(โครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ)
"ฉันจะรอเธอ/I will be waiting for you"
จ้าวตี้ ใน The Road Home
บันทึกสนทนาสกัดบทเรียนจากภาพยนตร์เรื่อง The Road Home
วันที่ 21 มีนาคม 2559
โครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ร่วมกับ ศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ณ ศูนย์ฝึกสมอง อาคาร ส.ธ. ชั้น 7 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ผู้ร่วมสนทนา คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย
และคุณธนิต ธนะกุลมาส
เรื่องย่อ: นักธุรกิจหนุ่มลั่วหยูเซ็ง เดินทางกลับบ้านในชนบทอันห่างไกล เนื่องจากบิดาเสียชีวิตอย่างกระทันกัน และแม่ของเขายืนยันที่จะให้ทำพิธีแบบดั้งเดิม คือเดินเท้าแบกโลงศพจากโรงพยาบาลกลับบ้าน ตามความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้คนตายกลับบ้านได้ นับเป็นความปรารถนาซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในเวลานั้นคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านก็ไม่ต่างจากหยูเซ็งที่ไปทำงานในเมืองใหญ่กันหมด ยากจะหาคนมาช่วยกันแบกโลง มิหนำซ้ำยังเป็นช่วงฤดูหนาวที่หิมะตกหนักอีกด้วย
แต่จ้าวตี้แม่ของเขาก็ยืนยันที่จะทำเช่นนั้น ไม่ต่างจากในวัยสาวที่เธอตกหลุมรักครูหนุ่มลั่วซางหยู และใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้ได้ครองคู่กับเขา เมื่อซางหยูถูกทางการพาตัวไปสอบสวน(ในช่วงทศวรรษที่ 1950 หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอาชนะกองทัพจีนคณะชาติของเจียงไคเช็ค และตั้งรัฐบาลขึ้น ในระยะแรกได้เปิดให้ปัญญาชนเสนอความคิดเห็นในการพัฒนาชาติ เรียกว่ายุคร้อยสำนักประชันปัญญา แต่ต่อมาเริ่มเห็นว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อลัทธิสังคมนิยม เพราะมีปัญญาชนจำนวนหนึ่งมีแนวคิดไปทางทุนนิยม ในช่วงเวลาตามท้องเรื่องคือ ปี 1953-1957 เป็นช่วงเวลาที่ รัฐบาลจีนเรียกปัญญาชนที่ต้องสงสัยว่าฝักใฝ่แนวคิดทุนนิยมไปสอบสวน)
ไม่ว่าใครในหมู่บ้านจะพูดว่าอย่างไร จ้าวตี้คอยปัดกวาดโรงเรียนรอเขาที่สัญญาไว้ว่าจะกลับมา เธอรออย่างมุ่งมั่นเป็นเวลานาน จนมีข่าวลือว่าเขาจะกลับมา เธอก็ออกไปรอเขาท่ามกลางหิมะ จนล้มลงไป และสลบอยู่สองวัน เมื่อตื่นขึ้นมาเธอได้พบกับครูหนุ่ม แต่การกลับมาของซางหยูไม่ได้รับการอนุญาตจากศาลการเมือง ทำให้เขาถูกจับตัวไปลงโทษ
ครั้งนี้จ้าวตึ้รอเขาอยู่สองปี และเมื่อซางหยูได้รับการปล่อยตัวกลับมา ทั้งสองไม่เคยห่างกันอีกเลย จนกระทั่งเขาตายจากไป และเธอต้องการให้เขาได้กลับ "บ้าน"
เรื่องราวความรักของพ่อและแม่ทำให้หยูเซ็ง ตัดสินใจทำความความต้องการของแม่ เขาจ่ายเงิน 5,000 หยวน ให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยหาชายหนุ่ม 32 คน มาช่วยผลัดกันแบกโลง ทว่าความมุ่งมั่นและเสียสละของครูซางหยูที่ทุ่มเทเพื่อโรงเรียนและการสอนเด็กในหมู่บ้านมาชั่วชีวิต ทำให้ลูกศิษย์กว่า 100 คน ที่ทราบข่าว เดินทางกลับมาบ้าน เพื่อช่วยกันแบกโลงศพโดยไม่รับค่าจ้าง เพื่อให้ครูได้มานอนพักผ่อนและมองเห็นโรงเรียนที่รักอีกครั้ง
ในการสนทนาท้ายเรื่อง คุณหญิงจำนงศรีได้พูดถึงการใช้สัญลักษณ์และฤดูกาลในภาพยนตร์ว่า "อันที่สนใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มาก ก็คือวิธีการใช้พายุเป็นอุปสรรค จะเห็นว่าพ่อตามฝันของตัวเอง คือการสร้างโรงเรียนที่ใหญ่และเหมาะสมกับหมู่บ้านที่โตขึ้น ลุยพายุไปเพื่อจะตามหาเงินที่จะมาสร้างสิ่งนี้ มันย้อนกลับไปเห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดมุ่งหมาย ที่ทำเพื่อส่วนรวม ให้กับหมู่บ้าน เราคิดถอยหลังไปถึงผู้หญิงคนนี้ ลุยพายุเหมือนกัน พายุหนาเหมือนกัน หิมะเหมือนกัน ถวายชีวิตเหมือนกันเพื่อจะไปให้ถึงจุดมุ่งหมายของเธอ ก็คือการสมหวังในความรัก อันนี้มันดูเหมือนกับว่าเป็นเรื่องของส่วนตัว ความมุ่งมาดของสิ่งที่ตัวเองต้องการ ในขณะที่ตัวของผู้ชายคือการมุ่งมาดถวายชีวิตเพื่อส่วนรวม แต่จริงๆ แล้ว เราจะมองเห็นว่า ความมั่นคงในเรื่องของส่วนรวมนั้น มันเป็นส่วนที่เสริมให้มีความมั่นคงของส่วนตัว"
นอกจากนี้ยังมีเรื่องชาม "ชอบใจมากก็คือเรื่องชาม มันเป็นสัญลักษณ์หลายอย่างเหลือเกิน แตกได้ก็ซ่อมได้ ยึดมันแค่ไหน ยึดว่านี่เป็นอะไรที่ผู้ชายต้องมองเห็น แล้วรู้ว่าอันนี้เป็นฝีมือฉัน เป็นอะไรของฉัน ยึดได้ก็แตกได้ มันเป็นปรัชญาชีวิตที่เยี่ยมมาก คือไม่ว่าเราจะยึดแค่ไหน จะรักแค่ไหน แตกแล้วก็ซ่อมได้ แต่ไม่เหมือนเดิมนะ มันสอนใจเราได้เยอะ"
ในส่วนของฤดูกาล "รู้สึกเปรียบเทียบกับชีวิตได้เยอะ ชีวิตเราทั้งหมดผ่านฤดูกาลต่างๆ ไม่ใช่ฤดูกาลของวัย แต่เป็นฤดูกาลของความยากลำบาก ความสดใส ชีวิตเป็นอย่างนั้น อีกอย่างหนึ่ง The Road Home เน้นว่าเขาอยากจะแบกศพให้ผ่านเทือกเขา ข้ามสะพาน ข้ามทุ่งหญ้า มันเหมือนเป็นถนนชีวิต คิดว่ามีความหมายซ้อนอยู่ในสัญลักษณ์มากเลยในหนังเรื่องนี้"
คณะวิทยากรยังได้พูดคุยในอีกหลากหลายประเด็นน่าสนใจ สามารถชมฉบับเต็มได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=5s76vSAXkTc
และสามารถชมการสนทนาเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ในโครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ เรื่องอื่นๆ ได้จาก ช่อง Youtube ของ หอภาพยนตร์แห่งชาติ
Comments