ผู้คนที่รู้จักหรือผู้ติดตามงานเขียนของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์ อาจสังเกตได้ว่า คุณหญิงจำนงศรีนั้นเป็นผู้ที่มีข้อสงสัยใคร่รู้ เกี่ยวกับความตายมาช้านาน พยายามทำความรู้จักกับความตายในแง่มุมต่างๆ เมื่อสบโอกาส ท้ายสุด เธอได้จูงมือความตายสู่พื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
คุณหญิงจำนงศรี ก่อตั้ง "ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม" และร่วมก่อตั้ง "เรือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อจัดการดูแลชีวิตระยะสุดท้ายที่บ้าน(Home Palliative Care)" การเปิดตัวแนะนำให้สังคมรู้จัก ชีวามิตร ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจ แต่นั่นได้จุดประกาย และกระตุ้นความสนใจเรื่องของความตาย การตายดี ตายสงบในกลุ่มชนชั้นกลาง นักธุรกิจ นักลงทุนในพื้นที่ใหม่ ไม่ใช่งานเขียนส่วนตัว ประเด็นการตายดี ตายสงบถูกยกขึ้นมานำเสนออย่างน่าสนใจผ่านวิดีทัศน์และการขยายความเข้าใจในท่วงทำนองชวนคุยโดยคุณหญิงจำนงศรีบนเวทีในห้องประชุมตลาดหลักทรัพย์
นั่นเป็นการแนะนำความตายแบบชวนคนอื่นมาลงทุนซื้อหุ้น(แบบไม่มีผลตอบแทน) ในกิจการเพื่อการโปรโมทความตายอย่างสงบสู่สังคม จุดประกายการลงทุนแบบฉีกตำราและกฏเกณฑ์การลงทุนในหุ้นอย่างสิ้นเชิง แต่ผลกลับเป็นว่า มีผู้ร่วมลงหุ้นในชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ทั้งที่ไม่มีผลกำไรจากส่วนต่างราคา และไม่มีปันผลกำไรอย่างที่น่าจะเป็นปรากฎการณ์ประหลาด หากมีการวิเคราะห์พฤติกรรมการลงทุน เพราะอะไร? บางคนบอกว่า เพราะก่อนเป็นนักลงทุน เราต่างเป็นมนุษย์และยังเป็นมนุษย์
ชีวามิตร ได้ริเริ่มและดำเนินกิจกรรมการสื่อสารกับสังคมให้ความรู้เรื่องการเตรียมตัวตายอย่างสงบและพินัยกรรมชีวิตในยุคแรก สร้างเครือข่ายกับองค์ต่างๆ, สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) และสื่อมวลชน เพื่อสื่อสารความรู้ ความเข้าใจสู่สังคมในเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างสงบ หรือเรียกสั้นๆว่า "การตายดี" อย่างต่อเนื่อง ทำให้เรื่องพินัยกรรมชีวิตเป็นที่รับรู้และเกิดความเข้าใจในสังคมกว้างขึ้น โดยคุณหญิงจำนงศรีได้ทำพินัยกรรมชีวิตและนำมาเป็นตัวอย่าง นำเสนอสู่สาธารณะผ่านการสื่อสารช่องทางต่างๆ
ความเข้าใจและการเห็นความสำคัญของตายดี ทำให้เกิดการ Exerciseใช้สิทธิแสดงเจตนาความต้องการรับการดูแลแบบประคับประคองในช่วงชีวิตระยะสุดท้าย ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในพรบ.สุขภาพแห่งชาติ
เรื่องราวที่กล่าวข้างต้น ที่จริงเป็นบทท้ายๆ ของขั้นตอนการพาความตายสู่สังคมสาธารณะ
ก่อนหน้านี้คุณหญิงจำนงศรี ได้จัดกิจกรรมการเตรียมตัว เผชิญความตายอย่างสงบโดยนิมนต์พระไพศาลวิสาโล เป็นวิทยากรหลัก เริ่มจากคนกลุ่มเล็กที่เข้าร่วมการจัดอบรมการเตรียมตัวตายอย่างสงบที่บ้านน้ำสาน จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี๒๕๕๐ และคนกลุมเล็กๆ ก็ขยายตัวตามจำนวนการจัดที่ต่อเนื่องมา๑๐ กว่าปี จนถึงช่วงไวรัสโควิดระบาด

(อาจารย์ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ท่านติช นัท ฮันห์ และคุณหญิงจำนงศรี)
โดยพื้นฐาน คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เป็นผู้มีความสนใจและรับความรู้จากการปฏิบัติแนวอานาปานสติกับท่านพุทธทาสภิกขุและคุณรัญจวน อินทรกำแหงตั้งแต่ ๓๐ ปีก่อน ตลอดจนได้ศึกษาสนทนากับท่าน ติช นัท ฮันท์ ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม ชุมชนศาสนิกชนแนวพุทธศาสนามหายาน, การสนทนากับพระชยสาโร ซึ่งเป็นพระชาวอังกฤษศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดป่านานาชาติหนองป่าพง ที่นำมาสู่ การจัดกิจกรรมมรณสติร่วมกับพระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโตที่บ้านน้ำสาน บ้านพักส่วนตัวที่เชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมจากกลุ่มชนชั้นกลาง ชนชั้นนำทางธุรกิจ นักวิชาชีพทางการแพทย์พยาบาล ปัญญาชน นักเขียน รวมถึงสื่อมวลชนและชาวบ้านในพื้นที่

สนทนาธรรรมที่บ้านน้ำสาน เชียงใหม่
มองเรื่องราวของคุณหญิงจำนงศรี โดยมองผ่านมุมมองแนวคิดทุนวัฒนธรรมกับการเคลื่อนไหวทางสังคม กล่าวได้ว่า เป็นการใช้องค์ความรู้ทางศาสนาพุทธในฐานะทุนวัฒนธรรมเดิม นำมาประยุกต์และสร้างทุนวัฒนธรรมแบบใหม่ คือการผสานองค์ความรู้ของศาสนาธรรมหลากแนว ทั้งเถรวาท มหายาน วัชรยานแบบธิเบต และเซน ใช้เพื่อการสื่อสารกับสังคมผ่านทั้งกิจกรรมการฝึกอบรมและการถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจ โดยพระไพศาล วิสาโล ในกิจกรรมการเตรียมตัวตายอย่างสงบ ซึ่งคุณหญิงจำนงศรี มีความสนใจและได้รับคำแนะนำจากพระชยสาโร นับจากการสนทนาเรื่องสถานบริบาลชีวิตระยะสุดท้าย
(Hospice) ควรเกิดขึ้นในประเทศไทยและแนะนำให้ปรึกษากับพระไพศาล วิสาโล
จากพื้นฐานที่คุณหญิงจำนงศรีเป็นกวี นักเขียนและนักกิจกรรมสังคมตามแนวทางพุทธปรัชญาและมนุษยนิยม จึงมีงานในหลายมิติ และรูปแบบ ทั้งกิจกรรมเพื่อสนับสนุนสร้างความเข้มแข็ง( Empowerment) กับกลุ่มคนในท้องถิ่นที่ไม่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชนหญิง ,การสนับสนุนกลุ่มผู้หญิง เช่น โครงการช่วยเหลือกลุ่มสตรีและเยาวชนในภาคเหนือ
งานส่วนของการสื่อสารความคิด จากแง่มุมที่เธอมองชีวิตอย่างมีพัฒนาการตามช่วงอายุ ผ่านสื่อและผลงานที่มีเนื้อหาด้านพุทธปรัชญาที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย หลายรุปแบบทั้งบทกวี งานเขียนร้อยแก้ว นิทานเด็ก งานเชิงประวัติศาสตร์สังคมเศรษฐกิจอย่างดุงนาวากลางมหาสมุทร ซึ่งปัญญาชนคนสำคัญอย่าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวนำในงานชิ้นนี้ ว่า “หนังสือเล่มนี้อ่านเพลินแม้แต่คนที่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ของจีนในไทยเพราะหนังสือเล่มนี้ตั้งใจเขียนให้ไพเราะและภาษาที่ไพเราะนั้นขับความดื่มด่ำให้แก่การอ่านของทุกคน”
ในส่วนของความตายนั้น นำไปสู่การก่อตั้งชีวามิตรและ ร่วมก่อตั้ง เรือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อช่วยในคำปรึกษาและจัดการดูแลระยะสุดท้ายที่บ้าน( Home Based Hospice care) , สร้างเครือข่าย เพื่อสื่อสารความรู้ ความเข้าใจสู่สังคมในเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างสงบ
ในแง่การศึกษาเชิงสังคมวัฒนธรรม คุณหญิงจำนงศรีอยู่ในฐานะทุนวัฒนธรรมในตนเองและใช้ทุนความรู้และศักยภาพภายในตัวตน สู่การสร้างปฏิบัติการทางสังคม(Social Practices) ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการขยับ ขับเคลื่อนความคิดเรื่องมรณสติและการเตรียมตัวตายอย่างสงบในช่วงปีพศ.๒๕๕๐ ต่อเนื่องมา จนถึงการเป็นผู้ก่อตั้งชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม(Civil society )ที่ร่วมขับเคลื่อนแนวคิดพินัยกรรมชีวิต

คุณหญิงจำนงศรี บรรยายใน Family Workshop คุยกันวันนี้ดีที่สุด กับชีวามิตร
(ภาพจาก https://cheevamitr.com/activity/family-workshop-best-talk-today)
การจัดกิจกรรมอบรมในกลุ่มนักวิชาชีพแพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ นักเขียน และชนชั้นกลางที่บ้านพักทีใน จ.เชียงใหม่ต่อเนื่องกว่าสิบปี ตลอดจน กิจกรรรมการบรรยายและรับเชิญในเวทีสาธารณะต่างๆ นับเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเคลื่อนไหวทางสังคม(Social Movement ) ของกลุ่มที่มีแนวคิดคล้ายกัน เช่น กลุ่มศาสนาเพื่อสังคม ,กลุ่มเผชิญความตายอย่างสงบของพระไพศาลวิสาโลและกลุ่มพุทธิกา
ผลจากความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างเป็นธรรมชาติตามความสนใจของบุคคล และองค์กรที่ต่างคนต่างทำ เป็นเหมือนสายน้ำสายย่อยๆ ที่รินไหลมาบรรจบรวม สะสมเชิงปริมาณกลายเป็นกระแสธารความคิดใหญ่ มีพลังในระดับที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของความหมายของความตายในสังคมไทยในที่สุด
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ หากมองตามทฤษฎีการพัฒนาทางสังคม
การพูดถึงการเตรียมตัวตาย และความตาย เป็นเรื่องพูดกันได้ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเดิม ความตายและคำว่า "ตาย" นับเป็นอวมงคล ตามวัฒนธรรมความเชื่อและ”ถือ”ของคนไทยส่วนใหญ่มาช้านาน ทั้งที่โดยแก่นสารของหลักพุทธธรรม การระลึกถึงความตายเสมอนับเป็นการพัฒนาจิตปัญญา อันเป็นเป้าหมายของชาวพุทธ ดังพุทธพจน์สุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน ที่กล่าวแก่สงฆ์สาวก ที่ว่า ท่านทั้งหลายจงถึงความไม่ประมาท( ต่อความตาย)ด้วยกันทั้งสิ้นเถิด
ในช่วงทศวรรษจาก พ.ศ.2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ.2565/ค.ศ.2022) กิจกรรมและการพูดคุยเรื่องความตาย และการเตรียมตัวตายในกลุ่มเล็กเฉพาะกลุ่ม ยกระดับสู่การพูดคุยเรื่องความตายในที่สาธารณะ(Social Space ) ตลอดจนการทำให้พินัยกรรมชีวิตกลายเป็นวาระทางสังคม จนเกิดการExcercise หรือปฏิบัติการใช้สิทธิของบุคคลตามที่กฎหมายรองรับการแสดงเจตนาบุคคล ตามมาตรา๑๒ ของพรบ.สุขภาพแห่งชาติ ที่มีผู้คิดสร้างคำให้เรียกกันเข้าใจโดยง่ายกว่าว่า "พินัยกรรมชีวิต"
จนปัจจุบัน “ความตาย เตรียมตัวตาย ตายดี ตายสงบ” เป็นเรื่องที่คนไทยกลุ่มใหญ่ อย่างน้อยชนชั้นกลางทั่วไปสนใจ รับรู้ เข้าใจ เห็นความสำคัญจนนำมาปฏิบัติใช้เป็นการจัดการชีวิตทำพินัยกรรมชีวิตเพื่อกำหนดชีวิตตนเองในช่วงสุดท้ายของชีวิต เรื่องของมรณสติและพินัยกรรมชีวิตได้ขยายวงสู่สังคมวงกว้างขึ้นตามลำดับจากกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองใหญ่สู่คนกลุ่มที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะการสื่อสารเข้าถึงประชาชนในระดับท้องถิ่นได้รับรู้ และเห็นความสำคัญของการทำพินัยกรรมชีวิต

(พระไพศาลวิสาโล(นั่งกลาง) และผู้เข้าร่วมคอร์สเผชิญความตายอย่างสงบ ที่บ้านน้ำสาน)
คุณหญิงจำนงศรี เคยกล่าวยอมรับว่า ทั้งที่เคยคิดและประกาศว่า ฉันไม่กลัวตาย แต่จู่ๆ วันหนึ่ง กลับพบว่าใน จิตใจลึกๆ นั้นมีความกลัวตาย ซึ่งปรากฏพยานหลักฐานเป็นความฝัน โดยเธอเล่าถึงความฝันหนึ่งที่สะท้อนถึงความกลัวตายในส่วนลึก( โปรดอ่าน ความกลัวตาย ในหนังสือ "เข็นครกลงเขา" )ดังที่เขียนในสำนวนของเธอว่า “ไม่อาย ไม่วางฟอร์ม” เพื่อให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย สำหรับผู้เขียนเห็นว่า ในรูปและนามของสิ่งสมมุติที่เรียกว่า “จำนงศรี” ตัวเธอเองก็เป็นผู้หนึ่งที่จัดการพินัยกรรมชีวิตอย่างครบองค์รวม จนถึงการจัดการร่าง สื่อถึงพุทธปรัชญา ความเข้าใจความตายจากสภาวะทางจิตปัญญาในใจตน มิใช่เหตุผลหรือเป็นพุทธธรรมที่ติดริมฝีปาก แต่เป็นสิ่งที่อยู่ข้างในตัว
พินัยกรรมชีวิตและเจตนาในการจัดการร่างของเธอนั้น แสดงออกถึง ธรรมะในใจ เป็นดั่งการปลูกต้นไม้จิตปัญญาในสวนพระพุทธเจ้า ฝากเป็นมรดกทางพุทธะปัญญาที่สะท้อนคำกล่าวของพุทธองค์ถึง คุณสมบัติของความเป็นคนที่สำคัญคือ การเป็นผู้ที่ฝึกตนเองได้และเข้าถึงสภาวะพุทธะได้
ดังที่ พระไพศาล วิสาโล กล่าวถึง ความตายและความกลัวตายกับกฏแห่งสัจธรรมของโลก ว่า “กฎไตรลักษณ์ ( ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ) คือสัจธรรมที่ไม่มีใครหลีกพ้น ถ้าเข้าใจได้ ก็จะไม่กลัวตาย พ้นจากความตาย หรือเกิดแก่เจ็บตายได้ด้วยซ้ำ เมื่อเข้าใจลึกซึ้ง มันมีแต่ความตาย แต่ไม่มีผู้ตาย และเมื่อเข้าใจอนัตตา ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่มีสัตว์หรือบุคคล เอาเข้าจริงแล้ว มันไม่มีความตาย มีแต่การเปลี่ยนสภาพ และความตายเป็นสิ่งสมมติที่เรียกการเปลี่ยนสภาพ อีกทั้งถ้าเข้าใจระดับปรมัตร ก็จะเห็นว่าไม่มีทั้งความตายและผู้ตาย”