1946-1951 (พ.ศ.2489-2494)

หลังสงครามยุติลง คือช่วงเวลาของการฟื้นฟูและก้าวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ ในขณะเดียวกันความขัดแย้งใหม่ๆ อันเนื่องการจัดระเบียบโลกใหม่และการปักปันเขตแดนปะทุขึ้น เหมือนเป็นคำตอบว่า
‘การทำสงครามเพื่อยุติสงคราม’ ไม่ได้นำโลกเข้าสู่สันติภาพดังคาดหมาย
ท่ามกลางความผันผวนนี้ ชีวิตในวัยประถมของเด็กหญิงจำนงศรีในเวลานั้น ดำเนินไปในสวนส้มโอริมคลองสำเหร่ และโลกในจิตนาการจากวรรณคดีที่ยายเล่าให้ฟัง แต่ละสังคม แต่ละบุคคล ต่างแสวงหา หนทางที่จะยืนหยัดและก้าวต่อไป ในโลกหลังสงครามที่เปลี่ยนแปลงไปใหญ่หลวงและกระทบทุกด้าน
ของชีวิต
จุดเริ่มยุคพลาสติก

โฆษณากระดาษแก้ว บรรจุภัณฑ์ที่มาก่อนถุงพลาสติก จุดเริ่มของวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง https://thedieline.com/blog/2020/3/10/the-history-of-plastic-the-invention-of-throwaway-living?
ไม่กี่วันก่อนการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ‘เพื่อยุติสงคราม’ เจ. ดับบลิว. แมคคอย (J. W. McCoy) รองประธาน บริษัทดูปองท์ (DuPont) สหรัฐอเมริกา ประกาศว่า ทางบริษัทจะปรับการผลิต จากการผลิตเพื่อกองทัพสู่การผลิตสินค้าอุปโภค โดยคาดการณ์ว่าหลังสงคราม ความต้องการสินค้าจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีช่องว่างอีกมากในการเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค ทั้งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ ของคน ในสังคมให้สะดวกสบายกว่าเดิม
‘พลาสติก’ วัสดุใหม่ราคาไม่แพง ด้วยเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งมีคุณสมบัติความยืดหยุ่นมากกว่าเหล็กและไม้ สามารถหลอมได้หลากรูปร่าง จึงเป็นคำตอบที่สมบูรณ์แบบสำหรับตลาดที่ขยายตัวไม่สิ้นสุด ดังนั้นหลังสงครามดูปองท์ซึ่งเป็นผู้ผลิตยุทธภัณฑ์จากพลาสติกให้กองทัพ อาทิ ฉนวนหุ้มสายไฟ ถ้วยชามตกไม่แตก รวมถึงหน้ากากกันแก๊สพิษ หันมาผลิตสินค้าในครัวเรือน เริ่มจาก แก้วน้ำพลาสติก ในปี 1948
นับจากนั้นผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากหลายรูปแบบ ออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ถังขยะ ขวดบีบ ฮูลาฮูป และอื่นๆ นับพันชนิด รวมถึงกล่องบรรจุอาหารปิดสนิทจากทัพเพอร์แวร์ ที่ออกสู่ตลาดในปี 1948 เช่นกัน

เอิร์ล ทัปเปอร์ นักเคมีผู้สร้างผลิตภัณฑ์ทัปเปอร์แวร์
ภาพจาก https://www.tupperware.com/pages/about-us
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มที่ดำเนินไปในทศวรรษต่อๆ มา เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านทั่วโลก
เปลี่ยนจากวัสดุธรรมชาติหลากหลายเป็นพลาสติกที่ราคาถูก หาซื้อสะดวก ทนต่อความเลอะเทอะ
และเช็ดทำความะอาดได้ง่าย (กระทั่งพลาสติกครองโลก มีการประมาณการว่า นับจากทศวรรษที่ 1940 ถึงปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์พลาสติกออกมาถึง 9พันล้านตัน และทั้งหมดยังคงกองอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ได้หายไปไหน..) พลาสติกทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าใหม่ๆ รวมถึงเครื่องทุ่นแรงต่างๆ ที่ทะยอยออกสู่ท้องตลาด
เนื่องจากอเมริกาเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญของโลกเขตเดียวที่ไม่อยู่ในพื้นที่สงคราม กองทัพสินค้า
ติดตราเมดอินยูเอสเอหลั่งไหลออกไปทั่วโลก ภายในปี 1945 สหรัฐเป็นผู้ผลิตสินค้ามากกว่าครึ่งหนึ่ง
ของสินค้าทั่วโลก กล่าวได้ว่า สหรัฐอเมริกากำลังนำโลกเข้าสู่ยุคใหม่
เขตแดนใหม่และการอพยพ

สภาพข้างทางใจกลางกรุงเบอร์ลิน หลังสิ้นสุดสงคราม (3 กรกฎาคม 1945)
ภาพ: No 5 Army Film & Photographic Unit, Wilkes A (Sergeant) https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=640213
“ฉันไม่เคยเห็นความพินาศย่อยยับเช่นนี้มาก่อนเลย!” แฮร์รี ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเอ่ยขึ้น
ขณะนั่งรถไปเบอร์ลิน ในเดือนมิถุนายน ปี 1945 (พ.ศ. 2488) หลังสงคราม เมืองใหญ่เกือบทั้งหมดของยุโรปรกร้างด้วยซากปรักหักพัง ถนนเป็นหลุมบ่อ สะพานพัง ทางน้ำขัง ฯลฯ ริมถนนคือ ผู้รอดชีวิตร่างกายผอมแห้ง ประเมินว่ามีจำนวนราว 45,000,000 คน และมีคนราว 25,000,000 ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย
จำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับการประมาณการไว้ที่ 50-80 ล้านคน ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับตัวเลขที่ 60 ล้านคน ในจำนวนนี้มีชาวยิว 6 ล้านคน ที่ถูกสังหารในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเยอรมันซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อสงคราม

หญิงชาวเยอรมันซักผ้าข้าก็อกน้ำริมถนนในเบอร์ลิน 3 กรกฎาคม 1945
ภาพ: No 5 Army Film & Photographic Unit, Wilkes A (Sergeant)Post-Work: User:W.wolny https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=640232
ดังนั้น เพื่อควบคุมไม่ให้เยอรมันก่อสงครามใหม่ในอนาคต ฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจแยกเยอรมนี ออกเป็น 4 เขตยึดครอง ภายใต้การควบคุมของ อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และรัสเซีย ทั้งได้กำหนดให้ปรับพรมแดนใหม่ เนื่องจากช่วงก่อนสงคราม เยอรมนีอ้างสิทธิในการควบคุมดินแดนใดๆ ที่มีประชากรชาวเยอรมันอยู่
และในช่วงสงครามชาวเยอรมันเข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่เข้ายึดครอง โดยเฉพาะทางยุโรปตะวันออก
ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่ารัฐที่เป็นเนื้อเดียวกันทางชาติพันธุ์ จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามในอนาคต และประเทศที่เผชิญกับความโหดร้ายของนาซีในช่วงสงคราม ไม่ต้องการให้ชาวเยอรมันอยู่ในพรมแดนของตนอีกต่อไป ส่งผลให้ชาวเยอรมันกว่า 12 ล้านคนต้องอพยพออกจากพื้นที่เหล่านั้น
ในขณะเดียวกัน ชาวยิวบางส่วนอพยพไปตะวันออกกลาง และจัดตั้งประเทศอิสราเอลขึ้น ในดินแดนแห่ง
พันธะสัญญา ตามความเชื่อทางศาสนา ภายใต้การสนับสนุน ของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกรวมถึงรัสเซีย
เพื่อให้ชาวยิวมีบ้าน แต่พื้นที่บริเวณนั้นเป็นบ้านของชาวอาหรับ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่อง
มาจนถึงเวลานี้
การปักปันเขตแดนประเทศใหม่ ตลอดจนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง ทำให้ไม่เพียงชาวเยอรมันและชาวยิวที่อพยพโยกย้าย ผู้คนทั่วโลกทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา
พากันอพยพเพื่อแสวงหาโอกาสในดินแดนใหม่ เช่น อเมริกาและออสเตรเลีย เรียกได้ว่า กว่าคนทั่วโลก
จะลงหลักปักฐานใหม่ก็เข้าสู่ทศวรรษ 1950
คู่ขัดแย้งใหม่
ยุโรปไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือชนะ ต่างตกอยู่ใน
สภาพบอบช้ำ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตซึ่งเสียหายน้อยกว่า และมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง
ตลอดจนเป็นผู้นำในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจและกลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่
จากความแตกต่างของอุดมการทางการเมือง
ทั้งนี้หลังสงครามยุติ ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าปลดอาวุธฝ่ายอักษะและยึดครองดินแดนที่แพ้สงคราม โดย
สตาลิน ผู้นำรัสเซีย ขอควบคุมประเทศในเขตยุโรปตะวันออกตั้งแต่ชายฝั่งทะเลบอลติกจนถึงชายฝั่งทะเลเอเจียน ยกเว้นยูโกสลาเวียซึ่งผู้นำคือนายพลตีโต้สามารถปลดอาวุธทหารเยอรมนีด้วยตนเอง และอัลบาเนียซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมที่ได้รับความช่วยเหลือ จากจีน คงเหลือพื้นที่ยึดครองของสหภาพโซเวียต 6 ประเทศ คือ โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย ฮังการี โรมาเนีย บัลแกเรีย และเยอรมนีตะวันออก
ส่วนในเอเชียโซเวียตขอเข้าควบคุมคาบสมุทรเกาหลีร่วมกับอเมริกา
ต่อมาฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ วางเป้าหมายถอนตัวจากการยึดครองเยอรมันและเปิดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย รัสเซียปฏิเสธข้อเสนอนี้ส่งผลให้เยอรมันต้องแยกออกเป็นสองประเทศ โดยดินแดนในเขตยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งสามรวมตัวกันเป็น เยอรมันตะวันตก ส่วนรัสเซียจัดตั้งเขตยึดครองของตนเองเป็นเยอรมันตะวันออก
และแต่งตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ เบอร์ลินเมืองหลวงเดิมซึ่งอยู่ในเขตควบคุมของโซเวียต ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยส่วนตะวันออกเป็นของเยอรมันตะวันออกและฝั่งตะวันตกที่ถูกล้อมรอบด้วยกำแพงเบอร์ลินในเวลาต่อมา เป็นของเยอรมันตะวันตก
การแบ่งแยกเยอรมัน สะท้อนความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยลงของพันธมิตรตะวันตกและโซเวียต แม้หลังสงครามได้มีความพยายามป้องกันการเกิดสงคราม ด้วยการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ในเดือนตุลาคม 1945 (พ.ศ. 2488) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และป้องกันความขัดแย้ง
โดยมหาอำนาจทั้ง 5 คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง
สหภาพโซเวียตภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของสตาลิน ปฏิเสธลัทธิทุนนิยม ปิดตัวจากความร่วมมือ
ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม มองแนวคิดแบบทุนนิยมตะวันตก เป็นภัยคุกคามต่ออำนาจและอุดมการมาร์กซิส สนับสนุนให้ประเทศในเขตยึดครองทั้ง 6 ประเทศปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์

แฮรี ทรูแมนและวินสตัน เชอร์ชิล
ภาพ https://winstonchurchill.org/resources/speeches/
1946-1963-elder-statesman/the-sinews-of-peace/
ส่งผลให้สถานการณ์ในยุโรปเป็นดังที่ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ กล่าวขณะไปเยือนสหรัฐอเมริกาว่า “ม่านเหล็กได้เคลื่อนลงมาครอบคลุมยุโรป”
สงครามเย็น
สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยการประกาศหลักการทรูแมน (Truman ’s
Doctrine) ในเดือนมีนาคม 1947 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ
เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตย ให้พ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งภายนอกและภายในประเทศ
ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เพื่อเป็นการตอบโต้ สหภาพโซเวียตได้จัดตั้ง สำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์
(Cominform) ขึ้น ทำหน้าที่เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์และเป็นเครื่องมือ ป้องกันมิให้โลกเสรีเข้าแทรกแซง
ยุโรปตะวันออก
ถือเป็นจุดเริ่มต้นสงครามเย็น ระหว่างสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตย กับโซเวียตผู้นำโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงพันธมิตรของทั้งสองฝ่าย และต่างฝ่ายต่างๆ เริ่มสร้างเขตอิทธิพลของตน นำไปสู่ความขัดแย้งและสงคราม ในหลายส่วนของโลก
ในขณะที่ประเทศอาณานิคมทั่วโลก เคลื่อนไหวเพื่อเอกราช รัสเซียมีเป้าหมายขยายอิทธิพลเข้าไปยังประเทศเกิดใหม่เหล่านั้น ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ แผ่ขยายออกไปในโลกเสรี
สหรัฐฯ แผ่อิทธิพล
ในฐานะผู้ปิดฉากสงคราม ด้วย “สงครามเพื่อยุติสงคราม” ส่งผลให้สหรัฐอเมริกา ต้องเปลี่ยนนโยบาย
ต่างประเทศ จากการถือลัทธิโดดเดี่ยว ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนอกประเทศ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการปกป้องโลกเสรี ภายใต้ความเชื่อที่ว่า อเมริกามีอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารเข้มแข็งพอที่จะรักษา สันติภาพของโลก ถ่วงดุลอำนาจกับสหภาพโซเวียต
จากหลักการทรูแมน สหรัฐเริ่มต้นแผนการฟื้นฟูยุโรป (European Recovery Program) หรือ Marshall
Plan ตามชื่อ จอร์จ มาแซล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ผู้เสนอให้สหรัฐเข้าไปสร้างยุโรปขึ้นใหม่ “เพื่อช่วยเหลือให้เศรษฐกิจกลับคืนมาเป็นปกติ ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และไม่มีสันติภาพ อย่างแน่นอน”
ในเวลาเดียวกันสหภาพโซเวียตก็ให้ความช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ในนาม สภาความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ (Council for Mutual Economics Assistance:COMECON)
ในปี 1949 สหรัฐอเมริกาและแคนาดาร่วมกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกอีก 10 ประเทศ จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) โดยมีเป้าหมาย ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในกรณีสมาชิกถูกโจมตี ต่อมาในปี 1955 สหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ได้จัดตั้ง
กลุ่มกติกาสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) อันเป็นช่องทางให้สหภาพโซเวียตสามารถมีกองกำลัง
ในประเทศสมาชิกได้
นอกจากในยุโรป การแข่งขันสร้างอิทธิพลของสองอภิมหาอำนาจ ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก นำไปสู่ความขัดแย้ง การก่อการร้าย และสงครามหลากหลายรูปแบบในทุกทวีป เช่น สงครามเกาหลี ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง การก่อการร้ายในรูปแบบกองโจร
ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในอเมริกาใต้ และ สงครามเวียดนาม เป็นต้น
สิ้นสุดยุคอาณานิคม
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง กระแสความเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพจากกลุ่มประเทศอาณานิคม เกิดขึ้นทั่วโลก
หลายกรณีการถ่ายโอนอำนาจเป็นไปโดยราบรื่น ในขณะที่บางพื้นที่เจ้าอาณานิคมเดิมพยายามรักษาอำนาจอิทธิพลของตนเองไว้
ในเวลาเดียวกันหลายประเทศมีความขัดแย้งภายใน และเผชิญกับการแทรกแซงของอภิมหาอำนาจที่กำลังทำสงครามเย็น โดยค่ายคอมมิวนิสต์ก็วางเป้าหมายที่จะปลดปล่อยประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก
ในเอเชีย ปี 1947 อินเดียภายใต้การนำของ มหาตมะ คานธี ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเอกราช
จากอังกฤษ แต่อนุทวีปแห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศคือ อินเดียที่ก่อตั้งขึ้นจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวฮินดูในบริติชอินเดีย และปากีสถานก่อตั้งขึ้นจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวมุสลิม การแบ่งประเทศนำไปสู่การจราจลระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม กล่าวกันว่าประชาชน 14 ล้านคนต้องพลัดถิ่น และมีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิต ราว 200,000 ถึง 600,000 คน
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาชักชวนประเทศปากีสถานให้เป็นสมาชิกองค์การซีโต้ เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
สหภาพโซเวียตก็พยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในอินเดีย ด้วยการช่วยเหลือด้านเงินกู้และอื่นๆ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่น ประเทศเจ้าอาณานิคม เผชิญการต่อต้านจากกองกำลังชาตินิยมในทุกพื้นที่ อังกฤษต่อสู้กับกองโจรคอมมิวนิสต์ในมาลายาได้สำเร็จ ในขณะที่ฝรั่งเศสต้องทำสงครามยืดเยื้อและไม่สามารถเอาชนะเวียดมินห์ในอินโดจีนฝรั่งเศส ส่วนเนเธอแลนด์ก็ล้มเหลวในการปราบกลุ่มชาตินิยมอินโดนีเซีย และต้องให้เอกราชในปี 1949 ทางด้านสหรัฐอเมริกาการถ่ายโอนอำนาจในฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างสงบ ในปี 1946
ปฏิวัติจีน สงครามเกาหลี และแรงต้านในอินโดจีน

เหมาเจ๋อตงและเจียงไคเช็คฉลองชัยชนะเหนือญี่ปุ่น เป็นความร่วมมือก่อนก่อสงครามกลางเมือง
By Unknown author -https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=7687774
หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง สงครามกลางเมืองระหว่างจีนคณะชาติภายใต้การนำของเขียงไคเช็คกับจีนคอมมิวนิสต์ ของ เมาเจ๋อตงประทุขึ้นอีกครั้ง สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือกลุ่มชาตินิยมของเจียง โดยหวังป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ แต่เกิดปัญหาการทุจริตเงินเช่วยเหลือและการลักลอบขายอาวุธจำนวนมากของสหรัฐฯ ให้กับศัตรู
ปลายปี 1947 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดเทียนสิน และยึดปักกิ่งในเดือนมกราคม 1949 ตามด้วยการเปิดการรุกทางใต้ สิงหาคม ปีเดียวกัน สหรัฐยุติความช่วยเหลือทั้งหมดแก่กลุ่มจีนคณะชาติ โดยสรุปว่า “ผลอันเลวร้ายของสงครามกลางเมืองในจีนนั้น อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลสหรัฐฯ”

เหมาเจ๋อตงประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 1 ตุลาคม 1949
ภาพ Orihara1 - Own work, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=36210407
จีนคณะชาติหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ที่เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ประกาศตั้ง
สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการที่ปักกิ่ง ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 (พ.ศ. 2492) ถือเป็นการเสียดุลยภาพครั้งสำคัญของโลกเสรี และนับจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอยู่ในภาวะตึงเครียด
ปีต่อมา สงครามเกาหลีก็เริ่มขึ้น เมื่อเกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ ในปี 1950 (พ.ศ. 2493) เพื่อรวมประเทศ
และขจัดอิทธิพลตะวันตก ทั้งนี้เดิมเกาหลีอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศให้เกาหลีเป็นเอกราช และแบ่งคาบสมุทรนี้ออกเป็นสองเขตยึดครองโดยเหนือเส้นขนานที่ 38 เป็นเขตยึดครองของโซเวียต
ส่วนด้านใต้เป็นเขตยึดครองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม1948 ได้จัดตั้งเป็น “สาธารณรัฐเกาหลี” (เกาหลีใต้) เดือนต่อมา วันที่ 9 กันยายน สหภาพโซเวียตจึงจัดตั้งเขตยึดครองของตนเป็นประเทศ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี” จัดการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์

สงครามเกาหลี 15 กันยายน 1950 ทหารอเมริกันขึ้นฝั่งที่อ่าวอินชอน เกาหลีใต้ หนึ่งวันก่อนเกิดยุทธการอินชอน
ภาพ โดย US Navy - http://www.cnbg2.surfor.navy.mil/Site%20Pages/History.aspxFile:Invasion of Inchon, Korea. https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=72673
นับแต่นั้นมา เกาหลีแยกเป็น 2 ประเทศ โดยมีเส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่งดินแดน แต่ความต้องการ
รวมประเทศยังคงมีอยู่ วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีเหนือเคลื่อนผ่านเส้นขนานที่ 38
มายังเกาหลีใต้ “สงครามเกาหลี”เริ่มต้นขึ้น และดำเนินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานถึง 4 ปี (ค.ศ. 1950 –
1953) โดยเกาหลีใต้ได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังสหประชาชาติ ในขณะที่เกาหลีเหนือได้รับการ
สนับสนุนจากโซเวียต รวมถึงจีน ที่ไม่ต้องการให้สหรัฐขยายอำนาจเข้ามาถึงดินแดนของตน
จีนซึ่งเป็นพันธมิตรโซเวียตประกาศโดยเปิดเผยว่า จะสนับสนุนสงครามต่อต้านสหรัฐและสงครามปลดปล่อยในประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในเวลานั้นสหรัฐอเมริกามีญี่ปุ่นเป็นกำลังสำคัญของโลกเสรีในเอเชีย ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น ที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มาตรฐานทางสังคมในระดับสูง
อันเป็นผลงานของสหรัฐอเมริกาที่เข้าควบคุม และพยายามให้ญี่ปุ่นยกเลิกการเป็นประเทศเผด็จการทหาร
ยกเลิกกระทรวงทางทหาร มีเพียงกรมตำรวจ รวมทั้งจำกัดงบประมาณในการป้องกันประเทศ โดยสหรัฐ
เซ็นสัญญาทำหน้าที่ป้องกันประเทศให้ญี่ปุ่น และคงทหารสหรัฐอเมริกาไว้ในญี่ปุ่น รวมทั้งตั้งฐานทัพ
ของสหรัฐอเมริกาไว้ในแปซิฟิก
ญี่ปุ่นจึงพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นเมื่อสหรัฐถอนตัวออกจากญี่ปุ่นในปี 1952 ญี่ปุ่น
สามารถพัฒนาประเทศให้มีเสถียรภาพทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเป็นกำลังสำคัญของโลกเสรี
ในทวีปเอเชีย
เมดอินยูเอสเอ

ฝาครอบดุมล้อ Ford Model T ติดตรา Made in U.S.A
ภาพ Infrogmation of New Orleans - originally posted to Flickr as Ford Hubcap Made in USA, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=10728265
ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เล่าถึงสินค้าเมดอินยูเอสเอไว้ว่า “ผมรู้ความเมื่อสิ้นสงครามโลก พอดีกับที่อเมริกัน
กลายเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก แม้กองทัพอเมริกันไม่ได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย
แต่ก็คงฝาก ขนมนมเนยและของเล่นเด็กมากับทหารอังกฤษที่ต้องเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นด้วย เพื่อให้อังกฤษสามารถ ปฏิบัติการทางจิตวิทยาได้ผลดีจิตวิทยาอังกฤษเป็นผลให้สิ่งเหล่านั้น กลายเป็นสินค้าในตลาดที่กำลังหิวโหยของไทยพอดี ผมได้ของเล่นอเมริกันที่พ่อซื้อให้อยู่สองสามชิ้น ประทับใจมาตั้งแต่นั้นว่า อะไรที่มีตราว่า Made in U.S.A.แล้วล่ะก็ ทนชิบเป๋งเลย เล่นแรงอย่างไรก็ไม่เสีย ความประทับใจอย่างนั้นยังอยู่สืบมาจนทุกวันนี้ แม้ไม่มีสินค้าอเมริกันอะไรเหลืออยู่ในตลาดแล้ว ที่ยัง Made in U.S.A. อยู่”
หลังสงคราม การผลิตสินค้าของสหรัฐอเมริกาเพิ่มในอัตราเร่ง คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั่วโลก
และเป็นผู้ส่งออกสินค้ามากกว่าหนึ่งในสามของการส่งออกของโลก อีกทั้งสหรัฐฯถือครองสองในสาม
ของทองคำสำรอง ส่งผลให้ดอลล่าร์เป็นค่าเงินทีทรงอำนาจสูงสุด กลายเป็นสกุลเงินสำรองใหม่สำหรับการค้า สหรัฐฯก้าวจาก ประเทศในระดับกลางขึ้นเป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางศรษฐกิจของโลก
ด้วยเหตุนี้ การช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศที่เสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นใหม่ ตลอดจนการช่วยเหลือ
ทางเศรษฐกิจ และการทหาร เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในอีกด้านหนึ่งจึงเป็นการ
รักษาและขยายตลาดสินค้าส่งออกของสหรัฐ และนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตสนองต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการผลิตเพื่อการส่งออก
ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจที่ตามมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวัน
ของชาวอเมริกันเท่านั้น แต่สินค้าเมดอินยูเอสเอที่กระจายไปทั่วโลก ยังเป็นการส่งออก “วัฒนธรรมประชานิยมของอเมริกัน (American Pop Culture)” สร้างให้สหรัฐอเมริกาไม่เพียงเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมในทุกภูมิภาคของโลก ที่ล้วนต้องการสินค้าผลิตในอเมริกา ตั้งแต่ของกินของใช้ ไปจนถึง ภาพยนตร์ ดนตรี รวมทั้ง แฟชั่น
ความเคลื่อนไหวทางสังคมและศิลปะ
ชัยชนะของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยเหนือฝ่ายชาตินิยมฟาสซิสต์ ทำให้บรรยากาศของเสรีภาพกระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ ในหลากหลายกลุ่ม อาทิ ชนกลุ่มน้อย ชาวผิวสี ผู้หญิง แรงงาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม สงครามเย็นทำให้เกิดความหวาดระแวงในสังคม และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้า รวมถึงฝ่ายสังคมนิยม ในหลายประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลก
ในระหว่างสงคราม ผลงานศิลปะล้ำค่าจำนวนมากในยุโรป ถูกกลุ่มนาซีเยอรมันที่เข้ายึดครอง ลักลอบ
นำออกไปขาย และเก็บชิ้นงานที่มองเห็นศักยภาพการขายในอนาคตไว้ ส่วน ส่วนชิ้นงานที่ถูกตีตราว่า
ไร้ประโยชน์ เกี่ยวข้องกับยิว หรือมีความแตกต่างด้านอุดมการณ์ ถูกทำลายทิ้ง รวมถึงผลงานของ Pablo
Picasso, Max Ernst, Joan Miro, Salvador Dali ฯลฯ
นับจากปลายทศวรรษที่ 1930 ถึงต้นทศวรรษที่ 1940 คนทำงานศิลปะในทุกวงการ ทั้งจิตรกร นักดนตรี
ผู้คนในวงการภาพยนตร์ ฯลฯ พากันอพยพหลีกหนีลัทธิฟาสซิสต์ที่กำลังเรืองอำนาจ และสงครามที่
แพร่กระจายในยุโรป ไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบรรยากาศของเสรีภาพในการสร้างสรรค์มากกว่า
วงการศิลปะอเมริกาช่วงเวลานั้น ให้ความสำคัญกับการแสดงความเป็นจริงทางสังคม (Social Realistic)
ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษที่ 1930
แต่เมื่อสังคมอเมริกัน เปลี่ยนสู่ยุคความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจหลังสงคราม ความสนใจในงานศิลปะที่รณรงค์ต่อต้านความยากจนก็ลดน้อยลง ศิลปินเริ่มเปลี่ยนจากการมองออกไปภายนอก เป็นการมองย้อนกลับเข้าไปในตัวเอง หันมาทำงานศิลปะเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกภายใน และเป็นที่มาของศิลปะแบบ Abstract Expressionism ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบเหนือจริง (Surrealists) จากยุโรป อาทิเช่น ผลงานของ Jackson Pollock Mark Rothko Hans Hofmann ฯลฯ

ภาพ The She Wolf, 1943 ของ Jackson Pollock
จาก https://www.jackson-pollock.org/the-she-wolf.jsp
นับเป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะ ในระดับนานาชาติครั้งแรกของอเมริกา ส่งผลให้นิวยอร์คก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางศิลปะสมัยใหม่ แทนที่ปารีส
Abstract Expressionism เน้นความสดใหม่ สร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับรูปแบบความเป็นจริง ที่สำคัญศิลปินกลุ่มนี้สนใจในคุณค่าทางสุนทรียะมากกว่าอุดมการทางการเมือง สอดคล้องกับฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการเน้นถึงเสรีภาพ และวิตกกับการแพร่ของลัทธิคอมมิวนิสต์

เก้าอี้ไม้อัดของCharles&Ray Eames 1945-1946
ภาพ Hiart - Own work, CC0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=47046460
ด้านโลกของสถาปัตยกรรมและการออกแบบก็เปลี่ยนไปตลอดกาล ด้วยวัสดุใหม่อันน่าทึ่ง และการพัฒนา
ทางเทคนิคที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม เช่น การขึ้นรูปไม้อัดของ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ Charles&Ray
Eames ของใช้และเฟอร์นิเจอร์ผลิตจากพลาสติก และอลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบา ได้รับการนำไปใช้ผลิตตั้งแต่ เครื่องเขย่าค็อกเทล เครื่องพิมพ์ดีด ไปจนถึงรถแข่ง
หนังสือ หนัง และกระโปรงนิวลุค
ในแวดวงวรรณกรรมมีการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายๆ กัน นักเขียนขยับจากประเด็นทางการเมือง เป็นการ
ค้นหาลึกลงในในตัวเองและจิตใจของมนุษย์ ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ ในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีเสรีภาพในการเลือก และต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เลือก แนวคิดนี้มีต้นธารจากฝรั่งเศส เช่น ผลงานบทละครเรื่อง No Exit(1944) ของ Jean-Paul Sartre
กระแสย้อนกลับมาสำรวจภาวะภายในของมนุษย์ครอบคลุมถึงฮอลลีวูด “ฟิล์มนัวร์” ภาพยนตร์
สะท้อนด้านมืดของมนุษย์ คือความโดดเด่นของฮอลลีวูดในทศวรรษนี้ ต่อเนื่องไปถึงทศวรรษที่ 1960 อาทิ Citizen Kane (1941) ของ จอร์จ ออร์สัน เวลส์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษ และเป็นหนึ่งในหนังคลาสสิคของโลกภาพยนตร์ The Third Man (1949) ของผู้กำกับชาวอังกฤษคาโรล รีด Double Indemnity (1944) ของบิลลี ไวลเดอร์ เป็นต้น
ช่วงทศวรรษที่ 1940 เป็นยุคที่ฮอลลีวูดผลิตผลงานชั้นดีออกมาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการอพยพเข้ามาของผู้คนในแวดวงบันเทิงยุโรป ทั้งนักเขียนบท ผู้กำกับ และนักแสดง ส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการของภาพยนตร์ตลอดจนการแสดงในยุคนี้ เช่น อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก เจ้าพ่อหนังระทึกขวัญชาวอังกฤษ เดวิด ลีน
ผู้กำกับชาวอังกฤษ ที่ผลงานในทศวรรษนี้ของเขา Brief Encounter (1946) ถือเป็นหนังโรแมนติกตลอดกาล หนังเล่าถึงช่วงเวลาสั้นๆ ที่แม่บ้านคนหนึ่งพบกับนายแพทย์หนุ่มที่สถานีรถไฟ
แม้เทคนิคภาพยนตร์สีเริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยุคสงครามทำให้หนังส่วนใหญ่ในทศวรรษนี้
เป็นหนังขาวดำเพื่อประหยัดต้นทุน รวมถึงมีการสร้างหนังต้นทุนต่ำที่เรียกว่า หนังเกรดบี ด้วยการลงทุนน้อยและใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียงรองลงมา
หนังแนวสัจจะนิยมสะท้อนความเป็นจริงของสังคม ยังได้รับการสานต่อจากทศวรรษที่ผ่านมา โดยพัฒนาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ สู่ชีวิตช่วงสงครามและหลังสงคราม เช่น The Best Years of Our Lives (1946) ของวิลเลียม วายเลอร์ เล่าถึงการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตพลเรือนของทหารอาสาอเมริกัน (G.I.) หลังสงคราม
Gentleman Agreement (1947) ของ เอเลีย คาซาน ที่พูดถึงกระแสต่อต้านยิวในอเมริกา
และหนังส่งเสริมกำลังใจและความอบอุ่นในครอบครัว เพื่อต่อสู้ชีวิตหลังสงคราม It's a Wonderful Life
(1946) ของ แฟรงก์ คาปรา ที่ยังเป็นหนึ่งในหนังยอดนิยมช่วงคริสตมาสต์จนถึงทุกวันนี้
ในขณะเดียวกันก็มีภาพยนตร์แนวหลีกหนีความจริงเน้นความบันเทิง ตอบสนองความต้องการผ่อนคลาย
หลังสงครามผ่านพ้นไป เช่น หนังชุด มัมมี เชอร์ล็อก โฮล์มส์ และ ทาซาน เป็นต้น ทั้งเป็นช่วงที่ตัวการ์ตูน
ชื่อดังเริ่มออกสู่โลกภาพยนตร์ ทั้ง บักส์ บันนี ทอมกับเจอรี วูดดี วูดเพ็กเกอร์ และผีน้อยแคสเปอร์
ส่วนดิสนีย์ประสบความสำเร็จกับพีน็อคคิโอ

La Belle et La Bete (Beauty and the Beast) (1946) https://www.imdb.com/title/tt0038348/mediaviewer/rm519614976/
ทางฝั่งยุโรป แม้จะตกอยู่ในภาวะยากลำบาก แต่ยังมีภาพยนตร์ที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ของศิลปะ
การทำหนังแบบยุโรป อาทิเช่น ผลงานแนวแฟนตาซีเหนือจริง ของ ฌอง ก็อกโต พหุศิลปินชาวฝรั่งเศส เรื่อง La Belle et La Bete (Beauty and the Beast) (1946) ที่เป็นการตีความนิทานพื้นบ้านของฝรั่งเศส
ขึ้นใหม่อย่างมีเอกลักษณ์ รวมถึงภาพยนตร์สะท้อนความเป็นจริงของสังคม แนวนีโอเรียลลิสต์ของอิตาลี
ในยุคประเทศบอบช้ำและตกต่ำจากระบบฟาสซิสต์และสงคราม อาทิ Paisan (1946) Stromboli (1950)
ของ โรแบร์โต รอสเซลลินี Bicycle Thieves โดย วิตตอรีโอ เด ซีกา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในท้ายทศวรรษ พลังสร้างสรรค์ของฮอลลีวูดถูกท้าทายด้วยลัทธิล่าคอมมิวนิสต์ ที่มีวุฒิสมาชิก
โจเซฟ แม็คคาร์ธี แห่งพรรครีพับลิกัน เป็นแกนนำสำคัญ มีการตั้งข้อกล่าวหา ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์
หรือเป็นสายลับของโซเวียต กับบุคคลในวงการต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ นักการทูต นักเขียน ทหาร
รวมไปถึงคนในฮอลลีวูด ซึ่งได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าสื่อภาพยนตร์ สามารถชี้นำมวลชนได้
โดยการซ่อนเร้นสารเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ อันจะเป็นการล้างสมองคนอเมริกันให้สนับสนุนสหภาพ
โซเวียต คนบันเทิงกว่า 300 คน ทั้งผู้เขียนบท ผู้กำกับ ดารา ถูกสอบสวนและตั้งข้อหา อาทิ เช่น ออร์สัน เวลส์ ชาลี เชปปลิน ดัลตัน ทรัมโบ เกรกอรี เพก อาร์เธอร์ มิลเลอร์ ฯลฯ ส่งผลให้หลายคนสูญเสียอาชีพ ต้องยุติการทำงาน และบางกรณีถูกคุมขัง
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเทียบไม่ได้กับข้อเท็จจริงที่ว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูดคือ เครื่องมือที่แข็งแกร่งที่สุด ในการเผยแพร่วัฒนธรรมประชานิยม(Pop Culture) ของโลกทุนนิยมเสรี จนกระทั่งทุกวันนี้

กระโปรงนิวลุคของดิออร์
ภาพจาก https://www.vogue.co.th/fashion/article/newlookcalldior
อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงหลังสงครามที่มีสีสันและส่งผลไปทุกภูมิภาคของโลก ก็น่าจะเป็น ‘กระโปรงนิวลุค’ ของ คริสเตียน ดิออร์ ที่เป็นเครื่องยืนยันว่ายุโรปหรือปารีสยังคงครองตำแหน่งผู้นำของโลกแฟชั่น และประกาศการสิ้นสุดยุคอับเฉาของแฟชั่นในช่วงสงคราม ด้วยความหรูหราฟุ่มเฟือยของกระโปรงที่ใช้ผ้า
จำนวนมหาศาล และรูปแบบการตัดเย็บที่เน้นความเป็นผู้หญิง แทนที่ความกระฉับกระเฉงคล่องตัว
และประหยัดของเสื้อผ้ายุคสงคราม
ความหวังของดิออร์ที่ต้องการชุบชีวิตวงการแฟชั่น บรรลุผลเกินคาด ภาพยนตร์ฮอลลีวูดและนิตยสารแฟชั่นช่วยกระจายความนิยมกระโปรงนิวลุคไปทั่วโลก รวมถึงสตรีไทยในพระนคร
การกู้สถานะไทยหลังสงคราม

ข่าวสหรัฐยอมรับประกาศสันติภาพของไทย (ภาพจากของสะสมของอาจารย์ปุ๋ย โรจนะบุรานนท์)
ใน https://www.silpa-mag.com/history/article_76867
ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ผู้นำไทยพยายามให้ประเทศพ้นจากสถานะผู้แพ้สงคราม โดย นายปรีดี
พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ‘ประกาศสันติภาพ’
ในพระปรมาภิไธย ว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ของรัฐบาล จอมพล
ป.พิบูลสงคราม เป็นโฆษะ และไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย
เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับการประกาศนี้ นายควง อภัยวงศ์ ผู้นำรัฐบาลเวลานั้น ลาออกจากตำแหน่ง
เปิดทางให้กลุ่มเสรีไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน ทั้งนี้ด้วยเหตุที่การต่อสู้ของเสรีไทย ในช่วงสงคราม
ทำให้สถานะของไทยดีขึ้นในสายตาฝ่ายสัมพันธมิตร
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กันยายน
1945 (พ.ศ.2488) ทำหน้าที่หลักในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร และผลักดันให้ไทยได้เป็นประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ในการนี้ไทยดึงมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐอเมริกา เข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษ ส่งผลให้ไทยพ้นจากสถานะผู้แพ้สงคราม และต่อมาสามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ ในวันที่ 16 ธันวาคม 1946 ( พ.ศ.2489) โดยยอมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางประการ อาทิ คืนกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี มะริด เขียงตุงและเมืองพาน ให้อังกฤษ คืน ไซยะบุรี และ จำปาสัก ในลาว รวมทั้ง เสียมราฐ และ พระตะบองในเขมร ให้กับฝรั่งเศส เป็นต้น
กระบวนการเจรจาต่อรองใช้เวลายาวนาน ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองภายในที่แบ่งออกเป็น
หลายขั้วอำนาจ
รัฐประหารและกบฎ
สองปีหลังสงคราม ไทยเปลี่ยนรัฐบาล 5 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรี 3 คน ทั้งนี้สืบเนื่องจากชัยชนะของฝ่าย
เสรีประชาธิปไตยเหนืออำนาจนิยมฟาสซิสต์ ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง มีความพยายามหลายประการเพื่อสร้างการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อาทิ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อนุญาตให้มีการตั้งพรรคการเมือง ความพยายามแยกข้าราชการเมืองกับข้าราชการประจำ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งและการแข่งขันในกลุ่มการเมือง ระหว่างฝ่ายเสรีนิยม-สังคมนิยม ที่มีนายปรีดี
พนมยงค์ เป็นแกนนำ กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมของนายควง อภัยวงศ์และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีได้ราวหนึ่งเดือนก็ประกาศยุบสภา เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ในเวลาใกล้เคียงกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติพระนคร (5 ธันวาคม 1945/พ.ศ.2488) ต่อมาหลังการเลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพียงแค่หนึ่งเดือนครึ่งก็ต้องลาออก นายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลแทน
วันที่ 9 มิถุนายน 1946 (พ.ศ. 2489) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 8 ต้องพระแสงปืนเสด็จสวรรคตยังความเศร้าโศกใหญ่หลวงให้พสกนิกร และฝ่ายค้านนำมาโจมตีรัฐบาล ส่งผลให้นายปรีดี ต้องลาออกจากตำแหน่ง และ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เป็นเวลาปีเศษ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2490 คณะนายทหารบกทำการรัฐประหาร ภายใต้เหตุผลที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้

จอมพล แปลก พิบูลสงครามรับคำเชิญจากคณะทหารแห่งชาติ ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะหลังทำรัฐประหารสำเร็จ ภาพจาก https://th.wikipedia.org/wiki/
คณะรัฐประหารประกอบนายทหารใหม่นอกวงการเมือง อาทิ พลโทผิน ชุณหะวัณ พันเอกเผ่า ศรียานนท์
พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พันเอกถนอม กิตติขจร พันโทประภาส จารุเสถียร และ ร้อยเอกชาติชาย
ชุณหะวัณ โดยเชิญ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ามาร่วมในภายหลัง แต่ด้วยเกรงมหาอำนาจ
ตะวันตกไม่ยอมรับ คณะรัฐประหารจึงเปิดให้มีการเลือกตั้ง และนายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
อีกครั้ง ก่อนถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 8 เมษายน 2491และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม
กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง ส่งผลให้ระบอบทหารและอำนาจนิยมฟื้นตัวขึ้นใหม่ ในห้วงเวลาที่รัฐบาลประชาธิปไตย ถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพและขาดเสถียรภาพ
หลังจากนั้นมีความพยายามยึดอำนาจหลายครั้ง เริ่มจาก กบฎเสนาธิการ ในเดือน 1 ตุลาคม 2491
กบฎวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492 อันเป็นความพยายามกลับขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งของนายปรีดี พนมยงค์ โดยการสนับสนุนของกลุ่มเสรีไทย และทหารเรือบางส่วน เมื่อไม่ประสบผล ฝ่ายเสรีนิยม-สังคมนิยมจึงพ่ายแพ้โดยไม่ฟื้นคืนนับจากนั้นเป็นต้นมา นักการเมืองในสังกัดถูกกวาดล้าง ส่วนนายปรีดี พนมยงค์
ต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ (จีนและฝรั่งเศส)

เหตุการณ์จี้จับตัว จอมพล ป. บนเรือขุดสันดอนแมนฮัตตัน จุดเริ่มต้นกบฎแมนฮัตตัน
https://th.wikipedia.org/wiki/
2 ปีต่อมา มิถุนายน 1951(2494) เกิดกบฎแมนฮัตตัน ของฝ่ายทหารเรือ ซึ่งเป็นกบฎครั้งรุนแรงที่สุด
มีพลเรือนบาดเจ็บ 603 คน เสียชีวิต 103 คน นำไปสู่การรัฐประหารเงียบของของคณะรัฐประหาร ส่งผลให้ทหารเรือถูกตัดกำลังและหมดบทบาททางการเมือง ในทางกลับกัน ทหารบกและตำรวจขึ้นมามีอำนาจและบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้นจนปัจจุบัน
เริ่มต้นยุคอเมริกันในไทย
อิทธิพลของอเมริกาต่อไทยในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับเวลา นับจากสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการเจรจา
เพื่อคุ้มครองเสรีภาพและผลประโยชน์ของไทยหลังสงคราม ความร่วมมือเข้มข้นขึ้น เมื่อรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเคยร่วมมือกับฝ่ายอักษะ ขึ้นครองอำนาจอีกครั้งในปี 1948 (พ.ศ. 2491) และประกาศ
สนับสนุนนโยบาย ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐในทันที เพื่อพิสูจน์ให้มหาอำนาจตะวันตกเห็นว่า
ไทยสนับสนุนค่ายเสรีประชาธิปไตย
ขณะนั้นอำนาจของเจ้าอาณานิคมเดิมถดถอยลง ส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์คืบหน้าใกล้เข้ามา ทำให้สหรัฐฯ ซึ่งมีนโยบายต่อต้าน (anti) และปิดล้อม (containment)การแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ พยายามเข้ามามีบทบาทโดยตรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยินดีสนับสนุนรัฐบาล จอมพลป.

ทหารไทยในสงครามเกาหลี เมืองปูชาน ปี พ.ศ.2493
ภาพโดย 대한민국 국군 Republic of Korea Armed Forces - 태국, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=36999548
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจอมพล ป. จึงรับรองรัฐบาลของอดีตจักรพรรดิเบาไต๋ในเวียดนาม ที่รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ ในปี 1950 (พ.ศ.2493) เพื่อรักษาอาณานิคมในอินโดจีน และปฏิเสธไม่สนับสนุนขบวนการชาตินิยมคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินห์ (ต่างจากสมัยรัฐบาลพลเรือนของนายปรีดี พนมยงค์) อีกทั้ง ในเดือน กรกฎาคม ปีเดียวกันรัฐบาลไทยส่งข้าวและทหารไปร่วมสงครามเกาหลี ในนามของสหประชาชาติ
ยุคอเมริกันในไทย (American Era) เริ่มต้นขึ้น และขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่องต่อมาผ่านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร
โรงหนังล้นประเทศ
ในระหว่างสงคราม ‘หนังฮอลลีวูด’ จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรถูกห้ามนำเข้ามาฉาย
คงเหลือแค่เพียงภาพยนตร์จากญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ ส่วนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก็ซบเซาลง
เมื่อสงครามยุติ บ้านเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ผู้คนโหยหาความบันเทิง เพื่อผ่อนคลาย หลังจากเผชิญ
ความทุกข์ยากมานานหลายปี ภาพยนตร์ฮอลลีวูดกลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับการสร้างภาพยนตร์ไทย
ที่เพิ่มจาก 10-20 เรื่องต่อปี พุ่งเป็น 50-60 เรื่องต่อปี ความเฟื่องฟูดังกล่าวทำให้จำนวนโรงภาพยนตร์เพิ่มตาม มีข้อมูลว่าจำนวนโรงหนังของไทยหลังสงครามมีมากถึง 700 โรงทีเดียว

โปสเตอร์หนังสุภาพบุรุษเสือไทย
ภาพจาก https://www.mdinfo-thai.com/movie/
ในระยะแรก คือ ปี 1946-1949 (พ.ศ.2489-2492) วงการภาพยนตร์ไทยเริ่มฟื้นตัว จากการสร้างหนัง
พากย์ไทย โดยใช้ฟิล์มขนาดเล็ก 16 มิลลิเมตร เริ่มแรกมีประมาณ 10 เรื่องต่อปี แต่เมื่อ สุภาพบุรุษเสือไทย (1949/2492) ซึ่งสร้างจากนวนิยายดังของ เสนีย์ บุษปะเกศ ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิกรรายวัน หนังประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้มีผู้สร้างหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก
ปีถัดมาจำนวนหนังไทยเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว และนับจากนั้นมาจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ผลิตออกมาแต่ละปี
อยู่ในราว 50 ถึง 60 เรื่อง ติดต่อกันอยู่เช่นนี้นับสิบปี ผู้สร้างภาพยนตร์หน้าใหม่ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นบริษัท
และไม่มีการสร้างโรงถ่ายขนาดใหญ่เหมือนก่อนสงคราม แต่เป็นการรวมทุนทำงานในหมู่ครอบครัว
หรือญาติมิตรทำหนังเล็กๆ ต้นทุนต่ำ ส่วนภาพยนตร์เด่นๆ ในช่วงนี้มากจากบริษัทใหญ่ๆ เช่น รอยไถ
ของกรุงเทพภาพยนตร์ (1950/2493) พันท้ายนรสิงห์ ของอัศวินภาพยนตร์ (1950/2493)
ปากกาคืออาวุธ
วรรณกรรมและหนังสืออื่นๆ จากตะวันตก รวมถึงรัสเซียและจีน ที่เข้ามาในเมืองไทย ส่งผลต่อพัฒนาการ
ของวรรณกรรมไทยหลังสงคราม ที่แยกออกเป็นสองสาย คือ วรรณกรรมเพื่อสังคมแนวสัจจนิยม และ
แนวประโลมใจ หลีกหนีความจริง
กลุ่มวรรณกรรมพาฝันเติบโตต่อเนื่องในยุคหลังสงคราม ที่ผู้คนต้องการผ่อนคลาย ผลงานในกลุ่มนี้
มีหลากหลายแนว ทั้งรักโรแมนติก ที่ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพล จากนวนิยายโกธิคแนวพาฝัน(Gothic Romance)ของตะวันตก แนวอิงประวัติศาสตร์ แนวลึกลับ โลดโผน และขบขัน หลายเรื่องมีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน เช่น บ้านทรายทอง ของ ก.สุรางคนางค์ ปริศนา ของ ว.ณ.ประมวญมารค ขุนศึก ของ ไม้เมืองเดิม ผู้ชนะสิบทิศ ของ ยาขอบ และ ชุด สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต (หนังสือชุดสามเกลอ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482-2511 อันเป็นปีที่ ป.อินทรปาลิต เสียชีวิต)

ชุดสามเกลอของ ป.อินทรปาลิต
ภาพ - http://www.sarakadee.com/feature/2001/08/images/samgler_03.jpg
ส่วนงานเขียนประเภทสะท้อนสังคม สืบเนื่องมาจากช่วงสงครามที่มีผลงานสะท้อนความเสื่อมโทรมทั้งทางกายภาพ ศีลธรรมและจิตใจ รวมถึงการเสนอกรอบคิด และอุดมการใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม นักเขียนในกลุ่มนี้มีทั้งหนักเขียนหนุ่มสาวที่เริ่มมีผลงานตั้งแต่ช่วงสงคราม และนักเขียนเก่า ที่มีกลุ่มสุภาพบุรุษเป็นแกนนำ เช่น ศรีบูรพา เขียน จนกว่าเราจะพบกันอีก และ แลไปข้างหน้า แม่อนงค์ เขียน ทุ่งมหาราช ส่วนนักเขียนรุ่นใหม่ อาทิ เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน เรื่องความรักของวัลยา ต่