top of page

ในมิติดนตรี

โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


ภาพโดย Arul


คุณดนู ฮันตระกูล นักดนตรีชั้นครูผู้แต่งเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานไว้ในชุดเพลงของวงดนตรี ชื่อ ไหมไทย ซึ่งมีทั้งเพลงบรรเลงล้วนและเพลงร้อง บัดนี้คุณดนูและวงไหมไทยได้ผลิตเพลงชุดใหม่ออกมาแล้ว เป็นเพลงกวีชื่อชุด หยดฝนกับใบบัว


เพลงชุดนี้ได้นำบทกวีลำนำของ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน 3 บท มี หยดฝนกับใบบัว มายา และชั่วโมงหม่น ทั้ง 3 บทนี้คุณหญิงเธอเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วจึงแปลเป็นไทย ชุดนี้อยู่ในตลับแถบเสียงหน้าหนึ่ง


กับอีกหน้าหนึ่งเป็นกาพย์กลอนของผมเองจากหนังสือ เพลงขลุ่ยผิว มี 4 บทจากต้นฉบับเดิม ไม่ได้ให้

ชื่อไว้ หากในที่นี้ ใช้ชื่อตามคำขึ้นต้น มี มาซิอุปสรรค อย่าทำน้ำไหว ภูหนาว และแดดส่อง


นอกจากเพลงร้องมาซิอุปสรรคแล้ว นอกนั้นก็เป็นการอ่านบทกวีประกอบบรรเลงดนตรีที่แต่งใหม่หมดด้วยผีมือของ คุณดนู ฮันตระกูล ทั้งสิ้น



ที่จริงวงไหมไทยได้จัดแสดงดนตรีและบทกวีมาก่อนแล้วสองสามครั้ง หากหนนี้ไปอ่านกันในห้องบันทึกเสียงโดยตรงทีเดียว จึงกำหนดคุณภาพเสียงได้ดีกว่าการแสดงบนเวที


ผมเห็นว่านี่เป็นการนำเสนอบทกวีในมิติใหม่ในบ้านเรา และไม่แน่ใจว่าจะมีที่ไหนทำกันหรือไม่ นอกจากเคยได้ฟัง ริชาร์ด แฮริส อ่านบทกวีของ เช็กสเปียร์ ในแถบเสียงครั้งหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของดาราประเภทมืออาชีพ


แต่ที่จะเอาผู้แต่งมาอ่านเองอย่างเพลงกวีชุดนี้ ผมว่าจะเป็นหนแรกอยู่ทีเดียว อย่างน้อยก็ในบ้านเรานี่เอง

มีการอ่านบทกวีอยู่บ่อยครั้ง แม้ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ก็จะมีเป็นประจำในวาระต่างๆ แต่ที่จะอ่านกันอย่างโอฬาริกแบบเพลงกวีของคุณดนูหนนี้ ยังไม่เคยมาก่อนเป็นแน่


ที่ผมพร่ำพูดถึงความเป็นหนแรกอยู่นี้ ก็ด้วยเห็นความยิ่งใหญ่ของการบรรเลงดนตรี ที่คุณดนูได้ทุ่มฝีมือแต่งทุกเพลงขึ้นใหม่จากกวีทุกบทในชุดนี้


ต้องขออนุญาตพูดถึงกาพย์กลอนของตัวเองสักนิดนะ เพราะมันจะโยงไปถึงดนตรีของคุณดนู ฮันตระกูล

คืออย่างบท อย่าทำน้ำไหวนั้น ขณะผมแต่งผมดูภาพฉาย แล้วกำหนดเอาความนิ่งสงบใสจากภาพนั้นมาปรุงเป็นความสงบนิ่งใหม่ในจินตนาการ ซึ่งผสมผสานกันระหว่างประสบการณ์กับความคิด


คุณดนูแต่งเพลง อย่าทำน้ำไหว จากบทกวีเป็นทำนองบรรเลงด้วยขลุ่ยฝรั่ง คือ ฟลุต เลาเดียว คุณดนูกำหนดทำนองก็ได้ความรู้สึกสงบนิ่งเหมือนกัน กลับเป็นความสงบนิ่งใหม่ในมิติของดนตรี เป็นอันว่า

เจ้าความ 'สงบนิ่ง' นี่เป็นธรรมชาติของอารมณ์มนุษย์ที่ใครๆ สามารถเข้าถึงได้โดยวิถีต่างกันไป จะโดยจากภาพที่ผมได้ดูนั้น หรือจากถ้อยคำที่คุณดนูได้อ่าน ต่างแต่ว่าผมแปรเป็นถ้อยคำ คุณดนูแปรเป็นเสียง


ระหว่างถ้อยคำกับเสียงที่จะมาถ่ายทอดความสงบนิ่งกันแล้ว เสียงเป็นสิ่งยากสุด เพราะดูจะเป็นตรงข้ามกันอย่างยิ่ง เราจะเอาเสียงอะไรมาแทนความเงียบสงบได้เล่า


เพียงเปล่งเสียงความสงบก็สิ้น

พอแสงมาความมืดก็หายไป ทำนองนั้น


ศิลปะของการถ่ายทอดความสงบออกมาเป็นเสียง จึงเป็นความสามารถอย่างยิ่ง เหมือนช่างปั้นดินให้เป็นรูปก้อนน้ำแข็งกระนั้น


คุณดนูเล่าว่า “การอ่านบทกวีก็คือการแปลบทกวีอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อมีการเปล่งเสียง ต้นฉบับก็หายไป ผู้เขียนบทกวีมีจินตนาการหนึ่ง ผู้อ่านกับผู้ฟังก็อาจมีจินตนาการต่างไปจาก ผู้เขียนได้ ทั้งที่เป็นบทเดียวกันนั่นแหละ ผมจึงเห็นว่าการอ่านบทกวี ก็คือการแปลบทกวี ทันทีที่คุณเปล่งเสียง ความหมายเดิมจะแปรไป จะมากจะน้อยก็ตาม

"ดังนั้น เมื่อผมนำบทกวีมาแต่งเป็นเพลงดนตรี ผมจึงคำนึงถึงบรรยากาศทั้งหมดของการฟังดนตรี

จึงเหมือนฉาก เหมือนอาภรณ์เครื่องแต่งตัวของทั้งคนอ่าน และทั้งตัวบทกวีนั้นเอง”


นี่ถ้าไม่ใช่นักดนตรีก็คงเห็นภาพยากสักหน่อย


แต่ผมได้ฟังดนตรีที่คุณดนูแต่งให้บทกลอนของผมแล้ว จึงเห็นภาพและเห็นจริงตามคำของคุณดนู

เมื่อผมเขียนคำว่า


“ภูหนาว ห่มเสื้อสีขาวอยู่เสมอ”


ผมเห็นภาพภูเขาสูงมีเมฆและหิมะปกคลุมอย่างภาพ ส.ค.ส. แต่เมื่อคุณดนูแต่งเพลง ภูหนาว ด้วยดนตรี

ทั้งวงบรรเลง ผมกลับได้เห็นภูผาหลวงที่มีทั้งความสูง ความลึก และรอบๆ ด้านของภูผาใหญ่นั้น ภูเขาของคุณดนูมหึมากว่าภูเขาที่ผมเห็นมากนัก


นี่จึงเป็นอีกมิติหนึ่ง ที่ดนตรีสามารถแปรจินตนาการและให้อารมณ์ความรู้สึกที่ล้ำลึก แตกต่างไปกว่า

เท่าที่ถ้อยคำมีอยู่และจะให้ได้


มันทำให้เราได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเองไปด้วยพร้อมๆ กัน เหมือนการอ่านหนังสือและการเขียนหนังสือ คือ การอ่านความคิดนั่นเอง ต่างเพียงอ่านหนังสือคืออ่านความคิดคนอื่น เขียนหนังสือคืออ่านความคิดตัวเอง


ผมมีโอกาสได้อ่านความคิดของตัวเอง จากเพลงของคุณดนูในชุดนี้ ขอบคุณจริง ๆ ครับ


 

จาก :มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 471 วันที่ 10 กันยายน

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page