รายการสะพานสายรุ้ง มูลนิธิเด็ก
สัมภาษณ์โดย คุณพิภพ ธงไชย
ภาพของ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
ภาพของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
สวัสดีค่ะคุณผู้ชม กลับมาพบกับรายการสะพานสายรุ้ง เป็นประจำเช่นเคยนะคะที่รายการของเราจะนำเอาเรื่องราวเนื้อหาสาระดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อเด็กๆ จะได้เติบโตและมีพัฒนาการที่ดีทางด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญาค่ะ
เนื่องด้วยในทุกๆ ปีทางมูลนิธิเด็ก จัดให้มีการจัดทำสมุดบันทึกนิทานขึ้น ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีนิทานหลากหลายเรื่องบรรจุอยู่ในหนังสือ เพื่อปลุกเร้าจินตนาการของผู้อ่านให้โลดแล่นได้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งทางมูลนิธิเด็กก็ได้นักแปลนวนิยายและบทกวีมือดี มาช่วยแปลเนื้อหาของนิทานในทุกเล่ม และผู้แปลก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านคือนักเขียนชื่อดัง คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ที่วันนี้จะมาร่วมพูดคุยกันในรายการเราค่ะ
ช่วงเวลาดีๆ ที่ได้หวนกลับมาเจอกับเพื่อนเก่าแบบนี้ทั้งที คุณพิภพ (ธงไชย) ก็ไม่ลืมที่จะชักชวนคุณหญิงจำนงศรีมานั่งพูดคุยถามไถ่เรื่องราวชีวิตสารทุกข์สุขดิบของกันและกัน ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่คุณผู้ชมได้มากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำในวัยเด็ก จิตวิญญาณในศิลปะของ คุณหญิงจำนงศรี และคำแนะนำดีๆในการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของนักเขียนที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ ได้ ช่วงสนทนาในวันนี้จะเป็นอย่างไรไปชมกันเลยค่ะ
พิภพ : วันนี้ดีใจ คุณหญิงมาเยี่ยมมูลนิธิเด็ก ทั้งๆ ที่คุ้นเคยกันมาตั้งนานแล้ว ห่างเหินกันไปหน่อยเพราะมัวไปทำเรื่องคนใกล้ตาย
ป้าศรี : อยากให้มนุษย์ตายดี ตายโดยร่างกายเจ็บปวดอึดอัดทรมานน้อยที่สุด ใจไม่ห่วงอะไร เป็นอิสระทางใจ ความสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ความเชื่อของตัวเอง หรือที่สำคัญที่สุดคือคนที่ตัวเองใกล้ชิดด้วย ถ้ามีปัญหาก็ให้ปัญหามันหลุดไปตอนช่วงนั้น ช่วงสุดท้าย แล้วมันเกี่ยวข้องกันไปหมดน่ะ เพราะว่าถ้าใจไม่สบาย ความเกร็งของกล้ามเนื้อมันก็ทำให้เจ็บปวดอึดอัดมากขึ้น หรือสมองมันก็จะหลั่งสารที่ทำให้เกร็งขึ้น มันเกี่ยวข้องกันไปหมด มันต้องไม่ทุกข์ทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งสังคม ความสัมพันธ์และทั้งที่เขาเรียกว่าจิตวิญญาณ
พิภพ : คุณหญิงครับบางอย่างมันก็ควบคุมไม่ได้นะ หนึ่งเรื่องของโรคมันทำให้เจ็บปวด สองบางที่มีการจัดการของญาติพี่น้องและหมอ ยกตัวอย่างที่ทุกคนรู้เช่นกรณีของอาจารย์พุทธทาสภิกขุ กรณีอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ที่ท่านกลับไปอยู่ที่โรงพยาบาลแล้วก็ใส่สายระโยงระยาง แล้วก็จะตายเมื่อไหร่ แล้วก็ไม่กล้า
ป้าศรี : นี่แหละเป็นงานของป้าศรีที่ทำ งานที่ไม่มีใครมอบหมายแต่ป้าศรีทำ
ภาพประกอบเรื่อง ฉันคือปูลม โดย ไทวิจิตร พึ่งเกษมสมบูรณ์
และนอกจากที่ปัจจุบันคุณหญิงจำนงศรีได้หันมาให้ความสนใจกับงานที่เกี่ยวกับเรื่องราวของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในช่วงสุดท้ายของการมีชีวิตนะคะ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปก็มีผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่คุณหญิงได้มาร่วมงานกับมูลนิธิเด็ก และได้สร้างสรรค์งานเขียนผสมผสานกับงานศิลปะของอาจารย์ ไทวิจิตร พึ่งเกษมสมบูรณ์ ออกมาเป็นหนังสือที่มีคุณภาพสำหรับเด็กๆ นั้นคือหนังสือที่มีชื่อว่า ฉันคือปูลม หนังสือเล่มนี้จะมีแรงบันดาลใจมาจากอะไรนั้น ไปฟังกันเลยค่ะ
พิภพ : คือเรื่องราวที่คุณหญิงเล่า เราเริ่มต้นด้วยงานล่าสุดของคุณหญิงที่คุณหญิงสนใจ คือชีวิตใกล้ความตายหรือก่อนตาย ท่านผู้ชมหาอ่านได้ในข้อเขียนของคุณหญิงเยอะแยะไปหมด แต่วันนี้ที่เราอยากจะคุย ในฐานะที่เรารู้จักกันมานาน เราเคยร่วมงานกัน เคยเอาศิลปะ เอานักเขียน นักดนตรีมาทำงานกับเด็ก ผมยกตัวอย่างเช่น คุณหญิงเป็นคนแรกๆ ที่เอาศิลปินใหญ่ ไทวิจิตร พึ่งเกษมสมบูรณ์ มาวาดรูปประกอบแบบงานศิลปะ ในหนังสือชื่อฉันคือปูลม คุณหญิงเป็นคนเขียน อันนั้นก็เป็นความคิดแรกที่อยากจะเอาศิลปินมาทำงานศิลปะกับเด็ก
ป้าศรี : อันที่จริง ฉันคือปูลม เขียนมาก่อนนานแล้ว เป็นภาษาอังกฤษ เพราะเมื่อก่อนป้าศรีเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ แล้วพอมารู้จักกับมูลนิธิเด็กนะคะ ก็มีความรู้สึกว่าอยากจะเอามันมาเป็นภาษาไทย และเพราะว่าปูลม มันเป็นเรื่องของสีกับแสง ทั้งเรื่องมันเป็นเรื่องของสีกับแสง แล้วก็มีความรู้สึกว่าเห็นหนังสือเด็กสมัยนั้นที่ไปอยู่ตามโรงเรียนทั่วไปโรงเรียนชนบท คือ ภาพวาดเป็นภาพของภาพประกอบ ไม่ใช่งานศิลปะ ทีนี้ทำอย่างไรที่จะให้งานศิลปะมันเข้าไปถึงเด็ก ก็เลยบอกว่าเราขอเอาศิลปินเลย ศิลปินที่คนในกรุงเทพหรือคนในเมืองใหญ่เท่านั้น ที่จะได้ดูนิทรรศการของเขา ให้มาอยู่ในหนังสือที่ถึงมือทุกคนได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราก็ดึงศิลปิน คนแรกที่เราดึงจริงๆ คือ ไทวิจิตร พึ่งเกษมสมบูรณ์ ซึ่งตอนนั้นดังมาก แล้วก็ทำงาน abstrac ด้วย ให้มาทำเรื่องนี้ เพราะว่าตื่นเต้นในวิธีการใช้สีของเขา การใช้สีในการแสดงความรู้สึก การที่ทำให้เราสังเกตว่าสีเดียวกันนี่มันไม่ใช่สีเดียวกัน มันมีหลายอารมณ์ มันมีหลายความรู้สึก และการพิมพ์นี่จัดพิมพ์สีพิเศษ ต้องลงทุนสูง เพื่อศิลปะที่จะได้ไม่จำกัดอยู่กับคนที่มีโอกาส คนที่อาจจะขาดโอกาสเข้าถึงได้ด้วยหนังสือภาพ และตัวนิทานเป็นตัวนำภาพไป มีความสุขมากนะทำงาน
คุยกันมาถึงตอนนี้ทำให้เราได้เห็นมุมมองของคุณหญิงจำนงศรีและจิตวิญญาณในการเป็นศิลปิน ที่มีต่องานศิลปะนะคะ ซึ่งคุณหญิงจำนงศรีก็อยากที่จะส่งต่อจิตวิญญาณทางศิลปะนี้ ไปสู่คุณพ่อคุณแม่เพื่อเป็นแบบอย่างในการนำไปใช้เลี้ยงดูลูกๆ ผ่านเรื่องราวของคุณหญิงตั้งแต่วัยเยาว์ที่เรากำลังจะได้ฟังกันตอนนี้ค่ะ
พิภพ : ว่าจะคุยกันเรื่องงานศิลปะ หรือจิตวิญญาณของคนเป็นศิลปิน ซึ่งส่วนตัวผมนะ มีอยู่กันทุกคน แต่ว่ามันเอาออกมาได้ไม่ได้และรวมทั้งเด็กด้วย ทีนี้อยากจะถามว่าที่คุณหญิงมาสนใจงานศิลปะ ก็อยากจะส่งต่อไปยังการเลี้ยงดูเด็กมาจากอะไร
ป้าศรี : เพราะศรีเป็นลูกกำพร้าแม่ และพ่อศรีมีภรรยาหลังจากแม่ตายอีกสองคนและก็ไม่ได้อยู่กับศรี เพราะฉะนั้นบอกว่าพ่อแม่สอนอาจจะไม่ชัดเจนนัก
พิภพ : แล้วใครสอนคุณหญิง
ป้าศรี : ถ้าถามแบบนี้ถ้าจะตอบ จะฟังได้มั้ยว่าธรรมชาติกับความเหงา บังเอิญบ้านเราเป็นบ้านสวนชื่อ บ้านสวนสุขจิต สมัยนั้นมันอยู่ฝั่งธนริมคลอง และมันก็เป็นบ้านสวนที่มีคลอง มีต้นส้มโอ มีมดแดง มีปลาเข็ม มีการเกิด การตาย ที่เด็กตัวเล็กๆ เห็นหมด โทรทัศน์ยังไม่มีเลย โทรศัพท์ไม่ต้องพูดถึง วิทยุมีแต่ไม่ได้ฟัง คือความที่มันเป็นบ้านสวน รู้สึกมันจะสองไร่กว่าสามไร่ แต่สำหรับเรามันใหญ่โตมหาศาล ตอนกลางคืนจะชอบออกไปนั่งในสวน ฟังเสียงทุกอย่าง เสียงอึ่งอ่าง เสียงอึ่งอ่างนี่มันมหัศจรรย์มาก เพราะมันเห็นแทบจะเป็นภาพว่า เสียงนี่เบียดความเงียบออกไป ความเงียบก็กลับเข้ามา เสียงผลักความเงียบออกไป ความเงียบขยายตัวกลับเข้ามา แล้วเราเป็นผู้ดูในความมืดน่ะ แล้วสมัยก่อนมีหิ่งห้อยในสวนพร้อมๆ กับเสียงจั๊กจั่น เรไร มันธรรมชาติล้วนๆ เลยนะ แล้วมันเข้าไปอยู่ข้างใน จะพูดว่ายังไงดี มันมหัศจรรย์ค่ะ คิดย้อนหลังกลับไป ถ้าเราเป็นเด็กที่มีเพื่อนฝูงเยอะแยะ มีโทรทัศน์ มีพ่อแม่คอยดูแล เราคงไม่ได้สัมผัสธรรมชาติที่มหัศจรรย์อย่างนี้ และมันเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจเข้าถึง หรือสัมผัสอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตาได้ง่าย ง่ายกว่าเด็กสมัยนี้ที่อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดึงเขาออกจากตัวเขาค่ะ
พิภพ : ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป แต่พอคิดว่าเราจะไปติดกับยุคสมัยหรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แล้วไปจำนนกับมัน โดยไม่สามารถสร้างความรู้สึก หรือจิต หรือความงาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กับเด็ก คงไม่ใช่คำตอบที่ถูก เลยจะถามคุณหญิงตรงๆ ว่าถ้าคุณหญิงมองย้อนกลับไปแล้ว มองเห็นการเติบโตของตัวเองจากสิ่งแวดล้อมแบบนั้น ในยุคสมัยนี้ คุณหญิงทำกับลูกของตัวเองแบบเดียวกับตัวเองได้รู้สึกในสมัยนั้น
ป้าศรี : คือจะบอกว่า ศรีไม่คิดว่าตัวเองเป็นแม่ตัวอย่าง และคิดว่าศรีก็เลี้ยงลูกศรีมา ผิดพลาดก็เยอะมาก เพราะว่าตัวศรีเองในช่วงนั้น ก็มีสารพัดปัญหา มีสารพัดความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะไปหวังว่า พ่อแม่จะวิเศษกันไปหมดนี่ มันไม่ได้ เพราะทุกคนมีแผลของตัวเอง มีปัญหาที่เข้ามาตรงนั้นเอง แต่ถ้าจะฝากเอาไว้คืออย่ายุ่งกับเด็กจนเกินไปนัก บางทีเด็กเขามีอะไรข้างในของเขาเยอะนะ แล้วบางทีแค่กอดเขาเฉยๆ แล้วบอกว่าเราอยู่ตรงนี้นะ เรารักเค้านะแต่เราจะมีความสุขที่สุดถ้าเขากลับมาเข้าใจตัวเขาเองให้เยอะ มันอาจจะดีกว่าไหมที่ว่า จะคอยวิ่งหาสิ่งข้างนอกอยู่ตลอดเวลา สิ่งข้างนอกไม่ว่าจะข้าวของ หรือว่ามือถือ หรือการเข้าอยู่กับอะไรต่ออะไร เพื่อนที่อยู่ในนี้ บางทีมันทำให้ลูกอาจจะไม่เข้าใจว่า ไอ้เพื่อนที่อยู่ข้างในนี่ มันมีอยู่ตัวนึงนะ เราควรจะมีเวลาอยู่กับมันบ้างมั้ย ดูมั้ยว่าตอนนี้มันรู้สึกโกรธ ไอ้ความโกรธของมันนี่ อาการมันเป็นยังไง แทนที่จะไปแสดงออกว่าฉันโกรธ ลองดูซิว่าไอ้เพื่อนตัวนี้เวลาโกรธนี่ ไอ้ตัวโกรธที่อยู่ในตัวเพื่อนนี่มันเป็นยังไง หรือเหงานี่น่าสนใจมากเลย ไอ้ตัวเหงาที่มันอยู่ในตัวเรา มันคืออะไร จริงๆ พื้นฐานมันคืออะไรรู้ไหม คือมันโหว่ มันอยากให้ใครเข้ามาเติม มันไม่เต็ม ถ้าเราเข้าใจมันอย่างนั้นแล้วนี่ มันสนุกกับการดูว่ามันเป็นไง เพราะดูมันไปแล้ว มันจะไม่เหงา แล้วมันจะไปทำอะไรต่อ พอดูมัน รู้จักมันแล้วเราจะไปทำอะไรต่อได้มั้ย ที่ไม่ต้องวิ่งไปหาเพื่อน
จากที่คุณหญิงได้เล่าให้เราฟังมานั้น ก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นหนังสือ เข็นครกตัวเบา ซึ่งเป็นหนังสือที่คุณหญิงใช้เรื่องเล่าชวนให้ทุกคนมาสำรวจจิตใจ และมองความคิดของตัวเองให้ทะลุ และนั่นจะช่วยให้ผู้อ่านทุกเพศทุกวัยใช้ชีวิตในโลกแห่งการแข่งขันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่ปล่อยใจให้ไหลไปตามโลก ไม่ว่าครกจะใหญ่แค่ไหน เนินเขาจะมีจริงหรือไม่ แต่เราก็จะได้เข็นครกไปด้วยจิตใจที่เบาสบายนั่นเองค่ะ และก่อนจะจากกันไปในช่วงสนทนานี้ คุณหญิงก็ได้ให้คำแนะนำสำหรับเด็กๆ ที่รักการเขียน หรือต้องการให้การเขียนเป็นเพื่อนยามเหงา ไปฟังกันเลยค่ะ
ป้าศรี : เพราะฉะนั้นการเขียนหนังสือนี่เป็นอันหนึ่งที่อยากจะแนะเด็ก อยากจะแนะว่าอย่างนี้ เวลาเธอเหงา เธอลองดูซิ กระดาษแผ่นหนึ่ง ดินสออันหนึ่ง แล้วบอกตัวเองว่าฉันจะเขียนอะไรก็ได้ ฉันจะเป็นอิสรภาพกับตัวฉันเอง ฉันจะเขียนเป็นประโยคก็ได้ ไม่เป็นประโยคก็ได้ ฉันจะเขียนๆๆๆ โดยที่พอฉันรู้ว่าฉันเขียนจบฉันจะฉีกมันทิ้ง จะไม่มีใครเข้ามารู้ในสิ่งที่ฉันเขียนเลย
พิภพ : มันช่วยอะไรในการทำแบบนั้น
ป้าศรี : มันช่วย หนึ่ง เอาสิ่งที่อยู่ในใจเรา ซึ่งเราอาจจะไม่รู้เลยนะคะ มันมีเรื่องของความเชื่อมโยงของความคิด พอคุณเขียนอะไรลงไปคำหนึ่ง มันจะดึง เหมือนดึงเป็นเส้นด้ายเลย ออกมา ที่เราไม่รู้เลยว่าอะไรอยู่ข้างใน เขียนๆๆ ไป โดยที่คุณรู้ว่าคุณไม่ได้เขียนอวดใคร คุณไม่ได้เขียนด่าใคร คุณแค่เขียนๆๆ แล้วจะไม่มีใครได้อ่านเลย นั่นคืออิสรภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า จะไม่มีใครมาตัดสินฉัน และฉันก็จะไม่ตัดสินฉันด้วย
การเขียนสามารถเปลี่ยนชีวิตคุณได้ เพราะการเขียนเป็นกระบวนการเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ของผู้เขียนให้เปลี่ยนมาเป็นตัวอักษร ฉะนั้นคนที่เขียนหนังสือทุกๆ วัน อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้รู้จักตัวตนของตนเองว่า ตนเองต้องการอะไรในชีวิต เมื่อค้นหาตัวตนเจอ ก็จะทำให้ผู้เขียนเกิดความสุขใจ สงบใจ และยิ่งเขียนมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนก็จะพบปัญญาที่มีอยู่ในตัวเองค่ะ
Comments