
“วิชาตัวเบา” ซึ่งเป็นศาสตร์ล่าสุดที่ถ่ายทอดจาก คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ มิได้หมายถึงเรื่องราวกำลังลมปราณภายในตามศาสตร์ชาวจีนแต่อย่างใด หากเป็นมุมมองซึ่งกลั่นกรองถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้เขียนสู่การมองโลกในแง่ดี ที่ได้เปิดตัวไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารล็อกซ์เล่ย์ ท่ามกลางวงศาคณาญาติและเพื่อนสนิทมิตรสหายที่มาให้กำลังใจกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ผลงานภายใต้สังกัดสำนักพิมพ์อมรินทร์ชิ้นนี้ รวมเล่มจาก คอลัมน์ “เวล บีอิ้ง” ที่คุณหญิงจำนงศรีเขียน
ให้นิตยสาร “เฮลท์ แอน คูซีน” โดยได้ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ เป็นต้นคิดชื่อให้พร้อมทั้งยังร่วมเวทีเสวนาร่วมกับเจ้าภาพ รวมทั้งสาวสังคมคนเก่ง สุพรทิพย์ ช่วงรังสี ดำเนินรายการโดย ช่อผกา วริยานนท์ ที่ทำไปทำมางานเปิดตัวหนังสือ เกือบจะเป็นลานสนทนาธรรมไปเสียแล้ว
เริ่มต้นที่เจ้าของผลงานได้กล่าวถึงวิธีคิดตามแบบวิชาตัวเบาว่า คนเราจะสุข จะทุกข์ ก็เพราะความคิด
เป็นหลัก หากเรามองโลกในอีกด้านหนึ่ง ค้นหาความสุขที่อยู่ในความทุกข์ สิ่งที่อาจเคยคิดว่าไม่ดี
ก็อาจกลายเป็นสิ่งดีไป และยังแผ่กระจายไปสู่คนรอบข้างต่อไปเรื่อยๆ
“หนังสือเล่มนี้มาจากการที่ต้องเรียนรู้จากชีวิตจริง สังเกตประสบการณ์ของตัวเอง แล้วเอามาเล่าคุยเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในชีวิต สื่อมุมมองว่า ถ้าคนอ่านได้มองไปในชีวิตตัวเองแล้วจะทำอย่างไร ชีวิตอยู่ไม่นานเท่าไร จึงควรให้ความสุขแก่ตัวเอง แม้แต่ละวันสิ่งที่เราพบเจอจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็เป็นความเล็กที่ต่อเนื่องกันทุกวัน ถ้าเราให้ความสนใจจำ คิด วิเคราะห์ ก็จะได้อะไรหลายๆ อย่าง อยู่ที่ว่า
จะนำไปใช้อย่างไร ขอให้อ่านด้วยใจ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย”
คุณหญิงนักเขียนยังบอกด้วยว่า แม้กระทั่งการเป็นคน “ขี้ลืม” ก็มีข้อดี แม้คนที่มักจะขี้หลงขี้ลืมอยู่บ่อยๆ อาจจะมองว่าความขี้ลืมเป็นสิ่งไม่ดี แต่ความรู้สึกเดียวกันนี้เอง ที่จะช่วยให้เราลืมความเศร้า ลืมความ
ผิดหวัง ไม่ต้องทุกข์ใจกังวลใจ
“ดิฉันเองเคยผ่านทุกข์หนักมาก และเห็นว่าความทุกข์นั้นในที่สุดแล้ว ก็คือโชคที่จะสอนให้เรารู้ว่าการใช้ความสุขเป็นเช่นไร มนุษย์ต้องมีอุปสรรคจึงจะเกิดการเรียนรู้ ปัญหาต่างๆ ที่เคยผ่านมา ทำให้ได้สิ่งดีๆ ที่มีค่าเหลือเกิน เห็นค่าของการรู้จักที่จะปล่อยวาง ไม่ยึดติด”
ส่วนเคล็ดลับการทำตัวให้เบาของคุณหญิงรายนี้ อยู่ที่การใช้อารมณ์ขันในการมองโลก
“เมื่อเรามันก็หนักอยู่แล้ว เราจะมองโลก ทำใจให้มันเบาขึ้น ทำตัวไม่ให้หนัก เริ่มมองว่า
จะดึงอะไรที่หนัก แล้วทำอย่างไรให้หัวเราะขำกับมันได้ หามุมมองมาจัดการกับมัน จนเป็นครูให้เรา
วิชาตัวเบามาจากความตัวหนักของเรานั่นเอง แม้แต่ดิฉันเองก็นอตหลุดบ่อยๆ คนใกล้ตัวจะทราบดี อย่างเวลาเราดูการ์ตูน ที่เขาเหยียบเปลือกกล้วยแล้วล้ม คนก็จะมานั่งหัวเราะการ์ตูนที่มันเป็นความผิดพลาดของคนอื่นได้ แล้วทำไมเราจะหัวเราะความผิดพลาดของตัวเองไม่ได้ ”
ถ้าคลายความยึดติด มองสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเป็นดั่งเหรียญ ที่ความสุข ความทุกข์ห่างกันเพียงคนละด้าน พร้อมท่องไว้เพียงว่า “โลกไม่ใช่ของเรา” เท่านั้น ตัวคนเราคงเบาขึ้นไม่น้อย
จาก : คอลัมน์ ไลฟ์สไตล์ ส่วนบันเทิง หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2546