ของคุณหญิงนักกวี จำนงศรี รัตนิน
โดย รวิสา

THE SNAKE
Seeing its terrible death
I don’t think
the mutilated snake ever understood
either the sorrow and hatred
that crushed its sculptured bones
or the vengeance and pain
that pulped its smooth sinuous flesh
As it twisted, broken
in desperation of death,
I wished
that it at least knew
how its venom had caused
insane agonies of loss
and, in knowing, perhaps forgive
the atrocities so brutally reeked
on its poor bloodied unknowingness
If it had know
the deadliness of its own poison
if…
As it fought for life
in the dust of that laterite road
I thought
of so many illogical ‘ifs’
--illogical futilities
that derided, screeched and echoed
in the screaming discordance
of a hallucinatory dream.
งูพิษ
เมื่อเห็นความตายอันน่ากลัวนั้น
ฉันไม่คิดว่า
งูที่ยับเยินนั้นจะเข้าใจ
ความเจ็บปวด ความเกลียดชัง
ที่บทขยี้กระดูกอันงามดุจสลัก
หรือความพยาบาท ความเจ็บปวด
ที่ลอกเนื้อโค้ง ไหวของมัน
มันบิดร่างลาญสลาย
ใกล้ความตาย
ฉันได้แต่ปรารถนา
ให้มันรู้สึกนิดว่า
พิษร้ายของมัน
ก่อทุกข์ได้มหันต์
หากมันรู้ มันอาจให้อภัย
ความโหดเหี้ยมที่รุมกระหน่ำ
บนความไม่รู้อันโชกเลือดนั้น
ถ้ามันรู้สักนิด
ว่าพิษของมันร้ายแรง
ถ้ามันรู้...
ขณะมันต่อสู้เอาชีวิตรอด
ในฝุ่นคลุ้งของถนนลูกรัง
ฉันเฝ้าครุ่นคิด
ถึง “สมมุติ” อันไม่สมเหตุผล
...ความสูญเปล่ามากหลาย
ซึ่งเหยียดหยัน กรีดร้อง กังวาน
ในความอึงอลสับสน
ของฝันอันลวงหลอน
โทนเสียงแผ่วเบา อ่อนโยน ดังก้องกังวานและกระชากกระชั้นเป็นบางครั้งด้วยการดึงความรู้สึกจากความหมายของบทกวีผ่านจิตใจของผู้แต่ง ผู้อ่าน มาตรึงใจให้ผู้ฟังอยู่ในภวังค์ของบทกวีนั้นอย่าง
ใหลหลง นั่นเป็นการอ่านจากสำนวนไพเราะทั้งบทกวีของตนเองและของกวีอื่นในงาน “สุขสันต์วันกวี” ซึ่งนิตยสาร “สกุลไทย” ร่วมกับ “หนอนหนังสือ” จัดขึ้นที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เจ้าของเสียงมนต์เสน่ห์ซึ่งเป็นนักกวีหญิงคนเดียวที่นั้นในวันนั้น คือ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน
ทราบว่าบทกวีที่คุณหญิงนำมาอ่านในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นบทกวีในหนังสือ On the White Empty Page ที่คุณหญิงแต่งเอง
“ใช่ค่ะงานที่รวมอยู่ในหนังสือมี 44 บท เป็นนิทานร้อยแก้วเสีย 5 บท คัดมา 3 บท มาแปลเป็นภาษาไทยอย่างค่อนข้างกะทันหันสำหรับงานวันนี้ บทที่ชื่อ The Snake (งูพิษ) อาจารย์สุจิตรา (ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา) กรุณาแปลให้ อาจารย์ถามเหมือนกันว่าทำไมเลือกบทนี้ ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน มันเป็นบทที่ไม่เคย...ไปอ่านที่อื่น แล้วก็ไม่มีใครเคยพูดถึง
มันเป็นเครื่องของความสูญเปล่า สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่เกิดจากความไม่รู้ ความไม่รู้ในธรรมชาติของตัวเอง ความไม่รู้ในความไม่รู้ของคนอื่น น่ากลัวนะคะ”
เป็นหนังสือรวมงานเล่มแรก
“ค่ะ เป็นการรวมงานบทกวีครั้งแรกเกิดจากการที่อาจารย์เจตนา(ดร.เจตนา นาควัชระ)ให้กำลังใจว่างานที่เขียนๆ ไว้ ดีพอที่จะพิมพ์เป็นเล่มให้ผู้ที่สนใจได้อ่าน แล้วก็มี คุณสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ มาขอไปให้สำนักพิมพ์สบายสารพิมพ์จำหน่าย
อันที่จริงงานชุดนี้ไม่ได้ตั้งใจเขียนเพื่อตีพิมพ์ เขียนเพราะเป็นความสุขส่วนตัวที่จะเขียน มันทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ได้คำตอบใหม่ๆ ได้...จะพูดว่าอย่างไรดี...ได้เอื้อมไกลขึ้น กว้างขึ้นในแง่ของความคิด ความรู้สึก จินตนาการ ความเข้าใจ และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย
ดิฉันมีกิเลสมากนะในเรื่องภาษาเพราะมันมีแสง มีเสียง ประสมลีลา มีอื่นๆ อีก แม้กระทั่งอุณหภูมิ ความที่เขียนเพื่อตัวเอง ตอนมารวมเล่มก็เลยเรียงลำบากไม่ทราบว่าบทไหนเขียนเมื่อไร ส่วนใหญ่ที่เขียนๆ ไว้ไม่ได้เก็บ หายไปเสียมาก รู้สึกว่าเรียงงานของตัวเองยากพอๆ กับแปลงานของตัวเอง เวลานี้ทราบแล้วว่าแปลงานของตัวเองนั้นแปลไม่ได้ ตอนนั้นก็เพิ่งรู้ว่าเรียงงานของตัวเองสำหรับเล่มแรกนี่ยากจนทำไม่ได้ งงไปหมด
บังเอิญระยะนั้นมีคุณดนู(ดนู ฮันตระกูล) ไปช่วยเป็นวิทยากรในโครงการที่ทำอยู่ที่โรงเรียน
สวนกุหลาบฯ ก็เลยขอให้คุณดนูช่วยเรียงให้ เหมือนกับเอาโน้ตมาเรียงให้เป็นเพลงไงคะ (หัวเราะ) คุณดนูคงนึกสนุกก็เลยกรุณาทำให้ ก็ออกมาเป็นชุดอย่างนี้”
สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้
“มาจากงานบทกวีที่ชื่อว่า The Empty Page ระยะแรกที่มีการเอางานของดิฉันไปพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ อาจารย์มนตรี อุมะวิชนี ให้สมุดโน้ตมาเล่มหนึ่ง เธอบอกว่าคนที่จะเขียนหนังสือบ้างไม่เขียนบ้างตามอารมณ์อย่างศรีทำอยู่นั้นใช้ไม่ได้ ต้องฝึกตัวเองให้เขียนอย่างสม่ำเสมอ ให้เอาสมุดโน้ตนั้นติดตัว และมีอะไรก็เขียนลงไป ก็พยายามฝึกนะคะ นั่งจ้องกระดาษสีขาวที่ว่างเปล่านั่น แล้วก็ถามตัวเองว่าจะเขียนอะไรลงไป ก็เกิดบทที่ว่านี่ขึ้นมาค่ะ อ่านดูในหนังสือซิคะ ว่าอะไรมันเกิดขึ้นบนกระดาษแผ่นนั้น (หัวเราะ) ใช้ไปได้ไม่กี่หน้า ก็ทำสมุดโน้ตนั่นหาย อาจารย์มนตรีคงฉิวเหมือนกัน ว่าช่วยอะไรยายคนนี้ไม่ได้แล้ว
บท The Empty Page นั่นก็ต้องเขียนใหม่อีกที หลังจากที่สมุดหาย อันที่จริงกระดาษสีขาวที่ว่างเปล่านั้นมันเรียกร้อง ชักชวนมากทีเดียวนะคะ มันทำให้รู้สึกอยากหยิบปากกา หรือหาสีมาระบาย ความรู้สึกนึกคิดลงไปให้ มันเกิดความหมายขึ้นมา ดิฉันคิดว่าคนที่ถนัดด้านดนตรีก็คงระบายออกไปเป็นโน้ตดนตรีละมัง คุณสมศักดิ์ สกุลอิสริยาภรณ์ ผู้ออกแบบปก เข้าใจความหมายดี เธอบอกให้ดิฉันใช้สีระบายอารมณ์ลงบนกระดาษ แล้วเธอก็เลือกไปใช้บนปก สามรูปอย่างที่เห็นอยู่นั่นแหละค่ะ”
คุณหญิงรู้สึกว่าตนเองมีพรสวรรค์ด้านขีด ๆ เขียน ๆ และวาดรูปมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
“เอ ไม่ทราบเหมือนกัน เมื่ออยู่อังกฤษชอบไปเดินไปนั่งตามหอศิลป์เป็นกิจวัตร แต่ไม่คิดว่ามีในด้านการวาดรูปนะคะ ไม่เคยเรียนวาดเขียนเป็นเรื่องเป็นราว วาดไม่เป็น แต่ชอบระบายสี ขีดเขียนรูปด้วยสีตั้งแต่เล็ก ๆ เหมือนเด็กส่วนใหญ่ล่ะค่ะ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีความสุขที่จะคิดอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับสีสัน เมื่อตอนที่ไว้ท์กรุ๊ปเขาเปิดอบรมเทคนิคสีน้ำ 1 วันที่ศูนย์วัฒนธรรมเมื่อเดือนก่อน ก็แอบเข้าไปอบรมกับเขา มีความสุขมาก ๆ ทีเดียว เป็นความอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ที่มันสวยมันงาม มันมีความหมายบนเจ้าแผ่นกระดาษสีขาว ๆ ที่อยู่ข้างหน้าเรา
เรื่องขีดๆ เขียนๆ นี่ก็ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับพรสวรรค์หรือไม่ จะว่ารักทั้งการอ่าน และการเขียนละก็ใช่ เป็นผู้หญิงที่เรียนหนังสือน้อย เขียนเพราะรักก็เลยเขียนให้ตัวเองอ่านเป็นส่วนใหญ่ จำได้ว่าเริ่มเขียนเรื่องสั้นที่อังกฤษเมื่อตอนอายุ 15-16 ตีพิมพ์ในสามัคคีสาสน์ แล้วก็ซุ่มเขียน...ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าบทกวีได้หรือเปล่า...ในช่วงใกล้ๆ กัน
ไม่ได้เขียนให้คนอื่นอ่านก็เลยไม่ได้เก็บเอาไว้ ไม่นึกว่ามีคุณค่าอะไร ก็เลยจำไม่ได้แน่นอนว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไร เมื่อเล็กๆ อยู่ที่บ้านฝั่งธนฯก็ชอบแต่เรื่องแต่งนิทานอยู่ในสมอง ก่อนไปอังกฤษเรียนหนังสือแย่มาก ถูกครูทำโทษเรื่องเหม่ออยู่เรื่อย ๆ”
ชีวิตในวัยเด็กของคุณหญิง
“เป็นลูกคนที่ 3 (คุณพ่อคุณแม่ คือ คุณจุลินทร์ และ คุณสงวน ล่ำซำ) โตขึ้นมาในบ้านสวนริมคลองสำเหร่ เรียนอยู่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด จนอายุ 12 เศษ ๆ ก็ไปอังกฤษ เรียนระดับมัธยม เตรียมจะเข้ามหาวิทยาลัย อยากเรียนทางวรรณคดี คุณพ่อก็เริ่มไม่สบาย ท่านอยากให้กลับมาทำงานธุรกิจของครอบครัว
แปลกนะ คุณพ่อถามว่าจะเรียนวิชานี้ไปเพื่อสอนหรือ ก็ตอบว่าไม่ ตอนนั้นอายุสัก 16 มีความรู้สึกว่า ไอ้การสอนนี้มันคงน่าเบื่อ แต่เดี๋ยวนี้กับพบว่าการสอนนั้นทั้งสนุก ทั้งเป็นการให้และการรับ ได้รู้จักเด็ก ได้ทราบว่าเด็กคิดอย่างไร ได้เรียนรู้สารพัด ที่พูดอย่างนี้อาจจะเป็นเพราะไม่ได้สอนเป็นงานประจำก็ได้นะคะ แค่เป็นอาจารย์พิเศษ หรือวิทยากรเป็นครั้งคราว
เมื่อจำนนกับเหตุผล (ในตอนนั้น) ก็เบนมาเรียนเลขานุการ แต่ไม่จบ เพราะมัวแต่หนีไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะบ้าง ไปฟังเลกเชอร์ตามพิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ต่างๆ บ้าง กลับเมืองไทยตอน
อายุ 18”
เริ่มแรกของการทำงาน
“กลับมาคุณพ่อให้เข้าทำงานชิปปิ้งที่บริษัทล็อกซเล่ย์ ผิดพลาดให้คนอื่นเขาหัวปั่นอยู่เสมอ ทำอยู่ไม่กี่เดือน ก็พบ Mr. Baligan บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ เขาเป็นคนอารมณ์ขันมาก คุยกันสารพัดเรื่อง เขาชวนไปทำงานหนังสือพิมพ์ คุณพ่อไม่เต็มใจ ตกลงว่าลองทำล็อกซเล่ย์ครึ่งวัน ทำหนังสือพิมพ์ครึ่งวัน ให้ครบสามเดือนแล้วค่อยตกลงกันใหม่ ครบสามเดือนคุณพ่อยอมคุณลูกค่ะ เป็นผู้หญิงคนเดียวในกอง บ.ก. อายุน้อยที่สุดด้วย ทำงาน 3 ปี จึงได้ลาออก เพราะแต่งงาน”
มีใครแนะนำหรือพบรักกันเองคะ
“คุณหมออุทัย(นพ. อุทัย รัตนิน) รักษาตาคุณพ่อตั้งแต่ดิฉันเรียนอยู่ กลับมาก็พบกัน แต่ไม่รู้จักกันดี รู้จักกันไม่นาน หมอบินไปทำ Follow ship ต่อ มารู้จักกันดี ก็หมั้นและแต่งงาน ตอนนั้นหมอเป็นอาจารย์อยู่โรงพยาบาลศิริราช และมีคลินิกส่วนตัวที่สามยอด พอแต่งงานดิฉันก็มาช่วยคลินิก ตั้งแต่นับยาให้คนไข้ จดรายงานคนไข้ แต่งงานแล้ว หมอกลับไปอเมริกาอีก 1 ปี ลูกคนโตไปคลอดที่โน่น ไม่ค่อยรู้จักอเมริกาเพราะต้องเลี้ยงลูกเองตลอด กลับมาถึง ได้มามีคลินิกที่อโศก ขยายขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้อยู่ตัว มีหมอหลายคน ศรีจึงเป็นเพียงที่ปรึกษาของฝ่ายบริหาร หลานที่เราถือว่าเป็นลูกโตของเรา ชื่อ จตุพร รัตนิน เป็นผู้จัดการ”

ลูกๆ อีกล่ะคะ
“คนแรกเป็นลูกชาย ชื่อ สรรพัฒน์ (ไต๋) เพิ่งจบแพทย์ที่อังกฤษ กำลังจะ (Intern) ข้ามไปเรียนต่อทางจักษุเหมือนคุณพ่อที่แคนาดา คนที่สองลูกสาว ชื่อ วรัดดา (น้ำผึ้ง) เรียนคณิตศาสตร์ Pure Math ที่ลอนดอน ขณะนี้กำลังฝึกงานอยู่ที London Uthah คนที่สาม อโนมา (น้ำหวาน) เรียนภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาฯ ปี 3 และคนเล็กชื่อ จิตรจารี (น้ำอ้อย) กำลังเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปี2”
คุณหญิงมีวิธีการสอนลูกอย่างไรคะ ลูกจึงเรียนดี ๆ ทุกคน
“ตอบไม่ถูกค่ะ ไม่คิดว่ามีวิธีการอะไรเป็นพิเศษ รู้แต่ว่าเรารักเขามาก แล้วก็ยอมรับว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยอมรับว่าแม่ไม่ใช่ถูกเสมอไป บางครั้งก็เข้าใจเขาผิด บางครั้งก็ลงโทษเขาผิดๆ ก็ขอโทษเขา เล็กๆ ก็เรียนไม่ดีกันนัก มาดีตอนโต เดี๋ยวนี้ลูกก็ว่าแม่นี้แปลก บางครั้งลูกจวนจะสอบก็กลับชวนเขาไปทำกิจกรรมหรือไปในรายการใดก็ตามที่คิดว่าเขาไม่ควรจะพลาด บางครั้งเขาก็ยอม บางครั้งเขาก็ไม่ไปก็มีงอนใส่กันบ้าง (หัวเราะ) ดิฉันชอบให้ลูกมีประสบการณ์ที่จะทำให้เขาคิดกว้างและไกลออกไปจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ไม่อยากให้รับรู้เฉพาะแต่เพียงเรื่องใกล้ตัวเท่านั้น”

เหมือนในบทกวีของคุณหญิงที่ชื่อ A Woman To Her Daughter ใช่ไหมคะ
“ก็คงจะอย่างงั้นนะคะ อย่างที่อาจารย์สุจิตราแปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า
จากแม่ถึงลูกสาว
แม่มิใช่กวี
จึงมิอาจกรองกลั่น
ความอ่อนหวาน ความโหดร้าย
และมายาหลากหลายของชีวิต
เป็นถ้อยคำอันมีมนต์ขลัง
ที่จะอ้อยอิ่งอยู่ในวิญญาณ
และดังกังวานอยู่ในดวงใจเจ้าได้
แม่มิใช่นักปรัชญา
จึงขาดไร้สติปัญญา
จะอธิบายให้เจ้าเข้าใจ
ถึงเหตุผลและหนทาง
ของทั้งชีวิตและความตาย
และยุ่งยากซับซ้อนทั้งหลาย
เพียงเพื่อจะดำรงอยู่ในโลกนี้
แม่มิใช่นักจริยธรรม
จึงมิอาจสอนสั่งเจ้า
ให้ตัดสินเพื่อนมนุษย์
และประณามความผิดชั่วใด ๆ
เพราะใครเล่าจะเข้าใจซึ้ง
ถึงไฟปรารถนาอันเผาผลาญ
และความเจ็บปวดทรมาน
ในดวงใจผู้อื่นได้
แม่เป็นเพียงหญิง
จึงได้แต่จะวอนขอเจ้า
ให้ค่อย ๆ รับรู้ค่อย ๆ สัมผัส
ผืนแพรหลากเนื้อของความเป็นจริงในชีวิต
และ
ด้วยหัวใจของหญิง
พยายามรับรู้ พยายามเข้าใจ
พยายามเรื่อยไป...เรื่อยไป
ทราบมาว่าคุณหญิงไม่นิยมเรื่องการแข่งขันในสังคม
“ค่ะ ดิฉันเห็นว่าเราส่งเสริมการแข่งขัน การเอาชนะ การเอาตัวรอด ในเด็ก ตั้งแต่ระดับอนุบาล การแข่งขันกันเข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย มันทำให้เด็กกร้าว เห็นแก่ตัว ลืมเป็นห่วงคนที่ด้อยกว่า เรื่องของการชนะกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องคุณธรรม ใจคนเราจะเป็นสุขได้อย่างไร ถ้าตั้งหน้าตั้งตาจะเอาชนะกันอยู่ตลอดเวลา แทนที่เราจะสนใจแต่ ‘สูตรการเป็นผู้นำ’ หรือ ‘สูตรสำเร็จ’ แล้ว หันมาสนใจธาตุแท้ของตัวเอง สนใจที่จะเข้าใจคนอื่น สนใจสิ่งที่เป็นการสร้างสรรค์ทางจิตใจ บางทีเราอาจจะพบว่า ความเป็นผู้นำ หรือความสำเร็จมันจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่แต่ในรูปแบบที่เป็นวัตถุนิยม”
คุณหญิงคิดว่า ควรแก้ไขเรื่องความเห็นแก่ตัวนี้ได้อย่างไร
“ไม่คิดว่าตัวเองมีความคิดกว้างพอที่จะตอบได้ทุกแง่โดยส่วนตัวอยากเน้นการฝึกเด็กในด้านความคิดสร้างสรรค์ ให้เด็กมีอิสระในการสร้างสรรค์ อยากให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมและรู้จักสังเกต รู้จักคิด แล้วกรองออกมาเป็นการแสดงออกที่จริงใจ
ดิฉันเคยทดลองสิ่งนี้ในโครงการวิจัยร่วมพัฒนาเชิงปฏิบัติการที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ตลอดปีการศึกษาเมื่อปีที่แล้ว ทดลองในเด็กชั้น ม.5 อายุ 15-17 ปี กำลังอยู่ในระหว่างวัยเด็กกับผู้ใหญ่ รวมเด็กสายศิลป์และสายวิทย์เข้าด้วยกัน เราอยากจะดูว่ากิจกรรมที่ให้แกทำนั้น เพิ่มความละเอียดอ่อนที่จะทำให้เข้าใจตัวเอง และคนอื่นดีขึ้นหรือไม่ มีวิทยากรที่มีความตรงกันมาช่วยกันหลายท่าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านศิลปะสร้างสรรค์แขนงต่าง ๆ และศิลปะการแสดง
กิจกรรมเราเน้นให้เด็กเข้าใจด้วยตัวเอง ว่าแต่ละคนมีความคล้ายคลึง และความแตกต่างที่เข้าใจกันได้ วันสุดท้ายเราพาเด็กไปศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนประภาคารปัญญา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเด็กปัญญาอ่อนระดับรุนแรง โดยประสานงานกับฝ่ายครูที่ศูนย์ฯนั้น เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ กับเด็กปัญญาอ่อน ได้รับคำชมจากผู้อำนวยการศูนย์ฯว่า เป็นกลุ่มที่อายุน้อยที่สุด แต่สามารถสื่อกับเด็กปัญญาอ่อนได้ดีที่สุด
ดิฉันพอใจเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่แสดงว่า เด็กในโครงการของเราสามารถที่จะเอื้อมข้ามช่องว่างที่กว้างมากระหว่างคนปัญญาดีกับคนปัญญาอ่อน ที่สำคัญก็คือ ทั้งเด็กปัญญาอ่อนและเด็กปัญญาดี ต่างมีความสุขติดอกติดใจกันมาก อันที่จริงโครงการนั้นจะถือว่าสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำการประเมินผล
อย่างมีระบบ แค่เป็นการทดลองเพื่อความเข้าใจของเราเองในเรื่องของการศึกษา ที่เน้นค่านิยมด้านจิตใจ ด้านความเมตตา...เห็นว่าศิลปะต่างๆ หรือวิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นผลของความคิด ความรู้ และจินตนาการเหมือนกัน”
คุณหญิงมีความคิดแบบศิลปินเต็มตัวจริงๆ
“ดิฉันแค่คิดว่างานสร้างสรรค์ของคนเรามันมาจากความคิด และจินตนาการของมนุษย์เหมือนกันทั้งนั้น เพียงแต่ออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน เวลาเรามองภาพจิตรกรรมเราก็จะเห็นจังหวะ ทำนอง อารมณ์ ความเคลื่อนไหว ซึ่งก็มีอยู่ในบทกวี ในดนตรี ในนาฏศิลป์ สถาปัตยกรรมจริงไหมคะ”

ผลงานด้านแปลวรรณกรรม
“มีทั้งร้อยแก้ว และบทกวีค่ะ ทั้งงานเก่าและงานร่วมสมัย เจ้าฟ้ากุ้ง สุนทรภู่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อัศศิริ ธรรมโชติ และอังคาร กัลป์ยาณพงษ์ พยายามแปลเอาวิญญาณ ท่วงทำนองและอารมณ์ของภาษา ต้องซับเอา ทำนอง จังหวะ สีสัน ของต้นฉบับ ทำให้ตัวเองเกิดอารมณ์ร่วมกับผู้เขียนและเข้าใจความหมายอย่างชัดเจน แล้วถึงจะถ่ายทอดออกมา การแปลวรรณกรรมเป็นศิลปะใน ตัวของมันเอง งานเขียนของ
ตัวเองนั้นมันไหลออกมาตามธรรมชาติ เป็นงานที่ออกมาโดยตรง เป็นขั้นตอนที่ไม่มีกรอบต่างๆ ที่บังคับ
เราอยู่เหมือนงานแปล ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในวิญญาณของนักเขียนคนโน้น คนนี้ หรือของคนที่ต่างยุคต่างสมัยจากตัวเราเองไปตั้งเป็นศตวรรษฯ
ขณะที่เป็นนักเขียนเรารับผิดชอบกับความคิด ความรู้สึกของตัวเอง แต่นักแปลต้องแบกภาระความรับผิดชอบหนักกว่าเพราะเป็นของคนอื่น และเป็นคนอื่นที่มีความวิเศษเฉพาะตัวแต่ละคน สำหรับตัวดิฉันเองรู้สึกว่าแปลยากกว่าเขียนเองค่ะ
แต่ในเมืองไทยเรามีงานวรรณกรรมที่ดีๆ มาให้เรารัก เราก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมาแปล เป็นกิเลสนะคะเพราะมีความรู้สึกว่า เมื่อเราแปลเรามีส่วนในงานขึ้นนั้น เหมือนกับเรารักบทกวีบทไหน เราก็หยิบมาอ่านให้คนอื่นฟัง อ่านให้ดีที่สุดที่เราจะทำได้ เหมือนกับแปลให้ดีที่สุดที่เราจะทำได้"
ผลงานที่ภูมิใจ
"ไม่นึกถึงความภูมิใจเท่าไรก็เลยไม่ทราบ คุณค่าของงานอยู่ที่ความสุขใจ ในขณะที่ทำมีความสุข เวลาทำงานที่เรารักไม่ว่ามันจะลำบากยังไง ไม่เคยมีผลงานที่ตัวเองพอใจเต็มที่ มักจะทำได้แค่ 70-80 % ของสิ่งที่อยู่ในใจ บางครั้งก็ได้แค่ 50 % เพราะมันมีอุปสรรคต่างๆ เรื่องอุปสรรคนั้นอย่าไปโทษใคร มันเป็น
ธรรมชาติ ถ้าจะเริ่มโทษคนอื่มแล้ว ก็โทษกันไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด บางครั้งสิ่งที่ตั้งใจทำให้ดีที่สุด มันจะพังมันก็พัง อย่างการอ่านบท 'ขอบฟ้าขลิบทอง" ในวันแรกของคอนเสิร์ต 'มาลัยหลากสี' นั้น ไม่ได้อย่างที่ควรเพราะเกิดกลัวขึ้นมาจนเกร็ง และกร้าวไปหมด จะโทษใคร
พอถึงวันที่สองเกิดปัญหาเกี่ยวกับไมโครโฟน ที่เข้าแต่ลำโพงหลัง คนที่นั่งข้างหน้าๆ ไม่ได้ยินเสียงอ่าน ก็ต้องโทษตัวเองที่ไม่ทดลองให้ดีเสียก่อน แต่ก็ยังต้องพูดว่ามีความสุขในการทำคอนเสิร์ตนั้นขึ้นมา เป็นครั้งแรกที่ทำ ได้เรียนรู้จากงาน จากผู้ร่วมงาน จากความผิดพลาดต่างๆ ได้เพื่อนดีๆ ได้มองเห็นว่า
จะทำอะไรต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นความสุข ความภูมิใจมันก็เลย ไม่ค่อยสำคัญ
งานอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นวีดีโอ หรือ โครงการวิทยุ หรืออะไรทั้งนั้น ที่ผ่านๆ มา วีดีโอก็เหมือนกัน ตอนที่จับ Golden Touch of Thai Craftsmanship ขึ้นมาเขียนบทและกำกับนั้น ไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า กล้องวีดีโอมันหน้าตาเป็นอย่างไร โง่มากที่คิดว่าการตัดต่อ วีดีโอมันเหมือนการตัดต่อภาพยนตร์ การทำงานก็ต้องยากลำบากเป็นธรรมดา แต่ความสุขมันอยู่ที่การลงมือทำ การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ร่วมงาน แล้วก็การแก้ปัญหาต่างๆ ให้งานเข้าใกล้จุดมุ่งหมายด้านการสร้างสรรค์ ที่เราคิดไว้เท่าที่จะทำได้ เรียกว่าเรียนจากการทำงานใหม่ นั่นแหละความสุข"
ทราบว่าเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย
"ค่ะ เป็นอาจารย์พเนจร คือใครเชิญไปสอนก็ไป เคยเป็นทั้งอาจารย์พิเศษและวิทยากร ที่สอนเป็นเรื่องเป็นราวจริงอยู่พักหนึ่ง ก็วิชาวิจารณ์การละครและภาพยนตร์ ของคณะศิลปะการละครที่ธรรมศาสตร์ สองสามปีมาแล้ว เลิกเพราะเป็นวิชาที่ต้องใช้เวลามาก วิชาแปลและวรรณคดีเคยไปทั้งที่ธรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ สำหรับจุฬาฯ เคยแต่ไปเป็นวิทยากร อัอ ที่สนุกมากก็เมื่อสมัยที่ไปทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรวิขาอารยธรรมตะวันตก ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์"
การศึกษาขั้นสุดท้ายของคุณหญิง
"ดิฉันจบการศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ 6 ปีที่แล้ว รุ่นเดียวกับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์"
หลักการในการใช้ชีวิตและทำงานของคุณหญิง
"พยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่ติดอยู่กับอดีต ไม่ว่าจะในเรื่องบวกหรือลบ สำหรับอนาคตเราก็ไม่ไปกังวลหรือฝันถึงมันมากนัก มันก็จะกลายเป็นปัจจุบันให้เราต้องจ้องหน้ากับมันอยู่แล้ว ดิฉันคิดว่าการพิจารณาจิตของตัวเอง เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยควบคุมกิเลสต่างๆ ที่มันมีอยู่ในธรรมขาติของมนุษย์ เมื่อเรารู้จุดอ่อนของตัวเอง ก็รู้ว่าต้องพยายามฝึกสติที่จะคุมให้อยู่ พูดง่ายทำยากนะคะ ทำได้มั่งไม่ได้มั่งแต่ก็พยายามเรื่อยๆ
เวลาทำงานน่ะมักจะเผลอ เพราะอยากให้ผลงานมันเป็นอย่างที่คิด บางทีก็เรียกร้องจากคนอื่นมากไป ก็ต้องระวังตัวในจุดนี้ รู้ตัวว่าต้องการน้ำใจจากผู้ร่วมงานมากเกิน ไป ก็น้อยใจง่าย เราก็พิจารณานี่เป็นเพราะอัตตาเรามันมาก ต้องบีบให้มันเล็กลง ทำไม่ค่อยได้หรอกค่ะ แต่ฝึกไปมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ยาแก้ที่ดีก็คือ พยายามเอาใจเราไปใส่ใจเขา ความเข้าใจมันก็เกิด การเถียงกับใครก็ตาม ขอให้เป็นการเถียงที่ ทำให้เกิดความเข้าใจกัน หรือให้เกิดการยอมรับในความแตกต่าง โกรธกันได้ แต่อย่าเกลียดกัน เพราะโกรธแล้วหายมารักกันอีกได้ แต่เกลียดนี่มันทำลาย มันทำให้เกิดพยาบาท ดิฉันกลัวมากเรื่องความเกลียดนี่ สอบลูกเรื่องนี้อยู่เสมอ"
การใช้เวลาว่างกับครอบครัว
"ถึงแม้จะไม่มีงานประจำ แต่ก็มีงานจรมาเสมอ รู้สึกว่ามีเวลาว่างน้อย คุณหมอก็งานมาก วันเสาร์คุณหมอทำงานครึ่งวันจะว่างเสาร์บ่ายและวันอาทิตย์ เดี๋ยวนี้หมอเล่นกอล์ฟบ่ายวันอาทิตย์ ดิฉันจะเก็บเสาร์บ่ายและอาทิตย์ไว้สำหรับทำอะไรด้วยกัน ถ้าพูดถึงไปต่างจังหวัด คุณหมอชอบเขาใหญ่ ส่วนดิฉันชอบหัวหินแล้วก็เชียงใหม่ แต่เราก็จะไปเขาใหญ่กับหัวหินกัน เชียงใหม่ไม่ค่อยได้ไป ปีหนึ่งจะไปสักครั้งและหมอมักจะเบี้ยวให้ดิฉันไปคนเดียว เธอไม่ชอบเอาเลย"
นอกจากกวีภาษาอังกฤษจะหาได้ยากในแผ่นดินไทยแล้ว กวีที่เป็นคุณหญิงก็หาได้ยากเช่นกัน ความสามารถของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เด่นในหมู่กวีชาวไทยในด้านการเขียน อ่านและแปลวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกวีทั้งจากภาษาไทยเป็นอังกฤษ
สิ่งที่คุณหญิงได้รับจากวงการกวีและศิลปะแขนงต่างๆ คือความสุขในการประพันธ์ การอ่าน การแปล
การสอนนิสิตนักศึกษาในด้านความสวยงามของภาษาและการสร้างผลงานเกี่ยวกับศิลปะสร้างสรรค์
แม้คุณหญิงจำนงศรีจะไม่ใช่คุณหญิงนักสังคมสงเคราะห์เต็มตัว แต่เธอและสามี นายแพทย์อุทัย รัตนิน ก็ได้ทำการกุศลเสมอ ด้วยการช่วยเหลือดูแลและรักษาคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์และพระราชินูปถัมภ์มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ได้เป็นจักษุแพทย์ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชโอรส ธิดา รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์
จาก: นิตยสาร สกุลไทย ปีที่ 35 ฉบับที่ 1777 ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2531