top of page

ล่ำซำ (1)

ผู้สร้างตำนานธนาคารกสิกรไทยสู่ความยิ่งใหญ่


โดย ธนวัฒน์ ทรัพย์ไพบูลย์



มีคำกล่าวเปรียบเปรยกันว่า คนจีนหากเปรียบเป็นเมล็ดพืชที่ลอยตามกระแสน้ำ เมื่อน้ำพัดพาไปบนพื้นแผ่นดินใด ก็ดูเหมือนเมล็ดพันธุ์นั้นเจริญงอกงามในทุกสถานที่ เช่นเดียวกับตระกูล “อึ้ง” หรือต่อมาคือตระกูล “ล่ำซำ” ชาวจีน (แคะ) โพ้นทะเล จากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ที่ยอมเสี่ยงชีวิตเดินทางดั้นด้นฝ่าคลื่นลมอันหฤโหด สู่ท้องทะเลอันเวิ้งว้างว่างเปล่า เข้ามาสร้างหลักปักฐานบนแผ่นดินสยาม กระทั่งใน

ยุคล่ำซำรุ่นที่ 4-5 สามารถสร้างฐานะกลายเป็น “เจ้าสัว” ผู้มีชื่อระบือไกลทั้งในและต่างประเทศในฐานะ

ผู้สร้างธนาคารกสิกรไทยจากธนาคารตระกูลหรือ “ธนาคารครอบครัว” สู่การบริหารในระบบสากล ที่มีความแข็งแกร่งและเกรียงไกร


ตำนานตระกูล “ล่ำซำรุ่นที่ 1” ในประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่ "อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน" (ภาษาจีนแคะ) ซึ่งภาษาแต้จิ๋วออกเสียงว่า “โหวเหมียวง้วน” ส่วนภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “หวู่เหมี่ยวหยวน” ชาวจีน(แคะ) โพ้นทะเล ผู้ถือกำเนิด ณ บ้านไฮหน่ำ ตำบลส่งเค้าโป๊ อำเภอบ้วยกุ้ย จังหวัดเกี่ยเอ้งจิวฮู้ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน


เล่ากันว่า ณ สุสานของอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน ที่ตำบลฉุ่งแถ่ว (สงโค้ว) มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน บอกเล่าถึง

ปูมหลังที่อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนเดินทางด้วยเสื่อผืนหมอนใบ รอนแรมทางเรือเพื่อมาสร้างหลักปักฐานบนแผ่นดินสยาม ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ทั้งนี้ เนื่องจากเด็กหนุ่มอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนเมื่ออายุ 13 ปี กำพร้าพ่อแม่และกฎหมายบ้านเมืองยกเลิกข้อห้าม

ที่ไม่ให้คนจีนออกนอกประเทศ ประกอบกับคนที่ไปสร้างหลักปักฐานในต่างแดนแล้วร่ำรวย เป็นข่าวร่ำลือกันทั่วไป จึงทำให้อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนตัดสินใจหอบเสื่อผืนหมอนใบไปตายเอาดาบหน้า


ว่ากันว่า ครั้งแรกที่เขาเดินทางสู่กรุงเทพฯ(บางกอก)นั้น ก็ได้เข้าเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส อันเป็นชาติ

ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนั้น เพื่อพึ่งบารมีของฝรั่งชาวตะวันตก ที่เรียกกันว่า “อิงสิทธิสภาพ

นอกอาณาเขต” ของประเทศมหาอำนาจนั่นเอง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผู้อพยพที่ชาญฉลาดใช้ความพยายาม “อิงอำนาจรัฐ” ด้วยการเข้าหาขุนนางหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย ที่มีอำนาจวาสนาหรือมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ในขณะนั้น


แม้ชีวิตจะตกระกำลำบากเพียงใด อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนมังกรหนุ่มจากโพ้นทะเลก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาทำงานรับจ้างที่ร้านขายเหล้า นาม “จิวเพ็กโก” โดยได้รับเงินเล็กน้อยพอประทังชีวิต


ว่ากันว่า หนุ่มอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่เคยหยุดนิ่งและปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อมีเวลาว่างจากขายเหล้า ก็ช่วยดูแลกิจการค้าไม้สัก ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งของเถ้าแก่ร้านเหล้านั่นเอง


เพียงระยะเวลาไม่นาน อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนผู้นี้ก็สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการวัดหน้าไม้ และการจำหน่ายไม้ได้อย่างถ่องแท้ จนชำนิชำนาญเพียงพอที่จะออกมาดำเนินธุรกิจค้าไม้เป็นของตนเอง


ดังนั้น เมื่ออึ้งเมี่ยวเหงี่ยนสามารถเก็บหอมรอมริบสะสมทุนรอนได้แล้ว ต่อมาเขาจึงเริ่มต้นก้าวเข้าสู่อาชีพค้าไม้ ด้วยการเปิดร้านขายไม้สักซุงขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลจักรวรรดิ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ ภายใต้ยี่ห้อ “กวางง่วนหลง” หรือ “ก้วงโกหลง” หรือ “ห้างล่ำซำ” ด้วยการติดต่อค้าขายไม้ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการสัมปทานทำขอนไม้สัก ทั้งนี้เถ้าแก่อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนมีโรงเลื่อยจักรชื่อ

“กวงกิมล้ง” ด้วย


กล่าวกันว่า การที่ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 1 ดำเนินธุรกิจสัมปทานป่าไม้นี้เอง จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพา

ต่างชาติและขุนนาง ด้วยการเข้าเป็นคนในบังคับของชาติฝรั่งเศส เพื่ออาศัยสิทธิบางประการที่ต่างชาติ

ได้รับ และเข้าหาขุนนางเพื่อลู่ทางสะดวกในทางการค้า


นั่นก็คือ เขาได้อยู่ในความอุปถัมภ์ของขุนนางชื่อ “พระยาสโมสรสรรพการ” ดังจะเห็นได้จากมีหลักฐานบางชิ้น คือ หนังสือของพระยาสโมสรสรรพาการที่ทูลถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศนานุวัติวงศ์ ความตอนหนึ่งว่า “จีนล่ำซำผู้นี้เป็นคนรู้จักคุ้นเคยมานาน ครั้นจะมีธุระขึ้นไปทำการ ก็มาขอให้มีหนังสือฝากฝังขึ้นไป”


แน่นอนว่า “ธุระ” ของเถ้าแก่อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนในที่นี้ก็คือ การที่เขาได้ให้พรรคพวกนำจดหมายของเขา และของพระยาสโมสรสรรพการไปยัง พระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงมณฑลลาวเฉียง เพื่อขอสัมปทานป่า 3-4 ป่า โดยขอมิให้ยกสัมปทานนั้นให้กับ หลวงนราพิทักษ์ (บุญเย็น) เพราะคุณหลวงผู้นี้เป็นคู่แข่งในทางการค้าของเขา นั่นเอง


แน่นอนว่า จากการที่อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส และเป็นผู้อิงแอบอำนาจบารมีของขุนนาง และเจ้านายในการดำเนินธุรกิจสัมปทานป่าไม้ จึงทำให้อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนสามารถประกอบการค้าจนร่ำรวย ถึงขั้นเป็นคหบดีหรือ “เจ้าสัว” คนหนึ่งของไทยในยุคนั้น


มิเพียงแค่แสวงหาเงินเพียงอย่างเดียว ว่ากันว่าเจ้าสัวอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนยังได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีใจบุญคนหนึ่งด้วยการรวบรวมเพื่อนพ้องชาวจีนโพ้นทะเลร่วมกันสร้าง โรงพยาบาลเทียนฟ้า เพื่อเป็นสถานช่วยเหลือชาวจีนในยามเจ็บป่วย


โรงพยาบาลเทียนฟ้าเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2447 เสร็จเรียบร้อยเปิดทำการในปี 2449 และยังได้ตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้า ขึ้นอีกด้วย โดยมีผู้ริเริ่ม 6 คน ล้วนแต่เป็นพ่อค้าชาวจีนคนสำคัญของกรุงเทพในยุคนั้น ได้แก่ อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน, เล่ากี้ปิ้ง หรือ พระยาภักดีภัทรากร, กอฮุ่ยเจี๊ยะ, เล่าซอเมี้ยง หรือ พระเจริญราชธน, เฮ้งเฮ่งจิว และ เตียเกี้ยงซำ หรือ หลวงโสภณเพชรรัตน์


ทั้งนี้ ประธานของโรงพยาบาลเทียนฟ้านั้น ได้หมุนเวียนกันระหว่างกลุ่มภาษาทั้ง 5 กลุ่ม คือ กวางตุ้ง, ฮกเกี้ยน, แต้จิ๋ว, ไหหลำ และ แคะ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างศาลา “ไคเช็คชนม์” ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวจีนในประเทศไทยอีกด้วย


ย้อนกล่าวถึงเส้นทางชีวิตของอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนเล่ากันว่าเมื่อเขาได้แต่งงานกับ “ซื้อฮูหยิน” (หุ้น แซ่ซื้อ หรือแซ่ฉี่) ผู้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยพร้อมกับสามี ช่วยเหลือกิจการค้าไม้ของสามีอย่างเข้มแข็ง สามารถรับผิดชอบแทนในกิจการค้ายามที่อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนไม่อยู่


อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน กับ ซื้อฮูหยินมีบุตร 2 คน และธิดา 2 คน คือ อึ้งจูหลง ล่ำซำ (ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนบิดา) อึ้งยุกหลง ล่ำซำ (ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 2) ส่วนธิดาคือ เผือก ล่ำซำ และ เนย ล่ำซำ บุตรธิดาทั้ง 4 คนนี้ ที่สมควรกล่าวถึงอย่างละเอียดคือ “อึ้งยุกหลง ล่ำซำ” เนื่องเพราะเป็นผู้มีบทบาทในการสืบสานธุรกิจของตระกูลนั่นเอง


ส่วนภรรยาอีกคนหนึ่งเป็นคนไทยชื่อ “เทียน” มีบุตร 2 คน คือ ปึ้งป๊อกหลง ล่ำซำ (วูกี้ฉู่) และ อึ้งหมิ่นลง ล่ำซำ (วูตุงปั๊ก) เจ้าของห้างวูตุงปั๊ก ตัวแทนจำหน่ายสินค้าเหล็กโดยเฉพาะ “ตราตา” จากประเทศเยอรมนี


เจ้าสัวอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 59 ปี หลังจากนั้น “อึ้งยุกหลง” ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 3 ในบรรดาบุตรธิดา 7 คน ได้เป็นผู้สืบสานหรือรับช่วงกินการค้าของผู้เป็นบิดาต่อไป ซึ่งขณะนั้นได้แก่กิจการร้าน “กวางกวงหลง”


ต่อมาอึ้งยุกหลงผู้นี้ก็ได้ขยายกิจการค้า ออกไปอย่างกว้างขวางกว่าเดิมยิ่งนัก ทั้งยังได้ยกระดับ

ร้านกวางกวงหลงขึ้นเป็นบริษัท จำกัด ชื่อ บริษัทก้วงโกหลง จำกัด (คำว่า "ก้วงโกหลง กับ กวางกวงหลง” เป็นคำ ๆ เดียวกัน)


เฉพาะอย่างยิ่ง ในยุค อึ้งยุกหลง ล่ำซำ มีการขยายธุรกิจสัมปทานป่าไม้อออกไปกว้างขวาง ขณะที่ธุรกิจการค้าได้มีการติดต่อกับต่างประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งในประเทศเอเชียและในประเทศยุโรป รวมทั้งได้เปิดสาขาบริษัท ก้วงโกหลง จำกัด ที่สิงคโปร์ ฮ่องกง ซัวเถา และเซี่ยงไฮ้ อีกด้วย


กล่าวสำหรับการค้ากับต่างประเทศของผู้นำตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 2 ในยุคนั้น ปรากฏว่าสินค้าหลักก็คือ ข้าว นั่นเอง ซึ่งจากจุดนี้ทำให้เวลาต่อมา คือในปี 2453 ผู้นำตระกูล “ล่ำซำ” มีโรงสีข้าวที่ทันสมัย มีเครื่องจักรอย่างดี สามารถสีข้าวได้ถึงเดือนละ 2,400 กระสอบ


มิเพียงแค่นั้น ผู้นำตระกูลล่ำซำยังดำเนินธุรกิจการค้าน้ำตาล กระสอบป่าน และถ้าจำไม่ผิดยังได้ดำเนินกิจการประกันภัย โดยเป็นตัวแทนของ บริษัท ฟุกออนประกันภัย จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง

อีกด้วย


กระนั้นก็ตาม ธุรกิจของตระกูลล่ำซำก็ใช่ว่าจะราบรื่น ไม่มีวันตกต่ำตลอดกาล ทว่าในบางช่วงบางระยะก็ตกต่ำซบเซา ซึ่งก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางธุรกิจการค้า และตามวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่มีทั้งรุ่งเรืองเฟื่องฟูและมีทั้งซบเซาตกต่ำ


ว่าไปแล้ว ธุรกิจการค้าของผู้นำตระกูลล่ำซำนั้น มีสิ่งที่น่าสังเกตว่าเมื่อธุรกิจอย่างหนึ่งขยายตัว ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งก็มักจะฟุบและค่อยๆ หดตัวลง กระทั่งกลายเป็นปัญหาและเป็นบทเรียนอันสำคัญ


ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการขยายตัวสู่ธุรกิจการค้าข้าวและน้ำตาล ผลที่เกิดตามมาคือการถดถอยลงเป็นลำดับของธุรกิจเก่าแก่คือ ธุรกิจสัปทานป่าไม้ นั่นก็คือ ในปี 2463 ธุรกิจสัปมทานป่าไม้ของตระกูลล่ำซำตกต่ำย่ำแย่ ถึงกับต้องขอความช่วยเหลือจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นมีนายทุนคนอื่นต้องการเช่าเช่นเดียวกัน


ดังที่ อึ้งยุกหลงได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอให้ช่วยเจรจาผู้เป็นเจ้าของโรงสีดังกล่าว อย่าให้คนอื่นเป็นผู้เช่า หนังสือฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2463 มี

ความบางตอนดังนี้

“ด้วยเวลานี้ข้าพระพุทธเจ้าไม่ใคร่มีการอะไรทำ เพราะป่าไม้ที่รัฐบาลอนุญาตให้ทำนั้นก็มีจำนวนน้อยนัก ไม่พอกับทุนรอนที่ได้ลงไว้ การใช้จ่ายเล่าก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นจำเป็นที่

ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องแสวงหาการอย่างหนึ่งอย่างใดทำ เพื่อจะได้มีประโยชน์งอกขึ้นบ้าง

“เพื่อเป็นการค้ำจุนกิจการของข้าพระพุทธเจ้าพอหากำไรได้บ้าง เรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นใครที่เป็นที่พึ่งได้ นอกจากใต้ฝ่าพระบาทพระองค์เดียว เรื่องนี้ถ้าใต้ฝ่าพระบาทจะทรงชุบเลี้ยงข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็คงเช่าโรงสีรายที่กล่าวนี้ได้สำเร็จดี”


จากจดหมายฉบับนี้ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดียิ่ง ในความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งที่ตระกูล “ล่ำซำ” มีและได้รับความอุปถัมภ์จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยเห็นได้จากข้อความที่พระองค์ทรงเขียนถึง ม.จ.หญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ดังนี้


“ทั้งคุณย่ากับตัวพ่อได้คุ้นเคยชอบพอกับพวกตระกูลนี้มาช้านาน นับตั้งแต่เถ้าแก่ล่ำซำยังอยู่ เมื่อเถ้าแก่ล่ำซำตายแล้ว ลูกสาวกับนายยุก (อึ้งยุกหลง ล่ำซำ) ลูกชายเถ้าแก่ล่ำซำ เขายังส่งเสียไปมาหาคุณย่า แม้เมื่อสิ้นคุณย่าแล้วเขายังไปมาติดต่อกับพ่ออยู่เสมอไม่ขาด”


ควรกล่าวได้ด้วยว่า ผู้นำตระกูลล่ำซำมิเพียงแต่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับเชื้อพระวงศ์หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในยุคนั้น เท่านั้น ทว่าอีกด้านหนึ่งก็มีความสำคัญอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง กับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศ ทั้งติดต่อค้าขายและการร่วมทุนเป็นพันธมิตรทางการค้า ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป


ในขณะที่ผู้นำตระกูลล่ำซำค่อย ๆ ถอยออกจากธุรกิจป่าไม้นั้น ก็ได้รุกคืบเข้าไปในธุรกิจค้าข้าว โดยการจัดตั้ง บริษัท กวางเก๊าะหลง จำกัด ประสานเข้ากับการเข้าไปมีบทบาทในโรงสี อันถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของธุรกิจค้าข้าว


เล่ากันว่า ในยุคนั้นบริษัท กวางเก๊าะหลง จำกัด ของเจ้าสัวอึ้งยุกหลงเป็นบริษัทส่งออกข้าวที่ใหญ่มากบริษัทหนึ่ง มีผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศเป็นชาวยุโรป เฉพาะอย่างยิ่งบริษัทนี้ยังดำเนินธุรกิจแลกเปลี่ยน

เงินตรา และดำเนินธุรกิจแบบเดียวกับธนาคารอีกด้วย


ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างและยาวไกล ด้วยความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพ่อค้านักธุรกิจชาวต่างประเทศ ด้วยความอุปถัมภ์ค้ำชูของผู้ทรงอำนาจรัฐในยุคนั้น จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดแต่ประการใด ที่กลายเป็นเงื่อนไขให้ธุรกิจของตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 2 ยิ่งแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ


นั่นก็คือในปี 2475 ผู้นำตระกูลล่ำซำมีบริษัทและห้างร้านกระจัดกระจายอยู่ทั้งในและนอกประเทศดังนี้ คือ (1) ห้างกวางเก๊าะหลง (ก้วงโกหลง หรือ กวางกวงหลง หรือ ห้างล่ำซำ) (2) โรงเลื่อยกวงกิมหลง ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ส่วน (3) โรงสีกวางยุกหลง ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ (4) บริษัท กวางกิมล้ง จำกัด ตั้งอยู่ที่กวางตุ้ง (6) บริษัท วังล้ง จำกัด ตั้งอยู่ที่เมืองปัตตาเวียบนเกาะสุมาตรา อันเป็นประเทศอินโดนีเซีย (7) บริษัท กวงกิมล้ง จำกัด ตั้งอยู่ที่ ลอนดอน


ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2475 ก็ได้จัดตั้ง บริษัท กวางอันหลงประกันภัย จำกัด และอันเป็นบริษัทประกันภัย โดยมีทุนจดทะเบียน 250,000 บาท โดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดล้วนเป็นคนในตระกูลล่ำซำ

ทั้งสิ้น


มิเพียงแค่นั้น ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2475 อึ้งยุกหลงได้ร่วมกับพ่อค้าคนจีนคืนอื่นๆ ตั้ง ภัตตาคาร

ห้อยเทียนเหลา หรือที่เรียกในชื่อภาษาไทยว่า หยาดฟ้าภัตตาคาร ขึ้นด้วยเงินทุนจดทะเบียน 50,000 บาท


ปีถัดมาคือวันที่ 23 มีนาคม 2476 อึ้งยุกหลงได้ร่วมกับพ่อค้าชาวจีนตั้ง ธนาคารก้วงโกหลง ขึ้น โดยขยายงานจากร้านแลกเปลี่ยน ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นเพียงแผนกหนึ่งรวมอยู่ในห้างกวางเก๊าะหลง ร้านค้าข้าวดั้งเดิมของตระกูลล่ำซำ แต่ถึงกระนั้นธนาคารก้วงโกหลง ก็เปิดดำเนินธุรกิจอยู่เพียงไม่กี่ปี ก็ประสบกับภาวะขาดทุนกระทั่งต้องล้มเลิกกิจการไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2480


ควรกล่าวไว้ด้วยว่า แม้ผู้นำตระกูลล่ำซำจะดำเนินธุรกิจสัมปทานป่าไม้ ตั้งแต่ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 1 คือ อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน แต่ในส่วนของธุรกิจนี้ ก็ไม่เคยจดทะเบียนเป็นบริษัท เพียงแต่ดำเนินกิจการในรูปของห้างกวางเก๊าะหลง เพิ่งมาจดทะเบียนเป็น บริษัท ป่าไม้ล่ำซำ จำกัด เมื่อปี 2478 ด้วยเงินทุน 250,000 บาท ซึ่งผู้ถือหุ้นล้วนแต่เป็นสมาชิกของตระกูลทั้งสิ้น


กล่าวโดยสรุปแล้ว อาณาจักรทางธุรกิจการค้าของตระกูลล่ำซำยุคที่ 2 ที่มีอึ้งยุกหลงเป็นหัวขบวนนั้น ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล เฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และการเปิดเครือข่ายสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มทุนต่างประเทศ เช่น รวมทุนกับบริษัทที่ฮ่องกงขณะที่มีกิจการค้าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์, ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, กวางตุ้ง, ปัตตาเวีย ซึ่งเมืองเหล่านี้นับว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญ


จากนี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ผู้นำตระกูลล่ำซำเป็นผู้เริ่มต้นและบุกเบิกธุรกิจการค้ากับต่างประเทศมาอย่างยาวนานก่อนที่จะก้าวสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ และยุคธุรกิจไร้พรมแดนด้วยซ้ำ


ที่สำคัญก็คือ ตระกูลล่ำซำเป็นตระกูลที่ดำเนินธุรกิจการค้าในระดับโลกที่เดียว ดังจะเห็นได้จากธุรกิจ

การค้าของเขาบางส่วนตั้งอยู่ที่นครลอนดอนแห่งอังกฤษ และฮัมบูร์กแห่งเยอรมนีอีกด้วย


ควรบันทึกไว้ด้วยว่าในปี 2479 เป็นปีที่ธุรกิจหลากหลายของตระกูลล่ำซำเริ่มซวดเซ สืบเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจที่มีความตกต่ำทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้สินค้าออกของไทยพลอยตกต่ำไปด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือส่งครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นกำลังปะทุขึ้น ขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้นโยบายเข้มงวดต่อชาวจีนโพ้นทะเลในการประกอบธุรกิจการค้า


อย่างไรก็ตามในปีนี้ก็ได้มีการร่วมทุนกับตัวแทนของ บริษัท ดับบลิว อาร์ ล็อกซเลย์ แห่งฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทที่ต้องการนำเข้าไม้สักจากไทย และเป็นบริษัทที่ร่วมค้าขายกับตระกูลล่ำซำ โดยจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ ชื่อ บริษัท ล็อกซเลย์ ไรซ์ จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2479 โดยมีสำนักงานจดทะเบียนอยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดำเนินธุรกิจค้าข้าว การเช่าเรือ และธุรกิจประกันภัย เป็นต้น


ต่อมามีการตัดสินใจแยกกิจการที่อังกฤษกับกิจการในประเทศไทย ออกจากกันจัดตั้งเป็นบริษัท ล็อกซเลย์ ไรซ์ (กรุงเทพฯ) จำกัด เมื่อ 12 มกราคม 2482 สำนักงานตั้งอยู่ตรงสะพานพุทธฯ กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่าย (ล่ำซำและบิตตี้) ถือหุ้นคนละเท่ากัน ว่ากันว่าการที่ต้องใช้ชื่อบริษัทเป็นฝรั่งนั้น ก็เพื่อที่จะให้

การค้าขายกับต่างประเทศได้สะดวกและง่ายขึ้นนั่นเอง


หลังจากนั้นคือในปี 2500 ก็ได้มีการตัดคำว่า “ไรซ์” ออก โดยได้จดทะเบียนชื่อบริษัทใหม่ ชื่อ บริษัท ล็อกซเลย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2500 และได้ดำเนินธุรกิจการค้า การลงทุนในธุรกิจหลากหลายโดยเฉพาะธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในปัจจุบัน


ย้อนกล่าวถึงทิศทางในการแก้ปัญหาวิกฤติทางธุรกิจของตระกูลล่ำซำในปี 2480 ปรากฏว่าผู้นำตระกูล

ล่ำซำได้ขอพึ่งพาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อีกคำรบหนึ่ง ทั้งนี้ จากหลักฐานจดหมายฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2480 ที่มีไปถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ มีเนื้อความบางตอนดังนี้ คือ

“เหตุการณ์ทั้งนี้ก็โดยเนื่องจากการค้าตกต่ำประการหนึ่ง และสาเหตุที่สุดก็คือ การกระทบกระเทือนในเรื่องการศึกระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งกระทำให้การค้าของข้าพระพุทธเจ้าและทรัพย์สิน ที่เซี่ยงไฮ้ได้รับอันตรายลงหมด แล้วเลยกระทบกระเทือนถึงฮ่องกงและที่อื่นๆ จึงได้ลุกลามไปถึงประเทศสยาม ซึ่งจะทำให้ข้าพระพุทธเจ้าต้องล่มจมด้วยความจำเป็นและกะทันหันอย่างยิ่ง”


จากจดหมายฉบับนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่า วิกฤติการณ์ทางธุรกิจของตระกูลล่ำซำในยุคนั้น ก่อให้เกิดผลสะเทือนอย่างสาหัสสากรรจ์มากเพียงใด ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวจึงทำให้ผู้นำตระกูลล่ำซำต้องแอบอิงฐานอำนาจรัฐในการแก้วิกฤติครั้งนั้น อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้


รูปธรรมในการเข้าไปอิงฐานอำนาจรัฐของผู้นำตระกูลล่ำซำก็คือ พวกเขาได้แยกสายการทำงานกันออกเป็น 2 ส่วน อย่างค่อนข้างเด่นชัด ขณะที่ด้านหนึ่ง โชติ ล่ำซำ ยังคงเกาะติดอยู่กับธุรกิจดั้งเดิมของตระกูลอยู่อย่างเหนียวแน่น อีกด้านหนึ่งจุลินทร์ ล่ำซำ ผู้น้องได้เข้าร่วมดำเนินธุรกิจกับบรรดาสมาชิกของคณะราษฎรอย่างใกล้ชิด


ทั้งนี้ พวกเขาได้เข้าไปร่วมทุ่นและมีบทบาทในระดับแน่นอนหนึ่งกับ บริษัท ค้าพืชผลไทย จำกัด ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำกัด และ บริษัท ค้าพืชผลเหนือ จำกัด, บริษัท เกลือไทย จำกัด ธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท สากลการค้า จำกัด และ บริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด


และที่มีความหมายมีความสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การที่รัฐบาลได้ให้ความเชื่อถือ จุลินทร์ ล่ำซำ เป็นอย่างสูง ด้วยการมอบหมายให้เป็น “กรรมการผู้จัดการ” บริษัท ไทยนิยมพานิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่สำคัญและมีเครือข่ายงานครอบคลุมกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศ



กล่าวสำหรับอึ้งยุกหลงแล้ว เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการก่อตั้ง “สมาคมจีนสยาม” และยังมีบทบาทและอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งใน “สมาคมพาณิชย์จีน” ซึ่งเป็นสมาคมที่มีอิทธิพลต่อชาวจีน

โพ้นทะเล และชาวไทยเชื้อสายจีนยาวนานมากที่สุดสมาคมหนึ่งในยุคก่อนและหลังเปลี่ยนแปลง

การปกครอง 2475


กล่าวสำหรับชีวิตครอบครัวของเจ้าสัวอึ้งยุกหลง แล้วเขามีภรรยา 3 คน คือ ทองอยู่ หวั่งหลี (ซึ่งเป็น

หวั่งหลีรุ่นที่ 2 เป็นธิดาของ ตันฉื่อฮ้วง หวั่งหลี) มีบุตร 3 คน และธิดา 4 คน คือ โชติ ล่ำซำ (แต่งงานกับ น้อม อึ้งภากรณ์ ลูกพี่ลูกน้อง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ) จุลินทร์ ล่ำซำ (แต่งงานกับ สงวน หวั่งหลี, พรรณี สุวรรณสุข และอดิสัย ตันสกุล) เกษม ล่ำซำ (แต่งงานกับ สุรพันธ์ พิศาลบุตร)


สำหรับภรรยาคนที่ 2 ของเจ้าสัวอึ้งยุกหลง ก็คือ ฉุ่น มีบุตรธิดา 2 คน คือ คี่ฉ่อย ล่ำซำ และ ยินดี ลิ่วเฉลิมวงศ์ และมีภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อ เฉียน มีบุตรธิดา 3 คน คือ คี่เซ็น ล่ำซำ รามินทร์ ล่ำซำ และ เกลียววรรณ วงศ์ชินศรี


เจ้าสัวอึ้งยุกหลง ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 2 ถึงแก่กรรมในปี 2482 ด้วยน้ำมือของพวก “อั้งยี่” ซึ่งแน่นอนว่าภาระหนักในการแบกรับ และสืบสานธุรกิจของวงศ์ตระกูลตกอยู่บนบ่าของสามพี่น้อง ซึ่งถือว่าเป็นพี่ใหญ่แห่งของตระกูลนั่นก็คือ อึ้งปักลิ้ม หรือ โชติ ล่ำซำ และ อึ้งจูลิ้ม หรือ จุลินทร์ ล่ำซำ รวมทั้ง เกษม ล่ำซำ


นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โชติ ล่ำซำ จุลินทร์ ล่ำซำ และเกษม ล่ำซำ สามพี่น้องแห่งตระกูลล่ำซำ ไม่เพียงแต่รักษามรดกธุรกิจที่ผู้เป็นบิดาทิ้งไว้เท่านั้น


ว่าพวกเขายังขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปกว้างไพศาล เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารของตระกูลล่ำซำ ขึ้นใหม่ในปี 2488 และจัดตั้งบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด รวมทั้งรุกเข้าสู่ธุรกิจอื่น ๆ มากมายหลายแขนง เฉพาะอย่างยิ่งสามารถพัฒนากิจการของธนาคารกสิกรไทย สู่ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรในยุคผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 4-5 ดังจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในตอนที่ 2


 

จาก : คอลัมน์เผ่าพงศ์วงศาและอาณาจักร 55 ตระกูลดังยุคไอเอ็มเอฟ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 8 เมษายน 2543

ดู 443 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page