หญิงร่างเล็กวัยใกล้ปลดเกษียณท่านนี้ มีเรื่องราววัยเด็กที่ขาดความอบอุ่น คุณแม่เสียตั้งแต่ 2 ขวบ วัยเยาว์โดดเดี่ยวที่บ้านฝั่งธน ทำให้ใจเธออยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ และการแสวงหาความสุขให้ตนเองด้วยการอ่านทำให้เธอกลายเป็นนักคิด นักเขียน นักแปล และกวีนิพนธ์ผู้เชี่ยวชาญในงานด้านนี้
“รักการอ่านนะใช่ รักการเขียนไม่แน่ใจ แต่รักที่จะสังเกต ฟังและสัมผัส มีคุณยายเป็นผู้หญิงโบราณที่ชอบแต่งกลอนสด ชอบอ่านหนังสือให้เราฟัง อย่างรามเกียรติ์ฉบับ ร.1 ดิฉันก็ได้ฟังตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก
...ไปเรียนอังกฤษตั้งแต่อายุ 12 การเรียนที่อังกฤษมักจะวุ่นวายอยู่กับการอ่านและเขียนเยอะ เราก็ต้องพยายามฟัง เข้าใจ และสื่ออกมาให้ได้ ทำให้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์มาก มีพัฒนาการในการใช้ภาษา เรียนได้แค่ไฮสคูล เพราะอายุ 18 ต้องกลับมาทำงานที่เมืองไทยตามคำสั่งพ่อ
...รักการเขียนตั้งแต่อยู่อังกฤษ เขียนได้ทุกเรื่อง ก็ต้องยกความดีให้กับโรงเรียนที่อยู่กลางป่า สิ่งแวดล้อมจากบ้านสวน ดิฉันก็ได้ไปอยู่กลางป่า มันเปลี่ยนแปลงเยอะในแง่ของวัฒนธรรม แต่การได้อยู่กับธรรมชาติมันยังต่อเนื่อง
...คิดอะไรก็จะเขียนไว้ในเศษกระดาษ จนมีเพื่อนนำไปพิมพ์ลงบางกอกโพสต์ สำนักพิมพ์ติดต่อรวมเล่ม ก็เป็นกวีนิพนธ์นิทานภาษาอังกฤษเล่มแรก “On the White Empty Page”
...เป็นบทกวีที่สะเปะสะปะที่สุด เพราะไม่เคยคิดจะรวบเล่มไงคะ และที่ใช้ชื่อนี้เพราะมีอยู่บทดิฉันเขียนว่า มนุษย์มักจะทนกระดาษขาวที่ว่างเปล่าไม่ได้ ต้องเอาอะไรมาใส่ จะโน้ต สี หรือตัวอักษร
...อีกมุมหนึ่งดิฉันเป็นนักแปล แปลไทยเป็นอังกฤษ เล่มล่าสุด สมเด็จพระราชินีฯ ให้แปล ‘กาพย์เห่เรือ’ เป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม เพื่อใช้เป็นของขวัญส่วนพระองค์ เวลาท่านเสด็จยังประเทศต่างๆ ชิ้นนี้ถือเป็นงานแปลที่ยากที่สุดของดิฉัน เพราะต้องแปลให้ตรงตัวและมีความไพเราะ
...ได้เขียนชีวประวัติของตระกูล ‘หวั่งหลี’ เป็นชีวิตที่มีสีสัน ทำให้ตอนเขียนสนุกมาก สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ขอซื้อ หวั่งหลีก็อนุญาต แต่คงไม่สวยเท่าเล่มใหญ่ที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณสุวิทย์ หวั่งหลี
..ส่วน ‘ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง’ ก็ไม่ได้ตั้งใจเขียน ถึงบอกว่างานดีมักจะออกมาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เล่มนี้เขียนคราวไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ ตอนนั้นถูกฝึกให้อยู่คนเดียว ไม่ให้พูด เขียน อ่าน แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องเขียน ก็โดนดุ สมกับทฤษฎีมนุษย์ทนต่อกระดาษขาวไม่ไหว
...นิทานเด็ก ‘ฉันคือปูลม’ ขายหมดเกลี้ยง ตอนนี้มูลนิธิญี่ปุ่นติดต่อซื้อไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ล่าสุด คุณสมรรถ คุ้มสุวรรณ ศิลปินโคราชทอผ้าภาพประกอบให้นิทานเล่มใหม่ ‘เจ้าแสดแปดขา’ เพราะฟังนิทานแล้วเกิดความประทับใจ
...งานทุกชิ้นที่ทำไม่ได้มองว่าต้องมีคอนเซ็ปต์ ไอเดียปฏิทินปีนี้ของล็อกซเล่ย์อยากให้พูดถึงน้ำใจ เราก็มองน้ำใจที่เอื้อเฟื้อกันของธรรมชาติ คำก็เขียนให้สั้นไพเราะ เพื่อให้กำลังใจคนที่กำลังท้อแท้
...ศิลปะคือส่วนหนึ่งในชีวิตของดิฉันไปแล้ว อย่างผ้าไทยที่นุ่งอยู่ทุกวัน แค่มองลายผ้าก็มีความสุขแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าที่ทำเป็นแค่งานอดิเรกหรือไม่ เพราะงานดิฉันทุกชิ้นทำก็เพื่อหาเงินเข้ามูลนิธิ ‘เรือนร่มเย็น’ เพื่อช่วยเด็กวัยรุ่นจากครอบครัวมีปัญหายากเสพย์ติด หรือโดนทารุณกรรม”
ทุกสิ่งศิลป์ที่ทำก็เพื่อหวังนำเงินไปจุนเจือสังคม โดยวาดหวังว่าเธอจะมีส่วนชี้ทางถูกต้องให้กับวัยรุ่นไทย
จาก: นิตยสารเปรียว ฉบับที่ 379 ปักษ์หลังเมษายน 2541
Comments