“การเป็นนักเขียนแล้วได้รางวัลนราธิปฯ สำหรับ lifetime award (รางวัลสำหรับความสำเร็จตลอดช่วงชีวิต) ในส่วนตัวเองแล้ว..ตกใจ เพราะไม่เคยคิดว่าตลอดอายุของเรานี้ได้เขียนอะไรมากมาย รู้สึกว่าไม่ได้เขียนเยอะแยะเหมือนคนอื่นๆ เมื่อทราบว่าได้รับรางวัลนี้ ก็ตกใจและดีใจมากด้วย"
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ซึ่งในเวลานี้ถนัดจะเรียกตัวเองว่า “ป้าศรี” ได้รับรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ ใน ปี 2563 รางวัลนี้เป็นของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2544 อันเป็นปีที่สมาคมนักเขียนฯ ก่อตั้งครบ 30 ปี และเป็นวาระครบ 110 พรรษา ของ ศ.พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รวมทั้งครบรอบ 10 ปี ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สมาคมนักเขียนฯในสมัยที่ ประภัสสร เสวิกุล เป็นนายกสมาคมฯ จึงดำริให้มีการมอบ “รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์” แก่นักเขียน นักแปล กวี นักหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการอาวุโสที่สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีผลงานเป็นที่น่ายกย่องอย่างกว้างขวาง
ในเรื่องการเขียนคุณหญิงจำนงศรีเล่าว่า “อยาก acknowledge คนที่มีบุญคุณกับป้าในเรื่องการเขียน 4 คนด้วยกัน คนแรกคือ ดร.มนตรี อุมะวิชนี ท่านเป็นผู้ที่ทำให้เรารู้ตัวว่า เราเป็นนักเขียน เป็นกวี อาจารย์มนตรี ท่านเป็นกวี นักวิชาการ และนักปรัชญาที่ถูกลืม ทั้งที่งานท่านเยอะมาก ภรรยาท่าน(รศ.จุฑาทิพย์
อุมะวิชนี ) ได้รวบรวมผลงานไว้ น่าเสียดายที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบทกวีที่ท่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ได้เขียนภาษาไทย คนไทยอาจจะอ่านงานของท่านได้จำกัด แต่ฝรั่งเห็นว่างานของอาจารย์มนตรียิ่งใหญ่ กวีในโลกตะวันตกยกย่องท่านมาก ท่านยังเป็นประธานสภากวีโลกด้วย งานแต่ละชิ้นของท่าน จะสั้นๆ 3 บรรทัด 5 บรรทัด แต่อ่านแล้วคิดเยอะมาก
"สำหรับป้า หลังจาก “The Moth” เรื่องสั้นที่เขียนไว้เมื่อตอนอายุราว 16 ปี และได้ตีพิมพ์ในวารสารสามัคคีสารน์ ของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในอีกราว 2 ปีถัดมา (พ.ศ.2499-2500) ก็ไม่ได้มีผลงานอะไรออกมาอีกเลย กระทั่งอาจารย์มนตรีท่านเป็นคนแรกที่ได้อ่านงานที่ป้าเขียนไว้เรื่อยๆ ตรงนั้น
ตรงนี้ เป็นแบบบันทึกความคิด ที่ไม่ได้คิดว่าจะตีพิมพ์ แต่อาจารย์อ่านแล้วก็ว่า..นี่เป็นงานกวีนิพนธ์.. คือสำหรับเรามันเป็นแค่บันทึก
"หลังจากนั้น อาจารย์ก็เลือกบท A women to her daughter ท่านบอกนี่ไม่ใช่แค่แม่เขียนถึงลูกสาว แต่เป็นบทกวี ซึ่งตอนแรกยังไม่มีชื่อบท ท่านก็ช่วยตั้งชื่อ แล้วส่งไปให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ตีพิมพ์ นี่เป็นครั้งแรกที่มีคนบอกว่าเราเป็นกวี คือท่านเป็นคนที่ช่วยกระตุ้นเตือนว่าเราเป็นกวี และเอางานไปตีพิมพ์เพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็น
"ต่อมาคุณสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ จากสำนักพิมพ์ Pleasant Media มาหาที่บ้าน ว่าน่าจะรวบรวมงานที่เขียนๆ ไว้ และขอตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือรวมบทกวี โดยตั้งชื่อว่า On the White Empty Page ซึ่งเป็นชื่อบทกวีบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ด้วย บทนี้มีที่มาจากอาจารย์มนตรีเช่นกัน คือ ท่านรู้สึกว่าเราเป็นกวีแต่ไม่ผลิตงาน ตอนนั้นตอบท่านไปว่า ก็ไม่รู้จะเขียนยังไง ที่ผ่านๆ มา เวลาจะเขียน..ก็เขียน แล้วก็ไม่ค่อยเขียน ท่านบอกให้เอากระดาษสีขาววางไว้ข้างหน้า มีปากกาไว้ด้ามหนึ่ง เขียนอะไรก็ได้ลงไปบนกระดาษ แล้วมันจะออกมาก สุดท้ายจึงได้ออกมาเป็นบท On the white empty page
"เรื่องนี้อาจจะดีสำหรับคนที่อยากจะเขียน เพราะบางทีเราเขียน ไม่ใช่เพราะเราคิดว่าเราเขียนได้ แต่เราเขียนเพราะว่าอยากเขียน กับเพราะว่ามันมีอะไรข้างในตัวเรา ที่มาของผลงานงานจึงไม่ใช่ว่า ฉัน จะ เป็น นัก เขียน ตรงนี้อยากจะเล่าไว้ เผื่อใครที่อยากจะเขียน
"อีกท่านที่มีบุญคุณกับป้า ผลงานของท่านอาจไม่ลึกเท่าอาจารย์มนตรี แต่ท่านมีอารมณ์ขันมาก คือ ท่านจันทร์จิรายุ รัชนี ท่านเป็นอีกคนที่คอยเตือนให้ว่า เราเป็นกวี ท่านไม่เรียกชื่อ แต่จะเรียกว่า กวินี ท่านเห็นก็จะเรียก ‘อ้าว มานี่ กวินี’ ในตอนนั้นที่ป้าไม่คิดว่า ใครจะเห็นเราเป็นกวี
"ที่ลืมไม่ได้อีกท่าน คือ อาจารย์เจตนา นาควัชระ ที่ท่านกรุณาช่วยเขียนบทนำและวิจารณ์หนังสือรวมบทกวี On the White Empty Page ท่านเขียนด้วยแง่มุมที่ละเอียดลึกซึ้ง ทำให้ผลงานของเราดีขึ้นไปกว่าที่ป้าเห็นมาก
สุดท้ายคือ คุณเทพศิริ สุขโสภา ที่ได้ทำงานแปลบท 'หยดฝนกับใบบัว (Raindrop and Lotus Leaf)' ด้วยกัน ตอนนั้นป้าไม่มีความมั่นใจในภาษาไทยของตัวเอง ส่วนอาจารย์เทพศิริท่านก็ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ก็เลยแปลร่วมกัน แต่ในด้านความงดงามของภาษาเป็นของคุณเทพศิริทั้งหมด ผลจากการแปลร่วมกันนี้ ป้าถึงได้เขียนภาษาไทยได้อย่างที่ใครๆ ว่า เขียนได้ไพเราะ ทั้งที่ตอนแรกภาษาไทยไม่ถนัดเลย แต่ก็ไม่ยากนักเพราะมีพื้นฐานอยู่ ต้องขอบคุณคุณเทพศิริ ทำให้ได้เรียนรู้การเขียนภาษาไทยที่งดงาม"
…………………………………………
ประวัติย่อ 4 บุคคลสำคัญในชีวิตนักเขียนของคุณหญิงจำนงศรี
ดอก la ginasta
ดร.มนตรี อุมะวิชนี
LIMIT
Tell me where my limit lies
so I may go up to it
And knock just so gently
To show I am human.
บทกวีข้างต้นเป็นหนึ่งในบทกวีที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของ ดร.มนตรี อุมะวิชนี ทั้งยังกล่าวได้ว่า สะท้อนให้เห็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น กล้าหาญและแน่วแน่ของท่าน
ดร.มนตรี เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2484 ในครอบครัวฐานะไม่ดีนัก ใช้ชีวิตส่วนใหญ่คลุกคลีกับบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) ที่ท่านได้ใช้เวลาว่างเป็นไกด์อาสาพานักท่องเที่ยวเข้าชมวัดฟรีเพื่อฝึกฝนภาษา จนกระทั่งเชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส
ทัสสภา อุมะวิชนี บุตรชายของท่าน ได้เล่าถึงบิดาไว้ใน งานเสวนา "กวีกับการพัฒนาสังคม: ชีวิตและงาน ดร.มนตรี อุมะวิชนี” ว่า “ดร.มนตรี จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ท่านสอนด้านวรรณคดีและปรัชญา ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ธรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์
“ความชำนาญของท่านคือการแต่งและแปลวรรณคดีทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ท่านรักวรรณคดีในฐานะเป็นสิ่งเชิดชูจิตใจที่มีความเป็นสากล ที่สะท้อนอารมณ์และแสดงถึงคุณธรรมความดี ในขณะเดียวกันเป็นการระบายออกมาผ่านถ้อยคำและภาษา
“ในการแปลบทกวี ดร.มนตรี รักษาดนตรีและคงอรรถรสในส่วนของจังหวะภาษาต้นฉบับ โดยไม่มีการเพิ่มเติมกลบทที่ไม่จำเป็น งานแปลของท่านจึงมีโครงสร้างภาษาที่คล้ายคลึงสามารถเปรียบเทียบได้กับต้นฉบับ
“ท่านอุทิศตนในการแสดงคุณค่าและอัตลักษณ์ของภาษาที่แตกต่างกันในแต่ละงานบทกวีทั่วทั้งโลก ท่านทุ่มเทกับทั้งงานประพันธ์และงานแปล จนช่วงสุดท้ายของชีวิต ที่ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับอักเสบในปี พ.ศ. 2548 แต่ยังคงทำงานแปลชิ้นสุดท้ายคือ บทกวี La Ginestra ของ Giacomo Leopardi จนสำเร็จ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากรัฐบาลอิตาลี ในปีเดียวกัน
อาจกล่าวได้ว่า ท่านใช้ภาวะของความเจ็บไข้ได้ป่วย ตลอดจนความขุ่นข้องหมองใจในชีวิตมาเป็นแรงผลักดันในการประดิษฐ์ถ้อยคำและภาษา ตลอดจนนำมาใช้ในการแปล ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า กวีคือผู้ที่สามารถนำอารมณ์ ความรู้สึกและสิ่งรอบตัวมาใช้ในการรังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีคุณค่า”
ในงานเสวนาเดียวกัน คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับงานของอาจารย์มนตรีโดยเปรียบกับดอก la ginasta อันเป็นชื่อผลงานแปลกวีนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายของอาจารย์ว่า อาจารย์มนตรีชอบเสียดสีและมองโลกในแง่ร้าย และในนั้นท่านได้ดึงคุณค่าออกมาจากความย้อนแย้งและเสียดสี นั่นก็คือ การปล่อยวางจากสิ่งที่ยึดมั่น อันเป็นความงาม เหมือนดอก la ginasta ยอมตนจมใต้ลาวา เพื่อให้เมล็ดพันธ์ุได้งอกใหม่และยืนหยัดขึ้นอีกครั้ง
“งานของอาจารย์อยู่ระหว่างการใคร่ครวญกับอารมณ์ความรู้สึก เราต้องใช้ความละเอียดอ่อนในจิตใจเพื่อเข้าถึงผลงานที่มีความเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง และเมื่อเข้าถึงแล้วจะรู้สึกได้ว่า อาจารย์มนตรีเปลี่ยนเราให้อ่อนโยนขึ้น ให้เห็นสิ่งที่อาจจะมองข้ามไป ทั้งแสดงให้เห็นในมุมที่ทุกอย่างมีความขัดแย้ง แต่อยู่ร่วมกัน และถ้าเรามองทะลุความขัดแย้ง จะเห็นสัมพันธภาพของทุกสิ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม”
นำไปสู่ข้อสรุปในการเสวนาที่ว่า อาจจะมองได้ว่า ดร.มนตรี อุมะวิชนี เป็น Productive pessimist ใช้มุมมองทางลบรังสรรค์สิ่งที่เป็นเชิงบวก ในลักษณะที่ไม่เปิดเผยชัดเจน ต้องการการซึมซับ เพื่อตีความคุณค่านั้นออกมา นอกจากนี้อาจมองได้ว่า ท่านเป็นเป็นนักวิทยาศาสตร์อีกด้วย ท่านทดลองหลายอย่างในชีวิต ระหว่างโลกภายในตัวตนกับโลกภายนอก จนกระทั่งตกผลึกเป็นงานที่ทรงคุณค่า สามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์ของทุกคน
ดร.มนตรีได้รับการยกย่องให้เป็นกวีร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย และเคยดำรงตำแหน่งประธานสภากวีโลก ผลงานของท่านมีจำนวนมากและประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ข้อเขียนและบทกวีของ อ.มนตรี ได้รับการรวบรวมไว้ในหนังสือชุด “โลกา-เวลา: กวีนิพนธ์และข้อเขียน” เป็นหนังสือปกแข็งเล่มใหญ่ 2 เล่ม ( โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2016.)
ในส่วนของผลงานการแปลบทกวี ดร.มนตรี ได้เขียนไว้ในหนังสือ 'สี่กวีเอกอเมริกา' ว่า “บทร้อยกรองใช้สิ่งต่อไปนี้สื่อความหมาย (1) เสียง (2) จังหวะของเสียงซึ่งแสดงความสัมพันธ์ของคำ และ (3) โครงสร้างทั้งหมดของบทกวีและการลำดับความคิด เพื่อพัฒนาภาพพจน์ในบทกวี ทั้งหมดนี้รวมเป็น “ดนตรี” ของ บทนั้น และในการแปลเป็นภาษาอื่น ผู้แปลต้องจับดนตรีของต้นฉบับให้ได้ก่อน ต่อจากนั้นผู้แปลต้องบรรจุ 'ดนตรี' ที่สร้างด้วยเครื่องมือในภาษาฉบับแปลที่เทียบเคียงได้ลงไปในงานแปล"
ทั้งนี้ในการเข้าถึงดนตรีของต้นฉบับนั้น ดร.มนตรีแนะนำว่า ต้องอ่านต้นฉบับหลายๆ ครั้งเพื่อถ่ายทอดจังหวะและเสียงของต้นฉบับเข้าไปในตัวเอง จนดนตรีของกวีนั้นได้กลายมาเป็นดนตรีในจิตใจของผู้แปล แล้วจึงถ่ายทอดออกมาเป็นฉบับแปล และหน่วยของการแปล คือ วรรค ควรเป็นวรรคต่อวรรค จำนวนคำ และสัมผัสในแต่ละวรรคให้คงต้นฉบับให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ตัวอย่าง ผลงานแปลของ ดร.มนตรี
ส่วนหนึ่งของงานแปล บทกวี La Ginestra ของ Giacomo Leopardi
.....จิเนสตร้าส่งกลิ่นหอม
อดทนในดินแดนที่อ้างว้าง เออจริงล่ะ ฉันเห็นเจ้า
ณ ที่กิ่งก้านของเจ้าให้ความงดงามแก่ความเปล่าเปลี่ยว
ของเส้นทางความตายที่ทอดอยู่
รอบกรุงโรม ซึ่งมันเคยเป็นราชินีแห่งนครมาแล้วครั้งหนึ่ง
ประดับอยู่ในจักรวรรดิที่ผ่านพ้น
......
และเจ้า จิเนสตร้าที่อ่อนโยน
ประดับบนท้องทุ่งที่ถูกทำลายเหล่านี้
ด้วยพุ่มที่ส่งกลิ่นหอมของเจ้า เจ้าเอง
ก็จะต้องพ่ายแพ้ในไม่ช้าต่อไฟที่โหดร้าย
ของอาณาจักรใต้พิภพที่ยิ่งใหญ่นั้น
......
ในความหยิ่งทะนงคลุ้มคลั่งสู่ดวงดาว
หรือเหนือสถานที่อ้างว้างนี้ที่ซึ่ง
การกำเนิดและแหล่งเติบโตของเจ้า
เป็นของเจ้ามิใช่การเลือกเอง แต่เป็นการเลือกของชะตากรรม
แต่ฉลาดกว่าและอ่อนแอน้อยกว่า
อ่อนแอน้อยยิ่งกว่ามนุษย์ เนื่องจากเจ้าสามารถประเมินค่า
เผ่าพันธุ์ที่บอบบางอย่างแท้จริงของเจ้า
โดยไม่มีสภาพที่ไม่ตายตามลิขิตชะตากรรมที่ได้มาด้วยตนเอง
บทกวี FIRE AND ICE ของ โรเบิร์ท ฟรอสต์
FIRE AND ICE
ไฟกับน้ำแข็ง
Some say the world will end in fire,
บางคนว่าพิภพจบด้วยไฟ
Some say in ice.
บ้างว่าน้ำแข็ง
From what I’ve tasted of desire
จากที่ฉันเคยรู้รสความใคร่
I hold with those who favor fire.
ฉันเห็นพ้องกับพวกที่ชอบไฟ
But if it had to perish twice,
ถ้าเกิดโลกต้องแตกถึงสองครั้ง
I think I know enough of hate
ฉันคิดว่าฉันรู้สึกความชัง
To say that for destruction ice
จนเห็นการทำลายด้วยน้ำแข็ง
Is also great
ก็ทรงพลัง
And would suffice.
และคงพอแรง
(อ้างจาก หนังสือการแปลบทร้องกรอง ของ สัญฉวี สายบัว)
ตัวอย่างบทกวีของ ดร.มนตรี อุมะวิชนี
Mahayana
Myriads of Buddhas sit
in latticed stupas,
whose teachings are unheard,
while the unseen one
behind and above
is speaking the word.
On Arrival
I will bring with me
The flowers that have leapt
To the top stupa
And dissolved into
A dilatory memory.
(From : The Peripatetic of Paradise)
‘Here where the tree once stood,
Is now a shelter from ancient rains.
ใน บทความเรื่อง The Scent Of Poetry- A tribute to my father Montri Umavijani (1941-2006) ของ ภิสสรา อุมะวิชชนี บุตรสาว ดร.มนตรี อุมะวิชนีย์ เธอเล่าถึงพ่อผู้ชื่นชอบน้ำหอม อันเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเป็นผู้ผลิตน้ำหอมและน้ำหอมของเธอที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีของบิดาได้รับรางวัลระดับโลก ความตอนหนึ่งว่า “...พ่อชอบสังเกตผู้คน และเขียนเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ประเทศต่างๆ การเมืองและทุกอย่างที่เข้ามาในจิตใจ... พ่อมีความปรารถนาอย่างหนึ่งมาชั่วชีวิต คือการสร้างสรรกวีนิพนธ์ที่เป็นอมตะ งานของพ่อมาก่อนกาลและยังคงดำรงอยู่แม้ว่าพ่อจะจากไปแล้ว”
ข้อมูลอ้างอิง
“ภาพรวมชีวิตและงานของ ดร.มนตรี อุมะวิชนี” โดย ทัศสภา อุมะวิชนี(บุตรชาย)
ในงานสัมมนา กวีกับการพัฒนาสังคม : ชีวิตและงาน ดร.มนตรี อุมะวิชนี
"กวีมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมอย่างไร : วิเคราะห์กรณีศึกษาบทกวี เรื่อง La Ginestra"
โดย คุณหญิงจำนงค์ศรี หำญเจนลักษณ์, นักเขียนและนักแปล
https://www.conjunctions.com/print/article/montri-umavijani-c1
https://www.cafleurebon.com/the-scent-of-poetry-a-tribute-to-my-father-montri-umavijani-1941-2006/
มจ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี
คุณหญิงจำนงศรี เขียนเล่าเรื่องของภาพนี้ไว้ว่า
"มีคนค้นเก่งส่งรูป ท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทรจิรายุวัฒน์ รัชนี)กับ “กวิณี”(ที่ท่านไม่เคยยอมเรียกชื่อจริง) มาให้
ในรูปนี้เข้าใจว่าท่านกำลังอธิบายเรื่อง อาณาจักรศรีวิชัย ที่ท่านค้นคว้าและมีความคิดเห็นที่แย้งกับ George Cedes
เห็นรูปแล้วรู้สึกถึงสายสัมพันธ์ตอนนั้นของเราไหมคะ สำหรับป้าศรี ท่านเป็นคนที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร
ท่านรุ่มรวยทั้ง สมอง หัวใจ และอารมณ์ขันอันคมกริบ สมเป็นนักเรียนอังกฤษตั้งเยาว์วัย
รูปนี้ถ่ายที่บ้านป้า ท่านมาเยี่ยม มาคุยเมื่อนานมาแล้ว (“บ้าน” ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ
“รัตนินจักษุคลีนิค” ที่ซอยอโศก สุขุมวิท เดี๋ยวนี้กลายเป็น “โรงพยาบาลจักษุรัตนิน”ไป
หมดแล้ว)
สิ่งที่”เคย”มี ก็ไม่มีแล้ว
“มี”กับ”ไม่มี”เป็นของคู่ในโลกมายา ที่เป็นบ่วงของทุกข์สุขให้มนุษย์เราหลงติด และดิ้นรน
กันอยู่
อ้าวป้าศรีก็งี้แหละ เขียนไปเขียนมา ก็มาลงท้ายแบบนี้
พูดถึง กวีหญิง…. หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ผู้ที่บรรดานักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี กวี นักเขียน และศิลปิน เรียกกันว่า “ท่านจันทร์” ท่านเป็นคนแรกที่ป้าได้ยินใช้คำว่า “กวิณี”
ยังจำได้ดีว่าท่านจะไม่เรียกชื่อป้าศรี แต่จะอมยิ้ม เรียก“กวิณี”เสมอ
ป้าชอบไปสนทนากับท่านจันทร์ ที่วังถนนโชตนา แม่ริม เชียงใหม่ เป็น "วัง”ที่เป็นบ้าน
ธรรมดาๆ ไม่โอ่อ่าแต่ประการใด ท่านมีอารมณ์ขันมากมาย เป็นอารมณ์ขันที่ฉลาด คมกริบ
บ่อยครั้งผสมรสแสบๆ คันๆ ซึ่งป้าศรีชอบมากๆ ชอบฟังท่าน คุยกับท่านเป็นยิ่งนัก ท่านเป็น
ทั้งนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี กวี (ทั้งภาษาอังกฤษ และไทย) ที่ปราดเปรื่อง
ใครอ่านถึงตรงนี้คงรู้ว่าป้าทั้งรักทั้งชื่นชมท่านเพียงใด
ท่านจันทร์ สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2534 เมื่อชันษาได้ 81 ปี"
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) และหม่อมพัฒน์ รัชนี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2453) ซึ่งท่านได้ทรงนิพนธ์โคลงเล่าไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ว่า
พฤหัสขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนแปด
จันทร์กระโดดกระเด็นแดด เที่ยงเปรี้ยง
จอแปดจะแปดแฝด แปดเดี่ยว ก็ดี
เข้าวษาเสียงเพี้ยง สวดพร้องคล้องหอนฯ
Born : nineteen hundred and ten (A.D.1910)
That was the year when King died*
The stars in heaven did laugh
On earth people cried when I was born
(*กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่เจ็ดแห่งอังกฤษและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตในปี 1910 /พ.ศ.2453)
ขณะชันษาได้เพียง 8 ขวบ ก็ทรงกำพร้าแม่ ต่อมาเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2464 และศึกษาอยู่เป็น เวลา 11 ปี ทรงได้รับปริญญาเศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระหว่างที่ศึกษาทรงสนพระทัยด้านวรรณคดี และอักษรศาสตร์ ทำให้ทรงมีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ วรรณคดี และกวีนิพนธ์ อีกด้วย
เมื่อเสด็จกลับเมืองไทยได้ทรงเรียนภาษาไทยและการแต่งฉันทลักษณ์กับพระบิดา ซึ่งเป็นนักปราชญ์และนักประพันธ์นามอุโฆษของไทย ในพระนามปากกา น.ม.ส. และด้วยสืบทอดพระปรีชาสามารถด้านกวีจากพระราชบุพการี ทำให้ทรงเชี่ยวชาญในการนิพนธ์คำประพันธ์ทุกประเภท ทรงใช้พระนามแฝงว่า พ. ณ ประมวลมารค ซึ่งพระบิดาตั้งประทาน (ส่วน ว. ณ ประมวลมารค ผู้ประพันธ์ เรื่อง ปริศนา คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นพระกนิษฐาต่างพระมารดา)
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ หรือ “ท่านจันทร์” ทรงเป็นกวีที่สามารถนิพนธ์ได้อย่างดีเยี่ยมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทรงได้รับการยกย่องเป็น “กวีสองภาษา” และสมาคมกวีโลกได้ยกย่องถวายพระเกียรติให้ท่านเป็น “รัตนกวีแห่งตะวันออก” ( Foet Laurate of the East) ผลงาน เรื่อง Facets of Thai Poetry และ Poetry 2000 A.D. ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานด้านวรรณคดีวิจารณ์ อีกด้วย ในแง่มุมหนึ่งเรียกได้ว่า ท่านเป็นกวีที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างอดีตสมัยกวีรุ่งโรจน์ในราชสำนักกับปัจจุบัน และเป็นสะพานให้กวีชาติอื่นๆ ได้รู้จักกวีไทยและฉันทลักษณ์ไทย
ดร.มนตรี อุมะวิชนี ยกย่องว่า ท่านจันทร์เป็นกวีสองภาษา (bi-lingual poet) คือเป็นผู้ถ่ายทอดฉันทลักษณ์ของไทยออกเป็นบทกวีภาษาอังกฤษ และก่อให้เกิดจังหวะ ทำนองของคำอย่างใหม่ รวมทั้งการสัมผัสรูปแบบใหม่ในภาษาอังกฤษ จากนั้นก็เกิดอารมณ์ขัน การเสียดสีที่เป็นสากล ตลอดจนเป็นมโนภาพของสัจธรรมแบบพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง
ตัวอย่างผลงานของ "ท่านจันทร์"
สุโขทัย
พี่วาดภาพน้องติด เต็มฝา
ผนังวิหารศาลา โบสถ์ล้น
ผีฟ้าย่องเบามา ชมชอบ
เพื่อนลักทั้งผนังปล้น เปลี่ยวเศร้าสุโขทัย
Sukhothai Murals
I drew the likeness, filled wall,
Vihara, sala, hall ’s whole writ
Seraphim came to call they look’t
They like’t, they stole it Poor Sukhothai
ท่านทรงงานกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษที่ทำให้ชาวต่างประเทศรู้จัก มากว่า 450 บท ล้วนใช้ฉันทลักษณ์ไทย ทั้งรูปแบบโคลงสอง โคลงสาม และ โคลงสี่ เช่น ผลงานNorthern Village Idyll เป็นโคลงสองที่เล่าเรื่องชนบทด้วยอารมณ์ขัน
IDYLLS AND FANTASIES OF MY VILLAGE
NORTHERN VILLAGE IDYLL
(Couplet Kloangs)
Now, in my old age I live in a village
in Northern Siam,
Where I have quiet, peace, And the bamboo trees
onomatoply
Sing lerd-ord, Ord-ierd, Mixed with sounds of weird
birds under bush,
Who give early warning Every morning
that day has dawned.
In front runs a road, Bullocks with their load
prodding along.
It's only a track Really, at the back
of the main road,
The surface is bumpy, Jumpy and humpy
in certain parts.
In the same village, In a small cottage
a man and wife
Once lived in harmony, They are young, happy,
loved one another.
He worked in the fields, Where the good soil yields
an abundance;
While she is a warm- hearted school marm
who teaches in town
About ten miles away. She goes every day
on her motor bike,
A little Hando Pup. Imported from Jup-
an and handy.
A young man lives also In the village, who'd go
to work in town
In a small office (Don't know what his job is
but never mind.)
She gave him a ride Once, with legs astride
on the pillion,
One hand on her waist. Th' other on her breast
for firmer grip!
Going over bumps (The motor bike jumps)
he held tighter;
When the road's smooth again, He caressed the pain
where he squeezed her.
With a smile on her face, She slowed down her pace.
sometimes faster!
Like this all the way Into town where they
separated.
"Thank you for the ride, He said. She replied.
Don't mention it.
"A pleasure indeed, If you like my steed
I'll take you home.
"Delighted. When it's dark I'll wait in the park
and off we go!"
I see them on their way Like this every day
and say nothing.
Others also see But they are not like me
and they gossip.
This got to the ears Of hubby, who hears.
and understands.
He said to his spouse "You can leave this house.
if you want to;
"I shall indeed grieve If you really leave.
but never mind.
"And permission I grant, Anything you want
you take with you.
"Tables, chairs and clothes, Blankets, I suppose.
and knives, forks, spoons, "Cooking utensils, Paper and pencils.
anything you like."
"Kind of you, my dear." She said, "but I fear
there is nothing
"That I really like, "Cept this Hando bike-
A Souvenir!"
ทั้งทรงแปลกำสรวลศรีปราชญ์และนิราศนรินทร์ เป็นภาษาอังกฤษโดยรักษาฉันทลักษณ์เดิมไว้ ประมาณ 30 บท เช่น ถ้าต้นฉบับเดิมของไทยเป็นโคลง ท่านก็ทรงแปลเป็นโคลงเช่นกัน ท่านทรงพยายามแปล โดย “ถือเสียงเป็นใหญ่ ความจะเพี้ยนหรือตกหล่นไปก็ยกให้”
ตัวอย่างผลงานแปลนิราศนรินทร์
บางขุนเทียนถิ่นบ้าน นามมี
เทียนว่าเทียนแสงสี สว่างเหย้า
เย็นยามพระสุริยลี ลาโลก ลงแม่
เทียนแม่จุดจักเข้า สู่ห้องหาใคร
Bang Khun Thian, a district by name
Thian, a candle whose flame give light
by candlelight she came for whom
At this time of night was she seeking
(อ้างใน สุพรรณ ทองคล้อย. “งานวรรณกรรม ของ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี หรือ พ.ณประมวลมารค)
นอกจากนี้ยังมีบทนิพนธ์ ยั่วล้อ ที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน เช่น นิราศกลอนพาไปที่นิพนธ์ “ล้อ” นิราศไทย
โฉมพ่อจักฝากร้านกาแฟ กระนั้นฤา
โฉมพ่อเกรงเมาแอ๋ ที่ร้าน
โฉมพ่อลั่นกุญแจ ดีกว่า กระมังนา
โฉมพ่ออยู่เฝ้าบ้าน อย่าให้กระไดหาย
นอกจากด้านวรรณคดีและกวีนิพนธ์ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุยังทรงเป็นนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ ทรงมีผลงานที่ท้าทายทฤษฎีเดิมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะสมัยศรีวิชัยและสุโขทัย โดยอาศัยการพิสูจน์หลักฐานทางภูมิศาสตร์และศิลาจารึก ก่อให้เกิดเสรีภาพทางวิชาการในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เช่น พระราชนิพนธ์เกี่ยวกับที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุสิ้นชีพิตักษัย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 ขณะมีชันษาได้ 81 ปีเศษ
ข้อมูลจาก : หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี. สำนักพิมพ์พิฆเนศ พริ้นติง เซ็นเตอร์, 2535.
https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/NicolO11xqjf3jlMtGhDRDpegNayoYMzC2ogmFl5.pdf
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ เกิดวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่กรุงเทพฯ เข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นปีที่ 1 และได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ จนจบปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาภาษาปัจจุบัน จาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก (เกียรตินิยมดีมาก) สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ จาก มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
ดร.เจตนา กลับมารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จนถึง พ.ศ. 2511 จากนั้นจึงย้ายไปเป็นอาจารย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ เมื่อพ.ศ. 2514 แล้วจึงออกจากราชการไปปฏิบัติราชการในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Secretariat: SEAMEO) รวม 4 ปี โดยสองปีหลังดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการของสำนักเลขาธิการ
หลังจากนั้นได้กลับเข้ารับราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากร ในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนา จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 เมื่อ พ.ศ. 2540
อาจารย์เจตนาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโลกวิชาการตะวันตกเข้ากับประเทศไทย มีผลงานสำคัญด้านภาษาและวรรณคดีเยอรมัน วรรณคดีเปรียบเทียบ การวิจารณ์ศิลปะ และการอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังเขียนหนังสือ ตลอดจนบทความ สำหรับผู้อ่านทั่วไปและผู้อ่านทางวิชาการ ทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส
ดร. เจตนา ยังเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในสังคมไทย เรียกได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิด 'วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์' โดยเผยแพร่ผ่านงานเขียนและการบรรยายผลงานการวิจารณ์ศิลปะ รวมถึงการเป็นผู้นำทางความคิดทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์
ตัวอย่างผลงาน
จากตะวันออก-ตะวันตก สู่โลกาภิวัฒน์ทางปัญญา 2546
เก่ากับใหม่อะไรดี : มนุษยศาสตร์ไทยในกระแสของความเปลี่ยนแปลง 2548
ครุ่นคิดพินิจนึก 2544
คู่มือ Leben des Galilei ของ Bertolt Brecht 2522
จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินอื่น : รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์ 2548
ตัวอย่างผลงานแปลบทกวีเป็นภาษาเยอรมัน
บทกวี จงกรม โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ แปลโดย ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ
จงกรม
นกละเมอจิ๊บ เบาเหมือนปลายเข็ม
สะกิดเงาเงียบ
โมงยามอ่อนเยาว์ เกินกว่าจะ
แยแสความงามสล้าง
ที่ทุ่งน้ำค้างแผ่เปลือยอวดฟ้า
โลกหลับ คืนตื่น เบ่งบาน เย็นชุ่ม
ห่มหุ้มคนที่เดี่ยวเดินกลางแสงจันทร์
แมกไม้ฉ่ำน้ำค้าง ยืนเหยียด เมยเฉย
ไม่รับรู้รับเห็นการวิ่งวนในบึ้งใจ
ที่คิดคูณคิด มายาฟักมายา
อารมณ์คลอดอารมณ์
โลกหลับ คืนตื่น เผยโฉมหน้า
ที่แปรเปลี่ยนไม่หยุดหย่อน
ของนักมายากลมือฉมัง
ชื่อ ‘ความทรงจำ’
ผู้คว้าลมมาปั้นเป็นความคิด
แล้วเสกให้เป็นผีหลอนหลอกใจมนุษย์
หรือ สัตว์เขี้ยวสัตว์เล็บกัดฉีกในหัวอก
หรือ ผีเสื้อปีกวิบวับ
หรือ ปุยเมฆเบาบาง
ที่ลอยผ่าน ห่างบ้างถี่บ้าง
โซ่ลมล่ามความคิดลมๆไว้
กับหิ้งบูชาลมๆ
แห่ง ตัวฉัน... ของฉัน คนนี้
จันทร์ซีดแสง จางสี ค่ำคืนถอยร่น
คายโลกให้แสงหลัวก่อนอรุณสาง
ขบวนคิดเรียวบาง จางลง แล้วขาดหาย
ขอบคั่นระเหิด โมงยามระเหย
อิสระจากตรวนแห่งพื้นที่
และเวลา
ธาตุรู้ แผ่ขยาย นวล นิ่ม
ตื่น นิ่ง สะอาดใส
กลืนกลาย เป็นหนึ่งเดียว
กับสรรพสิ่ง
Nachtspaziergang
Das Gezwitscher eines träumenden Vogels unterbricht
die Stille der Stunden, die
noch viel zu jung sind, sich darum zu sorgen, wie
die Felder dem Himmel ihre Schönheit entblößen.
Unbeachtet entfaltet die Nacht
ihren Samt, geteilt mit dem einsamen Spaziergänger.
Taunasse Bäume stehen still, abseits,
mondsilberne unbewusste Zeugen
des Austauschs im Inneren, wo Gedanken
Gedanken befruchten, Trugbilder Trugbilder erzeugen,
Leidenschaften Leidenschaften hervorbringen.
Unbeachtet entfaltet sich die Nacht,
Spiegelbild des ständig wechselnden Antlitzes des
Zauberers Erinnerung, der, ohne einmal
mit seinem Stab zu winken,
Gedanken hervorruft und sie in
Gespenster verwandelt, die spuken, oder in Biester,
die zerreißen und sich an die zugeriegelten Türen
der Menschenherzen krallen, oder in flatternde Schmetterlinge,
oder in luftige Wolken - flüchtig, gewichtlos -
die am friedlichen Himmel vorbeiziehen.
Unsichtbare Gedanken, unsichtbar gebunden,
befestigt und vertäut am unsichtbaren Altar
dieses Ichs, dieses sich unendlich vermehrenden Ichs.
Sich zurückziehend verblasst der Mond.
Die Nacht weicht dem unbeständigen Glanz
des aufkommenden Tages.
Gedankenverkehr verdünnt sich … hört auf.
Grenzen schwinden. Stunden lösen sich auf.
Von der Zeit entfesselt,
Vom Raum losgelöst,
das Wissen…
unendlich weich,
wach, still…
rein in Eintracht
mit
allen Dingen.
เทพศิริ สุขโสภา
“ย่างเข้าฤดูฝน ต้นอะไรๆ ก็พากันรีบงอก แตกใบอ่อนๆ ออกมา จนดินไม่มีที่ว่าง หลังจากฝนสาดซัดพื้น ปลุกเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ที่นอนฝังดินให้ตื่นมาโป่งหน่อแตกใบ ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยลูกพืชแย่งกันขึ้น พวกลูกมะขามเทศ ทั้งมะขามเปรี้ยวก็เขียวพรึบเป็นลานอยู่เต็มใต้ต้นแม่ของมัน ต่างพากันหยั่งรากใสๆ ลงไปให้ลึกตอนที่ดินยังอ่อนนุ่มอยู่ด้วยน้ำฝน แล้วม้วนตัวอายๆ ขึ้นมาชูเม็ดเปิดเหมือนปีก
พวกเถาวัลย์ที่ชูต้นตรงกับเขาไม่เป็น ก็เลื้อยทอดยอดออกไปไม่ยอมหยุด อยากให้แมลงปอเกาะ ทุกข้อแตกใบไม่บกไม่พร่อง เข้าคลุมกิ่งไม้แห้งและต้นไม้ตาย ให้ดูเป็นพุ่มสีเขียว คืนกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่”
(จาก บึงหญ้าป่าใหญ่)
เทพศิริ สุขโสภา เล่ากลวิธีการเขียนหนังสือไว้ว่า “เราเขียนเรื่องเหมือนเขียนรูป ใช้ตาเห็น และใช้ใจสัมผัส ส่วนคำมาจากความทรงจำ มาจากความรักในภาษา ไม่ได้มาจากอย่างอื่นเลย..เราเติบโตมาอย่างนี้ สมัยเด็กๆ มีแบบเรียนเล่มเก่า ก็ท่องไปสิ ดังทั้งศาลาเรียนที่เรียนร่วมกันทุกชั้น ฝากั้นก็ไม่มี ทุกห้องก็ได้ยินหมด มันก็จดจำกันได้...”
ภูมิหลังจากการเติบโตในชนบทและการเรียนศิลปะ เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างงานเขียนของเทพศิริ หรือ 'อาจารย์เทพ' เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2486 ในอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง (วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) และคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ผมรู้ว่าเขียนวิวเขียนฉากนี้ผมเก่ง เพราะเราเป็นนักวาด แต่นั่นคือฉาก ตัวละครคือคน ซึ่งเราไม่เข้าใจ เพราะเราเป็นนักวาด เลยเห็นจุดอ่อนว่าเขียนไปทำไมตัวละครแบนๆ ตัวละครของเราไม่มีพัฒนาการ เพราะไม่ได้เรียนอักษรศาสตร์ เรียนด้านวาดเขียนมา จึงออกไปเรียนคน ข้อนี้ตัดสินใจถูก ออกไปเรียนเรื่องคน อะไรคือคน มันมีสุข มีทุกข์ มันโกรธ มันโลภยังไง ไปคุย ไปฟัง ไปคลุกคลี จดด้วย จดมีประโยชน์มากเลย
บางทีเราเป็นเด็กอยู่ เราอยากเขียนเราก็เขียน แต่ลืมศึกษา ผมโตมาจากการเขียนหนังสือ หากินหาเลี้ยงชีพจากการเขียนหนังสือ วาดรูปไม่ค่อยได้วาดนะ เพิ่งมาวาดเอาเมื่อไม่นานมานี้เอง มันก็รักทั้งสองอย่าง แต่มาเว้นว่างเมื่อตอนรู้ว่าตัวเองโง่ ศึกษาเรื่องคนไม่พอ ศึกษาเรื่องสังคมไม่พอ โชคดีมีเพื่อนๆ หลายคน อย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่โตมาด้วยกัน เป็นครูผมทางอ้อมๆ เขาว่าเราเขียนงานมีแต่อารมณ์ ก็จะพูดแดกดันบ้าง คือพูดอย่างเพื่อน แต่ทำให้มองเห็นว่าหนังสือดีๆ คืออย่างไร บางทีครูคือเพื่อนของเรานี่แหละ บางประโยคมันมีค่ามาก”
นอกจากเรื่องของ “คน” ในผลงานเรื่อง 'ร่างพระร่วง' เทพศิริยังนำความสนใจเรื่องพุทธศาสนาและธรรมะเข้ามาเป็นพื้นฐาน ประกอบกับภาพที่เขาเคยเห็นคุณตาขุดพระตามเจดีย์ที่ผุพังมากองไว้ในวัดเพื่อให้ชาวบ้านนำไปบูชา “ตาผมเป็นคนนำชาวบ้านไปขุด ตอนผมเป็นเด็ก ก่อนปี 2500 แต่ก่อนพระไม่มีราคา ตามเจดีย์หรือโบสถ์ที่ผุพัง มีพระจมอยู่ใต้ดิน ตาผมเอาขึ้นมาให้คนบูชา เพราะปล่อยให้คนเหยียบย่ำอยู่ใต้ดินมันไม่ดี เอามากองในวัด หลังๆ หายหมด ราคา(พระเครื่อง)ทั้งหลายทั้งปวง ปั่นมาจากกรุงเทพฯ คนรู้ค่ามาจากกรุงเทพฯ และต่างชาติ ชาวบ้านเขาไม่เอาเข้าบ้าน แต่เมื่อเจดีย์ผุพัง พระเครื่องคือหัวใจของสิ่งก่อสร้าง มันก็จะหว่านโปรยออกไปให้คนได้บูชา ได้สนใจพระศาสนามิใช่หรือ”
ในส่วนพุทธศาสนา เทพศิริ เล่าว่า “เราทึ่งท่านพระพุทธทาสมาก่อน ตั้งแต่อายุ 19-20 ปี เรียนศิลปากร มีเพื่อนดี เพื่อนเอาหนังสือมา บอกว่าคุณดูสิ พระองค์นี้ใช้คำอย่างนี้ได้ยังไง 'ว่าง' กับ 'วุ่น' หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ 3 สะ ได้แก่ สะอาด สว่าง สงบ คิดคำจำง่าย ชอบ..ของอย่างนี้ (ธรรมะ) ควรมีไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นมันเซ เวลาทุกข์มันแก้ไม่ไหว เวลามีปัญหา ของพวกนี้มันช่วยได้มาก ผมอยากให้คนได้ของพวกนี้ไปไว้ประดับตัว”
ผลงาน 'ร่างพระร่วง' ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2548 เป็นนวนิยายเชิงพุทธปรัชญาร่วมสมัย เป็นหนึ่งในหนังสือในวาระครบชาตกาล ๑๐๐ ปี พุทธทาสภิกขุ ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2549 และในปี 2560 อาจารย์เทพได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
ในคำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่ง กล่าวถึงความเป็นมาและความโดดเด่นของผลงานของเขาไว้ว่า “เทพศิริ สุขโสภาเริ่มสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ด้วยการออกไปเล่าเรื่องให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ตามหมู่บ้านในชนบทภาคเหนือฟัง โดยเลือกเรื่องจากนิทานไทย นิทานนานาชาติ และเรื่องที่แต่งเอง มีวิธีการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน มีสีสันจนได้รับสมญาว่า “นักเล่าเรื่อง” (Story Teller) ในช่วงเวลาเดียวกันได้เขียนคอลัมน์ประจำ เรื่องศิลปะสำหรับเด็ก ครู และเขียนนวนิยายลงในนิตยสารด้วย
ผลงานด้านวรรณกรรมของนายเทพศิริ สุขโสภา มีทั้งนวนิยาย สารคดี วรรณกรรมสำหรับเด็กและบทกวี ลักษณะเด่น คือ สามารถฉายภาพชีวิตชนบทได้อย่างงดงาม โดยใช้ศิลปะแขนงทัศนศิลป์ที่ถนัดเป็นฐานเพื่อการสร้างงานวรรณศิลป์ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เนื้อหาส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ในการเล่าเรื่องและการเดินทางของชีวิต ซึ่งมิได้มีความหมายเพียงการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง หากแต่เป็นการเดินทางภายในตัวตนของเขาเองร่วมด้วย”
ปัจจุบันเทพศิริ สุขโสภา เปิดห้องแสดงภาพส่วนตัวอยู่ที่บ้าน ในจังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์เทพ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า “ผมชอบการเขียนหนังสือและวาดรูปมากที่สุด" หนังสือของอาจารย์จึงมีภาพเขียนของอาจารย์เป็นรูปประกอบ นอกจากนี้อาจารย์ยังวาดภาพประกอบให้กับหนังสือตามแต่ที่มีผู้ขอมา
ในส่วนของการเขียน เทพศิริ สรุปว่า “การเขียนเป็นเรื่องสนุก! สุข ปลื้ม ต้องอ่านต้องฟังมาก มีแรงบันดาลใจ มีข้อมูล สนุกในการนึกหาคำ หาประโยคให้ได้ดังใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ท้าทาย สนุกอยู่คนเดียว.. วิธีการทำงานของฝรั่งจะแบ่งกันไปหาข้อมูล คนนั้นหาเรื่องประวัติศาสตร์ คนนึงเรื่องเศรษฐกิจ นักเขียนมีหน้าที่ปรุงเรื่องเท่านั้น นักเขียนไทยทำเองทุกอย่าง ทำให้ในช่วงชีวิตหนึ่งทำงานได้น้อย
สำหรับเรื่องรางวัล “รางวัลกระตุ้นให้คนตื่นตัว แข่งขัน ที่สำคัญอย่าไปติดกับรางวัล ต้องเห็นมายาของรางวัล บางคนเขียนครั้งเดียวได้รางวัลแล้วก็ไม่เขียนอีกเลย รางวัลทำให้นักเขียนก็มีเงินใช้ เป็นปัจจัยในการครองชีพ คนอ่านก็ให้ความสนใจ เชื่อถือ ความจริงงานดีไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวงาน เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะอยู่ในใจคนอ่านได้ไหมในระยะยาว .. “
เทพศิริ สุขโสภา มีผลงานรวมเล่ม 23 เล่ม เป็นนวนิยาย 5 เล่ม หนังสือสำหรับเด็ก 11 เล่ม และสารคดีอีก 7 เล่ม วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่อง อาทิ วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง บึงหญ้า ป่าใหญ่ (2522) ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทหนังสือสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น อายุ 11-14 ปี (บันเทิงคดี) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2523 ต่อมาใน พ.ศ.2543 หนังสือเล่มนี้ได้รับการประกาศยกย่องให้เป็น 1 ในหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทั้งได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กนักเรียนชั้นมัธยม และได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือเรื่อง ของเล่นเดินทาง (2531) ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทหนังสือสำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน 3-5 ปีจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2532
ข้อมูลอ้างอิง
คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.ศิษย์เก่า-ศิลปินแห่งชาติ
สมนึก จงมีวศิน. ชีวประวัติของ อาจารย์ เทพศิริ สุขโสภา.เรียบเรียงเมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ.2557. https://web.facebook.com/notes/380069403130917/
พรชัย จันทโสก. จุดประกาย วรรณกรรมปีที่ 16 ฉบับที่ 6309วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2549. https://www.happyreading.in.th/article/detail.php?id=581
Comentários