ไปกับ “คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์”
จาก รายการ คุยกับอุ๋ย
13 ธันวาคม 2022
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ถูกส่งตัวไปเรียนอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนักอ่านสู่นักเขียนเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกตอนอายุ 16 ปี สะท้อนความตายในสังคมอังกฤษ กลับมาทำงานที่ไทยมีจุดเปลี่ยนชีวิต จากบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Bangkok World จนเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานสายข่าว เคยถูกมองไม่ดีเพราะเป็นนักข่าวผู้หญิงที่ต้องทำงานร่วมกับตากล้องผู้ชาย แต่สุดท้ายผลงานเป็นที่ประจักษ์
คำประณามเปลี่ยนเป็นคำชื่นชมจากวงการฑูต จากคนไม่มีศาสนาตั้งแต่เด็ก มองทุกศาสนาเป็นเรื่องไม่เข้าเรื่อง กับจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นศาสนาในมุมที่ไม่เคยเห็น มาจนถึงมุมมองของการฝังศพแบบย่อยสลาย การเกิดแก่เจ็บตายล้วนมีความสมดุลกัน เราอยู่ได้ด้วยความตายของสิ่งอื่น หากตายเราก็ต้องทำให้สิ่งอื่นอยู่ได้ด้วย และอีกหลายๆเรื่องจากประสบการณ์ของชีวิต การศึกษา การทำงาน การเดินทาง และรู้จักคุณค่าชีวิต การทำความรู้จักกับความตาย ของคุณหญิง
ทำไมถึงสนใจเรื่องความตาย จนอยากให้คนพูดถึงกันได้เป็นเรื่องปกติ
ตอนที่เริ่มทำชีวามิตรทุกคนก็บอกว่า ไปไม่ถึงไหนหรอก เพราะคนไม่ชอบเรื่องความตาย แต่คิดว่าผลงานที่ชีวามิตรทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่พูดกันทั่วไป คนยอมรับว่ายังไงก็ตายในที่สุด
ถ้าถามว่าทำไม ก็ตัวเราเองเป็นคนที่กำพร้าแม่มาตั้งแต่เด็ก ไปไหนคำตอบที่จะตอบคนอื่นว่าแม่ไปไหน ทำไมไม่มารับ ก็จะตอบว่าแม่ตายแล้ว คำว่าตายก็เลยอยู่ในสาระบบชีวิตมาตั้งแต่ต้น คำว่าตายเป็นตัวแปรที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เหมือนคนอื่น แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นปมด้อย ทำให้เราเริ่มสนใจและก็เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับความตายมากขึ้น แม้กระทั่งงานเขียนที่ได้ตีพิมพ์เรื่องแรก ก็เกี่ยวข้องกับความตายเช่นกัน
สัมผัสด้านมืดผ่านครอบครัวของแม่บ้าน
ป้าศรีถูกส่งไปเรียนอังกฤษตั้งแต่สมัยอายุ 12 คุณพ่อส่งให้ไปอยู่กับแม่บ้านชาวอังกฤษ 3 คน โดยคนหนึ่งในช่วงสงครามโลกทำให้ต้องเข้าไปทำงานในโรงงานผลิตดินปืนทำให้หลังจากนั้นก็ป่วย อีก 2 คน คนหนึ่งมีคู่หมั้นเป็นนักบินแต่เสียชีวิตก่อนที่จะได้แต่งงาน และอีกคนหนึ่งคู่หมั้นเป็นนายทหารเมื่อจบสงครามก็ไม่อยากอยู่ยุโรปต่อแต่ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้อยากไปด้วย ก็เลยเป็นผู้หญิงทั้ง 3 คนที่มีความเจ็บปวดมากในชีวิต ทำให้ป้าสัมผัสด้านมืดของชีวิตเยอะมาก
โรงเรียนประจำกลางป่า New Forest
ถูกส่งมาเรียนโรงเรียนประจำซึ่งไม่มีเด็กต่างชาติเลย มีจำนวนเด็กไม่ถึง 100 คน เป็นโรงเรียนกลางป่าชื่อ New Forest ป้าว่าการที่ถูกส่งไปมันก็ดีนะ มันทำให้เรามีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นความสุขชนิดหนึ่ง เป็นความสุขที่โล่ง สบาย
จุดเปลี่ยนจากบทความที่ได้ตีพิมพ์ใน Bangkok Post
หลังจากกลับมาจากอังกฤษก็ถูกให้ไปทำงานด้าน Shipping ซึ่งมันรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเราเลย วันหนึ่งไปเจอฝรั่งคนหนึ่งซึ่งไม่รู้จักว่าเขาคือใคร เขาบอกว่าให้ลองเขียนบทความส่งไปให้เขา แล้วเขาก็ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ แล้วก็ชวนป้าศรีไปทำงานการเป็นนักข่าว ได้เรียนการทำข่าว การเขียนคอลัมน์
ถูกสังคมประณามกับการเป็นผู้หญิงไปทำงานกับชายหนุ่ม
เพียงเพราะเป็นผู้หญิง ยังไม่ได้แต่งงาน แต่เข้าไปทำงานเป็นนักข่าว ทำให้ถูกสังคมประณาม ทำให้ป้าสัมผัสเยอะมากกับส่วนมืด ด้านที่ไม่งดงามของชีวิต
เมื่อผลงานเป็นที่ประจักษ์ เปลี่ยนจากคำประณามเป็นคำชื่นชม
หลัง ๆ เมื่อเริ่มมีผลงานคุณพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไรเรื่องการทำงานของป้า แล้วก็เริ่มได้การยอมรับมากขึ้น ได้รับคำชื่นชมมากขึ้น
เวลาที่มีความทุกข์ จัดการอย่างไร
มันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราหลงตัวเองมาก ในช่วงที่เราเริ่มมีชื่อเสียงต่าง ๆ หลงในแสงสีมาก เวลาที่เราบอกว่าเรามีปัญหา มีความทุกข์ เราจะมองว่าเราเป็นเหยื่อจากการกระทำ แต่จริงๆ แล้วเราก็มีส่วนที่ทำให้เกิดการกระทำเหล่านั้นเช่นกัน
อะไรที่ทำให้เริ่มหันเข้าสู่ธรรมะ
ป้าศรีประกาศตนว่าเป็นคนไม่มีศาสนา ค่อนข้างจะมองศาสนาอย่างเหยียดหยาม เหมือนเป็นการมองแบบไร้ปัญญา แต่หลังจากเหตุการณ์หนึ่งคือได้เจอผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เราเห็นถึงความเจ็บปวดแต่ท่านก็ยังเมตตาคนที่ทำให้ท่านเจ็บ หลังจากนั้นป้าก็ถามท่าน (คุณแม่คุณหมออุทัย รัตนิน) ว่า คุณแม่ไม่เจ็บเหรอ คุณแม่บอกว่าเจ็บแต่มันเป็นแค่เวทนา ถ้าเราไม่ยุ่งกับมันมันก็เป็นแค่เวทนา นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ใช่เพราะความศรัทธา แต่คือความสงสัย
เวทนาคืออะไร เริ่มจากความสงสัยสู่การเดินทางหาคำตอบ
คุณแม่เลยส่งไปที่อ้อมน้อย เหมือนได้เข้าห้องทดลองจริงๆ ได้เห็นความกลัว วิเคราะห์ความกลัว เรียนรู้เยอะจากห้องทดลองนี้ ทำให้มันถึงความเข้าใจด้วยใจว่า กายกับใจ มันเป็นคนละอย่างก็จริง แต่มันหาทุกข์ให้กันและกัน
ปัญหาทางจิตใจที่ส่งผลต่อกาย
เมื่อปัญหามันเป็นปัจจัยของกันและกัน เมื่อเริ่มถึงจุดที่วนอยู่กับความอยาก อยากที่จะพ้นจากจุดนี้ ความกลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้น ความโกรธต่างๆ
Photo by Khunying Chamnongsri Hanchanlash
วิธีการมองอารมณ์ตัวเองโดยที่เพิ่งรู้จากการเขียน Twilight Hour
ป้าตั้งคำถามว่าเราจะสามารถอธิบายอารมณ์ความรู้สึก ที่มันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาโพล้เพล้ออกมาเป็นตัวหนังสือ แต่หารู้ไม่ว่ามันคือการมองอารมณ์ของตัวเอง ทำให้เรารู้สึกสว่างขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
การปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่รู้ตัว
ในช่วงที่รู้สึกทุกข์ที่สุด พอเขียนออกมาว่า มนุษย์เราสร้างสิ่งลวงตัวเองขึ้นมาคือสร้างกระจก แล้วเราก็ส่องกระจกนั้น แล้วเราก็หลอกตัวเองว่าเราเห็นหน้าตัวเอง แต่จริงๆ แล้วมนุษย์เราไม่เคยเห็นหน้าจริงๆ ของเราเอง และอีกอย่างคือมนุษย์เราสร้างหน้ากากให้ใจของเราแล้วหลอกตัวเองว่า ฉันรู้จักตัวเอง แต่ว่าเรารู้จักจริงๆ เหรอ อันสุดท้ายคือมนุษย์เราสร้างโลกมายาให้ตัวเราเอง แล้วเราก็หลงไปทางต่างๆ ว่าตรงนี้คือความสุข
ป้ามองว่าเราทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงปัญญาได้ แต่เราก็ยังหลงอยู่ในความทุกข์ เหมือนคิดได้แต่ก็ยังทุกข์อยู่ดี
ความตายที่อยู่กับชีวิตมาโดยตลอด
ป้ากับความตายมันอยู่ด้วยกันมาตลอด เพราะความตายเป็นตัวแปรหลายอย่างในชีวิต แต่ความตายในตัวของมันเอง มันอยู่ในใจป้ามาตลอด มักจะเดินไปดูอะไรที่คนอื่นๆ เขาไม่ค่อยจะดูกัน วันหนึ่งก็ไปเห็นทางลง แล้วไปเจอทางเดินที่ประดับไปด้วยกระดูกของมนุษย์สองข้างทาง เราเกิดความรู้สึกว่าในที่สุดกระดูกของคนที่เกลียดกันก็มาอยู่ด้วยกัน ทำให้คิดได้ว่าสุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีอะไร และก็เจอเป็นคำคม
ตรงทางเดินว่า ความตายอยู่ที่ไหน เพราะว่าคุณมีลมหายใจแล้วก็ไม่มี สรุปแล้วว่าความตายมันอยู่ที่ไหน มันเป็นเหมือนเส้นบางๆ กั้นระหว่างการมีลมหายใจกับการไม่มีลมหายใจ
การกลัวความตายในวัย 83
ถามว่ากลัวความตายไหม คงจะไม่กลัว เพราะคิดว่าตอนนี้ชีวิตป้าดีมาก รู้สึกว่าไม่เสียดาย กลัวไหมกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ไม่กลัวเพราะเราไม่รู้ก็เลยไม่รู้ว่าจะกลัวไปทำไม
สิ่งที่อยากจะบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่
ป้าคิดว่า พระพุทธองค์บอกแล้วว่า ไม่มีอะไรน่ายึดมั่นถือมั่นเลย เรามักจะบอกคนนั้นคนนี้ว่าปล่อยวางเสียเถอะ การปล่อยวางไม่ใช่การกระทำ แต่คือการไม่กระทำ และเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคุณไม่เอาใจไปผูกกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ อีกอันอยากจะพูดถึงคำว่า ยกโทษให้ กับให้อภัย มันคนละระดับกัน ยกโทษให้ด้วยเหตุผล การยกโทษให้โดยที่ไม่รู้ตัว อัตตาเราสูงกว่าเพราะเรายกโทษให้เขา แต่ถ้ามองว่าเขาไม่ได้ทำอะไรเรา มันก็ไม่มีโทษที่จะยก ส่วนคำว่าให้อภัย การให้อภัยที่แท้จริงที่ป้าพบด้วยตัวเอง คือ การไม่เบียดเบียนเขา การไม่คิดถึงเขา ใจอย่าไปยุ่งกับเขา
พูดได้เลยว่า ณ อายุ 83 แล้วรู้ว่าเราหยุดหายใจเมื่อไหร่ก็ได้ มันก็ไม่มีอะไรค้างคา คือก็ไม่มีใครมาทำร้ายเรา และเราก็ไม่ได้ทำร้ายใคร
การนำศพมาทำเป็นดิน ทำไมถึงมีไอเดียที่อยากให้ทำแบบนี้
ป้ามองว่าการเกิดแก่เจ็บตายมันเป็นวัฏจักร การพึ่งพากันในธรรมชาติ เพราะเราอยู่ได้ด้วยการกินศพตลอดเวลา คือ ศพของพืช สัตว์ เราอยู่ในวัฏจักรนี้ได้ด้วยความตายของสิ่งอื่น ทำไมเวลาเราตายแล้ว ถึงไม่ไปทำให้สิ่งอื่นเขาอยู่ได้ แทนที่เราจะกลายเป็นสารที่อาจจะทำลายชีวิตได้
ความทุกข์ทางใจที่มีธรรมะเป็นทางออก
ป้ายังเชื่อว่าพระธรรมจะมีคำตอบให้ ที่จะหาทางออกได้ แม้กระทั่งความเจ็บปวด ตอนที่ป้าขาหัก ป้าก็เรียนรู้ว่า มันก็ทำให้เป็นอย่างคุณแม่ได้ สำหรับป้านะ ป้าทำให้มันเป็นเรื่องตลก มันปวดมากนะ แล้วเราก็จะบอกคนข้างๆ ว่ากำลังจะร้องนะ อย่าตกใจ ทุกครั้งที่เราร้องทุกคนจะหัวเราะกันหมดเลย จนคุณหมอเชิญให้ไปสอนนักศึกษาแพทย์ ในเรื่องให้รู้จักตัวเอง ความสุขที่แท้จริงคืออะไร
รับชมเรื่องราวฉบับเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=6sNcGlUbtX4
Comments