top of page

ขอคุยมาเรื่อง ปราบดา หยุ่น

กับ “ความน่าจะเป็น”


คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


แต่ไหนแต่ไรมาข้าพเจ้าร่ำร้องอยากจะเป็น 'นาย(ของ)ภาษา' ที่เขียนหนังสือได้ตรงใจตัวเองจริงๆ รวมทั้งรสชาดที่ไม่ผิดเพี้ยนจากใจเลยจนนิด

ปราบดา หยุ่น เขียนไว้ว่า คนที่อยากจะเป็นคนดี แสดงว่ายังไม่ใช่คนดี ข้าพเจ้าก็รู้ดีว่าตัวเองยังไม่ใช่นาย(ของ)ภาษา เพราะยังอยากจะเป็นนักหนา

ที่อ้างปราบดาก็เพราะเพิ่งอ่านเรื่องสั้นชุด ความน่าจะเป็น เพื่อความทันสมัยในฤดู‘ซีไรต์’ ข้าพเจ้าไม่เคยพบปราบดา ไม่เคยอ่านการวิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับ ความน่าจะเป็น แค่ได้ยินว่าเกิดปฏิกริยาโต้ตอบหลากหลายต่อการชนะรางวัลซีไรท์ของหนังสือเล่มนี้

ตัวปราบดาเองจะเป็นนาย(ของ)ภาษาหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าคิดว่า ตัวเขาเท่านั้นที่จะรู้ว่าภาษาสื่อความหมายให้เขาได้ถึงใจและตรงใจเขาเองแค่ไหน

ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกแปลกๆว่า ปราบดากับภาษาไม่ใช่นายบ่าว แต่เป็นเพื่อนเล่น เป็นเพื่อนคู่ใจที่สนิท สนุกและบางครั้งก็ซุกซน แล้วก็ยังรู้สึกแปลกๆต่อไปว่า เพื่อนซี้คู่นี้ชวนกันซอกแซก ทดลอง สำรวจตรวจค้นผจญภัย ลากเส้นละเลงสี ภาษาของปราบดาดิ้นได้ และดิ้นได้ดี เพราะดิ้นอย่างมีที่มาที่ไป ไม่ใช่สักแต่ว่าดิ้น เพื่อเป็นขวัญใจคนอ่านรุ่นใหม่ หรืออะไรทำนองนั้น

“…เพลงเบาจากวิทยุในรถ(เมล์) คงเล่าเรื่องราวของสาวน้อยบ้านนาที่เข้าเมืองมาเสียน้ำตาในอ่างน้ำจนตัวเปื่อยใจแป้ว ฟังแล้วกินใจ อยากเป็นวีรบุรุษเข้าไปปลดปล่อยสาวน้อยเหล่านี้จากห้วงอเวจี เหมือนปล่อยสิ่งมีชีวิตในสวนสัตว์ให้เป็นอิสสระ…” อ่าฮ้า…ใช่แล้ว…อัตตาในความสงสาร… หมามุ่ยแสบคันสำหรับ ‘ความดี’ ที่ภูมิพองไปด้วยตัวตน

ในเรื่องสั้นเชิง absurd ชื่อ อะไรในอากาศ ปราบดาล้อเลียนสำนวนโวหารตลอดเรื่องที่มีบรรยากาศที่ข้าพเจ้าอยากเอาเองว่าจะเรียกว่า humorous pseudo-erotic surrealism (เพราะไม่รู้จะเรียกอะไร) เขาใช้อารมณ์ขันฉีกตำราว่าด้วยระดับภาษาที่สอดคล้องกับตัวละครและสถานการณ์ “…ตีนของเธอก็เปล่า และยังมีอีกหลายชิ้นส่วนที่เปลือยเปลี่ยวอยู่ใต้เนื้อผ้า หญิงสาวพูดเสียงแหลมว่า ‘เกิดอะไรที่นี่ ดูเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่ทับถมกันอยู่…”

อันที่จริงอยากจะยกตัวอย่างจากตอนอื่นที่เหมาะเหมงและมีสีสันกว่า แต่กระดากด้วยวัย


ความช่างสังเกตและขี้สงสัยคุ้ยคิดของปราบดา ท้าทายให้เรามองจากสารพัดจุดคิดที่ไม่เคยคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง นักเว้นวรรค และ ตามตาต้องใจ ข้าพเจ้าอ่านสองเรื่องนี้อย่างระมัดระวังเพื่อที่จะได้รายละเอียดพิลึกๆ ที่หลุดร่วงจากสมองคิดอันน่าทึ่งของ 'ผม' ในเรื่องแรก และเด็กหญิงต้องใจในเรื่องหลัง


หนุ่มปราบดาคนนี้มีความเป็นปัจเจกที่เป็นธรรมชาติโดยไม่เสแสร้งหรือโอ้อวด “Let my heart be still a moment and this mystery explore; / ‘It is the wind and nothing more” “ให้ใจฉันนิ่งสักช่วงขณะและหยั่งค้นความลึกลับนี้… / มันเป็นแค่ลม ไม่ใช่อะไรมากไปกว่านั้นเขาใช้สองบรรทัดจากบทกวีของ Edgar Allan Poe มาโปรยนำหน้าสารบัญ เหมือนจะบอกแต่ต้นว่าเขาไม่ได้คิดว่าสิ่งที่อยู่ในเล่มจะลึกล้ำอะไรนักหนา ก็เพียงแค่ลม… ก็จริง ขนาดชีวิตก็ยังผูกอยู่กับลม หยุดหายใจไม่กี่นาทีจะเหลืออะไร


ข้าพเจ้าชอบรูปถ่ายธรรมดาๆที่เขาใช้นำแต่ละเรื่อง เป็นรูปที่ถ่ายง่ายๆ พื้นๆ ไม่เน้นความเป็นศิลปะแต่ประการใด มีแนวคิดของเรื่องผสมอยู่อย่างไม่ตั้งอกตั้งใจจะให้ชัดเจน

ปราบดาตั้งโจทย์สดใหม่ที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องหมายคำถามในใจตัวเอง เกิดคำตอบหรือการสันนิษฐานที่ค่อนข้างจะลื่นไหลกลายเป็นเครื่องหมายคำถามอันใหม่ คนอ่านจะคิดต่อหรือไม่คิดต่อก็ได้…ตามอัธยาศัย…

เพราะปราบดาเขียนเรื่องเหมือนเล่นว่าว เขาชักซ้ายผ่อนขวาพาไปถึงบรรทัดสุดท้ายให้จบลงด้วยการทิ้งความรู้สึกคันๆ ไว้ให้อยากเกาต่อ เขาไม่ขมวดปมหรือเรียกร้องการตีความ เมื่อว่าวติดลมบนจนได้ที่แล้ว ก็ตัดสายป่านให้ลอยต่อ หรือจะร่อนลงก็ได้


ในเรื่อง นักเว้นวรรค ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเว้นที่ยาวผิดปกติระหว่างตัวอักษรและประโยคในการเขียนของนางสาววันดี 'ผม' สรุปกับตัวเองว่าคำว่า ช่องไฟ น่าจะเป็น ช่องคอย โดยให้เหตุผลสารพัด ในตอนจบ

“…รถเมล์กำลังชะลอความเร็ว ผู้โดยสารกรูกันไปยืนออที่ประตู

แล้วเจอกันใหม่นะคะ

แล้วเธอก็ไป

ผมนั่งนิ่งผ่านช่องคอยอีกเจ็ดช่อง

แล้วผมก็ลง


เป็นการจบที่เต็มได้ด้วย ช่องคอย ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามี ช่องคอย ช่องใหญ่กว่าเพื่อนหลังประโยคท้ายสุด “แล้วผมก็ลง”


คำว่า 'ช่อง' บวกคำว่า 'คอย' นั้นให้อารมณ์การหยุดรอดูสิ่งที่จะตามมาหรือจะเกิดต่อไป จากประโยคที่เขียนไปแล้ว …หยุด… รอดูซิ…ว่าประโยคที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ช่องคอย มีกลิ่นไอความหวัง ไม่ใช่คอยหาย ต้องมีอะไรต่อซิน่ะ อะไรนั้นคืออะไรnยังไม่ทราบ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ช่องคอย หลังประโยคสุดท้ายของชีวิตก็คงต้องจะยาวสักหน่อย


ขอออกตัวเสียตรงนี้เลยว่าข้าพเจ้าไม่ได้กำลังเขียนบทวิจารณ์ แค่เขียนคุยมาตามใจนึก


ข้าพเจ้าเคยเมินคำว่า 'เขวี้ยง' ว่าเป็นคำต่ำศักดิ์ต่ำศรี ไร้พื้นที่ในพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน จนกระทั่งได้อ่าน ตามตาต้องใจ ตอนครูมดเขวี้ยงชอล์กใส่เด็กหญิงต้องใจ ผู้ยืนหยัดในความเชื่อของตัวเองว่าหนึ่งบวกหนึ่งไม่เป็นสอง ด้วยเหตุผลด้านประสบการณ์ต่างๆ เช่นพ่อหนึ่งบวกแม่หนึ่ง เป็นสามคือพ่อแม่และเด็กหญิงต้องใจ

ข้าพเจ้าคิดเอาว่า 'เขวี้ยง' น่าจะเป็นลูกผสมจาก 'ขว้าง' กับ 'เหวี่ยง' และยอมรับว่าคงไม่มีคำอื่นมาแทนในบริบทนี้ได้ จะใช้ 'ขว้าง' ก็เสียอรรถรส เพราะวิถีและอาการของชอลค์ที่ถูก 'ขว้าง' ย่อมไม่เหมือนชอลค์ที่ถูก 'เขวี้ยง' ซึ่งมีวิถีที่โค้งบิด และรสชาติหงุดหงิด

ชอล์กโดนที่โหนกแก้มซ้ายเด็กหญิงต้องใจพอคันๆ แต่ครูมดนักเขวี้ยงกลับเป็นฝ่ายน้ำตาไหล

“เด็กหญิงต้องใจสรุปว่า การตอบตามความคิดคนส่วนใหญ่ คือปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตและเอาตัวรอด การตอบตามความคิดตัวเองคือปัจจัยหนึ่งในการนอนตาหลับ เด็กหญิงต้องใจยังสรุปได้อีกว่า 'ระหว่างคนเขวี้ยงกับคนถูกเขวี้ยง คนเขวี้ยงเจ็บมากกว่า…'


นับว่าการถูก 'เขวี้ยง' นำเด็กหญิงเจ้าปัญหาไปสู่ปัญญาในระดับที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ว่าแล้วก็อดสงสัย

ไม่ได้ว่าเมื่อเด็กหญิงต้องใจโตขึ้น เธอจะมีอะไรมิอะไรที่คล้ายนายปราบดาไหมหนอ

ชอบการบรรยายดวงตาของเจ้าปลงใน ด้วยตาเปล่า “… เหมือนมีกระแสไฟฟ้าแรงสูงลัดวงจรจนแตกเป็นประกายแวบวับอยู่เป็นหย่อม เหมือนมีฝนแสนห่าที่ต้องฝ่าแสนหน…”

ภาษาไทยเรามีอายุหลายร้อยปี ที่ยังกระฉับกระเฉงกะปรี้กะเปร่าเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ก็เพราะคงจะเป็นเพราะมีเพื่อนเล่นที่มีชีวิตชีวาเปลี่ยนหน้ากันเข้ามามาทุกยุคทุกสมัย


อ่านงานชุดนี้ของปราบดา หยุ่นแล้ว ข้าพเจ้าเห็นทีจะเลิกอยากเป็นนาย(ของ)ภาษา ลองเป็นเพื่อนเล่นดูบ้างจะเป็นไร ว่าไปแล้วเพื่อนอาจจะทำให้เพื่อนได้ดีกว่าบ่าวรับใช้นายก็เป็นได้


 

จาก : มติชนสุดสัปดาห์


ดู 282 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page