เรื่อง: นิพัทธนา ลดาลักษณ์
ภาพ: สุวิทย์ พลพรวิทูร
คุณหญิงนักเขียน เจ้าของผลงานชิ้นล่าสุด “วิชาตัวเบา” งานเขียนแนวสุขภาพจิต ที่ถูกกลั่นกรองมาจากการเรียนรู้ในชีวิตจริง สังเกตประสบการณ์ของตัวเอง แล้วนำมาเล่าเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นผ่าoคอลัมน์ “Well Being” ในนิตยสาร “Health & Cuisine”
นอกจากนั้น คุณหญิงจำนงศรี ยังมีผลงานด้านวรรณกรรม ทั้งกวีนิพนธ์ นิทาน เรื่องสั้น บทละคร แลtหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ เช่น “On The White Empty Page” และ “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” หรืองานเขียนเชิงธรรมะ “ฝนตกยังต้องฟ้าร้องยังถึง” และ “เจ้าแสดแปดขา” นิทานเรื่องที่ได้รับรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2543 รวม 2 รางวัล รวมทั้งบทละครเรื่อง “สิ้นแสงตะวัน” ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมมูลนิธิ “John A. Eakin” ปี 2525
นับรวมถึงงานเพื่อสังคมต่างๆ ที่คุณหญิงใช้เวลาส่วนมากในชีวิตทุ่มเทเต็มกำลังความสามารถ อาทิ ก่อตั้งมูลนิธิ “เรือนร่มเย็น” ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อช่วยเหลือและให้การศึกษาเด็กผู้หญิงในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงและยาเสพย์ติดในภาคเหนือ และมูลนิธิ “อุทัยรัตนิน” เพื่อสนับสนุนวิทยาการด้านจักษุวิทยา
อีกทั้งยังเป็นกรรมการก่อตั้ง มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยในพระบรมรราชินูปถัมถ์ เป็นคณะกรรมการอาวุโสของโครงการส่งเสริมภาวะทางจิตวิญญาณและช่วยงานของสถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งอีกหลายโครงการที่ผ่านมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน
คุณหญิงกล่าวถึง “วิชาตัวเบา” ศาสตร์แห่งการแสวงหาความสุขให้แก่ชีวิตในมุมมองของคุณหญิงว่า
“คนเราจะทุกข์จะสุขก็เพราะความคิดเป็นหลัก หากเรามองโลกในอีกด้านหนึ่ง ค้นหาความสุขที่อยู่ในความทุกข์ สิ่งที่อาจเคยคิดว่าไม่ดีก็อาจจะกลายเป็นสิ่งดีไป และยังแผ่กระจายไปสู่คนรอบข้างต่อไปเรื่อย ๆ ดิฉันอยากให้ผู้อ่านได้มองไปในชีวิตตัวเองว่าจะทำอย่างไร ชีวิตอยู่ได้ไม่เท่าไร จึงควรให้ความสุขแก่ตัวเอง
. ..แม้แต่ละวันสิ่งที่เราพบเจอจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็เป็นความเล็กที่ต่อเนื่องกันทุกวัน ถ้าเราให้ความสนใจ จำ คิด วิเคราะห์ ก็จะได้อะไรหลายๆ อย่าง อยู่ที่ว่าจะนำไปใช้อย่างไร วิชาตัวเบามาจากความตัวหนักของเรานั่นเอง หากคลายความยึดติด... สิ่งที่เข้ามาในชีวิตเป็นดั่งเหรียญ ที่ความสุขความทุกข์ห่างกันเพียงคนละด้าน พร้อมท่องไว้เพียงว่า “โลกไม่ใช่ของเรา” เท่านั้นตัวคนเราคงเบาขึ้นไม่น้อย”
ดูเหมือนว่าทุกวันนี้คนเราจะหาความสุขในชีวิตได้น้อยเต็มทีทั้ง ๆ ที่พยายามไขว่คว้าปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมาส่งเสริมชีวิตให้มีความสุขสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คุณหญิงกล่าวว่า
“อะไรคือความสุขที่แท้จริง ดิฉันว่าน่าจะหมายถึงความมีสุขภาพดีทั้ง 4 ด้าน ตามคำกล่าวขององค์การอนามัยโลก คือ กาย, จิตใจ, สังคม และจิตวิญญาณ (Health is a state of complete physical, mental, social and spiritual well being) ซึ่งความหมายของคำว่า “จิตวิญญาณ” ดิฉันเพิ่งจะได้ข้อสรุปเมื่อเร็วๆ นี้นี่เองจากการร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “บทบาทและทิศทางการดำเนินงานจิตวิญญาณ” โครงการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (ส.ส.ส.)
...สรุปได้ว่า “จิตวิญญาณ” หมายถึง “สุขภาวะที่เกิดจากสติและปัญญา เข้าถึงการดำเนินชีวิตที่ดี สงบเยือกเย็น เป็นประโยชน์ มีน้ำใจ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
...แต่ดิฉันมีไม่ครบ 4 อย่างหรอก เพราะร่างกายนี่ก็เริ่มเดี้ยงแล้ว เดี๋ยวปวดหลังปวดไหล่ นั่งที่ไหนนานๆ ก็ต้องมีหมอนหนุน ออกกำลังกายก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่ส่วนมากไม่ได้ทำ (หัวเราะ) หลายคนบอกว่า เอ๊ะ! ทำไมแข็งแรงอาจจะเป็นเพราะดิฉันเป็นคนเดินเร็วมากก็ได้ อย่างคุยโทรศัพท์นี่จะเดินตลอดเวลา จนมีคนบอกว่า นี่... วันหนึ่งเดินหลายกิโลเลยนะ”
วิธีแก้ปัญหาของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับคุณหญิง ที่ครั้งหนึ่งเคยไปอยู่คนเดียวในบ้านริมป่าที่วัดสวนโมกข์พลาราม อำเภอไชยา อยู่นานเกือบ 3 เดือน เพราะมีทุกข์หนักหนาในชีวิต ได้ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งหลุดพ้นจากห้วงทุกข์และมีชีวิตเปี่ยมสุขในวันนี้ คุณหญิงเล่าถึงสิ่งที่ได้มาจากการตัดสินใจเข้าถึง “ธรรมะ” ว่า
“ดิฉันมองชีวิตจากประสบการณ์ชีวิต การสังเกตและการปฏิบัติธรรม ซึ่งการปฏิบัติธรรมก็คือสังเกตปัจจุบัน คือการอยู่กับปัจจุบันจริง ๆ ไม่คิดโน่นคิดนี่ แล้วจะเห็นอะไรชัดมากกว่า มนุษย์ก็มีอยู่แค่นี้ “กาย” กับ “ใจ”
..จากการปฏิบัติธรรมทำให้ดิฉันมองเห็นว่า ตัวเราจริงๆ แล้วมีกายอันหนึ่ง ใจอันหนึ่ง พออันไหนหายไปสมมติว่าใจหายไปเหลือแต่กายอะไรๆ มันก็จบ แต่อะไรที่มากระทบคนเราจะรู้สึกว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อยู่ร่วมกันจะมาดูหมิ่นหยามกันไม่ได้ นั่นเป็นเพราะเอากายกับใจมารวมกัน จึงกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เหลือเกิน ถ้าตัวใหญ่ก็จะรู้สึกทุกข์มากกว่าคนอื่น”
แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ที่กำลังทุกข์หนักมักจะจมจ่อมอยู่กับทุกข์และอัตตาของตน คุณหญิงเพิ่มเติมว่า
“ถ้าเราเริ่มหัดมองความเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างความเป็นธรรมชาติของกายกับใจ ความเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง ความเป็นธรรมชาติของอารมณ์ ความเป็นธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ก็จะเริ่มสงบลงแล้วถอยห่างออกไปมอง แน่นอนว่าดิฉันก็ยังไม่บรรลุ ก็ยังมีทุกข์ แต่มองมันว่าเป็นธรรมชาติ
...ใครที่อยู่โลกนี้ไม่มีทุกข์เลยบ้าง...ก็ไม่มี ทุกข์มาก ทุกข์น้อย แตกต่างกันไป คนบางคนอาจจะมีทุกข์อันเดียวกัน แต่คนหนึ่งทรมานน้อยกว่าอีกคนหนึ่ง เป็นเพราะพื้นฐานการมองโลกและการยึดติดของแต่ละคน
...ศาสนาเป็นเรื่องของการมีสติ รู้ความเป็นจริงในวินาทีมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ไปคิดว่าเมื่อวานเราทำอะไรมา ซึ่งเป็นการโยง
...อย่างหนังเรื่อง “Bridget Jones’s Diary” จริง ๆ แล้วทั้งเรื่องเป็นเรื่องของความวุ่นวาย ความทุกข์เสียอกเสียใจของยายบริดเจ็ตทั้งนั้นเลย เธอสูบบุหรี่อย่างบ้าคลั่ง วุ่นวายกับการหาคู่ เหงาสุดขีด ทำอะไรก็ผิดไปหมด ทุกข์ตลอดเรื่อง พลาดตลอดศก ทำไมเราดูแล้วหัวเราะกัน
...หนึ่ง...เพราะเป็นเรื่องของคน สอง...มันมีมุมที่ขำได้ นี่ก็เป็นการฝึกอย่างหนึ่ง หากเราเริ่มมองอะไรที่ขำขันได้ ก็เหมือนกับเราดู “Bridget Jones’s Diary” จริงๆ ถ้าเราเป็นยายบริดเจ็ตเราก็ทุกข์นะ เออ.. แล้วทำไมมันตลกได้
...นั่นเพราะ ถ้าเป็นทุกข์ของคนไกลตัว เรามองแล้วคิดว่า เขาน่าจะเป็นอย่างนั้น เขาน่าจะทำอย่างนี้เขาน่าจะทำใจได้ แต่พอมาเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวเข้ามา ลูกเอย...สามีเอย ก็เริ่มวนเวียนแล้ว ยิ่งถ้าเป็นทุกข์ของเราเองยิ่งทุกข์ไม่รู้เรื่องเลย
...ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะความห่าง ถ้าเราไปวนอยู่ในน้ำวน ทุกข์ของฉันมันยิ่งใหญ่นะ ทำไมเขามาทำกับฉันอย่างนี้ แล้วฉันหาทางออกอย่างไร มันก็คิดอะไรไม่ออกหรอก”
ด้วยประสบการณ์ชีวิตของตัวเลขอายุ 63 ปี ทำให้คุณหญิงมองชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด ความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสในชีวิต ความสุขที่ได้รับจากครอบครัวและผู้คนรอบข้าง คุณหญิงจำนงศรีในยามนี้ดูเหมือนจะเป็นผู้สูงอายุที่น่าอิจฉาเป็นยิ่งนัก
“ชีวิตไม่มีปัญหาก็ไม่ค่อยสนุก แต่ถ้าไม่มีปัญหาแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไรดิฉันไม่ทราบ เพราะชีวิตดิฉันมีปัญหามาตลอด ถึงแม้ว่าตอนนี้ดูเหมือนทุกอย่างจะลงตัวหมดแล้ว อย่างเรื่องลูกที่ใครๆ อาจจะคิดว่าเป็นฝั่งเป็นฝาไปกันหมดแล้ว
...ทุกคนย่อมมีปัญหา คนนี้ 3 วันมีปัญหา คนนั้น 5 วัน จะมีปัญหามากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนลูก ทุกคนก็จะแก้ปัญหาของเขาเอง ไม่มีชีวิตใครที่ลอยลำ คนอื่นอาจจะมองว่าชีวิตของเขาดีมีความสุข แต่ในความดีก็ต้องมีอะไรที่สาหัส
...ถ้าเรารู้เราก็ทุกข์ไปด้วย แต่ความแก่ก็ทำให้เราถอยห่างออกมาแล้วก็ เออ...แล้วมันก็ผ่านไป แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ชีวิตดิฉันอาจจะดูดีในสายตาคนอื่น แต่ในความเป็นจริงมีปัญหามาให้แก้ตลอด มีหลุมมีบ่อตลอดเวลา”
หากแต่ในความทุกข์และปัญหาที่ต้องเผชิญมาโดยตลอดนั้น คุณหญิงบอกว่าชีวิตคู่ในขณะนี้เป็นเรื่องเดียวที่มีปัญหาน้อยที่สุดที่คุณหญิงพบเจอมาตลอดชีวิต
“ชีวิตคู่นี้ทำความทุกข์ให้ได้มากที่สุด แล้วก็ทำความสุขให้ได้มากที่สุด ชีวิตคู่ของดิฉันขึ้นอยู่กับความแก่ ดิฉันยอมรับว่าไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ แต่ประหลาดเหลือเกิน ดิฉันพยายามจะบอกตัวเองว่า “แก่แล้วนะ” แต่มันไม่รู้สึก ไปไหน ๆ ดิฉันก็เที่ยวบอกเขาไปหมดเลยว่า อายุ 63 จวนจะ 64 แล้วนะ คนคงสงสัยทำไมยายนี่ชอบประกาศบอกอายุตัวเอง
...สาเหตุที่เที่ยวบอกใครต่อใครเนี่ย ส่วนหนึ่งพยายามจะย้ำกับตัวเองว่าแก่ลงทุกวัน แต่ในมุมกลับ ดิฉันรู้สึกว่าเวลาในชีวิตมันสั้นลง ทำไมมันไปด้วยกันได้ก็ไม่รู้ระหว่าง “ความไม่รู้สึกแก่” กับความรู้สึกว่าเหลือวันเวลาอีกไม่มากแล้ว ความรู้สึกนี้มีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่เป็นความรู้สึกที่ดี ทำให้ได้คิดว่าในแต่ละวันของเราต้องสว่างไสวและสนุก
...ความไม่รู้สึกแก่นี่เองที่ทำให้ชีวิตคู่สนุก ดิฉันกับสามี (ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์) แต่งงานกันเมื่ออายุมากแล้ว เราเพิ่งจะแต่งงานกันได้แค่ 6 ปี เรามองหน้ากันแล้วรู้ว่าเวลาเหลือน้อย และรู้ว่าเวลาที่เหลือมีความหมายมาก จึงพยายามทำทุกวันให้ดีให้สว่างไสว สนุกด้วยกันได้จริงๆ ดิฉันใช้คำว่า “สนุก” นะ สนุกด้วยกันหลายๆ ด้าน ชีวิตคู่มีอรรถรสมาก ต้องยกความดีให้ความแก่ที่ไม่รู้สึกแก่
...ถ้าจะถามถึงเคล็ดการครองคู่... ไม่มีนะ ไม่ได้ใช้วิธีอะไรเท่าไร ดิฉันก็ไม่ใช่ว่าดีนัก บางทีก็บ่นมากมายที่เขารับงาน กลับไปหาอะไรที่หมดไปแล้ว ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่ ”
แต่ผู้คนส่วนมากมักยึดวัดเป็นที่ปลดทุกข์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้อะไรจากธรรมะเลย เราแย้ง คุณหญิงอธิบายว่า
“การปฏิบัติธรรมก็คือการฝึกให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้หมายถึงการเข้าวัดเข้าวา แต่ไม่ใช่ว่าอยู่กับปัจจุบันโดยไม่ได้วางแผนอนาคตเลย หรือไม่ก็จำอดีตไม่ได้ แต่ต้องมีความสามารถที่จะอยู่ในปัจจุบัน อย่างน้อยก็เพียงพอที่จะรู้ว่าธรรมชาติของการคิดเป็นยังไง ธรรมชาติของความรู้สึกเป็นยังไง ที่ยึดติดว่าฉันสำคัญเหลือเกินเป็นยังไง มันเกิดจากอะไร
"...บางคนเอาอัตตาตัวตนไปยึดอยู่กับวัด ใช้วัดเป็นที่พึ่งทางใจ จริงๆ แล้ว ที่พึ่งทางใจก็คือใจของตัวเอง พุทธศาสนาหรือทุกศาสนาต่างๆ ช่วยให้เรารู้จักพึ่งตัวเอง พุทธศาสนาฝึกให้พึ่งตัวเองด้วยการรู้จักธรรมชาติของตัวเอง รู้จักธรรมชาติของมนุษย์และสรรพสิ่ง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ยากเย็นอะไร เพราะมันเป็นอยู่ ทุกคนสัมผัสได้เพียงแต่ไม่สัมผัส เราวุ่นวายกับการคิด การโกรธ การอยากได้ ความเสียดาย ก็เลยเหมือนมามีอะไรมาบัง
... ดิฉันได้ฟังชีวิต ได้ฟังปัญหาของคนมาเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของทุกข์ที่เขาหาวิธีจัดการไม่ได้ ดิฉันจะฟังอย่างเข้าใจจากพื้นฐานของตัวเราเคยมีความทุกข์ เคยได้ปฏิบัติที่ใจมาแล้วด้วยวิถีทางธรรมะ ซึ่งเป็นวิถีของสติ คนที่มีสติจะสามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัยขึ้น
...เสมือนว่าเขาวางเรื่องทั้งหมดลงบนโต๊ะแล้วได้มองด้วยตัวเอง จึงเริ่มเห็นอะไรที่ชัดขึ้น ได้ค้นหาวิถีทางหรือวิธีคิดเอง คนเรานั้นมีสติปัญญาทุกคน เพียงแต่ว่าเวลามีทุกข์แล้วมันจะจมเข้าไป และไม่ได้ถอยออกมามอง
ดิฉันจะแนะเพื่อให้ใจมันหลุด แนะให้เขาเข้าใจ มองปัญหาเพื่อให้มีสติขึ้น ให้ทุกข์น้อยลงเสียก่อน เวลาทุกข์มากๆ คนเราจะคิดจะตัดสินอะไรลำบาก ทำให้เกิดปัญหาตามมาเยอะแยะ ให้เขาเอาทุกข์วางไว้ให้ห่างตัวสักนิดก่อน จะช่วยให้นิ่งลงได้เพื่อที่เขาจะได้มองอะไรได้ชัดขึ้น”
วิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์และอาจช่วยให้คุณมองเห็นหนทางในการแก้ปัญหาได้ คือ “อารมณ์ขัน” ซึ่งคุณหญิงนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเสมอมา บางครั้งในสิ่งที่เลวร้ายก็มีสิ่งที่งดงามซ่อนเร้นอยู่ ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์หรือไม่
“ดิฉันชอบพูดเสมอว่าเมื่อมีปัญหาให้เก็บอารมณ์ขันไว้กับตัว บางเรื่องที่ร้ายที่สุดให้พยายามหาเรื่องเล็ก ๆ ที่พอจะขำกับมันได้ อารมณ์ขันจะทำให้เรามองเข้าไปในสถานการณ์นั้น ๆ เช่น จะตักน้ำตาลแต่กลับไปตักเกลือ ดูซิ! เราทุกข์จนเลอะเลือน...ยายนี่บ้าแล้ว พอคิดอย่างนี้ได้เราก็จะหัวเราะใช่มั้ย เราเป็นถึงขนาดนี้เชียวเหรอ อะไรทำนองนั้น
...อารมณ์ขันเกิดจาการที่เราถอยห่างออกมาหน่อย หรือไม่ก็อารมณ์ขันนี่แหละที่ช่วยให้เราถอยห่างจากปัญหาได้ มันมีหลายมุมนะ เป็นการหัวเราะกับปฏิกิริยาหรืออาการของตัวเองไม่ใช่หัวเราะความทุกข์นั้น ๆ เยอะ แต่พยายามอยู่ด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างที่บอกว่าเราเหลือเวลาไม่มากแล้ว เราพยายามสนุกด้วยกันให้มากที่สุด ความที่ต่างคนต่างทำงาน ตกเย็นถ้าใครชวนไปไหน เราจะพยายามไปด้วยกัน ดิฉันมีความรู้สึกว่าเขาอยากให้เราไปกับเขาด้วย เราก็อยากให้เขาไปกับเราด้วย”
...แต่ก็มีเรื่องเถียงกันทุกวันนะ เถียงเรื่องความคิด แล้วก็นำเอาความคิดที่ได้จากการเถียงนั้นไปใช้ในชีวิตประจำวัน เขาได้นำความคิดของดิฉันไปใช้ ในขณะเดียวกันดิฉันก็ได้ความคิดของเขาไปใช้ตั้งเยอะเหมือนกัน การเถียงของเรามันออกดอกออกผล
...นับเป็นความสนุกอีกแบบหนึ่งของชีวิตคู่ เพราะเขาเป็นคนคิดเก่ง ดิฉันก็เป็นคนชอบคิด จะคล้ายๆ กันตรงนี้ กระนั้นเราก็ต่างกันในอีกหลายๆ แง่ คือเขาเป็นคนที่มองโลกแบบข้างนอกจะแอ็คชั่นเต็มไปหมด ดิฉันจะทำงานแบบข้างใน คือต้องใช้เรื่องของอารมณ์ความคิด เขาทำอะไรเปรี๊ยะๆ 20 อย่างแป๊บเดียวเสร็จ แต่ดิฉันต้องนั่งสัก 2 ชั่วโมงกว่าจะทำอะไรได้ นี่คือจุดต่าง
...ความต่างบางอย่างเปรียบเสมือนน้ำกับน้ำมันที่ผสมกันไม่ได้ก็มี แต่ว่าในความต่างนั้นมีอย่างอื่นที่มาทดแทนหรือมีความเหมือนบ้างไหม ความต่างนี่เป็นธรรมชาติของคนนะ จะให้เหมือนกันได้ยังไง แล้วเปลี่ยนได้ไหม ถ้าเปลี่ยนไม่ได้แล้วไปรู้ทำไม คือ รู้ได้ แต่ควรรับว่ามันก็เป็นอย่างนี้ มันทำให้เราทุกข์นัก
เหรอ
...ความแตกต่างบางอย่างของเขา ถึงเราจะรับแล้ว แต่ที่ยังทุกข์อยู่ อันนี้ปัญหาอยู่ที่ตัวเราแล้วล่ะ ทำไมเราถึงได้ทุกข์ มันเสียหายตรงไหนบ้าง เขาทำให้มันเสียหาย หรือว่าเรายึดติดว่าไอ้นี่ไม่ควรทำ นั่นหรือเปล่าที่ทำให้เราทุกข์ อันนี้ต้องชั่งน้ำหนักด้วยตัวเองไม่มีใครบอกได้ ที่ดิฉันรับได้ อาจเป็นเพราะได้เปรียบที่อายุมาก ผ่านประสบการณ์ชีวิตและได้เห็นความทุกข์มาเยอะ จึงรู้สึกว่าการยอมรับมีค่ากว่าที่จะไปทุกข์ในเรื่องไร้สาระ”
แล้วคุณล่ะคะ เป็นทุกข์เพราะอะไร ลองหันไปมองใจตัวเองดูบ้างหรือยัง ไม่ช้าเกินไปหรอกค่ะถ้าคุณจะตัดสินใจสำรวจตัวเองในวันนี้ แต่ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองทำตามข้อคิด ข้อเตือนในที่คุณหญิงฝากไว้ก่อนจบบทสนทนา กับ Proud ว่า...
“ถ้าเราแบกความสำคัญของตัวเองไว้มาก ก็ยากที่เราจะมีใจที่โปร่งเบา ใจที่โปร่งเบาก็คือการเปิดใจรับคนอื่นว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน ถ้าเรามัวยุ่งกับศักดิ์ศรีความสำคัญของตนเองก็จะวนอยู่แค่นั้น”
เป็นคำแนะนำที่ไม่ล้าสมัย... ใช้ได้ทุกจักหวะชีวิต คุณๆ เชื่อเช่นนั้นไหม
ศาสตร์แห่งวิชาตัวเบา
หนังสือเล่มเล็กมีสรรพคุณว่า “เคล็ดลับเพื่อทำชีวิตให้ง่ายและมีความสุข” หากคุณยังไม่ได้อ่าน แง่คิดเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัดทอนมาจากหนังสือของคุณหญิงต่อไปนี้ อาจจะช่วยให้คุณรู้จักปรับเปลี่ยนมุมมองของชีวิตเสียใหม่... แล้วคุณจะรู้ว่าการมีตัวเบาจิตใจโปร่งสบายให้อะไรกับคุณบ้าง
ข้อดีของขี้ลืม
ช่วยปัดเรื่องจุกจิกรกสมองให้หลุดร่วงไป ช่วยให้ความคิดโปร่ง ใจสบาย เพราะสมองที่แออัดด้วยเรื่องเล็กเรื่องน้อย ก็เหมือนห้องที่มีสิ่งสัพเพเหระเข้าไปเบียดเนื้อที่เก็บของมีค่า จะหยิบฉวยของดีๆ มาใช้ ก็จะไม่รวดเร็วว่องไว แต่ถ้าช่างจำแบบไม่เลือก นานเข้าก็จะกลายเป็นคนจู้จี้น่ารำคาญไปได้ง่ายๆ
ยิ้มแบบดูโอ
การฝึกใจให้แย้มยิ้มแม้เพลี่ยงพล้ำ เป็นส่วนหนึ่งของ “การออกกำลังใจ” ที่สำคัญกับสุขภาพไม่น้อยไปกว่า “การออกกำลังกาย” ถ้าเราคอยฝึกใจให้เรายิ้มอยู่เป็นนิจ ยิ้มนั้นจะฉายแววออกมาทางดวงตา ให้คนที่เข้าใกล้ได้รู้สึกอบอุ่น แล้วเราจะพบว่า โลกพร้อมที่จะยิ้มกับเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
ความเหงาที่ไม่หงอย
ความเหงาอาจทำลายเรา หรือท้าทายสติปัญญาเรา ให้ค้นหาเส้นทางสู่ความสุขที่หนักแน่นมั่นคง สู่หัวใจที่ไม่เหงา ขึ้นอยู่กับตัวเราเองมิใช่ใครอื่น
ชีวิตแวววับจากความสูญเสีย
ความตายของคนที่เรารักสอนชีวิตได้อย่างวิเศษสุด แค่ว่าใครจะรับส่วนไหนมาเจียระไนชีวิตแวววับ และกระจายความสุขให้เพื่อร่วมโลกได้แค่ไหนในช่วงที่ยังมีเวลาและลมหายใจ
ให้อภัย – ปลดโซ่จากใจ
การยกโทษไม่ยากนัก เพราะอยู่ที่ความคิด เหตุผล คำพูดและพฤติกรรมภายนอก แต่การอภัยยากเย็น เพราะอยู่ที่ความรู้สึกและวิธีคิดที่ฝังลึก ในมุมกลับ การให้อภัยจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายและเป็นธรรมชาติ เมื่อใดที่ใจสงบ ปล่อยวาง ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ทำให้ใจรับความจริง
ซึ่งจะเรียกความมั่นคงของจิตใจกลับคืนมา ทำให้สามารถหันหลังให้อดีตมามองปัจจุบัน เพื่อจะได้ก้าวย่างไปบนเส้นทางอนาคตได้อย่างสง่างาม
เติม “ละ” ให้กับ “อาย”
ในเมื่อความอายนั้นเกี่ยวข้องกับภาพ แต่ความละอายมาจากคุณภาพทางใจ ความละอายจึงมีคุณค่าเหนือความอายอย่างมากมาย
จาก : คอลัมน์ beauty style, Proud Beauty and Healthy Magazine , November 2547.
Comments