top of page

เรื่องที่ไม่ได้เล่าไว้ในหนังสือ...

คุณหญิงจำนงศรี ผู้อยู่เบื้องหลัง Free Trade Zone


สาโรจน์ มณีรัตน์ – เรื่อง

ธนศักดิ์ ธรรมบุตร – ภาพ




ทราบกันโดยทั่วไปว่า “คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์” เป็นผู้เขียนหนังสือ “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีผู้คนกล่าวถึงอยู่มากในขณะนี้

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ เป็นการเขียนในลักษณะของการสืบค้น ค้นหา และเจาะลึกลงไปในอดีต กว่า 600 ปี ครั้นสมัยที่บรรพบุรุษต้นตระกูล “หวั่งหลี” ยังสืบสกุล “แซ่ตั้ง”

โดยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโจ่ยโคย ตำบลหล่งโตว อำเภอเท่งไฮ่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง

ซึ่งรายละเอียดของการสืบค้น นอกจากจะทำให้คนรุ่นหลังๆ หรือผู้ที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้เห็นรากเหง้าของ “คนจีน” ที่เข้ามาในยุคเสื่อผืนหมอนใบ

ยังทำให้ผู้อ่านเกิดความตะลึงพรึงเพริด เพราะที่นั่น นอกจากจะมีสุสานฉลองพระองค์ของ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” (แต้สิ่งหรือเจิ้งซิ่น) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2327 ยังมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตาก ตั้งอยู่อย่างสง่างามอีกด้วย

ขณะที่อีกภาพหนึ่ง “คุณหญิงจำนงศรี” ก็ไม่ละเลยที่จะใส่ภาพของบุคคลในตระกูล โดยไล่เรียงจาก “นายตัน ฉื่อฮ้วง” ซึ่งเป็นต้นตระกูลคนแรก แล้วเล่าผ่านเรื่องราวของลูก หลาน สะใภ้

เพื่อให้คนอ่านเห็นที่มาที่ไปของสายตระกูลหวั่งหลี คาบเกี่ยวตระกูลล่ำซำ บุลกุล และพิศาลบุตร

จากนั้น เรื่องก็ดำเนินไปต่อ กระทั่งจบลงตรงที่ “สุวิทย์ หวั่งหลี” ทายาทรุ่นที่ 4 เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุเครื่องบินตก

เรื่องราวทั้งหมดนี้ ปรากฏอยู่แล้วในหนังสือ “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” ซึ่งหนากว่า 296 หน้า

เพราะฉะนั้น “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” จึงไม่เพียงเป็นการปลุกกระแสให้กับวงการวรรณกรรม หากยังทำให้นักวิชาการ นักวิจารณ์ และคนไทยเชื้อสายจีนอีกมากมายต่างตื่นตัว ถวิลหา และใคร่รู้อีกด้วยว่า...รากเหง้าวัฒนธรรมคนจีนบนแผ่นดินไทยนั้นมาจากไหน?


ซึ่งไปสอดรับกับความคิดของ “สื่อมวลชน” อีกหลายฉบับ ที่อยากทราบว่า...ดุจนาวากลางมหาสมุทร น่าจะมีเกร็ดประวัติศาสตร์อีกหลายแง่มุมที่หายไป?


ยิ่งเฉพาะการลงพื้นที่ไปเจาะเวลาหาอดีต ชีวิตของคุณทวดหนู ชีวิตของคุณทองพูล และคนอื่นๆ

ทว่าประเด็นเหล่านี้กลับถูกเปิดเผยออกมาบ้างแล้ว ตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อโทรทัศน์

บางช่อง


เพื่อให้เห็นภาพที่แตกต่างของ “คุณหญิงนักเขียน” ประเด็นสัมภาษณ์ถึงเรื่องผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Zone จึงเกิดขึ้น!


โดย “คุณหญิงจำนงศรี ” บอกว่า...เป็นเรื่องที่ไม่ได้เล่าไว้ในหนังสือ...


แต่ “คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์” กลับยินดีเล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟัง มิหนำซ้ำยังเป็นอีกผลงานหนึ่งที่นอกเหนือจากงานเขียนผ่านๆ มาด้วย เช่น กวีนิพนธ์ นิทาน บทความ เรื่องสั้น และบทละคร ที่เธอบอกว่า...ภูมิใจมากที่สุด


“ดิฉันชอบผลงานชิ้นนี้มาก เป็นผลงานที่ตื่นเต้นท้าทายที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้ UNDP (United Nation Development Programme) ยังเป็นอีกผลงานหนึ่งที่ทำให้รู้สึกตัวเองว่ากำลังทำเพื่อคนเอเชียด้วยกัน ที่สำคัญการเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางออกไปข้างนอก ซึ่งเป็นที่มาของการเขียนดุจนาวากลางมหาสมุทรต่อมาด้วย ”


“ดิฉันเริ่มต้นทำงานชิ้นนี้เมื่อปี ค.ศ. 1996 ตอนนั้นบริษัท แอลเวฟ จำกัด ซึ่งลูกสาว “ลัดดา หลีอาภรณ์ ” เป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ และดิฉันเป็นที่ปรึกษา ได้ส่งโปรเจ็กต์นี้ไปที่ UNDP ซึ่งตอนนั้น

ทาง UNDP กำลังต้องการบริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ จัดทำวีดิทัศน์ เพื่อฉาย Promotional Video เพื่อ

เรียกความสนใจจากนานาประเทศให้มาสนใจเขตการค้าขายอิสระ”


“ปรากฏว่า โปรเจ็กต์ที่เสนอส่งไปนั้น ลูกสาวของดิฉันเขียนชื่อดิฉันส่งไปด้วย ในฐานะคนเขียนบท เขียนว่า คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เป็นผู้เขียนบท ซึ่งทางนั้นเขาพอจะทราบอยู่บ้าง ว่าดิฉันเขียนหนังสือ

มาก่อน ที่สุดบริษัทแอลเวฟก็ได้รับผิดชอบโปรเจ็กต์นี้ ”


“ทีนี้เวลาไป เราก็ต้องเดินทางไปปักกิ่งก่อน จากปักกิ่งเราก็บินไปเปียงยาง ทีนี้จากเปียงยางเพื่อจะไปเมือง Rajin Sonbong ซึ่งอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศเกาหลีเหนือ ตรงลุ่มน้ำ Tumen เราก็ต้องนั่งรถไฟไป 22 ชั่วโมง โดยไม่ลงเลย”


“เมืองที่ไปนั้นเขาจัดเป็นเขต Free Trade Zone ซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่าง 3 ประเทศคือ เกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย ทีนี้ระหว่างเดินทางก็มีเรื่องสนุกมากมาย ดิฉันเป็นผู้หญิงแก่ๆ คนเดียวที่เดินทางพร้อม

สาวๆ ที่เป็นผู้กำกับคนหนึ่ง ผู้ช่วยลูกสาวของดิฉันอีกคนหนึ่ง และผู้กำกับภาพอีกคนหนึ่งที่เป็นผู้ชาย รวม 4 คน นอกนั้นก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเกาหลีเหนือและล่าม”


“หลายคนบ่นเดินทางยาวนานมาก แต่สำหรับดิฉันแล้วไม่คิดอย่างนั้น ไม่เบื่อเลย ดิฉันรู้สึกสนุกมาก และดิฉันได้เตรียมน้ำพริกส้มมะขามไป 1 กระปุก ปลาสลิดทอดกรอบไป 1 ถุง แบ่งกันกินกับคนเกาหลีเหนือด้วย พวกเขาชอบน้ำพริกส้มมะขามกันมาก และเขาเองก็เตรียมอาหารกล่องซึ่งเป็นอาหารประจำชาติของเขาให้เราด้วย เราได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการกินกัน สนุกดี (หัวเราะ)”


“ระหว่างทางที่ประทับใจเห็นจะเป็นภูมิประเทศสวยงามมาก เพราะเราเดินทางขึ้นเหนือตลอด และประเทศนี้ทหารจะเยอะมาก ทั้งในเมืองและบนรถไฟ พูดง่ายๆ ว่าประเทศนี้น่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่ทหารเยอะที่สุดในโลกกระมัง”


เมื่อเดินทางถึง “Rajin Sonbong” คุณหญิงจำนงศรีมีหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งหมด เซอร์เวย์ และเขียนเป็น

บทวีดิทัศน์ เธออยู่ที่นั่น 3 คืน ก่อนที่จะเดินทางไปเปียงยาง เพื่อถ่าย Stock Shot ต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศเกาหลีเหนือ


“คุณหญิงจำนงศรี” บอกว่า "...ไม่ใช่งานง่าย ๆ เลย เพราะอย่างที่ทราบ ดิฉันต้องอธิบายให้ประเทศต่าง ๆ ทราบให้ได้ว่า Free Trade Zone ที่จัดทำขึ้นครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นอนาคตของประเทศแถบอาเซียนที่จะทำการค้าขายร่วมกันโดยอิสระ โดยเฉพาะกับประเทศเกาหลีเหนือ"


เพราะฉะนั้น 3 วัน 3 คืน ในการทำงาน “คุณหญิงจำนงศรี” จึงบอกว่า...เป็นงานที่ท้าทายมาก


"ในส่วนของเนื้อหาเมื่อดิฉันเขียนเสร็จก็ต้องให้ทาง UNDP ตรวจสอบดูก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องให้ทางรัฐบาลเกาหลีเหนือตรวจสอบด้วยเช่นกัน


“เหมือนกับภาพที่เรา Insert ในวีดิทัศน์ก็เหมือนกัน ส่วนหนึ่งเราถ่ายเอง แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องสั่งซื้อภาพจากเดอะเปียงยาง วิดีโอ คอมปะนี ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ก็อย่างที่ทุกคนทราบ ประเทศเขาเป็นสังคมนิยม เพราะฉะนั้น ข้อจำกัดจะเยอะมาก”


“ดิฉันก็พอใจนะ เพราะหลังจากภารกิจเสร็จสิ้น วีดิทัศน์เรื่อง “Rajin Sonbong The Golden Gate To North Asia” ได้ออกฉายกว่า 6 ประเทศ และหลายคนชมเชยมากกว่า วีดิทัศน์เรื่องนี้ทำได้

ดีมาก แต่ไม่ทราบว่าเขารู้กันหรือเปล่าว่า การทำงานครั้งนี้ บริษัทเราขาดทุนนะ (หัวเราะ) แต่เราก็ภูมิใจ"


แม้การทำงานครั้งนี้จะเป็นการเขียนบท ซึ่งแตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่นๆ ที่ทำมา แต่ “คุณหญิงจำนงศรี ” ก็ยอมรับว่า...ผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงแต่ภูมิใจเท่านั้น หากยังได้เห็นการจัดวางแผนแม่บท การจัดโซนนิ่งของประเทศสังคมนิยมอย่างเกาหลีเหนืออีกด้วย


“ดิฉันยอมรับว่าการจัดวางโซนนิ่งเขาดีมาก เขาคิดก่อนที่จะทำ วางแผนก่อนที่จะลงมือ อีกอย่างเพราะ UNDP ให้ความร่วมมือด้วย อย่างโซนที่เป็นเขตอุตสาหกรรมเบา เขาจะจัดวางไว้เฉพาะเลย อุตสาหกรรมหนักแทบจะไม่มีเลย ที่สำคัญในส่วนของภาคผลผลิตทางการเกษตรก็จะมีโซนนิ่งชัดเจน

เขาให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้จะต่างกับบ้านเราอย่างชัดเจนมาก”


“ที่สำคัญการทำงานครั้งนี้ ทำให้เราเกิดพลังในการเดินทางออกข้างนอก ซึ่งปกติฉันจะทำงานจากข้างใน หมายถึงความรู้สึก จินตนาการออกไปสู่ข้างนอก แต่สำหรับครั้งนี้เป็นการทำงานจากข้างนอก

สู่ภายใน ซึ่งเป็นเหมือนกับดุจนาวากลางมหาสมุทร ”


“ดิฉันจึงคิดเสมอว่า การทำงานวรรณกรรมเป็นการทำงานที่เอาเปรียบธรรมชาติมาก เราใช้ธรรมชาติกันสิ้นเปลืองมาก เราเอาธรรมชาติมารับใช้วรรณกรรม เราไปเด็ดดอกไม้ แล้วมาร้อยเป็นดอกไม้ใหม่ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงคิดเสมอว่าการเขียนวีดิทัศน์ หรือการเขียนดุจนาวากลางมหาสมุทร

เป็นงานเขียนที่มีคุณค่ามาก ที่สำคัญดิฉันใช้ธรรมชาติกับงานเขียนนี้น้อยมาก ดิฉันแทบไม่ได้เด็ดดอกไม้เลย”

ที่สำคัญ งานเขียนทั้ง 2 ชิ้นของ “คุณหญิงจำนงศรี” ประสบผลสำเร็จเกินคาดด้วย ชิ้นแรกประสบความสำเร็จบนความภูมิใจ ในฐานะของชาวเอเชียคนหนึ่งที่ทำให้มนุษยชาติเกิดสัมพันธภาพทางการค้า แต่อีกชิ้นหนึ่ง ประสบความสำเร็จในฐานะเหลนหรือ โหลนของตระกูลหวั่งหลี ที่ทำให้คนไทยเชื้อสายจีนอีกหลายคนเห็นรากวัฒนธรรมของตนเอง

ซึ่งทั้งหมดนี้ “คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์” นามสกุลเดิม “รัตนิน” อดแปลกใจไม่ได้ว่า...ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่เริ่มเขียนหนังสือ จากเรื่องสั้นภาษาอังกฤษเรื่องแรกด้วยอายุเพียง 16 ปี จนถึงวันนี้เกือบ 60 ปีแล้ว เพิ่งประสบความสำเร็จในงานเขียน “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” มันน่าจะมีอะไรเกิดขึ้น?


...หรือสังคมขณะนี้กำลังสนใจงานเขียนประเภทจากข้างนอกมากกว่าข้างใน...


นั่นคือคำถามสุดท้ายที่ “คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์)" ทิ้งให้สังคมช่วยหาคำตอบด้วย


 

จาก: คอลัมน์ไลฟ์สไตล์ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันจันทร์ที่ 1 – วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2542

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page