top of page

‘CATS’ และ ‘วิชาตัวเบา’

โดย อนุภพ



เห็นคำว่า “cats” หรือ “แค็ทซ์” ตอนแรกนึกว่ามีความหมายเป็น “แมวหลายตัว”


บางคนบอกว่า เป็นคำเรียกชื่อเล่นๆ ของนักร้องดังที่ชื่อ “แคทรียา อิงลิช”

แต่เอาเข้าจริง “cats” ที่จะกล่าวดังนี้กลับเป็น “โปรแกรมเรียนภาษาอังกฤษผ่านคอมพิวเตอร์” ซึ่งกำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้

ที่บอกว่าโด่งดังเพราะ องค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากใช้โปรแกรมนี้ สอน และ พัฒนาภาษาอังกฤษ ให้กับพนักงานของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ตาม

เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจจึงขอนำมาบอกต่อในคอลัมน์นี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการติดต่อทางราชการ หรือทางธุรกิจในยุค โลกไร้พรมแดน เช่นนี้

โลกยุคใหม่เป็นโลกแห่งภาษาอังกฤษโดยแท้

ใครที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ หรือรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ บอกได้ว่า โอกาสแห่งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีน้อยมาก

จึงไม่สงสัยว่า ทำไม ผู้คนจึงขวนขวายเรียนภาษาอังกฤษกันทั้งนั้น

สมัยก่อน การเรียนภาษาอังกฤษไม่ว่าจะ การพูด หรือ การเขียน มักจะต้อง เข้าเรียนในชั้นเรียน

แต่ระยะ 2-3 ปีมานี้ ค้นพบว่า ไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียนก็สามารถเรียนภาษาอังกฤษได้นอกจากนี้ เรียนในชั้นเรียนยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก

ข้อแรก เสียเวลาเดินทางไปเรียน

ข้อสอง เสียเงินทองมาก

ข้อสาม เรียนในชั้นเรียน มีการกำหนดเวลาเรียนชัดเจน ถ้าพลาดชั่วโมงไหน หมายถึงอดเรียน

และข้อสี่ เรียนร่วมกับคนอื่น บางครั้งอายอยู่เหมือนกันที่จะแสดงออกมากเกินไป

และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านคอมพิวเตอร์ โปรแกรม cats จึงเกิดขึ้น

โปรแกรมนี้เป็น การเรียนหน้าจอคอมพิวเตอร์

ผู้เรียนสามารถ ฝึกฝน ทำแบบฝึกหัด ฝึกฟัง ฝึกพูด ฝึกออกเสียง ในเวลาใดก็ได้

cats เป็นโปรแกรมที่ เรียนไป สอบไป มีการวัดผลตลอดเวลาและแบบทันทีทันใด จึงมีประสิทธิผลมากกว่าเรียนกับครูในชั้นเรียนมากนัก

สมัยก่อนการเรียนภาษาอังกฤษผ่านโปรแกรม cats จะต้องอาศัยการมองการณ์ไกลขององค์กรที่แต่ละคนทำงานอยู่เป็นสำคัญ องค์กรซื้อให้พนักงานเรียน ว่างั้นเถอะ

แต่ว่า ณ เวลานี้ ไม่จำเป็นต้อรอความกรุณาขององค์กรอีกแล้ว เพราะ ทุกคนสามารถเรียนได้โดยจ่ายเงินเองในราคาที่สมเหตุสมผล และเรียนผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ไหน ๆ วันนี้เป็น วันแห่งการแนะนำสิ่งดี ๆ แล้ว ขอแนะนำหนังสือชื่อว่า “วิชาตัวเบา” สักหน่อยเถอะ

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

ในเล่มมี คำนิยม ของคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ รงค์ วงษ์สวรรค์ นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมศานติ์ (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต) จิระนันท์ พิตรปรีชา และ แพทย์หญิงคุณหญิง

พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ด้วย

อ่านแล้ว บอกตามตรงว่า ต้องเชียร์ ให้ได้อ่านโดยทั่วกัน เพราะ พออ่านเสร็จแล้ว รู้สึกตัวเบาจริง ๆ สมดังชื่อของหนังสือ

ขอนำบางส่วนของหนังสือมาเขียนไว้ ณ ที่นี้ เป็น ออร์เดิร์ฟ ให้กับผู้ที่อยากตัวเบาทั้งหลาย

คุณหญิงจำนงศรี เขียน เกี่ยวกับ “ข้อดีของขี้ลืม” ว่า...มองในแง่ดีอีกแง่ จะเห็นว่าการลืมช่วยปัดเรื่องจุกจิกรกสมองให้หลุดร่วงไป ช่วยให้ความคิดโปร่ง ใจสบาย เพราะสมองที่แออัดด้วยเรื่องเล็กเรื่องน้อยก็เหมือนห้องที่มีสัพเพเหระมากมายเข้าไปเบียดเนื้อที่เก็บของมีค่า จะหยิบฉวยของดีๆ มาใช้ก็จะไม่รวดเร็วว่องไว และถ้าช่างจำ แบบจำไม่เลือก นานเข้าอาจกลายเป็นคนจู้จี้น่ารำคาญไปได้ง่าย ๆ ซึ่งก็จริงแฮะ

คุณหญิงจำนงศรี เขียน เกี่ยวกับ “ทำใจให้รับความจริง” ว่า...การ “ทำใจ” ให้รับความเป็นจริง จะเรียก ความมั่นคงของจิตใจ กลับคืนมา ทำให้สามารถ หันหลังให้อดีตมามองปัจจุบัน เพื่อจะได้ก้าวย่างไปบนเส้นทางอนาคต อย่างสง่างาม


การ “ทำใจ” ไม่เพียงแค่สมานรอยแผล แต่จะนำไปสู่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ความพอใจในความเป็นตัวของตัวเอง...ซึ่งก็จริงอีกแหละ และ คุณหญิงจำนงศรี เขียนเกี่ยวกับ “ใจน้อย น้อยใจ” ว่า...คนใจน้อย ไม่ค่อยจะบอกตรงๆ นี่คะ ว่าน้อยใจเรื่องอะไรปล่อยให้ต้องค้นหา เหมือนค้นขุมทรัพย์ลายแทง...ซึ่งจริงอีกเช่นกัน

ใครที่คิดมากจนตัวหนัก อ่านหนังสือ วิชาตัวเบา ของคุณหญิงจำนงศรีแล้ว ตัวจะเบาขึ้นอีกจมเลย ถ้ามีเวลาหาซื้อมาอ่านเสียแล้วจะไม่รู้สึกเสียใจแต่อย่างใด

 

จาก : เดลินิวส์ 6 ตุลาคม 2546

ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page