1952-1958 (พ.ศ. 2495-2501)

ทศวรรษที่ 1950 มักเป็นที่จดจำว่าเป็นทศวรรษแห่งความมั่นคงและสงบสุข หลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 และสงครามโลกในทศวรรษ 1940 ทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมหลากหลายนำสิ่งผลิตใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจออกสู่สาธารณชน ผู้คนเข้าถึงสินค้าและความสะดวกสบายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลายสิ่งเปลี่ยนไป ทั้งการดำรงชีวิต การงาน การขนส่ง ความบันเทิง หรือกระทั่งดนตรี เรียกได้ว่า เป็นยุคที่ทัศนียภาพทางสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และผู้คนเริ่มพูดถึง ‘ยุคอวกาศ’
ในขณะเดียวกันโลกตกอยู่ใต้สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ที่แข่งขันกันขยายอำนาจ ทางเศรษฐกิจและการเมือง นำไปสู่ความหวาดวิตกต่อลัทธิคอมมิวนิสต์และสงครามนิวเคลียร์
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในชีวิต ด.ญ.จำนงศรี ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 12 ปี ต้องจากบ้านไปใช้ชีวิตในต่างแดน โดยไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านอีกเลย จนกระทั่งอีก 6 ปีต่อมา คุณหญิงได้เล่า ความรู้สึกในวันแรกๆ ที่ไปถึงประเทศอังกฤษไว้ว่า
“...จำได้ว่าหนาวเหน็บ จนรู้สึกว่านิ้วแต่ละนิ้วกำลังค่อยๆ แปรสภาพเป็นแท่งน้ำแข็งพร้อมที่จะ ร่วงหลุดจากมือไปทีละท่อน และยังคงคิดต่อไปว่า เมื่อหล่นลงบนพื้นถนน ที่ฉาบไปด้วยน้ำแข็ง มันคงจะลื่นไถลไปไกลเอาการ นอกจากนิ้วอันเย็นยะเยือกแล้ว ใจก็หนาวเหน็บ เพราะคุณพ่อซึ่งเดินทางไปส่ง จะอยู่ด้วยที่อังกฤษได้เพียง 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเดินทางไปธุระต่อที่อเมริกา...”
อังกฤษจาก ‘ปันส่วน’ ถึง ‘never had it so good’

ด.ญ.จำนงศรี คุณพ่อ และญาติมิตร ในวันเดินทาง กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495
“นักธุรกิจนายธนาคารไทย นาม จุลินทร์ พาลูกสาว นาม จำนงศรี อายุ 12 ปี 1 เดือน 5 วัน ไปถึง กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยเครื่องบิน KLM (มัง?) ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495)
เครื่องบินเป็นเครื่องบินใบพัด 4 เครื่องยนต์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางนานมาก จากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ถึง Heathrow Airport ลอนดอน ต้องแวะจอดเติมน้ำมันถึง 2 ครั้ง เข้าใจว่าที่ Karachi หรือ Calcutta และ ที่ไหนอีกแห่งจำไม่ได้
สัก 2 วันต่อมา คือเช้าวันพุธ ที่ 6 กุมภาพันธ์ ฝรั่งตัวสูง ชื่อ Mr Silver ในโอเวอร์โค๊ตสีดำ (ทำไมยังจำชื่อเขาได้ก็ไม่รู้ เพราะมันตั้ง 70 ปีมาแล้ว) พาไปเดินแถว Westminster บริเวณใกล้ๆ Westminster Abbey จำได้ว่าอากาศอึมครึม ต้นไม้มีแต่กิ่ง ไม่มีใบ อากาศหนาวเย็นเยียบ บาดเข้าถึงกระดูกเลย จมูกเย็น ชาจนเหมือนจะหลุดออกจากหน้า (สมัยนั้นอังกฤษหนาวกว่าสมัยนี้มากๆ โลกร้อนขึ้นมากจริงๆ และเสื้อผ้าสมัยนั้นก็ไม่มีเทคโนโลยี การทำที่จะกันความหนาวได้เหมือนเดี๋ยวนี้)

ชาวลอนดอนอ่านข่าวการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์จอร์จที่ 6
ภาพจาก https://edition.cnn.com/2022/09/16/uk/gallery/king-george-vi-funeral/index.html
จู่ๆ Mr Silver ก็ดูเหมือนจะชะงัก แล้วก็ชี้ให้เราอ่าน flyer สมัยนั้น ตาม newsstand ที่เป็นลักษณะแท่น มีคนนั่งหรือยืนขายหนังสือพิมพ์ตามบาทวิถี จะมีสิ่งที่เรียกว่า flyers คือ กระดาษแผ่นใหญ่ เขียนตัวอักษร ด้วยหมึกดำเส้นใหญ่ยักษ์ ประกาศข่าวสำคัญของวันนั้นๆ...
“บน flyer ที่เขาชี้ให้เด็กหญิงไทยดูนั้น มีข้อความเขียนว่า “THE KING IS DEAD” ด.ญ. จำนงศรี อ่านไม่รู้เรื่อง ก็เงยหน้าหัวเราะกับเขา ตามวิสัยคนไทยในภาวะไม่รู้เรื่อง แล้วก็ต้องตกใจเมื่อเห็นว่าใบหน้าเขาเศร้ามาก เพราะมันเป็นคำประกาศข่าวการเสด็จสวรรคตของ พระเจ้ายอร์จ ที่ 6 (George VI) กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของประชาชนชาวอังกฤษในยุคนั้น

สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ
“ในวันหรือสองวันต่อมา ตามหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ก็จะมีภาพของกษัตริย์องค์ใหม่คือ Queen Elizabeth II พระพักตร์เศร้าหมองฉลองพระองค์สีดำ ประทับในลีมูซีนสีดำ ที่กำลังพาพระองค์จาก
สนามบินมายังพระราชวัง Buckingham…และในวันที่ 6 กุมภาพันธ์เมื่อ 70 ปีมาแล้วนั้น เพลง “God Save the King” ก็เปลี่ยนเป็น “God Save the Queen”
“King George VI สวรรคตอย่างสงบในเวลากลางคืนขณะทรงพระบรรทม ที่พระราชวัง Sandringham พระชันษาเพียง 56 ปี...”

เจ้าหญิงเอลิซาเบธและกษัตริย์จอร์จที่ 6 ณ พระราชวังบัคกิงแฮม ปี 1950
กษัตริย์จอร์จที่ 6 เป็นหนึ่งในกำลังใจสำคัญของอังกฤษห้วงสงคราม ที่ ‘ยืนหยัดลำพัง’ต่อสู้กับนาซีเยอรมัน และเป็นที่มั่นสุดท้ายของยุโรป อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นผู้ชนะสงคราม แต่อังกฤษประสบความเสียหาย อย่างหนัก
ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ยังคงมองเห็นสภาพความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในเมืองต่างๆ และบางจุดยังคงอยู่จนถึงปี 1970 ผู้คนจำนวนมากยังยากลำบาก ขาดแคลนที่อยู่อาศัย และต้องเข้าคิวเพื่อปันส่วนอาหาร จนถึงเดือนกรกฎาคม 1954 จึงสิ้นสุดการปันส่วนอาหารในอังกฤษ
แต่เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1950 แผนการฟื้นฟูยุโรปของสหรัฐฯ ประกอบกับนโยบายภายในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปรวมถึงอังกฤษฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประชากรมีกำลังซื้อ และมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นจุดเริ่มต้นของบริโภคนิยมในยุโรป

โฆษณาความสะดวกสบายจากอาหารสำเร็จรูป ในยุค 1950
ภาพจาก https://www.historic-uk.com/CultureUK/Britaininthe1950s1960s/
สินค้าหลากหลายที่ผลิตขึ้นมาในทศวรรษนี้ ทำชีวิตประจำวันความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น เตาไฟฟ้า ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น ที่ปิ้งขนมปัง เครื่องซักผ้า รวมถึง อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ รวมทั้งมาตรการด้านสินเชื่อที่ช่วยให้สามารถซื้อสินค้าที่ต้องการในระบบผ่อนชำระ
รายได้และเวลาว่างที่มากขึ้น ทำให้ผู้คนเข้าสู่ชีวิตที่ผ่อนคลาย มีกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนและสันทนาการหลากหลาย ตั่งแต่เล่นบิงโกไปจนถึงการเต้นรำหน้าวิทยุกับเพลงฮิต เช่น Rock around the cock ของBill Haley & His Comets จากฝั่งอเมริกัน ในวันหยุดคนส่วนใหญ่นิยมไปพักผ่อนชายทะเล
ด้านกีฬา เริ่มมีการแข่งขันฟุตบอลที่พัฒนาต่อมาจนถึงเวลานี้ส่วนแฟชั่นเปลี่ยนจาก เสื้อผ้ายุคสงครามที่เน้นความประหยัด รูปแบบคล้ายเครื่องแบบทหาร ทรงหลวมๆ และสีทึมทึบ เข้าสู่ยุคนิวลุคที่ฟุ่มเฟือย เน้นรูปร่าง และสีสดใสพาสเทล

ฮาร์โรลด์ แมคมิเลียนกับสุนทรพจน์ปลุกใจชาวอังกฤษถึงชีวิตที่ดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ภาพจาก https://www.dailymail.co.uk/news/article-10647621/Back-1950s
-UK-faces-return-living-standards-not-seen-70-years.html
สหราชอาณาจักรตอนปลายทศวรรษ 1950 โดยรวม จึงมีภาพเช่นในสุนทรพจน์ ในปี 1957ของ ฮาร์โรลด์ แมคมิเลียน นายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ประกาศว่า อังกฤษในเวลานี้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต ‘never had it so good’ หรือพูดได้ว่าเป็นยุครุ่งโรจน์ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาของประเทศ
เริ่มต้นยุคโทรทัศน์

การถ่ายทอดราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953
https://anglotopia.net/british-history/brit-history-ten-most-important-events-of-the-1950s/
การถ่ายทอดสดราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 ส่งผลให้จำนวนโทรทัศน์ ในอังกฤษพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนจำนวนมากซื้อเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อที่จะไม่พลาดราชพิธีนี้ ครั้นถึงปี 1955 เมื่ออังกฤษมีช่อง ITV เพิ่มจากช่อง BBC 'หนึ่งในสามของครัวเรือนอังกฤษมีโทรทัศน์ เมื่อสิ้นทศวรรษ ครัวเรือนอังกฤษร้อยละ 90 มีโทรทัศน์ ณ จุดนี้ จำนวนผู้ชมภาพยนตร์ลดลงอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลกที่โทรทัศน์เข้ามาเป็นทางเลือกในการพักผ่อนหย่อนใจ แทนที่การออกไปชมภาพยนตร์
ชาวอังกฤษยังชอบฟังวิทยุ โดยเฉพาะ สถานี BBC รายการยอดนิยม คือรายการตลก The Goon Show (1952-1960) ต่อมามีรายการทำนองนี้ในโทรทัศน์ด้วย เช่น Till Death Us Do Part นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ยังเป็นสื่อสำคัญด้านข่าวสาร
ผลพวงจากการเติบโต

วิกฤตหมอกควันพิษในลอนดอน ปี 1952 ภาพโดย N T Stobbs, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4094275
ในความรุ่งเรืองและมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ทวีสูงขึ้น ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่เป็นผลพวงจากความรุ่งโรจน์นั้น เช่น มลภาวะ บทบาทของผู้หญิงในสังคมที่เปลี่ยนไป การอพยพเข้ามาของชาวอาณานิคม ฯลฯ
ทศวรรษนี้สหราชอาณาจักรผลิตสินค้าถึงหนึ่งในสี่ของการค้าโลก เป็นผู้นำระดับโลกและทวีปในหลาย อุตสาหกรรม เช่น การต่อเรือ การผลิตถ่านหิน เหล็ก รถยนต์ สิ่งทอ และหลายอุตสาหกรรมเติบโต อย่างรวดเร็ว เช่น อุตสาหกรรมเคมีและกลั่นน้ำมัน ทั้งหมดทำให้อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมลพิษสูงสุด การเผาเชื้อเพลิงถ่านหิน เพื่อให้ความร้อนในที่อยู่อาศัย และสร้างพลังงานในอุตสาหกรรม สร้างมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ก่ออันตรายต่อต่อผู้คนและสิ่งก่อสร้าง เช่น วิกฤตหมอกควันในลอนดอน ปี 1952 คลุมเมืองต่อเนื่องนาน 5 วัน มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน จากโรคหัวใจและโรคปอด นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำเสียและปัญหาภูมิทัศน์อีกด้วย
ความต้องการแรงงาน และโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำให้มีคนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นชาวอาณานิคมเดิม ทั้งนี้หลังสงคราม สถานะของอังกฤษถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ประเทศอาณานิคมพากันแยกตัวเป็นอิสระ จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินปิดฉากด้วยความล้มเหลวในวิกฤตการณ์คลอง
สุเอซ ปี 1956 ส่งผลให้อังกฤษและฝรั่งเศสสูญเสียอิทธิพลในตะวันออกกลาง ต้องคืนคลองสุเอซให้กับอียิปต์
ในขณะเดียวกันสายสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิม ทำให้อังกฤษต้องเปิดรับผู้อพยพจากประเทศอดีตอาณานิคม และประเทศในเครือจักรภพ อังกฤษเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความขัดแย้งซ่อนอยู่ภายใน
เช่น การจราจลที่น็อตติงฮิลล์ ปี 1958 เผยให้เห็นปัญหาการเยียดผิว
นอกจากนี้ ปัญหาอาชญากรรมรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ปลายทศวรรษ 1950 จึงเป็นจุดเริ่มของการเริ่มต้นเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคม ที่ต่อเนื่องไป ใน
ทศวรรษต่อมา เช่น การเรียกร้องสิทธิแรงงาน สิทธิพลเมือง รวมถึงการต่อสู้ เพื่อสิทธิสตรี
แม้เครื่องผ่อนแรงทำให้การจัดการงานบ้านง่ายขึ้นและใช้เวลาน้อยลง แต่หนึ่งในเหตุผลที่ครอบครัว ชนชั้นแรงงานสามารถซื้อข้าวของที่ต้องการได้ ก็เพราะภรรยาออกไปทำงานเช่นเดียวกับสามี ตรงข้ามกับภาพในอุดมคติของยุคนั้น ที่ผู้หญิงถูกคาดหมายให้ทำงานแค่ช่วงสั้นๆ ก่อนแต่งงาน และใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ดูแลลูก สร้างครอบครัวที่อบอุ่น สอดรับกับการขยายตัวของครอบครัว ในช่วงเวลาสุขสงบหลังสงคราม
ค่านิยมนี้ไม่เพียงขัดแย้งกับความจริง แต่ส่งผลต่อคุณค่าในตัวเองของผู้หญิง และผู้หญิงจำนวนมากมีเป้าหมาย ในชีวิตที่ต่างออกไปจากความคาดหมายของสังคม ความขัดแย้งเหล่านี้ เป็นพื้นฐานของขบวนการสิทธิสตรี
อย่างไรก็ตาม การปะทุขึ้นของสงครามเย็น ความหวาดกลัวการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ และความกังวลเรื่องสงครามนิวเคลียร์บดบังทุกความขัดแย้ง ทั้งนี้ใน ปี 1952 อังกฤษเป็นประเทศที่สาม ถัดจากสหรัฐฯและ โซเวียตที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
จุดเริ่มป็อปอาร์ต

Festival of Britain 1951 ภาพโดยPeter Benton, CC BY-SA 2.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3708010
เทศกาลแห่งบริเตน (Festival of Britain) ในปี 1951 เป็นการเฉลิมฉลองการฟื้นตัวจากสงคราม สร้างความเชื่อมั่นใหม่ให้ชาวอังกฤษ และรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ในวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีของ Great Exhibition ที่จัดขึ้นในปี 1851
เทศกาลนี้จัดขึ้นบนพื้นที่ 27 เอเคอร์กลางกรุงลอนดอนซึ่งได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิด
ที่มีเป้าหมายจะการพัฒนาใหม่เป็น The Southbank Centre สำหรับงานแสดงและศิลปะ เป็นศูนย์รวมของสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นของศตวรรษที่ 20 ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ทั้ง Royal Festival Hall, National Theatre และ Hayward Gallery

Richard Hamilton, Just What is It That Makes Today’s Homes So Different, so Appealing?, 1956
ภาพจาก https://smarthistory.org/richard-hamilton-just-what-is-it/
ต่อมาในปี 1956 กลุ่ม Independent Group ซึ่งมีฐานอยู่ในลอนดอน จัดแสดงผลงานที่เป็นต้นธารของ Pop Art ในนิทรรศการ This Is Tomorrow แสดงให้เห็นวิถีชีวิตแบบอเมริกันที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของสาธารณชนชาวอังกฤษ ทั้งในด้านวัฒนธรรมและสินค้าทางวัตถุ เช่น ผลงานของ Richard Hamilton ที่ประกอบด้วยภาพตัดปะจากนิตยสารและโฆษณาเครื่องใช้ในบ้าน พร้อมคำบรรยายภาพว่า 'แค่อะไรที่ทำให้บ้านทุกวันนี้แตกต่างและดึงดูดใจ' เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อความมั่งคั่งและความหลงใหลในสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนมุมมอง ‘never had it so good’ของนักการเมือง
นอกจากนี้ป็อปอาร์ตยังเป็นการตอบรับ ต่อ abstract expressionism ที่มีศูนย์กลางอยู่ในอเมริกา และขยายออกมาถึงยุโรป อังกฤษส่งอิทธิพลป็อปอาร์ตกลับไปยังอเมริกา และศิลปะแนวนี้พัฒนาเติบโต อย่างรวดเร็วในทศวรรษถัดมา ด้วยแนวคิดที่ท้าทายต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคม และความเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยงจากบริโภคนิยม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทศวรรษต่อมา ป็อปอาร์ตเติบโตอย่างรวดเร็วในอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของบริโภคนิยม
เบบี้บูมในอเมริกา
สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ทศวรรษที่ 1950 คือการกลับสู่สภาวะปกติหลังจากสงครามที่บ้าคลั่งหลายปี เศรษฐกิจอเมริกาโตมากกว่าสองเท่าตัว เข้าสู่ยุคทองของทุนนิยมอเมริกัน ประชากรหลายล้านคนเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นชนชั้นกลาง การเมืองมีเสถียรภาพภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี
ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ วีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่สอง
ในขณะเดียวกันการแข่งขันระหว่างค่ายเสรีนิยมและค่ายคอมมิวนิสต์ ในการพัฒนาอาวุธและพิชิตอวกาศ ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อาทิ มีการค้นพบโครงสร้างพื้นฐานของ ดีเอ็นเอในปี 1953 โรคร้ายได้รับการรักษาด้วยวัคซีนเป็นครั้งแรก รวมทั้งโรคหัด และโรคโปลิโอ การปลูกถ่ายอวัยวะกลายเป็นจริงในปี 1950 ดังนั้นชีวิตมนุษย์จึงยืดยาวออกไป
ชาวยุโรปและชาวอเมริกันหลังสงครามต่างเชื่อในความเป็นไปได้ของความก้าวหน้าและการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ท่ามกลางความเชื่อมั่นนี้ ชาวอเมริกัน(รวมถึงที่อื่นๆ ในโลก) มีลูกเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ สานต่อยุค ‘เบบี้บูม’ ที่เริ่มขึ้นในปี 1946 (สิ้นสุดในปี 1964) ในทศวรรษนี้ประชากรของอเมริกาเพิ่มจาก 150 ล้านคน เป็น 178 ล้านคน

ภาพโฆษณาชีวิตชาวอเมริกันทศวรรษ 1950
ภาพจาก https://www.tes.com/teaching-resource/the-1950s-american-dream-12315953
นำไปสู่การขยายตัวของบ้านชานเมือง ที่เหมาะกับการสร้างครอบครัวใหม่ มีห้องนั่งเล่น ห้องนอนเป็นสัดส่วนมากกว่าอพาตเม้นท์ในเมือง อย่างไรก็ตามความรุ่งเรืองนี้ไม่ครอบคลุมในทุกผิวสี และผู้หญิงทุกคนไม่ได้ มีความสุขในบ้านชานเมือง ค่านิยมที่ผลักดันให้ผู้หญิงต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านและลูก เป็นภรรยาและแม่ ไม่ได้เติมเต็มความต้องการของผู้หญิงที่ต้องการสิ่งอื่นๆ ในชีวิต ความขับข้องใจนี้นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ในทศวรรษถัดมา
สำหรับกลุ่มอาฟริกันอเมริกัน แม้การจะต่อสู้เรื่องการเยียดผิวมีมาหลายทศวรรษ แต่ทศวรรษ 1950 การต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติกลายเป็นกระแสหลักในอเมริกา ในเดือนธันวาคม 1955 โรซา พาร์คส์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวผิวสี ถูกจับเนื่องจากไม่ยอมให้ที่นั่งบนรถประจำทางแก่คนผิวขาว นำไปสู่การคว่ำบาตรรถประจำทางในเมืองเป็นเวลา 13 เดือน และยุติลงเมื่อบริษัทรถโดยสารหยุดเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารผิวดำ
เหตุการณ์นี้ ทำให้ ‘การต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรง’ เช่น การคว่ำบาตร เป็นรูปแบบหลักของ การเคลื่อนไหว เพื่อสิทธิพลเมืองในเวลาต่อมา
ทฤษฎีโดมิโนและรายการโทรทัศน์

ตั๋วชมการแสดงในโลกเสรีครั้งแรกของคณะบัลเล่ต์บอลซอย
https://www.roh.org.uk/photos/28125786044
ปี 1956 คณะบัลเล่ต์บอลซอย (The Bolshoi Ballet) ของรัสเซีย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคณะบัลเล่ต์ ที่ดีที่สุดในโลก เปิดการแสดงให้ผู้ชมในโลกเสรีได้ดูเป็นครั้งแรกในลอนดอน นับเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองค่ายการเมืองในช่วงสงครามเย็น
คุณหญิงจำนงศรีเล่าถึงประสบการณ์ ในการเข้าชมบัลเล่ต์บอลซอยในครั้งนั้นไว้ว่า ต้องไปนอนบนบาทวิถีกับเพื่อนฝรั่งสองคนถึง 2 วัน 2 คืน ท่ามกลางความหนาวเยือกและเฉอะแฉะของฝนฤดูใบไม้ร่วง "....เป็นครั้งแรก ที่ Boishoi Ballet ของรัสเซียจะออกมาแสดงให้โลกภายนอกได้ดู ก่อนนั้นรัสเซียปิดตัวเองอยู่หลังม่านเหล็ก (Iron Curtain) ตั๋วหมดเกลี้ยง เราก็เข้าคิวรอตั๋วที่เขาคืนกลับมา...ที่นั่งเลือกไม่ได้ ได้ตามคิว ตั๋วของเราเป็นที่นั่งหลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธกับเจ้าชายฟิลิป เพียงไม่กี่แถว คนคืนตั๋วใบนี้คงเป็นระดับขุนนาง... ดีมั้ยล่ะ นอนข้างถนนแล้วก็นั่งลอยฟ้าในวันเดียวกัน"
นโยบายต่างประเทศที่ผ่อนปรนลงของรัสเซีย สืบเนื่องมาจาก ในวันที่ 5 มีนาคม 1953 โจเซฟ สตาลิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ อันเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียต เสียชีวิตจากอาการเลือดออกในสมอง ทั้งนี้สตาลินก้าวขึ้นสู่อำนาจ ในปี 1924 หลังการเสียชีวิตของเลนินผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย
นิกิตา ครุชชอฟ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แทนสตาลิน และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 1964 นโยบายต่างประเทศของครุชชอฟผ่อนปรนลง เป็นการอยู่ร่วมกันโดยสันติกับนานาประเทศ แต่ทั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบที่ว่าต้องไม่ท้าทายหรือทำลายระบอบสังคมนิยมโซเวียต
ในช่วงเวลานั้นเพิ่งสิ้นสุด สงครามเกาหลี (1950-1953) ที่จบลงด้วยการที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถยึดครองเกาหลีเหนือ สหรัฐจึงพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะปกป้องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อไม่ให้แต่ละประเทศล้มตามกัน "เหมือนโดมิโน" และมุ่งสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกวิถีทาง ทั้งการสร้างพันธมิตรในกลุ่มเสรีนิยมเพื่อปิดล้อมกลุ่มประเทศสังคมนิยม การดำเนินการด้านการทหารและการฑูต รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมเสรีนิยมและชี้ให้เห็นอันตรายของคอมมิวนิสต์
ทั้งหมดส่งผลให้ผู้คนพากันหวาดระแวงกลัวคอมมิวนิสต์ที่รับรู้กันในเวลานั้นว่า “เป็นพวกไร้พระเจ้า เชื่อในระบบการปกครองที่รัฐควบคุมเศรษฐกิจ และวิถีการผลิตที่ทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน” ชาวอเมริกันยุคนั้น กลัวคอมมิวทิ้งระเบิดนิวเคลียร์
ความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์และการส่งเสริมลัทธิปัจเจกชนนิยม รวมถึงอุดมการแบบทุนนิยม ปรากฎให้เห็นในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ สื่อยุคใหม่ที่นำความบันเทิงและข่าวสารส่งถึงบ้าน ในทศวรรษ 1950 ครอบครัวชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งประเทศมีเครื่องรับโทรทัศน์ รับชมรายการจาก 3 สถานี ABC, CBS และ NBC ที่ผลิตรายการมากมายหลากหลาย อาทิ รายการตลก วาไรตี้ ละคร การถ่ายทอดกีฬา และรายการสำหรับเด็ก เช่น กัปตันจิงโจ้, มิกกี้เม้าส์คลับ ที่มีเป้าหมายอยู่ที่เหล่าเบบี้บูม

'หนูน้อยบีเวอร์' รายการดังที่แสดงภาพอุดมคติของชาวอเมริกัน ยุค 1950s
ภาพจาก https://www.imdb.com/title/tt0050032/mediaviewer/rm2823379456/?ref_=tt_md_1
หนึ่งในรายการยอดนิยมคือ รายการเพื่อครอบครัว อาทิ ซีรีย์ I Love Lucy, The Honeymooners, The Twilight Zone ฯลฯ ซึ่งรายการกลุ่มนี้ จำนวนหนึ่งมุ่งส่งเสริมครอบครัวและปัจเจกชนนิยม ซึ่งตรงข้ามกับอุดมการคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีครอบครัวและไม่มีปัจเจกชน ซีรีย์ตลกหลายเรื่องนำเสนอภาพชีวิต ครอบครัวแบบอุดมคติ ในบ้านชานเมืองหลายห้องนอน มีพ่อเป็นพนักงานออฟฟิศ ที่เฉลียวฉลาด รายได้ดี และแม่ที่เป็นแม่บ้านผู้อ่อนหวาน มีความสุข ส่วนลูกๆ ก็เป็นเด็กตามอุดมคติที่เด็กอเมริกันควรจะเป็น ซุกซนบ้างแต่ไม่ดื้อรั้นจนเป็นอันตราย อย่างเช่น รายการ หนูน้อยบีเวอร์/ Leave It to Beaver และ Father Knows Best เป็นต้น
นอกจากนี้ รายการอีกประเภทที่เป็นที่นิยมและสะท้อนความรู้สึกของชาวอเมริกันในเวลานั้น คือ ซีรีย์ผจญภัยในแดนตะวันตกซึ่งเน้นความเป็นเอกภาพในการเผชิญกับอันตราย และความสามารถในการอยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรก็ได้รับความนิยมเช่นกัน
โดยสรุปในช่วงเวลานี้เอง ที่ปัจเจกชนนิยม เสรีนิยม ตลอดจนความผูกพันใกล้ชิดภายในครอบครัว(family togetherness) ที่ได้รับการส่งเสริม เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ กลายเป็นค่านิยมที่ได้รับการนิยามใหม่ว่า แสดงถึงความเป็น ‘อเมริกัน’ ที่ส่ผลให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในเวลานั้นมุ่งแสวงหาสถานภาพทางสังคม และวัดความสำเร็จตาม ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ ด้วยขนาดของบ้าน รถยนตร์ รวมทั้งเครื่องอำนวย ความสะดวกต่างๆ
ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการรับรู้ปัญหาต่างๆ ในสังคม เช่น การแบ่งสีผิว ความยากจน สิทธิสตรี สงคราม ฯลฯ บางครั้งทศวรรษนี้ จึงถูกเรียกว่า ‘ทศวรรษพลาสติก’ ที่คนส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมอยู่ในภาพลักษณ์ของชีวิตที่สุขสมบูรณ์
วรรณกรรมต้าน

ปกฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ The Catcher in the Rye (1951)
ออกแบบโดย Michael Mitchell
ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=80875378
ในส่วนของวรรณกรรมมีความหลากหลายมากกว่าสื่ออื่นๆ ส่วนหนึ่งยังมีร่องรอยของสงครามปรากฎให้เห็น รวมถึงวรรณกรรมอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด Lord of the Rings (1954–1955) ของ J.R.R. Tolkien ที่ไม่เพียงขายดีตลอดกาล ยังได้รับการยกย่องให้เป็น วรรณกรรมคลาสสิกที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อวรรณกรรมแนวแฟนตาซีตลอดมา อีกเล่มสำคัญคือ บันทึกของแอน แฟรงค์ /Anne Frank, The Diary of a Young Girl (ฉบับแปลภาษาอังกฤษ, 1952) นอกจากนี้ในฝั่งอังกฤษ ยังมีกลุ่มวรรณกรรมที่พูดถึงผลกระทบ ของวัฒนธรรมบริโภคนิยมจากมุมมองของ ชนชั้นแรงงาน เช่น Saturday Night and Sunday Morning (1958) ของ Alan Sillitoe Look Back in Anger(1956) ของ John Osborne ส่วนกลุ่มวรรณกรรมเพื่อความบันเทิง มีอาทิ หนังสือชุด เจมส์ บอนด์ ของเ เอียน เฟลมมิง
ทางฝั่งอเมริกามีหลากหลายวรรณกรรมสะท้อนยุคสมัย ที่มีทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความกังวลในภัยคอมมิวนิสต์ รัฐอำนาจนิยม ความขัดแย้งของกลุ่มคนที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นอายุ ผิวสี เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฯลฯ โดยนักเขียนทั้งที่มีชื่อเสียงอยู่เดิมและนักเขียนใหม่ อาทิ สองนักเขียนรางวัลโนเบล เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ กับ ผลงานรางวัลพูลิตเซอร์ The Old Man and the Sea (1952) และ จอห์น สไตน์แบ็ค East of Eden (1952) หนังสือต่อต้านอำนาจนิยมและสะท้อนให้เห็น ความหวาดกลัวและการใช้อำนาจควบคุมของรัฐบาล ของ เรย์ แบรดบิวรี, Fahrenheit 451 (1953) ชุดนวนิยายวิทยาศาสตร์ของไอแซค อาซิมอฟ และหนังสือที่เป็นหมุดหมายสำคัญของ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนผิวสี Invisible Man (1952) ของ ราล์ฟ เอลลิสัน
วรรณกรรมเยาวชน ที่ครองใจผู้อ่านจนทุกวันนี้ ของ อี.บี. ไวท์ Charlotte’s Web/แมงมุมเพื่อนรัก (1952) เรื่องราวของแมงมุมที่ฉลาดและเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลก มีแนวคิด ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตามธรรมชาติ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการพูดถึงชีวิตและความตายในแบบที่ประทับใจคนทุกวัย
นวนิยายที่เป็นที่ถกเถียงมากที่สุด และยอดขายสูงสุดในทศวรรษนี้ ถึงกับมีคำพูดว่า ไม่มีใครที่ไม่ได้อ่านเรื่องนี้ Lolita (1955) ของนักเขียนอเมริกัน-รัสเซีย วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ ที่ว่าด้วยความลุ่มหลงอันทำลายชีวิต และเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลให้ได้มีชีวิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อลวง
หนังสือที่เป็นเหมือนคัมภีร์คนหนุ่มสาวในทศวรรษต่อๆ มา ของเจ. ดี. ชาลินเจอร์ The Catcher in the Rye (1951) เรื่องของโฮลเดน คอลฟิลด์ เด็กหนุ่มอายุ 16 ที่ชิงหนีจากโรงเรียนประจำก่อนถูกไล่ออก เขาท่องไป ในนิวยอร์ค เพื่อค้นหาความจริงและต่อสู้กับโลกลวงของผู้ใหญ่ ยอดขายของหนังสือเล่มนี้ สะท้อนความรู้สึกร่วมของคนหนุ่มสาวต่อผู้ใหญ่ ทำนองเดียวกับเสียงตอบรับต่อ ‘ร็อคแอนโรล’
ทรานซิสเตอร์และร็อคแอนด์โรล
ท่ามกลางฉากหลังที่ขัดแย้งกัน ระหว่างความปกติสุขของชีวิตที่มั่นคงและความหวาดกลัวอันมืดมิด ‘ร็อกแอนด์โรล’ ถือกำเนิดขึ้น และเริ่มต้นเขย่าโลกด้วย Rock around the cock ของ Bill Haley & His Comets

Bill Haley & His Comets
ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5383170
เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Blackboard Jungle เล่าถึงเหล่าวัยรุ่นขบถหลายเชื้อชาติ และครูคนใหม่ที่ต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงพวกเขาให้อยู่ในร่องรอย ด้วยเนื้อหาของหนังและจังหวะที่แปลกใหม่ เร้าใจของเพลง ทำให้คนทั้งโลกได้รู้จักเพลงนี้ พร้อมกับแนวดนตรีใหม่ ‘ร็อคแอนด์โรล’
จากนั้น ตามมาด้วยราชาเพลงร็อคแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ และบรรดาเจ้าชายอีกหลายสิบคน เช่น ชัค เบอร์รี ลิตเติล ริชาร์ด เจอร์รี ลี ลูอิส ฯลฯ เพลงของพวกเขาดังจากวิทยุติดรถยนต์หน้าร้านอาหารแบบไดร์ฟอินทั่วอเมริกา และแผ่ขยายอิทธิพลออกไปทั่วทุกทวีป
นับเป็นครั้งแรกที่ดนตรีได้รับการสร้างสรรค์ออกมา โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มวัยรุ่น และอาศัยวิทยุเป็นสื่อสำคัญ นอกจากครองใจวันรุ่นด้วยจังหวะและความเป็นสัญญะของการต่อต้านอำนาจนิยม ดนตรีร็อคยังเป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีแนวคันทรีของศิลปินผิวขาว กับเพลงบลูของนักดนตรีผิวดำ เป็นการเริ่มต้นทลายกำแพงผิวสีในวัฒนธรรมสมัยนิยม เมื่อเยาวชนผิวขาวติดตามนักดนตรีแอฟริกันอเมริกัน ชัค เบอร์รี และ ลิตเติ้ล ริชาร์ด
แม้บรรดาผู้ใหญ่และพ่อแม่ ไม่ค่อยพึงใจกับเสียงดังหนวกหูของร็อคแอนด์โรล ที่มีท่าทีส่งเสริมการต่อต้านของวัยรุ่นและการแสดงออกทางเพศ แต่กว่าร้อยละ 68 ของเพลงที่เล่นทางวิทยุในสหรัฐฯ ปี 1956 เป็นร็อคแอนด์โรล
ทั้งนี้ร็อคแอนด์โรลคงแพร่กระจายไปได้ช้าและยากลำบากกว่านี้มาก ถ้าในจังหวะนั้นไม่มี ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ซึ่งเกิดจากความสำเร็จในการคิดค้น ‘ทรานซิสเตอร์’ ในปี 1954 ทำให้วิทยุขนาดเล็กลง พกพาได้ แถมยังราคาถูก ให้อิสระกับวัยรุ่นในการเลือกความบันเทิงที่ตัวเองชอบ ในทุกๆ ที่ โดยไม่ต้องนั่งติดอยู่หน้าทีวีร่วมกับผู้ใหญ่ และทรานซิสเตอร์ทำให้วิทยุติดรถยนต์ ที่เคยมีราคาแพงกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์
ร็อคแอนโรลข้ามฟากมาถึงอังกฤษ และเป็นที่นิยมในกลุ่มหนุ่มสาวที่ต้องการความสนุกหลังสงคราม ในขณะที่ วัยรุ่นส่วนใหญ่ยังค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขา และศิลปินแนวอื่น ก็ยังเป็นที่นิยม เช่น แฟรงค์ ซิเนตรา (แจ๊ซ) คลิฟฟ์ ริชาร์ด (ป็อป) ที่มีเพลงติดอันเช่นกัน
ในช่วงแรกผู้ใหญ่พากันต่อต้านร็อคแอนโรล และคิดว่าคงเป็นกระแสชั่วคราว แต่แล้วปราการดูเหมือนพังทลายลงพร้อมกับที่ “Rock Around the Clock” เพลงติดชาร์ตอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาข้ามแอตแลนติก มาขึ้นถึงอันดับ 6 ในชาร์ตของอังกฤษ และยิ่งยากจะหยุดความคลั่งไคล้ใหม่ของคนหนุ่มสาว เมื่อเข้าสู่ยุค เอลวิส เพรสลีย์
ปลายทศวรรษที่ 50 อิทธิพลของร็อคแอนด์โรลเข้าครอบคลุมอังกฤษ เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก ผ่านทางคลื่นวิทยุและทีวี รวมถึงภาพยนตร์ที่เป็นกลไกหลักในการเผยแผ่วัฒนธรรมป็อปแบบอเมริกัน (American pop culture) ที่สำคัญ ‘ร็อคแอนด์โรล’ ได้ไม่เป็นแค่เพียงแนวดนตรี ยังกำหนดไลฟ์สไตล์ เสื้อผ้า ทรงผม ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการพูดอีกด้วย
ภาพยนตร์ในยุคโทรทัศน์
ในยุคที่ผู้คนหาความบันเทิงได้ที่บ้าน ภาพยนตร์จำนวนมากถูกผลิตออกมาต่อสู้กับโทรทัศน์ มีการใช้
เทคนิคใหม่ๆ เช่น ระบบจอกว้าง CinemaScope ระบบ 3 มิติ เพื่อดึงดูดผู้ชมให้ออกจากบ้าน รวมถึงการสร้างภาพยนตร์ที่มีดาราดังๆ รับประกันรายได้ เช่น จอห์น เวยน์ เจมส์ สจ๊วต ชาร์ลตัน เฮสตัน มาร์ลอน แบรนโด เกรซ เคลลี่ ดีน มาร์ติน เอลิซาเบธ เทเลอร์ และมาริลีน มอนโร ทศวรรษ 1950 จึงนับเป็นทั้งช่วงเวลาที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดสำหรับวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด
โรงภาพยนตร์แบบไดรฟ์อินกำลังเฟื่องฟู มีจำนวนสูงถึงกว่า 4,000 แห่ง ตอบสนองต่อวัฒนธรรมรถยนต์ ของชาวอเมริกา อย่างไรก็ตาม สตูดิโอฮอลลีวูดรายใหญ่เผชิญกับวิกฤตผลกำไร เนื่องจากจำนวนผู้เข้าชมลดลง ต้องหารายได้โดยการเสนอขายหนังเก่าให้กับสถานีโทรทัศน์
The Robe เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเสนอในระบบ CinemaScope ซึ่งเป็นระบบจอกว้าง และต่อมากลายเป็นมาตรฐานจนถึงปัจจุบัน ความสำเร็จทางรายได้ ทำให้มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ต่อเนื่อง ออกมาตลอดทศวรรษ อาทิ The Ten Commandments (1956) Ben-Hur (1959) เป็นต้น
แม้เป็นยุคของทีวี แต่ภาพรวมในระดับโลกภาพยนตร์เป็นที่นิยมมากขึ้น ทศวรรษนี้เป็นยุคแจ้งเกิดของผู้กำกับ และนักแสดงระดับตำนานจำนวนมาก หลายคนจับคู่กัน ส่งผลให้มีภาพยนตร์หลากประเภทที่ได้รับการยกย่อง ให้เป็นหนังคลาสสิค ในขณะที่มีเทศกาลภาพยนตร์เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เปิดให้โลกได้รู้จักกับหนังจากที่อื่นๆ นอกฮอลลีวูด นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการแสดงใหม่ไปจนถึงวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ ในโลกภาพยนตร์
คู่ผู้กำกับและนักแสดงกับผลงานที่โดดเด่นในทศวรรษนี้มี อาทิ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก กับ เจมส์ สจ๊วด แกรี คูเปอร์ และเกรซ เคลลี ใน Stranger on a Train (1951), Rear Window (1954), North by Northwest (1959), Vertigo (1958) อิเลีย คาซานกับมาร์ลอน แบรนโด ใน A Streetcar Named Desire (1951)
จากบทละครของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ และ On the Waterfront (1954) รูปแบบใหม่ในการแสดง ที่เป็นธรรมชาติของ มาร์ลอน แบรนโด ส่งอิทธิพลต่อนักแสดงในยุคต่อมา เช่น เจมส์ ดีน, อัล ปาชิโน และ โรเบิร์ต เดอ นีโร นอกจากนี้ยังมีคู่หนังคาวบอย จอห์น ฟอร์ด และจอห์น เวย์ The Searchers (1956)
ในขณะที่มีหนังนอกกระแสจากยุโรปที่ส่งผลต่อพัฒนาการในการสร้างภาพยนตร์ อาทิ The Seventh Seal (1957) ของผู้กำกับชาวสวีเดน อิงมา เบิร์กแมน เรื่องของอัศวินที่ต้องเผชิญหน้ากับตัวตนของความตาย การใชัสัญลักษณ์ในเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อมาอีกหลายทศวรรษ รวมถึง The 400 Blows (1959) ของ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ฟรังซัวร์ ทรุฟโฟต์ เรื่องราวของเด็กชายชาวฝรั่งเศสที่กลายเป็นหัวขโมย
หนังแนวสัจจนิยมสะท้อนปัญหาในสังคมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง อาทิ Paths of Glory (1957) เรื่องราวการต่อสู้กับอำนาจในวงการทหาร ของ สแตนลีย์ คูบริก High Noon (1952) ของ Fred Zinnemann หนังคาวบอยรูปแบบใหม่ ที่เวลาในภาพยนตร์เกือบเท่ากับเวลาจริง และหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ เดวิด ลีน ผู้กำกับชาวอังกฤษ The Bridge on The River Kwai (1957) เรื่องราวการสร้างทางรถไฟสายมรณะในประเทศไทย ที่กวาดรางวัลออสการ์ ถึง 7 รางวัล รวมทั้งรางวัลผู้กำกับภายนตร์ยอดเยี่ยม

Singin' In The Rain (1952)
ภาพจาก https://www.imdb.com/title/tt0045152/mediaviewer/rm3614875137?ref_=ttmi_mi_all_sf_6
ทางด้านภาพยนตร์เพื่อความบันเทิอง Singin' In The Rain (1952) ของ สแตนลีย์ โดเนน หนังเพลงคลาสสิค ที่ฉากเต้นรำกลางสายฝนเป็นหนึ่งในฉากที่เป็นที่จดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์
Some Like It Hot (1959) หนังตลกบทสนทนาคมคายของ บิลลี่ ไวล์เดอร์ ทั้งยังเป็นหนังที่ดีที่สุดในชีวิตการแสดงของ มาริลีน มอนโร ส่วน วอลต์ ดิสนีย์ ได้ Cinderella (1950) ช่วยให้ได้ฟื้นตัวจากการขาดทุน และเป็นแม่แบบของแอนิเมชันคลาสสิกต่อเนื่องมาอีกหลายเรื่อง
เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ทำให้โลกได้รู้จัก อากิระ คุโรซาว่า ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ที่หลังจากคว้ารางวัลสิงโตทองคำ และรางวัลออสการ์กิตติมศักดิ์ จาก เรื่อง Rashomon(1950) ก็สร้างชื่อเสียงให้กับวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นกับผลงานที่โดดเด่นในทศวรรษนี้อีก คือ Ikiru (1952), Seven Samurai (1954), Throne of Blood (1957) และ The Hidden Fortress (1958)
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเปิดฉากการเป็นเจ้าแห่งหนังสัตว์ประหลาด เช่น หนังชุด ก็อตซิลล่า อันเป็นภาพลักษณ์ ความโกรธแค้นต่อการใช้อาวุธนิวเคลียร์และก็อตซิลล่ากลายเป็นหนึ่งในคาเรกเตอร์วัฒนธรรมป็อปที่เป็นที่จดจำมากทีสุด
ที่สำคัญยุคนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำหนังวัยรุ่น ที่เป็นกลุ่มผู้ชมที่ยังเหนียวแน่นกับโรงภาพยนเริ่มมีการสร้างภาพยนตร์ที่มีกลุ่มวัยรุ่นเป็นเป้าหมายสำคัญ เช่น หนังสยองขวัญ ตลอดจนการนำนักร้องที่เป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นมาแสดงภาพยนตร์ เช่น เอลวิส เพรสลีย์ ใน love Me Tender (1956) ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วโลก และภาพยนตร์ที่ว่าด้วยกลุ่มวัยรุ่นต่อต้านสังคม Rebel Without a Cause (1955) และที่ส่งให้ เจมส์ ดีน กลายเป็นฮีโร่ของวัยรุ่นทั่วโลก แม้เขาเสียชีวิตไปแล้วจากอุบัติเหตุรถยนต์ในปีเดียวกันนี้

เจมส์ ดีน ใน Rebel Without a Cause
ภาพของ Warner Bros. https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=30025290

เอลวิส เพรสลีย์ ใน love Me Tender (1956)
ภาพจาก https://www.imdb.com/title/tt0049452/mediaviewer/rm1418827776/
หนังฮอลลีวูดจึงเป็นด่านหน้าสำคัญที่นำพาวัฒนธรรมอเมริกาออกไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น โคคา โคล่า แฮมเบอร์เกอร์ หรือ ร็อคแอนโรล ที่มาพร้อมกับแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อันเป็นที่มาของยุค ‘โก๋หลังวัง’ ในเมืองไทย
การเมืองไทยใต้เงาอเมริกา
หลังรัฐประหารปี 1947 (พ.ศ.2490) และจอมพล ป.พิบูลสงครามก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 1948 (พ.ศ.2491) ครั้งนี้จอมพล ป. ครองอำนาจยาวนานเกือบสิบปี (1947-1957 /พ.ศ.2491-2500) เป็นช่วงเวลาที่ไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลานั้นก็เข้าสู่สมัยยาวนานรวม 8 ปี ของประธานาธิบดี ดไวท์ ไฮเซนฮาวร์ (1952-1959 /พ.ศ. 2495-2502) อดีตนายพลทหารในสงครามโลก เขาเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันในยุคต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
การต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างแข็งกร้าวและเข้มข้น ด้วยนโยบายปิดล้อมเพื่อสกัดเส้นสายโยงใยของคอมมิวนิสต์ ที่ทำให้ประเทศที่อยู่ถัดไปเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ตามความเชื่อใน ‘ทฤษฎีโดมิโน’ สหรัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังฝรั่งเศสไม่สามารถเอาชนะฝ่าย
เวียตมินห์ ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ซึ่งเปิดฉากโจมตีเดียนเบียนฟู ขุมกำลังที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในอินโดจีน อย่างดุเดือด จนฝรั่งเศสต้องยอมจำนนในวันที่ 8 พฤษภาคม 1954 (พ.ศ.2497) และสูญสิ้นอิทธิพลในอินโดจีน
นำไปสู่การเจรจาตามสนธิสัญญาเจนีวา แบ่งเวียดนามออกเป็นสองประเทศที่เส้นขนานที่ 17 โดย ส่วนเหนืออยู่ภายใต้การปกครองระบบสังคมนิยมของโฮจิมินห์ ส่วนทางใต้อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งในเวลาต่อมาฝรั่งเศสยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในเวียดนามใต้ นำไปสู่สงครามเวียดนามใน
ท้ายที่สุด นอกจากนี้ภายใต้สนธิสัญญาเดียวกันฝรั่งเศสต้องให้เอกราชกับลาวในปี 1954 ส่วนกัมพูชาได้รับ เอกราชในปี 1955
เพื่อป้องกันแรงโดมิโนจากเวียตนาม ในวันที่ 8 กันยายน 1954 (พ.ศ. 2497) สหรัฐฯก่อตั้ง องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ :ส.ป.อ. (Southeast Asia Collective Defense Treaty Organization : SEATO) และไทยเป็นหนึ่งประเทศสมาชิก ร่วมกับฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ องค์กรนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการคุมคามของคอมมิวนิสต์ ในภูมิภาค และมีพื้นฐานทางกฎหมายที่อนุญาตให้สหรัฐฯ สามารถเข้ามาตั้งกองกําลังในประเทศสมาชิกได้
ในเวลานั้นรัฐบาลทหารของจอมพล ป. ที่มาจากการทำรัฐประหาร ต้องการการสนับสนุนจากสหรัฐ ในขณะเดียวกันชนชั้นนำไทย ก็วิตกกังวลกับภัยคอมมิวนิสต์ เห็นว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะช่วยสร้าง ความมั่นคงและป้องกัน ไม่ให้ไทยกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์
แม้จะทำการกวาดล้างผู้เห็นต่างไปจำนวนมากในคราวรัฐประหารเงียบและกบฎสันติภาพ แต่ภายในคณะ รัฐประหารเองก็ไม่ได้มีเอกภาพ แต่แบ่งออกเป็นสามเส้า โดยจอมพล ป. เป็นตัวกลางระหว่างผู้นำรัฐประหาร ที่แบ่งออกเป็นสองค่าย คือ กลุ่มซอยราชครู ของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลผิน ชุณหวัณ ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของ จอมพล ป. กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ท. ถนอม กิติขจร และ พล.ท.ประภาส จารุเสถียร
ภายใต้การสนับสนับของสหรัฐ จอมพล ป.พยายามคานอำนาจกับกองทัพบกของกลุ่มสี่เสาเทเวศน์ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ตำรวจ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การซีไอเอ สหรัฐ ส่งผลให้กรมตำรวจในยุคของพล.ต.อ. เผ่า มีสมรรถภาพเกือบเท่าเทียมกองทัพบก และมีกำลังพลเพิ่มขึ้น จนเรียกได้ว่าในยุคนั้น ไทยเป็น ‘รัฐตำรวจ’ หรือที่เรียกกันว่า "ยุคอัศวิน" อันเป็นที่มาของการสร้างอิทธิพลมืดและการสังหารศัตรูทางการเมือง รวมถึงการเลือกตั้งที่ "สกปรกที่สุด" ในปี พ.ศ.2500
ทั้งนี้ ในปี 1955 (พ.ศ.2498) หลังไปเยือนสหรัฐ จอมพลป. ซึ่งเริ่มเสียดุลย์อำนาจหลังจอมพลสฤษดิ์ ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกแทน จอมพลผิณ ชุณหวัณ ในปี 1954 (พ.ศ.2497) หันมาเริ่มนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตย โดยเปิดให้มีการตั้งพรรคการเมืองและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2500 พร้อมกันนั้นรัฐบาลเตรียมจัดงานฉลองครั้งยิ่งใหญ่ในวาระ 25 พุทธศตวรรษ ตอบโต้ข่าวลือสืบเนื่องจากความเชื่อว่า พุทธศาสนาจะเรียวลง และถึงกาลสิ้นสุดเมื่อถึงพุทธศักราช 5000 โดยนับจากกึ่งพุทธกาล คือ ปี พ.ศ.2500 จะเริ่มต้นยุคเสื่อมถอย ความเชื่อนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเกิดเหตุร้ายต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะภัยคอมมิวนิสต์ที่จะมาทำลายพุทธศาสนา
งานฉลองมีการสร้างพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ถึง 4.85 ล้านองค์ เพื่อขายให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม พระเครื่องรุ่นนี้ ไม่ประสบความสำเร็จนัก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะผู้เป็นประธานในการสร้างคือ พล.ต.อ.เผ่า กำลังถูกสื่อวิพากษ์ วิจารณ์อย่างหนัก เรื่องการสร้างรัฐตำรวจ ทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งการค้าของเถื่อนและฝิ่น
ดังนั้นหลังการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริต แม้ จอมพล ป. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ แต่ในรัฐสภา รัฐบาลถูกโจมตีจากฝ่ายค้านอย่างหนัก ทั้งเรื่อง ผลงานการเร่งสร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปาให้ครบทุกจังหวัดไม่คืบหน้า ในขณะที่ภาคอีสานประสบ ภาวะภัยแล้ง ประเด็นความขัดแย้งด้านผลประโยชน์จากป่าไม้ในพื้นที่สร้างเขื่อนภูมิพล รวมทั้งเรื่องการค้าฝิ่น ของ เผ่า ศรียานนท์ เป็นผลให้รัฐบาลหมดความชอบธรรม
ในเวลาเดียวกันจอมพล สฤษดิ์ และกลุ่มสี่เสาเทเวศน์ ที่ลาออกจากการร่วมรัฐบาล เป็นฝ่ายได้รับคะแนน นิยมมากขึ้น จากการสั่งไม่ให้ทหารทำร้ายประชาชนที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้ง ออกมาเดินขบวนขับไล่ จอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า ช่วงเวลานี้เองที่ขบวนการนักศึกษาเริ่มก่อตัวขึ้น
วันที่ 16 กันยายน 1957 (พ.ศ.2500) จอมพล สฤษดิ์ ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพล ป. และแต่งตั้ง นายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี การเมืองสามเส้าสลายไป ส่วน พลตำรวจเอก เผ่าและ จอมพล ป. ลี้ภัยไปต่างประเทศ จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ชนชั้นกลาง
นอกจากความช่วยเหลือด้านการทหาร สหรัฐยังให้ความช่วยเหลือไทยในฐานะพันธมิตร ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และอื่นๆ อาทิ การพัฒนาการเกษตร การพัฒนาชนบท สาธารณสุข การก่อสร้างเส้นทางคมนาคม ขนส่ง เริ่มต้นจากการสร้างถนนมิตรภาพ (1955-1958/พ.ศ. 2498-2501) รวมถึงสนามบิน และท่าเรือ ด้านการศึกษา โดยสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ มีส่วนสนับสนุนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค การฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษา การให้ทุนการศึกษาและฝึกอบรม เป็นต้น
ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ ส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ทางด้านรัฐบาล จอมพล ป. ได้นำเศรษฐกิจแบบชาตินิยมมาใช้ใหม่ ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายมาตรการ รวมทั้งการยกเลิก 'รถลาก' ที่บางครั้งเรียกว่า 'รถเจ็ก' เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพรถลากส่วนใหญ่เป็นกุลีจีน สนับสนุนให้ใช้รถแท็กซี่ซึ่งเป็นอาชีพของคนไทยและมีความปลอดภัยมากกว่า นอกจากนี้รถลากยังเป็นปัญหาเมื่อท้องถนนมีรถยนต์มากขึ้น รถลากซึ่งช้ากว่าถูกมองว่าเกะกะขวางถนน เกิดอุบัติเหตุบ่อย รัฐบาลจึงประกาศให้งดการจดทะเบียนรถลากเพิ่มและงดต่ออายุใบอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 นับเป็นการสิ้นสุดรถลากในกรุงเทพฯ

รถลากหน้าวัดโพธิ์
ภาพจาก https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=oley&month=06-2019&date=25&group=79&gblog=114
เศรษฐกิจในทศวรรษนี้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เอกชนก็ได้ลงทุนในกิจการต่างๆ อย่างกว้างขวาง นอกไปจากที่รัฐลงทุน ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ ตามนโยยายชาตินิยม ส่วนทางด้านการเกษตรกรรม เกษตรกรก็เริ่มเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อขาย และเกี่ยวข้องกับระบบตลาดมากขึ้น
เศรษฐกิจที่ขยายตัวส่งผลให้เกิดคนกลุ่มใหม่ คือ ‘คนชั้นกลาง’ ที่มีฐานการผลิตอยู่ภาคบริการและการพาณิชย์ ส่วนใหญ่จึงต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าและบริการ อย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลจอมพล ป.ยังอยู่ภายใต้กรอบนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยรัฐ การใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจและการแทรกแซงธุรกิจเอกชน
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป. เกิดกระแสต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจ ของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง รวมทั้งกระแสเรียกร้องให้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นพลังหนึ่งที่ทำให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สูญเสียความชอบธรรม จนนำมาซึ่งการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ดังกล่าวข้างต้น
นอกจากนี้ทศวรรษนี้ ยังเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม จากเดิมที่มีโลกเก่าคือ อังกฤษเป็นศูนย์กลาง เข้าสู่โลกใหม่ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง โดยชนชั้นกลางเป็นกลุ่มแรกๆ ที่รับเอาวัฒนธรรมประชานิยมแบบอเมริกา (American Pop Culture) ทั้งในส่วนของวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจ และอุดมการ ค่านิยม ทัศนคติต่างๆ ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ ที่ส่งผ่านทางสินค้าจากสหรัฐ ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าวัฒนธรรม
อีกทั้งในยุคสงครามเย็น สหรัฐฯเข้ามาจัดตั้ง สำนักข่าวสารอเมริกัน ที่เรียกกันว่า ‘ยูซิส’ (United States Information Service – USIS) เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ (United State Information Agency -USIA) ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ของสหรัฐฯและโลกเสรี ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ นิตยสารเสรีภาพ โปสเตอร์ แผ่นปลิว แผ่นพับ หนังสือ รายการวิทยุ ภาพยนตร์ ฯลฯ รวมถึงทำหน้าที่ ในการควบคุมการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนอุดมการเสรีนิยม ต่อสู้กับข้อมูลของฝ่ายคอมมิวนิสต์
การทำงานขององค์กรนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการสร้าง ‘ความเป็นอเมริกัน
(Americanization)’ ในสังคมไทย ที่เข้ามามีอิทธิพลแทนที่แนวคิดแบบ ‘วิคตอเรีย (Victorianization)’ ของอังกฤษ
กระแสธารวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้ เป็นผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน อาทิ ชนชั้นสูงที่มองว่า คนมีฐานะรุ่นใหม่ๆ ขาดความเป็น ‘ผู้ดี’ หรือ กลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบดนตรีร็อคแอนด์โรล การแต่งกาย รวมถึง พฤติกรรมของวัยรุ่น รวมถึงมุมมองที่เห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกทำลายความเป็นไทย ตลอดจนเห็นว่า หนุ่มสาวยุคใหม่ไม่วางตัวในกรอบในเหมาะสม ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีมุมมองว่า ผู้ใหญ่ล้าสมัย ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก
ยุคแรกของวัยรุ่น ‘เห่อเอลวิส ฮิตเจมส์ ดีน’

การแต่งกาย สร้อยห้อยภาพเจมส์ ดีน และลีลาท่าทางของแก๊งวัยรุ่น
ใน '2499 อันธพาลครองเมือง' ภาพยนตร์ของนนทรีย์ นิมิตรบุตร
ภาพจาก https://thestandard.co/dang-bireleys-and-young-gangsters/
ภาพยนตร์เรื่อง Love Me Tender ซึ่งเข้ามาฉายในปี 2500 จุดกระแสความนิยมเอลวิสในเมืองไทย
มีเวทีประกวดการแสดงเลียนแบบราชาร็อคแอนด์โรลจัดขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาพยนตร์ของเจมส์ ดีน ที่ส่งเขาขึ้นเป็นไอดอลและมีการจัดงานรำลึกถึงการจากไปของเขาทุกปี วัฒนธรรมอเมริกันที่หลั่งไหลเข้ามากับสินค้า ดนตรี และภาพยนตร์ แผ่อิทธิพลในกลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาวในพระนครอย่างรวดเร็ว ขยายออกไปกลายเป็นค่านิยมของวัยรุ่นไทย ในทศวรรษนั้นและต่อมา
การรับวัฒนธรรมอเมริกัน แสดงออกทั้งในด้านของการแต่งกายและพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่น ที่ ไว้ทรงผมเหมือนกับดาราฝรั่งโดยเฉพาะเจมส์ ดีนและเอลวิส ฟังเพลงร็อคแอนด์โรลจากวิทยุทรานซิสเตอร์ ที่เป็นที่นิยมจนกระทั่ง "ธานินทร์วิทยุ" ร้านขายวิทยุข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เติบโตและขยับขยายกิจการขึ้นไปเป็นผู้ประกอบวิทยุออกจำหน่ายเอง ภายใต้ยี่ห้อ "ซิลเวอร์" เมื่อปี 2499 ซึ่งก็ขายดิบขายดีและต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ธานินทร์" วิทยุที่ครองใจคนไทย
บรรเจิด กฤษณายุธ เจ้าของฉายา ปุ๊ กรุงเกษม เล่าเรื่องราวชีวิตในจังหวะร็อคตัวเองและวัยรุ่นไทยยุค พ.ศ. 2500 ในหนังสือชื่อ เดินอย่างปุ๊ สรุปความได้ว่า สมัยนั้นที่สิงสู่ของกลุ่มวัยรุ่นมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ ๆ คือ ‘ตลาด 13 ห้าง บางลำพู’ กับย่าน ‘หลังวังบูรพา’ โดยย่าน 13 ห้างเป็นแหล่งรวมแฟชั่น เสื้อผ้าทันสมัย ส่วนย่านหลังวังเป็นแหล่งรวมความบันเทิง โรงหนัง ไนท์คลับ บาร์ รวมถึง 'ตู้เพลง' ซึ่งเป็นของใหม่ในเวลานั้น ย่านนี้เป็นที่มาของกลุ่มวัยรุ่น ‘โก๋หลังวัง’
“...จะมีกลุ่มวัยรุ่น ที่ชอบไปนั่งปักหลักอยู่เป็นประจำ ไปฟังเพลง ไปดูสาว สิงสถิตกันอยู่ นานเข้าก็อาจจะเลื่อนชั้น กลายเป็นเจ้าถิ่นไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักเลงรุ่นเล็ก ไม่ได้เป็นมืออาชีพ อย่างพวกนักเลงรุ่นใหญ่...และนิยมใช้คำว่า ‘จิ๊กโก๋’ มากกว่าคำว่า ‘นักเลง’ ชีวิตของวัยรุ่นในยุคนั้น ก็แค่ชอบเที่ยวเตร่ ชอบแต่งตัว เป็นนักเลงที่มีเสียงเพลงในหัวใจ คลั่งไคล้เอลวิสและเจมส์ ดีน” ไม่ได้อยู่บนเส้นทางอันธพาลหรือมาเฟียเช่นในภาพยนตร์ '2499 อันธพาลครองเมือง'
เมื่อถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการปราบปราม "นักเลงและอันธพาล" อย่างเข้มงวด โรงฝิ่นถูกยกเลิก แหล่งอบายมุขถูกจำกัดพื้นที่ สิ้นสุดยุคเหล่านักเลงมาเฟียที่เกี่ยวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย ในขณะที่จิ๊กโก๋รุ่นเล็กใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบอเมริกันในยุคสงครามเย็นยังคงเติบโตต่อเนื่องในทศวรรษต่อมา
หนังกลางแปลงและหนังไทยยุคต้านภัยแดง
อาวุธสำคัญของสำนักข่าวสารอเมริกัน(ยูสิส) ในการต้านภัยคอมมิวนิสต์คือภาพยนตร์ เนื่องจากในเวลานั้น โทรทัศน์ยังไม่แพร่หลายในเมืองไทย ภาพยนตร์ของยูซิส มีทั้ง สารคดี การ์ตูน และภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง มีทั้งที่สำนักข่าวสารอเมริกันสร้างขึ้นเอง และสนับสนุนทุนให้แก่ผู้สร้างหนังในเมืองไทย และมีการทำสำเนาขึ้นมาหลายชุด เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำออกไปเผยแพร่แก่ประชาชนในชนบทอย่างทั่วถึง ในรูป 'หนังกลางแปลง' โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน
ทศวรรษนี้จึงเป็นยุคเฟื่องฟูของหนังกลางแปลง ซึ่งเริ่มมีมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหน่วยงานที่ระยะแรก เรียกว่า ‘หน่วยปลูกนิยม’ของบริษัทต่างๆ ที่นำภาพยนตร์ไปฉายพร้อมกับโฆษณาและจำหน่ายสินค้าของบริษัท ระหว่างเปลี่ยนม้วนฟิล์มภาพยนตร์ ซึ่งสินค้ามีหลากหลายแต่ส่วนใหญ่เป็นยา จึงเรียกกันว่า ‘หนังขายยา’

หน่วยรถ ของบริษัท โอถสสภาเต็กเฮงหยู จำกัด ในอดีต ที่ออกฉายหนังขายยา