top of page

สงบ กับ เหงา ของสองหนุ่มนักเดินทาง

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



ถ้าจะแปลคำว่า 'silence' มาเป็นภาษาไทยอย่างตรงๆ ก็เห็นจะไม่พ้น 'ความเงียบ'

ส่วนคำว่า 'solitude' แปลให้ลงตัวได้ยากกว่า ความหมายที่ใกล้เคียงที่สุดอาจจะเป็น “การอยู่โดดเดี่ยว” หรือ “การตัดขาดจากโลกภายนอก” ซึ่งก็ยังขาดความนุ่มลึกของ 'solitude' คำภาษาอังกฤษคำนี้ ไพเราะด้วยท่วงดนตรีที่สื่อความรู้สึกที่คำพูดแต่ลำพังไม่สามารถสื่อได้


'Silence' และ 'Solitude' จะเป็นพื้นของความสงบก็ได้ ความเหงา และความอ้างว้างก็ได้ ขึ้นอยู่กับมุมสัมผัสของแต่ละบุคคล ในแต่ละกาล แต่ละบริบท


ที่ยกคำสองคำนี้มากล่าวถึง ก็เพราะได้ไปดูนิทรรศการภาพถ่ายขาวดำที่ หอสมุดNielsen Hayes บนถนนสุริวงศ์ ซึ่งเปิดแสดงเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2544


ชื่อนิทรรศการก็ประกอบด้วยคำภาษาอังกฤษสองคำนั่นแหละ Silence / Solitude


ศิลปินเป็นนักถ่ายภาพรุ่นราวคราวเดียวกันสองคน คือวิชัย อิ่มสุขสม และจตุพร รัตนิน ทั้งคู่เรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเอง และภาพแสดงในนิทรรศการนี้เป็นภาพที่ถ่าย 'เหมือนตาเห็น' คือไม่ได้ใช้การจัดวาง เทคนิคหรือเลนซ์พิเศษแต่อย่างใด


ภาพชุดที่ชื่อ Solitude เป็นผลงานของวิชัย ส่วน Silence เป็นของจตุพร


ในขณะที่ Silence แขวนอยู่ซีกซ้ายของห้อง Rotunda ซึ่งเป็นห้องกลมของ หอสมุด Nielsen Hays ที่ใช้เป็นห้องนิทรรศการ Solitude อยู่ฟากขวา เหมือนคนละซีกภายในโลกใบเล็กๆอันอบอุ่น ทว่าความเล็กของโลกสีขาวนี้ทำให้รู้สึกว่าสองซีกที่ประกบกันอยู่อย่างใกล้ชิด แผงยาวกลางห้องทำหน้าที่แบ่งสองส่วนออกจากกัน เมื่อก้าวเข้ามาจะเริ่มจากซ้ายก่อน หรือขวาก่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเวียนจากความเงียบไปสู่ความโดดเดี่ยว หรือความโดดเดี่ยวไปสู่ความเงียบ

ความคล้ายคลึงและความแตกต่างของภาพชุด Silence กับ ชุด Solitude เปรียบเสมือนเพื่อนคู่ใจที่มองโลกใบเดียวกันด้วยสายตา และอารมณ์ ที่ผิดแผกในรายละเอียด ในขณะที่ความนิ่งและความสงัดชัดเด่นในผลงานทั้งสองชุด แต่อารมณ์อันแตกต่างซึ่งแฝงอยู่ ก็แรงพอที่จะสัมผัสได้อย่างน่าสนใจ และทำให้ความรู้สึกของงานร่วม ไม่เรียบราบเป็น tone เดียว

ถึงจะมีบางเวลาในชีวิต ที่มนุษย์เราแสวงหา solitude มีบ่อยครั้งที่เราต้องการกันโลกภายนอกออกไป เพื่อเว้นวรรคจากความวุ่นวายนานาประการ แต่ในอีกด้านหนึ่ง อีกอารมณ์หนึ่ง ความเหงา ความอ้างว้างเดียวดายก็เข้ามาเป็นเจ้าเรือนได้อย่างน่าใจหาย

อารมณ์เหงาที่เข้ามาเป็นเจ้าเรือนได้ ทั้งเมื่ออยู่โดดเดี่ยวและแม้กระทั่งท่ามกลางฝูงชนนี้แหละ ที่ซึมซาบอยู่ในภาพชุด solitude ของวินัย ไม่ว่าจะเป็นภาพธรรมชาติ สถานที่ สิ่งของ หรือผู้คน

เลนซ์กล้องของวิชัยดูเหมือนจะเข้าถึงความเหงาในที่ที่หลากหลาย ไม่ว่าในห้องสุขาชายที่เห็นด้านหลังของผู้ชายในชุดเข้มยืนอยู่หน้าโถปัสสาวะ ริมสนามฟุตบอลล์ที่เห็นด้านหลังของเด็กหนุ่มนอนตะแคงผินหน้าเข้าหาสนาม ตามถนนหนทาง ชายน้ำ ยอดหลังคา หรือ ท้องฟ้า

ดูเหมือนว่า Solitude ของวินัยจะบอกเราว่า ระวังนะ เจ้าความเหงานั้นมันหลบลึกอยู่ในใจ พร้อมโอกาส พร้อมอารมณ์เมื่อไร มันจะเผยตัวออกมาได้ทุกหนแห่ง




ในภาพชื่อ Untitled ซึ่งวิชัยบอกว่าถ่ายที่ สวายเรียง เชียงใหม่ เงามืดทะมึนของ เสา ชายคา ม้านั่ง และองค์ประกอบอื่นของเรือนริมน้ำที่มีแสงส่องย้อนเข้ามา ทำให้เกิด composition หนักเน้นบน background ที่มองเห็นผ่านม่านหมอก เส้นลายแมกไม้ไกลออกไปถูกลบเลือนด้วยหมอกขาวจนแผ่วจางเหมือนกระซิบ ไม้โค้งสามเส้นที่โผล่เรียงมาจากชายเรือนเป็นเหมือนคำถามสีดำที่ปราศจากคำตอบ ภาพนี้เป็นงานกวีไร้เสียงที่ร่ายด้วยเงากับแสง





อีกภาพที่หลายคนหยุดมองอยู่นานคือ The Lady of Berlin ซึ่งมีสองภาพแขวนอยู่เคียงกัน ภาพหนึ่งเป็นภาพโปสเตอร์หน้าผู้หญิงติดอยู่กับเสาไม้ เข้าใจว่าเป็นเสาไฟฟ้าที่เลิกใช้แล้ว มีลวดหนามขดเป็นม้วนๆอยู่ข้างบน ความเหงาในภาพนี้ช่างวังเวง จนร่ำๆจะชวนให้รู้สึกหวาด ส่วนภาพที่ถ่ายให้เห็นด้านหลังของรูปปั้นผู้หญิงเป็นเงาดำทาบกับท้องฟ้าว่างที่แลดูแสนจะว้างเวิ้ง ก็ช่างบ่งบอกความเหงาอันร้าวราน เหมือนการร่ำให้กับชะตากรรมที่ไม่อินังขังขอบกับความเจ็บปวดของมนุษย์

พร้อมๆกับความเหงาที่ซึมออกมาให้สัมผัสในชุด Solitude ของวินัย ก็คือความเงียบ


'ความเงียบ' อาจจะสื่อความหมายได้หลายอารมณ์ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ แต่ในบริบทของนิทรรศการที่ชื่อว่า Silence นั้น จตุพรมองผ่านเลนซ์กล้องเขาไปสู่มิติความสงบ เป็นความสงบสงัดที่เป็นสมบัติภายในของศิลปินผู้มอง ไม่น้อยไปกว่าของสิ่งภายนอกที่เขาเห็น

จตุพรเชื่อมโยงความสงบภายในนี้กับพระพุทธศาสนา ภาพเกือบทั้งหมดของเขาในนิทรรศการนี้เป็นภาพพระพุทธรูป ไม่ว่าจะเป็นทั้งองค์หรือ เฉพาะส่วน เช่น พระเศียร หรือ พระหัตถ์ ดูเหมือนว่าสัญลักษณ์ของความเงียบสงัดที่ร่มเรียบของเขาคือ พระพุทธรูป ซึ่งเป็นศิลปะหลักของศิลปินชาวพุทธที่สืบทอดกันมานานนับร้อยชั่วคน

แสงและเงาที่ประกอบกันเป็นรูปทรงและพื้นผิวของภาพขาวดำชุดนี้ ดูเหมือนจะโน้มใจให้คนมองดื่มด่ำสู่ความสงบ ที่ศิลปินพานพบผ่านเลนซ์กล้อง

ภาพที่ข้าพเจ้าชอบมาก เป็นภาพถ่ายจากมุมตรง ให้เห็นท่อนบนพระพุทธรูปปูนองค์ใหญ่นิ่งตระหง่าน เป็นภาพที่ดูตื้นแบน มีพื้นหลังเป็นกำแพงขาวที่มีรอยด่างดำ ถ้าหยุดยืนนิ่งมองนานสักหน่อย จะแทบสัมผัสกระแสอันนุ่มนวลของเมตตาซ่านที่แผ่ซ่านทั่วผืนภาพ

จุดดึงดูดสายตาคือเจ้านกตัวจิ๋ว ที่เกาะพักปีกบนจีวรที่พาดบนลาดพระอังสา ร่างกระจิดริดของมันบ่งบอกความไวแม้ในขณะหยุดนิ่ง น้ำหนักตัวที่บางเบาตัดกับมวลอันแน่นหนักของพระพุทธรูปที่นิ่งสงบ พระนาสิกด่างดำเก่าชื้น ส่งรอยยิ้มบนพระโอษฐ์ให้อบอุ่นเด่นชัด ดูราวกับแย้มสรวลด้วยความการุณต่อเจ้านกหลงฟ้า

อีกรูปหนึ่งเป็น close up พระพักตร์พระพุทธรูปโลหะ มีลำแสงส่องเฉียงผ่านด้านหน้า พระพักตร์เบื้องหลังลำแสงอันอ่อนโยนนั้น สื่อความสงบสงัด ในภาพนี้แสงที่พาดใน foreground ส่งความสงบให้กับพักตร์พระพุทธรูปให้ดูนุ่มและลึก



ในมุมกลับ ลายเส้นบนผนังโบถต์ที่เป็นพื้นหลังในภาพอีกภาพหนึ่ง ซึ่งถ่ายในวัดที่หลวงพระบาง กลับเป็นองค์ประกอบที่เน้นความนิ่งสงัดของพระพุทธรูปทั้งองค์


ภาพจตุพรในงานชุดนี้ มีภาพเพียง 2 ภาพ ที่ไม่มีพระพุทธรูปปรากฏอยู่ เป็นภาพหน้าวิหาร และภาพชาวบ้านในบริเวณวัด ความที่เป็นเพียง 2 ภาพที่แตกต่างจากภาพอื่นๆในเนื้อหาเชิงรูปธรรม จึงดูเหมือนจะหลุดจากเอกภาพของชุดงาน ถึงแม้จะมีความสงบเป็นอารมณ์ร่วมก็ตาม

ศิลปินทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในหลายๆด้าน ทั้งวิชัยและจตุพรเป็นนักเดินทางตัวยง ที่พากล้องคู่ใจท่องเที่ยวไปทั้งในและนอกประเทศ หากแต่ว่าจตุพรจะท่องไปในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศลาว ในขณะที่วิชัยนั้นไปไกลกว่า ภาพชุด Solitude ของเขาครอบคลุมถึงยุโรปและอเมริกา


ทั้งคู่จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกาในสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ จตุพรจบด้านบริหารธุรกิจ ส่วนวิชัยจบ graphic design จาก Pratt Institute อันลือชื่อในนิวยอร์ค

ทั้งคู่เรียกได้ว่าเป็นนักธุรกิจย่อยด้านศิลปประยุกต์ เพราะวิชัยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบบริษัทหมิงจำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ทำการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ และเครื่องแต่งบ้าน ส่วนเป็นจตุพรเป็นที่รู้จักกันดีในวงการศิลปะ เมื่อกล่าวถึงการ์ด ภาพพิมพ์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆในเครือ Vis-Art หรือ Artists’ Color นอกจากนั้นแล้วเขายังเป็นผู้บุกเบิกจัดตั้ง Art Museum Shop ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

จาก : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ วันที่ 13-19 สิงหาคม 2544




ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

コメント


bottom of page