top of page

ครอบครัวรัตนิน

โดย: พัชรพร – พาเว

ภาพ: ฉันพิชย์ ช่วยชู



แทบไม่น่าเชื่อว่าบนชั้นห้าของ โรงพยาบาลจักษุรัตนิน ถนนอโศก จะเป็นบ้านที่ดูอบอุ่นน่ารักได้ถึงเพียงนี้

บ้านของครอบครัว “ทรหด” ตามปากคำของ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน และสมาชิกในครอบครัว อันได้แก่ คุณเต้ย – จตุพร ซึ่งเป็นหลานชายที่อยู่ร่วมกันมานาน คุณไต๋ – สรรพัฒน์ คุณน้ำผึ้ง – วรัดดา หลีอาภรณ์ คุณน้ำหวาน – อโนมา เศรษฐพรพงศ์ และ คุณน้ำอ้อย – จิตรจารี น้องนุชคนสุดท้องที่ยังเป็นสาวโสด รวมเขยสะใภ้และหลานๆ ในวันนั้น เบ็ดเสร็จ 12 ชีวิต


ครั้นได้กลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้ง ห้องรับแขกสวยงามแต่เงียบเหงา ที่เข้ามานั่งรอก่อนหน้านั้น พลันสดใสด้วยกลิ่นอายความสนุกสนานครึกครื้น เมื่อทุกคนรำลึกถึงความซุกซนอย่างเหลือเกินในวัยเด็ก และความที่มีช่วงอายุห่างกันหลายปี ระหว่างลูกคนที่สองและคนที่สาม สี่พี่น้องจึงแบ่งเป็นกลุ่มโต คือ คุณเต้ย คุณไต๋ และคุณน้ำผึ้ง ส่วนกลุ่มเล็ก ได้แก่ คุณน้ำหวานและคุณน้ำอ้อย ไปโดยปริยาย


“ผมไม่ได้ตามใจน้อง แต่น้องผู้หญิงเขาแกล้งพี่ผู้ชายพอสมควรครับ” คุณไต๋เริ่มเล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ “เล่นเหมือนเป็นเพื่อนกัน แต่เขาเป็นผู้หญิง เราก็ยอมเขานิดหน่อย”

คุณน้ำอ้อยช่วยเสริมว่า “ส่วนมากพี่ไต๋จะโดนพี่ผึ้งแกล้งสะบักสะบอม (หัวเราะ) เพราะพี่ผึ้งจะเฮี้ยวหน่อยค่ะ เขาโตมากับผู้ชาย ตอนนั้นอ้อยกับพี่หวานยังไม่เกิด ”


“น้องสาวคนนี้ (คุณน้ำผึ้ง) เอาชนะผมได้เสมอ ด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเล่นอะไรกัน ซึ่งเมื่อก่อนผมจะโมโหมากๆ เลย ว่าทำไมเราต้องเป็นผู้แพ้ตลอด”


เมื่อคุณไต๋ตัดพ้อถึงตอนนี้ คุณน้ำผึ้งกับครอบครัวเดินทางมาถึงพอดี เราจึงจับมานั่งซักไซ้ถึงความซุกซนกันเสียเลย


“บังเอิญอยู่ท่ามกลางผู้ชาย แล้วเราสู้เขาไม่ได้ เราก็ต้องใช้วิธีอื่น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว” คุณน้ำผึ้งหัวเราะ

คุยกันไปคุยกันมา คุณไต๋ทำท่านึกอะไรบางอย่างได้ “ตอนอายุ 5-6 ขวบ เราไปบ้านคุณอาคนหนึ่งซึ่งเลี้ยงลูกเสือไว้ในกรง ผึ้งก็หลอกให้ผมเข้าไปในกรงพอผมเดินเข้าไป เขาปิดกรงล็อคประตูปั๊บเลย แล้วยืนหัวเราะก๊ากอยู่ข้างนอก เราทั้งกลัว ทั้งโกรธ วิ่งหนีเสืออยู่ในกรงสุดท้ายโดนตะปบเป็นแผลเป็นจนเดี๋ยวนี้ ”


“ตอนนั้นเห็นว่ามันเหมือนในการ์ตูนค่ะ” คุณน้ำผึ้งอธิบายพลางหัวเราะความร้ายกาจของตัวเอง “ผึ้งยืนหัวเราะ ดูพี่ไต๋วิ่งวนไปวนมาอยู่ในกรง มีเสือวิ่งตามตะปบ ตอนหลังมีผู้ใหญ่ช่วยออกมาได้ ความจริงจำไม่ค่อยได้หรอกค่ะ แต่พี่ไต๋มาเล่าให้ฟังตอนหลัง”

บุคคลที่จดจำรายละเอียดทั้งหลายได้ดีที่สุดก็เห็นจะเป็นคุณหญิงจำนงศรีผู้เป็นมารดา เพราะตอนนั้นลูกๆ ทุกคนยังเล็กเหลือเกิน เล็กเสียจนจำรายละเอียดความเฮี้ยวของตัวเองไม่ได้


“ไต๋จะเป็นคนที่พูดไม่ทันผึ้งเลยและเป็นคนใจดีมาก แต่บางทีเขาก็หมดความอดทน เจ้าผึ้งเดี๋ยวแย็บซ้าย เดี๋ยวแย็บขวา ร้ายกาจมาก จนไต๋หมดความอดทนก็เงื้อหมัด ผึ้งรีบลงนอนหงายเอาพุงขึ้น แล้วบอก พี่ไต๋จะทำน้องเหรอ (หัวเราะกันครืน) ไต๋ยืนงงเลยค่ะ ”

ถ้าอย่างนั้นคู่ลูกคนเล็กคงกลมเกลียวกันน่าดู


“ไม่เลยค่ะ” คุณน้ำหวานรีบบอกด้วยรอยยิ้มเต็มใบหน้า “อ้อยปากร้ายมาก ต้องเรียกว่าปากกรรไกร หวานเถียงไม่ได้ เพราะเป็นคนเถียงไม่เก่ง แต่หวานมีกล้ามเยอะ (หัวเราะ) มีครั้งหนึ่งอ้อยแหย่หวาน เสียจนทนไม่ไหวแล้ว หวานก็หยิก (ทำท่าหยิกคุณน้ำอ้อยที่นั่งอยู่ข้าง ๆ) อ้อยบอก ไม่เจ็บ หวานหยิกอีก ไม่เจ็บ จนกระทั่งครั้งสุดท้าย อ้อยกัดฟันบอกไม่เจ็บ...แง้ (หัวเราะกันครืน) แล้วเวลาเขาร้อง เสียงจะดังแสบแก้วหูมาก”


“มันเสียศักดิ์ศรีน่ะ” คุณน้ำอ้อยออกตัวแก้เขิน


คุณหญิงจำนงศรีหันไปทางคุณไต๋ “ผู้ชายคนนี้แย่ตลอดกาล โดนผึ้งแกล้งแล้วยังโดนหวานแหย่ด้วย พอไต๋โกรธหวานขึ้นมา หวานก็ชี้เข้าไปในกระจก พี่ไต๋ดูสิ หน้าหวานเหมือนพี่ไต๋แค่ไหน แล้วพี่ไต๋จะทำน้อง เหรอ (หัวเราะกันครืน) ไต๋ทำอะไรไม่ถูกเลย คือสรุปแล้วครอบครัวไหนที่มีผู้ชายคนเดียว อยู่ท่ามกลางผู้หญิงเยอะๆ น่าสงสารมาก(คุณไต๋หัวเราะ) เขาเลยแก้ปัญหาชีวิตด้วยการเลือกภรรยาที่น่ารักที่สุดในโลก”

พูดเสร็จคุณหญิงหันไปโอบไหล่ คุณเป้า – ภรรยาคุณไต๋ ซึ่งนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่เคียงข้าง คุณเป้าเป็นคนไทยที่ไปอยู่แคนาดาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ พบรักกับคุณไต๋ซึ่งไปเรียนแพทย์ที่โตรอนโต เมื่อแต่งงานแล้วคุณเป้าโยกย้ายตามสามีมาอยู่เมืองไทย ขณะนี้เธอเป็นนักศึกษาปริญญาโทสถาบันศศินทร์

ย้อนกลับมาถามคุณหญิงจำนงศรีถึงเรื่องการเลี้ยงดูลูกๆ โดยเฉพาะคุณไต๋ – ลูกชายคนโตนั้น คุณหญิงต้องดูแลเองทุกอย่างเพราะขณะนั้นคุณหมออุทัย (ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุทัย รัตนิน ถึงแก่อนิจกรรม) ทำงานอยู่ที่มูลนิธิจอประสาทตา (Retina Foundation) เมืองบอสตัน


“ดิฉันเลี้ยงไต๋เอง เพราะคลอดเขาที่บอสตัน” คุณหญิงฟื้นความหลัง “ช่วงนั้นมีคดีฆาตกรรมซึ่งขณะนั้นยังจับคนร้ายไม่ได้ จำได้ว่าฆ่าคนไป 13 ศพแล้ว ทางการออกข่าวเตือนตลอดเวลาว่า ไม่ให้เปิดประตูให้ใครทั้งสิ้น แต่ตอนนั้นที่พักของเราอยู่ชั้นสามไม่มีลิฟต์ เวลาเอาผ้าลงมาซักข้างล่าง ทำให้ประสาทเสียเหมือนกัน เพราะต้องอุ้มผ้าลงมาก่อน แล้วอุ้มลูกลงมาทีหลัง เวลาจะขึ้นต้องเอาลูกขึ้นไปไว้ก่อนแล้วลงมาเอาผ้า


“ไต๋เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายมาก” คุณหญิงหันไปยิ้มกับคุณไต๋ “บังเอิญเขาเกิดวันเดียวกับศาสตรจารย์ชาร์ลส์ เอล. สเกเพนส์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิจอประสาทตา และเป็นแพทย์ที่โด่งดังมากทางด้านประสาทตา เขาตื่นเต้นมากที่เด็กคนนี้เกิดในขณะที่เขากำลังฉลองวันเกิด เขาบอกว่า ต่อไปเด็กคนนี้ต้องเป็นหมอตาที่เชี่ยวชาญทางประสาทตาคล้ายตัวเขา ไต๋ก็เลยชื่อว่า สรรพัฒน์ สเกเพนส์ รัตนิน


“ตอนผมเกิด คุณพ่อมาไม่ทันครับ” คุณไต๋ช่วยเตือนความจำคุณแม่


“พ่อมาไม่ทันไต๋เกิด เพราะพ่อเอาแม่ไปทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล แล้วพ่อก็วิ่งไปงานวันเกิดสเกเพนส์ เพราะเชื่อว่าไต๋ยังมาไม่ถึง” คุณหญิงอธิบายกับลูกชายด้วยน้ำเสียงสนุกสนาน


“ตอนนั้นอายุยี่สิบสามค่ะไม่รู้ว่าปวดท้องจะคลอดเป็นยังไง ก็นึกว่าปวดท้องถ่าย เข้าไปนั่งเบ่งอยู่ในส้วม (หัวเราะ) สลับกับขัดห้องน้ำ บังเอิญ คุณสุชาติ หวั่งหลี โทร.มาถามอาการจากนิวยอร์ก เราก็บอกว่ามันปวดเป็นระยะๆ เขาเลยวางหูแล้วรีบไปถามผู้หญิงที่เคยมีลูก แล้วโทร.กลับมาบอกกว่าไม่ได้แล้วนะ นี่แสดงว่าจะคลอดแล้ว ดิฉันโทร.ไปบอกหมออุทัยเขาก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ท้องสาวคงอีกสักพัก เราเองก็ยิ่งปวดมากขึ้นทุกที


“และความที่เขาเป็นหมอต๊าหมอตา ก่อนมาหาเรา หมออุทัยแวะซื้อแฮมเบอร์เกอร์มาให้ แล้วบอกว่า ลูกท้องแรกกว่าจะคลอดมันกินเวลานานมาก ผมเป็นห่วงเดี๋ยวคุณจะหิว ผมเลยเอามาฝาก (หัวเราะ) พอไปถึงโรงพยาบาลเขายังใจเย็น บอกว่า เดี๋ยวผมวิ่งไปแฮ็ปปี้เบิร์ธเดย์สเกเพนส์หน่อยปรากฏว่าไต๋ออกมาเลย”


ถัดจากคุณไต๋ คุณหญิงหันมาทางลูกคนรอง คือ คุณน้ำผึ้ง


“คนนี้เหมือนกัน ดิฉันปลุกหมออุทัยกลางดึก บอก หมอ! คราวนี้มาอีกแล้วแน่นอนเลย เขาบอก เดี๋ยวนะ วันนี้ผมผ่าตัดมาเหนื่อยมาก ขอหลับอีกหน่อย (หัวเราะ) พอไปถึงโรงพยาบาลแป๊บเดียว ผึ้งออกมาแล้ว”

เมื่อให้พูดถึงลูกๆ แต่ละคน คุณหญิงนิ่งคิดครู่หนึ่งก่อนเอ่ยด้วยน้ำเสียงเอ็นดูว่า


“ลักษณะเด่นของลูกครอบครัวนี่คือทรหด ทุกคนไม่มียกเว้น คือถูกเลี้ยงมาอย่างนั้น เด็กพวกนี้ซนทุกคนจะเล่นกันแบบไม่ยับยั้ง ส่วนดิฉันเป็นแม่ที่ไม่ปลอบลูกเลย เขาจะปีนกำแพง ตกกำแพง จะเล่นอะไรที่คนอื่นทนไม่ได้ ”


“สมัยนั้นบ้านเราเป็นคลินิก จำได้ว่าผึ้งกับผมโดนเย็บแผลบ่อยมาก ตอนนั้นอายุประมาณ 5-6 ขวบ เราชอบปืนกำแพงบ้านข้างๆ ที่เราเรียกว่าบ้านยายซิ้ม เขาจะออกมาดุเรื่อย เพราะกลัวเราตกลงมา” คุณไต๋เริ่มบรรยายความซน


“วิ่งไล่กันไปไล่กันมาบนราวกำแพง ไม่เคยใส่รองเท้ากันเลย” คุณน้ำผึ้งช่วยเสริมพลางพยักหน้ายืนยันความจริง “คิดดูสิคะ กำแพงสันกว้างนิดเดียว เด็กพวกนี้วิ่งกันได้เหมือนลิง ทุกคนที่เห็นก็ประสาทเสีย” คุณหญิงหัวเราะชอบใจ


“เรามีสถานพยาบาลที่สะดวกสบายมาก หกล้มก็เข้าไปเย็บแผลเลย จนตอนหลังคุณพ่อสอนให้เข็ด...” ยังไม่ทันให้คุณไต๋จบประโยค คุณน้ำผึ้งรีบต่อด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ “คือคุณพ่อไม่อยากเปลืองยาชาแล้ว เลยไม่ฉีดยาชาให้ เย็บกันสด ๆ” (หัวเราะ)


คุณน้ำผึ้งยังเล่าอีกว่า พี่น้องคู่โตนี้ซนจนต้องเย็บแผลบ่อยขนาดที่ว่า “เราไม่ได้ไปคลินิกอาทิตย์หนึ่ง พอบาดเจ็บแล้วเข้าไปเย็บแผลอีก พยาบาลมาถามว่าไม่สบายหรือคะ เห็นหายไป (หัวเราะกันครืน) กลายเป็นว่าไม่เข้าคลินิกหนึ่งอาทิตย์แปลว่าไม่สบาย เลยไม่ไปซนจนได้แผล”


คุณหญิงชี้ให้ดูคุณน้ำผึ้งพลางบอกว่า “เห็นหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสดูดีอย่างนี้ ฟันหน้าไม่เหลือแล้วนะคะ”


คนฟังทำท่าสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะเห็นคุณน้ำผึ้งยิ้มเยื้อนฟันขาวสวยเรียบออกอย่างนั้น

คุณน้ำผึ้งยิ้มโชว์ฟันอีกหนึ่งครั้งก่อนอธิบายว่า


“ฟันหน้าเป็นฟันปลอมค่ะ คือสมัยนั้นเราเล่นกันเป็นกลุ่ม ประมาณ 12 – 13 คน เราไปเล่นกันที่สนามเด็กเล่น สมมติว่ามีจรวดสองลำและเกิดระเบิดขึ้นที่จรวดลำหนึ่ง คือราวสี่เหลี่ยมที่เอาไว้ไต่ขึ้นลง ทุกคนต้องอพยพจากจรวดที่ระเบิดมาอยู่จรวดอีกลำ คือ บาร์โค้ง มีกฎ คือ ตอนวิ่งขึ้นห้ามใช้มือ เราวิ่งขึ้นพร้อมกันทั้งหมด 12 คน ผึ้งวิ่งเป็นคนแรกแล้วล้ม คนที่วิ่งตามมาติดๆ ก็ล้มกันหมดเหมือนโดมิโน บังเอิญว่าเราเป็นคนแรก ฟันเลยไปกระแทกกับบาร์โค้ง เพื่อนๆ และพี่น้องทั้ง 12 คนก็แห่มาที่คลินิก คุณพยาบาลถามว่าคราวนี้คนไหน พอดีมีคุณอาเป็นหมอฟันเลยสะดวก จับขึ้นเตียงทันที”


เมื่อทุกคนสงบเสียงหัวเราะแล้วคุณหญิงจึงสรุปว่า “สำหรับบ้านนี้อุบัติเหตุในชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของอนิจจัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ดีก็พอแล้ว”

ในบรรดาพี่น้องทั้งสี่คน คุณน้ำหวานเป็นเด็กที่สวยน่ารัก น่าเอ็นดูที่สุด ทำให้พี่ๆ ชอบมาเล่นกับน้องสาวคนนี้เสมอ “เขาขาวๆ ตัวกลมๆ น่าเอ็นดู ไม่เคยร้องเลย เพราะฉะนั้นพี่ๆ ชอบเล่นกับหวานที่สุด”

คุณน้ำหวานมีสีหน้างุนงงเมื่อได้ยินคุณน้ำผึ้งเอ่ยขึ้นมาอย่างนั้น “ไม่มีใครมาเล่นด้วยเลย เอ...หวานจำไม่ได้มั้ง”


“ก็มีพี่ที่กินพุงหวานตลอดเวลาไงเล่า” คุณหญิงช่วยเตือนความจำ ทำให้คุณน้ำหวานหัวเราะออกมาจนได้


“อ๋อ...พี่ไต๋ชอบกินพุงกะทิเวลาอาบน้ำค่ะ”


“จนต้องไปหาจิตแพทย์” คุณหญิงเล่ารายละเอียดอย่างเห็นขำ “วันดีคืนดี มีอยู่สามคืนติดกัน พี่เลี้ยงมารายงานว่า เวลานอนคุณหวานไม่หลับตา จะฝืนตาให้ลืมตลอด พอเริ่มหรี่ๆ ลงมาก็จะเปิดตาขึ้นมาใหม่ เราเข้าไปดูก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ จนกระทั่งคืนที่สามเขาโทรมเชียว (หัวเราะกันครืน) ปกติเขาเป็นเด็กสวยที่สุดในครอบครัว เราไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เลยพาไปหาจิตแพทย์ ”


หลังจากผ่านการทดสอบวิเคราะห์ต่างๆ แล้ว ผลปรากฏว่า “ทุกอย่างที่หวานวาดหรือคิดเป็นเรื่องของการกินกัน หมอบอกว่าต้องมีใครสักคนในบ้านนี้ที่ทำให้หวานกลัวถูกกิน (หัวเราะ) ดิฉันต้องไปบอกไต๋ว่า ต่อไปนี้ห้ามกินหวาน ถึงได้หายค่ะ”

คุณไต๋เป็นคนเดียวในพี่น้องที่ดำเนินรอยตามคุณพ่อ ด้วยการเป็นจักษุแพทย์เช่นเดียวกัน คงเพราะความใกล้ชิด ที่คุณพ่อมักพาคุณไต๋ไปดูการผ่าตัดรักษาคนไข้บ่อยครั้ง


“ความจริงเมื่อถึงเวลาต้องเลือก ก็สองจิตสองใจ เพราะรู้ว่าหมอทำงานหนัก จากการเห็นคุณพ่อทำงาน ถูกคุณพ่อจับใส่เสื้อกาวน์เข้าไปดูการผ่าตัดใหญ่ ๆ ตั้งแต่ 6-7 ขวบ ตัวผมเองเป็นคนที่เห็นว่าครอบครัวสำคัญ ถึงแม้จะทำงาน แต่ก็ต้องให้เวลากับครอบครัวได้ พอผมได้ไปเจอคนไข้จริง ได้พูดคุย ได้ทำงาน ก็รู้สึกว่าชอบ ”


“หมออุทัยเป็นคนหัวโบราณ ไม่เห็นด้วยที่ลูกสาวจะเป็นหมอ เพราะเขาเห็นว่าการเป็นหมอต้องทำงานมากเหลือเกิน ผู้หญิงควรมีชีวิตให้กับครอบครัว” คุณหญิงเอ่ยถึงสามีผู้ล่วงลับไปแล้ว


คุณหมออุทัยเสียชีวิตเมื่อปี 2535 ที่โรงพยาบาลแพ็ปติสน์เมดิคอลเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากการหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง นับเป็นเรื่องแปลกที่ขณะนั้น ทุกคนในครอบครัวมีกิจธุระให้ไปรวมอยู่ที่สหรัฐอเมริกาพอดี คุณน้ำผึ้งติดตามสามีซึ่งไปประชุมที่นั่น คุณน้ำหวานและคุณน้ำอ้อยกำลังเรียนปริญญาโท คุณหญิงจำนงศรีไปเยี่ยมและพักอยู่กับคุณน้ำอ้อย ส่วนคุณไต๋ยังเรียนแพทย์อยู่ที่โตรอนโต ซึ่งนับว่าใกล้ จึงรวมพลกันได้ไม่ยาก


“หมออุทัยไปผ่าตัดเงียบๆ ไม่บอกใครเลย” คุณหญิงลำดับเหตุการณ์อย่างช้าๆ


“เขาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ปอด เขาบอกว่าที่ทำงานที่เมืองไทยว่าไปฮอลิเดย์ 10 วัน กะว่าผ่าตัดแล้ว จะไปพักฟื้นที่บ้านคุณหมอโสภณ นาคไพรัช ที่เมืองอาร์ดมัวร์ โอคลาโฮมา เพราะเป็นผ่าตัดเล็ก ที่ไม่ใหญ่นัก การพักฟื้นหลังผ่าตัดเป็นไปด้วยดี จนวันที่สามอาการเกิดทรุดหนักและเสียชีวิตในที่สุด”

การต้องเสียบุคคลที่รักอย่างกะทันหัสเช่นนี้ คงทำให้ผู้ใกล้ชิดรู้สึกเคว้งคว้างมากทีเดียว


“สำหรับดิฉันเอง อาจจะเป็นเพราะว่าก่อนหน้านั้นไปอยู่วัดฝึกทางด้านจิตใจมามาก การอยู่คนเดียวจึงเป็นเรื่องปกติ ลูกๆ รู้ดีว่านานๆ ครั้ง แม่จะขอหนีไปอยู่คนเดียวสักอาทิตย์สองอาทิตย์ ขอไม่เจอใครสักพัก สบายดีค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเหงาไหม เคว้งคว้างไหม ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่เหงา ที่จริงก่อนหน้าเข้าวัดเป็นคนเหงาเก่งมาก แต่เดี๋ยวนี้เหงาไม่เป็น”


“ส่วนลูกๆ ไม่มีอะไรน่าห่วงค่ะ” คุณหญิงว่าพลางปรายตาไปยังลูกๆ ด้วยความเอ็นดู “ไต๋เป็นจักษุแพทย์เหมือนพ่อ ผึ้งอยู่บริษัทแอล – เวฟ เป็นบริษัทโปรดักชั่นในเครือล็อกซ์เล่ย์ อ้อยเป็นโปรเจ็คท์โคออร์ดิเนเตอร์อยู่ล็อกซ์เล่ย์ เต้ยเป็นช่างภาพและมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทุกคนแต่งงานหมดแล้ว เหลืออ้อยกับเต้ย ยังรอลุ้นอยู่ (หัวเราะ) ส่วนหลานๆ มีหลานชายสองคน คือ ไท กับ โปโป้ และวิกิ เป็นหลานผู้หญิงคนเดียว ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นยายที่ไม่เข้าท่า คือไม่ได้ช่วยเลี้ยงหลานเลย เพราะเห็นว่าเขามีพ่อแม่ที่รักเขา คอยดูแลอยู่แล้ว”


หลายชั่วโมงของการสนทนาครอบครัวรัตนินไม่เคยร้างเสียงหัวเราะและอารมณ์ขัน ถึงแม้เป็นครอบครัวทรหด ก็คงต้องเรียกว่าทรหดแบบอบอุ่นสนุกสนานกระมัง

 

จาก: คอลัมน์ สายสัมพันธ์, นิตยสารแพรว ปีที่ 17 ฉบับที่ 408 25 สิงหาคม 2539


ดู 40 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Σχόλια


bottom of page