top of page

วันนี้ ผู้หญิงทำร้ายผู้หญิงด้วยกันเอง

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


ไพลิน รุ้งรัตน์





ชื่อของ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ หรือ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เดิมเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะกวี นักเขียน นักแปล และนักอ่านบทกวีทั้งไทยและเทศ ที่มีบทบาทโดดเด่นเป็นที่ประทับใจในวงการวรรณกรรม ในขณะเดียวกันในแวดวงสังคมโดยทั่วไปก็รู้จักชื่อเสียงของคุณหญิงดี ในฐานะผู้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ “เรือนร่มเย็น” อีกมูลนิธิหนึ่งที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเด็กผู้หญิงให้พ้นจากภัยต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน ชื่อเสียงของคุณหญิงกำลังเกรียวกราวจากหนังสือชีวประวัติของ

ตระกูลหวั่งหลี ที่มีชื่อว่า “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” เนื่องจากเป็นสารคดีประวัติที่มีลีลาการเขียนเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เพราะผู้เขียนไม่เพียงเป็นผู้เล่าเรื่องราวตามที่ได้ยินได้ฟังเท่านั้น หากยังได้สอดแทรกความเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้งลงไปในการเล่านั้นๆ ด้วย

ชีวิตของบรรพบุรุษในตระกูลหวั่งหลี ในสายตาของคุณหญิงจำนงศรี ที่เป็นญาติรุ่นหลังๆ เป็นดุจนาวากลางมหาสมุทร แต่ในขณะเดียวกัน หากบรรพบุรุษได้มีโอกาสมองเห็นชีวิตของคนรุ่นหลานเหลนอย่างคุณหญิงจำนงศรี ท่านเหล่านั้นก็คงบอกว่า ชีวิตของคุณหญิงก็เป็นดุจนาวากลางมหาสมุทรชีวิตเช่นกัน คลื่นลมต่างๆ ในสมุทรชีวิตได้หล่อหลอมผู้หญิงรูปร่างผอมบางคนนี้ จนกลายเป็นผู้หญิงเก่งที่แข็งแกร่งในการสู้ชีวิต และธรรมะในเรือชีวิตก็ได้ตกแต่ง และกล่อมเกลาจิตใจของเธอจนงดงามอ่อนโยน เต็มไปด้วยความเมตตาและความเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง

มุมมองที่เราเลือกสนทนากับคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ คือ เรื่องของผู้หญิง ซึ่งคุณหญิงมีความเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะส่วนหนึ่งเธอได้ใช้ความเป็นผู้หญิงในตัวเธอ ทั้งในความเป็นแม่และความเป็นภรรยาเป็นตัวอย่างในการเฝ้ามองชีวิต


ผู้หญิงทำร้ายผู้หญิง

กระแสคลื่นปฏิกิริยาที่มีต่อกรณีผู้นำสหรัฐอเมริกา ทำให้คุณหญิงมีความคิดเห็นว่า “ดิฉันมองในมุมของมนุษย์ จากการสังเกตกรณีทำนองนี้ ก็เห็นความแปลกอย่างหนึ่งว่า คนที่เบลมผู้หญิงมักจะเป็นผู้หญิง แต่ดิฉันมองว่า ทั้งเพศพ่อเพศแม่ต่างก็มีสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ แต่ในบ้านเราผู้หญิงมักถูกติเตียนมากกว่าผู้ชาย เมื่อมีปัญหาประเภทนี้ ผู้หญิงไทยที่เห็นใจคลินตันมีเยอะมาก เขาบอกว่าก็ผู้หญิงมายั่วนี่ ซ้ำยังว่าเพราะเมียเก่ง เมียแข็ง คลินตันเลยเป็นอย่างนี้ เป็นอันว่าผู้หญิงสองคนก็โดนว่าทั้งคู่ เลวินสกี้โดนหนักที่สุด ทำไมเราไม่มองกลับไปว่าเธอเป็นเด็กสาวโสดจากครอบครัวที่พ่อแม่แตกแยก หวั่นไหวง่าย ขาดความมั่นคงทางจิตใจ อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ทำงานใกล้กับผู้ชายที่มีอำนาจที่สุดในโลก ซ้ำยังขึ้นชื่อว่าหล่อและมีเสน่ห์มาก ตอนนั้นเธออายุแค่ 21 เป็นลูกเราเราก็คงมองว่าเด็กอาจยังไม่ทันจบปริญญาตรี แต่คลินตันอายุ 50 กว่า แต่งงานมีลูกแล้ว เป็นผู้นำประเทศ เป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นผู้ uphold กฎหมาย อยู่ในสายตาคนทั้งประเทศ ไม่ถือว่าน่าติเตียนกว่าเด็กสาวโสด ที่เพิ่งจะบรรลุนิติภาวะได้ไม่นานหรือ เรื่องภรรยาน้อยนี่

ผู้หญิงควรต้องโทษสามีตัวเอง ไม่น่าไปทำร้ายผู้หญิง”

กรณีที่คุณหญิงจำนงศรีรู้สึกว่าผู้หญิงขาดเมตตากับผู้หญิงมากก็คือ คำสัมภาษณ์ของผู้หญิงชั้นนำในนิตยสารชั้นนำของไทยที่กล่าวเห็นใจคลินตันที่นอกใจภรรยา แต่ตำหนิรสนิยมคลินตันว่า “เลือกผู้หญิงที่ดูไม่ได้อย่างเลวินสกี้” คุณหญิงบอกว่า “นี่คือการทำร้ายของผู้หญิงต่อผู้หญิง” เธอว่า “ผู้หญิงคนไหนลองไปมีความอื้อฉาวอะไรสักอย่าง คนที่นินทาว่าร้ายทันทีไม่ใช่ผู้ชายหรอกนะ แต่เป็นผู้หญิงด้วยกัน”

คุณหญิงวิเคราะห์เล่นๆ ว่า “ความไม่มั่นใจในตัวเองหรือเปล่า ที่ทำให้ต้องยกตัวเองข่มคนอื่น”

เมื่อเครื่องร้อนแล้วคุณหญิงก็หยุดไม่ได้“ตามกฎหมายไทย ผู้หญิงนอกใจสามีแม้ครั้งเดียว สามีมีสิทธิ์ฟ้องหย่าได้ แต่ถ้าสามีนอกใจภรรยาโดยไม่ได้ยกย่องและเลี้ยงดูผู้หญิงอีกคน...เยี่ยงภรรยา...นั้นไม่ถือเป็นประเด็นหย่า นี่มันคืออะไร”

คุณหญิงบอกว่า “เป็นอันว่านอกใจภรรยาได้ ถ้าไม่ยกย่องเลี้ยงดูผู้หญิงอีกคนหนึ่ง เป็นอันว่าผู้หญิง

เดือดร้อนทั้งคู่ แต่ภรรยาส่วนใหญ่ยกโทษให้สามีได้ แต่กลับตามราวีผู้หญิงที่ไม่ถูกยกย่องเลี้ยงดู...เยี่ยงภรรยา...นั้น กฎหมายระบุนี่คะว่าต้องพิสูจน์ได้ว่า ‘เยี่ยงภรรยา’ ถึงจะผิด”

ผู้ชายมักคิดว่า ครอบครัวก็ไม่ทิ้ง ผู้หญิงคนนี้ก็จะเอาหรือเปล่า ผู้สัมภาษณ์เริ่มสนุกด้วยคุณหญิงหัวเราะพยักเพยิด


การเลี้ยงดูลูกสาวอย่างผิด ๆ

คุณหญิงเปิดความในใจเพื่อผู้หญิงอย่างตรงไปตรงมา “ที่ผ่านมาผู้หญิงไทยถูกเลี้ยงมาให้รู้สึกว่าความสัมพันธ์ทางเพศนั้นเป็นเรื่องน่าละอาย หลายคนก็เลยติดตัวมาว่าการเป็นกุลสตรีจะต้องไม่ชอบหรือพอใจในเรื่องนี้ ทำให้ชีวิตครอบครัวเกิดปัญหาได้”

“ในชีวิตเราถ้าจะทำอะไร ก็ควรทำดีที่สุดและมีความสุขกับสิ่งที่ตัวทำ ถ้าผู้หญิงจะแต่งงานก็ควรจะต้องรู้ว่าเรื่องนี้เป็นความสุขส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัว แต่การอบรมที่ผิดพลาดทำให้เขาไม่สามารถแสดงออก และกลายเป็นการปลูกฝังลึกๆ ให้ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นอยากตั้งคำถามว่า เราสอนลูกสาวเราบนพื้นฐานของความเป็นจริงหรือเปล่า และเรามีส่วนทำให้ลูกสาวของเราไม่มีความสุขเพราะสามีไปมีผู้หญิงอื่นหรือเปล่า ”

คุณหญิงช่วยตัดสินให้ในที่สุดว่า “แต่นั่นแหละ ถ้าผู้ชายตัดสินใจที่จะแต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งแล้วเขาก็ต้องยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเธอด้วย เราควรจะปรับทัศนคติเสียใหม่ว่า ถ้าเราเลือกจะทำอะไร เราต้องพิจารณาแล้วว่าเราต้องทำมันด้วยความสุข เพราะถ้าเราทำอะไรด้วยความไม่สุขนั้น มันดีไม่ได้ และชีวิตแต่งงานก็ก็คือส่วนนี้ด้วย เพราะมันเป็นการตอบสนองและการแก้ปัญหาเรื่องสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ของมนุษย์ให้อยู่ในกรอบและระบบ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำให้กรอบและระบบนั้นไปด้วยดี เราก็จะต้องเข้าใจและมีความรับผิดชอบในสิ่งเหล่านี้ ”


ผู้หญิงทุกคนขาดทุน


มีข้อแนะนำไหม มันจะคลี่คลายไปอย่างไร

“ก่อนอื่นก็ต้องแก้ไขที่ทัศนคติของตัวพ่อแม่ก่อน เพราะพ่อแม่เองก็ยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ชายมักมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ประเภทว่า ‘ภรรยาจะต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัว เป็นกุลสตรี ก็เลยต้องหาความสนุกนอกบ้าน’ ปัญหานี้มันเหมือนกับกฎหมายหย่า มันเป็นประเด็นเดียวกัน คือผู้หญิงทั้งสองฝ่ายขาดทุนทั้งคู่เลย ผู้หญิงที่สามารถตอบสนองได้อย่างดีก็ถูกดูหมิ่นว่าไม่เหมาะที่จะเป็นเมีย ผู้หญิงที่เหมาะเป็นภรรยา รักแต่อยู่ไม่สนุก สรุปแล้วผู้ที่ได้กำไรมีคนเดียว คือ ผู้ชาย”


ทัศนคติที่ผิดพลาดนี้ได้ถูกปลูกฝังมาโดยตลอดในการเลี้ยงดูเด็ก และเมื่อโตขึ้นผู้ได้รับการปลูกฝังนั้นก็นำเอาทัศนคตินั้นไปก่อปัญหาในสังคมโดยไม่รู้ตัว คุณหญิงจำนงศรีกล่าวถึงงานโฆษณาชิ้นหนึ่งในจอโทรทัศน์ที่มีเด็กผู้หญิงเป็นพรีเซ็นเตอร์แบบหญิงสาว โดยร้องอุทธรณ์ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์


“มีโฆษณาประเภทที่ยั่วยุให้เกิดอารมณ์ที่เป็นภัยทางเพศต่อเด็กอยากให้มีใครหยุดเรื่องนี้ ในขณะนี้เรามีปัญหามากเรื่องจรรยาบรรณในการโฆษณา แล้วดิฉันก็สงสัยว่าทำไมแม่ของเด็กจึงยอมปล่อยให้ภาพและการเคลื่อนไหวออกมา คิดดูว่าเด็กเป็นสาวซักสิบหกสิบเจ็ดปีจะรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับภาพของเธอ นี้เป็นการบ่อนทำลายผู้หญิงตั้งแต่ยังเป็นทารกเลย” คุณหญิงเล่าอีกว่า

“มันเคยมีในโฆษณาทางวิทยุเหมือนกัน แต่อันนั้นเป็นเสียงผู้หญิงพูด เสียงหวานในทำนองว่าจะมี

ผู้หญิงไว้ให้คุณกดขี่ ไว้ทำกับข้าวให้คุณ ไว้ให้คุณข่มขืนได้อย่างไร ถ้าคุณไม่ให้เกียรติผู้หญิง เป็นโฆษณาเครื่องดื่ม มีผู้หญิงร้องเรียนไปทางคุณหญิงสุพัตราแล้วก็ถูกระงับไป สื่อมีบทบาทมากนะคะ ขณะนี้เรากำลังพูดถึงว่า สื่อมีส่วนทำให้เกิดการทำร้ายเด็กทางเพศ บางครั้งออกมาในรูปของการโฆษณาชนิดที่เรียกว่ายั่วยวนเลยละ”


รวมทั้งเพลงหรือการร้องการเต้นอะไรที่ปรากฏทางจอโทรทัศน์หรือทางวิทยุด้วย


คุณหญิงรับคำหนักแน่น “ใช่”


ทุกข์ที่สุดในครอบครัว


กรณีปัญหาในครอบครัวที่ผู้หญิงรับเคราะห์หนักคือเรื่องการถูกทุบตี คุณหญิงจำนงศรี มองปัญหานี้อย่างแตกต่างว่า

“ดิฉันอาจจะไม่ได้ศึกษาให้กว้างพอ หรือละเอียดทุกแง่ทุกมุมแต่ในส่วนที่ดิฉันเห็นและเข้าถึง ดิฉันเห็นว่ามันเป็นความทุกข์สาหัสของผู้หญิงที่ถูกทุบตี ทุกข์มากด้วยของผู้ชายที่เป็นผู้ทุบตี และของลูกที่อยู่ในครอบครัวมีการทุบตี ชีวิตเกิดขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป แต่ละนาทีที่ผ่านไปเอากลับคืนมาไม่ได้ มันเทคแล้ว

เทคอีกหลายๆ หนเหมือนถ่ายหนังหรือละครทีวีไม่ได้ น่าเสียดายไหมที่แต่ละนาทีหรือชั่วโมงผ่านไปอย่างเต็มไปด้วยความทุกข์ ด้วยการทำลายความสุขในชีวิต อย่างเรียกคืนไม่ได้และมันก็ยังส่งผลถึงเด็ก ทำให้เขา ติด อะไรบางอย่างไป มีแผลอยู่ในใจ ถ้าไม่รักษาแผลให้หาย เขาก็มักจะโตขึ้นเป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ มันไม่มีที่สิ้นสุด”


คุณหญิงยืนยันว่า “ผู้ชายที่ทุบตีภรรยาไม่ได้ความสุขจากการกระทำของเขา นอกจากว่าเขาจะมีจิตใจอำมหิตผิดปกติโดยทั่วไป เขาจะทำไปด้วยความกลัวที่แฝงอยู่ในใจเขา กลัวสูญเสียอำนาจ กลัวควบคุมคนที่เขาคิดว่าเขารักไม่ได้ เพราะเด็กผู้ชายถูกอบรมมาให้รู้สึกว่าตัวต้องแข็งแรงมีความเป็นผู้นำ ต้องมีอำนาจควบคุม เมื่อเขาโตขึ้นเขาอาจตกอยู่ในสภาวะที่เขากลัวการสูญเสียอำนาจควบคุม หรือกลัวความเสียหน้า เสียความเป็นผู้นำ วิธีพิสูจน์โดยไม่รู้ตัวอาจจะเป็นการรุนแรง ทำร้ายคนใกล้ชิด คนที่รักที่สุด ในเรื่องนี้ดิฉันสงสารผู้หญิงที่สุด แต่ก็สงสารผู้ชายด้วย และสำหรับผู้หญิงที่ถูกผู้ชายทุบตีแล้วยังอยู่ด้วยต่อไป ดิฉันคิดว่าเธอกลัวที่จะแยกออกไป กลัวที่จะอยู่คนเดียว กลัวสังคม กลัวหลายๆ อย่าง และลึกๆ ก็อาจเข้าใจและผูกพันผู้ชาย ถึงได้อยู่ต่อไป


ในเมื่อมันเป็นความทุกข์ของทุกฝ่าย ทำอย่างไรจะไม่ให้มันเกิดขึ้น เพราะคนที่ทำเองก็ทุกข์ เกิดความละอายและรังเกียจตัวเองลึกๆ แต่ความละอายและรังเกียจตัวเองนั้น กลับทำให้การทุบตีครั้งต่อไปนั้นแรงขึ้นไปอีก เพราะใจเขามันไปโทษว่าเพราะยายคนนี้เป็นเหตุ”


หนทางแก้ไขที่คุณหญิงจำนงศรีเสนอแนะคือ


“ถ้าเราสามารถเอาทักษะของความเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง เข้าใจธรรมชาติของคน ของความทุกข์ ความสุข ความเจ็บปวด ความหึงหวง ฯลฯ ถ้าเราทำให้เด็กเข้าใจได้โดยไม่ใช่จากการพร่ำสอน ซึ่ง

น่าเบื่อและซ้ำซาก ผ่านกิจกรรมที่สร้างสติและทำให้เกิดการมองตน ก็จะทำให้เขาคนที่จะเติบโตขึ้นอย่างรู้เท่าทันตัวเองได้

ผู้ชายกี่คนที่มองเข้าไปในตัวเองว่าเขายิ่งทุบตี เมียก็ยิ่งกลัว กลัวนี้มันไม่ห่างจากเกลียดนะ ใจเขาเอง (ผู้ชาย) ก็ยิ่งไม่มีความสดชื่นเบิกบาน เพราะฉะนั้น ถ้าหากมีการฝึกมองตนในวัยเด็กจึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง”




เขาคือเรา: มุมมองใหม่ในชีวิต


ด้วยความเข้าใจในชีวิต ด้วยความละเอียดอ่อนทางจิตใจที่มีอยู่เป็นทุนเดิม คุณหญิงสรุปและแนะนำว่า

“ดิฉันคิดว่าทั้งหมดนี้มาจากการศึกษา การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม ใครก็ตามที่เป็นคนทำไม่ได้มองเข้าไปในใจผู้อื่นเลยว่า เขาก็มีจิตวิญญาณ มีความรัก มีความโกรธ มีชีวิตเหมือนกับเรา ลองคิดบ้างสิว่า

เราก็คือเขา เขาก็คือเรา”


“ดิฉันทำเรื่องช่วยเหลือเด็กผู้หญิง ดิฉันบอกเสมอเลยว่า อย่าบอกว่านั่นเป็นเด็กภาคเหนือ หรือเด็กชาวเขา หรือเด็กอะไร ดิฉันมองว่ามันเป็นเพียงความบังเอิญทางกำเนิด accident of birth ที่เราไม่ได้เกิดเป็นเขาและเขาไม่ได้เป็นเรา เขามีเลือดเนื้อ มีความคิด มีสมอง มีอวัยวะทุกอย่างเหมือนเราหมด เขาก็คือเรา เราก็คือเขา เพียงแต่ความบังเอิญเท่านั้นที่ทำให้เรามาอยู่ตรงนี้ และเขาไปอยู่ตรงนั้น คือนี่ก็พูดเหมือนไม่ใช่พุทธ คือพุทธก็จะบอกว่าเป็นกรรมของเขาที่ไปเกิดตรงนั้น เราทำกรรมดีก็มาเกิดตรงนี้ ถ้าคิดอันนี้เมื่อไหร่ เราก็จะเห็นเขาเป็นเขา คือพวกทำกรรมไม่ดีแล้วรับกรรมไม่ดีแล้วเราก็คือพวกกรรมดีแล้วมารับกรรมดี อันนี้เป็นการมองที่ขาดเมตตา คือดิฉันรู้สึกเลยว่า ตายนี่ เรามาอยู่ตรงนี้ เราไม่ได้ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าเราเป็นอย่างนั้นล่ะ มันต้องหัดคิดตั้งแต่เด็ก เราจะใช้อะไรในแบบกิจกรรมหรือในแบบการศึกษา เพื่อทำให้เด็กได้คิด ได้มองชีวิตอย่างเข้าใจและอย่างมีเมตตา


เวลาเราบอกว่า คนเขามีค่านิยมผิด เขามีทัศนคติที่ผิด เขาขายตัว เราพูดอย่างนั้นเราไม่ได้ช่วยเขา ถ้าเราช่วยจริงเราต้องหาวิธีใดที่จะทำให้เขาเห็นด้วยตัวเอง หรือมีความคิดของตัวเองขึ้นมาจากข้างในจากสติของตัวเขาได้อย่างไร ถ้าเราคิดจะช่วยเขาลองหาวิธีสิว่า เราจะสร้างอันนี้ขึ้นมาได้อย่างไร”


คุณหญิงได้เล่าเรื่องการทำกิจกรรมกับนักเรียนเมื่อประมาณสิบปีมาแล้ว เพื่อให้เด็กได้ค้นพบกระบวนการเรียนรู้ที่ออกมาจากข้างในตัวของเขาเอง โดยที่ไม่ใช่จากระบบที่มีคนจัดเอาไว้ให้เขา โดยพื้นฐานตั้งอยู่บนความเข้าใจเรื่องการที่ตนเองเป็นเด็กเรียนเลว เพราะตอบคำถามตามที่ครูกำหนดไม่ได้ ต้องถูกทำโทษสารพัดแบบ โดยคุณหญิงได้คิดรูปแบบกิจกรรมกับเด็ก ที่ทำให้เด็กได้ทดลองวิธีการเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง โดยต้องการให้เด็กเห็นว่า เหตุและผลอาจจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป การทำกิจกรรมทดลองนั้นทำกับเด็กประมาณ 16 คน


การมองตัวเอง


คุณหญิงจำนงศรีทำงานได้หลายอย่าง เขียนหนังสือได้ เขียนเรื่องประวัติศาสตร์ได้ แปลหนังสือได้เขียนบทกวีได้ ออกแบบเครื่องเงินได้คุณหญิงบอกว่า


“คือดิฉันมองว่า ทั้งหมดนั้นก็คือเราย้อนเข้าไปในตัวเราเอง แล้วเราก็เอาสิ่งที่เราเข้าใจ ที่เราค้นพบนั้นออกมา ดิฉันเคยอธิบายเสมอว่า เวลาเขียนกวีนิพนธ์นี่มันเป็นการเดินทางของดิฉัน แต่เป็นการเดินทางเข้าไปข้างใน แต่สำหรับการเขียนบทความหรือรายงานต่าง ๆ มันเป็นการเดินทางออกข้างนอก


แต่ ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร เราเรียกมันว่าเป็นเส้นทางที่เดินข้างนอก แต่ในขณะเดียวกันนั้นมันก็เดินเข้าไปข้างในด้วย และก็มีตรอก ซอย วิ่งไปวิ่งมาเข้าหากัน (หัวเราะ) ตลอดเวลา หนังสือเล่มนี้สำหรับดิฉันจึงเป็นมิติใหม่ และดิฉันก็ conscious เลยนะว่าข้างนอกมันส่งผลกระทบข้างในอย่างไร ข้างในมันคิดอย่างไรมันจึงได้ไปค้นข้างนอก เพราะฉะนั้น ถ้าตีความเงียบ ๆ มันก็คือเรื่องของสติ เรื่องของการมองตัว ซึ่งเป็นหลักพุทธ สติไม่ใช่แค่ปัจจุบันแต่เป็นสติในการรู้ปัจจุบันในตัวเอง เมื่อมันมากระทบภายนอก

เพราะฉะนั้นแล้วทฤษฎีนี้ก็คือทฤษฎีที่ใช้ในกิจกรรมที่ทำกับเด็ก แต่การทำนั้นล้มเหลวเพราะเด็กกลัวที่จะแสดงออก อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ดิฉันพยายามจะพิสูจน์ให้เด็กเห็นว่า เพราะเราถูกสั่งให้เข้าใจอยู่เรื่อย เราจึงกลัวที่จะแสดงอะไรที่เราคิดว่าไม่เข้าใจ แต่จริง ๆ แล้วผัสสะของเรามันจะกระทบแล้วมันจะเกิดขึ้นเสมอ แต่ตอนนั้นดิฉันไม่ได้รู้หลักนี้ ไม่ได้เรียนพุทธศาสนาในรายละเอียดด้วย แต่เป็นการย้อนเข้าข้างในดูตัวเราเอง นี่คือหลักที่ดิฉันเอามาใช้ในการทำกิจกรรมกับเด็ก”

คุณหญิงได้นำเอาแนวทางการสร้างกิจกรรมนี้มาช่วยพัฒนาเด็กด้อยโอกาสด้วย แต่ก็ยังทำได้ไม่มากนัก แต่การพัฒนากิจกรรมนี้ให้เป็นแนวทางที่คนอื่นสามารถปฏิบัติได้ด้วยกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

คุณหญิงจำนงศรีไม่เพียงแต่มีแนวความคิดเรื่องการมองตัวตนและเรื่องความเป็นผู้หญิงอย่างแหลมคม

น่าสนใจเท่านั้น หากแต่ยังได้ปฏิบัติอย่างเป็นจริงด้วย โดยการจัดตั้งมูลนิธิ “เรือนร่มเย็น” ขึ้น ที่จังหวัดเชียงราย มีการพิจารณาจากสภาพแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ เลือกสรรรับเอาเด็กหญิงวัย 11-17 ปี ที่อยู่ในระยะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือการถูกล่อลวงไปขายตัว หรือต่อการติดยาเสพติด เข้าอยู่ใน “เรือนร่มเย็น” ในปัจจุบันมีเด็กหญิงในเรือนร่มเย็นอยู่ประมาณ 25 คน

เรือนร่มเย็น ตั้งอยู่กลางท้องทุ่ง ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำสิบสามกิโลเมตร เด็กหญิงที่มาอยู่ที่เรือนร่มเย็นจะได้รับการเลี้ยงดู ให้การศึกษาอบรมพัฒนาจิต พาไปทัศนศึกษาเพื่อการรู้สำนึก ปัจจุบันมีคนทำงานประมาณ 5 คน และคาดว่าการนำเด็กมาอยู่ที่เรือนร่มเย็น เพื่อการพัฒนาตัวตนของเขา ควรใช้เวลาเพื่อจะรู้ผลอย่างน้อยสองปี คุณหญิงบอกว่า

“คาดว่าเมื่อเขาไปจากเรือนร่มเย็นแล้วทักษะในการมองตนนี้จะยังอยู่ในตัวของเขา การเข้าใจว่าความสุขความทุกข์มันมีอยู่ในตัวเขา เรียกว่าดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าดิฉันจะทำให้คนพวกนี้เป็นเทวดาไปได้นะ”


ปัญหาหลักของมูลนิธิก็คือปัญหาของสังคมโดยรวม นั่นคือการหาทุนให้มูลนิธิ แต่ก็หาทุนให้แม่บ้านไปด้วย


“ตอนนี้เราช่วยแม่บ้านโดยรอบด้วย โดยการให้เขาผลิตงานประดิษฐ์ หรือเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อหารายได้ เช่น จัดทำถุงผ้าให้การประชุมต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องการทำขนม แม่บ้านก็จะได้เงินค่าแรง อีกส่วนหนึ่งก็เป็นรายได้ของมูลนิธิ”

ด้วยเหตุที่คุณหญิงคิดว่าสักวันหนึ่งตนเองอาจจะหมดแรง เพราะปลายปีนี้คุณหญิงก็จะครบหกสิบปี แม้มูลนิธิจะได้เงินช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศบ้าง แต่ไม่พอเพียง คุณหญิงจึงจัดตั้งบริษัทร่มเรือนขึ้น โดยใช้เงินส่วนตัว และยกกำไรให้กับมูลนิธิโดยมีเงื่อนไขว่า แม้ทายาทก็รับผลประโยชน์ใดๆ ไม่ได้ บริษัทนี้จึงก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเรือนร่มเย็นโดยเฉพาะ โดยมีกิจการต่างๆ หลากหลาย เช่น การขายเครื่องเงิน การรับจ้างทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งการรับจัดสัมมนาจัดประชุมต่างๆ ซึ่งบรรดาผู้ว่าจ้างก็จะได้มีโอกาสทำการกุศลไปด้วย


“ใครที่อยากช่วยผู้หญิง อยากช่วยเรือนร่มเย็นก็มาว่าจ้างเราได้” คุณหญิงพูดเสียงอ่อน ๆ แต่จริงจัง


ผู้หญิงต้องเปลี่ยน

ก่อนจากลากัน คุณหญิงได้สรุปอย่างหนักแน่นอย่างมีความหวังว่า “สังคมมันต้องเปลี่ยน และสังคมที่ต้องเปลี่ยนนั้นคือสังคมผู้หญิงด้วยกัน ผู้หญิงนั่นแหละ คนไหนที่เกาะอยู่กับสามีได้ ก็จะดูถูกผู้หญิงที่หย่า หาทราบไม่ หรือไม่พยายามที่จะเข้าใจเลยว่า สถานการณ์หรือสถานภาพนั้นมันเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเพียงฉันเป็นเขา และเขาเป็นฉันเมื่อไหร่ ผู้หญิงจะคิดเป็นทันที”


เราลาจาก คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เจ้าของนาวาชีวิตลำน้อยผู้ลอยโต้คลื่นลมอย่างมีสติมาด้วยความรู้สึกประทับใจ เพียงแต่ผู้หญิงจะเห็นใจผู้หญิงด้วยกันให้มากอีกหน่อย และผู้ชายจะเข้าใจผู้หญิงมากขึ้นอีกสักนิด โดยการมองตนอย่างมีสติ สังคมของผู้หญิงก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน

 

จาก: คอลัมน์ ผู้หญิงวันนี้ นิตยสารสกุลไทย ปีที่ 45 ฉบับที่ 2316 ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2542

ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page