top of page

เติบโตในอังกฤษ

1952-1958 (พ.ศ. 2495-2501)



ทศวรรษที่ 1950 มักเป็นที่จดจำว่าเป็น ทศวรรษแห่งความมั่นคงและสงบสุข หลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 และสงครามโลกในทศวรรษ 1940 ทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมหลากหลายนำสินค้าใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจออกสู่ตลาด ผู้คนเข้าถึงสินค้าและความสะดวกสบายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลายสิ่งเปลี่ยนไป ทั้งการดำรงชีวิต การงาน การขนส่ง ความบันเทิง หรือกระทั่งดนตรี เรียกได้ว่า เป็นยุคที่ทัศนียภาพทางสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และผู้คนเริ่มพูดถึง ‘ยุคอวกาศ’


ในขณะเดียวกันโลกตกอยู่ใต้สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ที่แข่งขันกันขยายอำนาจ ทางเศรษฐกิจและการเมือง นำไปสู่ความหวาดวิตกต่อลัทธิคอมมิวนิสต์และสงครามนิวเคลียร์


ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในชีวิต ด.ญ.จำนงศรี ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 12 ปี ต้องจากบ้านไปใช้ชีวิตในต่างแดน โดยไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านอีกเลย จนกระทั่งอีก 6 ปีต่อมา คุณหญิงได้เล่า ความรู้สึกในวันแรกๆ ที่ไปถึงประเทศอังกฤษไว้ว่า


“...จำได้ว่าหนาวเหน็บ จนรู้สึกว่านิ้วแต่ละนิ้วกำลังค่อยๆ แปรสภาพเป็นแท่งน้ำแข็งพร้อมที่จะร่วงหลุดจากมือไปทีละท่อน และยังคงคิดต่อไปว่า เมื่อหล่นลงบนพื้นถนนที่ฉาบไปด้วยน้ำแข็ง มันคงจะลื่นไถลไปไกลเอาการ นอกจากนิ้วอันเย็นยะเยือกแล้ว ใจก็หนาวเหน็บ เพราะคุณพ่อซึ่งเดินทางไปส่ง จะอยู่ด้วยที่อังกฤษได้เพียง 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเดินทางไปธุระต่อที่อเมริกา...”


อังกฤษจาก ‘ปันส่วน’ ถึง ‘never had it so good’


ด.ญ.จำนงศรี คุณพ่อ และญาติมิตร ในวันเดินทาง กุมภาพันธ์ 1952(พ.ศ.2495)


คุณหญิงจำนงศรี เขียนบรรยายภาพนี้ไว้ใน Facebook ว่า“นักธุรกิจนายธนาคารไทย นาม จุลินทร์ พาลูกสาว นาม จำนงศรี อายุ 12 ปี 1 เดือน 5 วัน ไปถึง กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยเครื่องบิน KLM (มัง?) ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) เครื่องบินเป็นเครื่องบินใบพัด 4 เครื่องยนต์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางนานมาก จากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ถึง Heathrow Airport ลอนดอน ต้องแวะจอดเติมน้ำมันถึง 2 ครั้ง เข้าใจว่าที่ Karachi หรือ Calcutta และ ที่ไหนอีกแห่งจำไม่ได้


"สัก 2 วันต่อมา คือเช้าวันพุธ ที่ 6 กุมภาพันธ์ ฝรั่งตัวสูง ชื่อ Mr Silver ในโอเวอร์โค๊ตสีดำ (ทำไมยังจำชื่อเขาได้ก็ไม่รู้ เพราะมันตั้ง 70 ปีมาแล้ว) พาไปเดินแถว Westminster บริเวณใกล้ๆ Westminster Abbey จำได้ว่าอากาศอึมครึม ต้นไม้มีแต่กิ่ง ไม่มีใบ อากาศหนาวเย็นเยียบ บาดเข้าถึงกระดูกเลย จมูกเย็น ชาจนเหมือนจะหลุดออกจากหน้า (สมัยนั้นอังกฤษหนาวกว่าสมัยนี้มากๆ โลกร้อนขึ้นมากจริงๆ และเสื้อผ้าสมัยนั้นก็ไม่มีเทคโนโลยีการทำที่จะกันความหนาวได้เหมือนเดี๋ยวนี้)


ชาวลอนดอนอ่านข่าวการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์จอร์จที่ 6


"จู่ๆ Mr Silver ก็ดูเหมือนจะชะงัก แล้วก็ชี้ให้เราอ่าน flyer สมัยนั้น ตาม newsstand ที่เป็นลักษณะแท่น มีคนนั่งหรือยืนขายหนังสือพิมพ์ตามบาทวิถี จะมีสิ่งที่เรียกว่า flyers คือ กระดาษแผ่นใหญ่ เขียนตัวอักษร ด้วยหมึกดำเส้นใหญ่ยักษ์ ประกาศข่าวสำคัญของวันนั้นๆ...


“บน flyer ที่เขาชี้ให้เด็กหญิงไทยดูนั้น มีข้อความเขียนว่า “THE KING IS DEAD” ด.ญ. จำนงศรี อ่านไม่รู้เรื่อง ก็เงยหน้าหัวเราะกับเขา ตามวิสัยคนไทยในภาวะไม่รู้เรื่อง แล้วก็ต้องตกใจเมื่อเห็นว่าใบหน้าเขาเศร้ามาก เพราะมันเป็นคำประกาศข่าวการเสด็จสวรรคตของ พระเจ้ายอร์จ ที่ 6 (George VI) กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของประชาชนชาวอังกฤษในยุคนั้น


สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ


“ในวันหรือสองวันต่อมา ตามหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ก็จะมีภาพของกษัตริย์องค์ใหม่คือ Queen Elizabeth II พระพักตร์เศร้าหมองฉลองพระองค์สีดำ ประทับในลีมูซีนสีดำ ที่กำลังพาพระองค์จาก

สนามบินมายังพระราชวัง Buckingham…และในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เมื่อ 70 ปีมาแล้วนั้น เพลง “God Save the King” ก็เปลี่ยนเป็น “God Save the Queen”


“King George VI สวรรคตอย่างสงบในเวลากลางคืนขณะทรงพระบรรทม ที่พระราชวัง Sandringham พระชันษาเพียง 56 ปี...”


เจ้าหญิงเอลิซาเบธและกษัตริย์จอร์จที่ 6 ณ พระราชวังบัคกิงแฮม ปี 1950


กษัตริย์จอร์จที่ 6 เป็นหนึ่งในกำลังใจสำคัญของอังกฤษห้วงสงคราม ที่ ‘ยืนหยัดลำพัง’ต่อสู้กับนาซีเยอรมัน และเป็นที่มั่นสุดท้ายของยุโรป อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นผู้ชนะสงคราม แต่อังกฤษประสบความเสียหาย อย่างหนัก


ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ยังคงมองเห็นสภาพความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในเมืองต่างๆ และบางจุด

ยังคงอยู่จนถึงปี 1970 ผู้คนจำนวนมากยังยากลำบาก ขาดแคลนที่อยู่อาศัย และต้องเข้าคิวเพื่อปันส่วนอาหาร จนถึงเดือนกรกฎาคม 1954 จึงสิ้นสุดการปันส่วนอาหารในอังกฤษ


แต่เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1950 แผนการฟื้นฟูยุโรปของสหรัฐฯ ประกอบกับนโยบายภายในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปรวมถึงอังกฤษฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประชากรมีกำลังซื้อ และมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นจุดเริ่มต้นของบริโภคนิยมในยุโรป


โฆษณาความสะดวกสบายจากอาหารสำเร็จรูป ในยุค 1950


สินค้าหลากหลายที่ผลิตขึ้นมาในทศวรรษนี้ ทำชีวิตประจำวันความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น เตาไฟฟ้า

ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น ที่ปิ้งขนมปัง เครื่องซักผ้า รวมถึง อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ อีกทั้งยังมีมาตรการด้านสินเชื่อที่ช่วยให้ผู้คนทุกระดับสามารถซื้อสินค้าที่ต้องการในระบบผ่อนชำระ


รายได้และเวลาว่างที่มากขึ้น ทำให้ผู้คนเข้าสู่ชีวิตที่ผ่อนคลาย มีกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนและสันทนาการหลากหลาย ตั้งแต่เล่นบิงโกไปจนถึงการเต้นรำหน้าวิทยุกับเพลงฮิต เช่น Rock around the cock ของ Bill Haley & His Comets จากฝั่งอเมริกัน ในวันหยุดคนส่วนใหญ่นิยมไปพักผ่อนชายทะเล


ด้านกีฬา เริ่มมีการแข่งขันฟุตบอลที่พัฒนาต่อมาจนถึงเวลานี้ ส่วนแฟชั่นเปลี่ยนจากเสื้อผ้ายุคสงคราม

ที่เน้นความประหยัด รูปแบบคล้ายเครื่องแบบทหาร ทรงหลวมๆ และสีทึมทึบ เข้าสู่ยุคนิวลุคที่ฟุ่มเฟือย เน้นรูปร่าง และสีสดใสพาสเทล



ฮาร์โรลด์ แมคมิเลียนกับสุนทรพจน์ปลุกใจชาวอังกฤษถึงชีวิตที่ดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


สหราชอาณาจักรตอนปลายทศวรรษ 1950 โดยรวม จึงมีภาพเช่นในสุนทรพจน์ ในปี 1957ของ ฮาร์โรลด์ แมคมิเลียน นายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ประกาศว่า อังกฤษในเวลานี้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต ‘never had it so good’ หรือพูดได้ว่าเป็นยุครุ่งโรจน์ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาของประเทศ


เริ่มต้นยุคโทรทัศน์


การถ่ายทอดราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953


การถ่ายทอดสดราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 ส่งผลให้จำนวนโทรทัศน์ ในอังกฤษพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนจำนวนมากซื้อเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อที่จะไม่พลาดราชพิธีนี้ ครั้นถึงปี 1955 เมื่ออังกฤษมีช่อง ITV เพิ่มจากช่อง BBC หนึ่งในสามของครัวเรือนอังกฤษมีโทรทัศน์ เมื่อสิ้นทศวรรษ ครัวเรือนอังกฤษร้อยละ 90 มีโทรทัศน์ ณ จุดนี้ จำนวนผู้ชมภาพยนตร์ลดลงอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก ที่โทรทัศน์เข้ามาเป็นทางเลือกในการพักผ่อนหย่อนใจ แทนที่การออกไปชมภาพยนตร์


ชาวอังกฤษยังชอบฟังวิทยุ โดยเฉพาะ สถานี BBC รายการยอดนิยม คือรายการตลก The Goon Show (1952-1960) ต่อมามีรายการทำนองนี้ในโทรทัศน์ด้วย เช่น Till Death Us Do Part นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ยังเป็นสื่อสำคัญด้านข่าวสาร

ผลพวงจากการเติบโต


วิกฤตหมอกควันพิษในลอนดอน ปี 1952

ภาพโดย N T Stobbs, CC BY-SA 2.0,



ในความรุ่งเรืองและมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ทวีสูงขึ้น ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่เป็นผลพวงจากความรุ่งโรจน์นั้น เช่น มลภาวะ บทบาทของผู้หญิงในสังคมที่เปลี่ยนไป การอพยพเข้ามาของชาวอาณานิคม ฯลฯ


ทศวรรษนี้สหราชอาณาจักรผลิตสินค้าถึงหนึ่งในสี่ของการค้าโลก เป็นผู้นำระดับโลกและทวีปในหลาย อุตสาหกรรม เช่น การต่อเรือ การผลิตถ่านหิน เหล็ก รถยนต์ สิ่งทอ และหลายอุตสาหกรรมเติบโต อย่างรวดเร็ว เช่น อุตสาหกรรมเคมีและกลั่นน้ำมัน ทั้งหมดทำให้อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมลพิษสูงสุด

การเผาเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อให้ความร้อนในที่อยู่อาศัย และสร้างพลังงานในอุตสาหกรรม สร้างมลพิษ

ทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ก่ออันตรายต่อต่อผู้คนและสิ่งก่อสร้าง เช่น วิกฤตหมอกควันในลอนดอน ปี 1952 คลุมเมืองต่อเนื่องนาน 5 วัน มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน จากโรคหัวใจและโรคปอด นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำเสียและปัญหาภูมิทัศน์อีกด้วย


ความต้องการแรงงานและโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีคนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นชาวอาณานิคมเดิม ทั้งนี้หลังสงคราม สถานะของอังกฤษถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ประเทศอาณานิคมพากันแยกตัวเป็นอิสระ จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินปิดฉากด้วยความล้มเหลวในวิกฤตการณ์คลองสุเอซ ปี 1956 ส่งผลให้อังกฤษและฝรั่งเศสสูญเสียอิทธิพลในตะวันออกกลาง ต้องคืนคลองสุเอซให้กับอียิปต์


ในขณะเดียวกันสายสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิม ทำให้อังกฤษต้องเปิดรับผู้อพยพจากประเทศอดีตอาณานิคม และประเทศในเครือจักรภพ อังกฤษเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความขัดแย้งซ่อนอยู่ภายใน

เช่น การจราจลที่น็อตติงฮิลล์ ปี 1958 ที่เผยให้เห็นปัญหาการเยียดผิว


ปัญหาอาชญากรรมรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ปลายทศวรรษ 1950 จึงเป็นจุดเริ่มของการเริ่มต้นเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคม ที่ต่อเนื่องไป ใน

ทศวรรษต่อมา เช่น การเรียกร้องสิทธิแรงงาน สิทธิพลเมือง รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี


แม้เครื่องผ่อนแรงทำให้การจัดการงานบ้านง่ายขึ้นและใช้เวลาน้อยลง แต่หนึ่งในเหตุผลที่ครอบครัวชนชั้นแรงงานสามารถซื้อข้าวของที่ต้องการได้ ก็เพราะภรรยาออกไปทำงานเช่นเดียวกับสามี ตรงข้ามกับภาพในอุดมคติของยุคนั้น ที่ผู้หญิงถูกคาดหมายให้ทำงานแค่ช่วงสั้นๆ ก่อนแต่งงาน และใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ดูแลลูก สร้างครอบครัวที่อบอุ่น สอดรับกับการขยายตัวของครอบครัว ในช่วงเวลาสุขสงบหลังสงคราม


ค่านิยมนี้ไม่เพียงขัดแย้งกับความจริง แต่ส่งผลต่อคุณค่าในตัวเองของผู้หญิง และผู้หญิงจำนวนมากมี

เป้าหมาย ในชีวิตที่ต่างออกไปจากความคาดหมายของสังคม ความขัดแย้งเหล่านี้ เป็นพื้นฐานของขบวนการสิทธิสตรี


อย่างไรก็ตาม การปะทุขึ้นของสงครามเย็น ความหวาดกลัวการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ และความกังวลเรื่องสงครามนิวเคลียร์บดบังทุกความขัดแย้ง ทั้งนี้ใน ปี 1952 อังกฤษเป็นประเทศที่สาม ถัดจากสหรัฐฯและ โซเวียตที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์


จุดเริ่มป็อปอาร์ต



Festival of Britain 1951 ภาพโดยPeter Benton, CC BY-SA 2.0,


เทศกาลแห่งบริเตน (Festival of Britain) ในปี 1951 เป็นการเฉลิมฉลองการฟื้นตัวจากสงคราม สร้างความเชื่อมั่นใหม่ให้ชาวอังกฤษ และรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ในวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีของ Great Exhibition ที่จัดขึ้นในปี 1851


เทศกาลนี้จัดขึ้นบนพื้นที่ 27 เอเคอร์กลางกรุงลอนดอนซึ่งได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิด

ที่มีเป้าหมายจะการพัฒนาใหม่เป็น The Southbank Centre สำหรับงานแสดงและศิลปะ เป็นศูนย์รวมของสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นของศตวรรษที่ 20 ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ทั้ง Royal Festival Hall, National Theatre และ Hayward Gallery



ผลงานของRichard Hamilton, Just What is It That Makes Today’s Homes So Different, so Appealing?, 1956


ต่อมาในปี 1956 กลุ่ม Independent Group ซึ่งมีฐานอยู่ในลอนดอน จัดแสดงผลงานที่เป็นต้นธารของ Pop Art ในนิทรรศการ This Is Tomorrow แสดงให้เห็นวิถีชีวิตแบบอเมริกันที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของสาธารณชนชาวอังกฤษ ทั้งในด้านวัฒนธรรมและสินค้าทางวัตถุ เช่น ผลงานของ Richard Hamilton ที่ประกอบด้วยภาพตัดปะจากนิตยสารและโฆษณาเครื่องใช้ในบ้าน พร้อมคำบรรยายภาพว่า 'แค่อะไรที่ทำให้บ้านทุกวันนี้แตกต่างและดึงดูดใจ' เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อความมั่งคั่งและความหลงใหลในสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนมุมมอง ‘never had it so good’ของนักการเมือง


ป็อปอาร์ตยังเป็นการตอบรับ ต่อ abstract expressionism ที่มีศูนย์กลางอยู่ในอเมริกา และขยายออกมาถึงยุโรป อังกฤษส่งอิทธิพลป็อปอาร์ตกลับไปยังอเมริกา และศิลปะแนวนี้พัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษถัดมา ด้วยแนวคิดที่ท้าทายต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคม และความเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยงจากบริโภคนิยม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทศวรรษต่อมา ป็อปอาร์ตเบ่งบานในอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของบริโภคนิยม


เบบี้บูมในอเมริกา


สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ทศวรรษที่ 1950 คือการกลับสู่สภาวะปกติ หลังจากสงครามที่บ้าคลั่งหลายปี เศรษฐกิจอเมริกาโตมากกว่าสองเท่าตัว เข้าสู่ยุคทองของทุนนิยมอเมริกัน ประชากรหลายล้านคนเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นชนชั้นกลาง การเมืองมีเสถียรภาพภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี

ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ วีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่สอง


ในขณะเดียวกันการแข่งขันระหว่างค่ายเสรีนิยมและค่ายคอมมิวนิสต์ ในการพัฒนาอาวุธและพิชิตอวกาศ ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อาทิ มีการค้นพบโครงสร้างพื้นฐานของ ดีเอ็นเอในปี 1953 โรคร้ายได้รับการรักษาด้วยวัคซีนเป็นครั้งแรก รวมทั้งโรคหัด และโรคโปลิโอ การปลูกถ่ายอวัยวะกลายเป็นจริงในปี 1950 ส่งผลให้ชีวิตมนุษย์ยืดยาวออกไป


ชาวยุโรปและชาวอเมริกันหลังสงครามต่างเชื่อในความเป็นไปได้ของความก้าวหน้าและการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ท่ามกลางความเชื่อมั่นนี้ ชาวอเมริกัน(รวมถึงที่อื่นๆ ในโลก) มีลูกเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ สานต่อยุค ‘เบบี้บูม’ ที่เริ่มขึ้นในปี 1946 (สิ้นสุดในปี 1964) ในทศวรรษนี้ประชากรของอเมริกาเพิ่มจาก 150 ล้านคน เป็น 178 ล้านคน


ภาพโฆษณาชีวิตชาวอเมริกันทศวรรษ 1950



นำไปสู่การขยายตัวของบ้านชานเมืองที่เหมาะกับการสร้างครอบครัวใหม่ มีห้องนั่งเล่น ห้องนอนเป็นสัดส่วนมากกว่าอพาตเม้นท์ในเมือง อย่างไรก็ตามความรุ่งเรืองนี้ไม่ครอบคลุมในทุกผิวสี และผู้หญิงทุกคนไม่ได้มีความสุขในบ้านชานเมือง ค่านิยมที่ผลักดันให้ผู้หญิงต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านและลูก เป็นภรรยาและแม่ ไม่ได้เติมเต็มความต้องการของผู้หญิงที่ต้องการสิ่งอื่นๆ ในชีวิต ความขับข้องใจนี้นำไปสู่การเคลื่อนไหว ของกลุ่มเฟมินิสต์ในทศวรรษถัดมา


สำหรับกลุ่มอาฟริกันอเมริกัน แม้การจะต่อสู้เรื่องการเยียดผิวมีมาหลายทศวรรษ แต่ทศวรรษ 1950 การต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติกลายเป็นกระแสหลักในอเมริกา ในเดือนธันวาคม 1955 โรซา พาร์คส์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวผิวสี ถูกจับเนื่องจากไม่ยอมให้ที่นั่งบนรถประจำทางแก่คนผิวขาว นำไปสู่การคว่ำบาตรรถประจำทางในเมืองเป็นเวลา 13 เดือน และยุติลงเมื่อบริษัทรถโดยสารหยุดเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารผิวดำ


เหตุการณ์นี้ ทำให้ ‘การต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรง’ เช่น การคว่ำบาตร เป็นรูปแบบหลักของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในเวลาต่อมา


ทฤษฎีโดมิโนและรายการโทรทัศน์


ตั๋วชมการแสดงในโลกเสรีครั้งแรกของคณะบัลเล่ต์บอลซอย


ปี 1956 คณะบัลเล่ต์บอลซอย (The Bolshoi Ballet) ของรัสเซีย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคณะบัลเล่ต์ ที่ดีที่สุดในโลก เปิดการแสดงให้ผู้ชมในโลกเสรีได้ดูเป็นครั้งแรกในลอนดอน นับเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองค่ายการเมืองในช่วงสงครามเย็น


คุณหญิงจำนงศรีเล่าถึงประสบการณ์ ในการเข้าชมบัลเล่ต์บอลซอยในครั้งนั้นไว้ว่า ต้องไปนอนบนบาทวิถีกับเพื่อนฝรั่งสองคนถึง 2 วัน 2 คืน ท่ามกลางความหนาวเยือกและเฉอะแฉะของฝนฤดูใบไม้ร่วง "....เป็นครั้งแรก ที่ Boishoi Ballet ของรัสเซียจะออกมาแสดงให้โลกภายนอกได้ดู ก่อนนั้นรัสเซียปิดตัวเองอยู่หลังม่านเหล็ก (Iron Curtain) ตั๋วหมดเกลี้ยง เราก็เข้าคิวรอตั๋วที่เขาคืนกลับมา...ที่นั่งเลือกไม่ได้ ได้ตามคิว ตั๋วของเราเป็นที่นั่งหลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธกับเจ้าชายฟิลิป เพียงไม่กี่แถว คนคืนตั๋วใบนี้คงเป็นระดับขุนนาง... ดีมั้ยล่ะ นอนข้างถนนแล้วก็นั่งลอยฟ้าในวันเดียวกัน"


นโยบายต่างประเทศที่ผ่อนปรนลงของรัสเซีย สืบเนื่องมาจาก ในวันที่ 5 มีนาคม 1953 โจเซฟ สตาลิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ อันเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียต เสียชีวิตจากอาการเลือดออกในสมอง ทั้งนี้สตาลินก้าวขึ้นสู่อำนาจ ในปี 1924 หลังการเสียชีวิตของเลนินผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย


นิกิตา ครุชชอฟ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แทนสตาลิน และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 1964 นโยบายต่างประเทศของครุชชอฟผ่อนปรนลง เป็นการอยู่ร่วมกันโดยสันติกับนานาประเทศ แต่ทั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบที่ว่าต้องไม่ท้าทายหรือทำลายระบอบสังคมนิยมโซเวียต


ในช่วงเวลานั้นเพิ่งสิ้นสุด สงครามเกาหลี (1950-1953) ที่จบลงด้วยการที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถยึดครองเกาหลีเหนือ สหรัฐจึงพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะปกป้องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อไม่ให้แต่ละประเทศล้มตามกัน 'เหมือนโดมิโน' และมุ่งสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกวิถีทาง ทั้งการสร้างพันธมิตรในกลุ่มเสรีนิยมเพื่อปิดล้อมกลุ่มประเทศสังคมนิยม การดำเนินการด้านการทหารและ

การทูต รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมเสรีนิยมและชี้ให้เห็นอันตรายของคอมมิวนิสต์


ทั้งหมดส่งผลให้ผู้คนพากันหวาดระแวงกลัวคอมมิวนิสต์ที่รับรู้กันในเวลานั้นว่า “เป็นพวกไร้พระเจ้า เชื่อในระบบการปกครองที่รัฐควบคุมเศรษฐกิจ และวิถีการผลิตที่ทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน” ยิ่งกว่านั้นชาวอเมริกันพากันกลัวคอมมิวนิสต์ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์


ความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์และการส่งเสริมลัทธิปัจเจกชนนิยม รวมถึงอุดมการแบบทุนนิยม ปรากฎให้เห็นในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะ โทรทัศน์ สื่อยุคใหม่ที่นำความบันเทิงและข่าวสารส่งถึงบ้าน


ในทศวรรษ 1950 ครอบครัวชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งประเทศมีเครื่องรับโทรทัศน์ รับชมรายการจาก 3 สถานี ABC, CBS และ NBC ที่ผลิตรายการมากมายหลากหลาย อาทิ รายการตลก วาไรตี้ ละคร การถ่ายทอดกีฬา และรายการสำหรับเด็ก เช่น กัปตันจิงโจ้, มิกกี้เม้าส์คลับ ที่มีเป้าหมายอยู่ที่เหล่าเบบี้บูม


'หนูน้อยบีเวอร์' รายการดังที่แสดงภาพอุดมคติของชาวอเมริกัน ยุค 1950s


หนึ่งในรายการยอดนิยมคือ รายการเพื่อครอบครัว อาทิ ซีรีย์ I Love Lucy, The Honeymooners, The Twilight Zone ฯลฯ ซึ่งรายการกลุ่มนี้ จำนวนหนึ่งมุ่งส่งเสริมครอบครัวและปัจเจกชนนิยม ซึ่งตรงข้ามกับอุดมการคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีครอบครัวและไม่มีปัจเจกชน ซีรีย์ตลกหลายเรื่องนำเสนอภาพชีวิตครอบครัวแบบอุดมคติ ในบ้านชานเมืองหลายห้องนอน มีพ่อเป็นพนักงานออฟฟิศ ที่เฉลียวฉลาด รายได้ดี และแม่ที่เป็นแม่บ้านผู้อ่อนหวาน มีความสุข ส่วนลูกๆ ก็เป็นเด็กตามอุดมคติที่เด็กอเมริกันควรจะเป็น ซุกซนบ้างแต่ไม่ดื้อรั้นจนเป็นอันตราย อย่างเช่น รายการ หนูน้อยบีเวอร์/ Leave It to Beaver และ Father Knows Best เป็นต้น


นอกจากนี้ รายการอีกประเภทที่เป็นที่นิยมและสะท้อนความรู้สึกของชาวอเมริกันในเวลานั้น คือ ซีรีย์ผจญภัยในแดนตะวันตกซึ่งเน้นความเป็นเอกภาพในการเผชิญกับอันตราย และความสามารถในการอยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร

โดยสรุปในช่วงเวลานี้เอง ที่ปัจเจกชนนิยม เสรีนิยม ตลอดจนความผูกพันใกล้ชิดภายในครอบครัว(family togetherness) ที่ได้รับการส่งเสริม เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ กลายเป็นค่านิยมที่ได้รับการนิยามใหม่ว่า แสดงถึงความเป็น ‘อเมริกัน’ ที่ส่งผลให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในเวลานั้นมุ่งแสวงหาสถานภาพทางสังคม และวัดความสำเร็จตาม ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ ด้วยขนาดของบ้าน รถยนตร์ รวมทั้งเครื่องอำนวย ความสะดวกต่างๆ


ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการรับรู้ปัญหาต่างๆ ในสังคม เช่น การแบ่งสีผิว ความยากจน สิทธิสตรี สงคราม ฯลฯ บางครั้งทศวรรษนี้ จึงถูกเรียกว่า ‘ทศวรรษพลาสติก’ ที่คนส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมอยู่ในภาพลักษณ์ของชีวิตที่สุขสมบูรณ์


วรรณกรรมต้าน


ปกฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ The Catcher in the Rye (1951)

ออกแบบโดย Michael Mitchell


วรรณกรรมในทศวรรษนี้ มีความหลากหลายมากกว่าสื่ออื่นๆ ส่วนหนึ่งยังมีร่องรอยของสงครามปรากฎให้เห็น รวมถึงวรรณกรรมอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด Lord of the Rings (1954–1955) ของ J.R.R. Tolkien ที่ไม่เพียงขายดีตลอดกาล ยังได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อวรรณกรรมแนวแฟนตาซีตลอดมา


อีกเล่มสำคัญคือ บันทึกของแอน แฟรงค์ /Anne Frank, The Diary of a Young Girl (ฉบับแปลภาษาอังกฤษ, 1952) นอกจากนี้ในฝั่งอังกฤษ ยังมีกลุ่มวรรณกรรมที่พูดถึงผลกระทบของวัฒนธรรมบริโภคนิยมจากมุมมองของ ชนชั้นแรงงาน เช่น Saturday Night and Sunday Morning (1958) ของ Alan Sillitoe Look Back in Anger(1956) ของ John Osborne ส่วนกลุ่มวรรณกรรมเพื่อความบันเทิง มีอาทิ หนังสือชุด เจมส์ บอนด์ ของเ เอียน เฟลมมิง


ทางฝั่งอเมริกามีหลากหลายวรรณกรรมสะท้อนยุคสมัย ที่มีทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความกังวลในภัยคอมมิวนิสต์ รัฐอำนาจนิยม ความขัดแย้งของกลุ่มคนที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นอายุ ผิวสี เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฯลฯ โดยนักเขียนทั้งที่มีชื่อเสียงอยู่เดิมและนักเขียนใหม่ อาทิ สองนักเขียนรางวัลโนเบล เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ กับ ผลงานรางวัลพูลิตเซอร์ The Old Man and the Sea (1952) และ จอห์น สไตน์แบ็ค East of Eden (1952) หนังสือต่อต้านอำนาจนิยมและสะท้อนให้เห็น ความหวาดกลัวและการใช้อำนาจควบคุมของรัฐบาล ของ เรย์ แบรดบิวรี, Fahrenheit 451 (1953) ชุดนวนิยายวิทยาศาสตร์ของไอแซค อาซิมอฟ และหนังสือที่เป็นหมุดหมายสำคัญของ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนผิวสี Invisible Man (1952) ของ ราล์ฟ เอลลิสัน


วรรณกรรมเยาวชน ที่ครองใจผู้อ่านจนทุกวันนี้ ของ อี.บี. ไวท์ Charlotte’s Web/แมงมุมเพื่อนรัก (1952) เรื่องราวของแมงมุมที่ฉลาดและเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลก มีแนวคิด ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตามธรรมชาติ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการพูดถึงชีวิตและความตายในแบบที่ประทับใจคนทุกวัย


นวนิยายที่เป็นที่ถกเถียงมากที่สุด และยอดขายสูงสุดในทศวรรษนี้ ถึงกับมีคำพูดว่า ไม่มีใครที่ไม่ได้อ่านเรื่องนี้ Lolita (1955) ของนักเขียนอเมริกัน-รัสเซีย วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ ที่ว่าด้วยความลุ่มหลงอันทำลายชีวิต และเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลให้ได้มีชีวิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อลวง


หนังสือที่เป็นเหมือนคัมภีร์คนหนุ่มสาวในทศวรรษต่อๆ มา ของเจ. ดี. ชาลินเจอร์ The Catcher in the Rye (1951) เรื่องของโฮลเดน คอลฟิลด์ เด็กหนุ่มอายุ 16 ที่ชิงหนีจากโรงเรียนประจำก่อนถูกไล่ออก เขาท่องไป ในนิวยอร์ค เพื่อค้นหาความจริงและต่อสู้กับโลกลวงของผู้ใหญ่ ยอดขายของหนังสือเล่มนี้ สะท้อนความรู้สึกร่วมของคนหนุ่มสาวต่อผู้ใหญ่ ทำนองเดียวกับเสียงตอบรับต่อ ‘ร็อคแอนโรล’


ทรานซิสเตอร์และร็อคแอนด์โรล


ท่ามกลางฉากหลังที่ขัดแย้งกัน ระหว่างความปกติสุขของชีวิตที่มั่นคงและความหวาดกลัวอันมืดมิด ‘ร็อกแอนด์โรล’ ถือกำเนิดขึ้น และเริ่มต้นเขย่าโลกด้วย Rock around the cock ของ Bill Haley & His Comets



Bill Haley & His Comets


เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Blackboard Jungle เล่าถึงเหล่าวัยรุ่นขบถหลายเชื้อชาติ และครูคนใหม่ที่ต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงพวกเขาให้อยู่ในร่องรอย ด้วยเนื้อหาของหนังและจังหวะที่แปลกใหม่ เร้าใจของเพลง ทำให้คนทั้งโลกได้รู้จักเพลงนี้ พร้อมกับแนวดนตรีใหม่ ‘ร็อคแอนด์โรล’


ตามมาด้วยราชาเพลงร็อคแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ และบรรดาเจ้าชายอีกหลายสิบคน เช่น ชัค เบอร์รี ลิตเติล ริชาร์ด เจอร์รี ลี ลูอิส ฯลฯ เพลงของพวกเขาดังจากวิทยุติดรถยนต์หน้าร้านอาหารแบบไดร์ฟอินทั่วอเมริกา และแผ่ขยายอิทธิพลออกไปทั่วทุกทวีป


นับเป็นครั้งแรกที่ดนตรีได้รับการสร้างสรรค์ออกมา โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มวัยรุ่น และอาศัยวิทยุเป็นสื่อสำคัญ นอกจากครองใจวันรุ่นด้วยจังหวะและความเป็นสัญญะของการต่อต้านอำนาจนิยม ดนตรีร็อคยังเป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีแนวคันทรีของศิลปินผิวขาว กับเพลงบลูของนักดนตรีผิวดำ เป็นการเริ่มต้นทลายกำแพงผิวสีในวัฒนธรรมสมัยนิยม เมื่อเยาวชนผิวขาวติดตามนักดนตรีแอฟริกันอเมริกัน ชัค เบอร์รี และ ลิตเติ้ล ริชาร์ด


แม้บรรดาผู้ใหญ่และพ่อแม่ ไม่ค่อยพึงใจกับเสียงดังหนวกหูของร็อคแอนด์โรล ที่มีท่าทีส่งเสริมการต่อต้านของวัยรุ่นและการแสดงออกทางเพศ แต่กว่าร้อยละ 68 ของเพลงที่เล่นทางวิทยุในสหรัฐฯ ปี 1956 เป็นร็อคแอนด์โรล


ทั้งนี้ร็อคแอนด์โรลคงแพร่กระจายไปได้ช้าและยากลำบากกว่านี้มาก ถ้าในจังหวะนั้นไม่มี ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ซึ่งเกิดจากความสำเร็จในการคิดค้น ‘ทรานซิสเตอร์’ ในปี 1954 ทำให้วิทยุขนาดเล็กลง

พกพาได้ แถมยังราคาถูก ให้อิสระกับวัยรุ่นในการเลือกความบันเทิงที่ตัวเองชอบในทุกๆ ที่ โดยไม่ต้องนั่งติดอยู่หน้าทีวีร่วมกับผู้ใหญ่ และทรานซิสเตอร์ทำให้วิทยุติดรถยนต์ ที่เคยมีราคาแพงกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์


ร็อคแอนโรลข้ามฟากมาถึงอังกฤษ และเป็นที่นิยมในกลุ่มหนุ่มสาวที่ต้องการความสนุกหลังสงคราม ขณะที่วัยรุ่นอีกมากยังค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขา ศิลปินแนวอื่นจึงยังเป็นที่นิยม เช่น แฟรงค์ ซิเนตรา (แจ๊ซ) คลิฟฟ์ ริชาร์ด (ป็อป) ที่มีเพลงติดอันดับเช่นกัน


ในช่วงแรกผู้ใหญ่พากันต่อต้านร็อคแอนโรล และคิดว่าคงเป็นกระแสชั่วคราว แต่แล้วปราการดูเหมือนพังทลายลงพร้อมกับที่ “Rock Around the Clock” เพลงติดชาร์ตอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาข้ามแอตแลนติก มาขึ้นถึงอันดับ 6 ในชาร์ตของอังกฤษ และยิ่งยากจะหยุดความคลั่งไคล้ใหม่ของคนหนุ่มสาว เมื่อเข้าสู่ยุค เอลวิส เพรสลีย์


ปลายทศวรรษที่ 50 อิทธิพลของร็อคแอนด์โรลเข้าครอบคลุมอังกฤษ เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก ผ่านทางคลื่นวิทยุและทีวี รวมถึงภาพยนตร์ที่เป็นกลไกหลักในการเผยแผ่ วัฒนธรรมป็อปแบบอเมริกัน (American pop culture) ที่สำคัญ ‘ร็อคแอนด์โรล’ ได้ไม่เป็นแค่เพียงแนวดนตรี ยังกำหนดไลฟ์สไตล์ เสื้อผ้า ทรงผม ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการพูดอีกด้วย

ภาพยนตร์ในยุคโทรทัศน์


ในยุคที่ผู้คนหาความบันเทิงได้ที่บ้าน ภาพยนตร์จำนวนมากถูกผลิตออกมาต่อสู้กับโทรทัศน์ มีการใช้

เทคนิคใหม่ๆ เช่น ระบบจอกว้าง CinemaScope ระบบ 3 มิติ เพื่อดึงดูดผู้ชมให้ออกจากบ้าน รวมถึงการสร้างภาพยนตร์ที่มีดาราดังๆ รับประกันรายได้ เช่น จอห์น เวยน์ เจมส์ สจ๊วต ชาร์ลตัน เฮสตัน มาร์ลอน แบรนโด เกรซ เคลลี่ ดีน มาร์ติน เอลิซาเบธ เทเลอร์ และมาริลีน มอนโร ทศวรรษ 1950 จึงนับเป็นทั้งช่วงเวลาที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดสำหรับวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด


โรงภาพยนตร์แบบไดรฟ์อินกำลังเฟื่องฟู มีจำนวนสูงถึงกว่า 4,000 แห่ง ตอบสนองต่อวัฒนธรรมรถยนต์ ของชาวอเมริกา อย่างไรก็ตาม สตูดิโอฮอลลีวูดรายใหญ่เผชิญกับวิกฤตผลกำไร เนื่องจากจำนวนผู้เข้าชมลดลง ต้องหารายได้โดยการเสนอขายหนังเก่าให้กับสถานีโทรทัศน์


The Robe เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเสนอในระบบ CinemaScope ซึ่งเป็นระบบจอกว้าง และต่อมา

กลายเป็นมาตรฐานจนถึงปัจจุบัน ความสำเร็จทางรายได้ ทำให้มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ต่อเนื่องออกมาตลอดทศวรรษ อาทิ The Ten Commandments (1956) Ben-Hur (1959) เป็นต้น


แม้เป็นยุคของทีวี แต่ภาพรวมในระดับโลกภาพยนตร์เป็นที่นิยมมากขึ้น ทศวรรษนี้เป็นยุคแจ้งเกิดของผู้กำกับ และนักแสดงระดับตำนานจำนวนมาก หลายคนจับคู่กัน ส่งผลให้มีภาพยนตร์หลากประเภทที่ได้รับการยกย่อง ให้เป็นหนังคลาสสิค ในขณะที่มีเทศกาลภาพยนตร์เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เปิดให้โลกได้รู้จักกับหนังจากที่อื่นๆ นอกฮอลลีวูด นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการแสดงใหม่ๆ ไปจนถึงวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกภาพยนตร์


คู่ผู้กำกับและนักแสดงกับผลงานที่โดดเด่นในทศวรรษนี้มี อาทิ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก กับ เจมส์ สจ๊วด แกรี

คูเปอร์ และเกรซ เคลลี ใน Stranger on a Train (1951), Rear Window (1954), North by Northwest (1959), Vertigo (1958) อิเลีย คาซานกับมาร์ลอน แบรนโด ใน A Streetcar Named Desire (1951)

จากบทละครของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ และ On the Waterfront (1954) รูปแบบใหม่ในการแสดง ที่เป็นธรรมชาติของ มาร์ลอน แบรนโด ส่งอิทธิพลต่อนักแสดงในยุคต่อมา เช่น เจมส์ ดีน, อัล ปาชิโน และ โรเบิร์ต เดอ นีโร นอกจากนี้ยังมีคู่หนังคาวบอย จอห์น ฟอร์ด และจอห์น เวย์ The Searchers (1956)


ในขณะที่มีหนังนอกกระแสจากยุโรปที่ส่งผลต่อพัฒนาการในการสร้างภาพยนตร์ อาทิ The Seventh Seal (1957) ของผู้กำกับชาวสวีเดน อิงมา เบิร์กแมน เรื่องของอัศวินที่ต้องเผชิญหน้ากับตัวตนของความตาย การใชัสัญลักษณ์ในเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อมาอีกหลายทศวรรษ รวมถึง The 400 Blows (1959) ของ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ฟรังซัวร์ ทรุฟโฟต์ เรื่องราวของเด็กชายชาวฝรั่งเศสที่กลายเป็นหัวขโมย


หนังแนวสัจจนิยมสะท้อนปัญหาในสังคมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง อาทิ Paths of Glory (1957) เรื่องราวการต่อสู้กับอำนาจในวงการทหาร ของ สแตนลีย์ คูบริก High Noon (1952) ของ Fred Zinnemann หนังคาวบอยรูปแบบใหม่ ที่เวลาในภาพยนตร์เกือบเท่ากับเวลาจริง และหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ เดวิด ลีน ผู้กำกับชาวอังกฤษ The Bridge on The River Kwai (1957) เรื่องราวการสร้างทางรถไฟสายมรณะในประเทศไทย ที่กวาดรางวัลออสการ์ ถึง 7 รางวัล รวมทั้งรางวัลผู้กำกับภายนตร์ยอดเยี่ยม


Singin' In The Rain (1952)


ทางด้านภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง Singin' In The Rain (1952) ของ สแตนลีย์ โดเนน หนังเพลงคลาสสิค ที่ฉากเต้นรำกลางสายฝนเป็นหนึ่งในฉากที่เป็นที่จดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

Some Like It Hot (1959) หนังตลกบทสนทนาคมคายของ บิลลี่ ไวล์เดอร์ ทั้งยังเป็นหนังที่ดีที่สุดในชีวิตการแสดงของ มาริลีน มอนโร ส่วน วอลต์ ดิสนีย์ ได้ Cinderella (1950) ช่วยให้ได้ฟื้นตัวจากการขาดทุน และเป็นแม่แบบของแอนิเมชันคลาสสิกต่อเนื่องมาอีกหลายเรื่อง


เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ทำให้โลกได้รู้จัก อากิระ คุโรซาว่า ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ที่หลังจากคว้ารางวัลสิงโตทองคำ และรางวัลออสการ์กิตติมศักดิ์ จาก เรื่อง Rashomon(1950) ก็สร้างชื่อเสียงให้กับวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นกับผลงานที่โดดเด่นในทศวรรษนี้อีก คือ Ikiru (1952), Seven Samurai (1954), Throne of Blood (1957) และ The Hidden Fortress (1958)


นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเปิดฉากการเป็นเจ้าแห่งหนังสัตว์ประหลาด เช่น หนังชุด ก็อตซิลล่า อันเป็นภาพลักษณ์ ความโกรธแค้นต่อการใช้อาวุธนิวเคลียร์และก็อตซิลล่ากลายเป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์วัฒนธรรมป็อปที่เป็นที่จดจำมากทีสุด


ที่สำคัญยุคนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำหนังวัยรุ่น ด้วยเป็นกลุ่มผู้ชมที่ยังเหนียวแน่นกับโรงภาพยนตร์ เริ่มมีการสร้างภาพยนตร์ที่มีกลุ่มวัยรุ่นเป็นเป้าหมายสำคัญ เช่น หนังสยองขวัญ ตลอดจนการนำนักร้องที่เป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นมาแสดงภาพยนตร์ เช่น เอลวิส เพรสลีย์ ใน love Me Tender (1956) ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วโลก และภาพยนตร์ที่ว่าด้วยกลุ่มวัยรุ่นต่อต้านสังคม Rebel Without a Cause (1955) และที่ส่งให้ เจมส์ ดีน กลายเป็นฮีโร่ของวัยรุ่นทั่วโลก แม้เขาเสียชีวิตไปแล้วจากอุบัติเหตุรถยนต์ในปีเดียวกันนี้


เจมส์ ดีน ใน Rebel Without a Cause


เอลวิส เพรสลีย์ ใน love Me Tender (1956)


หนังฮอลลีวูดจึงเป็นด่านหน้าสำคัญที่นำพาวัฒนธรรมอเมริกาออกไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น โคคา โคล่า แฮมเบอร์เกอร์ หรือ ร็อคแอนโรล ที่มาพร้อมกับแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อันเป็นที่มาของยุค ‘โก๋หลังวัง’ ในเมืองไทย


การเมืองไทยใต้เงาอเมริกา


หลังรัฐประหารปี 1947 (พ.ศ.2490) และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งใน

ปี 1948 (พ.ศ.2491) ครั้งนี้จอมพล ป. ครองอำนาจยาวนานเกือบสิบปี (1947-1957 /พ.ศ.2491-2500) เป็นช่วงเวลาที่ไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลานั้นก็เข้าสู่สมัยยาวนานรวม 8 ปี ของประธานาธิบดี ดไวท์ ไฮเซนฮาวร์ (1952-1959 /พ.ศ. 2495-2502) อดีตนายพลทหารในสงครามโลก เขาเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันในยุคต่อสู้กับคอมมิวนิสต์


การต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างแข็งกร้าวและเข้มข้น ด้วยนโยบายปิดล้อมเพื่อสกัดเส้นสายโยงใยของคอมมิวนิสต์ ที่ทำให้ประเทศที่อยู่ถัดไปเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ตามความเชื่อใน ‘ทฤษฎีโดมิโน’ สหรัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังฝรั่งเศสไม่สามารถเอาชนะฝ่าย

เวียตมินห์ ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ซึ่งเปิดฉากโจมตีเดียนเบียนฟู ขุมกำลังที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในอินโดจีนอย่างดุเดือด จนฝรั่งเศสต้องยอมจำนนในวันที่ 8 พฤษภาคม 1954 (พ.ศ.2497) และสูญสิ้นอิทธิพลในอินโดจีน


นำไปสู่การเจรจาตามสนธิสัญญาเจนีวา แบ่งเวียดนามออกเป็นสองประเทศที่เส้นขนานที่ 17 โดย ส่วนเวียดนามเหนืออยู่ภายใต้การปกครองระบบสังคมนิยมของโฮจิมินห์ ส่วนทางเวียดนามใต้อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งในเวลาต่อมาฝรั่งเศสยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ และนำไปสู่สงครามเวียดนามในท้ายที่สุด นอกจากนี้ภายใต้สนธิสัญญาเดียวกันฝรั่งเศสต้องให้เอกราชกับลาวในปี 1954 ส่วนกัมพูชาได้รับ เอกราชในปี 1955


เพื่อป้องกันแรงโดมิโนจากเวียดนาม ในวันที่ 8 กันยายน 1954 (พ.ศ. 2497) สหรัฐฯก่อตั้ง องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ :ส.ป.อ. (Southeast Asia Collective Defense Treaty Organization : SEATO) และไทยเป็นหนึ่งประเทศสมาชิก ร่วมกับฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ องค์กรนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการคุมคามของคอมมิวนิสต์ ในภูมิภาค และมีพื้นฐานทางกฎหมายที่อนุญาตให้สหรัฐฯ สามารถเข้ามาตั้งกองกําลังในประเทศสมาชิกได้


ในเวลานั้นรัฐบาลทหารของจอมพล ป. ที่มาจากการทำรัฐประหาร ต้องการการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันชนชั้นนำไทย ก็วิตกกังวลกับภัยคอมมิวนิสต์ เห็นว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะช่วยสร้าง ความมั่นคงและป้องกันไม่ให้ไทยกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์


แม้จะทำการกวาดล้างผู้เห็นต่างไปจำนวนมากในคราวรัฐประหารเงียบและกบฎสันติภาพ แต่ภายในคณะรัฐประหารเองก็ไม่ได้มีเอกภาพ แต่แบ่งออกเป็นสามเส้า โดยจอมพล ป. เป็นตัวกลางระหว่างผู้นำรัฐประหารที่แบ่งออกเป็นสองค่าย คือ กลุ่มซอยราชครู ของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลผิน ชุณหวัณ ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของ จอมพล ป. กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ท. ถนอม กิติขจร และ พล.ท.ประภาส จารุเสถียร


ภายใต้การสนับสนับของสหรัฐ จอมพล ป.พยายามคานอำนาจกับกองทัพบกของกลุ่มสี่เสาเทเวศน์ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ตำรวจ โดยการสนับสนุนจากองค์การซีไอเอ สหรัฐ ส่งผลให้กรมตำรวจในยุคของพล.ต.อ. เผ่า มีสมรรถภาพเกือบเท่าเทียมกองทัพบก และมีกำลังพลเพิ่มขึ้น จนเรียกได้ว่าในยุคนั้น ไทยเป็น ‘รัฐตำรวจ’ หรือที่เรียกกันว่า 'ยุคอัศวิน' อันเป็นที่มาของการสร้างอิทธิพลมืดและการสังหารศัตรูทางการเมือง รวมถึงการเลือกตั้งที่ 'สกปรกที่สุด' ในปี พ.ศ.2500


ในปี 1955 (พ.ศ.2498) จอมพลป. ซึ่งเริ่มเสียดุลย์อำนาจ หลังจอมพลสฤษดิ์ ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกแทน จอมพลผิณ ชุณหวัณ ในปี 1954 (พ.ศ.2497) หันมาเริ่มนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตย โดยเปิดให้มีการตั้งพรรคการเมืองและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2500 พร้อมกันนั้นรัฐบาลเตรียมจัดงานฉลองครั้งยิ่งใหญ่ในวาระ 25 พุทธศตวรรษ ตอบโต้ข่าวลือสืบเนื่องจากความเชื่อว่า พุทธศาสนาจะเรียวลง และถึงกาลสิ้นสุดเมื่อถึงพุทธศักราช 5000 โดยนับจากกึ่งพุทธกาล คือ ปี พ.ศ.2500 จะเริ่มต้นยุคเสื่อมถอย ความเชื่อนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเกิดเหตุร้ายต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะภัยคอมมิวนิสต์ที่จะมาทำลายพุทธศาสนา


หลังการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริต แม้ จอมพล ป. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ แต่ในรัฐสภา รัฐบาลถูกโจมตีจากฝ่ายค้านอย่างหนัก ในเวลาเดียวกันจอมพล สฤษดิ์ และกลุ่มสี่เสาเทเวศน์ ที่ลาออกจากการร่วมรัฐบาล เป็นฝ่ายได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น จากการสั่งไม่ให้ทหารทำร้ายประชาชนที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้ง ออกมาเดินขบวนขับไล่ จอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า ช่วงเวลานี้เองที่ขบวนการนักศึกษาเริ่มก่อตัวขึ้น


วันที่ 16 กันยายน 1957 (พ.ศ.2500) จอมพล สฤษดิ์ ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพล ป. และแต่งตั้ง นายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี การเมืองสามเส้าสลายไป ส่วน พลตำรวจเอก เผ่าและ จอมพล ป. ลี้ภัยไปต่างประเทศ จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา


ชนชั้นกลาง


เหตุหนึ่งของการสูญเสียอำนาจของ จอมพล ป.สืบเนื่องมาจาก นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบชาตินิยม

ที่ขัดแย้งจากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจในห้วงเวลานั้น สืบเนื่องจากการสนับสนุนทางการทหารและเศรษฐกิจของสหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจในทศวรรษนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เอกชนเพิ่มการลงทุนในกิจการต่างๆ อย่างกว้างขวาง นอกไปจากที่รัฐลงทุนในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ ตามนโยยายชาตินิยม ส่วนทางด้านการเกษตรกรรม เกษตรกรก็เริ่มเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อขาย และเกี่ยวข้องกับระบบตลาดมากขึ้น


เศรษฐกิจที่ขยายตัวส่งผลให้เกิดคนกลุ่มใหม่ คือ ‘คนชั้นกลาง’ ที่มีฐานการผลิตอยู่ภาคบริการและการพาณิชย์ ส่วนใหญ่จึงต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าและบริการ อย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลจอมพล ป.ยังอยู่ภายใต้กรอบนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยรัฐ การใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจและการแทรกแซงธุรกิจเอกชน


ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป. เกิดกระแสต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจ ของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง รวมทั้งกระแสเรียกร้องให้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นพลังหนึ่งที่ทำให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สูญเสียความชอบธรรม จนนำมาซึ่งการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ดังกล่าวข้างต้น


รถลากหน้าวัดโพธิ์

ภาพจาก https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=oley&month=06-2019&date=25&group=79&gblog=114


ควรบันทึกไว้ด้วยว่า นโยบายชาตินิยม นำไปสู่การยกเลิก 'รถลาก' ที่บางครั้งเรียกว่า 'รถเจ็ก' เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพรถลากส่วนใหญ่เป็นกุลีจีน รัฐบาลสนับสนุนให้ใช้รถแท็กซี่ซึ่งเป็นอาชีพของคนไทยและมีความปลอดภัยมากกว่า ประกอบกับถนนมีรถยนต์มากขึ้น รถลากซึ่งช้ากว่าถูกมองว่าเกะกะขวางถนน เกิดอุบัติเหตุบ่อย จึงประกาศให้งดการจดทะเบียนรถลากเพิ่มและงดต่ออายุใบอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 นับเป็นการสิ้นสุดรถลากในกรุงเทพฯ


การเปลี่ยนขั้ววัฒนธรรม


ทศวรรษนี้ ยังเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม จากเดิมที่มีโลกเก่าคืออังกฤษเป็นศูนย์กลาง เข้าสู่โลกใหม่ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง และชนชั้นกลางเป็นกลุ่มแรกๆ ที่รับวัฒนธรรมประชานิยมแบบอเมริกา (American Pop Culture) ทั้งในส่วนของวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจ อุดมการ ค่านิยม ทัศนคติไปจนถึงไลฟ์สไตล์ ที่ส่งผ่านทางสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าวัฒนธรรม


อีกทั้งเวลานั้นเป็นยุคสงครามเย็น สหรัฐฯเข้ามาจัดตั้ง สำนักข่าวสารอเมริกัน ที่เรียกกันว่า ‘ยูซิส’ (United States Information Service – USIS) เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ (United State Information Agency -USIA) ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล ของสหรัฐฯและโลกเสรี ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ นิตยสารเสรีภาพ โปสเตอร์ แผ่นปลิว แผ่นพับ หนังสือ รายการวิทยุ ภาพยนตร์ ฯลฯ รวมถึงทำหน้าที่ในการควบคุมการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนอุดมการเสรีนิยม ต่อสู้กับข้อมูลของฝ่ายคอมมิวนิสต์


การทำงานขององค์กรนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการสร้าง ‘ความเป็นอเมริกัน (Americani- zation)’ ในสังคมไทย ที่เข้ามามีอิทธิพลแทนที่แนวคิดแบบ ‘วิคตอเรีย (Victorianization)’ ของอังกฤษ


กระแสธารวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้ เป็นผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน อาทิ ชนชั้นสูงที่มองว่า คนมีฐานะรุ่นใหม่ๆ ขาดความเป็น ‘ผู้ดี’ หรือ กลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบดนตรีร็อคแอนด์โรล การแต่งกาย รวมถึงพฤติกรรมของวัยรุ่น เห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกทำลายความเป็นไทย ตลอดจนเห็นว่า หนุ่มสาวยุคใหม่ไม่วางตัวในกรอบที่เหมาะสม ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีมุมมองว่า ผู้ใหญ่ล้าสมัย ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

‘เห่อเอลวิส ฮิตเจมส์ ดีน’


การแต่งกาย สร้อยห้อยภาพเจมส์ ดีน และลีลาท่าทางของแก๊งวัยรุ่น

ใน '2499 อันธพาลครองเมือง' ภาพยนตร์ของนนทรีย์ นิมิตรบุตร


ภาพยนตร์เรื่อง Love Me Tender ซึ่งเข้ามาฉายในปี 2500 จุดกระแสความนิยมเอลวิสในเมืองไทย

มีเวทีประกวดการแสดงเลียนแบบราชาร็อคแอนด์โรลจัดขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาพยนตร์ของเจมส์ ดีน ที่ส่งเขาขึ้นเป็นไอดอลของวัยรุ่นไทย และมีการจัดงานรำลึกถึงการจากไปของเขาทุกปี วัฒนธรรมอเมริกันที่หลั่งไหลเข้ามากับสินค้า ดนตรี และภาพยนตร์ แผ่อิทธิพลในกลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาวในพระนครอย่างรวดเร็ว ก่อนขยายออกไปกลายเป็นค่านิยมของวัยรุ่นไทย ในเวลาต่อมา


การรับวัฒนธรรมอเมริกัน แสดงออกทั้งในด้านของการแต่งกายและพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่น ที่ ไว้ทรงผมเหมือนกับดาราฝรั่งโดยเฉพาะเจมส์ ดีนและเอลวิส ฟังเพลงร็อคแอนด์โรลจากวิทยุทรานซิสเตอร์ ที่เป็นที่นิยมจนกระทั่ง ธานินทร์วิทยุ ร้านขายวิทยุข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เติบโตและขยับขยายกิจการขึ้นไปเป็นผู้ประกอบวิทยุออกจำหน่ายเอง ภายใต้ยี่ห้อ ซิลเวอร์ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธานินทร์ วิทยุที่ครองใจคนไทย


บรรเจิด กฤษณายุธ เจ้าของฉายา ปุ๊ กรุงเกษม เล่าเรื่องราวชีวิตในจังหวะร็อคตัวเองและวัยรุ่นไทยยุค พ.ศ. 2500 ในหนังสือชื่อ เดินอย่างปุ๊ สรุปความได้ว่า สมัยนั้นที่สิงสู่ของกลุ่มวัยรุ่นมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ ๆ คือ ‘ตลาด 13 ห้าง บางลำพู’ กับย่าน ‘หลังวังบูรพา’ โดยย่าน 13 ห้างเป็นแหล่งรวมแฟชั่น เสื้อผ้าทันสมัย ส่วนย่านหลังวังเป็นแหล่งรวมความบันเทิง โรงหนัง ไนท์คลับ บาร์ รวมถึง 'ตู้เพลง' ซึ่งเป็นของใหม่ในเวลานั้น ย่านนี้เป็นที่มาของกลุ่มวัยรุ่น ‘โก๋หลังวัง’


“...จะมีกลุ่มวัยรุ่น ที่ชอบไปนั่งปักหลักอยู่เป็นประจำ ไปฟังเพลง ไปดูสาว สิงสถิตกันอยู่ นานเข้าก็อาจจะเลื่อนชั้น กลายเป็นเจ้าถิ่นไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักเลงรุ่นเล็ก ไม่ได้เป็นมืออาชีพ อย่างพวกนักเลงรุ่นใหญ่...และนิยมใช้คำว่า ‘จิ๊กโก๋’ มากกว่าคำว่า ‘นักเลง’ ชีวิตของวัยรุ่นในยุคนั้น ก็แค่ชอบเที่ยวเตร่ ชอบแต่งตัว เป็นนักเลงที่มีเสียงเพลงในหัวใจ คลั่งไคล้เอลวิสและเจมส์ ดีน” ไม่ได้อยู่บนเส้นทางอันธพาลหรือมาเฟียเช่นในภาพยนตร์ '2499 อันธพาลครองเมือง'


เมื่อถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการปราบปราม 'นักเลงและอันธพาล' อย่างเข้มงวด โรงฝิ่นถูกยกเลิก แหล่งอบายมุขถูกจำกัดพื้นที่ สิ้นสุดยุคเหล่านักเลงมาเฟียที่เกี่ยวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย ในขณะที่จิ๊กโก๋รุ่นเล็กใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบอเมริกันในยุคสงครามเย็น ยังคงเติบโตต่อเนื่องในทศวรรษต่อมา


หนังกลางแปลงและหนังไทยยุคต้านภัยแดง


อาวุธสำคัญของสำนักข่าวสารอเมริกัน(ยูสิส) ในการต้านภัยคอมมิวนิสต์คือภาพยนตร์ เนื่องจากในเวลานั้น โทรทัศน์ยังราคาสูงและไม่แพร่หลายในเมืองไทย ภาพยนตร์ของยูซิส มีทั้ง สารคดี การ์ตูน และภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง ทั้งที่สำนักข่าวสารอเมริกันสร้างขึ้นเอง และสนับสนุนทุนให้แก่ผู้สร้างหนังในเมืองไทย หนังของยูสิสทำสำเนาขึ้นมาหลายชุด เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำออกไปเผยแพร่แก่ประชาชนในชนบทอย่างทั่วถึง ในรูป 'หนังกลางแปลง' โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน


ทศวรรษนี้จึงเป็นยุคเฟื่องฟูของหนังกลางแปลง ซึ่งเริ่มมีมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหน่วยงานที่ระยะแรก เรียกว่า ‘หน่วยปลูกนิยม’ของบริษัทต่างๆ นำภาพยนตร์ไปฉายพร้อมกับโฆษณาและจำหน่ายสินค้าของบริษัท ระหว่างเปลี่ยนม้วนฟิล์มภาพยนตร์ ซึ่งสินค้ามีหลากหลายแต่ส่วนใหญ่เป็นยา เป็นที่มาของชื่อเรียกกันว่า ‘หนังขายยา’


หน่วยรถ ของบริษัท โอถสสภาเต็กเฮงหยู จำกัด ในอดีต ที่ออกฉายหนังขายยา

ภาพจาก ปกิณกคดี 100 ปีการสาธารณสุขไทย ใน https://www.silpa-mag.com/history/article_55099


ยูสิสแจกโปสเตอร์และสมุดคู่มือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ช่วงกลางวัน และฉายภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในตอนกลางคืน หนังบางเรื่องมีคุณภาพสูง เช่น คำสั่งคำสาป(1954/ พ.ศ. 2497) สร้างโดยทีมงานสร้างภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา การถ่ายทำและดำเนินเรื่องเป็นแบบหนังฮอลลีวูดคลาสสิกในยุคนั้นแตกต่างอย่างชัดเจนจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ


หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่ (1957/พ.ศ.2500) ของ ปยุต เงากระจ่าง ผู้บุกเบิกงานภาพยนตร์การ์ตูนในไทย ก็ได้รับการสนับสนุนจากยูสิส ทั้งการเงินและเทคโนโลยี ทำให้เขาสมารถทำภาพยนตร์การ์ตูนชุดแรกตามมาตรฐานสากล และด้วยความสนับสนุนดังกล่าว เรื่องนี้จึงเป็นการ์ตูนต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยปยุตนำตัวละครหลักในรามเกียรติ์ มาแบ่งเป็น 2 ค่าย คือ หนุมาน เป็นตัวแทนค่ายเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเต็มไปด้วยความสุขและแสนยานุภาพทางอาวุธ ในขณะที่ ทศกัณฐ์ เป็นผู้นำลัทธิ คอมมิวนิสต์ ที่มอมเมาและกวาดต้อนประชากรลิงให้ทำงานหนักเพื่อความสุขสบายของเหล่ายักษ์



เอนิเมชั่น 'หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่'


ส่วนภาพยนตร์ไทยทั่วไป สันติ- วีณา ภาพยนตร์เรื่องแรกจากหนุมานภาพยนตร์ของ รัส เปสตันยี ได้รับรางวัลด้านภาพในการประกวดภาพยนตร์แห่งเอเชียตะวันออกไกล ที่ญี่ปุ่น ปี 1954 (พ.ศ.2497) นับเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ไทยออกสู่เวทีต่างประเทศ และในทศวรรษนี้ ยังมีผลงานที่โดดเด่นของ รัส เปสตันยี คือ โรงแรมนรก (พ.ศ. 2500)

ใบปิดโฆษณา ภาพยนตร์เรื่อง 'ปริศนา' มีคำขยาย '..ที่มหาชนนับล้านติดกันงอมแงม'


ภาพยนตร์ที่เป็นที่นิยมในยุคนี้ เป็นแนวดรามา เน้นตัวละครหญิง ส่วนใหญ่สร้างจากนวนิยายที่เป็นที่นิยม ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร โดยมีดาราหญิงที่โดดเด่นคือ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง วิไลวรรณ

วัฒนพานิชย์ และ อมรา อัศวนนท์ เช่น ชั่วฟ้าดินสลาย (1957/พ.ศ.2500) จากบทประพันธ์ของ มาลัย ชูพินิจ ปริศนา(2498) จากบทประพันธ์ของ ว. ณ.ประมวญมารค (อมรา อัศวนนท์ เป็น ปริศนา)


ครอบครัวในอังกฤษ



ในขณะที่สังคมไทยคลายความสัมพันธ์กับอังกฤษลง หันไปใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา คุณหญิงจำนงศรีในวัย 12 กลับต้องจากบ้านไป ‘เติบโต’ ในประเทศอังกฤษ คุณหญิงเล่าไว้ว่า “คุณพ่อส่งไปเรียนอังกฤษ เมื่ออายุ 12 ภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นมากๆ คำพูดคุณพ่อ ที่จำได้ไม่เคยลืม คือ‘เงินที่คุณพ่อส่งศรีไปเรียนเมืองนอกนี่ เป็นเงินคนไทยนะ เราเป็นหนี้บุญคุณคนไทย อย่าลืมเชียวนะ’ แปลกนะ ตั้งหกสิบกว่าปีมาแล้ว ยังจำได้ชัดเจนเลย”

ตุณหญิงจำนงศรีไปอังกฤษในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1950 (ปี 1952) ก่อนพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต 2 วัน และกลับเมืองในในอีก 6 ปีต่อมา ซึ่งเป็นปลายทศวรรษ (ปี1958) ช่วงเวลานั้น อังกฤษฟื้นตัวหลังสงคราม แม้จะมีความยากลำบากในดำรงชีวิตในช่วงต้น แต่รัฐบาลอังกฤษทุ่มเทให้กับการส่งเสริมด้านศิลปและวัฒนธรรมที่ซบเซาลงในช่วงสงคราม กล่าวได้ว่า คุณหญิงเติบโตขึ้นภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สุขสงบของธรรมชาติในโรงเรียนเล็กๆ กลางป่าที่สวยงาม และศิลปวัฒนธรรมในลอนดอน


คุณหญิง(ในวงกลม) ระหว่างการฝึกอบรมก่อนเดินทางสำหรับผู้จะไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ


ช่วง 6 เดือนแรกคุณหญิงถูกส่งตัวไปอยู่กับ ‘แฟมิลี่’ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษา คุณหญิงเขียนถึงช่วงเวลาที่อยู่กับครอบครัวนี้ไว้ในบทความเรื่อง ‘เรื่องนี้มีนางเอกสามคน’ ว่า


“ผู้เขียนถูกส่งตัวไปอยู่กับครอบครัวที่ชานเมืองของมหานครลอนดอน เป็น "ครอบครัว" ที่ประกอบ ด้วยผู้หญิง3 คนแต่ละคนมีรอยแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รอยแผลที่ว่านี้มีรอยทั้งทางใจและทางกาย


หญิงคนแรกเป็นหม้ายขันหมาก เพราะคู่หมั้นเป็นทหารอากาศเครื่องบินถูกฝ่ายเยอรมันยิงตก

เธอเป็นคนมีอารมณ์ขัน รักเด็กและมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ เธอมีความสุขที่สุด เมื่อมีเวลาอ่านหนังสือ ข้างเตาผิงระหว่างฤดูหนาว หรือในสวนหลังบ้านยามที่มีแดดอุ่นฤดูร้อน


หญิงคนที่สองก็หม้ายขันหมากเหมือนกัน คู่หมั้นเธอเป็นทหารที่ผ่านการรบเพื่อประเทศชาติอย่างโชกโชนและ เจ็บปวด จนถึงขั้นที่เขาหมดความต้องการที่จะใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอนอีกต่อไป อังกฤษเต็มไปด้วย ร่องรอยของสงครามที่เขาต้องการจะลืมและในเมื่อหญิงคู่หมั้นของเขาไม่ยอมทิ้งบ้านเมืองที่เธอรัก เขาก็ตัดสินใจทิ้งเธอไปสร้างชีวิตใหม่ กับผู้หญิงคนใหม่ในสหรัฐอเมริกา


หญิงคนนี้ซ่อนจิตใจที่เต็มไปด้วยความเมตตา ไว้ภายใต้ความเด็ดขาดของคนเจ้าระเบียบ รอยแผลของเธอ ดูจะลึกกว่าของคนแรก ฝีมือทำกับข้าวแสนอร่อยของเธอ ทำให้ผู้เขียนติดใจรสอาหารอังกฤษแบบชาวบ้านๆ มาจนทุกวันนี้


ส่วนคนที่สามเป็นน้องสาวของคนที่สอง ครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นคนสวยมาก หากดูจากภาพถ่าย สมัยที่ยังเป็นสาวน้อย เป็นภาพที่เธอไม่ชอบให้ใครเห็น


เมื่อสงครามระเบิดขึ้นใน พ.ศ. 2482 และผู้ชายส่วนใหญ่ไปออกรบ หญิงคนนี้ก็ทำหน้าที่ของเธอด้วย การเข้าทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ เธอมีหน้าที่บรรจุดินระเบิด ในหัวกระสุน ทำอยู่นานไม่ทราบว่ากี่ปี สารพิษจากดินปืนแทรกซึมเข้าไปในระบบร่างกายทีละน้อย จนเธอล้มป่วยลงถึงขั้นที่ต้องเข้ารักษาตัว ในโรงพยาบาล ในที่สุดก็กลายเป็นคนพิการ หน้าตาบิดเบี้ยว มือเท้าหงิกงอ ชายหนุ่มทั้งหลายที่เคยมาติดพัน ก็พากันหายไปตามระเบียบ


ในขณะที่หญิงสองคนแรกมีอาชีพเป็นครู ตอนที่สงครามระเบิด หญิงคนที่สามนี้มีอายุได้เพียง 17 ปี เมื่อเธอ เข้าทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ ผู้เขียนรู้จักเธอในสภาพคนพิการที่หงุดหงิดง่าย แต่อ่อนโยนกับผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสัตว์เลี้ยง ทุกๆวันยกเว้นวันอาทิตย์ เธอจะทำความสะอาดบ้านด้วยมือที่น่าสงสารของเธอ วันจันทร์ เป็นวันที่เธอทำงานหนักที่สุดคือช่วยพี่สาวทั้งซักและรีดผ้า เธออายุสั้นและสิ้นชีวิตลงตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยกลางคน


ผู้เขียนกับญาติสนิทที่เดิน ทางมาจากเมืองไทยด้วยกัน อยู่กับ "ครอบครัว" นี้ได้ 6 เดือน ก็ถูกส่งตัวไปอยู่โรงเรียนประจำอีกเมืองหนึ่งซึ่งต้องนั่งรถไฟไกลออกไปอีกสองชั่วโมงเศษ ผู้เขียนก็กลับมาอยู่ที่นี่ทุก ครั้งที่โรงเรียนปิดเทอมจนรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัว ของตนเอาจริงๆ”


นักเรียนประจำ


Jasmin(ในวงกลม) แถวนั่งสอง คนที่สามด้านซ้ายมือ และเพื่อนนักเรียน


Fritham House โรงเรียนที่คุณหญิงเข้าเรียนในอังกฤษ เป็นโรงเรียนประจำเล็กๆ สำหรับเด็กผู้หญิง ของ Sir Timothy Eden พี่ชาย Sir Anthony Eden นายกรัฐมนตรีอังกฤษในยุคนั้น (1955-1957)


“โรงเรียนอยู่กลางป่าเก่าแก่ที่ชื่อว่า New Forest มีแต่ทุ่งหญ้ากับป่าโปร่ง นักเรียนทั้งหมด 70 คน เป็นคนอังกฤษหมด ยกเว้นเด็กอเมริกันคนหนึ่งกับเราที่เป็นต่างชาติ แรกๆ โดดเดี่ยวมาก จนภาษาอังกฤษเราดีขึ้น สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรทัศน์ กิจกรรมก็มีอ่านหนังสือ ขี่ม้า เดินป่า และเล่นกีฬา ทุกวันอาทิตย์ไม่ว่าจะฝนตก หิมะตก หรือหนาวเหน็บจนพื้นป่าเป็นเกล็ดน้ำแข็ง เด็กทั้งโรงเรียนก็จะถูกพาไปเดินป่าทีละไกลๆ สมบุกสมบันมาก หลงรักป่ามาตั้งแต่สมัยนั้น”


ภาพ Fritham House Schoolจาก เรื่อง School has chandeliers in the class rooms

ใน Australian Women's Weekly (1933 - 1982), Wednesday 22 October 1958, page 4


ลอนดอนทศวรรษที่ 1950 เปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็ว แต่โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ ที่ตั้งอยู่บนพื้นประวัติศาสตร์ในชนบทที่กฎจราจรยังคงให้ 'ให้ทางแก่ม้าก่อน' และที่โรงเรียนแห่งนี้ ความรักในหนังสือของคุณหญิงได้รับการสานต่อ “เจอคนรักหนังสือมากๆ คืออาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ชายหนวดขาวเฟิ้ม ทุกบ่ายวันอาทิตย์หน้าหนาว หรือเย็นวันอาทิตย์หน้าร้อน จะให้พวกเรานั่งบนพื้นในห้องใหญ่ จะเย็บผ้า หรือถักไหมพรม หรือไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่ห้ามพูดคุย แล้วครูใหญ่ก็นั่งโซฟาตัวโต อ่านหนังสือให้ฟังอีกนั่นแหละ จะอ่านอย่างส่ออารมณ์ตามเนื้อเรื่อง เสียงลึกใหญ่กังวานไพเราะมาก..”


เซอร์ ทิโมธี อาจารย์ใหญ่หนวดเทาเงิน ไม่เพียงสอนวรรณกรรม แต่เป็นศิลปินที่สอนงานศิลปะ รวมถึงสอนประวัติศาสตร์ ในแบบที่ทำให้นักเรียนเห็นเสน่ห์ของประวัติศาสตร์ ส่วนเลดี้เอเดน ดูแลเรื่องที่ ‘เป็นประโยชน์’ อื่นๆ ตั้งแต่ขี่ม้าไปจนถึงวิธีรินชา รวมถึงเปลี่ยนชื่อ จำนงศรี เป็น ‘จัสมิน’ เพื่อให้เพื่อนๆ ออกเสียงได้

ภายใต้บรรยากาศการเรียนการสอนแบบนี้ จากเด็กนักเรียนที่เรียนเลวสุด ๆ คุณหญิงจำนงศรีก็กลายเป็นเด็กรางวัล เรียนเก่งระดับท็อป ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ รวมถึงศิลปะ “คุณพ่อได้รับรายงานโรงเรียน ก็นึกว่าเขาส่งรายงานมาผิด คือนึกว่าเป็นของเด็กคนอื่น แต่ใส่ชื่อเรา คุณพ่อต้องทำใจให้ชินว่า ลูกสาวที่เคยจองที่โหล่ประจำชั้น กลายเป็นเรียนเก่งได้จริง ๆ”


ผลการเรียนที่ดีขึ้นนี้ นอกจากการเรียนการสอนที่โรงเรียน ยังมีส่วนสำคัญมาจากสิ่งที่คุณหญิงได้เรียนรู้ จาก 'ครอบครัว' สามสาวชาวอังกฤษ ดังที่คุณหญิงเขียนเล่าไว้ว่า


“หญิงคนแรกชื่อ Marjorie Doris Isabelle Clark เราเรียกเธอว่า Miss Clark เธอมีหน้าที่สอนภาษาอังกฤษ ให้เรา (คุณหญิงและญาติสนิท) อย่างเป็นทางการ อันที่จริงทั้ง 3 คน เป็นครูเราโดยปริยาย เพราะเราจำเป็นต้อง สื่อสารกับเธอทุกคนในชีวิตประจำที่บ้านเล็กๆ น่ารัก ที่มีทั้งสวนดอกไม้ และสวนผักหลังนั้น


จำได้ว่า นอกจาก Miss Clark จะนั่งสอนศัพท์ ไวยากรณ์และบทสนทนาอย่างเป็นทางการทุกเช้าแล้ว ก็ยังอ่านหนังสือให้ฟังหลังอาหารค่ำทุกวันอีกด้วย แรกๆ ก็อ่านบทอาขยาน และหนังสือเด็ก ที่เธอคิดว่าเหมาะกับวัยของผู้เขียน จำได้ว่าเป็นหนังสือนักสืบผจญภัยโดยมีตัวเอกเป็นเด็ก งานเขียนของ Enid Blyton


ที่ว่า ‘อ่านให้ฟัง’ นั้น หมายถึงอ่านให้ฟังจริงๆ ฟัง รู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องนั้น Miss Clark ไม่ถือว่าสำคัญ ฟังไปก็ให้ถักนิตติ้งไปด้วย มือจะได้ไม่ว่าง เรื่องนิตติ้งนี้หญิงคนที่สองที่ชื่อ Alice Knight หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า Miss Knight เป็นผู้สอน ซึ่งเป็นการสอนที่ได้ผลมาก เพราะทั้ง ผู้เขียนและญาติผู้เขียน สามารถถักเสื้อหนาวใส่เองกันอย่าง เพียงพอ มิหนำซ้ำยังเป็นเสื้อที่ประณีต มีลวดลายงดงามกว่า ที่ขายตามห้างร้านเสียอีก Miss Knight จะเปิดวิทยุให้ฟังใน ตอนบ่ายพร้อมกับสอนถักนิตติ้ง (สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์) รายการวิทยุที่ให้ฟังนั้น มีทั้งข่าวBBC ทั้งรายการเพลง คลาสสิก และละคร เรียกว่ามีภาษาอังกฤษให้ฟังหลาย รูปแบบทั้งๆ ที่ยังฟังไม่รู้เรื่อง ภาษาอังกฤษจากวิทยุใน ตอนนั้นเป็นแค่เพียงเสียงกระทบหู


อยู่มาวันหนึ่ง ผู้เขียนนั่งถักนิตติ้งปล่อยให้เสียงวิทยุ กระทบหู อยู่ดีๆ ก็เกิด ‘รู้เรื่อง’ ขึ้นมาอย่างนึกไม่ถึง เป็นข่าว BBC ถ้าจำไม่ผิด ถึงจะไม่รู้เรื่องทั้งหมด แต่พอที่จะประติดประต่อเรื่องราวได้ ทำให้เกิดกำลังใจเป็นอย่างมาก ถึงกับเต้นแร้งเต้นกาไปบอก Miss Knight จากนี้วันนั้นเกิดความรู้สึกเป็นมิตรกับอังกฤษ เป็นมิตรภาพที่ยาวนานมาจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังเป็นมิตรภาพที่มีการพัฒนาการเรื่อยมา ทั้ง

เชิงกว้างและเชิงลึก


การนั่งฟัง Miss Clark อ่าน Enid Blyton กลายเป็นเรื่องสนุก "กลับบ้าน" ยามที่โรงเรียนปิดเทอมครั้งใด เป็นต้องขอให้ Miss Clark อ่านหนังสือให้ฟังเป็นการย่อยอาหาร ทำให้คนอ่านได้ใจ เพิ่มระดับวรรณกรรมขึ้น เป็นระดับงานคลาสสิก ทั้งประเภทเรื่องสั้น นวนิยายและกวีนิพนธ์ หนักๆเข้าคนอ่านก็เกิดอาการคอแห้ง ต้องให้คนฟังเป็นคนอ่านดังๆ ให้ฟังบ้าง อาการคอแห้งแบบการเมือง ของ Miss Clark กำเริบหนักขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดผู้ที่เคยเป็นคนฟังก็กลายเป็นคนอ่านให้ผู้ที่เคยเป็นคนอ่านฟังเป็นที่เพลิดเพลินกันทั้งสองฝ่าย กลับโรงเรียนครั้งใด คะแนน วิชาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชา ที่ต้องใช้ภาษาในการอ่าน เขียน และคันคว้า ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ซัด จิตใจผู้เขียน ก็สบายขึ้นด้วย

การเรียนที่ได้ผลดีทำให้เกิดความมั่นใจ และ รักที่จะเรียน


นอกจากเรื่องราวที่ได้เล่ามาแล้ว "ครอบครัว" นี้ ยังสอนภาษาอังกฤษด้วยการพาไปดูหนังทุกอาทิตย์ ดูละครสักเดือนหรือสองเดือนครั้ง ละครที่ดูมักจะไม่ใช่ละครเพลงประเภท Broadway musicals อย่างที่ชอบดูกัน ในปัจจุบัน หากเป็นละครพูดชนิดที่เรียกรวมๆว่า straight plays จะเป็นประเภทสุขนาฎกรรม หรือโศกนาฎกรรม หรือละครประเภทนักสืบก็ตามที ที่ไม่ใคร่จะได้ดูละครเพลงก็เพราะไม่มีให้ดูตามชานเมืองที่เราอยู่


สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กนั้น แม้กระทั่งในย่านละครอันลือชื่อที่เรียกว่า West End ก็ไม่ใคร่จะมี musicalsให้ดูมากนัก นอกจากนั้นแล้ว Miss Knight กับ Miss Clark ก็เห็นว่าการดูละคร West End เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ดูแค่ละครของกลุ่ม repertery ที่ชานเมืองก็ดีพอแล้ว บางครั้งก็ ชวนขึ้นรถไฟเข้ากรุงลอนดอน ไปดูละครเช็คสเบียร์ ที่ The Old Vic Theatre ซึ่งเป็นจุดเกิดของนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ของ อังกฤษหลายต่อหลายคน ปัจจุบันนี้ไม่มี The Old Vic แล้ว


สิ่งที่ Miss Clark สามารถทำให้เป็นเรื่องสนุก คือ การเดินดูจิตรกรรมและปฏิมากรรมซึ่งหาดูได้มากมายใน มหานครลอนดอน เป็นธรรมดาของคนที่ไปดูหนัง ดูละครดูทัศนศิลป์ ที่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งถกเถียงกับคนที่ไปดูด้วยกัน และในเมื่อไปดูกับแหม่มที่พูดภาษาไทยไม่ได้ก็ต้องดิ้นรนหา ทางพูดให้เขาเข้าใจ นานเข้าการต่อคารมเป็นภาษาฝรั่ง ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา


ไหนๆ ก็เล่าเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษใน "ครอบครัว" หญิงล้วนนี้แล้วก็ขอเล่าเลยไปอีกสักหน่อยว่า ได้อะไรจาก หญิงทั้ง 3 คนนี้อีกบ้าง เท่าที่นึกได้ก็เห็นจะมีความประหยัด และความอดทน อดทนกับดินฟ้าอากาศและความไม่สะดวกนานาประการ การเดินทางระยะยาวนับไมล์กลายเป็นเรื่องธรรมดา รถยนต์ เป็นสิ่งที่ได้นั่งน้อยครั้งในระยะเวลา 6 ปีครึ่งที่เล่าเรียนอยู่ในประเทศอังกฤษ


เมื่อกลับเมืองไทยเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ก็เห็นผลว่าความอดทนที่ได้ฝึกฝนในชีวิตประจำวันกับแหม่มทั้ง 3

ทำให้ชีวิตเป็นอิสระขึ้นมาระดับหนึ่ง อิสรภาพจากความหงุดหงิดเมื่อขาดสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้สามารถท่องเที่ยวผจญภัย อยู่ป่าอยู่เขาได้อย่างโปร่งใจไม่เดือดร้อน"

เพื่อนไทยในอังกฤษ


ในยุค1950 นักเรียนไทยในอังกฤษมีจำนวนไม่มากนัก คุณหญิงเล่าไว้ว่า ในช่วงที่เรียนนั้นต่างคนต่างอยู่กระจัดกระจายไปเรียนในเมืองต่างๆ นานๆ จะพบปะกันสักครั้ง ยิ่งเป็นเด็กอายุ 12-13 เห็นจะมีอยู่ไม่เกิน 5-6 คน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่พ่อแม่เป็นข้าราชการไปประจำที่อังกฤษ


นักเรียนไทยรวมแล้วสัก 400 คน ทุกคนมีชื่ออยู่กับสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษ ที่

พรินเซสเกต ..โดยที่นี่จะมีทั้งชื่อและบัญชีเงินของนักเรียนนักศึกษาแต่ละคน แบ่งเป็นพวกทุนรัฐบาล และพวกทุนส่วนตัว ทางสำนักงานผู้ดูแลฯ เป็นผู้จ่ายเงินให้โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และส่งเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นรายเดือน หรือรายสัปดาห์ขึ้นกับอายุและระดับการเรียน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลหรือทุนส่วนตัว ถึงแม้นักเรียนทุนส่วนตัวอาจจะมีพ่อแม่ส่งมาให้อีกต่างหาก แต่คุณพ่อของพวกเราต้องการให้ลูกๆ ทุกคน รับเท่าๆ กับนักเรียนทุนรัฐบาล จึงไม่มีการส่งเพิ่มให้เลย ฉะน้ันพวกเราก็จะอยู่ในวงเงินจำกัดกันอย่างเคร่งครัด”


งาน Meeting ปี 2498


โอกาสที่สำคัญที่นักเรียนไกลบ้านจะได้พบปะกัน คือ การชุมนุมประจำปีของนักเรียนไทยในอังกฤษ ที่จัดโดยสำนักงานผู้ดูแลฯ ร่วมกับคณะกรรมการสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชปูถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ


“การชุมนุมหรือมีตติ้งนี้ จะจัดนอกกรุงลอนดอน โดยเปลี่ยนสถานที่ไปแต่ละปี เป็นการชุมนุมที่มีทั้งกีฬาและนานาสันทนาการ มีตติ้งแต่ละครั้งนาน 7 วัน นักเรียนไทยในอังกฤษสมัยนั้นมีไม่มากเหมือนทุกวันนี้ และไม่ได้กลับเมืองไทยในช่วงปิดเทอม เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นยาวนานและยากลำบาก จึงมักจะมาชุมนุมกันอย่างค่อนข้างพร้อมเพรียง ทำให้ทุกคนได้พบปะรู้จักเป็นเพื่อนกัน และความเป็นเพื่อนนักเรียนอังกฤษในการชุมนุมประจำปีเช่นนี้ บ่อยครั้งกลายเป็นมิตรภาพที่ยืนยาวมาก”


คุณหญิงได้เขียนเล่าถึงเพื่อนนักเรียนไทยที่ได้ผูกพันกันยาวนาน และแยกจากกันไปตามธรรมชาติของชีวิต ไว้เรื่องหนึ่งว่า


“แล้วเพื่อนก็จากไป จากโลกนี้ไปอย่างเรียบๆสงบๆ ง่ายๆ ไม่วุ่นวาย

ลูกชายพาแม่ขึ้นรถ ขับไปโรงพยาบาล เพื่อนนั่งข้างหน้าคู่กับลูกชาย มีผู้ดูแลนั่งไปข้างหลัง พอถึงโรงพยาบาลถึงได้รู้กันว่าเพื่อนสิ้นลมแล้ว ไม่มีความกระสับกระส่ายหรือสัญญาณใดๆทั้งสิ้น

เพื่อนจากไปอย่างคนโชคดี อย่างคนมีบุญ

สำหรับร่างนั้น ก็มอบให้โรงเรียนแพทย์ เพื่อเป็น 'อาจารย์ใหญ่' ให้ นักศึกษาแพทย์


เพื่อนรัก… ปาน - สุกัญญา หลีอาภรณ์ (สกุลเดิม วิสุทธิผล) เราเป็นเพื่อนกันมากว่า 70 ปี

เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เป็นเด็กวัย 12-13 ปี พบกันที่อังกฤษ ในราว ค.ศ.1952 (พ.ศ. 2495)

สมัยนั้นการเดินทางลำบาก เด็กวัย 12-13 อย่างเรา น้อยคนนักที่จะถูกส่งไปเรียน 'เมืองนอก'

เพราะตอนที่ไปกันนั้น เครื่องบินยังใช้ใบพัด 4 เครื่องยนตร์ ต้องจอดเติมน้ำมัน ค้างแรมกลางทาง ฯลฯ เรื่องจะกลับมาเยี่ยมเมืองไทยในช่วงปิดเทอมนั้น อย่าได้หวัง ไม่มีทาง


ปานกลับเมืองไทยก่อนป้าศรี แต่งงานก่อน มีลูกก่อน แล้วลูกเราก็แต่งงานกัน ให้หลานมา 2 คน

ปานเป็นย่า ป้าศรีเป็นยาย หลานทั้ง 2 แต่งงานไปกันหมดแล้ว แต่ยังไม่มีเหลนมาให้

เวลานี้ถึงลูกเราจะแยกทางกันแล้ว แต่เขาก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ปานกับป้านานๆ ทีก็นัดกัน

ไปกินข้าวกัน คุยกัน


รูปนี้ สมัยที่ทุกคนยังหนุ่ม สาว โสด นานมาแล้ว

เป็นรูปที่ถ่ายในงานราตรีสโมสรที่สวนอัมพร น่าจะเป็นงานประจำปีนักเรียนเก่าอังกฤษ

ปานนั่งซ้ายสุด ป้าศรีก็ไปในงานนี้ แต่ไม่อยู่ในรูป ผู้หญิงในรูปทั้งสามคน เสียชีวิตกันไปหมดแล้ว ผู้ชายซ้ายสุดที่ใส่แว่นตาคือพี่ชายคนโตที่จิตใจดีมากๆ ของป้าศรีเอง ก็เสียชีวิตไปแล้ว คนถัดมาเป็นเพื่อนรักของเขา เป็นคนน่ารักช่างหัวเราะ ก็เสียชีวิตไปก่อนเขาเสียอีก ผู้หญิงคนกลาง เกิดปีเดียวกับป้าศรี ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดคนหนึ่งในวงสังคมของเราในยุคนั้น(อย่าลืมว่า สมัยนั้นไม่มีการทำศัลยกรรม ไม่มีการฉีดโน่นเติมนี่อย่างสมัยนี้) แถมเธอยังมีนิสัยดีมากๆ อีกด้วย ก็เสียชีวิตไปในวัยแค่ 30 เศษๆ เมื่อลูกของเธอยังเล็กๆ


นี่แหละ คือชีวิต มิตรภาพและความตาย

เพลงชีวิตที่แต่ละคนบรรเลงตามครรลองของตน

บางเพลงก็สั้น บางเพลงก็ยาว

แต่ทุกเพลงก็ต้องถึงกาลอวสาน

เขียนโพสต์นี้ เป็นที่ระลึกถึง ปานกับมิตรภาพอันยาวนานของเรา"


ชีวิตในลอนดอน

คุณหญิง(ตรงกลาง) และน้องสาว คุณทวีนุช (ด้านขวา) ปี พ.ศ.2499

เมื่อคุณหญิงซึ่งเวลานั้นอายุย่าง 16 สอบ GCE (O level) เสร็จเรียบร้อย ก็ย้ายมาพำนักอยู่กับ Lady Eden ที่ถนนวิกตอเรีย ในเขตเคนชิงตัน และเข้าเรียนโรงเรียนไปกลับ เพื่อเตรียมสอบ GCE (A level) เซอร์ทิโมธีหนุนให้ลองสอบเข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยตั้งเป้าเรียนวรรณคดี แต่ก็ต้องผิดหวังอย่างหนัก เพราะคุณพ่อให้กลับเมืองไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า “ท่านเป็นโรคเบาหวาน ตาใกล้จะบอด อยากให้ลูกสาวมาอยู่ใกล้ๆ ให้ได้เห็นหน้าเห็นตา ยังไม่เคยกลับมาเลย ตั้งแต่จากเมืองไทย...”


เมื่อคุณพ่อถามว่าต้องการเรียนวรรณคดีเพื่อจะมาเป็นครูสอนหนังสือหรือ คุณหญิงซึ่งในเวลานั้นไม่ได้คิดว่าจะชอบการสอน (แม้ว่าในภายหลังได้มีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษและชอบการสอนมาก) จึงไม่สามารถหาเหตุผลที่จะเลือกเรียนวรรณคดีมาตอบคุณพ่อได้ สุดท้ายจึงเลือกเรียนตามคำแนะนำของคุณพ่อ

“คุณพ่ออยากให้เรียนเลขานุการ เหมือนพี่ชัช (คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ลูกผู้พี่ของคุณหญิง บุตรีคุณโชติ ล่ำซำ) ก็ไปเรียน แต่ไม่ชอบเอาเลย เรียนไม่จบหรอก เพราะแอบหนีไปเรียน History of Art (ประวัติศาสตร์ศิลป์) ชอบศิลปะ ชอบประวัติศาสตร์ ชอบดูละครเวที ละครพูด ไม่ใช่ Musical เหมือน

สมัยนี้นะ เชคเสปียร์ อิบเชน ดูหมด คุณพ่อไม่ให้ใช้สตางค์เยอะ ได้เท่ากับนักเรียน ก.พ. ก็เก็บสตางค์เอาสิ ไม่เคยนั่งแท็กซี่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่นั่งแม้กระทั่งรถเมล์หรือใต้ดิน เดินเอา เดินเก่งมาก จาก Leicester Square ถึง Kensington


คุณหญิงและน้องสาว คุณทวีนุช


เมื่ออยู่ในลอนดอนที่มีทั้งโรงละคร แกลเลอรี่ และดนตรีทุกประเภท เพื่อให้เงินที่มีจำกัดเพียงพอ คุณหญิงประหยัดหลายรูปแบบ ทั้งตัดเสื้อผ้าเอง ถักสเวตเตอร์ใส่ “เป็นชีวิตที่สนุก...เรียกว่าหมู ๆ เสื้อผ้าก็ซักมือ อาหารเที่ยงนอกบ้านก็กินแต่มันฝรั่งอบผ่าใส่เนยแข็งพอเป็นกระสาย กินอย่างงั้นทุกวี่ทุกวัน เย็นกลับมากินที่บ้าน เก็บตังค์ซื้อตั๋วดูละคร”


คุณหญิงในคอร์สจัดดอกไม้ ปี พ.ศ.2499

ในระหว่างเรียนเลขานุการ คุณหญิงได้เรียนคอร์สอื่นๆ อีกมากมาย ตามวิถีชนชั้นสูงของอังกฤษ ในเวลานั้น “ตอนเรียนเลขาฯ เลือกเรียนคอร์สหนังสือพิมพ์ (Journalism) เอ้อ ค่อยเข้าขา ไม่นึกหรอกนะว่าจะได้เป็นนักหนังสือพิมพ์ บรรดาลูกสาว Sir Timothy กับ Lady Eden ล้วนเป็นเดบูตองท์ ก็ให้จัดการให้เราไปเรียนสารพัดที่เขาเรียนกัน ไม่ใช่สไตล์เราเล้ย แต่ก็เอ๊าเรียนก็เรียน อยากรู้อยากเห็นเป็นนิสัยอยู่แล้ว”


สิ่งที่เรียนมีทั้ง จัดดอกไม้ เดินแบบ และคอร์สการวางตัวในสังคมระดับสูง “ลงบันไดในชุดยาวให้สง่าอย่างไร คลี่พัดอย่างสวยหรูอย่างไร เข้าห้องแล้วปิดประตูอย่างไร โดยไม่หันก้นให้แขกในห้อง ทำอาหาร

เก๋ๆ กับ Julia Child (ผู้เขียนตำราอาหารฝรั่งเศสคนแรกของอเมริกา และเป็นตำราอาหาร ที่ขายดีไปทั่วโลก)”


ในลอนดอน คุณหญิงได้มีโอกาสรู้จักกับนักเรียนไทยมากขึ้น รวมทั้ง (ท่านองคมนตรี) ม.ร.ว.เทพ เทวกุล และ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ในช่วงเวลานี้เองมีนักเรียนไทยคนหนึ่งชวนคุณหญิงไปงาน May Ball ที่มหาวิทยาลัย Cambridge คุณหญิงเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ใน บทสัมภาษณ์ รักยามตะวันลอน ในนิตยสาร Hello ว่า


“เราก็ตื่นเต้นนะ แต่ด้วยความประหยัดเพื่อเก็บเงินดูละคร ก็ไปซื้อแพตเทิร์นมาตัดชุดสีขาว และซื้อลูกไม้มาเย็บติดตัวเสื้อ ประหยัดไง ตัดเย็บเสื้อทั้งชุดเอง ด้วยมือ เย็บกลางคืนมองไม่ค่อยเห็น ลูกไม้ข้างหน้าโอเค ข้างหลังกลับในเป็นนอก จะแก้ก็ไม่ทัน ก็ใส่ไปงานทั้งอย่างนั้น”


แต่ที่เพื่อน ๆ ล้อกันไม่ใช่เรื่องที่คุณหญิงเย็บลูกไม้กลับด้าน แต่หนุ่มที่เดทเธอ ดันแพ้แอลกอฮอล์ ยังไม่ทันไร ก็มีอาการง่วงทนไม่ไหว เอาเธอไปทิ้งไว้ในห้องสมุด ตัวเองไปหาที่แอบหลับ ฟื้นอีกทีสว่าง ออกมาเห็นสาวน้อยในชุดกระโปรงสีขาว นั่งอ่านบทละครกรีกโบราณคอยอย่างมีความสุข

เขาแก้ตัวด้วยการพาเธอไปถ่อเรือ พาเธอเลียบลำน้ำที่กิ่งวิลโลว์โน้มเรียงรายจูบผิวน้ำดุจหยอกเย้าแสงอาทิตย์ยามอรุณรุ่ง


“เสียดายที่ไม่ได้เก็บชุดราตรีที่ตัดเย็บด้วยมือทุกตะเข็บ เอาไว้ให้ลูก ๆ ได้เห็น” คุณหญิงบ่น “เอ้อ แต่ป้าศรีทำของหายบ่อยนะ มองในแง่ดี มันก็ทำให้ชินกับความสูญเสีย"

เป็นแฟนกันหรือคะ “เปล่าหรอก เป็นเพื่อนกันเท่านั้น แต่พอเขาเป็นแฟนจริง ๆ กับผู้หญิงอีกคน ซึ่งทั้งสวย ทั้งจิตใจดี เหมาะสมกันมาก แต่เราอยู่เมืองไทยก็ร้องไห้เป็นเผาเต่า”.....

“อกหักครั้งนั้นมันก็ดีนะ เป็นการเรียนรู้ และก็เป็นการลดอัตตาที่ดีมากด้วย... ทำให้คาดหวังจากตัวเองน้อยลง ให้ได้อย่างใจตัวน้อยลง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น คือเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่ง ที่คนไม่เคยอกหักพลาดโอกาส”


เอดกา แอลลัน โพ และ แมลงชีปะขาว



จัสมินวัย 15-16 ปี เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิต “The Moth” เสร็จสิ้นภายในสองชั่วโมง ด้วยเป็นการ หลั่งไหลท่วมท้นของความรู้สึก ในวันที่หนาวเย็นและมืดมนกับความเหงาที่แฝงเร้นในใจอยู่แต่ครั้งเยาว์วัย


คุณหญิงเล่าไว้ว่า เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ในขณะที่“อยู่ที่ลอนดอนอยู่คนเดียว มันเป็นเรื่องของคนที่รอคอยความงามบางอย่าง เป็นผู้ชาย เปิดฉากด้วยการนั่งอยู่ข้างหน้าต่างแล้วก็รอคอยเวลาค่ำในอากาศที่ฝนพรำ มันก็คือบรรยากาศที่เรานั่งอยู่ตรงนั้นพอดี หนาว ชื้น มืดมน แต่ยังไม่ค่ำ"


ความหนาวเย็นในอังกฤษสมัย ‘ทศวรรษที่ 1950’ นั้น คุณหญิงเล่าไว้ว่า “หนักหนากว่าในสมัยนี้มาก ทุกปีหิมะขาวจะปกคลุมทั่วลอนดอน ก่อนจะละลายกลายเป็นน้ำแข็งบางๆ ฉาบพื้นถนน บางครั้งยังมีหมอกพิษที่ข้นคลั่ก คนอังกฤษเรียกกันให้สมลักษณะว่า Pea Soup เวลา Pea Soup หนาๆ คลุมลงมาน้ัน ถ้าเดินอยู่บนถนนจะอันตรายมาก เพราะมองเห็นเกินปลายจมูกได้ ไม่เกินเมตร การหายใจก็ลำบาก คนแก่บางคนที่เป็นโรคปอดถึงตายได้ ดังที่เป็นข่าวอยู่เสมอๆ ในสมัยนั้น”


เมื่อมองย้อนกลับไป คุณหญิงมองว่าผลงานชิ้นนี้ น่าสนใจตรงที่อาจจะเป็นคำตอบเกี่ยวกับภาวะภายในที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจหรือรู้ตัว


"ถ้าถามว่าช่วงที่ถูกส่งไปอังกฤษมีความรู้สึกมี Depress บ้างไหม โดยทั่วไปแล้วก็น่าที่จะเป็นได้ เพราะการถูกส่งไปอยู่เมืองนอก โดยที่ภาษาก็ไม่ได้เต็มที่นัก 6 เดือนแรกที่ไป ได้เรียนภาษาอังกฤษอยู่นิดหน่อย แล้วก็เข้าโรงเรียน ที่ไม่มีคนต่างชาติเลย มีแต่คนอังกฤษ มีคนหนึ่งเป็นลูกครึ่งอเมริกัน นี่แหละเป็นต่างชาติที่สุดแล้ว แล้วเราก็หน้าตาอะไรก็ไม่เหมือนเขา


"ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยได้ด้วย ดินฟ้าอากาศก็ต่างกันมาก ของเราร้อนเป็นแสงแดดไปหมด ตอนนั้นไปเดือนกุมภาพันธ์อากาศก็สาหัส แล้วภาษาก็ทำให้เล่นกับเขาไม่ได้ ไม่สามารถเข้ากับเขาได้เท่าไหร่ เขาก็เห็นเราเป็นตัวแปลก เพื่อนฝูงเขาทุกเสาร์อาทิตย์พ่อแม่ก็มารับไป เราก็ติดอยู่ที่โรงเรียน บางทีก็ถูกล้อเพราะเราก็เป็นคนที่หน้าตาแบบนี้อยู่คนเดียว "


แม้งานชิ้นนี้เขียนขึ้นในช่วงหลัง "ตอนที่เราชินกับอังกฤษแล้ว เริ่มรักอังกฤษแล้ว แต่ว่ามันอาจจะเป็นงาน ที่ช่วยให้เราไม่รู้สึก Depress เพราะฉะนั้นงานเขียน ที่เราคิดว่าเราอาจจะเขียนเพราะจะเขียน มากกว่าเขียนเพราะจะให้คนอ่าน แต่เวลาเขียนมันก็มีอัตตาอยู่ ที่พอเขียนแล้วมันก็อยากให้คนอ่าน แต่คิดว่าตัวเริ่มของการเขียนเหมือนเป็นการช่วยตัวเองมากกว่า โดยที่เราก็ไม่รู้ตัว ผลงานชิ้นนั้นน่าสนใจในแง่ของจิตวิทยาด้วยว่า ทำไมเราถึงไม่รู้สึก Depress ทั้งที่มันน่าจะ Depress”


นอกจากภาวะภายในและบรรยากาศแวดล้อม คุณหญิงเล่าว่าเรื่องสั้นนี้ ได้รับอิทธิพลจาก เอดการ์ แอลลัน โพ หนึ่งในนักเขียนที่คุณหญิงชื่นชอบ สำหรับเนื้อหาของเรื่องเล่าถึงผู้ชายคนหนึ่ง ที่ต้องทนทรมาน จากความคาดหวังในการเฝ้ารอ ชั่วขณะที่แมลงชีปะขาวปรากฎตัว ซึ่งสำหรับเขาแล้ว แมลงชีปะขาวที่มี

ดวงตาสีดำ ปีกสีขาว เป็นตัวแทนของความงามและความสุขที่ประณีต แต่ยากจะหยั่งถึง หัวใจของเรื่องคือการเลือกของเขาที่จะแบกรับความทรมานเพื่อความสุข หรือยุติทั้งสองอย่าง


สำหรับคุณหญิงเรื่องนี้ จึงมีส่วนเสี้ยวหนึ่งของการรอคอยแม่ผู้ไม่หวนกลับมา และ " เป็นงานที่มืดมาก..."


(น่าเสียดายที่ต้นฉบับเรื่องสั้นเรื่องนี้สูญหายไป และไม่สามารถค้นพบวารสาร สามัคคีสาร ของสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ ที่ตีพิมพ์เรื่องนี้ ในปี 1958)


 

ดู 33 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page