จอมยุทธ์ผู้เกรียงไกร
ในยุทธจักรธนาคารพาณิชย์
โดย ธนวัฒน์ ทรัพไพบูลย์
เป็นความจริงที่ว่า สรรพสิ่งประกอบขึ้นด้วยด้านสองด้านเสมอ คือ ในสิ่งที่ดี ก็มีสิ่งที่ไม่ดีดำรงอยู่และในสิ่งที่ไม่ดีก็มีสิ่งที่ดีดำรงอยู่ เช่นเดียวกับสงครามมิได้หมายถึงภัยพิบัติและความสูญเสียเพียงด้านเดียว หากแต่ว่าเพราะผลของสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมือง และทางสังคมมากมายหลายประการ
ดังจะเห็นได้จากในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ธุรกิจการเงินการธนาคารของไทยก้าวกระโดดครั้งสำคัญและครั้งใหญ่ คือภายในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี จากเดือนมกราคม ปี 2485 ถึงเดือนสิงหาคม ปี 2488 อันเป็นเดือนและปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อค้าคหบดีและขุนนาง รวมทั้งนักการเมือง ได้มีการรวมตัวกันก่อตั้งกิจการธนาคารพาณิชย์ถึง 5 ธนาคารด้วยกัน
นั่นก็คือ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี 2485 ธนาคารมณฑล จำกัด ก่อตั้งขึ้น แต่ต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2509 ธนาคารนี้ผนวกรวมเข้ากับธนาคารเกษตร จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารกรุงไทย จำกัด
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2487 ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด ก่อตั้งขึ้นพร้อมกันกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมในปีเดียวกันและในปีถัดมาซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 2 เมษายน 2488
ในปีเดียวกันนี้ ผู้นำตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 3 ที่มี “โชติ ล่ำซำ” เป็นผู้นำ ก็ได้ขออนุญาตจัดตั้ง “ธนาคารกสิกรไทย จำกัด” ขึ้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2488 นับเป็นธนาคารที่สองของตระกูลล่ำซำ หลังจากที่ธนาคารแรก คือ ธนาคารก้วงโกหลง ต้องล้มเลิกกิจการไปในปี 2480 ดังกล่าวแล้ว
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด เริ่มต้นขึ้นด้วยเงินทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท สำนักงานใหญ่เป็นตึกแถวสามชั้นห้าคูหา ตั้งอยู่แถวถนนเสือป่า และในวันก่อตั้งปรากฏว่ามีพนักงานเพียง 8 คน เท่านั้น
ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นที่สำคัญคือ ตระกูล “ล่ำซำ” ถือหุ้น 1,000 หุ้น ยูมิน จูตระกูล ถือหุ้น 520 หุ้น ฮ้อนฝ่า แซ่เล้า ถือหุ้น 400 หุ้น กุหลิน แซ่หยุ่ง ถือหุ้น 300 หุ้น สุธน จึงแย้มปิ่น ถือหุ้น 200 หุ้น กำธร วิสุทธิผล ถือหุ้น 200 หุ้น เลียบ รักตะกนิษฐ์ ถือหุ้น 50 หุ้น สงวน จูฑะเตมีย์ ถือหุ้น 10 หุ้น ทองเปลว ชลภูมิ ถือหุ้น 10 หุ้น โดยมี โชติ ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก
ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ขณะที่โชติ ล่ำซำ รวบรวมเพื่อนฝูงพ่อค้านักธุรกิจชาวจีนประสานเข้ากับบุคคลในส่วนของคณะราษฎรอย่างเช่น ทองเปลว ชลภูมิ และสงวน จูฑะเตมีย์ เพื่อก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ นาม ธนาคารกสิกรไทย จำกัด นั้น ปรากฏว่าบุตรชายคนโตของเขาคือ “บัญชา ล่ำซำ” เพิ่งอายุได้ 21 ปี และกำลังเป็นนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แน่นอนว่าในบรรดาสมาชิกและผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 3 มีเพียง เกษม ล่ำซำ น้องชายคนที่สองของโชติ ล่ำซำ เท่านั้น ที่ไปศึกษาวิชาการธนาคารและทำงานธนาคารอยู่ในประเทศอังกฤษ
บัญชา ล่ำซำ เคยกล่าวถึงตระกูลล่ำซำกับธนาคารกสิกรไทย ดังปรากฏอยู่ในนิตยสาร “ดอกเบี้ย” ฉบับหนึ่งว่า
“ความจริงแล้ว ตระกูลนี้กับการทำธนาคารไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกันเป็นพิเศษ เป็นการทำธุรกิจปกติเท่านั้นเอง การที่เลิกค้าไม้นั้นเพราะว่าการค้าไม้อย่างเสรีได้หมดไป เราค้าไม้ได้สมัยคุณปู่ พอมาถึงยุคคุณพ่อคุณอาก็เลิกค้าแล้ว หันไปค้าขายอย่างอื่นแทน”
จากบทสรุปของ ธวัช พลังเทพินทร์ ในห้วงที่พลิกปูมแบงค์กสิกรไทยให้กับนิตยสาร “การเงินการธนาคาร” ฉบับมีนาคม 2527 ความตอนหนึ่งว่า
“เหตุที่นายโชติ ล่ำซำ ตัดสินใจที่จะชักชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงมาลงขันกันตั้งธนาคารขึ้นนั้นก็เพราะบริษัทล็อกซเล่ย์ซึ่งเป็นบริษัทของนายโชติ ล่ำซำ อันเก่าแก่อยู่ยังยืนยงมาจนทุกวันนี้นั้น มีกิจการที่เน้นหนักไปในด้านการค้าต่างๆ และมักจะเสียเปรียบฝรั่งอยู่เนืองๆ”
แม้ว่าผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นต่อมาคือ บัญชา ล่ำซำเคยบอกนิตยสารบางฉบับ ถึงที่มาของชื่อ "ธนาคารกสิกรไทย" ว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนตั้งชื่อนี้ แต่ข้อสันนิษฐานของบรรยงค์ ล่ำซำ น้องชายของบัญชา ผู้เริ่มต้นทำงานในธนาคารกสิกรไทยก่อนพี่ชาย ได้ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของชื่อธนาคารกสิกรไทยว่า ผู้จัดตั้งคงมองเห็นว่าเพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวนา จึงใช้ชื่อนี้ (กสิกรไทย) เพื่อจะได้เงินออมจากชาวนาจากชาวกสิกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนั่นเอง
แน่นอนว่าข้อสังเกตของบรรยงค์ ล่ำซำ สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งนัก เนื่องเพราะในยุคนั้นเป็นยุคที่ชนชั้นชาวนาหรือชนชั้น “กสิกร” ยังเป็นด้านหลักทางการผลิต ซึ่งเมื่อประสานเข้ากับแนวความคิดของ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ที่กำลังมีบทบาทอย่างสูงในรัฐบาล ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็อาจจะส่งผลสะเทือนผ่าน
มาทางนักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ก็เป็นได้
บทสรุปอย่างรวบรัดก็คือ การก่อตั้งธนาคารกสิกรไทยขึ้นนั้น เนื่องเพราะในระหว่างสงคราม ธนาคารพาณิชย์ของชาวต่างประเทศต้องหยุดกิจการลงสิ้นเชิง จึงกลายเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับนักธุรกิจชาวไทยและชาวจีนที่จะสอดสวมเข้าไปแทนที่
กล่าวสำหรับความก้าวหน้าของธนาคารกสิกรไทยในยุคเริ่มต้นนั้น ปรากฏว่าเพียง 3 เดือนแรกของการก่อตั้ง ที่ประชุมของคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ปี 2488 มีมติให้เปิดสาขาที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่จังหวัดลำปาง และที่จังหวัดพระตะบอง (ซึ่งเป็นผลที่ประเทศได้มาจากสงครามอินโดจีนในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม)
ควรกล่าวไว้ด้วยว่ามติของที่ประชุม อันถือว่าเป็นนโยบายของธนาคารนี้ อุบัติขึ้นในภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่กี่วัน อันเท่ากับเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อรับกับสภาพการณ์ในทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในจุดหักเลี้ยวอันสำคัญยิ่ง
แต่ถึงกระนั้นในช่วงระยะ 1 ปี หลังจากกำหนดนโยบายแล้ว ผู้นำตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 3 ก็สามารถเปิดสาขา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ได้เฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2489 เพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยมี กวี วงศ์ชินศรี เป็นผู้จัดการสาขาหาดใหญ่คนแรก
ว่ากันว่า การที่ผู้นำตระกูลล่ำซำกำหนดให้หาดใหญ่เป็นที่ตั้งสาขาแห่งแรก เนื่องเพราะหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราของประเทศ ขณะเดียวกันหาดใหญ่ก็เหมือนกับเป็นประตูแรกของการค้าไทยกับมาเลเซียและสิงคโปร์ เฉพาะอย่างยิ่งเป็นอีกแห่งหนึ่งที่พ่อค้าไทยที่มีเชื้อสายจีนพำนักอาศัยและประกอบธุรกิจการค้าเป็นจำนวนมาก
ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในช่วงเปิดสาขาธนาคารกสิกรไทยใหม่ๆ การขนส่งเงินระหว่างหาดใหญ่ – กรุงเทพฯ ต้องใช้รถไฟ จึงดำเนินไปด้วยความทุลักทุเล ดังที่บัญชาและปรีชา สองลูกพี่ลูกน้องแห่งตระกูลล่ำซำ เคยกล่าวว่า
“ตอนนั้นหนทางมันไม่สะดวกสบายอย่างนี้หรอกครับ การส่งเงินสดไปให้หาดใหญ่หรือเมื่อสาขาหาดใหญ่จะส่งเงินสดมายังสำนักงานใหญ่ก็มีอยู่วิธีเดียว คือ เอาเงินใส่กระเป๋าเสื้อผ้าใบใหญ่นี่แหละ เรื่องจะโอนกันด้วยตัวเลขอะไรนี่สมัยนั้นยังไม่มี ผมก็เลยต้องไปเอง”
จากการเอาแบงก์ร้อยใส่กระเป๋านั่งรถไฟจากสถานีรถไฟบางกอกน้อยหรือไม่ก็หัวลำโพงไปลงและพักแรมคืนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถไฟในวันต่อมาไปยังหาดใหญ่ซึ่งนับเป็นการเสี่ยงภัยอย่างยิ่งสำหรับผู้รักษาเงินอย่างบัญชาและปรีชาในขณะที่การดำเนินธุรกิจธนาคารยุคนั้นไปอย่างค่อนข้างอนุรักษ์ แต่ก็บนพื้นฐานการขยายอย่างมั่นใจยิ่งนัก
วันที 7 มกราคม 2490 ประมาณ 1 เดือนต่อมาเปิดสาขาที่สามเพิ่มขึ้นที่ภูเก็ต วันที่ 2 มิถุนายน อีก 6 เดือนต่อมา ขึ้นไปเปิดสาขาแห่งที่สี่ ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 1 กันยายน 2490 เปิดสาขาแห่งที่ห้า ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ายังไม่ทันได้เห็นความเจริญเติบโตของ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด โชติ ล่ำซำ พี่ใหญ่แห่งตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 3 ก็ถึงแก่กรรมในปี 2497 ภาระหน้าที่ทั้งหลายในการสืบสานกิจการของตระกูล จึงตกอยู่บนบ่าของ จุลินทร์ ล่ำซำ และเกษม ล่ำซำ น้องชายคนเล็ก
แต่เนื่องจากจุลินทร์ ล่ำซำ แยกตัวไปเดินทางการเมืองและไปสัมพันธ์กับพ่อค้านักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล จัดตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินธุรกิจหลากหลาย เช่น บริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด
ดังนั้นผู้ที่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการธนาคารกสิกรไทยต่อจากโชติ ล่ำซำ ก็คือ เกษม ล่ำซำ นั่นเอง ซึ่งว่ากันว่าเขาเป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นเดียวกับ ดร.ป๋วย อึ้งภาภรณ์ และเป็นเพียงคนเดียวในยุคนั้นที่ร่ำเรียนมาทางธนาคารโดยตรง และเมื่อสำเร็จวิชาการธนาคารแล้วก็ยังทำงานอยู่ในประเทศอังกฤษระยะหนึ่ง
สำหรับเกษมผู้นี้เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงในการวางระบบธนาคารกสิกรไทย จำกัด ในรูปแบบของธนาคารอังกฤษแล้ว กล่าวสำหรับสถาบันทางการเงินโดยส่วนรวม เขายังมีบทบาทเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมธนาคารไทยขึ้น และดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี
ที่สำคัญก็คือ เกษมยังเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ 2505 อันถือว่าเป็นการวางรากฐานให้กับระบบธนาคารยุคใหม่ของไทยอีกด้วย
กล่าวสำหรับจุดเด่นของเกษม ล่ำซำ แล้ว เขาให้ความสำคัญในการบริหารกิจการธนาคารกสิกรไทยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการปูทางสร้างรากฐานให้ธนาคารกสิกรไทยบริหารแบบสากลแทนบริหารแบบครอบครัว หรือระบบกงสี ทั้งนี้ ด้วยการจัดส่งพนักงานในเครือข่ายของธนาคาร ให้ไปฝึกงานยังประเทศอังกฤษ และพนักงานรุ่นแรกที่สุดอยู่ในข่ายการฝึกอบรมนี้คือ บัญชา ล่ำซำ และ ณรงค์ ศรีสอ้าน รุ่นต่อมาก็คือ
บรรยงค์ ล่ำซำ น้องชายของ บัญชา ล่ำซำ
แน่นอนว่าการฝึกอบรมในลักษณะนี้เอง ที่ต่อมาธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้มอบทุนและส่งนักเรียนทุนของธนาคารกสิกรไทยออกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
กระนั้นก็ตามแม้เกษมจะให้ความสำคัญในการบริหารแบบสากลและมืออาชีพเพียงใด แต่ทว่าธนาคารกสิกรไทยในยุคของเขา ก็ยังคงดำเนินการขยายธุรกิจของธนาคารในแนวความคิดอย่างเดียวกับที่โชติ ล่ำซำ ได้กำหนดเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2488 กล่าวคือ มุ่งยึดหัวเมืองส่วนภูมิภาคเป็นหลัก มากกว่าที่จะให้ความสนใจกับในเขตกรุงเทพมหานครและธนบุรี
กล่าวสำหรับกิจการหรือธุรกิจของตระกูลล่ำซำ ในช่วงปี 2488 เป็นต้นมา นั้นความจริงแล้วมิเพียงแต่มีการจัดตั้งธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น ทว่าในอีกด้านหนึ่งจุลินทร์ ล่ำซำ ผู้เป็นน้องชายคนรองจากโชติ ก็ได้เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้งบริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด ขึ้นเมื่อปี 2489 อีกด้วย เพื่อรับจำนำสินค้า รับหน้าที่กัมประโดให้แก่ธนาคาร
บริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด จัดตั้งขึ้น ด้วยเงินทุนจดทะเบียนขั้นต้น 1,000,000 บาท ผู้ถือหุ้นเริ่มแรกของบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด ประกอบด้วย จุลินทร์ ล่ำซำ ถือหุ้น 1,200 หุ้น ฮ้อนฝ่า แซ่เล้า ถือหุ้น 1,200 หุ้น ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด ถือหุ้น 1,000 หุ้น บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด ถือหุ้น 1,000 หุ้น ธนาคารมณฑล จำกัด ถือหุ้น 1,000 หุ้น ม.จ.เริงจิต เจิดแจรง ถือหุ้น 900 หุ้น พ.อ.ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ถือหุ้น 700 หุ้น และเทียนเพ้ง กรรณสูต ถือหุ้น 500 หุ้น รวมทั้งมีผู้ถือหุ้นอื่น ๆ อีกมากมาย
เมื่อพิจารณจากสภาพโดยพื้นฐานที่ ฮ้อนฝ่า แซ่เล้า เป็นสามีของ ยินดี ธิดาคนเล็กของเจ้าสัวอึ้งยุกหลง ซึ่งถ้ารวมหุ้นของจุลินทร์ ล่ำซำ กับ ฮ้อนฝ่า แซ่เล้า เข้าด้วยกันกับหุ้นของธนาคารกสิกรไทย จำกัด ก็เป็น 3,400 หุ้น หรือประมาณกว่าร้อยละ 30 ของหุ้นทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่นับหุ้นของบริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แน่นอนว่าการที่ผู้นำตระกูลล่ำซำมีนโยบายที่จะสร้างสายสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างระมัดระวัง เพื่อที่จะให้ธนาคารกสิกรไทยมีภาวะมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงแห่งการพัฒนาผันผวนทางการเมืองหลังปี 2495 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบธนาคารกสิกรไทยในตอนนั้น กับธนาคารพาณิชย์อื่นที่เข้าอิงการเมืองเต็มที่ นับว่าธนาคารกสิกรไทยยังอิงการเมืองน้อยมาก ขณะที่การขยายตัวของธนาคารก็เชื่องช้า จนถึงปีนั้น มีสาขาทั้งสิ้น 10 สาขา และหนึ่งสำนักงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด
แม้การเปิดสาขาและสำนักงานในลักษณะเช่นนี้ มีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่ต้องการมีสาขาของธนาคารกสิกรไทย ในจังหวัดใหญ่ ๆ ครบทุกภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน หรือภาคกลาง ก็ตาม
แต่นโยบายนี้กลับทำให้ธนาคารต้องอิงระบบก้มประโด หรือนายหน้าทั้งรับหาเงินฝากและปล่อยกู้ กระทั่งในที่สุดธนาคารกสิกรไทยก็ต้องประสบกับโรคกัมประโดเป็นพิษ ถึงกับกิจการอยู่ในลักษณะซวนเซ
ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการยกเลิกระบบกัมประโด ด้วยการหันมาสนใจเปิดสาขาในกรุงเทพฯ ให้มากยิ่งขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งเริ่มเปิดสาขาที่ตลาดพลูขึ้นเป็นครั้งแรก และจากนั้นก็รุกหนักด้วยการเปิดสาขาเป็นจำนวนถึง 20 สาขา ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ และธนบุรี หรือส่วนกลางถึง 16 สาขา เป็นสาขาในภูมิภาคเพียง
4 สาขา
ปี 2504 ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 3 ได้เพิ่มทุนธนาคารกสิกรไทย จาก 5 ล้านบาท เมื่อปี 2488 เป็น 14 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกนับตั้งแต่ธนาคารก่อตั้งเป็นต้นมา
เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผลงานของเกษม ล่ำซำ ไม่เพียงแต่เป็นผู้สืบทอดและรักษาธุรกิจธนาคารให้เติบใหญ่ไพศาล เฉพาะอย่างยิ่งการวางรากฐานระบบสาขา ทั้งส่วนกลางและในแต่ละภูมิภาค ซึ่งถึงปี 2505 ธนาคารกสิกรไทยมีสาขาทั้งสิ้น 36 สาขา จัดอยู่อันดับ 9 ของธนาคารพาณิชย์ไทย
ในปี 2505 นับเป็นปีหนึ่งที่ตระกูลล่ำซำต้องสูญเสียผู้นำตระกูลรุ่นที่ 3 ไปอีก 1คน นั่นก็คือ เกษม ล่ำซำ ได้เสียชีวิตเพราะเครื่องบินตก ที่ไทเป เกาะไต้หวัน ภาระหน้าที่ในการบริหารกิจการจึงตกอยู่บนบ่าของ “บัญชา ล่ำซำ” บุตรชายคนโตของโชติ ล่ำซำ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการที่มีจุลินทร์ ล่ำซำเป็นประธานในที่ประชุม
การที่ บัญชา ล่ำซำ จำเป็นต้องก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” ธนาคารกสิกรไทย แทนเกษม ล่ำซำ ผู้เป็นอาคนเล็กนั้น ไม่เพียงแต่เกิดจากเงื่อนไขที่ จุลินทร์ ล่ำซำ ผู้เป็นอาใหญ่ยืนยันอย่างเฉียบขาดว่า ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด ต้องเป็นของ บัญชา ล่ำซำ เท่านั้น
หากแต่ตำแหน่งดังกล่าว เกิดจากความไว้วางใจของผู้นำตระกูลล่ำซำ ที่มีต่อบัญชาสืบเนื่องมาจากความสำเร็จของเขาในการบริหารกิจการเมืองไทยประกันชีวิต และเกิดจากความสามารถในการกอบกู้วิกฤติของบริษัท ล่ำซำประกันภัย จำกัดนั่นเอง
บัญชา ล่ำซำ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด เมื่ออายุ 38 ปี นับเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 3 ต่อจาก โชติ ล่ำซำ ซึ่งเป็นบิดา และเกษม ล่ำซำ ผู้เป็นอา ในขณะที่เขาไม่ได้เรียนมาทางด้านการธนาคาร และไม่เคยนั่งทำงานอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด มาก่อน
“เดิมผมไม่ได้คิดจะมาทำแบงก์ คิดทำทางอุตสาหกรรมมากกว่า” บัญชา ล่ำซำเคยกล่าวเช่นนี้
บัญชา ล่ำซำ เป็นวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2493 ทั้งๆ ที่ความจริงแนวทางการศึกษาของบัญขา ล่ำซำ น่าจะเข้าไปนั่งอยู่กับบริษัท ล็อกเลย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด อันเป็นบริษัทในสายอุตสาหกรรมของตระกูลล่ำซำมากกว่า ที่จะหันเหไปประสบความสำเร็จในการบริหารกิจการประกันชีวิต ประกันภัย และการธนาคาร
แต่ถึงกระนั้น ความหนักใจในความอ่อนอาวุโสของตัวเองของบัญชา ในการสานต่อภารกิจบริหารธนาคารกสิกรไทยสืบต่ออาเกษม ล่ำซำ ก็มิได้เป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของเขาแต่ประการใด
ดังจะเห็นได้จาก นับตั้งแต่ปีแรกที่เขาเข้ามาบริหารกิจการธนาคารกสิกรไทย ก็สามารถขยายกิจการอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว บางปีขยายสาขาถึง 26 สาขา จนถึงปี 2519 มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับสองของทุกธนาคารในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นคือในปี 2510 เปิดสาขาที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตามด้วยแฮมเบิร์กและนิวยอร์ก
ธนาคารกสิกรไทยที่เคยล้มลุกคลุกคลานมาตลอดระยะเวลา 15 ปีแรก ในยุคของผู้เป็นบิดาและของคุณอา ก็สามารถพัฒนาอย่างมาก ในยุคของบัญชา ล่ำซำ ซึ่งเป็นผู้นำตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 4 โดยเฉพาะเมื่อเขาดำเนินแผนพัฒนาธนาคารกสิกรไทย ในช่วง 5 ปีแรก ที่ได้กำหนดไว้ว่าจะเจริญเติบโต ให้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่อันดับต้น ๆ
เฉพาะอย่างยิ่งความเจริญเติบโตของธนาคารกสิกรไทย ในปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยแต่ปรากฏว่าธนาคารกสิกรไทยก็สามารถเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ก็ด้วยกลยุทธ์ในการบริหารที่ล้ำลึกของบัญชา เป็นต้นว่า วางน้ำหนักสินเชื่อในส่วนของสินเชื่อลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นไปตามฐานของลูกค้าธนาคารที่ได้กระจายอยู่ตามต่างจังหวัดโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ในระยะต่อมาผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการธนาคารกสิกรไทย ก็ได้เสริมกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและธุรกรรมธนาคาร เพื่อหารายได้จากทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้มากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่า การกระตุ้นการเติบโตตลอดระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2526-2529 เป็นผลให้อัตราการเติบโตด้านเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นหลายธนาคาร แม้ในช่วงนั้นเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นความคิดที่สวนกระแสและเป็นความกล้าของบัญชาที่นำพาธนาคารกสิกรไทยเติบโตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ
อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ผู้นำตระกูลล่ำซำ นำมาเป็นมรรควิธีในการขยายการเติบโตของธนาคารกสิกรไทยก็คือการใช้วิธีของธุรกิจประกันชีวิตมาใช้กับกิจการธนาคาร เพราะบัญชามีบทเรียนและประสบการณ์ธุรกิจประกันภัย ในการสร้างการเติบโตให้กับองค์กร ด้วยวิธีการกระตุ้นด้วยสิ่งจูงใจทางวัตถุแก่พนักงาน ที่สามารถปฏิบัติงานด้านทุนประกัน และเบี้ยประกันได้ถึงเป้าหมาย
จากนี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี แห่งความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการบริหารธนาคารกสิกรไทยของบัญชา ล่ำซำ ประสบความสำเร็จสูงเด่นยิ่ง ในขณะที่เขาได้ถ่ายเทอำนาจในการบริหารธนาคารกสิกรไทย สู่บัณฑูร ล่ำซำ บุตรชายคนเดียวของเขาตั้งแต่ปี 2534 โดยมีบรรยงค์ ล่ำซำ น้องชาย เป็นผู้นำในการบริหารสูงสุด ในฐานะประธานกรรมการพร้อมด้วยนักบริหารมืออาชีพมากมายที่เขาสร้างขึ้นตลอดระยะเวลา 30 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2535 บัญชาก็ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ขณะที่มีอายุ 68 ปี นิตยสารบางฉบับได้บันทึกปรัชญาชีวิต ซึ่งกล่าวกันว่าบัญชาเคยกล่าวเตือนใจไว้อย่างน่าคิดว่า
“ชีวิตเหมือนตะเกียงมะพร้าว ทุกคนมีไส้ตะเกียงที่มีน้ำมันมาเท่าๆ กัน เมื่อมีลมพัดแรงก็ทำให้มีการเผาไหม้ทั้งไส้ตะเกียง และน้ำมันให้หมดไปเร็วยิ่งขึ้น คนที่มีความอิจฉาริษยา มุ่งประโยชน์ส่วนตนมากเกินไปก็เหมือนกับเป็นการนำลมมาเร่งโหมทำลายตนเองให้ดับเร็วยิ่งขึ้น นั้นคือการใช้ชีวิตอย่างไม่รักชีวิต”
การแปรเปลี่ยนปรับโฉมธนาคารกสิกรไทย เริ่มปรากฏขึ้นอย่างน่าทึ่งในยุคของบัณฑูร กล่าวคือ ธนาคารกสิกรไทยไม่เพียงแต่จะเน้นการบริหารแบบสากล ที่มีมืออาชีพเป็นผู้บริหารมากกว่าคนในตระกูลล่ำซำ เป็นยุคที่บริหารด้วยการคำนึงถึงความสำเร็จเป็นหลัก แม้ว่าตระกูลล่ำซำจะต้องสูญเสียฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกสิกรไทยไป จากที่เคยครอบครองอย่างเด็ดขาดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2513 มาถือหุ้นส่วนข้างน้อยเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2541 ก็ตาม
ด้วยเหตุที่บัณฑูรมีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำองค์กร ที่มองการณ์ไกลและกล้าคิด กล้าตัดสินใจด้วยความฉับไว สามารถนำพาธนาคารกสิกรไทยฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ ที่โหมกระหน่ำมาได้โดยไม่ต้องตกเป็นของต่างชาติ นี้เองกระมัง จึงทำให้เขาได้รับเลือกจากนิตยสาร “เอเชียวีค” ให้เป็น “ผู้นำทางการเงินแห่งสหัสวรรษ”
เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้วการบริหารกิจการธนาคารกสิกรไทยในยุคของบรรยงค์ ล่ำซำ ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 4 และบัณฑูร ล่ำซำ ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 5 นั้น นับว่าเป็นยุคของการเผชิญปัญหาและแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
นั่นเป็นเพราะบรรยงค์ และบัณฑูร ล่ำซำ ได้บริหารธนาคารกสิกรไทยในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังตกต่ำถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
ธนาคารกสิกรไทยนับเป็นธนาคารแรก ที่ได้มีการปรับระบบบริหารให้ทัดเทียมกับธนาคารต่างประเทศ ด้วยการปรับปรุงและยกระดับบริหารอย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิธีการ “รีเอ็นจิเนียริ่ง” ในปี 2538 จึงทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ในปี 2542 ผู้บริหาร ธนาคารกสิกรไทย สามารถระดมทุนทั้งในและต่างประเทศได้สำเร็จ ที่สำคัญก็คือธนาคารกสิกรไทยนับเป็นธนาคารที่มีเอ็นพีเอลต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่น และจากนี้จึงทำให้นิตยสารชั้นนำฉบับหนึ่งของต่างประเทศ ยกย่องว่า ปี 2542 ธนาคารกสิกรไทยเป็นบริษัทชั้นนำอันดับ 1 ของไทย
วันนี้ บัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ประกาศชัดแล้วว่า “ผมจะเป็นคนสุดท้ายของตระกูลล่ำซำในแบงก์กสิกรไทย” แต่ในความหมายของเขาก็คือ ไม่ใช่อยู่เพื่อรอวันที่กลุ่มทุนต่างด้าวเข้ามาฮุบกิจการ
ทว่าเป็นการอยู่เพื่อต่อสู่แข่งขันกับ “ธนาคารลูกครึ่ง” อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร ต่อไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้สามารถชนะหรือเหนือธนาคารลูกครึ่งนั่นเอง
ณ วันนี้ ความสำเร็จในการบริหารธนาคารกสิกรไทย ของบัณฑูร ล่ำซำ ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 5 จึงมิเพียงแต่ต้องจารึกไว้เล่าขานกันในหมู่สมาชิกตระกูลล่ำซำ เท่านั้น ทว่าความสำเร็จดังกล่าวจะกลายเป็นตำนาน ที่เล่าขานกันอย่างไม่รู้จบสิ้นอีกด้วย
จาก : คอลัมน์เผ่าพงศ์วงศาและอาณาจักร 55 ตระกูลดังยุคไอเอ็มเอฟ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2543
コメント