top of page

ที่เห็นและเป็นอยู่...กวีนิพนธ์ไทย

โดย สัจภูมิ ละออ




ดูเหมือนกวีไทยจะอยู่ในความเงียบงัน


สถานการณ์การอ่าน การเขียนกวีค่อนข้างเฉื่อยและเหนื่อยล้า พลิกตามหน้านิตยสาร หน้าหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์บทกวี แม้จะมีหลายนามสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง แต่พลังการสร้างสรรค์ บางคนก็แผ่วโหย

ไม่กระชุ่มกระชวย การซื้อขายบทกวีรวมเล่มในตลาด นอกจากกลอนรักๆ กระจุ๋มกระจิ๋ม รูปเล่มสีฉูดฉาดบาดตาแล้ว บทกวีรวมเล่มของเหล่ากวีค่อนข้างจะออกแผงยากเย็นเหลือเกิน


หรือว่าการอ่าน การเขียนกวีก้าวสู่จุดวิกฤติแล้ว


มองอย่างใจเป็นธรรม คงไม่เลวร้ายปานนั้น เพราะ “กวี” เปลี่ยนรูปแบบไป จากที่คิดๆ เขียนๆ ให้กันอ่าน ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นเพลงอัดใส่ตลับเทป ฟังกันเพลินๆ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เพลงส่วนหนึ่งก็คือบทกวีงามๆ ของเรานี่เอง

กลางสถานการณ์ “วิกฤต” ของกวีไทย ผศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาปลุกกระแสบรรยากาศอันเศร้าซึมด้วยการจัดงานอ่านบทกวีที่ตึกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางกวีน้อยใหญ่และผู้สนใจมาร่วมฟังกันคับคั่ง

เปิดด้วยเสียงอ่านบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในสำนวนชื่อ ภูหนาว เสียงเรียบๆ แหบนิดๆ ของเนาวรัตน์สะกดผู้คนนั่งฟังไม่เบา เนื้อหาของบทกวีสำนวนนี้ น้ำเสียง ให้กำลังใจผู้คนโดยเฉพาะในยามวิกฤติเช่นนี้ นับว่าเลือกสำนวนที่เหมาะงามไม่น้อย


“คอยหน่อยนะมิ่งขวัญ ตะวันยังไม่จุดไฟ ทนหนาวหน่อยได้ไหม จะรุ่งแล้วอีกไม่นาน”

เราก็หวังกันอยู่เหมือนกันว่า “จะรุ่งแล้วอีกไม่นาน” ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเขียน การอ่านบทกวีในบ้านเมืองเรา บทกวีเปิดงานของเนาวรัตน์ หลังจากคนอ่านเป็นภาษาอังกฤษแล้ว นักศึกษาออกมาร้องประสานเสียง ทั้งหมดเป็นนิสิตจากมหาวิทยาลัยจุฬาฯ เสียงนั้นนุ่ม หวาน เศร้าไปตามเนื้อที่เอื้อนออกมานั่นเอง

เพิ่งตระหนักว่า เสียงมนุษย์แม้จะไม่มีดนตรีคลอประกอบ คนเสียงดีๆ ส่งเสียงร้องเป็นจังหวะๆ ออกมาก็ไพเราะได้เหมือนกัน

บทกวีของเนาวรัตน์ ตามมาด้วยสำนวนชื่อปางห้ามญาติ เสมือนเป็นการปลุกกระแส กระตุกสติผู้คน ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ออกไปต่อสู้กับภัยร้ายของสังคม ด้วยการแสดงธรรมให้กับพุทธศาสนิกชนได้รู้แจ้งเห็นจริงของสัจจะแห่งการดำรงอยู่ เพื่อหยัดอยู่ได้ในสังคมอย่างเป็นสุข


“จงตื่นเถิดเปิดโบสถ์ไปโปรดสัตว์ ไปชี้ชัดสัจธรรมความถูกถ้วน ไประงับดับไฟที่ลามลวน เธอทั้งมวลไม่ทำใครจะทำ”

แน่แล้ว – หาก “เธอทั้งมวลไม่ทำใครจะทำ”

เสียดายที่ “อุชเชนี” หรือ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ไม่อาจเอื้อนเอ่ยบทกวีชื่อขอบฟ้าขลิบทองได้ นั่นอาจเป็นเพราะว่าความจริงอย่างหนึ่งของสังขาร แต่ท่านก็เดินทางมาฟัง อาจารย์ตรีศิลป์ บุญขจร อ่านบทกวีของท่านถึงของเวทีเลยทีเดียว อาจารย์ตรีศิลป์อ่านบทกวีสำนวนชื่อ แนวเทียน เป็นสำนวนแรก สำนวนที่สองชื่อ ขอบฟ้าขลิบทอง อันเป็นสำนวนที่อยู่ในใจของใครต่อใครหลายคน อาจารย์สุจิตรา จงสถิตวัฒนา เป็นคนร่ายออกมา

ต้องยอมรับจริงๆ ว่า อาจารย์สุจิตราเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ “อุชเชนี” เพราะเธออ่านโดยไม่ต้องอ่าน ทุกสร้อยอักษรเธอจารจำอยู่ในใจหมดแล้ว ช่วงเวลาที่เธอร่ายออกมานั้น ทำเอาหลายๆ คนที่นั่งฟัง มองหน้ากันด้วยความประทับใจ

บทกวีสำนวนชื่อ “ขอบฟ้าขลิบทอง” ทั้งปลอบใจ ให้กำลังใจและให้ความหวัง แน่นอนเป็นการให้ความหวังคนที่ให้โอกาสกับชีวิต “มิ่งมิตร เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม........เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น เพื่อไผ่โอนเอนพลิ้วพ้อล้อภูผา เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ”

เป็นบทกวีที่ได้รสได้อารมณ์จริง ๆ

กวีที่สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องอีกนามหนึ่ง ไพวรินทร์ ขาวงาม เจ้าของรวมบทกวีชุด คำใดจะเอ่ยได้ดังใจ และม้าก้านกล้วย เล่มแรกเฉียดรางวัลซีไรต์ชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด ส่วนเล่มที่สองควบเข้าป้าย

ซีไรต์ไปอย่างสง่างาม มาคราวนี้ ไพวรินทร์ นำบทกวีมาอ่าน 3 สำนวนคือ ชีวิตไม่ใช่การเดินเล่นในสวนกุหลาบ แผล และ ไหมแท้ที่แม่ทอ

ไหมแท้ที่แม่ทอ เป็นบทกวีที่งดงามทั้งการสื่ออารมณ์ ความรู้สึกของลูกที่มีต่อแม่ สร้อยสำนวนที่ร้อยเรียง เต็มไปด้วยภาพชีวิตของลูกคนหนึ่งที่ “รู้สึก” กับแม่ของตนเองที่ “ทอ” ผ้าไหมอันอาจหมายถึงชีวิตของลูกนั่นเอง ส่วนลูกที่แม่ “ทอ” ออกมาแล้ว จะไปร่วมกันถักทอสังคมให้งดงามอย่างไรนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกก็แล้วกัน ไพวรินทร์อ่านบทกวีด้วยน้ำเสียงเรียบๆ หากเต็มไปด้วยพลัง

สิ้นเสียงอ่านทั้งภาษาไทย และอังกฤษ บทกวีสำนวนชื่อ ไหมแท้ที่แม่ทอ ก็ได้รับการขับขานออกมาด้วยลีลาเสภา เสียงคนขับเสภาแม้ไม่ก้องกังวานเหมือนเสียงของ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติชาวสุพรรณ แต่ก็สะกดผู้คนให้นิ่งฟังได้เป็นอย่างดี

กวีที่หันไปสนใจงานวิชาการ จิรนันท์ พิตรปรีชา แม้จะติดเรียนอยู่ต่างประเทศแต่ก็มีบทกวีชื่อ ยิ้มของแม่โพสพ ให้มิ่งมิตรกวีวรรณได้ฟังกัน โดยมีอาจารย์ตรีศิลป์เป็นคนอ่าน ช่วงเลียนเสียงคนตำข้าว “ตึก-ตัก-ตุบ” นั้น เล่นเอาฝรั่งของแท้ที่มาร่วมงาน และฝรั่งขี้นกอย่างผู้เขียนอึ้งไปเหมือนกัน

บทกวีของหนุ่มบางปลาม้า วาณิช จรุงกิจอนันต์ ก็ได้ฟังเหมือนกัน

สำนวนนั้นชื่อ หญิงชาย แก่นของบทกวีสำนวนนี้คือ สถานภาพของความเป็นชายหญิง แท้จริงแล้วผู้เขียนไม่เห็นว่าเพศจะเป็นตัวแบ่ง เพราะว่า “สองคนเสมอกันเมื่ออยู่ใกล้ ไม่มีใครมาไปไม่โดดเดี่ยว เสมือนเชือกเสมอกันเมื่อฟั่นเกลียว เกิดจากเรี่ยวแรงเราสองเท่ากัน”

คงไม่มีใครเถียง

บทกวีของวาณิชมีคนอ่านทำนองเสนาะให้ฟัง เสียงของเธอนั้น น่าจะเป็นนักร้องเพลงไทยเดิม ประเภทสองเถา สามเถาได้สบายๆ คนอะไรไม่รู้เสียงช่างหวานเย็นปานนั้น ถ้าได้ยินกลางอากาศร้อนๆ ชนิดอยู่กลางทุ่งบางปลาม้า เมืองสุพรรณ คงจะได้หวานเย็นชื่นใจ

การอ่านบทกวีคราวนี้ เป็นกวีสองภาษาคือภาษาไทย และอังกฤษ สำนวนที่อ่านเป็นภาษาไทย จะมีคนอ่านเป็นภาษาอังกฤษ สลับสำนวนที่เป็นภาษาอังกฤษก็จะมีคนอ่านภาษาไทยตามมา นับเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ภาษาซึ่งกัน แต่จะซึ้งขนาดไหนนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ถ่ายทอดและพื้นความรู้ของ

ผู้ฟังด้วยเหมือนกัน

แล้วก็ถึงคราต้อง “ปิดฉาก” งานอ่านบทกวี

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ่านบทกวีชื่อ หยัดอยู่ เรียกร้องดวงใจทุกดวงให้เหลียวแลกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเหลียวแลสภาพแวดล้อมข้างกาย และมิ่งมิตรทุกคนในสังคม


“เติมความรักสักหน่อยนะหัวใจ เติมความหวังให้ไกลอย่าให้สิ้น เพื่อหยัดอยู่สู้ท้าเถื่อนธรณิน เพื่อแผ่นดินจะงดงาม...ด้วยความรัก”

เพื่อแผ่นดินงดงามด้วยความรัก แน่นอนเหลือเกินว่า ความเป็นเจ้าแง่เจ้างอน เอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ความอวดดื้อถือดีต้องให้เบาบางลงไป เพื่อความสงบสุขร่วมกัน

กวีอีกหลากนามมาร่วม “ขับขานกานท์กลอน” ไม่ว่าจะเป็น คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ ผู้เขียน และอ่านบทกวีสำนวนชื่อ เมล็ดกล้าในดินกร้าว, ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์ ผู้เขียน และอ่านบทกวีสำนวนชื่อ รัก และรักทวีคูณ และอาจารย์นิตยา มาศวิสุทธิ์ ผู้แปล และอ่านบทกวีสำนวนชื่อ เราทำสัญญาร่วมกันกับสรรพสัตว์ทั้งปวง เป็นต้น

บทกวีที่นำมาขับขาน ล้วนแล้วแต่ไพเราะงดงามทั้งลีลาการนำเสนอ และความหมายอีก ทั้งไม่ใช่บทกวีที่ “ซ่อน” รหัสไว้ชนิดผู้อ่านทั่วๆ ไปจะ “ถอด” จิตเจตนาของผู้เขียนไม่ได้ เกือบทุกสำนวนถือเป็นบทกวี

ชั้นครูได้เลยทีเดียว แต่นั่นก็เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียน และอาจเป็น “เราๆ ท่านๆ” เพียงบางคน

คนรุ่นใหม่อยากอ่านบทกวีแบบไหนกัน

มองไปใกล้ๆ ตัว พบเข้ากับ มทิรา สุทธิวัฒนานิติ นิสิตชั้นปีที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอนั่งฟังเสียงอ่านบทกวีอย่างตั้งอกตั้งใจ

เธอบอกว่า “ดิฉันคิดว่าบทกวีในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองพวกคือ พวกหนึ่งเป็นบทกวีที่อ่านยาก เน้นที่จะเสนอความแปลกใหม่ ความคิด อีกพวกหนึ่งก็เป็นพวกที่ไม่มีสาระ ดังนั้นลักษณะบทกวีที่ดิฉันอยากจะอ่านก็น่าจะเป็นบทกวีที่มีสาระ แต่ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจได้ ไม่ว่าใครเป็นผู้อ่าน”

นี่เพียงหนึ่งในสายตาคนอ่าน แล้วคนเขียนกวีเล่า มองบรรยากาศการคิด เขียนและอ่าน บทกวีเท่าที่เห็น และเป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร คำถามนี้ใครเล่าจะให้คำตอบได้เหมาะงามเท่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ผู้เขียนบทกวีอย่างต่อเนื่อง และยาวนานที่สุดคนหนึ่งในสยามประเทศ

ด้วยผลงานเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างตั้งแต่นักวิชาการ นักศึกษา เรื่อยลงมาจนถึงชาวบ้านทั่วไป จึง

ไม่แปลกที่จะมีผู้ตั้งฉายาให้ว่า กวีรัตนโกสินทร์

กวีรัตนโกสินทร์ฉายภาพให้เห็นว่าปัจจุบันการถ่ายทอดบทกวีจากผู้เขียนสู่ผู้เสพเปลี่ยนรูป แปลงร่างไปแล้ว ไม่ใช่ต้องเสพจากหนังสืออย่างเดียวเช่นเก่าก่อน

อย่างการจัดเวทีการอ่านบทกวีก็เช่นเดียวกัน “ผมถือว่าเป็นเวทีใหม่ของการนำเสนอ บทกวีแต่เก่าก่อนเราอ่านจากหนังสือ แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป การได้เปิดเวทีให้คนเขียนกวีได้อ่านบทกวี หรือให้คนอ่าน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เดิมนอกจากอ่านในหนังสือแล้ว การอ่านบทกวีก็เป็นเพียงการอ่านทำนองเสนาะ หรือไม่ก็ท่องอาขยาน แต่นี่เป็นเวทีใหม่ เราเสนอด้วยการอ่าน แล้วให้คนมาฟังเ ราจะเห็นได้ว่า ช่วงนี้มีอยู่หลายงาน

มีการอ่านบทกวี”


นับเป็นเรื่องที่งดงาม กวีรัตนโกสินทร์ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า “ผมเองก็ได้เชิญบ่อย เร็วๆ นี้ก็อย่างงานจุฬาวิชาการๆ เขาเชิญไปอ่านบทกวีเปิดงาน การอ่านบทกวีเปิดงานสมัยนี้เขาทำกันมากขึ้น แม้กระทั่งงานด้านสิทธิมนุษยชนก็เชิญกวีไปอ่านบทกวีเปิดงาน และในวันที่ 8 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ผมก็จะไปอ่านที่เชียงใหม่”

เมื่อคนเห็นคุณค่าของกวี และนำบทกวีไปใช้ในลักษณะดังกล่าวนี้ เนาวรัตน์จึงมีความเห็นว่า “บทกวีกลายเป็นพิธีกรรม พิธีการอย่างหนึ่งในการเปิด-ปิดงาน สมัยก่อนนั้นเรื่องของพิธีกรรมพิธีการนี้คือต้องใช้คาถา จริงๆ แล้วคาถา ก็คือบทสรุปรวมใจความสำคัญของงาน สมัยโบราณคาถาคือการรวบรวมงานเข้ามาในโคลก ร่าย”


ลักษณะการทำเช่นนี้ว่า “ที่จริงเป็นของเก่าที่ทุกภูมิภาคทั่วโลกเขาก็ทำกัน แม้กระทั่งการสถาปนาประธานาธิบดีอเมริกา เขาก็เอากวีมาอ่าน แม้แต่คลินตันก็เอากวีมาอ่านบทกวีตอนสถาปนาเหมือนกัน ทั่วโลกเขาทำกันอยู่ แต่ไทยเราไม่รู้ว่าเรามีรากฐานโยงใยมาแต่โบราณ”


นั่นเป็นเรื่องที่ดี เพราะ “บทกวีจะได้ไม่ต้องจำกัดอยู่เฉพาะในหนังสือ แต่พัฒนามาสู่เวทีดนตรี การแสดง ผมเคยอ่าน อลังการกวีให้คนซื้อบัตรมาชม นั่นเป็นการแสดงที่เป็นไปได้และยังมีการอ่านย่อยๆ อีก ผมเคยไปเห็นที่อินโด กวีมีชื่อเสียงของอินโดจัดงานอ่านบทกวีที่จาการ์ต้า ผมหาซื้อตั๋วไม่ได้เลย เต็มหมด คนฟังเป็นหมื่น ที่ซีแอตเติลก็เหมือนกัน ผมซื้อบัตรเข้าไปชม มีคนเข้าไปเต็มในแต่ละรอบ ”

เพื่อสร้างกวีรุ่นใหม่ ๆ เข้ามา คำแนะนำของเนาวรัตน์ก็คือ “ย้ายการอ่านทำนองเสนาะมาเป็นอ่านบทกวี ในสถาบันการศึกษา กิจกรรมชุมชน วรรณศิลป์น่าจะคึกคักมากขึ้น การแสดงละครก็สามารถนำบทกวีเข้าไปได้ ผมถือว่าเป็นมิติใหม่อยู่เหมือนกัน เคยพูดกับภัทรวดี (มีชูธน) อยู่เหมือนกัน ก็เห็นว่าสนใจอยู่ แต่การนำบทกวีเข้าไปใช้ในละคร ก็ต้องระวังอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าทำไม่ได้ มันจะออกมาเชย”

กวีไทยหากมองในแง่ของการ “เปลี่ยนรูปแปลงร่าง” ในการนำเสนอ ย่อมมีคนไม่น้อยเห็นด้วยกับ

กวีรัตนโกสินทร์ แต่ถ้าจะมองด้วยสายตาแบบเดิมๆ คือเขียน รวมเล่ม แล้วให้คนซื้ออ่าน ยามนี้คงไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ดีนัก


 

จาก: จุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 16 ฉบับที่ 5196, 8 ธ.ค. 2545

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page