วันแห่งความภาคภูมิใจเวียนมาครบรอบอีกครั้งของ ‘9 ยอดกุลสตรี’ ปีที่ 3 ด้วยร่วมฉลองกับการก้าวขึ้นสู่ปีที่ 31 ของนิตยสาร ‘กุลสตรี’ จึงถือโอกาสนี้จัดงานมอบโล่รางวัลเกียรติยศให้แก่กุลสตรีทั้ง 9 คน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2544 เวลา 14.00 น. ณ โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ ห้องวีไอพีแกรนด์ พาโนรามา
ด้วยความมุ่งมั่นในจุดยืนการผลิตนิตยสารที่มีเนื้อหาสารประโยชน์เพื่อผู้หญิงและครอบครัว อีกทั้งสนับสนุนบทบาทและหน้าที่การงานของผู้หญิงในสังคมไทยในวันนี้ เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรค และพร้อมที่จะพัฒนาสายงานที่ตนเองเชี่ยวชาญให้เกิดความรุดหน้า และเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยในสหัสวรรษใหม่
ในปีนี้ 9 ยอดกุลสตรีที่องค์กรได้คัดสรรมา ต่างเปี่ยมด้วยคุณภาพ ศักยภาพและมาตรฐานในตัวเองต่อความตั้งใจการทำงานในบทบาทที่ตนเองยืนอยู่จนได้รับการยอมรับที่มิใช่เพียงจากนิตยสารกุลสตรีหากแต่รวมถึงสังคมภายนอกที่ชัดเจน
ยอดกุลสตรีสายงานบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
คุณหญิงผู้เป็นนักคิด นักเขียนและนักบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมมากมายท่านนี้ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการก่อตั้งมูลนิธิเรือนร่มเย็น ประธานกรรมการโรงพยาบาลจักษุรัตนิน และศูนย์เลเซอร์รักษาสายตารัตนิน-กิมเบล การรการบริษัท Asian Neutraceutical (ANC) ที่ปรึกษา มูลนิธิสถาบันกฎหมายอาญา ในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว กรรมการมูลนิธิหญิงเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ฯลฯ
ในอดีตเคยเป็นนักข่าวและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์รายวัน Bangkok World นักจัดรายการวิทยุแห่งประเทศไทย ภาคภาษาอังกฤษ เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ลุยไปถึงจุดเหนือสุดของประเทศเกาหลีเหนือเพื่อถ่ายทำสารคดีวิดีทัศน์องค์กรของสหประชาชาติ (UNDP) เป็นกรรมการก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อน ตลอดจนเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรให้แก่สถานศึกษาอีกหลายแห่ง
ขณะที่ผลงานประพันธ์ ‘สิ้นแสงตะวัน’ ได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่น จากมูลนิธิ John A. Eakin ปี พ.ศ. 2525 ‘เจ้าแสดแปดขา’ ซึ่งคุณหญิงประพันธ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ กวาดมาทั้งรางวัลดีเด่นและรางวัลชมเชย ในประเภทหนังสือเด็ก จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2543 แต่ที่ฮือฮามากคือ ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร’ หนังสือขายดีปี 2542 ส่วนกวีนิพนธ์ชุด ‘ฝนตกยักต้อง ฟ้าร้องยังถึง’ ยังเป็นที่รู้จักของนักอ่าน นอกจากนี้ยังแปลผลงานของนักเขียนไทยเป็นภาษาอังกฤษอีกมากมาย
“เมื่ออายุยังน้อย ดิฉันอาจเคยตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้บ้าง ถึงเป้าหรือยังไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ พอใจ ณ จุดที่ยืนอยู่ ชีวิตที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าบางสิ่งที่เคยคิดว่าสำคัญมากมาย เป็นแค่เรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป การช่วยเหลือคนอื่นเท่ากับช่วยเหลือตัวเองไปด้วย เกิดการเรียนรู้และความสบายใจ ชีวิตไม่มีอะไรที่แน่นอนแต่ถ้าคนเรามีเพื่อนชีวิตที่ดี มีลูกที่ไม่ทำความเดือดร้อน มีกินมีใช้ ไม่เป็นภาระใคร ใช้ประสบการณ์ชีวิตเป็นประโยชน์กับโลกได้ ก็นับว่าโชคดีแล้ว” กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้มา ถือได้ว่าเป็นรางวัลหนึ่งของชีวิต ที่รู้สึกอิ่มใจและเป็นแรงสนับสนุนให้เธอทำงานได้อีกหลายอย่าง
“ถ้าเปรียบเวลากับมหาสมุทร ชีวิตคนเราก็เหมือนเรื่อสำเภาที่ออกจากท่า มุ่งฝั่งที่มาดหมาย ถ้าทะเลเรียบก็ถึงฝั่งได้ไม่ยาก แต่บางครั้งพายุบ้า ฟ้ากระหน่ำ เรืออาจจะอับปางลง หรือ ถูกซัดออกนอกเส้นทาง ไม่ว่าไต้ก๋งจะเก่งสักแค่ไหน แต่ไม่แน่ ถ้ามีสติอาจจะถึงปลายทางใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็เป็นได้”
วันนี้ในวัย 60 ปีของเธอ จะใช้เวลาเขียนหนังสือการสอน และปฏิบัติธรรม ตลอดจนช่วยงานศูนย์ฮอตไลน์ให้มากขึ้น “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” คือสิ่งที่ดิฉันจะเป็นแรงหนุน ผลักดัน ช่วยคิด ช่วยเสริม โดยไม่มีตำแหน่งใด ๆ ส่วนมูลนิธิเรือนร่มเย็นในฐานะที่เป็นประธานก่อตั้งมา 8 ปี คิดว่าคุณเตือนใจ ดีเทศ จะทำได้ดี จึงขอให้เธอรับหน้าที่นี้ต่อไป ขณะที่โรงพยาบาลรัตนินที่กำลังจะขยายกว้างขึ้นขออยู่ในฐานะที่ปรึกษา โดยจะมอบหมายให้ลูกชาย ลูกสาว และลูกสะใภ้ รับภาระบริหารงานส่วนใหญ่”
เธอมองถึงปัญหาคือเรื่องธรรมดาของชีวิต ความคิดไม่ใสและไร้ประโยชน์ หากมัวแต่มานั่งสงสารตัวเอง ตั้งสติให้ดี มองหลากมุมที่ทำให้เกิดปัญหา ก่อนจะทำเรื่องใหญ่ให้เล็กลง และยืนยันค่ะว่า หาใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษ แต่นิยมที่จะเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังมากกว่า
จาก: คอลัมน์รายงานพิเศษ โดยกอง บ.ก. นิตยสารกุลสตรี ฉบับที่ 730 เดือนมิถุนายน ปักษ์แรก 2544.