top of page

เมื่อฝรั่งหันมอง 'ตัวกู ของกู'

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


ภาพโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


หนุ่มนักศึกษาคนหนึ่งนั่งรถใต้ดินไปมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้หญิงที่นั่งข้างเขามีอาการคล้ายคนเสียสติ เธอพูดพึมพัมไปตลอดทางด้วยท่าทางโกรธแค้นขึ้งเครียด ฟังอยู่สักพักเขาก็รู้ว่าผู้หญิงคนนั้นกำลังพูดปกป้องความถูกต้องของตัวเธอกับใครสักคนที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เธอจมมิดอยู่ในโลกความคิด ที่ไม่เกี่ยวข้องจนนิดกับความเป็นจริงรอบตัวเธอในขณะนั้น


ในขณะที่เขายืนล้างมือในห้องน้ำมหาวิทยาลัย เขาก็คิดขึ้นมาว่า “ฉันคงไม่เป็นอย่างผู้หญิงคนนั้นเข้าสักวันนะ” มาสะดุ้งรู้ว่าคิดออกมาดังๆ เมื่อคนข้างๆ หันขวับมามองอย่างแปลกใจ นักศึกษาหนุ่มฉุกคิดได้ว่า ถ้าผู้หญิงคนนั้นบ้า ตัวเขาและมนุษย์ส่วนใหญ่ก็จะต้องบ้าเหมือนกัน เพราะล้วนเป็นเหยื่อกระแสคิดที่ไหลจากเรื่องไปอีกเรื่องอย่างแทบไม่หยุดหย่อนและไม่รู้ตัว จะแตกต่างกันก็แค่ในเนื้อหา อารมณ์ และระดับความหนักเบา


ในชั่วขณะนั้น เขาหลุดจาก‘คิด’(thinking) มาเป็น ‘สติ’ (awareness) ที่ให้ความตระหนักรู้ว่า“ชีวิตไม่จริงจังอย่างที่ความคิดมันปั้นให้เราเชื่อ” เป็นชั่วขณะที่เขารู้สึกอิสสระปลอดโปร่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


อีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา พอเข้าชั้นเรียนของศาสตราจารย์ ที่เขาชื่นชมนักว่าแสนฉลาดปราดเปรื่อง ก็มีอาจารย์อีกคนมาบอกว่า ท่านศาสตราจารย์เพิ่งฆ่าตัวตาย ชายหนุ่มตกใจ และสะดุดใจสงสัยว่า สมองคิดที่เขาเคยนึกว่าเป็นสมบัติที่วิเศษสุดของมนุษย์นั้น จะสัมผัสแก่นแท้ของชีวิตได้จริงหรือ แต่เขาก็ไม่รู้ว่ามีวิธีการรู้อื่นใด นอกเหนือไปกว่าการใช้สมอง


อีกหลายปีผ่านไป กระแสชีวิตอันสับสนพัดพาเขาจมลึกลงไปในห้วงทุกข์ ก่อนที่เขาจะกลับมาสู่สติที่สัมผัสรู้กายใจอีกครั้ง สติที่ต่อเนื่อง ชัดเจน มั่นคงกว่าในครั้งกระนั้น ทำให้ประจักษ์ใจว่า ความคิดสารพันที่วิ่งวนอยู่ในหัวคิดของคนเรานั้น เกือบร้อยทั้งร้อย เป็นกลไกของอัตตา (ego) ซึ่งก็คือ เจ้า 'ตัวกู ของกู' อันเป็นพื้นฐานความทุกข์ใจทั้งสิ้นทั้งปวง


ชายหนุ่มที่เล่ามาข้างต้นเป็นชาวเยอรมันชื่อ Ekhart Tolle ปัจจุบันเขามีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักเขียนแนวปรัชญา หนังสือเล่มแรกเรื่อง 'The Power of Now' ของเขา ถูกแปลเป็นหลายภาษา และขายดิบขายดีทั่วโลก ส่วนหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ 'A New Earth' (โลกใหม่) ก็กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางในโลกสากล


A New Earth หรือ ‘โลกใหม่’ ของ Tolle ทำให้นึกถึงคำท่านอาจารย์ที่พูดเสมอว่า ธรรมะของพระพุทธองค์ เป็นสัจธรรมที่ไม่จำกัดว่าเป็นของใคร ชาติใหน ศาสนาไหน ถึงแม้เรื่องที่ Tolle เขียน จะไม่มีอะไรนอกเหนือธรรมะของพระพุทธองค์ แต่ “A New Earth” ก็เป็นเสมือนหน้าต่างบานใหม่ ที่เปิดให้มองเข้ามาในห้องเดิมด้วยอีกแสงและอีกมุม


ความคิดเรื่อง “โลกใหม่” ของ Tolle ใกล้เคียงกับยุคพระศรีอาริย์ในคติพุทธ เพราะเป็นสังคมโลกที่อัตตาไม่บดบังจิตมนุษย์ส่วนใหญ่ เขาเชื่อว่าสังคมโลกที่เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆกำลังทำให้มนุษย์หันหา 'จิตสำนึกใหม่' (New Consciousness) ที่อิสระจากอัตตา ต้นเหตุของการแก่งแย่ง สงครามและการฆ่าฟัน 'จิตสำนึกใหม่' นี้ ถ้ามีผู้บรรลุถึงมากแค่ไหน ก็จะช่วยให้คนอื่นๆ บรรลุตามได้ง่ายขึ้นเท่านั้น จนในที่สุดสังคมโลกกลืนกลายเป็น 'โลกใหม่' ที่สงบเย็น


เป็นธรรมดาที่การหยิบย่อส่วนย่อยแค่บางส่วนจากหนังสือสามร้อยกว่าหน้าเล่มนี้มา จะขาดความสมบูรณ์ด้านความลึก กว้าง กระจ่างชัดของหนังสือทั้งเล่ม ซึ่งเนื้อหาทุกหน้า ทุกบทเชื่อมโยงสัมพันธ์ ขยายความกันและกัน เหมือนงานทอชิ้นงาม


เรื่องของหนังสือก็ คือ อัตตา (ego) หรือ เจ้า ‘ตัวกู ของกู’ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพร่ำย้ำพร่ำสอนนั่นเอง Tolle ชี้ว่า จิต (consciousness) กับ อัตตา (ego) หาใช่สิ่งเดียวกันไม่ ทว่าอัตตากับจิตที่ขาดสติจะซ้อนกันอยู่เหมือนเป็นหนึ่งเดียว จิตจึงบูดเบี้ยวพร่าหมอง แต่เมื่อใดที่จิตถอยออกมาเห็นอัตตา จิตขณะที่แยกออกมาเป็น ‘ผู้ดู ผู้เห็น’ อัตตา คือจิตที่ตื่น ที่จริงแท้


ข้าพเจ้าอ่านความซับซ้อนของอัตตาที่ Tolle เอามาตีแผ่ ด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจกับความช่างแคะไค้อุบายสารพันของมันมาแยกแยะอย่างละเอียดลึกและเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะในเรื่องการคลั่งของยี่ห้อ การยึดติดกับบทบาท การเก็บกดเรื่องราวในอดีตจนเป็นปมในใจและกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลิกภาพ เรื่องความคลั่งชาติ (หรือศาสนา) เรื่องอัตตากับเวลาและอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญคือประโยชน์ที่ได้ จากเห็นอัตตาในแมกมุมที่แฝงเร้น ทำให้ได้คอยสะกิดเตือนให้คอยชำเลืองมองอัตตาตัวเองในชีวิตประจำวัน


Tolle มองว่าความไม่อิ่มไม่พอเป็นธรรมชาติของอัตตา มันจึงต้องมองหา ไขว่คว้า เสกสร้างอะไรมิอะไรมาเติมตัวมันให้เต็มอย่างไม่รู้จบ แต่เติมเท่าไรก็ไม่เต็ม มันจึงดึงเอาวัตถุสิ่งของ และสิ่งต่างๆ ที่เป็นนามธรรมอย่าง ความรัก ความเด่น ความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งความด้อย ความเจ็บปวดทรมานใจ ความพ่ายแพ้ มาเป็นส่วนหนึ่งของตัวมัน เพื่อให้ตัวมันเองคงอยู่และแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ


Tolle แบ่งกลไกเสริมสร้างตัวเองของอัตตา เป็นสองส่วนคือส่วน โครงสร้าง (structure) กับส่วน เนื้อหา (content) เขาอธิบายทฤษฏีนี้ ด้วยการยกตัวเทียบความรู้สึกของเด็กเล็กๆ ที่มีใครแย่งของเล่นชิ้นโปรดไป กับของผู้ใหญ่ที่รถยนต์หรูคันโปรดถูกขโมย หรือที่ถูกว่าร้ายให้เสียชื่อเสียง ความรู้สึกเจ็บปวดโกรธเกรี้ยวจะทัดเทียมกัน ถึงแม้ค่าหรือลักษณะของสิ่งที่สูญเสียไปแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


ทั้งเด็กและผู้ใหญ่โกรธและเสียใจเหมือนกัน เพราะสูญเสีย‘ของกู’ ด้วยการกระทำของคนอื่นเหมือนกัน เป็นความเหมือนใน โครงสร้าง ของการยึด (identification) และการแยก (separation) Tolle อธิบายว่าอัตตามีอยู่เพราะยึด‘ตัวฉัน ของฉัน’ และเมื่อมี ‘ฉัน’ มี ‘พวกฉัน' 'พวกเรา’ ก็มีการแยกสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างนอกเหนือส่วนที่ยึด จึงมี‘เขา’มี ‘ของเขา’ 'พวกเขา'


ส่วน เนื้อหา คือ สิ่งต่างๆ ที่อัตตาดึงมาเสริมตัวมัน อาจจะเป็น ของเล่น รถยนต์ พรรคพวก ภาพลักษณ์ ความสัมพันธ์ ความคิด ความเชื่อ ลัทธิ ศาสนา ฯลฯ แล้วแต่ วัย เวลา สังคม อารมณ์ ฯลฯ Tolle เล่าถึงหญิงผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้ายคนหนึ่ง ซึ่งหมอว่าเหลือชีวิตอีกไม่กี่เดือน โดยปกติเธอแจ่มใสและยอมรับความเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี วันหนึ่ง Tolle แปลกใจมากที่พบว่าเธอกำลังฟูมฟาย ทั้งโกรธ ทั้งเสียใจ ที่แหวนเพชรคู่ใจซึ่งใส่ติดนิ้วมาตลอดได้หายไป เป็นแหวนที่สูงทั้งราคาค่างวดและค่าทางใจ เพราะมันแทนความรักของยายมอบไว้ให้ ซ้ำร้ายเธอยังปักใจว่าแม่บ้านที่เธอไว้อกไว้ใจเป็นคนขโมยมันไป ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานเลยสักนิด


พอ Tolle ให้เธอคิดดูซิว่า เธอสูญเสียส่วนหนึ่งของตัวเธอไปเพราะแหวนแสนรักหายหรือ เธอคิดแล้วตอบว่าใช่... แต่เมื่อเขาให้เธอให้สติรู้ลมหายใจ รู้กาย รู้ใจ เธอก็ทำตาม สักครู่ เธอก็ตอบเขาด้วยรอยยิ้มอันสดใสว่า เธอรู้สึกสงบ เบาสบายอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน และยังอิ่มเต็มในตัวของตัวเอง แหวนก็ส่วนแหวน ไม่เกี่ยวกับกายใจที่เธอสัมผัสในความเป็นจริงเลยจนนิด


การ คิด ที่ดึงเอาอดีตเข้ามาเป็นเหตุเป็นผล... “เขา ขโมยแหวน ของฉัน ไป เป็นแหวนเพชร ที่ยาย ของฉัน ให้ ฉัน จะไม่ให้โกรธ ไม่ให้เสียดายได้อย่างไรล่ะ เสียแรงที่ ฉัน เคยไว้ใจ เขา”... หนีไม่พ้นโครงสร้างอันเหนียวแน่นของอัตตาที่ ยึด ตัวกู ดึงโน่นนี่มา ยึด เป็นของกู พร้อมๆ ไปกับ แยก เรา แยก เขา อิสระจากโครงสร้างนี้เมื่อใด จิตก็ปลอดโปร่งเบาสบาย ไม่ถูกมายาอัตตาหลอกให้ทุกข์


การยึดและแยกเราแยกเขานี้ ทำให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอๆ โดยไม่ทันรู้ตัว ใครบ้างที่ไม่เคยแวบคิดทำนอง เขารวยกว่าฉัน ฉันสวยกว่าเขา ลูกฉันเรียนเก่งกว่าลูกเขา ฉันโชคดีที่ไม่เป็นอย่างเขา หรือแม้กระทั่ง การปฏิบัติธรรมของเขาก้าวหน้ากว่าฉัน จะย้ำจุดด้อยจุดเด่น แต่ ‘ตัวฉัน’ ก็ถูกตอกย้ำแน่นหนาขึ้นทุกครั้งไป


ความสำคัญของปัจจุบันขณะ เป็นเรื่องที่ Tolle เขียนถึงในหนังสือของเขาทุกเล่ม เขาเน้นเสมอว่า อดีตมีอยู่แค่ความทรงจำ อนาคตมีอยู่แค่ในการคาดคิด ชีวิตสดและแท้ของเราอยู่ในแต่ละขณะจิตที่เป็นปัจจุบัน (ปัจจุบันขณะ) เท่านั้น Tolle ชี้ให้เห็นว่าอัตตาที่ติดกับการคาดคิดและย้อนคิด ทำให้คนเราสัมผัสชีวิตที่จริงแท้น้อยมากในแต่ละวัน เพราะมักใช้ปัจจุบันขณะสลับไปมาใน 3 ลักษณะ คือเป็น…

1. วิถีสู่เป้าหมาย (means to an end) ใช้ปัจจุบันขณะเป็นเส้นทางสู่จุดที่ใจตั้งไว้ แต่ยังไปไม่ถึง (ตรงนี้จะขอเอาตัวเองเป็นตัวอย่าง คือ เมื่อเพื่อนๆ มาเยือนบ้านน้ำสานของข้าพเจ้าที่เชียงใหม่ เขาก็จะพากันจะ...โอ๊ย...ชื่นใจกับความงามของธรรมชาติ สุขใจกันเป็นนักหนา แต่ข้าพเจ้าเองซิ เหลือบซ้ายก็... ตรงนี้ทึบไป สางกิ่งให้แดดลงหน่อยถึงจะดี เหลือบขวาก็...ดอกโรยแล้ว เดี๋ยวต้องตัด จะได้แตกดอกใหม่ที่งามๆ... ปัจจุบันเป็นเหยื่ออนาคตไปเสียฉิบ)

2. อุปสรรค (obstacle) ขณะใดที่รู้สึกขัดอกขัดใจเพราะไม่ได้อย่างใจ หรืออึดอัดขัดเคืองที่ทำอะไรไม่ได้ตามที่อยากจะทำ ปัจจุบันขณะก็มีลักษณะเป็นอุปสรรคเครื่องกีดขวางไปโดยปริยาย

3. ศัตรู (enemy) เมื่อใดที่ใจเศร้าหมอง เบื่อ เหงา เศร้าซึม ทุรนทุราย ใจรนร้อน ดิ้นหนีอะไรที่กำลังเป็นอยู่ตรงนี้ วินาทีนี้ เราก็ได้ทำให้ปัจจุบันขณะ มีลักษณะเป็นศัตรูที่ทำร้ายจิตใจ ทั้งนี้เพราะเจ้าอัตตาที่ไม่อิ่มเต็มมันไขว่คว้าตามความอยาก


ในบทท้ายๆของเล่ม Tolle เขียนถึงการเข้าถึง ‘จิตสำนึกใหม่’ ว่าจะเป็นไปได้ก็เมื่อจิตยอมรับอัตตาตามความเป็นจริง ไม่ไช่ด้วยการปฏิเสธหรือต่อสู้ผลักใส เพราะการดึงดันปฏิเสธก็เป็นอาการของอัตตาที่อยากจะไม่มีอัตตา จะเรียกว่าเป็นอาการของอัตตาซ้อนอัตตาก็คงไม่ผิดนัก


การยอมรับเบิกทางสู่การ ไม่ยึด ไม่แยก สู่จิตที่สงบใส ไม่วุ่นวายกับความคิด ไม่เครียดเกร็งกับความอยาก ไม่อยาก ชอบ ไม่ชอบ จิตเช่นนี้จะสามารถถอยดูอารมณ์ความรู้สึก ดูความคิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของอัตตา จิตเช่นนี้จะเห็นธรรมชาติของอัตตาตามความเป็นจริง จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) ที่ไม่มัวหมอง หรือจิตที่‘ตื่น’ ก็จะเกิดขึ้นเอง ถึงแม้อาจจะเพียงสั้นๆ ในระยะแรก

ที่เล่ามาในที่นี้เป็นส่วนน้อยนิดของหนังสือ A New Earth ที่ข้าพเจ้าพบว่าช่วยเพิ่มความละเอียดแยบคายให้กับการถอยมองอัตตาตนเองในชีวิตประจำวัน

 

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page