top of page

นักข่าว นักเขียน นักแปล


ธิดา มหาเปารย



สมัยที่หนังสือพิมพ์ The Bangkok World อยู่ในยุคบุกเบิกและยังไม่รวมอยู่ในเครือข่ายของ The Bangkok Post เช่นทุกวันนี้ นายทุนเจ้าของหนังสือพิมพ์ ตลอดจนบรรณาธิการและผู้ร่วมกองบรรณาธิการเป็นชาวต่างชาติเสียส่วนมาก ในจำนวนคนไทยที่มีอยู่น้อยเต็มที เป็นตำแหน่งของบรรณาธิการข่าวในประเทศ บรรณาธิการข่าวกีฬา และช่างภาพ มีผู้หญิงคนเดียวประจำกองบรรณาธิการ และเป็นบรรณาธิการข่าวสังคมที่มีอายุน้อยที่สุด


ด้วยวัยเพียง 18 ปี กับตำแหน่งบรรณาธิการข่าวสังคม มิใช่เพียงสิ่งที่ทำให้ชีวิตนักหนังสือพิมพ์หญิงของเธอเป็นที่ฮือฮามากในขณะนั้น หากเพราะเธอเป็นบุตรีของครอบครัว ‘ล่ำซำ’ หนึ่งในตระกูลนักธุรกิจใหญ่ของเมืองไทย น่าแปลกน้อยอยู่หรือที่เธอละจากงานธุรกิจของครอบครัว หันมาจับแป้นพิมพ์ดีดในโรงพิมพ์ ที่เล่ากันว่ายัง ‘ห่างไกลอารยธรรม’ จำนงศรี รัตนิน คือชื่อของเธอ อดีตนักข่าวหญิงคนนั้น มารู้จักชีวิตที่ค่อนข้างแหวกแนวสักหน่อยของเธอดีไหม


“ความจริงนักหนังสือพิมพ์หญิงรุ่นเก่าๆ ก็มีหลายท่าน แต่ตอนนั้นจะแปลกอยู่บ้าง ก็ตรงที่เป็นหนังสือพิมพ์ของฝรั่ง และเป็นคนเดียวในครอบครัวที่กระโดดมาทำงานหนังสือพิมพ์ ผู้ใหญ่สมัยนั้นนึกไม่ออกเลยว่าเป็นอย่างไร คุณยายดิฉันงี้จะเป็นลม”


คุณจำนงศรีเริ่มเรื่อง หลังจากนัดพบเธอที่ รัตนินจักษุคลินิก น้ำเสียงแจ่มใสเมื่อได้หวนระลึกถึงอดีตเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว เธอบอกว่าเกือบจะลืมชีวิตช่วงนี้ เพราะมัวแต่ยุ่งและวุ่นกับครอบครัวและคลินิกของ

นายแพทย์อุทัย รัตนิน ผู้สามี แม้วันนี้จะไม่มีภาพเด็กสาวร่างเล็กวิ่งตะลอนๆ หาข่าว หากสุภาพสตรี

ตรงหน้าก็ยินดีลำดับภาพครั้งกระนั้นด้วยความเต็มใจ


“ดิฉันไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 12 พอจบขั้นมัธยม คุณพ่อ (1) ก็ให้กลับ ท่านอยากให้กลับมาทำธุรกิจที่บ้านมากกว่าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ตามความคิดของท่าน ผู้หญิงควรรู้การบ้านการเรือน เข้าสังคมได้ พิมพ์ดีดได้ ทำอาหารเป็น ก็เลยเรียนเลขาฯบ้าง ทำอาหารบ้าง กลับมาอายุ 18 ได้ ก็ทำงานในแผนกชิปปิ้งให้บริษัทล๊อกซเล่ย์ ทำอยู่เดือนสองเดือน เบื่อแทบตายทำผิด ทำถูก ไม่ชอบเลยเรื่องธุรกิจตัวเลขอะไรนี่”





มาถึงฉากสำคัญ ก็ทำอย่างไรเล่าถึงจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ได้ ต้องให้เธอเล่าเอง


“ดิฉันไปงานเลี้ยงบนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา คุยกับฝรั่งคนหนึ่งถูกคอ คุยกันเรื่องบ้าๆ บอๆ ตอนนั้นอายุ 18 กำลังบ้ามาก เขาก็ขำ บอกให้ลองเขียนอะไรมาให้เขาอ่านบ้างสิ ถึงได้รู้ว่าเขาคือ ดาเรล แบริแกน (Darrel Berrigan) หรือ Berry บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Bangkok World ก็เขียนนะคะ จำได้ว่าเขียนถึงความรู้สึกเก่าๆ เกี่ยวกับหัวหิน เขาเอาไปลง แล้วโทรศัพท์ตามมาถามว่าจะไปทำงานกับเขาไหม


ดิฉันก็ไปขอคุณพ่อ เลิกทำงานทางบริษัท คุณพ่อช็อคนะคะ เพราะสมัยนั้นงานหนังสือพิมพ์กับผู้หญิงนี่ยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปนัก แล้วแถมไปทำกับฝรั่งโสดๆ เสียด้วย ท่านเป็นห่วง แต่เรานี่อยากใจแทบขาด เพราะแบรี ยื่นข้อเสนอมาอีกว่า ถ้ามา ฉันจะให้เธอเป็นบรรณาธิการข่าวสังคมและสตรีเลยนะ เขาให้เหตุผลว่า หนังสือพิมพ์เขียนในเมืองไทย อย่างน้อยบอกอข่าวสังคมและผู้หญิงนี่ ควรจะเป็นคนไทย อยากจะลองเปลี่ยนดู เพราะเท่าที่ทำมาเป็นฝรั่งกับฟิลิปปินส์ตลอด


อีกอย่างคือเรื่องอายุ แบรี่คิดว่าจะได้อะไรออกมาไม่เหมือนแต่ก่อน อาจมีชีวิตชีวาขึ้นเพราะความคิดไม่เหมือนผู้ใหญ่”


แบริแกนหรือแบรี่ ตามคำเรียกของคุณจำนงศรี ได้รับยกย่องจากคนทำหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยคนหนึ่ง อาจเป็นเพราะเขาเป็นผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งให้ทัดเทียมหรือสู้ฉบับอื่นได้ รวมทั้งความใจกว้างที่จะเห็นคนไทยมีสิทธิ์ในข้อเขียนที่เกี่ยวกับประเทศของตนมากกว่าเก่า แบรี่ยังเป็นบรรณาธิการใจดีและมีอารมณ์ขันต่อการปฏิบัติงานของนักข่าวหญิงคนใหม่


“ทีแรกคุณพ่อก็ยังไม่ชอบใจนักต่อรองให้ไปทำงานวันละ 2 ชั่วโมง ดูซิว่าเขาจะพอใจหรือเปล่า ก็ไปทำ ตอนหลังไปบอกคุณพ่อว่าไม่ทำแล้วงานทางบริษัท ทำไปก็ขายหน้าเพราะใจไม่รัก ทราบนะคะว่าคุณพ่อเป็นห่วง ท่านมีความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงแบบผู้ใหญ่สมัยนั้น แต่ท่านก็อนุญาต


ครั้งหนึ่งจะไปงานอาหารค่ำของสโมสรโรตารี่ เป็นบัตรเชิญคู่ แบรี่ต้องพาดิฉันไปด้วยในฐานะนักข่าวสังคม คุณพ่อบอกว่าไปได้ แต่ต้องมี ‘แชปเปอโรน (2) ไปด้วย ยังจำได้ดีค่ะเรื่องนี้ ดิฉันเรียกแกว่า แอ๊ด แกจะต้องโผล่เข้าไปในงาน ดูซ้ายดูขวา แล้วกลับไปนั่งรอข้างนอก เดี๋ยวก็โผล่เข้าไปดูอีกที เราต้องคอยจับเวลาว่า เมื่อไหร่จะถึงเวลากลับ ก็ต้องกลับพร้อมแอ๊ด เวลาไปสัมภาษณ์ใคร แทนที่จะไปกับช่างภาพ

2 คน ก็ต้องมีผู้ติดตามไปคุมนักข่าวอีกที เป็นเรื่องขำขันของดิฉัน ที่แบรี่เข้าใจดี”


รอยยิ้มวันนั้นยังระบายอยู่ที่ริมฝีปากของเธอ คุณจำนงศรีบอกว่าคุณแม่(3) เสียชีวิตตั้งแต่เธออายุได้ 2 ขวบ จึงชินต่อความรักและการปกป้องของคุณพ่อ


“ทำไปได้สักพักหนึ่งคุณพ่อก็เริ่มชิน เรื่องที่ดิฉันเขียนมักจะมีชื่อกำกับ เวลาท่านไปทำงานก็จะมีฝรั่งเข้ามาทัก ถามว่านามสกุลนี้เป็นอะไรกับท่าน คุณพ่อก็เกิดความรู้สึกภูมิใจ ตอนหลังท่านยอมรับนะคะ แต่ก็มีผู้ใหญ่บางท่านมองเราเป็นตัวอะไรที่ไม่ค่อยเรียบร้อยนัก ท่านผู้ใหญ่คนหนึ่งถึงกับเรียกไปพูดว่า ‘นึกยังไงถึงทำงานอย่างนี้ ทำไมไม่รักษาเกียรติลูกสาวของคุณพ่อบ้าง คิดดูซิ มีใครเขาทำกันบ้าง วิ่งตะลอนๆ ไป ทำงานกับฝรั่งด้วย แล้วฝรั่งก็ยังไม่ได้แต่งงานเสียด้วย ’ เราก็ยอมรับว่าในกองบอกอไม่มีผู้หญิงเลย ท่านก็ถามอีกว่า เลิกไม่ได้เหรอ ทำไมถึงดื้อ

อย่างนี้นะ บางท่านก็รู้จักกับครอบครัวดี เจอกันก็ตบหัวลูบหลัง แต่พอเจอเราวิ่งๆ หาข่าวอยู่ข้างนอก ท่านก็ทำเป็นไม่เห็นซะอย่างนั้น เราก็เจ็บใจเหมือนกัน ทำอยู่เกือบ 3 ปี พอหมั้นกับหมออุทัยก็ลาออก”


ช่วงปลายการทำงานนั้น ใครๆ ก็ยอมรับเธอ แม้ท่านผู้ใหญ่ที่เคยเรียกไปตำหนิ ก็ยังออกปากชมและเป็นแฟนข้อเขียนเธออย่างเหนียวแน่น คุณจำนงศรีเล่าว่าข่ายงานที่เธอทำเกี่ยวกับสตรี สังคม และวิจารณ์หนัง ละคร นอกจากบางครั้งที่ขาดคน เธอก็จะไปช่วยทำข่าวหน้าอื่นๆ บ้าง เรื่องการขาดแคลนไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรืออุปกรณ์ ดูจะเป็นเรื่องปกติของหนังสือพิมพ์ The Bangkok World สมัยนั้น เทียนไขเป็นสิ่งจำเป็นพอๆ กับพิมพ์ดีด หรือแท่นพิมพ์นั่นเทียว เหตุว่าไฟดับเป็นกิจวัตร รวมทั้งบันไดมหาโหดที่ทั้งมืดและชัน เป็นเหตุให้แขกผู้มีเกียรติหลายท่านมีประวัติตกบันไดกันทั่วหน้า


“จำได้ว่าที่ทำงานเป็นห้องแถวไม้สองคูหาที่โทรมขนาดหนัก อยู่ที่ถนนหลานหลวง (ตอนนั้นยังไม่ย้ายไปผ่านฟ้า) เราทำงานกันอยู่ในห้องห้องเดียว ทั้งกองบรรณาธิการ วุ่นกันอยู่ในห้องแคบๆ ที่แสนจะร้อน ภาพที่เห็นประจำคือ แบรี่นั่งทำงานตัวแดงเป็นกุ้ง ยกมือขึ้นกรีดหน้าผาก แล้วก็สลัดมือ จะมีเหงื่อกระเด็นเป็นฝอย มีพัดลมอยู่ตัวนึงก็แย่งกันหัน สนุกมาก (เธอหัวเราะอย่างสุขใจ) พิมพ์ดีดก็ขาดแคลนอย่างแรงนะคะ ใครเผลอเป็นถูกหยิบฉวย ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้หญิงคนเดียว เลยมีคนเห็นใจ ถึงพิมพ์ดีดจะไม่ได้อยู่ที่โต๊ะพอมองซ้ายมองขวาก็มีคนยกมาให้ โต๊ะก็มีให้ต่างหาก แต่ไม่ใช่ของคนเดียวดอกค่ะ เป็นของแมวอีกหลายครอบครัว เวลาเมวจะออกลูกต้องมาอยู่ในนี้ทุกตัว เพราะมีตู้ที่ปิดไม่สนิท จะเปิดหยิบอะไรต้องเจอลูกแมวตัวเล็กๆ จะขยับเขาก็เกรงใจ”


ขอเล่าบ้างได้ไหมตามประสาหัวอกเดียวกัน เพราะที่สตรีสารก็มีแมวไม่ต่ำกว่า 4 ตัว ไม่นับ ‘ขาจร’ ทั้งหลายซึ่งชอบใช้โต๊ะทำงานเป็น ‘ทางแมวผ่าน’ กระโดดเฉียดหน้าข้ามไหล่ไปหน้าตาเฉย เหลืออดขึ้นมา

บอกอก็ขู่ว่าจะเอาไปปล่อยวัด โถ ก็วัดน่ะอยู่ห่างกันเพียงปรายตามอง


คุณจำนงศรีเป็นผู้ที่รักหนังสือและได้เผื่อแผ่ไปถึงบทละคร เธอบอกว่าหลงใหลละครมาตั้งแต่อยู่อังกฤษ ถึงขนาดยอมอดข้าวเที่ยงและเดินแทนขึ้นรถเมล์ เพื่อเก็บสตางค์ไว้ซื้อตั๋วละคร คราวนี้เธอลงมือเขียนเอง และส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลที่ 1 จาก มูลนิธิ จอห์น เอ. เอกิ้น เมื่อปี 2524 เรื่อง 'สิ้นแสงตะวัน' คุณจำนงศรี ให้ทัศนะเรื่องบทละครอย่างน่าฟัง


“เราแทบจะไม่มีบทละครร่วมสมัยเลยนะคะ มีหลายคนที่ชอบโครงเรื่อง สิ้นแสงตะวัน แล้วสนับสนุนให้เขียนเป็นนวนิยาย แต่ดิฉันคิดว่านวนิยายเรามีมากแล้ว ก็เสียดายว่าวรรณกรรมในรูปแบบบทละครสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องประวัติศาสตร์ จะไม่ให้โอกาสได้เกิดบ้างเชียวหรือ ดิฉันอยากให้คนไทยหันมาอ่านบทละครร่วมสมัยในฐานะวรรณกรรมบ้าง”


ขณะที่คุณจำนงศรีรำพึงนั้น ใจคิดไปถึงบทความชิ้นหนึ่งของ ชาติ กอบจิตติ เรื่อง 'บทละครหายไปไหน ' เป็นอันว่า คุณจำนงศรีขานตอบคำถามของชาติได้ อย่างน้อยก็อยู่ที่เธอแล้วเรื่องหนึ่ง ส่วนจะมีใครสนใจบ้าง ต้องถามผู้อ่าน


“การอ่านบทละครเป็นศิลปะที่ท้าทายอย่างหนึ่งนะคะ คนอ่านกับคนเขียนเกือบจะเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ผู้อ่านมีบทบาทมากกว่าผู้อ่านนวนิยาย คือเป็นทั้งตัวละครและผู้กำกับ แสดงและทำเทคนิคเอง ต้องสร้างเสียงดนตรี แสง ความเงียบ จังหวะการหยุดการเดินทางของตัวละครในสมอง ความตึงของบรรยากาศอึดใจนั้นเป็นเมื่อไร และอึดใจนั้นมีความหมายต่อทั้งหมดอย่างไร โดยไม่มีคำพูดอธิบายอยู่เลย ดิฉันหวังเหลือเกินนะคะว่าจะมีคนเขียน คนอ่านบทละครมากขึ้น เป็นบทละครของไทยจริงๆ ที่แสดงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ มนุษย์และสังคม หรือความขัดแย้งในตนเอง ”


คุณจำนงศรีทิ้งงานหนังสือไประยะหนึ่ง เป็นช่วงที่เธอเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 4 คน และช่วยสามีทำงาน เมื่อลูกๆ โตและมีเวลาว่างจากงานของสามีมากขึ้น เธอได้ทำตามความปรารถนาของตนอีกครั้งหนึ่ง คือสมัครเป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะนั้นเธอมีอายุ 38บี และอายุ 42 ปี ก็คงไม่

มากเกินไปสำหรับบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1


บัจจุบัน คุณจำนงศรีหันมาจับงานแปลวรรณกรรมและบทความ เช่น ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้ ของ วิมลพรรณ ปีตรวัชชัย ซึ่งได้รางวัลในงานหนังสือที่เยอรมัน ปี 2522 เธอกำลังแปลเรื่องส้ันชุด

ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ของ อัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนรางวัลซีไรท์ ปี 2524 รวมทั้งเขียนหนังสือ

นำชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นภาษาอังกฤษ ตามโครงการในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมพิมพ์


งานปัจจุบันอีกอย่างหนึ่งคือร่วมในคณะผู้ดำเนินงานประจำชาติของประเทศไทย (National Team) ในโครงการรวมวรรณกรรมของอาเซียน (Anthology of Asean Literature) เป็นโครงการว่าด้วยวัฒนธรรมและสารสนเทศของอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะแปล ไตรภูมิพระร่วง เป็นภาษาอังกฤษเป็นเรื่องแรก


"ดิฉันคิดว่าหนังสือที่ได้รางวัลนี่ควรมีคนแปลนะคะ ถือเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าของชาติ เรื่องของ

คุณอัศศิริ เป็นเรื่องที่ดิฉันศึกษามาก เรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะอ่านแล้วอ่านอีก จนคิดว่าตัวเองเข้าไปนั่งอยู่

ในปากกาของคุณอัศศิริ เวลาแปลต้องพยายามเข้าไปนั่งในหัวใจของตัวละครของเธอ เข้าไปอยู่ใน

บรรยากาศของเรื่อง ฝนตกลงมาเป็นอย่างไร เป็นเส้นโค้งบางๆ เวลาลมพัด ละอองน้ำเป็นรุ้งอย่างไร

ตัวละครที่นั่งอยู่ขณะนั้นจะรู้สึกอย่างไร ชอบการใช้ภาษาของเธอค่ะ เป็นภาษากวีร้อยแก้วที่ไพเราะ

เหลือเกิน มีความเป็นไทยแท้ ไม่ว่าท่วงทำนองหรือเนื้อเรื่อง เวลาถอดเป็นภาษาอังกฤษต้องรักษา

ความไพเราะและความรู้สึกไทยๆ นั้นไว้ให้ได้ ดิฉันใช้เวลานานมากค่ะที่จะแปลแต่ละเรื่องในชุดนี้ เพื่อถ่ายทอดงานออกมาให้ดีที่สุด"


ชีวิตนักหนังสือพิมพ์หญิงของเธอปิดฉากลงนานแล้ว แต่เธอก็ยังขะมักเขม้นทำงานด้านหนังสือที่

เธอรัก ภาพของคุณจำนงศรีวันนี้คือ คุณแม่ยังสาว ภรรยาจักษุแพทย์ชื่อดัง ผู้แปลวรรณกรรม และผู้หนึ่ง

ที่พยายามบุกเบิกวรรณกรรมบทละคร เรื่องนี้จบลงขณะเธอกดลิฟต์ลงมาส่ง ห้า สาม... .สอง หนี่ง

เธออยู่บนนั้นแหละ ชั้นห้าบนตึกสวยริมซอยอโศก

 

(1) จุลินทร์ ล่ำซำ

(2) Chaperone-หญิงมีอายุทำหน้าที่พี่เลี้ยงหญิงสาวเวลาไปไหนมาไหน

(3) สงวน ล่ำซำ

 

จาก : คอลัมน์สตรีกับงาน นิตยสารสตรีสารรายสัปดาห์ ปีที่ 35 ฉบับที่ 23 , 5 กันยายน 2525.

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page