top of page

รักยามตะวันรอน


ภาพ วรศักดิ์ สมบัติพิบูลย์


คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ที่บ้านน้ำสาน จังหวัดเชียงใหม่ บนที่ดิน 12 ไร่ กับ เจ้ากั๊บ สุนัขพันธุ์แจ็ครัสเซลล์สีขาว และสุนัขร็อตไวเลอร์-อัลเซเชียนที่เลี้ยงไว้ เธอยังเลี้ยงสุนัขพันธุ์บางแก้วอีกตัว บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนเนิน มองเห็นทิวเขาซับซ้อนของดอยอินทนนท์รายล้อมไปไกลสุดขอบฟ้า เคยมีนักปฏิบัติธรรมซึ่งมีสัมผัสพิเศษทักว่า คุณหญิงสร้างบ้านหลังนี้ทับที่โบสถ์เก่า ห้องพระของคุณหญิงตั้งอยู่ตรงตำแหน่งพระประธานเดิมโดยบังเอิญ ส่วนที่ดินของราชสกุลสวัสดิวัตน์ ซึ่งอยู่ติดๆ กันก็ขุดพบซากวัตถุโบราณ ซึ่งเมื่อนำส่งตรวจหาค่าคาร์บอนก็พบว่าเก่าแก่นับพันปี จึงสันนิษฐานขั้นต้นว่า บริเวณนี้เป็นที่ตั้งชุมชนคนโบราณหลังเวียงกุมกาม



“บ้านน้ำสาน” ที่แม่ริมของคุณหญิงจำนงศรี และ ดร.ชิงชัย (เจเจ) หาญเจนลักษณ์ ตั้งอิงเขา มีทิวเขาล้อมรายริมขอบฟ้า เช้าๆ จะเห็นคุณเจเจถือถ้วยมักใส่กาแฟร้อนกรุ่น ออกจากบ้านลงเนินสู่ดงไม้ มีสุนัข 3 ตัววิ่งนำ เสียงเจ้ากั๊บเห่านำลั่นหุบเขา กั๊บเป็นเจ็ครัสเซลล์พันธุ์จิ๋วที่หลงตัวว่า “ข้าแน่ ข้าใหญ่ ข้าลูกรัก” ชอบข่มเพื่อนพันธุ์ผสมร็อตไวเลอร์-อัลเซเชี่ยน กับพันธุ์บางแก้วที่ล่ำพอจะนั่งทับเจ้ากั๊บตายได้ แต่ไม่รู้ยังไงจึงยอมให้กั๊บแกล้งได้ตลอด ตัวไหนแหลมมาเจ้ากั๊บก็กระโดดตัวลอยเป็นซอลิ้วเฮียง เข้างับขนหลุดเป็นกระจุก เสียงคุณเจเจตวาดห้ามเจ้ากั๊บซ่า ดังแทรกความสงบมาเป็นระยะๆ


“เจเจเขาว่า ป้าศรีรักหมาถึงเป็นภรรยาเขาได้ ไม่งั้นก็หมดสิทธิ์ ” คุณหญิงพูดกลั้วหัวเราะ


คุณหญิงกับคุณเจเจที่สะพานข้ามสระ จากศาลานั่งเล่นไปยังบริเวณนั่งชมพระอาทิตย์ตกดิน ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

คุณหญิงค่อยๆ ปลูกที่พักที่เรียบง่ายหลายหลังไว้รองรับผู้ปฏิบัติธรรม และจัดคอร์สปฏิบัติธรรมและคอร์ส 'วิถีสู่ความตายอย่างสงบ' ทุกปีที่นี่ คุณหญิงบอก "จะได้แบ่งปันความงามของที่นี่ให้ทุกคนได้สัมผัส" เธอยังจัดคอร์สปฏิบัติธรรมให้คนในบ้าน

ที่อยู่กันมานาน ได้ชวนเพื่อนๆ มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน แม่บ้านเธอที่นี่เลยกลายเป็นคนสนใจในพุทธศาสนา และมีชีวิตที่สงบขึ้นหลังหย่าจากสามีชาดิสต์ มีหนี้สินติดตัวก่อนมาอยู่กับคุณหญิงร่วม 4 แสน คุณหญิงก็ใช้ให้เพื่อให้เริ่มชีวิตใหม่



“เราแต่งงานกันเมื่อป้าศรีอายุ 57 เจเจ 55 เรียกว่าเป็น ‘รักยามตะวันรอน’ ในสวนบ้านน้ำสานก็มีจุดชมวิวที่เราเรียกว่า เนินตะวันรอน ตอนเย็นๆ เราไปนั่งดูพระอาทิตย์คล้อยลับทิวเขา แสงจะค่อยๆ หลัวลงๆ จนมืดหมด มันสวย สงบ และเตือนเราว่าไม่มีอะไรที่เป็นอมตะในชีวิต”

ถึงจะไม่เป็นอมตะ แต่ชีวิตคู่ที่ผ่านมากว่า 15 ปีก็ยังสดใส “ชอบเหมือน ๆ กัน เช่น ชอบเดินทาง ชอบเรียนรู้โน่นนี่ ชอบหนังดี ๆ” จุดต่างอยู่ตรงที่คุณหญิงชอบปฏิบัติธรรม แต่คุณเจเจไม่อินนัก แต่งงานแล้วก็เริ่มฟังธรรมตามบ้าง เมื่อคุณหญิงจัดปฏิบัติธรรมที่บ้านน้ำสาน รวมทั้งคอร์ส ‘วิถีสู่ความตายอย่างสงบ ’ ของพระอาจารย์ ไพศาล วิสาโล ซึ่งจัดทุกปี คุณเจเจก็เป็นกองหนุน (ถ้ามีเวลา)บางครั้งที่คุณหญิงเป็นธรรมบริกร คุณเจเจก็เต็มใจเป็น ‘บริกร’ อยู่เบื้องหลัง ‘ธรรมบริกร’


“ผมก็เคยเข้าคอร์ส ‘วิถีสู่ความตายอันสงบ’ เขาคุย คุณหญิงแย้งขวับ “อย่ามุสา ยูไม่เคยเข้าเลย”

“เข้าสองวันหลัง ผมมันเด็กเรียนดี สอบข้ามชั้น เข้าสองวันสุดท้ายก็พอ”

ทั้งคู่โต้คารมชิงไหวชิงพริบ หักเหลี่ยมกันด้วยอารมณ์ขัน คนฟังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกขำแกมอบอุ่นในหัวใจ หลายคนคงฝันจะมีคู่ที่เป็นเพื่อนรักเพื่อนตายในยามแก่เฒ่าเช่นนี้

หลังอ่านหนังสือฟังธรรมเอาใจคุณหญิงมาพอควรแล้ว คุณเจเจผู้สอบชิงทุนรัฐบาลไปเรียนที่ฝรั่งเศส ตั้งแต่อายุ 16 ปี ก็เริ่มนำปรัชญาตะวันตก อย่าง Existentialism มาตีความหลักอนัตตาของพุทธศาสนาให้เข้ามุมของตัวเอง จนคุณหญิงต้องห้ามขาดไม่ให้คุยกับใครถึงหลักพุทธธรรม จนกว่าจะศึกษาให้ลึกซึ้งกว่าที่ทำอยู่


“เจเจเคยเข้าคอร์สฝึกวิปัสสนา 7 วันที่โป่งแยง” คุณหญิงเล่า “โอ๊ย สุขมาก หลับสนิททุกครั้งที่นั่งสมาธิ...ทุกครั้ง” คุณหญิงเน้น “พอถึงเวลาเดินจงกรม เจเจก็แอบไปเลี้ยงไก่...ทุกครั้ง ”


“เลี้ยงไก่วัดก็ได้บุญ” เสียงสามีเถียง


“เวลาอาหารเขาไม่ให้คุยกัน เจเจก็คุย กลางคืนก็ชวนสรรพิชญ์คุย แฮปปี้ตลอด” คุณสรรพิชญ์ คือลูกเขยคุณหญิง สามีคุณอโนมา (น้ำหวาน) บุตรีของคุณหญิงกับ ศ.นพ.อุทัย รัตนิน สามีคนแรกที่ตายจากกันไป และเป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ร่วมกัน


“เจเจเป็นคนที่ไม่โกรธ ไม่จุกจิก ไม่สะสมอะไร ใจดีกับทุกคน หัวถึงหมอนก็หลับแล้ว” คุณหญิงกระซิบลับหลังไม่ให้ได้ใจ “เครียดก็แค่เวลาไปขึ้นเครื่องบิน เขาชอบไปก่อนเวลา .. น..า..น.. มาก ในขณะที่เราชอบแบบเฉียดฉิว ”

คุณหญิงกับคุณเจเจที่ระเบียงห้องนอนบนชั้นสองของบ้าน บ้านหลังนี้มีโอกาสต้อนรับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ และพระเกจิอาจารย์สายวัดป่าหลายท่านที่รับนิมนต์มาบรรยายธรรม เวลาคุณหญิงจัดคอร์สปฏิบัติธรรม



คุณหญิงเจอคุณเจเจครั้งแรกหลังคุณหมออุทัยเสียชีวิตราว 5 ปี ลูกๆ 4 คนเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว ส่วนภรรยาคุณเจเจเพิ่งเสียได้เพียงเดือนเดียว โดยไม่มีบุตรร่วมกัน


“หลังภรรยาเสีย ผมเจอของหลอกเยอะนะ แต่ผู้หญิงคนนี้ของจริง” คุณเจเจชี้คุณหญิงด้วยสายตา


“เขาเป็นพ่อม่ายที่คบสาวๆ มากมาย เพื่อนๆ เขาจะเป็นลมที่เขาเลือกผู้หญิงที่แก่กว่าเขาเสียอีก” คุณหญิงหัวเราะ

จบปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนจากฝรั่งเศสแล้ว ดร. ชิงชัย ก็เข้ารับราชการครบ 9 ปี ก็ไปทำงานองค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศของรัฐบาลแคนาดา จนเป็น Regional Director รวมการทำงานในต่างประเทศถึง 22 ปี เมื่อโรคธาลาสซีเมียของอดีตภรรยาทรุดหนักลง เขาถึงกลับมาทำงานใน บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) พร้อมๆ ไปกับงานอื่นๆ อีกมากหลาย ทั้งด้านสังคม และวิชาการ รวมทั้งเป็นเลขาธิการให้ มูลนิธิวิเทศพัฒนา

“รู้จักกันจริงเพราะศรีเขามีมูลนิธิที่ช่วยเด็กผู้หญิงที่เชียงราย เขามาขอทุนมูลนิธิวิเทศพัฒนา ไปทำวิจัยการทำผักอบแห้งเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้กับเด็กและชาวเขา”


คุณหญิงเล่าต่อว่า “เขาไปดูงานเราที่เชียงราย ว่าจริงจังแค่ไหน ป้าศรีให้เขาทำกิจกรรมการพัฒนาจิตร่วมกับเด็ก เหมือนเป็นเด็กคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่สังเกตการณ์ ”


“แปลกดี ไม่เคยโดนอย่างนี้จากคนขอทุน เขาก็ยังพาผมเดินตากแดดขึ้นยอดดอย สมบุกสมบันมาก ไปกินไปนอนกับชาวเขา ผมไม่เคยถูกลากลงพื้นที่ถึงขั้นนั้น ก็กัดฟันสู้สิ เขาเป็นคุณหญิงตัวเล็กๆ ยังลุยได้” นี่ละมั้งที่คุณเจเจว่าเป็น 'ของจริง '

พอดูงานมูลนิธิเสร็จ คุณหญิงขอแวะที่บ้านน้ำสานเพื่อทำพิธีลงเสาเข็มปลูกบ้าน หลังจากทิ้งที่รกร้างไว้ 10 กว่าปี และท่านเจ้าคุณวัดเจดีย์หลวงมาทำพิธีให้ คุณเจเจเลยติดมาเป็นแขกร่วมพิธีเพียงคนเดียว บ้านน้ำสานจึงหยั่งรากในฤกษ์เดียวกับที่ทั้งคู่ปลูกต้นรัก


“เป็นเหตุบังเอิญของพรหมลิขิต” คุณเจเจยืดอกแสดงโวหาร


คุณหญิง คุณเจเจ และณัทพิชญ์ เศรษฐพรพงศ์ หลายชาย ซึ่งเล่นกีฬามวยปล้ำ จึงมีรูปร่างสูงใหญ่ กลับจากอเม่ริกามาพักที่บ้านน้ำสานครั้งนี้ คุณตาเจเจพาไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส Four Season กลัวหลานฟอร์มตกถ้าไม่ออกกำลังกายติดๆ กันหลายวัน


8 ด่านอรหันต์

เมื่อแต่งงาน คุณเจเจต้องฝ่า ‘8 ด่านอรหันต์’ นั่นคือการยอมรับจากบุตรทั้ง 4 รวมเขยสะใภ้กับว่าที่อีก 4 ของคุณหญิง

คุณหญิงให้ลูกๆ จัดทริปไปสมุย เพื่อได้รู้จักใกล้ชิดกับคุณเจเจ ให้แน่ใจว่าแม่ไม่ถูกหลอก เริ่มก็ท่าไม่ดีแล้ว แม่กับคุณเจเจจองวิลล่าคนละหลัง แต่เป็นวิลล่าแฝด คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวง คู่ ‘รักยามตะวันรอน’ ไปนอนดูจันทร์บนหาดทราย ลูกๆ ก็แอบมองกันอย่างห่วงใย คนหนึ่งยกมือทาบอกปรารภว่า “แล้วเราจะทำยังไงดี ”...

ยังกะใครมาขอลูกสาวไปแต่งงานก่อนวัยอันควร และในที่สุดคุณเจเจก็ทำคะแนนผ่านฉลุย จนทุกวันนี้กลายเป็น คุณอา คุณปู่ และต๋าตาสุดที่รักของลูกหลานคุณหญิง



(บน แถวยืน) สรรพิชญ์ - อโนมา (น้ำหวาน ) - ณัทพิชญ์ เศรษฐพรพงศ์ ดร. ชิงชัย - คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ และ จิตรจารี (น้ำอ้อย) ดร.ฉัตรมงคล ปีตธวัชชัย

(แถวนั่ง) น.พ.สรรพัฒน์ - ศิริธร - ไตร รัตนิน, ปูรณ์ ปีตธวัชชัย, วิภาสา หลีอาภรณ์ และ ณณิชา เศรษฐพรพงศ์


(บนขวา) คุณหญิงกับคุณวรัดดา หลีอาภรณ์ (น้ำผึ้ง) บุตรคนที่ 2 (ล่างซ้าย) คุณหญิงกับครอบครัวในวันเกิดเธอปีหนึ่ง

(ล่างขวา) ไท หลีอาภรณ์ หลานชายอีกคนของคุณหญิง



La Vie en Rose

ใส่บาตรกับลูกๆ ที่วัดสุทัศน์ พี่ชายคุณหญิงจัดเลี้ยงเป็นการภายในให้ญาติๆ ได้พบเขยใหม่ เสร็จสรรพ คุณเจเจก็พาคุณหญิงไปพบความหลังของตนที่ฝรั่งเศส แล้วชวนกันไปจดทะเบียนที่หัวหิน


“เขาอวดตัวว่าเป็นนักเดินทางตัวยง ตอนจะไปฝรั่งเศสก็แสดงฝีมือแพ็คกระเป๋าในชั่วพริบตา เราทึ่งมาก จนกระทั่งถึงฝรั่งเศสปรากฏว่าเขาลืมกางเกง มีแต่ที่ใส่ติดตัว สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีไซส์คนเอเชียขายกัน ก็หาซื้อไม่ได้ และเราก็ขับรถเช่าท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เจเจใส่กางเกงตัวเดียวทั้ง 10 วัน ”


“กลางคืนซักตากราวทำความร้อนในห้องน้ำ เช้ามันก็แห้ง” คุณเจเจแก้ต่าง


“รถที่เขาเช่า เป็นรถฝรั่งเศสคันกระจิ๋วหลิวมาขับ ป้าศรีไม่เคยเห็นรถเล็กขนาดนั้นมาก่อนในชีวิต ก็ดูจ๊าบดี เข้าไปนั่งรู้สึกมันคับเหมือนใส่เสื้อเหล็ก เขาขับมันไต่เหวข้ามเทือกเขา Pyranees ไปได้ครึ่งทาง หมอกตกหนัก มองห่างปลายจมูกได้ไม่เกิน 2 เมตร ”


“ไปกันได้ เพราะเขาไม่เกร็ง ไม่กลัว ผมขับไปนึกไปว่าจะไปรอดไหมเนี่ย” คุณเจเจว่า


“เขาพาไปที่ต่างๆ สมัยเรียน จูงเราไปดูม้านั่งในพาร์คที่เคยนั่งกับแฟนคนแรกชื่อโมนีค ตรงนั้นก็โมนีค ตรงนี้ก็โมนีค ” คุณหญิงเล่าอย่างสนุก “ถามว่าตอนนี้โมนีคอยู่ไหน เขาว่า ‘อ๋อ คงบวชชีไปแล้ว’ ”

“เธอเป็นคาทอลิก อยู่คอนแวนต์ ” สามีขยายความ

ดูคุณเจเจจะมีความผูกพันหรือกรรมเก่ากับสตรีที่มีศรัทธาแรงกล้าทางศาสนา แฟนคนแรกและคนสุดท้าย จึงเป็นสตรีที่อุทิศตนให้กับกิจกรรมทางศาสนาทั้งคู่ และโมนีคกับคุณหญิงต่างก็อายุมากกว่าคุณเจเจ 3 ปี


หรือ ‘เหตุบังเอิญ’ ของพรหมลิขิต จะมีจริง


“ผมได้กำไรนะ แต่งงานทีเดียวได้เมียหลายคน รวม 8 แล้วมั้ง” เหรอคะ “อ้าว ก็ได้แม่ครัว ช่างเทคนิค (เขาเก่งเทคโนโลยีทุกอย่าง ผมมีปัญหาต้องให้เขาช่วย) ไกด์ท่องเที่ยว นักประวัติศาสตร์ นักเขียน นักวิชาการ นักพัฒนาสังคม แล้วก็..คนนี้ไม่ค่อยชอบ..แม่ชี ”
“เราก็มีสามีหลายคน ครอบครัวเราเป็น polygamy”

คุณหญิงกับคุณอโนมา เศรษฐพรพงศ์ (น้ำหวาน) บุตรสาวคนที่ 3 ที่ระเบียงบ้านชั้นล่าง วันเกิดคุณหญิงปีนี้ คุณน้ำหวานนำภาพเขียนลายเส้นรูปพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มาฝากคุณแม่เป็นของขวัญวันเกิด


ทั้งคู่มีไหวพริบและอารมณ์ขันที่ทันกัน ไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกัน ทำงานได้หลากหลาย และมีใจให้งานพัฒนาสังคมเหมือนกัน แม้จะเป็นคนละด้าน แต่ก็ส่งเสริมกันได้อย่างดียิ่ง แต่ก็มีเรื่องที่สามียังไม่เข้าใจภรรยาดีนัก คือคุณหญิงชอบลาไปปลีกวิเวกเป็นระยะๆ ตามป่าตามเขาที่กันดารทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งๆ ที่ชีวิตปัจจุบันก็แสนสบาย ครั้งล่าสุดก็ไปใช้ชีวิตตามลำพังในป่าโปร่ง บนเขาแถบชนบทของอังกฤษ เธอพักใน ‘กุฏิ’ ไม้กลางป่า ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำ ไม่มีส้วม เพราะเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่ควบคุมโดย Forest Authority ของอังกฤษ


“ไม่รู้สึกลำบาก เฉพาะกุฏิบนเขาที่อังกฤษมาพักครั้งนี้ครั้งที่ 3 แล้วค่ะ ถ้าต้องไปอังกฤษอยู่แล้ว ก็ขอปลีกมา วันๆ ก็ใช้ชีวิตขั้นพื้นฐาน เมื่อรู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัว ดิน ฟ้า น้ำ ต้นไม้ นก แมลง กระต่ายป่า หมาจิ้งจอก อยู่อย่างนั้น ใจรู้เลยว่า เส้นคั่นระหว่างชีวิตกับความตายมันบางมาก จะเอาอะไรกันนักกันหนา ทำให้ใจอิสระ ไม่กลัว ไม่เหงา ไม่เบื่อ ”


ถามว่าวันๆ ทำอะไร “นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ก็ไม่มากนะ เดินป่าทุกวัน วันละหลายกิโล แถวนั้นเคยเป็นแหล่งอารยธรรมยุคหินและยุคเหล็ก ติดตัวก็มีเข็มทิศ แอปเปิ้ลหรือส้มลูก ไม้เท้าอัน เสื้อกันฝนนี่จำเป็น ใส่ก็ได้ ปูพื้นนั่งก็ดี” แล้วธุระธรรมชาติล่ะคะ “เดินลงเขาสัก 300-400 เมตร ก็มีบ้านเล็กๆ มีห้องน้ำ อาบน้ำวันละหน บางวันที่หนาวๆ ไม่อาบก็ได้ ส้วมหรือ โอ๊ย ป่าตั้งกว้าง ไปตรงไหนก็ได้ เอาพลั่วกลบ หิ้วน้ำดื่มขึ้นไปนี่ วันแรกๆ เหนื่อยหน่อย แล้วก็ชิน”

อาหารล่ะคะ “มังสวิรัติที่วัด เดินจากกุฏิสักกิโลกว่า ทางสวยชื่นใจ ไม่รู้สึกไกลเลย แต่เมื่อครั้งก่อนๆ ตักใส่กะละมังมาทานในป่า”

ครบ 9 คืน 10 วันตามกำหนด คุณเจเจก็ไต่เขาขึ้นไปรับ ด้วยเหตุผลว่า “เดี๋ยวเขาไม่ลงมา” (คงจะกลัวซ้ำรอยโมนีค)

ก่อนพบเจเจ คุณหญิงก็ได้ปลีกวิเวกมามาก รวมทั้งไปอยู่คนเดียวในบ้านริมป่าที่สวนโมกขพลาราม ถึง 3 เดือนโดยไม่กลับกรุงเทพฯ เลย โดยเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์พุทธทาส และอุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง “ใกล้ชิดท่านอาจารย์รัญจวนมาก โดนท่านดุตลอด” และภายในปีเดียวกันนั้นก็ไปอยู่คนเดียวอีกเช่นกัน ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ โดยมี ท่านอาจารย์แบน เป็นพระอาจารย์ การปฏิบัติช่วงนั้นเข้มข้นมาก ประเภทเดินจงกรมอยู่คนเดียวในป่าจากเที่ยงคืนจนฟ้าสาง

คุณหญิงที่ระเบียงนั่งเล่นหลังบ้าน ซึ่งกว้างขวางพอๆ กับพื้นที่บ้าน อยู่ติดกับสวนป่าแน่นขนัดต้นไม้สูงตามธรรมชาติ แต่คนสวนดูแลให้โปร่งและไม่รกชัฏ


ช่วงที่ยังเป็นม่าย คุณหญิงเคยไปปลีกวิเวกถึง 7 วันในคฤหาสน์อายุ 240 กว่าปี ชื่อ Sharpham House ใน Devonshire ประเทศอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่หลายร้อยเอเคอร์ ในชนบทห่างจากกรุงลอนดอนประมาณ 300 กว่ากิโลเมตร คฤหาสน์หลังนี้เป็นรางวัลที่พระราชินีแอนน์พระราชทานแก่ขุนนางที่ไปรบทัพกับเรือสเปน สูง 3 ชั้น มีห้องประมาณ 26 ห้อง รอบๆ บ้านภูมิสถาปัตย์ทำสนามโล่งประดับด้วยรูปปั้นหินและบรอนซ์ เจ้าบ้านสามารถเห็นผู้มาเยือนที่ควบม้าหรือนั่งรถม้า ผ่านเข้ามาในอาณาบริเวณแต่ไกล

วันแรกที่เข้าพัก คุณหญิงยอมรับว่าตกใจ ที่ทั้งบ้านไม่มีที่ล็อกแม้แต่ห้องเดียว รวมทั้งประตูหน้า แต่ก็ไปอยู่ห้องนอนชั้น 3 ที่เขาจัดไว้ให้


“กลางคืนเดินตามระเบียงที่วงรอบช่องบันไดไปเข้าห้องน้ำก็กลัวมาก แสงจันทร์ส่องทะลุกระจกโค้งในเพดาน ตามผนังมีรูปคนแขวนอยู่เป็นแถว เห็นเลยนะว่าจินตนาการเรามันหลอกเราอย่างไร เป็นการฝึกที่ดีมากแล้วก็สนุกด้วยนะ มีแม่น้ำสวยไหลผ่านชอบเดินริมแม่น้ำ บางวันก็เดินออกไปจับรถเมล์ไป Totnes ซึ่งเป็นเมืองศิลปินเล็กๆ น่ารักมาก


“ตอนป้าศรีไปอยู่ เจ้าของยังมีชีวิตแต่แก่มากแล้ว เป็นเพื่อนคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเป็นคนติดต่อขอยืมให้ ป้าศรีไปอยู่ตอนเขาเดินทางไปพักผ่อนฝรั่งเศสกันหมด ปัจจุบันทายาทเขายกให้National Trust ไปแล้ว ”


“ผมบอกศรีเขา” คุณเจเจพูดขึ้น “ว่าพระพุทธเจ้าท่านยังไม่เอาปางทรมานเลย ก็ไม่ต้องทรมานตัวเอง จะนั่งสมาธิ ก็นั่งเก้าอี้ให้มันสบาย ไม่ต้องถึงขั้นมีแอร์ก็ได้ แต่ควรมีส้วม ทำไมต้องไปอยู่ในที่ที่มนุษย์เขาไม่อยู่กัน ”


“เจเจจ๋า มันทรมานตรงไหน ศรีอยู่บ้านกับยูก็สบาย อยู่กับธรรมชาติคนเดียวก็สบาย ไม่ยุ่งยาก ไม่ดีหรือ”

คุณหญิงอธิบายยังไง คุณเจเจก็ไม่เห็นว่า “มันสุขตรงไหน” แต่ถึงไม่เข้าใจยังไง เขาก็ตามใจภรรยา และนั่นคือความรัก

ดูเหมือนคุณหญิงจะรู้จักการอยู่คนเดียวมาตั้งแต่เด็ก



คุณหญิงกับคุณน้ำหวานที่สระบัวภายในบริเวณบ้าน เมื่อ ศ. นพ.อุทัย รัตนิน อดีตสามี เสียใหม่ๆ คุณหญิงต้องรับภาระดูแลโรงพยาบาลจักษุรัตนิน และประสบปัญหายอดคนไข้ตก เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่ติดคุณหมออุทัย คุณหญิงต้องพยายามผลักดันคุณหมอท่านอื่นๆ ให้ขึ้นมาโดดเด่นและดึงจักษุแพทย์เก่งๆ เข้ามาเสริมทีม ช่วงนั้นคุณหญิงได้คุณน้ำหวานเข้ามาช่วยบริหารงานเพราะบุตรชายคนโตจักษุแพทย์สรรพัฒน์ รัตนิน (ไต๋) ยังไม่กลับจากนอก คุณหญิงบอก"ตอนนั้นเราเพิ่งนำเข้าเครื่องผ่าตัดสายต้า 'กิมเบล' คนนี้ (คุณหวาน) เอาจนรอด"


วัยเด็กที่อังกฤษ

คุณหญิงเป็นบุตรคนที่ 3 ใน 4 คนของคุณจุลินทร์ ล่ำซำ กับคุณสงวน หวั่งหลี อีก 3 ท่านก็คือ คุณไพโรจน์ คุณโพธิพงษ์ และคุณทวีนุช (จ่างตระกูล) คุณแม่จากไปตั้งแต่คุณหญิงยังไม่ 3 ขวบ ต่อมาจึงมีน้องชายต่างมารดา คือคุณธงชัย และคุณภูมิชาย ล่ำซำ

คุณหญิงเป็นเด็กเหงา ที่ชอบอ่านหนังสือ ปีนต้นไม้ เล่นกับสุนัขในบ้านสวนริมคลองสำเหร่ (ปัจจุบันเป็นบ้านคุณไพโรจน์) ที่คุณพ่อคุณแม่ร่วมกันสร้าง ก่อนคุณแม่จะเสียอย่างกะทันหันในวัยเพียง 33


“อยู่กับคุณอาผู้หญิงที่เป็นโสด เพราะคุณพ่อมีครอบครัวใหม่ พอพี่ชายอายุ 10 กว่าขวบ ก็ไปฮ่องกงแล้วก็อังกฤษ คุณยาย (คุณแจ่ม หวั่งหลี) เป็นนักอ่าน นักสักวา แต่งกลอนสด คุณยายอ่านอิเหนา อ่านรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 ทั้ง 21 เล่ม ตั้งแต่ต้นจนจบให้ฟัง วรรณกรรมอยู่ในตัวเราตั้งแต่เด็ก”

คุณยายคงนึกไม่ถึงว่า หลานสาวคนนี้จะเป็นนักเขียนมือรางวัล Best Seller เมื่อโตขึ้นคุณหญิงมีผลงานด้านกวีนิพนธ์ทั้งไทยและอังกฤษ บทละคร งานวิจารณ์ ตลอดจนหนังสือเชิงปรัชญา และเชิงประวัติศาสตร์ ‘วิชาตัวเบา’ ‘เข็นครกลงเขา’ และ ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร’ ล้วนเป็นหนังสือขายดี บทละครเรื่อง ‘สิ้นแสงตะวัน’ ได้รับรางวัลวรรณกรรม จากมูลนิธิ John A. Eakin ในปี 2525 และ หนังสือเด็ก ‘เจ้าแสดแปดขา’ กับ ‘ตุ๊กแกแจกลาย’ ได้รับรางวัลดีเด่นจากกระทรวงศึกษาฯ ส่วน ‘ฉันคือ ปูลม’ ได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา

คุณหญิงเป็นนักเขียนที่ไม่ต้องมีบรรณาธิการมาคอยแก้งานให้ เพราะหลังจากเขียนงานเสร็จ เธอจะทิ้งงานไว้สักพักและกลับมาแก้งานตัวเองจนกว่าจะพอใจ ไม่น่าเชื่อว่าสมัยเด็กๆ เธอเป็นเด็กที่เรียนเลวสุดๆ


“ไม่ซนนะ แต่เรียนไม่รู้เรื่องจริงๆ อยู่โรงเรียนสมัยนั้น ถูกตี ถูกทำโทษ ให้ยืนบนเก้าอี้บ้าง ยืนกางแขนบ้าง ออกมายืนหน้าชั้นมีป้ายแขวนคอก็เคย โดนมาหมด เอ๊ะ แต่ก็ไม่โกรธครูนะ ทำไมไม่รู้สิ แต่เชื่อแน่ว่าตัวเองโง่มาก


“มีปีหนึ่ง ครูบอกว่า ‘เธอสอบตกนะ แต่ฉันไม่อยากได้เธอไว้ ก็ปัดคะแนนให้ขึ้น’ (ไปให้พ้น ๆ) ตอนอายุสัก 50 ได้รับรางวัลนักเรียนเก่าดีเด่น เพื่อนที่จำได้ยังขำเลย


“คุณพ่อส่งไปเรียนอังกฤษ เมื่ออายุ 12 ภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นมากๆ คำพูดคุณพ่อที่จำได้ไม่เคยลืม คือ ‘เงินที่คุณพ่อส่งศรีไปเรียนเมืองนอกนี่ เป็นเงินคนไทยนะ เราเป็นหนี้บุญคุณคนไทย อย่าลืมเชียวนะ’ แปลกนะ ตั้งหกสิบกว่าปีมาแล้ว ยังจำได้ชัดเจนเลย


“ป้าศรีไป ค.ศ. 1952 ก่อนพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคตแค่ 2 วัน หกเดือนแรกอยู่กับแฟมิลี่เรียนภาษา แม่บ้าน 3 คน คนหนึ่งเป็นครู เธอจะอ่านนวนิยายภาษาอังกฤษให้ฟังทุกวัน เรารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่มันทำให้เรายิ่งผูกพันอยู่กับวรรณกรรม”

หกเดือนต่อมา เธอก็เข้าโรงเรียนประจำเล็กๆ เจ้าของโรงเรียนคือ Sir Timothy Eden พี่ชาย Sir Anthony Eden นายกรัฐมนตรีอังกฤษในยุคนั้น


“โรงเรียนอยู่กลางป่าเก่าแก่ที่ชื่อว่า New Forest มีแต่ทุ่งหญ้ากับป่าโปร่ง นักเรียนทั้งหมด 70 คน เป็นคนอังกฤษหมด ยกเว้นเด็กอเมริกันคนหนึ่ง กับเราที่เป็นต่างชาติ แรกๆ โดดเดี่ยวมาก จนภาษาอังกฤษเราดีขึ้น สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรทัศน์ กิจกรรมก็มีอ่านหนังสือ ขี่ม้า เดินป่า และเล่นกีฬา ทุกวันอาทิตย์ไม่ว่าจะฝนตก หิมะตก หรือหนาวเหน็บจนพื้นป่าเป็นเกล็ดน้ำแข็ง เด็กทั้งโรงเรียนก็จะถูกพาไป

เดินป่าทีละไกลๆ สมบุกสมบันมาก หลงรักป่ามาตั้งแต่สมัยนั้น”

จากเด็กนักเรียนที่เรียนเลวสุดๆ คุณหญิงจำนงศรีก็กลายเป็นเด็กรางวัล เด็กเรียนเก่งระดับท็อป ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งศิลปะ “คุณพ่อได้รับรายงานโรงเรียน ก็นึกว่าเขาส่งรายงานมาผิด คือนึกว่าเป็นของเด็กคนอื่น แต่ใส่ชื่อเรา คุณพ่อต้องทำใจให้ชินว่าลูกสาวที่เคยจองที่โหล่ประจำชั้น กลายเป็นเรียนเก่งได้จริงๆ”

มิหนำซ้ำ ยังขึ้นชื่อว่าอ่านกวีนิพนธ์ได้คะแนนเกินหน้าเพื่อนนักเรียนเจ้าของภาษา กลับมาอยู่เมืองไทย คุณหญิงก็มักจะได้รับเชิญให้เป็นผู้อ่านบทกวีพนธ์ไทยและอังกฤษบ่อยครั้ง เธอได้ถวายการอ่านบทบทกวีหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ในพิธีเปิดหอศิลป์กรุงเทพฯ ตรงข้ามศูนย์การค้ามาบุญครอง

อายุย่าง 16 สอบ GCE (O level) เสร็จ เธอได้ย้ายมาพำนักอยู่กับ Lady Eden ที่ ถนนวิกตอเรีย ในเขตเคนชิงตัน เข้าเรียนโรงเรียนไปกลับเพื่อเตรียมสอบ GCE (A level) ตั้งเป้าเข้าเรียนวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่ก็ต้องผิดหวังอย่างแรง เพราะคุณพ่อให้กลับเมืองไทย


“ท่านเป็นโรคเบาหวาน ตาใกล้จะบอด อยากให้ลูกสาวมาอยู่ใกล้ให้ได้เห็นหน้าเห็นตา ยังไม่เคยกลับมาเลยตั้งแต่จากเมืองไทย การเดินทางยากกว่าสมัยนี้มาก เครื่องบินก็เครื่องบินใบพัด ต้องแวะจอดเติมน้ำมันที่การาจี


“คุณพ่ออยากให้เรียนเลขานุการ เหมือนพี่ชัช (คุณหญิงชัชนี จาดิกวณิช เป็นลูกพี่ลูกน้อง) ก็ไปเรียน แต่ไม่ชอบเอาเลย เรียนไม่จบหรอก เพราะแอบหนีไปเรียน History of Art (ประวัติศาสตร์ศิลป์) ชอบศิลปะ ชอบประวัติศาสตร์ ชอบดูละครเวที ละครพูด ไม่ใช่ Musical เหมือนสมัยนี้นะ เชคเสปียร์ อิบเซน ดูหมด คุณพ่อไม่ให้ใช้สตางค์เยอะ ได้เท่ากับนักเรียน ก.พ. ก็เก็บสตางค์เอาสิ ไม่เคยนั่งแท็กซี่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่นั่งแม้กระทั่งรถเมล์หรือรถใต้ดิน เดินเอา เดินเก่งมาก จาก Leicester Square ถึง Kensington นี่เรียกว่าหมูๆ เสื้อผ้าก็ซักมือ อาหารเที่ยงนอกบ้านก็กินแต่มันฝรั่งอบผ่าใส่เนยแข็งพอเป็นกระสาย กินอย่างงั้นทุกวี่ทุกวัน เย็นกลับมากินที่บ้าน เก็บตังค์ซื้อตั๋วดูละครไงคะ


“ตอนเรียนเลขาฯ เลือกเรียนคอร์สหนังสือพิมพ์ (Journalism) เอ้อ ค่อยเข้าขา ไม่นึกหรอกนะว่าจะได้เป็นนักหนังสือพิมพ์ บรรดาลูกสาว Sir Timothy กับ Lady Eden ล้วนเป็นเดบูตองท์ ก็ให้จัดการให้เราไปเรียนสารพัดที่เขาเรียนกัน ไม่ใช่สไตล์เราเล้ย แต่ก็เอ๊าเรียนก็เรียน อยากรู้อยากเห็นเป็นนิสัยอยู่แล้ว”


เรียนอะไรบ้างคะ “จัดดอกไม้เอย เดินแบบเอย ตัวเราขาสั้น ตัวเตี้ยมะแร้กแก๊ก จะไม่ตลกได้ยังไง ครูอุตส่าห์ให้กำลังใจว่าเท้าเล็ก เป็นนางแบบรองเท้าได้ โธ่เอ๊ย ข้าพเจ้าไม่หลงตัวถึงขนาดนั้นหรอก เท้าสั้นๆ บานๆ อย่างนี้... สงสารรองเท้า


“อีกคอร์สเรียนการวางตัวในสังคมระดับสูง ลงบันไดในชุดยาวให้สง่าอย่างไร คลี่พัดอย่างสวยหรูอย่างไร เข้าห้องแล้วปิดประตูอย่างไร โดยไม่หันก้นให้แขกในห้อง ทำอาหารเก๋ๆ กับ Julia Child (ผู้เขียนตำราอาหารฝรั่งเศสคนแรกของอเมริกาและเป็นตำราอาหารที่ขายดีไปทั่วโลก) เธอสอนเราทำมะเขือเทศให้เป็นดอกกุหลาบ เอาช้อนป้ายครีมชีสใส่สีชมพู คาร์เวียเป็นเกสร เธอพูดถึงคาร์เวียอย่างสุดแสนจะชื่นชมว่ามัน so dramatic พวกนักเรียนก็พากันเห็นจริงเห็นจัง เจ้าปลาคาร์เวียมันจะเห็นด้วยไหมหนอ ลูกมันตายทั้งกลมเป็นแสน”

น้ำเสียงที่เล่าเจือแววล้อเลียนจนคนฟังรู้สึกสะดุด ต้องถามกลับว่า คุณหญิงไม่สนุกกับสิ่งที่เรียนบ้างเลยหรือ เพราะฟังดูน่าสนุกออก


“สนุกเหมือนเล่นละคร”



(ซ้าย) คุณณัทพิชญ์และคุณณณิชา เศรษฐพรพงศ์ บุตรชายหญิงของคุณน้ำหวาน


นอนพื้นข้างถนน

กับงานบอลล์

ในช่วงเดียวกันนั้น คุณหญิงก็ทำในสิ่งที่คุณพ่อคงจะฉงน “ไม่หรอกค่ะ คงภูมิใจ” คุณหญิงแย้ง คือไปเข้าคิวนอนบนบาทวิถีกับเพื่อนฝรั่งสองคนถึง 2 วัน 2 คืน ในความหนาวเยือกและเฉอะแฉะของฝนฤดูใบไม้ร่วง เดินไปเข้าห้องน้ำที่สถานีรถไฟใต้ดิน เข้าคิวทำไมคะ


“อ้อ ก็เป็นครั้งแรก ที่ Boishoi Ballet ของรัสเซียจะออกมาแสดงให้โลกภายนอกได้ดู ก่อนนั้นรัสเซียปิดตัวเองอยู่หลังม่านเหล็ก (Iron Curtain) ตั๋วหมดเกลี้ยง เราก็เข้าคิวรอตั๋วที่เขาคืนกลับมา เป็นการสัมผัสไลฟ์สไตล์แบบแบกะดิน” แล้วได้ดูไหมคะ “ได้สิ ที่นั่งเลือกไม่ได้ ได้ตามคิว ตั๋วของเราเป็นที่นั่งหลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธกับเจ้าชายฟิลิป เพียงไม่กี่แถว คนคืนตั๋วใบนี้คงเป็นระดับขุนนาง... ดีมั้ยล่ะ นอนข้างถนนแล้วก็นั่งลอยฟ้าในวันเดียวกัน เคยเล่าให้เจเจฟัง เขาไม่ทึ่งเลย บอกว่า โอ๊ย ผมก็เคยนอนข้างถนนที่ฝรั่งเศส ว้า...เลยข่มไม่ลง ”

มาอยู่ลอนดอน คุณหญิงได้มีโอกาสรู้จักกับนักเรียนไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น (ท่านองคมนตรี) ม.ร.ว.เทพ เทวกุล หรือ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา มีนักเรียนไทยคนหนึ่งชวนคุณหญิงไปงาน May Ball ที่มหาวิทยาลัย Cambridge


“เราก็ตื่นเต้นนะ แต่ด้วยความประหยัดเพื่อเก็บเงินดูละคร ก็ไปซื้อแพตเทิร์นมาตัดชุดสีขาว และซื้อลูกไม้มาเย็บติดตัวเสื้อ ประหยัดไง ตัดเย็บเสื้อทั้งชุดเอง ด้วยมือ เย็บกลางคืนมองไม่ค่อยเห็น ลูกไม้ข้างหน้าโอเค ข้างหลังกลับในเป็นนอก จะแก้ก็ไม่ทัน ก็ใส่ไปงานทั้งอย่างนั้น”

แต่ที่เพื่อนๆ ล้อกันไม่ใช่เรื่องที่คุณหญิงเย็บลูกไม้กลับด้าน แต่หนุ่มที่เดทเธอ ดันแพ้แอลกอฮอล์ ยังไม่ทันไร ก็มีอาการง่วงทนไม่ไหว เอาเธอไปทิ้งไว้ในห้องสมุด ตัวเองไปหาที่แอบหลับ ฟื้นอีกทีสว่าง ออกมาเห็นสาวน้อยในชุดกระโปรงสีขาว นั่งอ่านบทละครกรีกโบราณคอยอย่างมีความสุข

เขาแก้ตัวด้วยการพาเธอไปถ่อเรือ พาเธอเลียบลำน้ำ ที่กิ่งวิลโลว์โน้มเรียงรายจูบผิวน้ำ ดุจหยอกเย้าแสงอาทิตย์ยามอรุณรุ่ง


“เสียดายที่ไม่ได้เก็บชุดราตรีที่ตัดเย็บด้วยมือทุกตะเข็บ เอาไว้ให้ลูก ๆ ได้เห็น” คุณหญิงบ่น “เอ้อ แต่ป้าศรีทำของหายบ่อยนะ มองในแง่ดี มันก็ทำให้ชินกับความสูญเสีย "

เป็นแฟนกันหรือคะ “เปล่าหรอก เป็นเพื่อนกันเท่านั้น แต่พอเขาเป็นแฟนจริงๆ กับผู้หญิงอีกคน ซึ่งทั้งสวย ทั้งจิตใจดี เหมาะสมกันมาก แต่เราอยู่เมืองไทยก็ร้องไห้เป็นเผาเต่า” หัวเราะ “แปลว่าอะไรล่ะ ”


“ประวัติศาสตร์ปีมะโว้ ยุคเดียวกับยุคชิงชัย – โมนีค ”

ครึ่งศตวรรษผ่านไป เพื่อนคนนี้เสียชีวิต วันเผาป้าศรีอยู่บ้านน้ำสาน พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล กำลังสอนคอร์ส 'วิถีสู่ความตายอันสงบ' ใจเธอก็นึกได้อยากไปงานเผา เจเจถาม “ทำไมยูต้องไป ก็ไปงานสวดแล้ว และเราก็ติดงาน” ป้าศรีบอก “เจเจจ๋า เขาเป็นรักแรก” เท่านั้นแหละ “อ้าวทำไมไม่บอก” เขาลุกขึ้นโทรศัพท์จองตั๋วทันทีและขับรถไปส่งที่สนามบินเดี๋ยวนั้น


“อกหักครั้งนั้นมันก็ดีนะ เป็นการเรียนรู้ และก็เป็นการลดอัตตาที่ดีมากด้วย” ลดอัตตาดียังไง “อ้าว ก็ทำให้คาดหวังจากตัวเองน้อยลง ให้ได้อย่างใจตัวน้อยลง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น คือเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่ง ที่คนไม่เคยอกหักพลาดโอกาส ”



คุณหญิงเมื่อกลับจากเมีองนอกใหม่ๆ และทำงานเป็นนักข่าวหนังสีอพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง เธอมีโอกาสฟ้อนกระทงหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในกระทงติดไฟแบตเตอรี่ เมื่อปิดไฟบนเวที จะเห็นเพียงสาวน้อยในกระทงลอยอยู่ท่ามกลางความมืด ในงานนี้เธอทำหน้าที่เป็นทั้งผู้สี่อข่าวที่มาทำข่าวและผู้แสดงบนเวทีในเวลาเดียวกัน


บรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันที่อายุน้อยสุด

คุณหญิงกลับมาเมืองไทย เมื่ออายุ 18 ปี ทำงาน บริษัทล็อกซเล่ย์ ได้ไม่กี่เดือน ก็ได้เป็นผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ภายใน 3 เดือน เลื่อนขึ้นมาเป็นบรรณาธิการหน้าสังคมและสตรี แทนสตรีชาวอเมริกาที่ทำอยู่ก่อน นับเป็นผู้หญิงไทยคนแรกในกองบรรณาธิการ แถมยังอายุน้อยที่สุดอีกด้วย


“คุณพ่อให้ทำงานล็อกซเล่ย์ เป็นลูกน้องพี่ชัช (คุณหญิงชัชนี) งานคือกรอกแบบฟอร์มการเดินเรือ เบื่อมาก วันหนึ่งเจอผู้ชายอเมริกันในงานเลี้ยง คุยกันมันส์มาก เขาว่า ยูคิดแปลกดี ลองเขียนบทความส่งมาที่ Bangkok World สิ (สมัยนั้นยังเป็นหนังสือพิมพ์เช้าคู่แข่ง Bangkok Post) เขาก็คือ Darrell Berrigan บรรณาธิการใหญ่ ดีใจมาก เขียนส่งไปเขาก็พิมพ์เลย รุ่งขึ้นเขาก็โทร.มาชวนให้ไปทำงาน จะฝึกให้เป็นนักข่าวก่อน ถ้าเก่งจริงจะให้เป็นบรรณาธิการฝ่ายภายใน 3 เดือน คุณพ่อไม่ยอมสิ เพราะสังคมสมัยนั้นมองอาชีพนักข่าวไม่ดีนัก ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว โอ๊ย ขายหน้า มิหนำซ้ำยังไปทำกับฝรั่งโสดอีก เราดื้อ เถียงจนคุณพ่อก็กัดฟันยอมให้ไปทำครึ่งวัน อีกครึ่งวันทำล็อกซเล่ย์ ถ้าไม่ได้เป็น บ.ก. ภายใน 3 เดือนก็เลิกทำ พอครบก็ได้เป็น บ.ก.จริงๆ


“เป็นเรื่องอื้อฉาวในสังคมนะ เราถูกมองว่าก๋ากั่น ไม่รักษาศักดิ์ศรี วิ่งทำข่าวต๊อกๆ กับหนุ่มช่างกล้อง ก็สมัยนั้นกล้องใหญ่และหนักมาก สงสารคุณพ่อที่ถูกนินทาเรื่องลูกสาว แต่เราไม่ใช่แค่ทำข่าว มีคอลัมน์ประจำด้วย พอคนอ่านติด คุณพ่อก็ภูมิใจ จำได้ว่ามีองคมนตรีท่านหนึ่ง ที่ตอนแรกเรียกเราไปเล็กเชอร์ถึงบ้านว่าทำตัวไม่เหมาะสม ปีสองปีต่อมาเรียกเราไปชม ท่านใจสปอร์ตมาก

“สมัยนั้นยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ช่างพิมพ์ต้องคีบตัวพิมพ์เรียงทีละตัว ไอหมึกดำๆ เหนียวๆ ลอยอยู่ในอากาศ ที่ทำงานไม่มีแอร์ เป็นห้องแถวไม้สองชั้น บนถนนหลานหลวง เช้าขึ้นมา จะมีกระดาษ Layout 2 หน้าใหญ่รอเราอยู่ที่โต๊ะ มีโฆษณารออยู่ ทำงานหนักนะ ทำข่าว สัมภาษณ์ จัดหน้า เขียนคอลัมน์ มือไม้ดำด้วยไอหมึก มือโดนหน้าทีไรก็เป็นยายหน้ามอม ”

แต่ก็ยังได้แต่งงาน “ก็พอมีหนุ่มเข้ามาบ้าง ไม่มากหรอก คงเห็นเราแปลกๆ” หัวเราะ “หลานหลวงที่ตั้งแรกของสำนักพิมพ์มีบันไดไม้ขึ้นกองบรรณาธิการ มืดและลื่นไอหมึก หนุ่มๆ ที่มาจีบตกบันไดกัน แต่หมออุทัยไม่ตก”


สตรีผู้ร่วมสร้าง ‘รัตนิน’

โรคตาคุณพ่อเป็นเหตุให้เกิด โรงพยาบาลจักษุรัตนิน ที่โด่งดังเรื่องตา ในเวลาต่อมา เพราะหมอตา คุณจุลินทร์ คือจักษุแพทย์หนุ่มหล่อร่างสูง ดาวรุ่งจากนิวยอร์ก และ Massachusetts Eye and Ear Infirmary และยังเป็นนักวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หมออุทัย รัตนิน ดูแลตา คุณจุลินทร์ ที่เป็นทั้งต้อหิน ต้อกระจก และประสาทตาที่เสื่อมด้วยโรคเบาหวาน ถึงแม้จะเป็นอาจารย์แพทย์ศิริราชแล้ว แต่ก็ยังบินไปบินมากรุงเทพ – สหรัฐเพราะยังมีงานวิจัยที่นั่น แรกๆ ไม่ได้ปิ๊งกันเลย แม้คุณพ่อเธอพยายามเป็นสื่อ คุณหมอก็เห็นคุณหญิงเป็นเด็กไม่เอาไหน พบครั้งแรกตอนกระหืดกระหอบเข้ามารายงานว่าขับรถเฉี่ยวรถตุ๊กๆ ด้านคุณหญิงก็เห็น “เขาดูทื่อๆ เขาอายุมากกว่าเรา 10 กว่าปี ก็รู้สึกเขาแก่ ” อีกทั้งได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่มีวันแต่งงานกับหมอหรือนักกฎหมาย (อ้าว คุณเจเจก็เรียนกฎหมาย)

แต่เธอเป็นสาววรรณกรรม ที่ชอบพระเอกอายุมากในวรรณกรรม สมัยวัยรุ่นก็ชอบบอกเพื่อนๆ ว่า “จะแต่งงานกับคนแก่ อายุสัก 30 ก็ดี ” คุณหมอตอนนั้นกำลังจะ 30 พอดี

คุณหมอกลับไปอเมริกาเพื่อทำวิจัยต่อ เมื่อกลับมาอีกครั้งก็ปิ๊ง หมั้นเสร็จคุณหมอก็ให้คุณหญิงไปช่วยงานคลินิกเล็กๆ ที่วังบูรพา ที่นั่นเธอได้ช่วยรับเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ขณะเสด็จฯ มาตรวจพระเนตร


“แต่งงานเมื่อเราอายุ 22 หมอ 33 ไปฮันนีมูนปีนัง 7 วัน” หมอเอาคู่มือแพทย์ฝึกหัดทางจักษุวิทยาภาษาอังกฤษไปให้ภรรยาอ่านจนจบ โดยมีคุณหมอเป็นอาจารย์กำกับ ฮันนีมูนเสร็จ คุณหญิงก็มีความรู้เรื่องตาเป็นที่พอใจของสามี


ตั้งแต่วันแรกก็ตกใจในความแตกต่าง “รู้ว่าตัวเองเลอะเทอะแค่ไหน เมื่อเห็นความเป็นระเบียบเนี้ยบของเขา ”


“คุณหมออุทัยยังมีงานวิจัยขั้นสุดท้ายค้างอยู่ ก็พาป้าศรีกลับไป Boston ด้วย ตอนนั้นไต๋ (จักษุแพทย์สรรพัฒน์ รัตนิน บุตรชายคนแรก) อยู่ในท้อง 6-7 เดือนแล้วนะ ช่วงที่ไต๋คลอด บังเอิญตรงกับวันเกิด Prof. Dr. Schepens อาจารย์หมอ ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทตาระดับท็อปของอเมริกา เป็นผู้สร้าง Retina Foundation ที่ Boston ลูกสาวเขาเองก็ท้องแก่พอๆ กับเรา ปรากฏว่าเป็นลูกเราไม่ใช่หลานเขา ที่คลอดตอนเขาฉลองวันเกิดเขาพอดี เขาเลยทำนายว่า ‘เด็กคนนี้จะเป็นศัลยแพทย์ทางประสาทตา (Retina Surgeon) ที่โด่งดังมาก’ ” ปัจจุบันคุณหมอสรรพัฒน์จัดเป็นจักษุแพทย์ที่มีชื่อเสียง และดูแลโรงพยาบาลจักษุรัตนินต่อจากคุณพ่อ

งานวิจัยที่คุณหมออุทัยกลับไปทำครั้งนั้น กลายเป็นตำราที่จักษุแพทย์ด้านประสาทตาทุกคนต้องศึกษา เพราะเป็นเรื่องของลักษณะขอบจอประสาทตาของคนปกติ ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานอ้างอิงของจักษุแพทย์

ทั่วโลก

“กลุ่มจักษุแพทย์ของอเมริกา 3 คน ตั้งคลินิกตาขึ้นมา ชื่อ Retina Associates ซึ่งดังมาก เขาอยากได้หมออุทัยมาเป็นหุ้นส่วน ถึงกับจะยกหุ้นให้ฟรีๆ ตอนนั้นเมืองไทยไม่ปลอดภัยนัก เพราะลาว เขมร เวียดนาม กำลังตกเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ตามๆ กัน ทั้งโลกเชื่อว่าไทยจะต้องล้มตาม ‘เราจะอยู่นี่ หรือเราจะกลับบ้าน’ ปรึกษากันแล้วเห็นตรงกันว่า กลับบ้าน ไม่มีใครเข้าใจการตัดสินใจของเรา เพราะตอนนั้นอเมริกามีหมอและพยาบาลจากไทย ย้ายไปปักหลักที่โน่นกันมากมาย จนเรียกกันว่าเป็นยุคสมองไหล”

เป็นโชคของเมืองไทย เพราะคุณหมออุทัยก็กลายเป็นผู้วางรากฐานหลายอย่างให้กับวงการจักษุแพทย์ยุคปัจจุบันของไทย รวมทั้งเป็น 1 ใน 8 ในกลุ่มแพทย์ที่บุกเบิกก่อตั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมๆ กับผันจักษุคลินิกเล็กๆ ของตัวเองในห้องเช่าวังบูรพา มากลายเป็นโรงพยาบาลจักษุรัตนินโดยมีภรรยาทำงานอยู่เคียงข้างแทบทุกฝีก้าว


“คุณพ่อให้ที่ดินซอยอโศกกับลูกทุกคน คลินิกเราก็ย้ายมาเปิดที่นั่นครั้งแรกมีห้องคนไข้แค่ 4 ห้อง ”



คุณหญิงจำนงศรีที่บันไดบ้านน้ำสาน ผนังด้านหนึ่งติดกระจกใสรับแสงอาทิตย์ยามเย็น

ภายในบ้านตกแต่งอย่างเรียบง่ายมีภาพเขียนของศิลปิน และภาพเขียนพู่กันของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ประดับ


Beautiful Mind

คุณหมออุทัยทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เทใจให้กับการร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลรามาธิบดีโดยรับผิดชอบแผนกจักษุวิทยา ซึ่งในสมัยนั้นรวมแผนกหูคอจมูกอยู่ด้วย “เขาหอบงานมาทำที่บ้าน จำได้ว่ากดเครื่องบวกเลข ช่วยเขาทำงบประมาณจนสว่างคาตา”

ช่วงนั้น คุณหญิงทำงานเคียงข้างสามี เธอเป็นผู้คิดสร้างระบบต่างๆ รวมทั้งฝึกผู้ช่วยให้จดผลตรวจแทนที่แพทย์จะจดเองซึ่งกินเวลา โดยเธอเองจดให้คุณหมอในห้องตรวจอยู่หลายปี

คุณหมออุทัยเป็นหัวหน้าภาควิชาจักษุลาริงซ์ฯ คนแรกของรามาธิบดี และเป็นผู้บุกเบิกการผ่าตัดรักษาโรคจอประสาทตาคนแรกของไทย ตลอดจนนวัตกรรมทางจักษุวิทยาอีกหลายอย่าง และแน่นอนว่าบุคคลชั้นนำของประเทศไทยในสมัยนั้นล้วนมาเป็นคนไข้ คุณหมอได้ถวายการรักษาพระเกจิอาจารย์ของเมืองไทยหลายรูปหลายองค์ เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่คำดี และหลวงตามหาบัว โรงพยาบาลรัตนินยังเก็บแก้วตาที่ขุ่นด้วยต้อกระจกของหลวงปู่แหวนที่ผ่าตัดก่อนสมัยมีเครื่องสลายต้อ ไว้จนทุกวันนี้


“ชีวิตครอบครัวแรกๆ เหนื่อยมาก แต่ก็ค่อนข้างดีนะ ยังจำได้ว่า สมัยลูกยังเล็กๆ พากันไปเที่ยวนอกเมือง มีธรรมเนียมของเราเองว่า จะไปสนุกกันที่ไหนก็ต้องให้ชีวิตอื่นมีความสุขด้วย ฉะนั้นก็จะไปซื้อปลา ปู กบ เต่าที่ขายในตลาดสดไปปล่อยด้วย สนุกนะ เด็กๆ เจี๊ยวจ๊าวกันลั่นรถเชียว”

แต่ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน และความสำเร็จในการงานก็ไม่ใช่เครื่องการันตีความสุขในชีวิตคู่


“16-17 ปีแรกป้าศรีทำงานโรงพยาบาลตลอด ทำหลายอย่างมาก ทำทั้งวัน ถึงตีหนึ่งตีสองก็บ่อยมาก ไม่ได้ไปไหนหรือทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเองเลย หมอเป็นคนเอาจริงเอาจังกับทุกอย่าง งานคือชีวิตจิตใจ เครียดตลอด เพราะเป็น perfectionist แต่เขาอ่อนโยนและจริงใจกับคนไข้ แต่เวลาโกรธจะโกรธแรงและดุเงียบ แต่ดุมาก เรากลัวเขามาก บางครั้งกลัวจนใจสั่น รู้สึกว่าตัวเรามันแย่ รู้สึกตัวเองว่าสอบตกอยู่ตลอด แม้กระทั่งในความเป็นแม่บ้าน อยู่บนโรงพยาบาล สะดวก แต่ balance ไม่ถูกระหว่างงานกับบ้าน 7 ปีแรกไม่เคยออกจากเมืองไทย ต่อมาถึงได้เดินทางตามหมอไปประชุมใหญ่ที่จักษุแพทย์อเมริกันและโลก หมอเข้าประชุม เราก็ลาดตระเวนดูเครื่องมือ พอหมอว่างก็วิ่งมาดูมาเลือกซื้อ เราก็ตามงานส่วนที่เป็นธุรการ


“แต่ถึงจุดหนึ่งใจมันจะขาด อยากเหลือเกินที่จะพบ ที่จะคบคนที่สไตล์เราบ้าง สไตล์ศิลปิน นักเขียน อยากทำสิ่งที่ตัวเองรัก พออายุใกล้จะ 40 ก็เริ่มกลับมาทำงานเขียนอีกครั้ง เจียดเวลาทีละนิด เริ่มจากการแปลงานไทยเป็นอังกฤษ ทั้งกวีนิพนธ์ ทั้งวรรณกรรม แล้วก็เริ่มกลับมาเขียนงานของตัวเอง

“คู่สะใภ้ มัทนี (รัตนิน) ให้ไปเป็นวิทยากรที่ธรรมศาสตร์ก็ไป เขียนบทละครส่งประกวดชนะ ไปรับรางวัลที่โรงแรมโอเรียนเต็ล มีหนังสือพิมพ์มารุมสัมภาษณ์ โอ๊ย อัตตามันพองใหญ่ ที่นี้เบรกไม่อยู่ ”

พอมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพิ่งเปิดได้ไม่นาน คนหิวเรียนก็แอบคุณหมอไปสมัครเข้าเรียนมนุษยศาสตร์ เรียนจบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 ตอนอายุ 42 และลูกๆ เป็นวัยรุ่นหมดแล้ว คุณหมอรู้ก็ไม่พอใจมาก วันรับปริญญาคุณหญิงเป็นตัวแทนนักศึกษา อ่านคำปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยไม่มีญาติมิตรไปร่วมแสดงความยินดีแม้กระทั่งคนเดียว “ลูกไม่กล้าไป กลัวพ่อ อันที่จริงเราก็ไม่เก่งจริงหรอก ได้เปรียบคนอื่น เพราะเอกอังกฤษ สาขาวรรณคดี ไปเรียนเพราะอยากรู้ว่าเขาเรียนมหาวิทยาลัยกันอย่างไร”

จากนั้นเธอก็เจียดเวลารับงานพิเศษอีกมากหลาย ไหนจะทำรายการให้วิทยุแห่งประเทศไทย ภาคภาษาอังกฤษ ทำโครงการวิทยุอาเซียน ร่วมแปลไตรภูมิพระร่วงฯลฯ สำหรับบทกวีภาษาอังกฤษที่เคยเขียนๆ ไว้นั้น มีสำนักพิมพ์มาขอรวมเล่ม เป็นชุด On the White Empty Page And More

และยังเขียนบทหนังเรื่อง ‘ระย้า’ ให้เพิ่มพล เชยอรุณ ผู้กำกับชื่อดังในยุคนั้น


เพิ่มพลเขาไปเสาะหาพระเอกหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าวงการ ” คุณหญิงเล่า “เป็นหนุ่มน้อยลูกตำรวจ ชื่อ ‘ฉัตรชัย เปล่งพานิช’ หนังเรื่องนี้จะเป็นหนังใหญ่ในเครือไฟว์สตาร์ แต่ถ่ายทำไปได้หน่อย โปรดิวเซอร์ (เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร) ก็ถูกยิงตาย ถูกตัดงบ หนังออกฉายแต่ก็พัง ชีวิตส่วนตัวคนเขียนบทก็พัง ต่อมาผู้กำกับก็ถูกยิงตายที่กาดสวนแก้วในเชียงใหม่ แต่พระเอกฉัตรชัย เป็นนกเก่ง บินได้โลดเหนือเมฆ มาจนทุกวันนี้ ”

พอคุณหญิงแอบไปทำงานหนังตอนดึกดื่นหมอก็โกรธรุนแรงมาก “เราก็เห็นใจเขานะ รู้สึกผิดมาก แต่มันเหมือนหม้ออัด ที่เพิ่งเปิดฝา ยิ่งตอนฉลองกรุงเทพฯ ครบสองร้อยปี มีการฉลองใหญ่ แขกสำคัญๆ เข้ามามากมาย พระที่นั่งวิมานเมฆที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถมีพระราชดำริให้บูรณะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ เราก็ไปช่วยด้านภาษาอังกฤษ ชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ก็อินมากๆ ยิ่งได้เป็นไกด์ภาษาอังกฤษให้แขกเมืองเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ รวมทั้ง Director ของ Smithsonian ด้วย


“หมอเขาก็ไม่ว่านะที่ทำงานถวายเจ้านาย แต่เราก็ยิงเหลิง ยิ่งหลง ยิ่งซ่า ว่างั้นเถอะ น่าเห็นใจเขา เขาทุ่มใจให้โรงพยาบาลก็อยากให้เมียทุ่มเหมือนแต่ก่อน” คุณหญิงเล่า “หมอยิ่งโกรธ เราก็ยิ่งกลัว ยิ่งกลัว ก็ยิ่งหิวการยอมรับ และความชื่นชมจากคนข้างนอก ก็ยิ่งได้ก็ยิ่งอยาก มันเป็นวงจรอุบาท เหมือนคนติดยา ตอนนั้นขาดธรรมะ ยิ่งได้รับการชื่นชมก็ยิ่งเหลิง ร้องเพลงไม่เป็นก็อ่านบทกวีสิ ไปจัดรายการเพลงกวี เปิดหอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต หารายได้ให้มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ดนู ฮันตระกูล แต่งดนตรีออเคสตร้าประกอบงานกวีนิพนธ์ของตัวเอง กับของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีศิลปินอื่น ๆ มาร่วมหลายคน ตั๋วขายหมด ต้องเพิ่มอีกสองรอบ “สนุกมากเมาเวที เป็นไอ้โง่ที่ดิ่งเหวเพราะหลงคิดว่าตัวเองเก่ง "


“ความสำเร็จ กับความล้มเหลวน่ะ มันเป็นคนละปลายของไม้ท่อนเดียวกัน” คุณหญิงเปรย

คุณหญิงที่หลังบ้าน ซึ่งปลูกมาประมาณ 15 ปี


เมื่อความสัมพันธ์ตึงขึ้นเรื่อยๆ จนทุกข์สุดๆ “หมอไม่พูดกับเราแล้ว แยกห้องกันอยู่ อารมณ์ความคิดต่างๆ วนเหมือนผ้าสกปรกในเครื่องซักผ้าที่ไม่มีผงซักฟอก ยิ่งวนยิ่งขุ่นคลั่กขึ้นทุกที นรกในใจไง"

"เริ่มมองหาทางออก ไม่งั้นคงเป็นบ้าหรือฆ่าตัวตาย ก็นึกย้อนถึงสมัยที่เคยไปปฏิบัติธรรมตามคำสอนของคุณแม่สามีไปปฏิบัติที่อ้อมน้อยอยู่ 3 วัน แค่ 3 วันนั้นก็ได้สัมผัสธรรมชาติของกายและใจ ได้เห็นความอยาก ความคิด ความกลัว ความยึดในตัวตนว่ามันโยงกันจนทำให้ทุกข์ใจอย่างไร ”

ตอนนั้นทำไมไม่ปฏิบัติฯ ต่อล่ะคะ “นั่นน่ะสิ ก็หลงทางไง แต่อานิสงส์ของการปฏิบัติฯ ในสมัยนั้น ที่มันผุดขึ้นในใจ ให้ได้ปีนขึ้นจากก้นเหว พอมีคนแนะนำให้ไปสวนโมกข์ของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่สุราษฎร์ธานี ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยอ่าน ไม่เคยไป คุยกับลูกๆ ให้เขาเข้าใจแล้วลาเขาไป (2 คนโตไปนอกแล้ว 2 คนเล็กอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หิ้วกระเป๋าเล็กๆ ไปคนเดียวเลย ไปช้า ตกรถไฟ ขึ้นรถไปขึ้นที่สถานีบางซื่อ ผิดอีก เพราะเป็นรถไฟสายเหนือ เราจะลงใต้ วันรุ่งขึ้นไปขึ้นเครื่องบิน ไปช้าตกเครื่องบินอีก รอจนเที่ยวบ่าย สมัยนั้นคนจะไปสมุย ต้องไปลงสุราษฎร์ มีวันละ 2 เที่ยว พอถึงสุราษฎร์ก็ละล้าละรังโทรศัพท์กลับมาบ้าน (ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ) ไม่มีรถเหลือที่จะเข้าเมืองเลย ยกเว้นรถปิคอัพคันหนึ่ง ก็เสี่ยงขอติดรถเขา แล้วต่อแท็กซี่ประจำทางที่ตลาด ไปถึงวัดสวนโมกข์ก็โพล้เพล้ ไปรู้เอาว่าคอร์สที่เราจะเข้า อยู่ศูนย์นานาชาติ ห่างออกไปอีก 2 กิโล เคราะห์ดีมีรถสองแถวพาพระไปที่นั่น ก็ได้ติดรถไป


“คนที่จะปีนจากก้นเหวนั้น ถ้าไม่กล้าผจญอุปสรรค จะปีนขึ้นได้ลำบาก” คุณหญิงว่า “เข้าคอร์ส 10 วัน คุณพี่รัญจวนเป็นอาจารย์ ตีสี่เดิน 2 กิโลกว่า มาฟังท่านอาจารย์เทศน์ที่วัดทุกวัน พอเข้าคอร์สครั้งที่ 6 รู้ตัวว่าต้องปฏิบัติฯ ให้ต่อเนื่อง ก็ขอท่านอาจารย์พุทธทาสมาอยู่ที่วัดสวนโมกข์ ไปบ่นกับท่านว่า อยากออกธุดงค์ในป่าเหมือนพระป่า ท่านบอกว่าไม่ได้ ผู้หญิงมันอันตรายให้ไปอยู่บ้านไม้ริมป่า ห่างจากใครๆ จะขออยู่เดือนหนึ่ง คุณพี่รัญจวนบอกว่าไม่ให้กำหนดเวลามันเป็นอนาคต ให้อยู่แค่วันต่อ จะกลับบ้านเมื่อใดก็กลับ


“อยู่วันต่อวันไปถึง 3 เดือน ชีวิตภายในค่อยๆ เปลี่ยนไป เพราะได้เห็นวงจรการหนีทุกข์ แสวงสุขของนก ของสัตว์ รวมทั้งหมาแมวที่คนเขาเอามาปล่อยวัด ได้เห็นความเป็นความตายอยู่รอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นมด แมลง ตุ๊กแก หนู ที่อาศัยบ้านร่วมกับเรา ได้เห็นว่าเรากับเขากลัวทุกข์ หิวสุขเหมือนกัน เห็นความเปราะบางของชีวิต มันค่อยซึมเข้าถึงใจ พอความสำคัญของ ‘ฉัน’ จางลง ‘ปัญหาของฉัน’ ก็เบาตาม ใจก็เป็นสุขขึ้นตาม


“เป็นสุข กับมีความสุข ไม่เหมือนกันเลย ความ ‘เป็นสุข’ อยู่ที่จิตที่สุขง่ายทุกข์ยาก ‘มีความสุข’ มันเป็นความสุขที่ได้จากสิ่งภายนอก มีได้ก็หมดได้”

เมื่อคุณหญิงกลับมาจัดการกับธุระทางบ้าน รวมทั้งส่งคุณอโนมาไปทำปริญญาโทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไปปฏิบัติธรรมต่อที่วัดดอยธรรมเจดีย์ โดยมีพระอาจารย์แบนเป็นอาจารย์ และอยู่ที่นั่นต่ออีก 3 เดือนเต็ม

ถึงแม้คุณหญิงจะโทษตัวเองว่าไม่ได้เป็นแม่ที่ดี แต่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าที่สำคัญที่สุดให้ เพราะช่วงนั้นลูกสาวคนเล็กที่ยังอยู่เมืองไทยทั้ง 2 คน คือ อโนมา (น้ำหวาน) และจิตรจารี (น้ำอ้อย) ก็เริ่มเรียนรู้และเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทั้งสองได้ไปปฏิบัติธรรมทั้งที่วัดดอยธรรมเจดีย์และสวนโมกข์

ช่วงใดที่คุณหญิงกลับมาจากวัด เธอจะเขียนจดหมายถึงคุณหมอเกือบทุกวัน แล้วสอดไว้ใต้ประตูห้อง

เธอคุยทุกอย่างที่อยากจะคุย ความเห็นเรื่องการบริหารโรงพยาบาลก็เขียน เรื่องธรรมะและการปฏิบัติธรรมก็เขียนโดยไม่รู้ว่าเขาอ่านหรือฉีกทิ้ง แต่ก็เขียนและเขียน เพราะทำให้รู้สึกใกล้ชิด ภายหลังมารู้ว่าคุณหมอพูดกับหมอท่านอื่นในห้องผ่าตัดว่าภรรยาดูจะเปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่ปฏิบัติธรรมจริงจัง

แล้วคุณหมออุทัยก็พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่ปอด ตรวจพบที่อเมริกาเมื่อไปพักกับหมอเพื่อนรักร่วมรุ่น ซึ่งไปมีครอบครัวอยู่ที่นั่น เขาก็กลับมาจัดแจงทางกรุงเทพฯ แล้วกลับไปผ่าตัดโดยไม่บอกใคร ยกเว้นเลขาฯ ที่ใกล้ชิด ตอนนั้นคุณหญิงไปพักกับคุณจิตรจารี ซึ่งเรียนอยู่ที่บอสตัน อีก 3 วันจะกลับบ้าน ก็รับโทรศัพท์บอกว่าเขาโคม่าอยู่ที่โรงพยาบาลหัวใจและปอดในโอคลาโฮมา อาการหลังผ่าตัดดีอยู่ 3 วัน จู่ๆ ปอดข้างดีก็หยุดทำงาน และอีกข้างก็หยุดตาม


“เขาเรียกว่า Adult Respiratory Syndrome เราบินกันไปทันทีจากที่ต่างๆ กัน ครบทั้ง 5 คน เขายังรับรู้ได้ และยังโกรธเรา เพราะเบนสายตาหนีทันที แรกเห็นเราเข้ามา วันสุดท้ายลูกเมียนั่งกันรอบเตียง จับมือเตือนสติและชวนบริกรรมพุทโธเพราะเขาเคยบวชกับหลวงตามหาบัว เราอาจจะพูดข้างหูเขาดังไป เพราะมาเรียนรู้ทีหลังว่าเราใกล้ตายนั้นประสาทสัมผัสสุดท้ายที่เหลือคือหู ซึ่งจะไวมาก เบาๆ ก็ได้ยิน คนที่โคม่าแล้วนั้น ก็ยังได้ยินได้ ฉะนั้นอย่าพูดกันเองในห้องให้เขาได้ยินในสิ่งที่ทำให้เขากังวล และก็ไม่ควรร้องห่มร้องไห้หรือวุ่นวายกับร่างกายเขา เมื่อเขาตายใหม่ๆ เขาอาจจะยังรับรู้ได้

“เวลาผ่านไปนานเท่าไรก็ไม่รู้ น้ำผึ้ง (คุณวรัดดา) ซึ่งกำลังท้องแก่ ก็หิวน้ำ เราก็ตามออกไปดื่มน้ำแล้วก็รีบกลับมา พอก้าวพ้นห้องได้นิดเดียว พยาบาลก็เรียก หัวใจเขาหยุดเกือบจะทันทีที่เราออกไป ความรู้สึกผิดติดใจอยู่หลายปี ทำไมนะเราไม่นั่งอยู่กับเขาอีกสักนิด ”

ความรู้สึกผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานคุณหมอ ก็พบบรรดาจดหมายที่ตัวเองเขียนสอดใต้ประตูนั้น พับเก็บอย่างประณีตเรียงเป็นตั้งอย่างตั้งอกตั้งใจ และในตู้ยังพบเสื้อผ้าข้าวของที่เขาจัดไว้เตรียมไปปฏิบัติธรรม เลขาฯ บอกว่าเขาเตรียมลาพักงานไว้ 7 วัน


“เดี๋ยวนี้ กลางคืนเข้านอน จะทำใจเหมือนว่าจะหลับไม่ตื่น ทำใจลาทุกคนงานอะไรที่ทำแล้ว ก็เสร็จแล้ว ที่ยังไม่เสร็จก็ไม่เสร็จ ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เช้าตื่นขึ้นมาก็...อ้าว...ยังอยู่ ดีไหมล่ะ”

แล้วจดหมายที่คุณหญิงเขียนถึงคุณหมออยู่ที่ไหนคะ “ไม่มีแล้ว หน้าที่ของมันจบไปแล้ว ทุกวันนี้ไม่จริงจังกับความทรงจำ ไม่ตั้งใจลืมนะ แต่ไม่ค่อยเชื่อมัน เรื่องเดียวกันคนสองคนมักจะจำเพี้ยนกัน ที่เล่ามานี่ก็เหมือนเอาชีวิตมาคลี่ดู จะผิดเพี้ยนแค่ไหนก็ไม่รู้” คุณหญิงเล่าสบาย ๆ “รู้สึกเหมือนฉายหนังที่เราเคยเล่น และเราวันนี้ก็ไม่ใช่ตัวละครตัวนั้นแล้ว ถ้าคนอื่นเรียนรู้เรื่องที่เล่านี้ และช่วยให้เขาดูแลความสัมพันธ์ในชีวิตเขาให้ดีได้ ป้าศรีก็จะดีใจมาก ถือว่าเป็นบุญ”

หลังการไปอยู่วัดสวนโมกข์และวัดดอยธรรมเจดีย์ ความกระหายที่จะพิสูจน์ตัวเองให้แสงสีก็เหือดหายไปลักษณะงานก็เปลี่ยนไป ต้องเข้ามาดูแลโรงพยาบาลอย่างเต็มตัว เพราะพอคุณหมอตาย คนไข้ก็หายไปตั้งครึ่ง งานนอกเวลาก็เป็นงานทางวิชาการบ้าง และงานด้านปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ร่วมทั้งการจัดตั้งมูลนิธิเรือนร่มเย็นที่กลายเป็นสื่อให้ได้มีชีวิตร่วมกับคุณเจเจ

ถึงแม้ความรู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่กับคุณหมอจนวินาทีสุดท้ายจะค่อยๆ จางลง ก็ยังเป็นเงาบางๆ อยู่ในใจตลอดมาจนกระทั่งเมื่อประมาณปีเศษๆ ที่ผ่านมา คุณหญิงได้ซื้อที่ดินติดภูเขาที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จนครบ 100 ไร่ และดำเนินการมอบให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อสร้างฮอสปีช (Hospice) หรือสถานบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบทั้งกายและใจ “ท่านอธิการบดี (นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน) บอกจะสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจรบนที่ดินแปลงนี้ด้วย” คุณหญิงเล่า


คุณหญิงชมพระอาทิตย์ตกดินหน้าห้องนอนของตัวเอง

ความรู้สึกผิดดังกล่าวหายไป ไม่ใช่เพราะล้างด้วยบุญใหญ่ แต่เพราะความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายบางรายก็รอจนกว่าคนที่ตนใจผูกพันจะมาถึงจึงจะสิ้นลม แต่ก็มีอีกหลายรายที่จะรอจนกว่าคนที่ตนมีใจผูกพันไม่อยู่ตรงนั้น

คุณหญิงได้เรียนรู้เรื่องนี้จากการไปดูงานที่อังกฤษ อเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่นทั้งด้วยตัวเองและกับคณะจากมหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้หญิงชาวอังกฤษคนหนึ่ง ชื่อ Marion Wilson Gruzalski เป็นผู้ตั้งฮอสปีชในสหรัฐอเมริกาถึง 4 แห่ง ส่วนสามีเธอผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลจิตใจของผู้ที่สูญเสียสิ่งของหรือคนที่เป็นที่รัก คุณหญิงจึงแนะนำให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลเชิญมาเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาโครงการฮอสปีชที่หนองพลับ


Marion เล่าถึงผู้ป่วยหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้ายอยู่ในโคม่า โดยสภาพร่างกายเขาน่าจะเสียชีวิตไปเป็นอาทิตย์แล้ว แต่ก็ยังหายใจอยู่ เมื่อเห็นว่าแม่เขาเฝ้าอยู่โดยไม่ออกนอกห้องเลยมาเป็นอาทิตย์ ด้วยสัญชาตญาณนักบำบัด Marion บอกแม่เขาให้กลับไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยสัญญาว่าจะอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วยจนกว่าเธอจะกลับมา


“ขณะที่แม่ออกไป Marion ก็ยืนข้างหน้าต่างมองออกไป ปากก็พูดให้ผู้ป่วยฟังว่า “ฉันเห็นแม่เธอเดินข้ามลานจอดรถตอนนี้เธอเข้าไปในรถ” พอถึงตอนที่บอกว่า ‘แม่ขับออกไปแล้ว’ นั้น เธอรู้สึกพลังอะไรสักอย่างพุ่งชนเธอจนล้มลงบนเก้าอี้ที่ตั้งอยู่ตรงนั้น พร้อมๆ กับที่เห็นว่ากราฟหัวใจแบนราบ แสดงว่าหนุ่มคนนั้นตายแล้ว Marion มองว่าความผูกพันกับแม่ทำให้จิตของหนุ่มคนนั้นไม่ออกจากร่าง เมื่อรับรู้ว่าแม่ไม่อยู่แล้ว จึงเป็นอิสระที่จะไป แต่เมื่อป้าศรีเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนคนไทยคนหนึ่งฟัง เขากลับตีความว่า วิญญาณลูกได้พุ่งออกจากหน้าต่างตามแม่ไป ” คุณหญิงเล่า


“หลังจากฟังเรื่องนี้ และได้พูดกับอาสาสมัครฮอสปีชที่อเมริกาหลายคน ป้าศรีโล่งใจ คิดได้ว่าหมอคงไม่พร้อมที่จะให้เราเห็นเขาสิ้นลม อาจจะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีก็ได้”

แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรี อาจแค่เมื่อคนที่คุณหมอผูกพันที่สุดได้ก้าวออกไป คุณหมอก็ไปได้แล้ว ความผูกพันของใจเป็นปมที่ยากจะแกะ เรื่องหลายเรื่องไม่เคยมีคำอธิบายแม้วันที่ตายจากกัน ถ้าจะมีใครเข้าใจคุณหมอที่สุด คนคนนั้นคงเป็นคุณหญิง

ความตายเป็นเรื่องที่อยู่ในใจคุณหญิงมานานมาก นานเท่าใดคุณหญิงเองก็ตอบไม่ได้ “อาจจะเป็นเพราะแม่ตายตั้งแต่จำความไม่ได้ ใครถามว่าแม่ไปไหน ก็ตอบว่าแม่ตายแล้ว คำว่าตายที่พูดบ่อยๆ คงซึมเข้าไปฝังลึกๆ ละมั้ง ความตายที่จำได้ติดใจคือความตายของหมาตัวเล็ก ๆ ชื่อไอ้แดง เป็นเพื่อนเล่นแก้เหงาเมื่อวัยเด็กที่บ้านสำเหร่ ตอนนั้นเราอายุได้สัก 8-9 ขวบมั้ง เล่นๆ กันสนุกอยู่ ก็มีรถเข้ามาทับมัน เราค่อยๆ อุ้มมันมาวางใต้ต้นส้มโอ ไม่รู้จะทำยังไงเห็นเลือดมันไหล ลิ้นห้อยออกมา หายใจหอบๆ แล้วก็...ตาย ความรู้สึกฉงนกับการรู้ว่าจะไม่มีวันที่จะได้เล่นกันอีกแล้ว ฉงนกับความเป็นจริงที่ไม่อยู่ในบังคับของใคร ไม่มีใครจะช่วยได้ แค่อยู่ตรงนั้นกับเขา จนกระทั่งเขาตาย เขาตัวเล็กนิดเดียว” ความไม่เที่ยงของชีวิต ปรากฏให้เด็กหญิงตัวน้อยได้สัมผัสลึกถึงใจ ไม่เคยลืม


“และการปฏิบัติธรรมก็ทำให้เห็นว่าชีวิตกับความตายมันห่างกันแค่เสี้ยวยาแดง คิดดูสิคะ นาทีนี้หัวใจเต้นอยู่ ถ้านาทีหน้ามันหยุดไม่เต้นอีก ก็ตายแล้ว ใช่ไหม


“ครั้งหนึ่ง หลายสิบปีมาแล้ว มีประสบการณ์ตรงที่โยงกับความตายอย่างอธิบายไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเล่าให้คนทั่วไปฟังอย่างไร เอาว่า มันเป็นสภาวะที่ทำให้เรารู้เลยว่าในสภาวะใกล้ตายนั้น จิตเป็นเหมือนผู้ต้องขังที่ติดอยู่ในร่างกาย ดิ้นรนที่จะออก แต่ยังออกไม่ได้ ในสภาวะนั้นไม่มีอะไรเลยที่อยู่ในบังคับของเรา เล่าแล้วก็อาจจะฟังดูแปลก


“ตายอย่างสงบที่สุดจริงๆ ไม่ใช่ดูเหมือนสงบเพราะเคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่ใช่นิ่งแต่ใจกังวล ห่วง ว้าเหว่ หรือหวาดกลัว ก็อยากจะให้มีการสร้างฮอสปีชให้ทั่วประเทศ เพราะงานฮอสปีชคือการดูแลไม่ให้ทุกข์ทรมานทั้งทางกายและทางใจ ประเทศพุทธอย่างเราน่าจะทำได้ดีนะ”


“เรื่องความกตัญญูก็เป็นเรื่องต้องดูให้ดี พ่อแม่ที่ตายอย่างทรมานเพราะความกตัญญูของลูกน่ะ มีเยอะนะ ลูกต้องถามตัวเองว่ายื้อชีวิตพ่อแม่เพราะอะไร เพราะรักท่านจนขาดท่านไม่ได้อย่างนั้นหรือ เพื่อใครล่ะ เพื่อท่าน หรือเพื่อ ‘ฉัน’ กลัวบาปหรือ กลัวใครบาป ‘ฉันอีกแล้วใช่ไหม’ กลัวคนอื่นจะว่าหรือ ว่าใคร ‘ฉันอีกแล้วใช่ไหม’ ป้าศรีแก่แล้ว พูดเรื่องนี้ได้สบาย คนหนุ่มคนสาวคงไม่กล้าพูด ตัวป้าศรีเองทำ ‘พินัยกรรมชีวิต’ (Living Will) ไว้แล้ว เขียนด้วยลายมือตัวเอง แล้วถ่ายเอกสารเซ็นกำกับ ให้ลูกๆ เซ็นเป็นพยาน เก็บไว้หลายแห่ง เมื่อผ่าตัดครั้งที่แล้ว ก็ให้หมอติดไว้กับเวชระเบียน ทั้งหมอผ่าตัดและหมอดมยา อ่านแล้วเข้ามาคุยทำความเข้าใจร่วมกัน”

เมื่อความคิดที่จะทำฮอสปีชผู้ป่วยระยะสุดท้ายเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ท่านอมโรแห่งวัดอมราวดี ที่อังกฤษ ได้นัดคุณหญิงให้พบคุณแมเรียน วิลสัน กรูซาลสกี (Marion Wilson Gruzaiski) อายุ 75 ปี ผู้สร้างฮอสปีช 4 แห่งในสหรัฐฯ สำเร็จทั้งที่ตัวเองไม่มีเงินและไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่มีแรงบันดาลใจจากความตายของแม่ตนเองและลูกในต่างวาระกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกชายวัย 15 ที่เสียชีวิตเพราะก๊าซระเบิด


“ป้าศรีสงสัยมากว่า ผู้หญิงธรรมดาๆ ตัวคนเดียว ฐานะก็ไม่ได้ร่ำรวยเลย ทำไมถึงสร้างฮอสปีชสำเร็จถึง 4 แห่ง


“เธอแต่งงานมีลูก 5 คน สามีดีมาก ชีวิตครอบครัวมีความสุข อยู่ๆ ลูกก็ตายถึง 3 คน คนที่ 3 ตายด้วยก๊าซระเบิด วันหนึ่งเธอก็เดินไปที่ Texas Medical Center ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา เข้าไปขอสร้างฮอสปีชที่นั่น พอสร้างเสร็จและเห็นทุกอย่างดำเนินการได้เป็นอย่างดีแล้ว เธอก็หิ้วกระเป๋าออกไปและไปสร้างที่ใหม่ จนครบ 4 แห่ง


“ป้าศรีจับเข่าคุยกับเธอ ‘ทำได้ไง’ เธอบอกว่าถ้าเล่าอย่านึกว่าเธอเครซี่ แมเรียนเล่าว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่สูญเสียบุตร จะจบลงด้วยการหย่าร้าง เธอเองก็เช่นกัน เพราะความเสียใจและความรู้สึกผิด ทำให้โทษกันและกัน อีกเหตุหนึ่งคือความแตกต่างกันของผู้ชายและผู้หญิง คือการจัดการความสูญเสีย ผู้ชายมักจะหนีความทรงจำที่เจ็บปวด ส่วนผู้หญิงมักจะวนติดอยู่กับความทรงจำ สามีเธอจึงทำงานกลับบ้านดึกๆ เธอเองมองไปในบ้านทางไหนก็มีแต่ความทรงจำทั้งสิ้น


“ช่วงหนึ่งที่เธอจิตตกเป็นอย่างมาก เธอฝันเห็นผู้ชายที่ห่มผ้าสีเหลือง ตอนนั้นเธอเป็นแม่บ้านคริสต์ธรรมดายังไม่รู้จักพุทธศาสนา ผู้ชายคนนั้นบอกให้เธอสร้างฮอสปีช บอกชื่อ บอกเบอร์โทรศัพท์ที่ควรจะติดต่อ เมื่อตื่นขึ้นมาเธอจดไว้


“แมเรียนบอก ‘ฉันไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ฉันเพียงทำตามที่ผู้ชายในจีวรเหลืองบอกฉัน ชื่อแรกที่เขาบอกฉันเป็นชื่อของมหาเศรษฐีคนหนึ่ง ที่สร้างองค์กรการกุศล’ เธอไม่เคยรู้จักชื่อนี้ และชื่อก็ไม่ได้ดัง เพียงแต่คนคนนี้มีเงินที่จะช่วยได้ ‘ฉันโทร.ไปหาผู้ชายคนนั้นตามที่ชายในจีวรบอกฉัน และคอย ทุกคนที่ผู้ชายคนนั้นบอกให้ฉันไปพบ ให้พบทุกคนและทุกคนช่วยฉันสร้างฮอสปีช’


“เธอบอกว่า หลังจากเธอได้พบพระจริงๆ เธอไม่เคยฝันถึงผู้ชายในจีวรสีเหลืองอีกเลย เธอเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธและห้อยพระเพื่อเตือนสติตัวเอง เธอพบกับสามีคนที่สองซึ่งเป็นอเมริกันเหมือนกัน และเป็นผู้เชี่ยวชาญการบริหารจิตใจหลังสูญเสียที่วัดป่าอภัยคีรี ทั้งคู่เข้าไปปฏิบัติธรรมในคอร์สเดียวกัน”

คุณหญิงขึ้นไปฉลองวันเกิดที่ผ่านมาที่บ้านแม่ริม ลูกๆ พร้อมเขยและสะใภ้ทยอยพาหลานๆ ไปหอมแก้มคุณหญิงกันจนบ้านคึกคัก คุณเจเจเป็นคุณตาที่สุดแอ็กทีฟคอยพาหลานไปเที่ยวมีโปรแกรมทุกวัน ดูคุณตาจะอยากเที่ยวและสนุกกับหลานๆ ดุจวัยเดียวกัน

คุณหญิงที่ทางเดินจงกรมด้านหลังบ้าน



สักครู่เธอก็พูดขึ้นว่า “รู้ไหม ป้าศรีดูเขาเลาะเนื้อศพสดออกจากกระดูก เพื่อเตรียมทำเป็นโครงกระดูก เพื่อการศึกษา ยืนดูอยู่สักพักก็อาสาช่วยเขาเลาะ จำได้ว่าศพนั้นเป็นของชายหนุ่มอายุ 42 ปี ใบหน้าที่ลอกออกมาจากกะโหลกนั้น เหมือนหน้ากากยาง ความคิดผุดขึ้นมาว่าเรามองกันรู้จักกันว่าคนนี้เป็นใคร คนนั้นเป็นใคร ก็ที่หน้ากากนิ่มๆ ยางๆ นี้เองนะ เดี๋ยวนี้แต่งหน้าทาแป้งทีไร ก็รู้ว่ากำลังลงแป้งเจ้าหน้ากากเน่าได้นี้แหละ


“ตอนที่เลาะตับไตไส้พุงออกมาเป็นพวง ก็วางรู้ว่า โลกทั้งโลกของจำนงศรีคนนี้ จริงๆ แล้วมันแขวนอยู่กับเนื้อสดแค่นี้แหละนะ”


โลกที่มีความรัก ความทุกข์ ความคิด ความฝันมากมาย ที่ครั้งหนึ่งเป็นของชายคนนี้ ได้สิ้นสุดลงแล้ว คุณหญิงบอกว่า “นึกขอบคุณเขาที่ให้โอกาสเราได้สัมผัสรู้เช่นนี้”

ชีวิตคุณหญิงวันนี้ ได้เดินทางมาถึง ‘ยามตะวันรอน’ อันเป็นช่วงเวลาที่เธอซึมซับความสุขในชีวิต เคียงข้างกันคุณเจเจ เหมือนคนที่นั่งละเอียดความสุข ขณะนั่งดูพระอาทิตย์ค่อยๆ เปลี่ยนสีก่อนจะลับโลก เหลือไว้แต่พลังงานแห่งความสุขสงบเป็นลำแสงสุดท้าย


 

จาก: นิตยสาร Hello ปีที่ 8 ฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

ดู 17 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page