top of page

หัวหินในความเปลี่ยนแปลง (2)

(1959-1979/พ.ศ.2502-2522)



นักข่าวหญิง


หลังกลับจากอังกฤษ พี่ชายของคุณหญิงเข้ารับราชการทหารที่กรมช่างทหารบก กระทรวงกลาโหม พร้อมกับดูแลโรงเรียนธนบุรีศึกษา ในฐานะเจ้าของและผู้รับใบอนุญาตแทนบิดา ส่วนคุณหญิงหลังจากช่วยงานของครอบครัวได้ระยะหนึ่ง ก็ได้ทำงานที่ไม่มีใครคาดคิดและไม่เป็นที่ยอมรับในเวลานั้น ส่วนที่มาของงานคุณหญิงได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหลายวาระ รวมความได้ว่า


“คุณพ่อให้ทำงานที่ล็อกซเล่ย์ เป็นลูกน้องพี่ชัช (คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช บุตร คุณโชติ ล่ำซำ คุณลุงของคุณหญิง) งานคือกรอกแบบฟอร์มการเดินเรือ ทำอยู่เดือนสองเดือน เบื่อแทบตาย ทำผิด ทำถูก ไม่ชอบเลยเรื่องธุรกิจตัวเลขอะไรนี่”


“วันหนึ่งเจอผู้ชายอเมริกันในงานเลี้ยงบนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา คุยกับถูกคอ คุยกันเรื่องบ้าๆ บอๆ ตอนนั้นอายุ 18 กำลังบ้ามาก เขาก็ขำ บอกให้ลองเขียนอะไรมาให้เขาอ่านบ้างสิ ถึงได้รู้ว่าเขาคือ ดาเรล แบริแกน (Darrel Berrigan) หรือ Berry บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Bangkok World ก็เขียนนะคะ จำได้ว่าเขียนถึงความรู้สึกเก่าๆ เกี่ยวกับหัวหิน เขาเอาไปลง แล้วโทรศัพท์ตามมาถามว่า จะไปทำงานกับเขาไหม จะฝึกให้เป็นนักข่าวก่อน ถ้าเก่งจริงจะให้เป็นบรรณาธิการฝ่ายภายใน 3 เดือน


"คุณพ่อไม่ยอมสิ เพราะสังคมสมัยนั้นมองอาชีพนักข่าวไม่ดีนัก ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว โอ๊ย ขายหน้า มิหนำซ้ำยังไปทำกับฝรั่งโสดอีก เราดื้อ เถียงจนคุณพ่อก็กัดฟันยอมให้ไปทำครึ่งวัน อีกครึ่งวันทำล็อกซเล่ย์ ถ้าไม่ได้เป็น บ.ก. ภายใน 3 เดือนก็เลิกทำ พอครบก็ได้เป็น บ.ก.จริงๆ ภายใน 3 เดือน"


คุณจุลินทร์และบุตรสาว


“ดิฉันก็ไปขอคุณพ่อ บอกว่าไม่ทำแล้วงานทางบริษัท ทำไปก็ขายหน้าเพราะใจไม่รัก ทราบนะคะว่าคุณพ่อเป็นห่วง แต่สุดท้าย ท่านก็อนุญาต ท่านมีความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงแบบผู้ใหญ่สมัยนั้น ท่านเป็นห่วง แต่เรานี่อยากใจแทบขาด เพราะแบรี ยื่นข้อเสนอมาอีกว่าจะให้เป็นบรรณาธิการข่าวสังคมและสตรี เขาให้เหตุผลว่า หนังสือพิมพ์เขียนในเมืองไทย อย่างน้อยบอกอข่าวสังคมและผู้หญิงควรจะเป็นคนไทย อยากจะลองเปลี่ยนดู เพราะเท่าที่ทำมาเป็นฝรั่งกับฟิลิปปินส์ตลอด อีกอย่างคือเรื่องอายุ แบรี่คิดว่าจะได้อะไรออกมาไม่เหมือนแต่ก่อน อาจมีชีวิตชีวาขึ้น เพราะความคิดไม่เหมือนผู้ใหญ่”


คุณหญิงในช่วงเวลาที่ออกงานสังคมพร้อมกับทำหน้าที่นักข่าว


คุณหญิงได้เลื่อนขึ้นมาเป็นบรรณาธิการหน้าสังคมและสตรี แทนสตรีชาวอเมริกาที่ทำอยู่ก่อน นับเป็น

ผู้หญิงไทยคนแรกในกองบรรณาธิการ และยังอายุน้อยที่สุดอีกด้วย โดยมีรูปแบบพิเศษในการทำงาน


“ครั้งหนึ่งจะไปงานอาหารค่ำของสโมสรโรตารี่ เป็นบัตรเชิญคู่ แบรี่ต้องพาดิฉันไปด้วย ในฐานะ

นักข่าวสังคม คุณพ่อบอกว่าไปได้ แต่ต้องมี ‘แชปเปอโรน’(พี่เลี้ยง) ไปด้วย ยังจำได้ดีค่ะเรื่องนี้ ดิฉันเรียกแกว่า แอ๊ด แกจะต้องโผล่เข้าไปในงาน ดูซ้ายดูขวา แล้วกลับไปนั่งรอข้างนอก เดี๋ยวก็โผล่ เข้าไปดูอีกที เราต้องคอยจับเวลาว่า เมื่อไหร่จะถึงเวลากลับ ก็ต้องกลับพร้อมแอ๊ด เวลาไปสัมภาษณ์ใคร แทนที่จะไปกับช่างภาพ 2 คน ก็ต้องมีผู้ติดตามไปคุมนักข่าวอีกที เป็นเรื่องขำขันของดิฉัน ที่แบรี่เข้าใจดี”




ทั้งนี้เป็นการคลายกังวลของผู้ใหญ่ เพราะ“เป็นเรื่องอื้อฉาวในสังคมนะ เราถูกมองว่าก๋ากั่น ไม่รักษาศักดิ์ศรี วิ่งทำข่าวต๊อกๆ กับหนุ่มช่างกล้อง ก็สมัยนั้นกล้องใหญ่และหนักมาก สงสารคุณพ่อที่ถูกนินทาเรื่องลูกสาว แต่เราไม่ใช่แค่ทำข่าว มีคอลัมน์ประจำด้วย ทำไปได้สักพักหนึ่งคุณพ่อก็เริ่มชิน เรื่องที่เขียนมักจะมีชื่อกำกับ เวลาท่านไปทำงานก็จะมีฝรั่งเข้ามาทัก ถามว่านามสกุลนี้เป็นอะไรกับท่าน คุณพ่อก็เกิดความรู้สึกภูมิใจ ตอนหลังท่านยอมรับนะคะ


“แต่ก็มีผู้ใหญ่บางท่านมองเราเป็นอะไรที่ไม่ค่อยเรียบร้อยนัก ท่านผู้ใหญ่คนหนึ่งถึงกับเรียกไปพูดว่า ‘นึกยังไงถึงทำงานอย่างนี้ ทำไมไม่รักษาเกียรติลูกสาวของคุณพ่อบ้าง คิดดูซิ มีใครเขาทำกันบ้าง วิ่ง

ตะลอนๆ ไป ทำงานกับฝรั่งด้วย แล้วฝรั่งก็ยังไม่ได้แต่งงานเสียด้วย ’ เราก็ยอมรับว่าในกองบอกอไม่มี

ผู้หญิงเลย ท่านก็ถามอีกว่า เลิกไม่ได้เหรอ ทำไมถึงดื้อ แต่ปีสองปีต่อมาท่านเรียกเราไปชม ท่านใจสปอร์ตมาก"


ด้วยเหตุที่อยู่ช่วงสงครามเย็น และไทยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอเมริกัน คุณหญิงเขียนเล่าถึงบรรยากาศและอิทธิพลของอเมริกันในยุคนั้นไว้ว่า


“ในช่วงนั้นการเมืองภาคพื้นเอเชียอาคเนย์กำลังร้อนระอุ พี่เบิ้มกับข้าพเจ้าถึงจะกินจะเที่ยวด้วยกัน และมากินข้าวเที่ยงพร้อมกับคุณพ่อที่ห้อยเทียนเหลาอาทิตย์ละไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง แต่ไม่เคยจะคุยกันถึงด้านการงาน เพราะแม้เราทั้งคู่จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับข่าว แต่เขาเป็นภาครัฐ ด้านการทหาร ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายสื่อสารมวลชน แน่นอนว่า นายร้อยตรีกรมข่าวจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยข่าวสารบ้านเมือง กับนักข่าวที่ขึ้นชื่อว่าช่างขุดช่างคุ้ยที่อยู่ใกล้ตัวอย่างน้องสาวเขาเอง” (ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 คุณไพโรจน์ ลาออกจากราชการทหาร)


นอกจากนี้ บรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์ ยังเป็นอดีตซีไอเอและเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในเวลาต่อมา คุณหญิงเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า


“Bangkok World เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ภาษาอังกฤษฉบับใหญ่ ที่มีหุ้นส่วนและบรรณาธิการใหญ่เป็นชาวอเมริกันชื่อ ดาร์เรลล์ เบอร์ริแกน (Darrell Berrigan) ก่อนนั้นเป็นสายลับคู่หูของจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ในหน่วยงาน OSS (Office of Strategic Services) คือสำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในจีนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น CIA (Central Intelligence Agency) หรือสำนักข่าวกรองกลาง


“สมัยนั้น Bangkok World เป็นหนังสือพิมพ์รายวันคู่แข่งของ Bangkok Post เบอร์ริแกนถูกยิงตาย ในสวนลุมฯ ในเวลาไม่ห่างนักจากการหายตัวของ จิม ทอมป์สัน และการฆาตกรรมของน้องสาวจิม

ทอมป์สัน ในนิวยอร์ก ความตายของเบอร์ริแกนคือจุดจบของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ต่อมา Bangkok Post ซื้อไปแปลงเป็นแทบลอยด์ในช่วงสั้นๆ ก่อนจะปิดตำนานคู่แข่งลงโดยสิ้นเชิง”


คุณหญิงเล่าถึงความตายของเบอร์ริแกน เพิ่มเติมใน adayBULLETIN ปี 2561 หลังจากบังเอิญได้เข้าฟังการบรรยายเกี่ยวกับคดี จิม ทอมป์สัน ที่วอชิงตัน ซึ่งผู้บรรยายเป็นอดีต CIA ที่รับผิดชอบการค้นหา เขาบอกว่าเป็นการค้นหาที่ใช้คนมากที่สุดและยาวนานที่สุดในประวัติการทำงานของ CIA


“เบอร์ริแกนถูกยิงตายในรถที่จอดอยู่ในสวนลุม ที่เกิดเหตุนั้นคล้ายว่าเป็นคดีเรื่องรักร่วมเพศ คือสภาพศพปลดกางเกง คว่ำหน้า และถูกยิงที่ขมับ กลายเป็นคดีฆาตกรรมที่โด่งดังมาก... ตอนนั้นมีข่าวใหญ่มากสองข่าว คือความตายของแบร์รี ช่วงปลายปี 2508 กับการหายตัวอย่างลึกลับไปในป่ามาเลย์ของ จิม ทอมป์สัน ต้นปี 2510 ห่างกันแค่ปีกว่าๆ นอกจากนั้น ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน น้องสาวของจิมก็ถูกคนร้ายบุกเข้าไปฆ่าในที่พักในนิวยอร์ก


"คดีของเบอร์ริแกนยังคงติดค้างอยู่ในใจป้าจนถึงทุกวันนี้ คือยังไม่มีใครรู้แน่เลยว่าเขาถูกฆ่าเพราะอะไร ฆาตกรเป็นใคร หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ป้าเคยคุยกับ คุณเภา สารสิน ผู้เป็นหัวหน้าสอบสวนคดีนี้ ในขณะที่คุณเภายืนยันว่าเป็นคดีฆาตกรรมเกย์ สำหรับป้า ป้ามองแบร์รีว่าเป็นทั้งครูและเป็นทั้งพ่อทางวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นวิชาที่ติดตัวป้ามาจนถึงทุกวันนี้


มีการพูดกันว่า ‘Once a Journalist, always a Journalist.’ หมายความว่า ถ้าคุณเคยเป็นนักข่าว คุณก็จะเป็นนักข่าวตลอดไป ซึ่งป้าว่ามันจริงนะ คือความอยากรู้อยากสืบเสาะหาความจริงจะติดอยู่ในตัวเราไปตลอด”

คุณหญิงจำนงศรี ปี พ.ศ.2505


สำหรับการทำงานหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น แม้โดยตำแหน่งความรับผิดชอบอยู่ที่งานข่าวสังคม สตรี และวิจารณ์หนัง ละคร แต่ในกรณีที่ขาดคน คุณหญิงก็ต้องไปช่วยทำข่าวอื่นๆ ด้วย สำหรับสถานที่ทำงานนั้นคุณหญิงเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า


“จำได้ว่าที่ทำงานเป็นห้องแถวไม้สองคูหาที่โทรมขนาดหนัก อยู่ที่ถนนหลานหลวง เราทำงานกันอยู่ในห้องห้องเดียว ทั้งกองบรรณาธิการวุ่นกันอยู่ในห้องแคบๆ ที่แสนจะร้อน ภาพที่เห็นประจำคือ แบรี่นั่งทำงานตัวแดงเป็นกุ้งยกมือขึ้นกรีดหน้าผาก แล้วก็สลัดมือ จะมีเหงื่อกระเด็นเป็นฝอย มีพัดลมอยู่ตัวนึงก็แย่งกันหัน สนุกมาก พิมพ์ดีดก็ขาดแคลนอย่างแรงนะคะ ใครเผลอเป็นถูกหยิบฉวย ในฐานะที่ดิฉันเป็น

ผู้หญิงคนเดียว เลยมีคนเห็นใจ ถึงพิมพ์ดีดจะไม่ได้อยู่ที่โต๊ะ พอมองซ้ายมองขวาก็มีคนยกมาให้ โต๊ะก็มีให้ต่างหาก แต่ไม่ใช่ของคนเดียวดอกค่ะ เป็นของแมวอีกหลายครอบครัว เวลาแมวจะออกลูกต้องมาอยู่ในนี้ทุกตัว เพราะมีตู้ที่ปิดไม่สนิท จะเปิดหยิบอะไรต้องเจอลูกแมวตัวเล็กๆ จะขยับเขาก็เกรงใจ”



บรรยากาศงานราตรีสโมสรในยุคนั้น


“สมัยนั้นยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ช่างพิมพ์ต้องคีบตัวพิมพ์เรียงทีละตัว ไอหมึกดำๆ เหนียวๆ ลอยอยู่ในอากาศ ที่ทำงานไม่มีแอร์... เช้าขึ้นมา จะมีกระดาษ Layout 2 หน้าใหญ่รอเราอยู่ที่โต๊ะ มีโฆษณารออยู่ ทำงานหนักนะ ทำข่าว สัมภาษณ์ จัดหน้า เขียนคอลัมน์ มือไม้ดำด้วยไอหมึก มือโดนหน้าทีไรก็เป็นยายหน้ามอม” ไอหมึกที่ว่า ลอยไปจับบันได ทางขึ้นกองบรรณาธิการเป็นกับดักหนุ่มๆ “ก็มีพ่อหนุ่มเข้ามาบ้าง ไม่มากหรอก คงเห็นเราแปลกๆ ...บันไดไม้ขึ้นกองบรรณาธิการ มืดและลื่นไอหมึก หนุ่มๆ ที่มาจีบตกบันไดกัน แต่หมออุทัยไม่ตก”


‘หมออุทัย’ ที่คุณหญิงกล่าวถึงคือ นพ.อุทัย รัตนิน ซึ่งต่อมากลายเป็นคู่หมั้น และเป็นสาเหตุของการยุติบทบาทนักข่าวอาชีพหลังจากทำงานนี้เป็นเวลาร่วม 3 ปี เศษ


แต่งงาน


ปี พ.ศ. 2505 คุณหญิงในวัย 22 ปีเศษ แต่งงานกับ นพ. อุทัย รัตนิน จักษุแพทย์หนุ่มหล่อสูงสมาร์ท พร้อมคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาจากนิวยอร์ก และ Massachusetts Eye and Ear Infirmary และยังเป็นนักวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด


แต่งงาน ปี พ.ศ.2505


นพ.อุทัย เป็นจักษุแพทย์ผู้ดูแลดวงตาคุณจุลินทร์ บิดาของคุณหญิง ที่เป็นทั้งต้อหิน ต้อกระจก และประสาทตาเสื่อมด้วยโรคเบาหวาน ทำให้ได้พบกับคุณหญิง แต่ในช่วงแรกยังไม่มีอะไรพิเศษ แม้

คุณจุลินทร์พยายามเป็นสื่อ คุณหญิงเล่าว่า คุณหมอเห็นคุณหญิงเป็นเด็กไม่เอาไหน พบครั้งแรกตอน

กระหืดกระหอบเข้ามารายงานคุณพ่อว่าขับรถเฉี่ยวรถตุ๊กๆ ส่วนคุณหญิงเองก็เห็นว่าหมออุทัย “ดูทื่อๆ และอายุมากกว่าถึง 10 กว่าปี ก็รู้สึกเขาแก่ ” อีกทั้งเดิมคุณหญิงตั้งใจไว้ว่าจะไม่มีวันแต่งงานกับหมอหรือนักกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม คุณหญิงเป็นนักอ่านและนวนิยายในเวลานั้น อาทิ ปริศนา เคหาสน์สีแดง ฯลฯ พระเอกส่วนมากจะเป็นหนุ่มใหญ่และมีบุคลิกเคร่งขรึม และสมัยวัยรุ่นคุณหญิงก็เคยคุยเล่นกับเพื่อนๆ ว่า “จะแต่งงานกับคนแก่ อายุสัก 30 ก็ดี ” ซึ่งคุณหมออุทัยก็อายุประมาณนี้พอดี





คุณหมอเดินทางไปสหรัฐ เพื่อทำวิจัยต่อเป็นเวลาเกือบสองปี เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงได้สานสัมพันธ์กันต่อ นำไปสู่การหมั้นและแต่งงาน คุณหมออุทัย เคยให้สัมภาษณ์เรื่องราวความรักและการแต่งงานไว้ว่า

“ก็เป็นความรักธรรมดา ไม่มีอะไรมาก รู้จักกันจริงๆ 6-7 เดือนก่อนที่จะแต่งงาน พบกันที่บ้านคุณพ่อเขา ตอนนั้นผมไปตรวจท่านที่บ้านเป็นระยะ เวลาไปเที่ยวหรือทานข้าวด้วยกัน ก็ไปกันเป็นกลุ่ม ครอบครัวเขาค่อนข้างจะกวดขันในเรื่องอย่างนี้ คือต้องเข้าใจว่าสมัยนั้นคนยังมีความคิดโบราณอยู่ หมั้นกันแล้วถึงได้รับอนุญาตให้ไป ต้องบอกว่าไปไหน เมื่อไรจะถึงบ้าน ซึ่งต่างกับเดี๋ยวนี้


“ผมตามโลกไม่ค่อยทัน ได้แต่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลง เราอายุมากขึ้นได้แต่มองย้อนหลัง ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด การดำรงอยู่ของผู้คน ทัศนะของหนุ่มสาวสมัยนี้ที่มีต่อความรัก ฟังเหตุผลของพวกเขาก็น่าสนใจนะครับ อย่างหนุ่มสาวยุคนี้ทดลองใช้ชีวิตร่วมกันก่อนที่จะแต่งงานโดยไม่มีใครเสียหาย... เมื่อสมัยที่ผมแต่งงานแม้แต่จดทะเบียนก็ต้องมีพยาน”


คุณหญิงจำนงศรีได้เรียบเรียงเรื่องราวในชีวิตของ ศ.นพ. อุทัย รัตนิน ไว้ในหนังสือ นัยตา-นัยใจ โดยรวบรวมจากถ้อยคำของบุคคลที่ใกล้ชิดคุณหมอ รวมทั้งจากที่คุณหมอได้ให้สัมภาษณ์ไว้ใน นิตยสารแพรว และหนังสือ รามาธิบดี 2508-2528 เนื่องในโอกาสครอบรอบ 20 ปี ร่วมกับความทรงจำและความรู้สึก ของคุณหญิงเอง


ในส่วนของประวัติชีวิต คุณหมออุทัยเล่าไว้ว่า “ครอบครัวผมเป็นแฟมิลี่หมอ ผมเป็นช่วงที่สาม เริ่มนับตั้งแต่คุณปู่ชื่อ อิน เป็นหมอแผนโบราณ มีร้านขายยาไทยที่เป็นเรือนแพ อยู่ที่ผักไห่ (จ.อยุธยา) ชื่อคุณปู่ผสมกับ “รัตน” มาเป็นนามสกุล (รัตนิน) ที่รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 6


“ช่วงที่สองคือคุณพ่อของผม (จ๊วน รัตนิน) ซึ่งเป็นนักเรียนแพทย์ศิริราชรุ่นแรกๆ สมัยเมื่อยังไม่มีปริญญา คุณพ่อเรียนจบแล้วกลับบ้าน เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำจังหวัด ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น ขุนเวชชรัตนรักษา ประจำที่อยุธยาจนเกษียณอายุ โดยไม่เคยย้ายไปไหน ส่วนคุณแม่ผมเป็นพยาบาล เป็นนักเรียนพยาบาลศิริราชรุ่นหลังคุณพ่อไม่กี่ปี”


คุณพ่อของคุณหมอเล่าถึงคุณแม่ของคุณหมอว่า “คุณแม่ ชื่อ สาคร เป็นนางพยาบาลผดุงครรภ์อนามัย คุณแม่เรียนเก่งสอบได้เป็นที่ 2 ของประเทศ ได้รับพระราชทานเข็มรางวัล จากสมเด็จพระศรีนครินทรา

บรมราชชนนี และจากเจ้าดารารัศมี จังหวัดเชียงใหม่”



นพ.อุทัยกับพี่น้อง และบิดา มารดา


ครอบครัวขุนเวชชรัตนรักษามีลูกเจ็ดคน คุณหมออุทัยเป็นลูกชายคนโต เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2471 เรียนชั้นประถมและมัธยมต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาเข้าเป็นนักเรียนประจำที่ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย รุ่นเดียวกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ณัฐ

ภมรประวัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้เล่าถึงคุณหมออุทัยว่า


“เรานอนเตียงติดกันในห้องนอนซึ่งจัดแบบโรงทหาร เรามีสิ่งที่เล่นด้วยกันหลายอย่างระหว่างที่เรียน เช่น เคยหลงใหลการ์ตูนฝรั่งด้วยกัน เราได้รู้จักและชื่นชมในตัวฟลาส กอร์ดอน ซึ่งเป็นนักอวกาศที่เดินทางไปโลกพระอังคาร...


“อุทัยมีบุคลิกที่แสดงความปราณีตในอุปนิสัย แต่งกายเรียบร้อย เขาหวีผมเรียบ... อุทัยเป็นคนฉลาด เรียนหนังสือดี และเป็นคนสุภาพ...จะทำสิ่งใดก็ได้คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เขาไม่ชอบแสดงว่ารู้ทันความเฉลียวฉลาด หรือความนึกคิดของคนอื่น และไม่ต้องการหักล้างความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยวาจา หรือการโต้เถียงที่เคร่งเครียดนัก แต่เมื่อเขาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ หลังจากที่คิดทบทวนอย่างดีแล้ว เขาจะทำให้เรื่องที่เขาแน่ใจแล้วอย่างมั่นคง” เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนในเวลาต่อมา

หลังเรียนจบชั้นมัธยม คุณหมอสอบเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ตามคำขอร้องของคุณพ่อ แต่เมื่อเรียนจบในปี พ.ศ. 2494 คุณหมอตัดสินใจบินไปออสเตรเลีย เพื่อสานฝันเป็นวิศวกรตามรอยคุณอา (อุดม รัตนิน) ที่เรียบจบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำลังทำธุรกิจโรงงานน้ำตาล อุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองในเวลานั้น


ในเรื่องนี้คุณหมออุทัยเล่าไว้ว่า “ก่อนหน้านั้นผมบอกกับคุณพ่อว่า ผมเรียนแพทย์จบแล้ว คราวนี้ผมขอเรียนตามใจที่ผมชอบบ้าง” ทว่าหลังเดินทางไปเรียนวิศวกรรมที่ออสเตรเลียไม่นาน พบว่าแตกต่างจากที่คาดหมาย ดังนั้นปีถัดมา คุณหมอตัดสินใจไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา


หลังจากเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลเม้าท์เวอร์นอน มหานครนิวยอร์ค ครบหนึ่งปี คุณหมอตัดสินใจ เลือกเรียนด้านจักษุวิทยา ด้วยเหตุผลที่ว่า “ตอนเลือกสาขาเรียน ผมชอบทางผ่าตัด ชอบทางยาด้วย คิดว่าจะเรียนสาขาที่ได้ทั้งผ่าตัดและให้ยา ซึ่งก็มีจักษุนี่แหละเป็นวิชาหนึ่ง ที่เด่นออกมาในความรู้สึกของผม


น.พ.อุทัย เป็นแพทย์ต่างชาติที่ได้รับการคัดเลือกเป็นแพทย์ประจำบ้าน ของโรงพยาบาลโรคตาและโรคหู แห่งมหานครนิวยอร์ค (New York Eye and Ear Infirmary) หลังจากนั้นคุณหมออุทัยศึกษาต่อควบคู่กับการทำงาน คุณหมอเล่าไว้ว่า


“ผมสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าเรื่องตาให้กว้างขวางออกไปอีก ปกติดวงตาของคนเรามีอยู่สองส่วนคือ ส่วนด้านหน้าของดวงตามักจะเป็นโรคต้อกระจกและต้อหิน อีกส่วนเป็นครึ่งหลังของดวงตา ซึ่งตอนนั้น

ไม่ค่อยมีใครเรียนรู้ ผมรู้สึกสนใจส่วนนี้มาก ตั้งใจไว้เลยว่าต้องเรียนให้ทะลุปรุโปร่ง...ผมเลยอยู่ต่อ คราวนี้ไม่ได้เรียกแพทย์ประจำบ้าน แต่เรียก Fellow ที่โรงพยาบาลโรคตาและโรคหู แห่งมลรัฐแมสสาชูเซ็ทส์ (Massachusetts Eye and Ear Infirmary, Harvard Medical School)..เรียนอยู่หนึ่งปี จบแบบไม่สมบูรณ์”


ทั้งนี้เนื่องจากในเวลานั้น American Board of Ophthalmology ไม่อนุญาติให้ชาวต่างชาติสอบวุฒิบัตร วิชาชีพ สาขาจักษุวิทยา น.พ.อุทัย จึงเลือกเรียนปริญญาโท และด้วยเหตุที่ตอนเป็นแพทย์ประจำบ้าน คุณหมอทำคะแนนไว้สูง จึงได้รับเงื่อนไขพิเศษที่จะได้รับปริญญาโทโดยการทำรีเสิร์ช


ศาสตราจารย์ชาร์ล เอส. สเกเพนส์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิจอประสาทตา ของโรงพยาบาล โรคตาและโรคหู แห่งมลรัฐแมสสาชูเซ็ทส์ เล่าถึงงานวิจัยที่เป็นผลงานบุกเบิกสำคัญในระดับโลก และใช้เวลาศึกษาหลายปีของคุณหมออุทัยว่า


“ในขณะนั้นการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพในส่วนของขอบรอบนอกริมสุดของจอประสาทตา (Exteme Fundus Periphery) เป็นที่ทราบกันในวงการจักษุแพทย์แล้ว แต่เกือบจะไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับ ความแตกต่างนานาชนิด ด้านกายวิภาคของจอประสาทตาส่วนริม (Fundus Periphery) ของดวงตาปกติ และการแปรสภาพตามวัย จุดนี้เป็นงานวิจัยที่เหมาะสมกับหมออุทัยโดยเฉพาะ ผู้ที่ทราบกันดีว่ามีสายตาที่เฉียบคม ในการศึกษารายละเอียดทางด้านวิจัย และมีความมุ่งมั่นพากเพียรอย่างไม่มีสิ้นสุด..”


อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มโครงการได้ไม่นาน คุณหมอต้องกลับเมืองไทย เนื่องจากอาการป่วยของบิดา จำต้องพักการวิจัยไว้ก่อน และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โท ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช (เวลานั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยมหิดล) รศ.พญ.ญาณี เจียมชัยศรี เล่าว่า น.พ.อุทัยได้นำวิทยาการสมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการรักษา เช่น การใช้กล้องส่องตรวจจอประสาทตา และการผ่าตัดจอรับภาพ


“ดิฉันเคยช่วยอาจารย์ผ่าตัดและทึ่งกับความละเอียดปราณีตของอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง ไม่เคยเลยสักครั้งที่อาจารย์จะปล่อยฝีเข็มที่ไม่สมบูรณ์แบบให้ผ่านออกไป...ความละเอียดสุขุมรอบคอบของอาจารย์ในการตรวจผู้ป่วย ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชา อาจารย์จะใช้เวลากับคนไข้โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะเย็นค่ำอย่างไรอาจารย์ก็จะไม่ท้อถอย...”


ไปอเมริกา


เนื่องจากงานวิจัยที่นพ.อุทัยเริ่มต้นไว้มีความสำคัญมาก ทางมหาวิทยาลัยในอเมริกาจึงต้องการให้ดำเนินการต่อ แต่ในขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลศิริราชก็ขาดจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญด้านจอประสาทตา หลังจากทางคณะแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ติดไปไปหลายครั้ง ในที่สุดหมออุทัยก็ได้กลับไปทำงานวิจัยต่ออีก 16 เดือน จนถึงเดือน ธันวาคม 2503 ทางศิริราชขอตัวกลับไปทำงาน จึงต้องพักงานวิจัยไว้อีกครั้ง


ระหว่างกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ คุณหมอได้มาสานสัมพันธ์กับคุณหญิงจำนงศรี จนกระทั่งหมั้นและแต่งงานกัน ในปี 2505


ต่อมาสถาบันวิจัยทางด้านจักษุวิทยาที่บอสตัน ได้เสนอตำแหน่งนักวิจัยประจำสถาบันให้ เพื่อให้ทำโครงการวิจัยต่อให้เสร็จสมบูรณ์ และทางมหาวิทยาลัยแพทย์ของไทยก็อนุมัติให้ลา 6 เดือน คุณหมอจึงกลับไปอเมริกาอีกครั้ง พร้อมกับภรรยาซึ่งในเวลานั้นกำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรก





ศ.สเกเพนส์ เล่าถึงบทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ไว้ว่า “ในเดือนมกราคม 2506 หมออุทัยและศรี มาอยู่ที่บอสตัน เป็นเวลาถึง 9 เดือน การศึกษาข้อมูลก็สำเร็จ (มีผู้เป็นแบบให้ศึกษา 161 ราย) ต่อไปก็ถึงขั้นตอนเขียนรายงาน การวิจัย หมออุทัยจึงนำข้อมูลกลับไปเขียนที่เมืองไทยด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยม แต่เมื่อเข้าไปรับงานประจำก็ต้องเผชิญกับความจริงว่า ทั้งงานประจำที่โรงพยาบาลศิริราช งานสอนที

มหาวิทยาลัยแพทย์ และงานที่คลีนิก ได้เบียดบังเวลาที่จะนำมาใช้ในการเขียนรายงานการวิจัยเสียเกือบหมด


“จนกระทั่ง ในพ.ศ. 2510 รายงานการวิจัยของหมออุทัย 4 เรื่อง ในเรื่องลักษณะภายในของจอประสาทในดวงตาของคนปกติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพื้นฐานของจักษุวิทยา จึงได้รับการตีพิมพ์ รายงานนั้นยังคงยึดถือเป็นหลักวิชาพื้นฐานที่สำคัญของจักษุวิทยามาจนถึงวันนี้ เม้ว่าเวลาจะล่วงไปแล้วถึง 25 ปี (นับถึงปี พ.ศ. 2536)”




ในเรื่องงานวิจัยนี้คุณหมออุทัยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เป็นรีเสิร์ชที่ไม่มีใครทำมาก่อน ยากมาก เกี่ยวกับ

จอประสาทตา ถูกวาดขึ้นเป็นภาพเต็มโดยสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ทำให้ผมมีชื่อเสียงที่เมืองนอก...

...เมื่อผมทำสำเร็จ เขาอยากให้เราอยู่ที่โน่น โอนสัญชาติไปเป็นของเขา ให้ทำงานคู่กับแพทย์ใหญ่ ซึ่งผมเองก็เกิดความรู้สึกว่า ผมเป็นข้าราชการประจำที่เมืองไทย พ่อแม่พี่น้องของผมอยู่ที่นี่ ที่โน่นไม่ใช่บ้าน

ของเรา”


คุณหญิงจำนงศรีได้ขยายความคำว่า “เรา”ว่า “หมายรวมถึงตัวข้าพเจ้าและไต๋ (น.พ.สรรพัฒน์ รัตนิน) บุตรคนแรกของเราซึ่งเกิดที่โรงพยาบาลเม้าท์ออร์เบิร์น เมืองเคมบริดจ์ เมื่อเราไปถึงอเมริกาได้เพียง 3 เดือน”


ทั้งนี้ในช่วงเวลานั้น พ.ศ.2506 สงครามเวียดนามกำลังปะทุขึ้น ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ คลอบคลุมทั่ว ภูมิภาค ชนชั้นนำในเมืองไทยส่วนหนึ่งคิดถึงการขยับขยายออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในต่างประเทศ ไม่นับรวมที่ว่าบุคคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก พากันหาเส้นทางไปทำงานในสหรัฐฯ ด้วยมีผลตอบแทนที่สูงกว่าเมืองไทยหลายสิบเท่า


สร้างครอบครัว


หลังแต่งงานคุณหญิงได้รับหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของนพ.อุทัย อย่างเต็มที่ นับแต่วันแรกๆ ของการแต่งงาน คุณหญิงเขียนไว้ว่า

“ข้าพเจ้าเริ่มศึกษาหาความรู้ทางจักษุวิทยาระหว่าง ฮันนี่มูน ด้วยการอ่านหนังสือคู่มือ แพทย์ประจำบ้านทางจักษุวิทยา เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ชื่อ May’s Diseases of the Eye ซึ่งหมอจัดหามา และทำหน้าที่อธิบายความทางการแพทย์ในส่วนที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ทำให้ข้าพเจ้าสามารถช่วยงานหมอ ในเวลาต่อมาได้โดยเข้าใจโรคต่างๆ ของผู้ป่วย”


ในเวลานั้น นพ.อุทัยเปิดคลินิกส่วนตัวที่สามยอด ใกล้วังบูรพา คุณวีณา ไปรนางกูร พยาบาลผู้ร่วมงานเก่าแก่ ของคุณหมอได้เล่าว่า


“เมื่อปี 2502 ดิฉันไปช่วยคุณหมออุทัยทำคลินิกที่รักษาเฉพาะโรคตา เป็นห้องเช่าเล็กๆ อยู่บน

ชั้น 2 ของร้านแว่นตาสามยอด ทุกอย่างเล็กและเรียบ มีเฉพาะของที่จำเป็นต้องใช้ เริ่มทำกันเพียง 2 คน

มีคนไข้ 10 กว่าคน ถ้ามีคนไข้ที่ต้องการผ่าตัดก็ส่งไปที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลเซ็นหลุยต์

“คุณหมอและดิฉันทำงานอยู่แผนกจักษุโรงพยาบาลศิริราช ดิฉันอยู่ห้องผ่าตัดจักษุ เมื่อเลิกงานจากห้องผ่าตัด ก็ไปทำงานต่อที่คลินิกสามยอด ซึ่งเปิด 17.00 น. ถึง 20.00 น. แต่กว่าจะเสร็จก็ประมาณสองสามทุ่ม หลังเลิกงานก็ไปทานข้าวเย็นที่ร้านข้าวต้มแถววงเวียน 22 กรกฎา ทานข้าวเสร็จคุณหมอก็ไปส่งดิฉันที่ท่าพระจันทร์นั่งเรือข้ามไปศิริราช ถ้าวันไหนมีคนไข้ผ่าตัดหลังคลินิกเลิก ก็ไปทำผ่าตัดต่อที่

โรงพยาบาลเซ็นหลุยส์ ช่วยกันทำ 2 คน กว่าจะเสร็จก็หลังสองยาม

“ต่อมาคนไข้มากขึ้น จำเนียรซึ่งเป็นพยาบาลต้องมาช่วยทำอีกคน ความสามารถของคุณหมอรู้กัน เร็วมาก คนไข้มากขึ้นทุกวัน คนไข้คุณหมอที่มารักษาส่วนมากเป็นท่านผู้ใหญ่ สูงอายุ มีอาการเจ็บอย่างอื่น ที่ต้องรักษาควบคู่กันไปกับโรคตา แพทย์หญิงอมรา น้องสาวคุณหมอจึงมาช่วยดูแลเรื่องยาอีกคนหนึ่ง คนไข้ไม่มีลด มีแต่เพิ่มขึ้น บางครั้งต้องรอตรวจกันเป็นชั่วโมง


“หลังจากคุณศรีแต่งงานกับคุณหมอแล้ว ก็มาช่วยทำงานที่ร้านสามยอด ทำงานด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน บางครั้งเลิกงานแล้วทั้งหมดก็ไปดูหนังด้วยกัน”


ทั้งนี้ในขณะที่คุณหมอยังต้องกลับไปทำงานวิจัยที่สหรัฐฯ ช่วงที่กลับมาเมืองไทยก็ไปทำงานที่คลินิกสามยอด จนกระทั่งเสร็จงานวิจัยและตัดสินใจว่าจะกลับมาอยู่เมืองไทย จึงได้สร้าง ‘รัตนินจักษุคลินิก’ ขึ้นบนที่ดินที่คุณพ่อของคุณหญิงมอบให้ และเมื่อถึงตอนที่ น.พ.อุทัยก่อตั้งภาควิชาจักษุวิทยา ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คุณหญิงก็ช่วยงานอย่างเต็มที่เช่นกัน


หลังกลับจากสหรัฐอเมริกาในปี 2506 นพ.อุทัย ตั้งใจจะก่อตั้งสถาบันจักษุวิทยา เพื่อเป็นแหล่งวิจัยค้นคว้า ให้การศึกษาด้านจักษุวิทยา รวมถึงการรักษา อย่างไรก็ตาม ในเวลาใกล้เคียงกัน มีโครงการก่อตั้ง คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และคุณหมอเป็นหนึ่งในคณะกรรมการก่อตั้ง จึงได้ปรับจากการก่อตั้ง สถาบันจักษุวิทยา เป็นภาควิชาจักษุวิทยา ในคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีแทน โดยเริ่มการก่อตั้งในปี พ.ศ.2508 และเปิดดำเนินการใน วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2512



คุณหมอได้เล่าถึงในระยะแรกของการเปิดภาควิชาจักษุวิทยาว่า “ การเขียนหลักสูตรการศึกษาระดับต่างๆ ตลอดจนการจัดของบประมาณปีแรกของภาควิชาฯ จำได้ว่าเป็นเรื่องรีบด่วน ได้ทำงบประมาณกับภรรยา (คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน) คุณบุญเติม สัณฑมาศ และคุณบุปผา อุปถัมภ์ พยาบาลประจำรัตนินจักษุคลินิก จนรุ่งเช้าไม่ได้นอน 2 วัน 2 คืน จึงเสร็จ ในขณะนั้นมีตัวคนเดียวจริงๆ สถานที่ก็ต้องไปใช้บ้านเป็นออฟฟิซชั่วคราว เลขาฯ ก็ยังไม่มีงบประมาณจะจ้าง”


หลังจากทำงานบุกเบิกก่อตั้งภาควิชาจักษุวิทยาซึ่งถือได้ว่าเป็นภาควิชาที่ดีที่สุดของเมืองไทยขณะนั้น และดำเนินงานต่อมาอีก 8 ปี น.พ.อุทัยก็ลาออกจากราชการในปี 2518 รวมเวลาในราชการทั้งสิ้น 18 ปี โดย

สิบปีแรกปฏิบัติราชการในฐานะอาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล


คุณหมออุทัยได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ลาออกไว้ว่า “เป็นเรื่องของภาวะทางจิตใจ ขอบข่ายงานที่รับผิดชอบคือการบริหารงาน ผมเป็นหัวหน้าภาควิชา แต่สิ่งที่ผมรักที่สุดคือการผ่าตัด การรักษาคนไข้ เวลาทั้งสองมันแย่งกัน ในส่วนของการบริหารผมลงไปทุกจุด ละเอียดในทุกๆ เรื่อง เครื่องไม้เครื่องมือมีครบหรือขาดหายไป ต้องคอยตรวจเช็คอยู่ตลอด ซึ่งมันทำให้ผมอารมณ์เสีย เครียดมาก และทำให้รู้สึกว่าเราห่างคนไข้ คนอื่นๆ เขาอาจไม่เป็น แต่ผมรู้สึกไปหมด ภาควิชาที่เข้าไปบุกเบิก มันเหมือนกับลูกเราคนหนึ่ง”


เมื่อลาออกจากราชการ น.พ.อุทัย หันมาขยายคลีนิกตาบนพื้นที่ ที่ครอบครัวอาศัยอยู่ ณ เลขที่ 80 ซอยอโศก ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง สาขาจักษุวิทยาแห่งแรกของประเทศไทย


โรงพยาบาลจักษุรัตนิน


คุณหญิงเล่าถึงความเป็นมาของโรงพยาบาลรัตนินไว้ว่า


“ซอยจุลินทร์ ซึ่งเป็นซอยเล็กๆ แยกจากถนนอโศก คุณพ่อให้ที่ดินข้าพเจ้ากับนุช(ทวีนุช จ่างตระกูล) คนละแปลง เป็นที่ดินที่อยู่ในซอย ส่วนที่ให้พี่เบิ้ม (ไพโรจน์ ล่ำซำ) กับ พี่ปื๊ด (โพธิพงษ์ ล่ำซำ) คนละแปลงน้ันเล็กกว่าหน่อย แต่อยู่ด้านหน้าติดถนนอโศก เมื่อคุณพ่อแนะนำให้คุณหมออุทัยกับข้าพเจ้า ย้ายรัตนินจักษุคลินิก จากห้องแถวที่เช่าอยู่ที่วังบูรพา มาที่อโศกนั้น คุณพ่อเรียกพี่เบิ้มมาถามว่า จะเต็มใจแลกที่ดินกับน้องเพื่อให้น้องได้ทำคลินิกตาไหม แน่นอนว่า พี่เบิ้มตอบว่าเต็มใจ โรงพยาบาลจักษุรัตนิน ณ วันนี้จึงตั้งอยู่บนถนนอโศกมนตรีอย่างเต็มภาคภูมิ”




ในระยะเริ่มแรก คุณหญิงและคุณหมอปลูกบ้านและสร้างคลินิกขึ้นที่บริเวณสนามหน้าบ้าน เป็นคลินิกเล็กๆ มีเตียงผู้ป่วยเพียง 4 เตียง 5 ปีต่อมา รัตนินจักษุคลินิก ก็ขยายเป็น 7 เตียง ก่อนที่จะขยายเป็น

โรงพยาบาล ในปี 2518 โดยรื้อถอนบ้านและคลินิกเดิมปลูกใหม่เป็นตึกสูงห้าชั้น เพิ่มจำนวนเตียงคนไข้เป็น 27 เตียง


โรงพยาบาลจักษุรัตนินประสบความสำเร็จอย่างสูง นพ.อุทัย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับใช้

ใต้เบื้องยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่เริ่มเปิดคลินิกที่ซอยอโศกใน ปี พ.ศ. 2507



คุณหญิงและคุณแม่สิริ กรินชัย ปี พ.ศ.2526


คุณหมอและคุณหญิงยังได้สร้างกุศลด้วยการถวายการรักษาแด่พระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก รวมถึงพระมหาเถระ และพระเถระอาจารย์ผู้มีคุณบารมีใหญ่หลวงในพุทธศาสนา อาทิ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฑปริณายก หลวงปู่แหวน สุิจิณโณ หลวงปู่ขาว อนาลโย พระอาจารย์มหาบัวญาณสัมปันโน หลวงปู่คำดี ปภาโส พระอาจารย์แบน ธนากโร รวมถึง คุณแม่สิริ กรินชัย ผู้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในด้านพุทธศาสนา อีกทั้งยังได้รับดูแลและรักษาคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ

พระราชินูปถัมภ์มาตลอดมา


ตกปลาด้วยใยแมงมุม


เมื่อคลินิกขยายออกเป็นโรงพยาบาลคลอบคลุมทั้งหมดของที่ดิน ครอบครัวของคุณหญิงย้ายขึ้นไปอยู่บนชั้น 5 ของโรงพยาบาล ในเวลานั้น ครอบครัวของคุณหญิงประกอบด้วยลูกๆ 4 คน คือ สรรพัฒน์ (น.พ.สรรพัฒน์/ไต๋) วรัดดา(น้ำผึ้ง) อโนมา(น้ำหวาน) และจิตรจารี(น้ำอ้อย) รวมถึง จตุพร (เต้ย) หลานของคุณหมอ ซึ่งมาอยู่กับครอบครัวคุณหญิงตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยถือเป็นลูกชายคนใหญ่


แถวนั่งด้านหน้า จากซ้าย น.พ.สรรพัฒน์ คุณวรัดดา และคุณจตุพร

แถวหลัง น.พ.อุทัย คุณอโนมา คุณจิตรจารี และคุณหญิง


ในช่วงต้นของการทำคลินิกและโรงพยาบาล คุณหมอและคุณหญิงทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่กับการทำงาน แต่คุณหมออุทัย ก็จะเก็บบ่ายและคืนวันเสาร์ไว้สำหรับครอบครัว ที่จะมีกิจกรรมพิเศษร่วมกัน อาทิ เล่นเกมนิทาน ‘วุ้นกินคน’ ที่คุณหมอจะเล่าเรื่องวุ้นจากต่างดาว(คุณหมอ) ที่มาบุกโลกและจับมนุษย์ (ลูกๆ ที่ซ่อนอยู่) กิน และหากจะเล่าสักเรื่องหนึ่งที่สะท้อนถึงบุคลิกที่ละเอียดปราณีตและ ตลอดจนวิธีการเลี้ยงลูก แบบฉบับคุณหมออุทัย ก็น่าจะเป็นเรื่องการตกปลาด้วยใยแมงมุม คุณน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตเล่าไว้ ว่า


“อุปกรณ์ในการตกปลาสูตรคุณพ่อมี 1.กิ่งไม้เล็กๆ 2. ใยแมงมุม 3. กระป๋องใส่ปลาที่จับได้ 4.ลำธารเล็กๆ ที่ชุดชุมไปด้วยปลาเข็มและปลาเล็ก ที่พ่อเรียกว่าปลาหัวตะกั่ว ตามลักษณะจุดสีตะกั่วที่หัวของมัน

วิธีการก็คือ ปั้นใยแมงมุมให้เป็นคล้ายเส้นด้ายเอาปลายข้างหนึ่งไปพันกับปลากิ่งไม้เล็กๆ ส่วนอีกปลายหนึ่งขมวดปมแทนเบ็ด พร้อมแล้วก็นำไปให้พ่อตรวจคุณภาพ


“เมื่อผ่านการตรวจรับรองแล้วก็ลงมือตกปลาได้ โดยเล็งปลาที่เป็นเป้าหมาย ก่อนที่จะบรรจงหย่อนปมใยแมงมุมลงตรงหน้ามัน ปลาส่วนใหญ่สะดุ้งเล็กน้อย เมื่อใยแมงมุมกระทบผิวน้ำ แต่เมื่อพิจารณาสิ่งแปลกปลอมแล้วดูเหมือนไม่มีพิษมีภัย แถมยังอาจอร่อยอีกด้วย ก็จะเข้ามาสำรวจใกล้ๆ ทีนี้แหละเป็นศิลปะส่วนตัว ที่จะเคลื่อนปมใยให้ดูคล้ายอาหารปลาที่น่ากินที่สุด ซึ่งมักจะเป็นการลากทวนน้ำไปอย่างช้าๆ กระตุกนิดๆ เหมือนมีชีวิต ถ้าปลาไม่ตาม ก็ปล่อยให้ลอยกลับไปจ่อตรงหน้ามันอีก แล้วเริ่มล่อใหม่ จนกว่าปลาจะสนใจหรือรำคาญจนงับใยแมงมุม


“เมื่อปลากินปมแล้ว เราดึงปลาขึ้นมาเด็ดใยแมงมุมให้ปลาตกลงในกระป๋องที่คุณพ่อใส่น้ำเตรียมไว้ ใยแมงมุมสายหนึ่งใช้ตกปลาได้หลายครั้ง เมื่อสมควรแก่เวลาแล้ว ลูกๆ จะเอาปลามาประกวดกัน โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ตัดสิน จากนั้นทุกคนก็นำปลาของตนเองไปปล่อย”

เลี้ยงลูก


คุณหญิงจำนงศรี มีลูกคนแรกเมื่อายุได้ 23 ปี นพ.สรรพัฒน์ (ไต๋) เกิดที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา ขณะที่ นพ.อุทัย กลับไปทำงานวิจัยต่อ คุณหญิงให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกไว้ ในนิตยสารหลายฉบับ

รวมความได้ว่า


“ดิฉันเลี้ยงไต๋เอง เพราะคลอดเขาที่บอสตัน ช่วงนั้นมีคดีฆาตกรรมซึ่งขณะนั้นยังจับคนร้ายไม่ได้ จำได้ว่าฆ่าคนไป 13 ศพแล้ว ทางการออกข่าวเตือนตลอดเวลาว่า ไม่ให้เปิดประตูให้ใครทั้งสิ้น แต่ตอนนั้นที่พักของเราอยู่ชั้นสามไม่มีลิฟต์ เวลาเอาผ้าลงมาซักข้างล่าง ทำให้ประสาทเสียเหมือนกัน เพราะต้องอุ้มผ้าลงมาก่อน แล้วอุ้มลูกลงมาทีหลัง เวลาจะขึ้นต้องเอาลูกขึ้นไปไว้ก่อนแล้วลงมาเอาผ้า


“ไต๋เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายมาก บังเอิญเขาเกิดวันเดียวกับศาสตรจารย์ชาร์ลส์ เอล. สเกเพนส์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิจอประสาทตา และเป็นแพทย์ที่โด่งดังมากทางด้านประสาทตา เขาตื่นเต้นมากที่เด็กคนนี้เกิด ในขณะที่เขากำลังฉลองวันเกิด เขาบอกว่า ต่อไปเด็กคนนี้ต้องเป็นหมอตาที่เชี่ยวชาญทางประสาทตา คล้ายตัวเขา ไต๋ก็เลยชื่อว่า สรรพัฒน์ สเกเพนส์ รัตนิน” และเป็นเหตุให้ นพ.อุทัยมาไม่ทันลูกชายคลอด


“ตอนนั้นอายุยี่สิบสามค่ะ ไม่รู้ว่าปวดท้องจะคลอดเป็นยังไง ก็นึกว่าปวดท้องถ่าย เข้าไปนั่งเบ่ง อยู่ในส้วม (หัวเราะ) สลับกับขัดห้องน้ำ บังเอิญคุณสุชาติ หวั่งหลี โทร.มาถามอาการจากนิวยอร์ก เราก็บอกว่ามันปวดเป็นระยะๆ เขาเลยวางหูแล้วรีบไปถามผู้หญิงที่เคยมีลูก แล้วโทร.กลับมาบอกกว่า ไม่ได้แล้วนะ นี่แสดงว่าจะคลอดแล้ว ดิฉันโทร.ไปบอกหมออุทัย เขาก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ท้องสาว คงอีกสักพัก เราเองก็ยิ่งปวดมากขึ้นทุกที


“และความที่เขาเป็นหมอต๊าหมอตา ก่อนมาหาเรา หมออุทัยแวะซื้อแฮมเบอร์เกอร์มาให้ แล้วบอกว่า ลูกท้องแรกกว่าจะคลอดมันกินเวลานานมาก ผมเป็นห่วงเดี๋ยวคุณจะหิว ผมเลยเอามาฝาก (หัวเราะ) พอไปถึงโรงพยาบาลเขายังใจเย็น บอกว่า เดี๋ยวผมวิ่งไปแฮ็ปปี้เบิร์ธเดย์สเกเพนส์หน่อย ปรากฏว่าไต๋ออกมาเลย”


เมื่อถึงคราวลูกคนถัดมา คุณน้ำผึ้ง-วรัดดา ก็เช่นกัน “ดิฉันปลุกหมออุทัยกลางดึก บอก หมอ! คราวนี้มาอีกแล้วแน่นอนเลย เขาบอก เดี๋ยวนะ วันนี้ผมผ่าตัดมาเหนื่อยมาก ขอหลับอีกหน่อย (หัวเราะ) พอไปถึงโรงพยาบาลแป๊บเดียว ผึ้งออกมาแล้ว”


คุณน้ำผึ้ง คุณหญิง และคุณไต๋

คุณหญิงเลี้ยงลูกทุกคนด้วยตนเองและให้ดื่มนมแม่ “ตัวดิฉันเองไม่มีแม่ แม่ของดิฉันเสียตั้งแต่อายุได้สองขวบครึ่ง จึงไม่มีประสบการณ์ของการเป็นลูก ซึ่งอาจจะเป็นจุดที่น่าสนใจก็ได้ เพราะเป็นประสบการณ์ที่อาจจะต่างไปจากแม่คนอื่น ซึ่งเขาเรียนการเป็นแม่ มาด้วยการเป็นลูกมาก่อน แต่สำหรับดิฉัน – ดิฉันไม่ – ดิฉันเป็นลูกกำพร้า...

“ดิฉันมีลูกเมื่ออายุค่อนข้างจะน้อย แล้วก็เรียนน้อย คือเรียนถึงแค่อายุ 18 ปี แล้วก็ทำงาน ดิฉันเลี้ยงลูกโดยไม่มีแบบฉบับ เลี้ยงตามสัญชาตญาณและความรัก แต่ว่าเมื่อได้เลี้ยงลูกแล้ว การเลี้ยงลูกสอนเราหลายอย่าง ซึ่งมันอาจจะผิดหรืออาจจะถูก ความรัก นี่มันไม่ใช่ว่าจะทำให้เราทำถูกเสมอไป ลูกโตมาด้วยเห็นทั้งความผิดและความถูกในการสอนของแม่ แล้วก็ถือว่าเป็นธรรมชาติของเรา ความผิดพลาดไม่ได้มีผลเสียอะไรนักหนา แต่ความหมายว่า เดี๋ยวนี้มองย้อนหลังไป อ้อ เราไม่ควรทำอย่างนั้นนะ อ้อตรงนี้เรามีอารมณ์ไปหน่อย


“ดิฉันมีลูก 2 รุ่น ..คู่แรกเกิดปีละคน แล้วก็ห่างไปประมาณอีก 4 ปี ดิฉันเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองทุกคน อันนี้สำคัญมากสำหรับดิฉันนะคะ เพราะว่ามันเป็นการสัมผัสที่ดีมากค่ะ สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ – เป็นความสุข ชอบอุ้มเด็ก อยากกอดเด็ก สำหรับดิฉันความรักที่มีต่อลูก มีโดยสัญชาตญาณอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้ง 4 คน และแม้กระทั่ง 5 คน (คนโตสุดเป็นหลาน แต่คุณหญิงนำมาเลี้ยงให้ความรักเสมือนลูก)”



ท่ามกลางการเลี้ยงดูที่ให้ความรักอย่างเต็มเปี่ยม คุณหญิงไม่ได้เลี้ยงลูกแบบทะนุถนอม “คุณพ่อดิฉัน (

จุลินทร์ ล่ำซำ) เลี้ยงลูกๆ ให้ลุย สมัยเด็กๆ นั่งรถจี๊ปเข้าป่า เห็นตัวแย้วิ่งตัดหน้า พอคุณพ่อบอกว่าชาวบ้านเขาชอบกิน เราร้องยี้...ได้เรื่องเลย คุณพ่อว่ามนุษย์เหมือนกัน เขากินได้ เราสูงส่งอะไรรึ ถึงกินไม่ได้ จักจั่นทะเลอีก พอร้องยี้ คุณพ่อก็หามาให้กินแก้ยี้


“สมัยอยู่อังกฤษคุณพ่อพาไปสวนสนุก ท้าให้ขึ้นไม้ลื่นที่สูงเท่าตึกสองสามชั้นได้มั้ง ขึ้นแล้วถอยไม่ได้เพราะมีฝรั่งต่อท้าย ดิฉันกลัวมากก็เกาะอยู่อย่างนั้น ฝรั่งรอไม่ไหวถีบไหลปรู๊ดลงมา โดนคุณพ่อล้อไปอีกนาน ว่าศรีขี้ขลาดจนถูกฝรั่งถีบ ท่านล้อให้กล้าไง โตขึ้นมาอย่างนี้ เลยไม่ถนอมลูกๆ”


ผลก็คือ “ลักษณะเด่นของลูกครอบครัวนี่คือทรหด ทุกคนไม่มียกเว้น คือถูกเลี้ยงมาอย่างนั้น เด็กพวกนี้ซนทุกคนจะเล่นกันแบบไม่ยับยั้ง ส่วนดิฉันเป็นแม่ที่ไม่ปลอบลูกเลย เขาจะปีนกำแพงตกกำแพง จะเล่นอะไรที่คนอื่นทนไม่ได้ ” หากเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาก็มีคลินิกให้เย็บแผลโดยสะดวก และในกรณีที่คุณหมอเห็นว่าเย็บบ่อยไป ก็จะมีเย็บแบบสด ไม่ฉีดยาชา


“ดิฉันไม่เคยคิดว่า มีช่วงไหนหรือวัยใดที่เลี้ยงลูกยาก คือโชคดีอยู่อย่างที่ดิฉันไม่มีปัญหาหนักหนาอะไร จะมีก็ปัญหาที่เป็นไปตามธรรมชาติของความสัมพันธ์ของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นปัญหาอย่างที่ดิฉันจะต้องวิ่งไปแก้ อย่างขนานใหญ่อะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเขามีปัญหามา เขารู้ได้ว่าแม่อยู่ตรงนี้ พ่ออยู่ตรงนี้นะคะ แล้วความเป็นแม่หรือความเป็นพ่อ ในสายตาดิฉันมันตัดไม่ขาด”


สูญเสียคุณพ่อ


หลังจากคุณหญิงกลับจากอเมริกาได้เพียง 2 ปี คุณจุลินทร์ ล่ำซำ บิดาของคุณหญิงซึ่งป่วยด้วยโรค

เบาหวานมาระยะหนึ่งเสียชีวิตลง ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2508



คุณจุลินทร์ ล่ำซำ



คุณหญิงเขียนเล่าไว้ว่า “ในช่วงปลายชีวิตของท่าน โรคเบาหวานได้ทำลายประสาทตา จนตาคุณพ่อบอดทั้งสองข้าง แต่ท่านเป็นนักสู้ที่จิตใจเข้มแข็งและสดใส แดง-ธงชัย ล่ำซำ เล่าว่า “หลังอาหารเย็น ท่านจะให้พาเดินเล่นออกกำลัง” คุณพ่อเป็นคนที่มีความสุขกับการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานมูลนิธิต่างๆ และยังทำงานหนักอย่างทุ่มเทใจแม้กระทั่งในช่วงท้ายๆ ของชีวิต จนในที่สุดก็ถึงจุดไตวาย เรายืนล้อมเตียงอย่างสงบขณะที่คุณพ่อสิ้นลมตอนอายุ 61 ปี ที่โรงพยาบาลมิชชั่น”


คุณจุลินทร์ และคุณโชติ ซึ่งเป็นล่ำซำรุ่นที่ 3 ได้ร่วมกันกอบกู้ฐานะของตระกูลที่ประสบภาวะล้มละลาย เนื่องการเปลี่ยนนโยบายสัมปทานป่าไม้ของรัฐบาลไทย ประกอบกับสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ส่งผล

กระทบต่อธุรกิจของตระกูลล่ำซำในประเทศจีน ต่อมาเมื่อ คุณโชติ ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา คุณจุลินทร์ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรคนที่ 2


นอกจากบทบาทในธนาคารกสิกรไทย คุณจุลินทร์ยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกับภาครัฐ อาทิ ห้างไทยนิยม ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย บริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด โรงแรมเอราวัณ เป็นต้น


คุณจุลินทร์ มีบุตรทั้งสิ้น 6 คน จาก คุณสงวน(หวั่งหลี) 4 คนคือ คุณไพโรจน์ คุณโพธิพงษ์ คุณหญิงจำนงศรี (หาญเจนลักษณ์) และคุณทวีนุช (จ่างตระกูล) จาก คุณพรรณี เกษมสุข 1 คน คือ คุณธงชัย และบุตรกับคุณอดิสัย ตันสกุล อีก 1 คน คือ คุณภูมิชาย


บุตรทั้ง 6 ของคุณจุลินทร์

จากซ้ายไปขวา แถวหน้า คุณทวีนุช คุณไพโรจน์ คุณหญิง แถวหลัง คุณภูมิชาย คุณโพธิพงษ์ และคุณธงชัย


หนังสือบ้านหวั่งหลี (คุณแม่ของคุณจุลินทร์ คุณทองอยู่ มาจากตระกูล หวั่งหลี) บันทึกประวัติของ

คุณจุลินทร์ มีความตอนหนึ่งว่า คุณจุลินทร์ “เป็นคนคิดเร็วทำเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และมีใจที่เปิดกว้าง

ทันยุคทันสมัย ประกอบกับอุปนิสัยที่สนุกสนาน เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และความโอบอ้อมอารีจนเป็นที่เลื่องลือ ทำให้เป็นที่รักและนับถือในวงการธุรกิจทั้งฝ่ายไทยและจีน จึงเป็นผู้นำคนหนึ่งในการก่อตั้งหอการค้าไทย ซึ่งเดิมชื่อว่าหอการค้ากรุงเทพ กับ สมาคมพ่อค้าไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนั้นยังได้รับ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา"


ในส่วนของสาธารณกุศล คุณจุลินทร์ ดำรงตำแหน่งงานเพื่อสาธารณะ มากหลาย เช่น ประธานมูลนิธิ

โรงพยาบาลเทียนฟ้า ประธานกรรมการฝ่ายการเงิน และกองรางวัลงานกาชาด ต่อเนื่องกันอยู่หลายสมัย และได้ร่วมกับพี่ชาย โชติ ล่ำชำ บริจาคที่ดิน 8 ไร่ ให้สมาคมจีนแคะ สร้างสุสานจีนแคะ



คุณจุลินทร์และบุตรชายทั้ง 4

(จากซ้ายไปขวา) คุณโพธิพงษ์ คุณภูมิชาย คุณจุลินทร์ คุณธงชัยและคุณไพโรจน์



หนังสือข้างต้น กล่าวถึงอุปนิสัยอีกด้านหนึ่งของคุณจุลินทร์ ที่ไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผย คือ “ความสุขในการ

ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ให้คำปรึกษา หารือ และให้เงิน โดยมีบุคคลต่างๆ มาขอที่ทำงานเกือบทุกวัน หรือเขียนจดหมายมา หรือจุลินทร์ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ ทำให้ในงานพระราชทานเพลิงศพ มี

บุคคลจากต่างฐานะมาร่วมงานมาก เมื่อลูกๆ ของจุลินทร์ไปพูดคุยด้วย คนหนึ่งบอกว่ามาเพราะท่านให้

ความช่วยเหลือครอบครัวเขาตลอดเวลาที่ต้องโทษติดคุก ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้จักกับท่านมาก่อน เพียงเขาจดหมายมาขอความช่วยเหลือ และมีชาวจีนจูงลูกมาโดยบอกว่า ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน

มาตลอด”


เมื่อบิดาเสียชีวิต คุณไพโรจน์ ล่ำซำ ซึ่งในเวลานั้นอายุ 32 ปี เข้ามารับภาระทั้งในส่วนธุรกิจของตระกูลและ ดูแลน้องๆ นอกเหนือจากครอบครัวตนเอง


ในเรื่องนี้คุณหญิงเขียนไว้ในเรื่อง ‘น้ำใสสะอาดที่นิ่งอยู่ในขัน’ ว่า “ตั้งแต่วันนั้นพี่เบิ้มก็กลายเป็นเหมือน พ่อคนที่สอง ของพวกเราทุกคน เหมือนดังที่ภูมิ-ภูมิชาย เล่า ‘ผมอายุ 16 ปี คุณแม่ผมบอก ว่าพี่เบิ้มเหมือนเป็นพ่อคนที่สองของเรานะ ซึ่งก็จริงตามน้ัน พี่เบิ้มเป็นคนดูแลผม ทรัพย์สมบัติมรดกที่คุณพ่อให้ผมมา

พี่เบิ้มก็เป็นคนดูแล”


ทั้งนี้หลังกลับจากอังกฤษพร้อมคุณหญิง คุณไพโรจน์รับหน้าที่ ดูแลโรงเรียนธนบุรีศึกษาต้ังแต่ปี พ.ศ. 2502 เป็นการแบ่งเบาภาระการงานจากคุณจุลินทร์ซึ่งเริ่มป่วยและตาฝ้ามัวจากโรคเบาหวาน “โรงเรียนนี้คุณพ่อก่อต้ังเพื่อให้เด็กในชุมชนวัดมะเกลือได้เรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น คุณพ่อบริหารอยู่แค่ปีเดียวก็ส่งต่อให้พี่เบิ้มเป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาต และปีต่อมา (พ.ศ. 2503) ก็ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทสมบัติล่ำซำต่อจากคุณพ่อ พี่เบิ้มรับผิดชอบบริหารทั้งโรงเรียนและบริษัทนี้มาจนสิ้นชีวิต” (คุณไพโรจน์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2561 อายุ 84 ปี และโรงเรียนธนบุรีศึกษาปิดกิจการในปี พ.ศ.2564)


“ถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าอยากจะบอกว่า มีหลายคร้ังที่พี่เบิ้มปรารภกับ ข้าพเจ้าว่า พวกเราพี่น้องลูกๆ

คุณพ่อนี้ดีนะ เราไม่เคยสร้างปัญหาให้กัน ไม่เคยทะเลาะหรือขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ไม่เคยแย่งชิงอะไรจากกัน พี่เบิ้มบอกว่ารู้สึกภูมิใจ”


ส่วนคุณหญิงเล่าถึงคุณพ่อว่า “คุณพี่ชัชนี (คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช) เล่าว่า คุณพ่อเป็นคนใจดีและ

ใจกว้างมาก ครั้งหนึ่งขณะลงบันได มีลูกน้องคุณพ่อคนหนึ่งยืนอยู่ข้างล่าง คนที่เดินลงมาพร้อมกับคุณพ่อพูดว่า คนนี้มันโกงนาย แล้วนายยังดีกับมันได้ไง คุณพ่อบอกว่า อ้าวก็มันทำงานกับฉัน ถ้าไม่โกงฉัน แล้วจะให้มันไปโกงใคร อารมณ์ขันของคุณพ่อทำนองนี้ คือรู้ แต่ก็ยังเลี้ยงไว้.. ไม่ใช่ว่าสิ่งที่คุณพ่อคิด ดีหรือถูกต้อง แต่มีอะไรพิเศษ ในแง่ความใจกว้างและอารมณ์ขัน”



คุณหญิงและคุณพ่อ


"สำหรับคุณพ่อใครๆ ก็เห็นท่านเป็นแต่นักธุรกิจ น้อยคนที่จะรู้ว่าท่านรักศิลปะและวรรณคดี หนังสืองานศพของคุณแม่ คุณพ่อใช้นิราศอิเหนาของสุนทรภู่เป็นบทนำ และยังจำได้ว่าตอนเล็กๆ เอาไปท่องให้เพื่อนๆ ฟังแล้วอวดว่าพ่อฉันเขียนนะ (หัวเราะ) ...ทุกครั้งที่เห็น ‘สามก๊ก’ ฉบับพระยาพระคลังก็ยังคิดถึงท่านมากและท่านคุยให้เราฟังอยู่เสมอ"


คุณจุลินทร์และคุณสงวน ล่ำซำ


นิราศอิเหนาที่แทนความรู้สึกหวนหาอาวรณ์ของคุณจุลินทร์ต่อภรรยาผู้เป็นที่รักยิ่งนั้น มีบทขึ้นต้นว่า

"นิราศร้างห่างเหเสน่หา

ปางอิเหนาเศร้าสุดถึงบุษบา พระพายพาพัดน้องเที่ยวล่องลอย

ตะลึงเหลียวเปลี่ยวเปล่าให้เหงาหงิม สุชลปริ่มเปี่ยมเหยาะเผาะเผาะผอย

โอ้เย็นค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย น้องจะลอยลมบนไปหนใด..."


“เมื่อครั้งที่คุณพ่อเสียแล้วนั่งอยู่ข้างศพคุณพ่อ ความสงสัยเกี่ยวกับความตายหวนกลับมากระทบใจอีกครั้ง ความสงสัยที่ว่า สิ่งต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นคนคนหนึ่งหายไปไหน คุณพ่อที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีพลังมหาศาล ทั้งในร่างกาย ความคิด หายไปไหน... อารมณ์ขัน ความใจกว้าง ใจดี ของคุณพ่อ สิ่งเหล่านี้ก็พลอยอันตรธาน สูญสิ้นไปด้วยหรือ


“แล้วตัวเราที่เคยทำโน่น ทำนี่ เคยคุย หัวเราะ ตัวตนของเราที่เคยคิด เคยทำเรื่องต่างๆ มากมาย วันหนึ่งก็จะหายไป ไม่เหลืออะไรเลย อย่างนี้หรือ...”


หัวหินในชีวิต


...

Now, though, we rarely meet

the sea still speaks to me,


in quiet tones we talk

of daylight and realities

together we contemplate

storms and change abilities,

we are companions

in these calmer days

the deep, warm sea and I


(ส่วนหนึ่งของ บทกวี Hua Hin โดย Chamnongsri Rutnin)


คุณหญิงที่หัวหิน ปี พ.ศ.2502


เช่นเดียวกับที่ชื่อเสียงของหัวหินห่างหายไปจากความสนใจของผู้คน ในช่วงเวลาของการสร้างครอบครัว ความใฝ่ฝันส่วนตัวของ ‘จำนงศรี’ ถูกวางพักไว้ในบทบาทของภรรยาและแม่ จึงเป็นเวลานานมากกว่า

สองทศวรรษ กว่าที่บันทึกความรู้สึกต่อหัวหินในวัย 18 จะได้รับการตีพิมพ์ นานพอที่จะมีบทส่งท้าย

ความรู้สึก ต่อหัวหินที่เปลี่ยนไปในอีกช่วงวัย


"บทนี้เขียนเมื่ออายุมากแล้ว Hua-Hin จะแบ่งเป็น 3 ตอน ตามช่วงวัย ที่เราเป็นเพื่อนกับทะเล จากเพื่อนเล่นวัยเด็ก เพื่อนที่เข้าใจกันแลกเปลี่ยนกันในรุ่นสาว ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความรัก จนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ Now นี่ก็กลายปีมาแล้วนะ (สัมภาษณ์ปี 2565) ทะเลก็ยังพูดกับฉันนะ แต่พูดเงียบๆ พูดถึงความเป็นจริงทั้งหลาย ความไม่แน่นอนทั้งหลาย... สงสัยว่าจะต้องเขียนต่อ เพราะว่าตอนอายุ 70-80 ความสัมพันธ์มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าเขียนอีกรอบจะว่ายังไงก็ไม่รู้ คิดว่าน่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คงต้องดูว่าจะเป็นยังไงต่อ"


นอกจากบท Hua-Hin คุณหญิงยังเขียนบันทึกความรู้สึกที่เกิดในห้วงเวลาสั้น บนชายหาดหัวหิน ในบทกวี Conspiracy


Yesterday evening

I came upon a momentary conspiracy

of the sea,

and the sun, and the sand

.. the sky, too, had a hand in it

On a deserted beach

they conspired to shape

a shimmering mirage

a poem of liquid harmony

a vision of jewelled unreality

an orchestration of charmed symphony

a sad, exquisite dance

of enchantment

transience

and loss


"อันนี้มีความหมายมาก เพราะว่ามันเกิดขึ้นตอนเดินไปคนเดียวบนหาดที่หัวหินตอนเย็น แล้วเราเห็นบนพื้นทราย มันเหมือนการรวมตัวกันของแสงอาทิตย์ ของทราย ของท้องฟ้า และของทะเล คล้ายๆ รวมหัวกันเพื่อที่จะสร้างภาพมายา แต่มันไม่ได้เป็นภาพอะไรหรอก มันเป็นแสง เป็นเงา เป็นสี เป็นอะไรที่กลมกลืนงดงาม และเคลื่อนไหวตลอด มันเป็นทั้ง poem เป็นทั้งภาพ คล้ายๆ การสอดประสานของ orchestra มันสวยมากเลยบนพื้นทราย คือน้ำที่มันเปลี่ยนกับทรายตรงนั้น แล้วก็แสงตรงนั้น สะท้อนกับเงาฟ้าตรงนั้น


"สำหรับเรามันเกิดความเศร้าขึ้นมาว่า มันงดงามเหลือเกิน แต่เป็นความงดงามที่เปลี่ยนแปลง และสูญเสีย เพราะในที่สุดแป๊ปเดียว มันก็หายไป เราเห็นในธรรมชาติของแสง สี ความเคลื่อนไหว เงาสะท้อน มันมารวมตัวกัน สร้างอะไรที่มันงดงามมาก แต่มันไม่ใช่งดงามกับที่ มันงดงามเคลื่อนไหว แล้วก็หายไป ที่จริงทุกคนเห็นได้ เพราะมันเกิดขึ้นตลอดเวลาตามชายหาด แต่มันอยู่ที่อารมณ์ของเราตอนนั้น เราจะประสานกับเขาได้ไหม จะรับสัจธรรมและความงดงามนั้นได้ไหม ในขณะนั้นใจเราเปิดและนิ่งพอหรือเปล่า บทนี้เป็นการพูดถึงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่วินาที"


ภาพถ่ายโดยคุณหญิงจำนงศรี


ปีสุดท้ายของทศวรรษที่ 1970 ‘สกายแล็ป’ สถานีอวกาศแห่งแรกของอเมริกา ซึ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ใน

ปี 1973 ตกลงมาเป็นเศษขยะกระจายไปในทวีปออสเตรเลียและท้องมหาสมุทร กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทะเลเก็บงำไว้


ในตอนท้ายของ ทะเลกับฉัน บทนำหนังสือเข็นครกตัวเบา คุณหญิงเขียนไว้ว่า


“ณ ยามนี้ ที่เป็นย่า เป็นยาย และคงจะเป็นทวดในเวลาไม่ช้านัก ข้าพเจ้าเห็นทะเลเป็นธรรมชาติ

ที่เคลื่อนไหวคู่เคียงกับกาลเวลา ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามองทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ได้โอบอุ้มทั้งชีวิต และความตายมาเกินคณานับ ความรู้สึกจะเกิดขึ้นอย่างซึ้งถึงใจว่า ชีวิตเรานี้ช่างน้อยนิด

“ในชีวิตอันน้อยนิดนี้ เราแบกทุกข์เริงสุขกันมากมาย ถ้าทะเลพูดได้ คงเอ่ยเอื้อนเตือนสติว่า แล้ว

ทุกอย่างก็จะผ่านหายไป เหมือนพลิ้วคลื่นบนผิวสมุทร แต่ละพลิ้วเกิดขึ้นอยู่ชั่วครู่ แล้วก็ดับไป ตามเหตุ

ตามปัจจัย


“ทะเลจะยังเป็นทะเล ไม่ว่าคนรักทะเลคนนี้ ยังอยู่หรือลาโลกนี้ไปแล้ว... ทะเลก็จะยังเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน เปลี่ยนสีไปตามอารมณ์แสง เปลี่ยนจังหวะไปตามอารมณ์ลมอารมณ์ฟ้า ทว่านิ่งใส สงบเย็น ลึกลงไปถึงก้นบึ้งสมุทร”


 


ดู 13 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page