเตอร์ฟลาย


ถัดจากเพลงโบราณก็จะเป็นเพลงไทยสากลในยุคต้นๆ คือ เพลงวิหคเหิรลมของสมาน กาญจนผลิน และเพลงขวัญเรียม ของพราณบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) ซึ่งประพันธ์สำหรับละครเรื่องแผลเก่า และเพลงเมื่อวานนี้ ของสง่า อารัมภีร์ ดนู ฮันตระกูล และศักดิ์ชาย เล็กวงษ์เดิม เรียบเรียงทั้ง 3 เพลง และในชุดสุดท้ายของช่วงแรกนี้ก็จะเป็นเพลงซึ่งแต่งและร้องโดยจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งได้แก่เพลง “อุ๊ยคำ” และ “ล่อง

แม่ปิง” ดนู ฮันตระกูล และศักดิ์ชาย เล็กวงษ์เดิม เรียบเรียงการบรรเลงประกอบของวงไหมไทย

เพลงในช่วงที่สอง จะเป็นเพลงชุด เจ้าพระยาหยาดด้าวดินสยาม แต่งโดย ดนู ฮันตระกูล ซึ่งบรรยายความประทับใจของผู้แต่งเกี่ยวกับสถานที่และความเป็นไปต่างๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสายนี้ มีลีลาหลากหลายออกไป เป็นกระบวนเพลงต่าง ๆ ถึง 6 เพลงได้แก่ 1. เจ้าพระยา 2. กรุงเก่า 3. ทุ่งแสงทอง (ซึ่งเป็นเพลงเอกในเทปไหมไทย 2) 4. พระปรางค์วัดอรุณฯ 5.เห่เรือ 6.บางกอก แต่ในคอนเสิร์ต “มาลัยหลากสี” นี้จะนำมาแสดงเพียง 3 เพลง คือเพลงเจ้าพระยา ทุ่งแสงทอง และเห่เรือ โดยเฉพาะเพลงเห่เรือนั้นเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาเพื่อบรรยายความรู้สึกประทับใจของดนู ฮันตระกูล ในขณะที่นั่งชมการเห่เรือของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เพลงในช่วงสุดท้ายจะเป็นเพลงจากชุด ‘ลมหายใจกวี’ เฉพาะ 3 เพลง ซึ่งเป็นบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และของอุชเชนี ประพันธ์ดนตรีโดยดนู ฮันตระกูล เพลงแรกคือ อย่าทำน้ำไหว ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีความนิ่งและความสงบเยือกเย็นในลักษณะของลัทธิเซน เพลงที่สอง ภูหนาว ของเนาวรัตน์เช่นกัน เป็นบทที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความเมตตา โดยทั้งสองเพลงเนาวรัตน์จะเป็นผู้อ่านเอง จึงมาถึงเพลงสุดท้าย ‘ขอบฟ้าขลิบทอง’ ของอุชเชนี อ่านโดยคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน บทนี้เร่งเร้าความรู้สึกที่รุนแรง มีลีลาและอารมณ์ที่แปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา เป็นการจุดชวาลแห่งความหวังและกำลังใจในการต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย เพื่อความหมายของชีวิต ซึ่งการแสดงจะมาจบลงด้วยพลังใจในความหวังดั่งขอบฟ้าขลิบทองนั่นเอง เป็นการเสนอดนตรีอย่างมีรูปแบบและแนวคิดที่แปลกใหม่ นับตั้งแต่การลำดับดนตรีอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก ‘ดนตรีแห่งแผ่นดิน’ บทเพลงดนตรีโบราณมาสู่ดนตรีที่บรรเลงผสมการอ่านบทกวีที่มีท่วงทำนองจังหวะและภาษาน่าสนใจ

สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้จะจัดแสดงที่ โรงละครแห่งชาติโดยแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2531 เวลา 14.30 น. บัตรราคา 400, 200, 100 และ 50 บาท รอบที่สอง ในวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2531 เวลา 18.00 น. บัตรราคา 700, 500, 300, 200 และ 100 บาท โดยหาซื้อบัตรได้ที่ ดวงกลม สยามสแควร์ โทร. 251-6335-6 เอเชีย บุ๊คส์ โทร. 252-7277, 252-4373 และศูนย์สังคีตศิลป์ โทร. 282-2396 บ้านจรัล โทร. 241-3176 และเฉพาะที่โรงละครแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม เป็นต้นไป

หากจะเปรียบศิลปินที่มีส่วนร่วมในคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นดั่งดอกไม้ที่บานสะพรั่งอวดความงามแห่งสีสันและกลิ่นหอมอยู่ในวันนี้แล้ว เมื่อนำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็น ‘มาลัยหลากสี’ เป็นดนตรีที่สร้างสรรค์โดยคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ผสมผสานดนตรีที่หลากแบเข้าด้วยกัน เป็นธารสายใหม่ของดนตรีที่จะไหลขนานกันไปกับธารสายอื่นของปัจจุบัน

และเป็นก้าวแรกของธารสายนี้จึงอยากจะเชิญทุกๆ ท่านที่มีดนตรีและบทกวีในหัวใจไปซึมซับเอาความ

สุนทรีย์อีกมิติหนึ่งของการผสานจังหวะ ท่วงทำนอง และสีแสงเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะอิ่มตาอิ่มใจแล้ว ยังได้บุญกุศลอีกด้วย


ดนู ฮันตระกูล

คีตกวี และผู้กำกับฝ่ายดนตรี

เป็นงานที่เราไม่เคยทำกันมาก่อน มันมีความหลากหลาย มันกว้าง คนที่มาร่วมงานก็กว้างตาม

ไปด้วย และที่ผมตื่นเต้นก็คือการที่จะได้เรียบเรียงเพลงให้คุณจรัลเป็นผู้ร้อง โดยให้วงออเคสตร้าเป็น

ผู้บรรเลง”


ดร.ประทักษ์ ประทีปะเสน

ผู้อำนวยการเพลง

“สำหรับวงไหมไทยที่จะเล่นครั้งนี้ เราก็คัดเอามือเอกจากหลายแห่ง มีเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่มือกำลังขึ้น เราจะบรรเลงเพลงที่เป็นของวงไหมไทย เราซ้อม เราอัดเสียงกันมาแล้ว เราจึงมีความมั่นใจมาก”


จรัล มโนเพ็ชร

พิธีกร และนักร้อง

“ผมรู้สึกดีใจ ที่มีโอกาสร่วมงานกับศิลปินที่มีความสามารถที่เรียกว่ามืออาชีพ ตอนนี้ผมก็กำลังศึกษาสคริปต์อยู่ ผมจะพยายามให้ดีที่สุด เพราะผมให้ความสำคัญ และต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด”


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ผู้อ่านบทกวี

“ก็เป็นการนำเสนองานศิลปะที่ค่อนข้างจะใหม่ สำหรับในเมืองไทย ซึ่งเป็นการรวมเอากวีเข้าไป

ในบทเพลง เหมือนกับสำนวนจีนที่ว่า ‘ในภาพมีบทกวี ในบทกวีมีภาพ ’ เช่นกัน ในดนตรีมีบทกวี และในบทกวีก็มีดนตรี ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นการนำเสนอ 2 สิ่งนี้พร้อมกัน


คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน

กรรมการประสานงาน และการแสดง ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ และผู้อ่านบทกวี

“มันเกิดจากความสนใจในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปัญญาอ่อน คงจะเป็นเพราะได้เคยเห็นเด็กประเภทนี้มามากพอสมควร รู้สึกว่าความพิการทางปัญญาเป็นเรื่องที่เจ็บปวดและน่าท้อแท้ ไอ้ความ

น่าท้อแท้นั่นแหละมันก็ทำให้เกิดความผูกพันอยากช่วยเขาต่อสู้ นั่นเป็นด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่ง เป็นเรื่อง ‘กิเลส ’ ที่เกี่ยวกับ แสง สี เสียง ภาพพจน์ มันเป็นอะไรๆ ที่มันสื่อความคิด สื่ออารมณ์ แล้วก็สนใจวัฒนธรรมที่เป็นของไทยในรูปแบบเดิม และที่เป็นปัจจุบัน คุยกับคุณดนูก็เลยช่วยกันคิดรูปแบบของคอนเสิร์ตนี้ขึ้นมา พอมาเสนอโครงการหาทุนให้ศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนประภาคารปัญญา คุณหญิงโสภร เห็นดีด้วย ก็เลยได้สนองกิเลสของตัวเองได้ 2 ด้าน ” (หัวเราะ)

 

จาก : นิตยสารกรุงเทพ 30 ปีที่ 2 ฉบับที่ 30 ประจำเดือนมิถุนายน 2531

ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page