top of page

‘โมรา’ ในทรรศนะใหม่

งานในลิ้นชักของ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน


โดย ไพลิน รุ้งรัตน์


คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน กวี นักเขียน นักแปล กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในวงการวรรณกรรม บทบาทที่เด่นที่สุดคือ การเป็นนักแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษที่เป็นคนไทย ส่วนใหญ่แล้วนักแปลในบ้านเรามักจะเลือกที่จะแปลอังกฤษหรือภาษาอื่นมาเป็นภาษาไทย แต่คุณหญิงจำนงศรี เป็นคนไทยที่รู้ภาษาไทยแตกฉานและรู้ภาษาอังกฤษแตกฉานด้วย ดังนั้นบทบาทของเธอในฐานะผู้เผยแพร่วรรณกรรมไทยจึงเป็น

ที่ประจักษ์กันดี


นอกจากอาสาสมัครแปลงานวรรณกรรมไทยต่างๆ ด้วยใจรักแล้ว คุณหญิงยังร่วมอยู่ในคณะนักแปลไตรภูมิพระร่วงในโครงการวรรณกรรมอาเซียน แปลงานให้คณะอนุกรรมการเผยแพร่วรรณกรรมไทยเพื่อเกียรติภูมิชาติ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ไทย ให้สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และให้กรรมการซีไรท์ เป็นต้น


คุณหญิงยังมีบทบาทเป็นนักแปลที่เป็นกวีด้วยตัวเองอีกด้วย และเป็นกวีภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งข้อนี้เป็นเหตุให้ผลงานแปลกวีนิพนธ์ ของคุณหญิงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้จัดรายการภาคภาษาอังกฤษ ให้กับวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในรายการ “Voices and Ways of Thai Literature” เพื่อให้ชาวต่างประเทศได้สัมผัสและเข้าถึงวรรณกรรมไทยในแง่มุมต่าง ๆ รายการนี้ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 8.30 น.


ต้นเหตุแห่งการสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่เพียงเพราะคุณหญิงเป็นกวี หรือนักแปลที่น่านิยม ชมชื่นเท่านั้น หากแต่ได้ข่าวมาว่า คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ได้เสนอผลงานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมไว้ชิ้นหนึ่งในการสัมมนาการแปลที่ชะอำ เพชรบุรี เมื่อปลายพฤศจิกายน ศกนี้ และงานสร้างสรรค์ชิ้นนั้นเป็นการมอง “โมรา” ในทรรศนะใหม่ที่ควรแก่การสนใจและอภิปรายกันต่อไป


ทราบว่ามีความสามารถในการแปลกวีนิพนธ์ไทยเป็นภาษาอังกฤษ


(หัวเราะอย่างเบิกบานแจ่มใสก่อนจะตอบคำถามด้วยเสียง แหม ที่ลากยาวเป็นพิเศษ) อันที่จริงแปลไว้น้อยชิ้นมากนะคะ น้อยจนเรียงให้ฟังได้เลย มีบางตอนจากนิราศอิเหนา มีของคุณอังคาร (บทที่ตัดตอนไปพิมพ์ในสูจิบัตรซีไรท์) บทหนึ่ง คุณจิตร ภูมิศักดิ์ บทหนึ่ง (เปิบข้าว) แล้วก็ของ คุณดิเรก สายศิริวิทย์ อีกบทหนึ่ง


แล้วก็ หนึ่งเดียวนี้ ของอัญชลี จงคดีกิจ


ใช่ (ขานรับหนักแน่นด้วยเสียงหัวเราะเป็นสุข) แต่บทนั้นเป็นงานที่ทำกับนักศึกษาการแปล ภาควิชาวรรณคดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นงานวิชาการงานในชั้นที่ไปสอน


แปลอังกฤษเป็นไทยมีไหมคะ


ก็มีของวิลเลี่ยม สแตฟฟอร์ด แปลได้ 5 บท ไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหนเพราะเป็นงานแปลแจกในโอกาสที่

สแตฟฟอร์ด มาเยือนไทยเมื่อ 2-3 ปีมาแล้ว


เป็นกวีนิพนธ์หมดเลยหรือคะ ประเภทอื่นเคยแปลไว้บ้างหรือเปล่า


มีมากกว่าค่ะ แปลเรื่องสั้นของนักเขียนรุ่นใหม่ไว้หลายเรื่อง มีของ อัศศิริ ธรรมโชติ มากที่สุด จวนจะเป็นเล่มได้อยู่แล้ว ก็มีของ นิมิตร ภูมิถาวร และล่าสุดแปล เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ไทย ไปตีพิมพ์เผยแพร่ แล้วก็อื่นๆ อีก ตอนนี้กำลังจับ 'ผาติกรรม' ของวาณิช แต่เวลาแปลไม่ค่อยจะมี พักนี้ทำหลายอย่างจนชักจะเปรอะ ดุตัวเองอยู่เหมือนกัน


เขียนเองบ้างไหมคะ


ก็มีบ้าง เป็นบทกวี บทวีดีโอสารคดี บทละคร และก็มีการเขียนเล่าเรื่องจากวรรณคดีและตำนานเก่าๆ ส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ (หัวเราะ)


อยากทราบว่าเลือกแปลงานแบบไหนคะ ประเภทไหน แล้วก็ของใคร


(ยืนยันหนักแน่น) จะแปลเฉพาะที่ชอบค่ะ


ข่าวว่าไปสัมมนาการแปลที่ชะอำเป็นวิทยากรด้วยใช่ไหมคะ


สนุกดี (หัวเราะ) เป็นวิทยาการประจำกลุ่ม...กลุ่มที่ทำแปลกวีนิพนธ์เป็นผู้อภิปรายด้วย


ได้ข่าวมาว่าเสนอผลงานไว้ชิ้นหนึ่ง “วิเศษ” มาก อยากให้เล่าให้ฟัง


(หัวเราะ) ได้ข่าวมาจากไหนคะ คุณไพลินไม่ได้ไปนี่


แหม...ไม่ได้ไปก็ได้ข่าวได้นะคะ


ก็คงไม่ถึงกับวิเศษอะไร ก็เป็นการเสนอผลงาน ดิฉันพูดถึงปัญหาในการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษมาหลายครั้งแล้ว พูดอีกซ้ำๆ ก็เลยเอางานชิ้นนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาดูว่าเป็นงานแปลอีกแบบหนึ่งหรือไม่...หรือเป็นงานประเภทอื่น...


เป็นงานที่คิดขึ้นมาใหม่สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ใช่ไหมคะ


(เสียงดัง) โอ๊ย...ไม่ใช่ค่ะ...ทำมานานแล้ว เมื่อประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว ทำให้ ASEAN Culture Exchange Programme เป็นโครงการของวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ตอนนั้นทำเป็นชุด มี 3 เรื่อง เริ่มจาก ตำนานจระเข้เมืองพิจิตร ไม่ใช่ชาละวัน แต่เป็นเรื่องท้าวโคจร พ่อชาละวัน ได้ต้นเรื่องมาจากหอสมุดแห่งชาติ เรื่องที่ 2 ก็เรื่อง จันทรโครพจับเฉพาะตอนโมรา ส่วนเรื่องที่ 3 พระลอ หลังจากนั้นทำเรื่องที่ 4 เรื่องมโนราห์ เก็บเอาไว้ ไม่ได้ใช้ออกอากาศ แต่ตีพิมพ์แล้วใน “Thailand Illustrated” ของกรมประชาสัมพันธ์


อยากทราบว่าทำไมจึงเลือกเรื่อง 4 เรื่องนี้


เพราะว่าชอบค่ะ (หัวเราะ) อ๋อ...แล้วอยากเสนองานวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านไทยในลักษณะที่สื่ออารมณ์กับชาวต่างประเทศได้ดี ในขณะที่รักษารสชาติไทยๆ เอาไว้ เหมือนกับปรุงอาหารไทยให้ฝรั่งติดใจน่ะค่ะ (หัวเราะ) คือ ทั้งถูกใจฝรั่งด้วย และก็เป็นไทยด้วย...ต้องปรุงให้กลมกล่อม...งานทั้ง 4 เรื่อง ใช้ดนตรีไทยประกอบ ดนตรีไทยสื่ออารมณ์ในปัจจุบันได้ดี ถ้าเรารู้จักใช้ไม่ติดอยู่กับประเพณีและกฎเกณฑ์ที่ทำให้มันซ้ำซากแห้งแล้ง ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เป็นศิลปะแท้นั้นไม่ตายนะคะ ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดี ดนตรี หรือศิลปะ

แขนงอื่นๆ


อยากทราบว่าทำไมจึงเลือก 'โมรา" มาเสนอในการสัมมนาครั้งนี้


เพราะมันทำให้เรารู้สึกร่วมได้แรงที่สุด ทรรศนะในการเล่าเรื่องก็ผิดกับต้นฉบับโบราณ แต่รายละเอียดของเรื่องเหมือนของเดิมทุกอย่าง ถึงได้เอาไปเป็นโจทย์ให้ช่วยกันคิดว่าเป็นงานแปลหรือไม่ ต้นฉบับยาวถึง 60-70 หน้า...เป็นคำกลอนด้วย ถ้าแปลทั้งหมดก็ยาวเฟื้อยและโบราณ ใครล่ะจะหยิบงานแปลของประเทศที่กำลังพัฒนาและห่างไกลตนเองขึ้นมาอ่านเล่น ดิฉันอยากทำให้คนทั่วไป ไม่ใช่แค่นักวิชาการ ก็เลยเล่าด้วยสำนวนของคนสมัยใหม่ให้คนที่ไม่ได้สนใจวรรณคดีไทยมาก่อนรับได้ และอยากจะรู้จักมากขึ้น

อีกอย่าง...มันเรียกร้องความสนใจสำหรับชาวต่างประเทศได้ เพราะเป็นตำนานของการกำเนิดชะนีซึ่งเป็นสัตว์ป่าของไทย สำหรับคนไทยก็ดีนะคะในเมื่อชะนีกำลังจะสูญพันธุ์ มนุษย์ไปรังแกมัน ฆ่าแม่เอาลูกมาขาย เห็นแล้วสงสารมาก สงสารพอ ๆ กับสงสารนางโมรา ตอนที่อ่านต้นฉบับจันทรโครพนั่นแหละค่ะ (หัวเราะ) ก็อยากชวนให้คนอื่นสงสารด้วย


ชวนให้สงสารชะนีหรือโมรา


ทั้งสองอย่างซิ (หัวเราะ)


ขอให้เล่ารายละเอียดในการเสนองานชิ้นนี้


ใช้เสียงบรรยายประกอบดนตรีและสไลด์ภาพค่ะ ถือความไพเราะของภาษาเป็นเรื่องสำคัญมาก กล่อมคนฟังให้เกิดอารมณ์ไงคะ ดนตรีไทยเลือกมาให้สอดคล้องกับอารมณ์ สำหรับภาพนั้นเราใช้สีสันและเนื้อหาที่ค่อนไปในลักษณะเซอเรียล (Surrealistic) ให้คนดูเกิดจินตนาการของตัวเอง ไม่มีภาพมนุษย์ แต่ใช้สัตว์ป่าเข้ามาเป็นสัญลักษณ์


ต้นฉบับที่ใช้เป็นนิทานคำกลอนเรื่อง จันทรโครพ ฉบับรัตนโกสินทร์ที่เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ไม่มีชื่อผู้แต่งดิฉันใช้เฉพาะตอนต้นคือ ตั้งแต่ต้นจนถึงพระอินทร์สาปนางโมราให้เป็นชะนีต้นฉบับเดิมมีเรื่องราวของ จันทรโครพ หลังพระอินทร์ชุบชีวิตแล้วไปพบนางมุจลินทร์และอะไรอีกเยอะแยะ แต่คิดว่าตอนนางโมรานี้สมบูรณ์ในตัวของมันเองก็เลยเขียนเป็น POETIC PROSE สำหรับอ่านกับดนตรี ต้องเรียกว่าเขียนโดยกรองผ่านตัวเอง แต่เป็นการเล่าแบบกลางไม่มีความเห็นของตนเองไปเกี่ยวข้อง ไม่ได้ไปอธิบายหรือเพิ่มเติมรายละเอียด เมื่อมีการกรองด้วยตัวเองก็คงมีความรู้สึกของตัวเองแฝงอยู่ในการใช้ภาษาบ้าง



ขอทราบความคิดของคุณหญิงเกี่ยวกับเรื่องโมรา


ก่อนอื่นต้องออกตัวว่าเป็นการมองของตัวเองโดยเฉพาะ...ตัวเองในฐานะผู้หญิงและผู้เขียนในปัจจุบัน


ประเด็นแรก ดิฉันสนใจการกำเนิดของโมรา ตอนพระฤๅษีเสกนางโมรา ขนนกมันเบานะคะ ไม่มีเลือดเนื้อไม่มีวิญญาณฤๅษีเสกนางให้อยู่ในผะอบแก้ว อันที่จริง ในต้นฉบับเดียวกันบางครั้งผู้เขียนก็เล่าเป็น “ผะอบทอง” ดิฉันชอบ “ผะอบแก้ว” เพราะมันสวย เปราะบาง เหมือนนางโมราในความรู้สึกของดิฉัน คิดดูสิคะ ผู้หญิงคนนี้เกิดมาจากขนนกยูง ที่สีสันสวยงามแต่ไม่มีน้ำหนัก ใส่ไว้ในผอบแก้วที่เปราะบาง จะให้นางเป็นอย่างไรในเมื่อเปิดผะอบให้นางเกิดมากลางป่า


ประเด็นที่สอง เหตุผลในการเกิดของ “โมรา” มาจาก พระฤๅษีซึ่งเป็นผู้ชายคนหนึ่ง เห็น "จันทรโครพ" ซึ่งเป็นผู้ชายอีกคนหนึ่ง มีความพร้อมทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติ เกิดกลัวขึ้นมาว่าจะหาผู้หญิงที่สวยคู่ควรไม่ได้ ก็เลยเสกนางขึ้นมา นางถูกทำให้เกิดเพื่อคนอื่น


ประเด็นที่สาม การกระทำของนางโมรา สอดคล้องกับกำเนิดของนาง จันทรโครพกับโมราตรงข้ามกันเลยนะคะ ดิฉันมองจันทรโครพว่าเป็นตัวแทนของมนุษย์ ตัวแทนของ SOPHISTICATION พูดเป็นภาษาไทยว่าเป็นผู้ที่ปรุงแต่งแล้วหรือปรุงจริตแล้วก็คงจะได้ เขาเกิดมาเป็นลูกผู้ครองนคร ออกไปแสวงหาความรู้เพื่อเตรียมตัวเป็นกษัตริย์ ตั้งแต่แค่อายุ 13 ดิฉันมองโมราว่าเป็นตัวแทนของธรรมชาติที่ไม่ได้ขัดเกลา พอออกจากผะอบก็เป็นสาว เกิดมาเป็นเมียจันทรโครพเลย ไมเคยเห็นมนุษย์คนอื่นมาก่อน ทุกอย่างที่นางทำก็เลยเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เป็นสิ่ง AMORAL คือ ตัดสินไม่ได้ด้วยจริยะ เพราะไม่เคยได้รับการสอน การอบรม เราตัดสินได้ไหมว่าเสือเลว เพราะมันฆ่ากวาง หรือแมงมุมดีเพราะมันกินแมลง


ก็ไม่เหมือนต้นฉบับเดิม


ไม่เหมือน ต้นฉบับเดิมเริ่มเรื่องว่า “จะกล่าวกาลกิณีนารีร้าย ให้แจ้งชายกุลบุตรที่ฝึกสอน...” จะเห็นว่ามีการประณามนางโมราและการสอนผู้ชาย ของดิฉันไม่มี ไม่เข้าข้างใคร แต่บางครั้งก็ใช้ “THE NEW-BORN WOMAN” หรือ “THE FEATHER BORN WOMAN” แทนชื่อนางโมรา ให้เกิดการรู้สึกของธรรมชาติของโมรา


ถ้าคิดดูให้ดี จันทรโครพว่าจะให้เป็นมเหสี เมื่อกลับถึงเมือง เราคิดกันบ้างไหมว่า นางไม่รู้จักเมือง ไม่รู้จักว่าพระมเหสี คืออะไร ถ้าโมราเจนโลกซะหน่อย คงส่งพระขรรค์ให้จันทรโครพฆ่าโจร การที่นางตัดสินใจไม่ได้ระหว่างผู้ชาย 2 คนนี้ ก็เพราะนางไม่มีประสบการณ์ การส่งพระขรรค์ให้เป็นกลาง ก็เป็นไปโดยสัญชาติญาณของผู้หญิงเกิดใหม่ ผู้หญิงที่เกิดมาจากขนนก ขนนกมันก็ปลิวแล้วแต่ลมจะพัดพาไปทางไหน


ก่อนตาย จันทรโครพ ตัดพ้อนางว่าตอนที่เดินป่าลำบากมาด้วยกัน นางหิวน้ำ จันทรโครพ ยังกรีดเลือดให้ดื่มต่างน้ำ โจรได้ยินคำตัดพ้อ ก็ตัดสินทันทีว่า ผู้หญิงคนนี้เลว จะฆ่าเสีย แต่ใจอ่อนเพราะนางสวยก็นอนด้วยซักคืนก่อน ตื่นขึ้นมาจะฆ่านาง เห็นว่าสวยก็ฆ่าไม่ลงทิ้งไว้กลางป่าขณะที่นางกำลังหลับ นี่ก็เป็นการตัดสินของผู้ชายอีก (อันที่จริงฆ่าเสียยังจะดีเสียกว่า)


ตอนที่โมราหลงอยู่กลางป่า เราใช้เสียงสัตว์ป่ามาประกอบ ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกับนาง นางทั้งหิวทั้งหวาดกลัว นางอดอาหารจนจวนจะตาย ก็นางทำอะไรไม่เป็นนี่คะ จันทรโครพเป็นสุภาพบุรุษ จนผู้หญิงที่เกิดใหม่คนนี้ ทำอะไรไม่เป็นจริงไหมคะ (หัวเราะ)


ทีนี้พระอินทร์ก็ร้อนอาสน์ขึ้นมา ต้องแปลงตัวเป็นเหยี่ยวคาบก้อนเนื้อลงมาทดสอบว่า นางเลวกว่าจะเป็นมนุษย์หรือไม่ อันที่จริงนางก็ไม่เคยเลือกเกิดเป็นมนุษย์ พระฤๅษีจัดการเสกเองนี่ เหยี่ยวพระอินทร์บอกว่าจะให้ก้อนเนื้อกับนาง ถ้านางจะยอมนอนด้วยสักคืน นางก็ยอม พอนางยอมพระอินทร์ก็ตัดสินทันทีว่านางเลวนี่ก็เป็นการตัดสิน โดยผู้ชายอีก ไม่รู้ว่าถ้าพระอินทร์เป็นผู้หญิงจะตัดสินอย่างนี้ไหม


อย่าว่าแต่โมรา ที่มีกำเนิดจากขนนกเลย อีกหลายคนถ้าตกอยู่ในสภาพใกล้ตาย ก็คงคิดหาทางเอาชีวิตรอดเหมือนกัน จะว่าเขาเลวจนเขาไม่สมควรเป็นมนุษย์หรือ ในเรื่องพระอินทร์สาปให้นางเป็นชะนี ที่ทารุณที่สุดก็คงเหลือให้นางเป็นมนุษย์เพียงอย่างเดียว คือ ความสำนึกผิด ทุกครั้งที่พระอาทิตย์จะตกดินฟ้าเป็นสีแดง ให้นางนึกถึงเลือดจันทรโครพและร้องหาผัว อย่างทรมานตลอดไป


ประเด็นที่สี่ เรื่องของจันทรโครพ พระฤาษีสั่งไม่ให้เปิดผอบกลางทาง พระขรรค์ก็ไม่ให้ห่างตัว เป็นไปได้ไหมว่าเป็นการทดสอบตัวจันทรโครพเองว่าหนักแน่นพอที่จะเป็นกษัตริย์ในอนาคตหรือไม่ เรียกได้ว่าไม่ผ่านการทดสอบของพระฤาษี ก็ต้องตายด้วยพระขรรค์จากการกระทำของนาง ถ้าเปิดผะอบเมื่อถึงเมือง นางโมราอาจจะเป็นผู้หญิงอีกแบบก็ได้ อยู่ที่กาลเทศะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุและผลในตัวของมันเอง


ใช้เทคนิคในการเล่าเรื่องอย่างไร


ใช้เสียงคนบรรยาย 2 เสียง ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ให้เห็นโลกทัศน์ทั้งสองฝ่าย เสียงผู้หญิงในตอนที่หนักเป็นเรื่องของโมรา เสียงผู้ชายในตอนที่หนักของจันทรโครพ เสียงอ่านที่ได้จังหวะและความรู้สึก จะกลมกลืนกันเสียงดนตรีไม่แพ้การร้องเป็นเพลง งานที่นำไปเสนอที่ชะอำ ผลิตโดย บริษัท เสกศิลป์ (CREARTS) สำหรับด้านเสียงและดนตรี เป็นฝีมือ สุรธัช บุนนาค คุณสุรธัชทำให้ตั้งแต่เป็นรายการ “ASEAN Culture Exchange Programme” สไลด์เป็นฝีมือของ คุณนัดดาเพ็ญ (จอย อัศวรักษ์) ต้องถือว่าเป็นเพียงร่าง (DRAFT) ที่ใช้ในการสัมมนา ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องใช้งบประมาณมากกว่านั้น


ภาษา ดนตรี และภาพ เป็นสื่อความคิด และอารมณ์ที่สากล เวลาดิฉันมองภาพ แสงสี ดิฉันรู้สึกว่ามันมีภาษาและดนตรีแฝงอยู่ และดิฉันก็รู้สึกว่า ในเสียงดนตรีนั้นมีทั้ง ภาพและภาษา ส่วนภาษานั้น ทำให้เกิดทั้งภาพ และในภาษานั้นมีเสียงของดนตรี และสร้างภาพในจินตนาการ ทั้ง 3 อย่างนี้ เมื่อรวมกันเป็นเอกภาพแล้วเป็นสิ่งที่งดงามมาก ถึงได้พยายามที่จะเอามันมารวมกัน แต่ก็ไม่ดีสมอยาก ศิลปะที่เป็นเอกภาพของทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นสื่อได้ทั้งด้านอารมณ์ ทั้งปัญญา ดิฉันหวังว่างานชิ้นนี้จะทำให้ชาวต่างประเทศเกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์และนึกถึงนางโมราทุกครั้งที่เขาได้ยินเสียงชะนี


คุณหญิงพูดเรื่องชะนีบ่อยมาก


ใช่ ก็ชะนีถูกมนุษย์ทำอย่างทารุณพอ ๆ กับนางโมราถูกทำในวรรณคดี (หัวเราะ) อันที่จริงดิฉันให้ชื่อภาษาอังกฤษงานนี้ว่า “THE ORIGIN OF GIBBONS” คนต่างชาติจะรู้ได้ทันที ถ้าให้ชื่อโมราคนที่ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนก็จะไม่สนใจ


คิดว่าการเสนอผลงานนี้ประสบผลสำเร็จหรือเปล่า


เอ...คงต้องถามคนอื่น คุณไพลินจะเรียกงานนี้ว่าเป็นการ “แปล” ไหมหรือ...


เรียกได้ไหมคะว่าเป็นการ “แปลง” ของโบราณมาเขียนใหม่ในทรรศนะของคุณหญิงมาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ


ก็คงได้มั้ง (หัวเราะ) แล้วแต่นักวิจารณ์ (ยิ้ม)


มีโครงการจะทำเป็นภาษาไทยไหมคะ (โรคกลัวภาษาอังกฤษยังขึ้นสมองอยู่)


(ตอบเสียงหนักแน่น) มีค่ะ


ทำเสร็จแล้วจะเอาไปทำอะไรคะ ตีพิมพ์เป็นเล่ม...เล่นเป็นละคร หรือ...


(หัวเราะ) ...ค่ะ...ก็คงเก็บไว้ในลิ้นชัก (หัวเราะ) ปกติดิฉันทำงานเสร็จแล้วจะเก็บไว้ในลิ้นชักเสมอ ไม่รู้จะเอาไปไหน ได้ตีความเสร็จเขียนออกมาแล้ว ก็พอใจไปขั้นหนึ่ง แล้วก็เก็บใส่ลิ้นชักไว้



คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน กวี นักเขียน นักแปล และอื่น ๆ อีกมากมาย ผู้ชอบทำงานด้วยใจรักและเก็บใส่ลิ้นชักไว้เสมอ (ไม่ทราบว่าเป็นลิ้นชักเดียวกัน กับ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือเปล่า) จบการให้สัมภาษณ์ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง ภายหลังที่ได้เปิดทรรศนะใหม่เกี่ยวกับโมรา ชะนีน้อยที่น่าสงสาร


และ สำหรับผลงานที่ขอเรียกไว้ก่อนว่า บทร้อยแก้วประกอบภาพและดนตรี เสียงของ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ซึ่งมีความยาวประมาณ 20 นาทีนี้ เราขอตั้งหวังว่าจะเป็นผลงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ที่จะมีคนเห็นคุณค่าและสนับสนุนให้เปิดกว้างออกสู่โลกภายนอกได้อย่างเต็มภาคภูมิมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น่าจะขานรับปีการท่องเที่ยว 2530 ของไทยอย่างงดงามและประทับใจได้

 

จาก : คอลัมน์ วรรณกรรมพินิจ ใน สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ 28 วันที่ 28 ธ.ค. – 3 ม.ค. 2530.

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page