top of page

มุมมองของดาว

โดย จินตนา ยศสุนทร


ภาพโดย Gerd Altmann



ในรอบเดือนที่แล้วดาวขึ้นพราวฟ้าไปหมดจนลานตา ได้แต่มองตามอย่างแผ่วเผิน ไม่อาจพูดว่าได้สัมผัสจนอิ่มใจไปทุกรายการ ไหนจะรายการดนตรี ไหนจะรายการละครเวที ไม่นับดาวที่ระยิบเป็นประจำอยู่ทั้งบนจอแก้วและจอเงิน


โดยเฉพาะบนจอแก้วขณะนี้ แม้จะหมุนมองรอบตัวอยู่อย่างสม่ำเสมอก็ยังดูไม่ทันทั้งรายการยาวนับไม่ถ้วนตอนจบ ทั้งรายการสั้นไม่กี่ตอนก็จบ ทั้งรายการที่ถูกใจที่สุด คือฉากเดียวจบ ได้อิ่มใจสมอยาก มากมายเสียจนดูตามไม่ได้ทั่วถึง บ้านเราก็เป็นเสียอย่างนี้ ใครทำอะไรนำขึ้นมา คนนิยม ก็ทำตามอย่างกันขึ้นมามากมาย เมื่อมากก็กรองไม่ทัน น่าเสียดายอะไรอย่างนั้น...หากสิ่งที่ลอดตะแกรงกรองไปนั้นเป็นของเล็กๆ แต่มีค่า ก็คงจำเป็นจะต้องพอใจแต่กับการรายงานถึงรายการเวที ที่นับว่าเป็นดวงดาวที่สุกใสอยู่บนฟ้าการแสดงเพียง 2 รายการ คือ มาลัยหลากสี รายการดนตรีที่โรงละครแห่งชาติ และละครเวทีเรื่อง “แม่เบี้ย” ที่โรงละครเล็กศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ


ที่ “สะใจ” เกี่ยวกับ 2 รายการนี้ก็คือ ทั้ง 2 รายการผลิตโดย 2 สะใภ้สกุล รัตนิน “มาลัยหลากสี”นั้นโดยคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (เจ้าเก่า) ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เคยเป็น “สะใภ้เขา” มาเหมือนกัน อยากให้สกุล “รัตนิน” อย่าได้ลืมภาคภูมิใจในสะใภ้ทั้งสองด้วย





มาลัยหลากสีร้อยด้วยดนตรี


ความจริงสูจิบัตรเขียนไว้ว่า เป็นรายการ “คอนเสิร์ตการกุศล” ชื่อรายการดังกล่าวก็พอจะเชื่อได้ว่าผู้ที่ตั้งชื่อจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เอง


เธอเป็นทั้งกวีภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นนักแปล อย่างที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาแล้ว เมื่อตอนที่เธอแปลเนื้อเพลงยอดอันดับของอัญชลี จงคดีกิจ “หนึ่งเดียวคนนี้” ออกเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ This lonely me


ในการสนทนาครั้งนั้น เราได้เรียนรู้ว่าการแปลเนื้อเพลงไทยออกเป็นภาษาฝรั่งนั้น มิได้หมายความเพียงการแปลให้ได้ความและรสกวีครบถ้วน หากแต่ต้องคำนึงถึงเสียงและการออกเสียงที่ต้องใช้ในการขับร้องนั้นด้วยเป็นสำคัญ ดังนั้นเนื้อเพลงที่แสนจะเรียบง่ายอย่าง “หนึ่งเดียวคนนี้” จึงกลายเป็นงานที่ต้องใช้เวลาความละเอียดอ่อนและพิถีพิถันยากที่จะนึกถึง


“มาลัยหลากสี” จึงเป็นงานที่คุณหญิงจำนงศรีร่วมมือกับเพื่อนหลายคน สร้างสรรค์ให้เป็นงานที่ใหม่แปลกและมีคุณค่าขึ้นมา แม้อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จเต็มตามความคาดหวัง...ซึ่งสูงและยากอยู่


ความปรารถนาเท่าที่เกริ่นเอาไว้ในตอนหนึ่งนั้นคือ ปรารถนาให้เพลงไทยเดิมได้มา “รับใช้ทั้งปัจจุบันและอนาคต” แม้จะไม่อาจนำมาเสนอในรูปลักษณ์เดิมได้


ดังนั้นเราจึงได้ฟังดนตรีและเพลงไทยที่ส่วนใหญ่คนไทยรู้จักกันดี นำมาเสนอเรียบเรียงใหม่ บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากล นับเป็นงานริเริ่มสร้างสรรค์เต็มตัว


ผู้ร่วมงานในครั้งนี้ย่อมเว้นที่จะกล่าวถึงเสียมิได้ก็คือ ดนู ฮันตระกูล ผู้รับผิดชอบในด้านการเรียบเรียงนำเสนอทั้งของเก่า และของใหม่ที่ยังคงมีสำเนียงเพรียกหาของเดิมอยู่ ประทักษ์ ประทีปะเสน ผู้อำนวยเพลงชื่อดังและนักดนตรีของวง “ไหมไทย” และส่วนที่ทำให้ผู้ชมทั้งหลายประหลาดใจอยู่ไม่วายก็คือ จรัล มโนเพ็ชร์ ผู้มารับทำหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นพิธีกรผู้ประกาศด้วยท่วงท่าและสำนวนภาษาที่ร้อยเรียงด้วยรสกวี


คอนเสิร์ตคืนนั้นมีของขวัญแถมให้ผู้ชมนอกไปจากดนตรีอยู่หลายอย่าง ดังเช่นเริ่มแต่เครื่องแต่งตัวของผู้แสดงและผู้ประกาศที่ปรากฏตัวบนเวที (ยกเว้นคุณหญิงจำนงศรีเอง และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้จะขึ้นมาอ่านบทกวีในตอนท้ายของรายการ) ทุกคนแต่งกายด้วยไหมไทย


นักดนตรีทุกคนใส่เสื้อชุดพระราชทานสีเลือดหมูหรือม่วงแดง ผู้อำนวยเพลงคือ ประทักษ์ และผู้ประกาศคือจรัล รวมทั้งผู้เรียบเรียงเสียงประสานคือดนู ฮันตระกูลเองนั้นใส่เสื้อแบบเดียวกัน แต่ใช้สีชมพูกลีบกุหลาบ


ชื่นตา...นำคะแนนไปก่อน



วิธีร้อยมาลัย


“มาลัยหลากสี” เป็นคอนเสิร์ตที่แบ่งออกเป็น 5 ตอน พิธีกรคือจรัล มโนเพ็ชร์ อธิบายไว้ว่า แต่ละตอนเป็นแต่ละเกลียวของมาลัย และท้ายที่สุดชื่อว่า “บทเพลงแห่งกวี” นั้นให้ถือเป็นเสมือนอุบะ ขาดเสียแล้วมาลัยก็จะไม่สมบูรณ์แบบ


รายการแต่ละตอนตั้งชื่อและบรรยายจุดหมายไว้ค่อนข้างชัดเจน เพียงแต่ว่าผลที่ออกมาไม่บรรลุเป้าหมายเสมอไป ตามปรารถนา คงไม่ใช่เพราะขาดคุณภาพ แต่ขออนุญาตออกความเห็นเป็นส่วนตัว ว่าคงจะเป็นเพราะขาดการ “แนะแนว” คือการจูงเข้าสู่มิติใหม่ของดนตรีที่ผู้ฟังส่วนใหญ่ยังไม่มีพื้นฐานเตรียมใจมารับได้เพียงพอ


ความจริง จรัล มโนเพ็ชร์ ก็ได้มีส่วนแนะนำแล้วด้วยถ้อยคำที่ไพเราะจับใจ แต่น่าจะได้เพิ่ม “วิธีการฟัง” เอาไว้ด้วย โดยไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะเป็นการหมิ่นสติปัญญาผู้ฟัง การทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่เราไม่รู้จักกันมาก่อน จำเป็นต้องมีการเกริ่นให้เข้าใจทั้งวิธีและสาระ เหมือนอย่างเวลาเราเข้าชั้นเรียนรู้จักดนตรี


บทเพลงแห่งแผ่นดิน บทเพลงสมัยนิยม บทเพลงแห่งเมืองเหนือ บทเพลงร่วมสมัย และบทเพลงแห่งกวี นั่นคือชื่อทั้ง 5 ตอนของรายการดนตรีคืนนั้น บางหัวข้ออาจฟังดูยากจะตีความเอาเองได้ น่าจะได้แนะนำเอาไว้บ้าง


บทเพลงแห่งแผ่นดินนั้น หมายถึงเพลงไทยเดิมที่คนสมัยใหม่รู้จักกันน้อยเต็มทีแล้ว จะรู้จักอยู่บ้างก็เพียงในรูปของเพลงร้องเนื้อเต็ม หรือทำนองแปลงเป็นสิ่งที่เรียกกันว่าเพลงไทยสากล ในคืนนั้นได้บรรเลงเพลงแขกเชิญเจ้า ศรีนวล ห่วงอาลัย และอีก 2-3 เพลง ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังต้องยอมรับอย่างเอียงอายว่าจำชื่อเดิมไม่ได้ แม้จะรู้จักทำนองในรูปเพลงไทยประยุกต์


วิธีที่นำเสนอคือบรรเลงด้วยเครื่องสากล เรียบเรียงเสียงใหม่ ผลที่ออกมามีอะไรใหม่ แปลกน่าสนใจอยู่อย่างเฉพาะ 2 เพลงแรก ต่อจากนั้นจะเนือยหู และขาดมนต์จูงใจให้ฟัง


ตอนที่ 2 ชื่อเพลงสมัยนิยม จรัล มโนเพ็ชร์บรรยายว่าเป็นเพลงสมัยหลังสงครามโลก และเป็นการนำเพลงไทยเข้าระดับอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้อธิบายให้ชัดเจน ทิ้งให้เข้าใจเอาเองว่า เรื่องดนตรีเรื่องเพลงกลายเป็นธุรกิจมีเงินมีทองเข้ามาเกี่ยวข้องกระมัง แต่พิธีกรได้อธิบายเพิ่มเติมว่าต้องพัฒนาวิธีสื่อบ้าง เพื่อให้รับใช้ได้ทั้งอดีตคือของเดิม ปัจจุบันคือเท่าที่จะพัฒนาได้ และที่สำคัญคืออนาคต คือให้เพลงไทยยังคงอยู่ได้ เป็นสมบัติของเราและลูกหลานรุ่นต่อไป


การแสดงตอนที่สองนี้ใช้เพลงตัวอย่างจากงานของ พรานบูรณ์ สมาน กาญจนผลิน และ สง่า อารัมภีร์ คือเพลง ขวัญเรียม วิหคเหิรลม และเมื่อวานนี้ จรัลแต่งเติมคำบรรยายของเขาด้วยการเล่าถึงคำติงของสง่า อารัมภีร์ที่ว่า “เมื่อวานนี้” เป็นของเก่าแล้ว แต่จรัลขอยืนยันว่าเรื่องของความรักนั้น ไม่ว่าชื่อเพลงจะเป็นอะไรก็ไม่มีวันล้าสมัย


“วิหคเหิรลม” เป็นเพลงที่มีชีวิตชีวาอยู่แล้ว เมื่อนำมาเรียบเรียงใหม่ เล่นด้วยเครื่องฝรั่ง ชีวิตชีวานั้นก็ยังคงอยู่ ผิดจากเพลง “ขวัญเรียม” ที่นำขลุ่ยฝรั่งมาเป่าประกอบ ย่อมไม่มีทางสร้างอารมณ์อ่อนไหวได้เท่าขลุ่ยไม้ไผ่ของไทยแท้ จะประจักษ์ข้อนี้อีกครั้งหนึ่งในตอนท้ายสุด เมื่อนำเอาขลุ่ยฝรั่งมาเป่าคลอการอ่านบทกวี “ภูหนาว” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


ตอนที่ 3 ให้ชื่อว่า “บทเพลงแห่งเมืองเหนือ” จรัล มโนเพ็ชร์เข้ามาเป็นพระเอกเต็มตัว ทั้งเป็นพิธีกรใส่เสื้อไหมไทยสีกุหลาบ วิ่งกลับเข้าไปหลังโรง ออกมาใหม่ใส่หม้อฮ่อมถือพิณเหนือ ร้องเพลงที่เขาแต่งเอง 2 เพลง คือ “อุ๊ยคำ” และ “ล่องแม่ปิง”


งานของจรัล มโนเพ็ชร์อาจจะใหม่ แต่สามารถปลุกความรับรู้ได้ที่ว่าดนตรีและเพลงของไทยนั้น มีรสสำเนียงและที่มาหลายหลาก โดยเฉพาะเพลงจากทางเหนือนั้นไพเราะ นิ่มนวล ทุกคนรู้จัก “อุ๊ยคำ”เพลงดังของจรัล เมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว ที่เขาพยายามส่งความสนใจให้แก่เพลงเหนือ ด้วยการร้องเพลงอัดเทปชุด “โฟร์คซองคำเมือง” ส่วน “ล่องแม่ปิง” อาจจะใหม่ แต่ทำนองก็ชินหูเป็นตัวแทนของดนตรีเหนือได้ดี ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน


ตอนที่ 4 “บทเพลงร่วมสมัย” นี่กระมังที่ตั้งใจเอาไว้ให้เป็นตอนเอกของงานนี้ คือดนตรีปัจจุบัน ผลงานของดนู ฮันตระกูลเอง พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือดนตรีฝรั่งหลายหลากด้วยจังหวะ การเรียบเรียงและอารมณ์ แต่ได้ใช้ความพยายามมากจริงๆ ที่จะใส่ “วิญญาณ” ที่เป็นไทยเข้าไป จึงตั้งชื่อเพลงว่าชุด “เจ้าพระยาหยาดด้าวแดนสยาม” เป็นดนตรี 6 ตอนชื่อ เจ้าพระยา กรุงเก่า พระปรางค์วัดอรุณ เห่เรือ ทุ่งแสงทอง และ บางกอก


แต่ที่นำมาเสนอในคืนนั้นมีเพียง 3 ตอน ได้แก่ เจ้าพระยา เห่เรือ ทุ่งแสงทอง หลายคนออกมาแล้วถามกันว่า “เห่เรือ” นั้นอยู่ตรงไหน นี่แหละที่ผู้เขียนได้บังอาจตั้งข้อสังเกตไว้ในตอนต้นว่า น่าจะได้มีการ “แนะแนว”กัน โดยไม่ต้องไปคิดมากว่าจะเป็นการดูหมิ่นน้ำใจหรือปัญญาคนฟัง ก็ไหนๆ ได้ตั้งใจแล้ว ว่านำมาเสนอเพื่อเป็นวิธีการที่จะให้เพลงไทยดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้


การฟังดนตรี “คลาสสิค” แบบฝรั่งนั้น ไม่ใช่ว่าพอฟังก็เข้าใจหรือรับได้ แม้ผู้ที่พร้อมอยู่แล้ว ฟังงานใหม่ก็ยังต้องรวบรวมจิตใจให้มีสมาธิ ขนาดบางทีต้องหลับหูหลับตาฟัง สารภาพให้ก็ได้ว่าในคืนนั้น ผู้เขียนไม่ได้ยินเสียง “เห่เรือ” อย่างที่ทุกคนคงหวังจะได้ยิน หากแต่ได้ยินเสียงฝีพายจ้วงน้ำดังชัดเจนทีเดียว


และก็เช่นกัน ในระหว่างที่นั่งฟัง เจ้าพระยา ก็ดี ทุ่งแสงทอง ก็ดี อดนึกภาพตามไปด้วยไม่ได้ จะเรียกว่านี่เป็นพื้นฐานจินตนาการที่ได้มาก่อนกระมัง เคยไปดูการฉายภาพยนตร์รอบตัวที่ดิสนีย์แลนด์ ซึ่งเขาถือเป็นประดิษฐกรรมใหม่ ได้ยืนอยู่ตรงกลางห้อง เพื่อรับความรู้สึกทั้งทางตาและหูว่ากำลังท่องเที่ยวไปตามแม่น้ำแยงซีเกียง และแกรนด์แคนยอน ภาพอาจจะยิ่งใหญ่มโหฬาร แต่ก็ไม่อาจสร้างความรู้สึกมโหฬารในใจได้เท่าดนตรีประกอบ


การบรรเลงของวงดนตรี “ไหมไทย” ในคืนนั้นสร้างความรู้สึกอย่างเดียวกันให้ผู้เขียน ผิดกันแต่ว่าเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่พอจะรู้จักบ้าง แต่ทุ่งแสงทองนั้นสัมผัสได้โดยไม่รู้จักเลย


เป็นอันว่าความชื่นชอบในมาลัยพวงนี้มียืดยาว จนจำใจต้องตัดเอาตอนสุดท้ายหรืออุบะ คือ “บทเพลงแห่งกวี” นั้นออกไปไว้เป็นความชื่นชมพิเศษ ที่คงจะมีโอกาสได้เขียนต่างหาก


สำหรับมาลัยเท่าที่ร้อยเอาไว้นี้ ก็อยากอ้อนวอนขอให้นำมาเสนออีก บางทีด้วยความมักน้อยหน่อยและใจเย็นๆ มากขึ้น ใส่พานมาเพียงครั้งละเกลียวเดียว ร้อยด้วยดอกไม้แต่ละอย่าง บางทีเราอาจจะไม่เพียงแต่ชื่นชม หากช่วยร้อยหรือประดิษฐ์ลวดลายให้วิจิตรขึ้นอีกด้วยซ้ำ


แม่เบี้ยของมัทนีและวาณิช และ ฯลฯ


การไปดูละครหรือฟังดนตรีของผู้เขียนมักจะไม่มีการวางแผนล่วงหน้า จะไปก็เมื่อรู้ว่ามีเวลาว่าง ซึ่งจะหมายว่าใจว่างด้วย และมีจุดหมายในการไปดูหรือฟังมากกว่า เพียงเพราะซื้อตั๋วหรือได้รับเชิญเพื่อการกุศล ฯลฯ


ไปดู “แม่เบี้ย” ด้วยเหตุผลที่หนักแน่นกว่าที่เคยก็ว่าได้ ไม่ใช่เพราะโต้โผใหญ่คือ “สะใภ้รัตนินคนที่สอง” แต่เพราะเป็น “มัทนีเจ้าเก่า” นั้นมากกว่า ติดตามกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ทั้งด้วยรักและแค้น


เพราะละครของมัทนีไม่จำเป็นจะต้องดีพร้อม หรือถูกใจไปเสียหมด มัทนีพูดอยู่เสมอว่า ละครของเธอคือการทดลอง เป็นงานปฏิบัติด้านวิชาการ เมื่อดีจะมีใครนำไปใช้ได้ก็ดี บกพร่องก็เป็นบทเรียนและหาเหตุผลแก้ไขกันต่อไป ไม่เคยมีการอวดอ้างความยิ่งใหญ่ หรือการลงทุนที่มโหฬาร


ที่สำคัญคือมัทนีพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้เรา (ผู้ชม) มีโอกาสได้มีส่วนออกความคิดเห็นอยู่เสมอ บางครั้งก็ถามบอกกันตรงหน้าเวทีหลังละครเลิกแล้วแต่ละรอบนั้นเอง ไม่เหมือนละครยิ่งใหญ่ (ซึ่งความจริงก็มีแค่ทดลองเหมือนกันนี้แหละ) ที่แตะติงไม่ได้ อยู่เหนือคำวิจารณ์ (ที่ไม่ดี) ไปเสียหมด


ยอมเสียเวลาหนึ่งบ่ายถ้วนๆ ไปดู “แม่เบี้ย” นี้ อีกหลายเหตุผลก็คือ ประการหนึ่งเป็นบทประพันธ์ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ คนเราลองมีศรัทธาก็คงจะต้องถูกวิจารณ์หนัก


เมื่อพูดถึงศรัทธาแล้วก็ต้องเลยตลอดไปถึงคนอื่น กาญจนา จินดาวัฒน์ เป็นความเชื่อมั่นที่ว่ามอบอะไรที่มีคุณค่าแล้วเธอไม่เคยทำให้ผิดหวัง แต่ศรัทธาในตัว “ป๋า” ส.อาสนจินดา นี่สิแรงมาก ดู ส.เล่นทั้งหนังและละครมาเกือบ 40 ปีได้กระมังไม่เคยประทับใจเหมือนในระยะหลังนี้เลย ส.ผ่านจากยุคพระเอกมาสู่บทแปลกๆ ที่ต้องแสดงให้ “โอเว่อร์” จนอยากจะนั่งร้องไห้เสียดายความสามารถ อาจจะเป็นเพราะ ส.เกิดมาสำหรับเล่นละครไม่ใช่ภาพยนตร์ ในระยะหลังๆ นี้ ที่ละครกลับคืนชีพนี้ ส.ดีวันดีคืนจนจะเป็นอมตะอยู่แล้ว


อ.มัทนีคงได้ช่วยสร้างนักแสดงไว้หลายคน ในละครภาคปฏิบัติการของอาจารย์ กลายเป็นผู้สร้างผู้กำกับกันไปแล้วก็มี แต่ก็ยังมีคนหนึ่งที่อาจารย์คงคิดอยู่เสมอว่า ถ้าได้เจียระไนให้ดีก็จะเป็นเพชรที่มีค่า นั่นคือ สุเชาว์ พงษ์วิไล ที่พิสูจน์ความสามารถมาตั้งแต่บทเอกใน “อันตราคณี” กว่าสิบปีมาแล้ว แต่วงการแสดงของไทยไม่เคยให้โอกาสเขามากเท่าใด หรือจะเป็นไปได้ว่า เขาจะเหมือนกับนักแสดงทั้งไทยและเทศอีกมากคน ที่ต้องมีผู้กำกับประจำตัว ไม่อย่างนั้นไม่อาจดึงเอาความสามารถออกมาได้


ใครเคยได้ดู ลิขิต เอกมงคล ในละครโทรทัศน์การกุศลเมื่อหลายปีมาแล้ว เรื่อง “รถรางสายปรารถนา” คู่กับอัมพร กีรติบุตร บทของลิขิตในเรื่องนั้นเกือบทำให้ มาร์ลอน แบรนโด เจ้าของบทเดิมต้องได้อาย จากนั้นก็ไม่ได้เห็นลิขิตโดดเด่นขึ้นมาในบทใดเลย แม้บทใน “ฉันผู้ชายนะยะ” จะออกมาคมพอสมควร ความห่างเหินต่อการเรียนรู้และรับรู้จากผู้กำกับที่มีความสามารถ อาจจะทำให้ความเข้มข้นของการแสดงของเขาอ่อนลงไปหรืออย่างไร


บทใน “แม่เบี้ย” ไม่รับกับลิขิตเท่าใดนัก ยังมีความขัดเขินในท่าทีอยู่มากตอน โดยเฉพาะจะเป็นเพราะอุบัติเหตุที่เคยได้รับหรืออะไรอื่น ที่ทำให้เขาเดิมค้อมไหล่อยู่ตลอดเวลา ให้ความรู้สึกที่ขาดความสง่าผ่าเผย และที่สำคัญในการแสดงละครนั้น “เสียงพูด” มีราคาสูงมากจะต้องฝึกกันอีกมิใช่น้อย


เรื่อง “แม่เบี้ย” ซึ่งคิดว่าผู้อ่านส่วนมากคงพอทราบเรื่องราวอยู่บ้างแล้ว ว่าเป็นการกล่าวถึงงูซึ่งสิงอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง และจะปรากฏตัวทุกครั้งที่นางเอกผู้เป็นเจ้าของบ้านหรือใครอื่นก็ตาม มีความรู้สึกในด้านอารมณ์ เคยอ่านที่ไหนแห่งหนึ่งวาณิช จรุงกิจอนันต์ ผู้ประพันธ์บอกว่า งูนี้อาจเป็นตัวแทนของความรู้สึกทางอารมณ์เพศนำมาซึ่งอันตรายและความหายนะ ดูในละครแล้วบอกได้ยากว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป อาจจะเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีก็ได้ เป็นกรรมเป็นเวร ฯลฯ


ดูละครหรือดูหนังมักจะสนุกตรงนี้แหละ ก็คือผู้ชมมีสิทธิจะตีความได้ตามที่รู้สึก หรือคล้อยตามไปกับบทและบทบาท บางทีผู้แต่งเขาก็หลอกเราเล่นให้คิดเอาเอง โดยที่เขาไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้เลยก็ได้


จะตั้งใจอย่างไรก็ตาม ละครเรื่องนี้ตัวเอกคือเจ้างูนั่น ซึ่งไม่มีโอกาสจะออกมาแสดงตัวชัดเจน ได้แต่เห็นเป็นภาพในความมืด เป็นสี เป็นแสง และเสียง ดังนั้นหากความสำเร็จในด้านการให้อารมณ์ เกิดแก่ผู้ดูได้ในเรื่องนี้...เป็นอย่างดีด้วย


ผู้เขียนก็อยากจะคิดว่าเป็นคุณงามความดีของผู้กำกับแสงและเสียง...สมพร โถปัญญา ผู้หญิงตัวเล็กๆ นั่นเอง


สำหรับฉากนั้นมีทั้งท่าน้ำ ลำคลอง และฉากเรือล่ม จะจำลองเอาน้ำขึ้นมาไว้อย่างน้อยได้เท่าฉากโทรทัศน์ก็ยังคงไม่สมจริง ละครเรื่องนี้จึงใช้ประโยชน์ของความมืด หลอกให้เรารู้สึกได้ดีพอสมควร (สำคัญตรงว่าอย่าไปนั่งแถวหน้าจนชิดเวที) ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้นใช้ฉายภาพขึ้นไปบนจอเหนือเวที เป็นจอผ้ามุ้งดูภาพลางๆ เลือนๆ พอสื่อได้


แต่ฉากที่พระเอกคือลิขิตจมน้ำตายนั้นแย่มาก


พระเอกของเราทำท่าจมน้ำก็ไม่เป็น...


หากจะนับเพียงประการนี้ ว่าเป็นความบกพร่องของละครเรื่องนี้แต่ประการเดียว ก็คงจะเป็นการวิจารณ์ที่เบาไป แต่ก็อ.มัทนีบอกแล้วว่า ละครของอาจารย์นั้นคือภาคปฏิบัติของวิชาการ


อย่างน้อยก็ทำให้ผู้เขียนจะต้องไปหา “แม่เบี้ย” ของวาณิชมาอ่านอีกสักครั้ง เผื่อจะนึกออกว่าเมื่อมาทำบทละครแล้วควรจะเป็นอย่างไรได้ดีกว่านี้


 

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page