จากรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส
ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน
ภาพของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
ณัฏฐา : คุณผู้ชมคะ เมื่อพูดถึงคำว่า ผู้สูงอายุ ขณะนี้สังคมไทยอาจจะรู้สึกกังวลนะคะ เพราะว่าเราได้รับการบอกเล่าว่า สังคมคมไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงวัย อีกไม่เกินสี่ปีข้างหน้าแล้วนะคะที่สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหานี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยที่กำลังเผชิญ กลายเป็นสังคมโลกที่ผู้คนจำนวนหนึ่งบนโลกนี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นผู้สูงอายุ แต่เมื่อพูดถึงคำนี้จะต้องกังวล จะต้องวิตก หรือควรที่จะทำใจ ให้เข้าใจเดินหน้ารับมือกับความเป็นผู้สูงอายุอย่างไร และโดยเฉพาะคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ควรที่จะปรับตัว เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับญาติหรือว่าผู้สูงอายุในครอบครัวอย่างไร เพื่อที่จะให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากที่สุด วันนี้ดิชั้นจะคุยกับผู้ที่บอกตัวเองว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขมากๆ คนนึงนะคะ
คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ท่านเป็น นักเขียน นักบรรยาย เพื่อที่จะสร้างกำลังใจ โดยเฉพาะการรับมือกับความตายอย่างเต็มไปด้วยสติค่ะ
ณัฏฐา : สวัสดีค่ะคุณหญิงจำนงศรีคะ ขออนุญาตเรียกป้าศรีนะคะ จำได้ว่าเจอป้าศรีเมื่อปีที่แล้ว ป้าศรีย้ำเลยว่าให้เรียกว่าป้า แล้วบอกด้วยว่าป้าอายุ 75 ปีแล้ว เป็นธรรมเนียมเลยรึเปล่าคะ ว่าเวลาเจอใครๆ จะบอกอายุไว้ก่อนเลย
ป้าศรี : ไม่ถึงกับเป็นธรรมเนียมนะคะ แต่เป็นนิสัยที่จะบอกค่ะ
ณัฏฐา : ทำไมถึงรู้สึกว่า บอกไปเลยล่ะคะ
ป้าศรี : ก็เขาจะได้รู้ว่า เขากำลังคุยกับคนที่อยู่ตรงไหนของชีวิตนะคะ อีกอย่างนึงที่สำคัญมากคือเตือนตัวเองคือ เตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ณัฏฐา : วันนี้ในวัย 76 ปีแล้วนะคะ เมื่อสักครู่ป้าศรีบอกว่า ไม่วางแผน ไม่ต้องวางเป้าหมายอะไรเลย แต่ละวัน มีความสุขกับชีวิตในแต่ละวัน ตื่นมาไม่ต้องเครียดเลยว่า วันนี้จะทำอะไร จะไปเจอใคร ร่างกายจะปวดมากมั้ย ไม่คิดเลย
ป้าศรี : ก็มันก็เป็นวันๆ ไปเรื่อยๆ นะคะ อะไรจะเกิด มันก็เกิดน่ะค่ะ จะทำอะไรก็วาง อย่างเช่นวันนี้มีนัดจะมาที่นี่ ก็มาค่ะ
ญัฏฐา : แล้วรู้สึกว่าพอ ไม่ต้องนึก มีความสุขมากกว่าหรือเปล่าคะ พอไม่ต้องคิดว่าวันนี้จะต้องเป็นแบบนี้ ต้องทำอะไรให้สำเร็จอย่างที่วางไว้
ป้าศรี : ที่ว่าเป็นสุข มัน 'เป็นสุข' มากกว่ามีความสุข 'เป็นสุข' คือสบายๆ ไปเรื่อยๆ เป็นพื้นนะคะ มันก็มีเรื่องกังวล ทำไมจะไม่มี แต่ถ้ามีพื้นที่เป็นสุขอยู่ ไอ้ความกังวล มันก็ส่วนของความกังวล พื้นของมันๆ ก็โอเค
ณัฏฐา : สำหรับคุณผู้ชมจำนวนนึง อาจจะยังไม่ทราบความเป็นมาของคุณป้าศรีนะคะว่า ป้าศรีแต่งงานครั้งที่สองในวัย 57 ปี ช่วงนั้นลองเล่าย้อนให้ฟังหน่อยนะคะ ตอนแต่งครั้งที่สอง อายุ 57 ปี ก็ถือว่าไม่น้อยแล้วนะคะ ตอนนั้นต้องต่อสู้กับเสียงของสังคมรอบข้าง เสียงของข้างในตัวเองบ้างมั้ยคะ
ป้าศรี : เสียงของจากข้างในตัวเองเนี่ย แน่นอนค่ะคือตั้งคำถามนะคะว่า เอ๊ะนี่เรา ควรมั้ยเนี่ย นะคะ แต่ในมุมกลับ ผู้ที่เราแต่งงานด้วย ดีมากนะคะที่ตัดสินใจแต่งงานกับเขา คือ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ คือเขาเป็นคนที่สบายๆ ทำงานเยอะมากแบบสบายๆ เนี่ยค่ะ เรียกว่าคนที่มีพื้น ที่เป็นสุข
ณัฏฐา : แล้วการใช้ชีวิตคู่ครั้งที่สองเมื่อเริ่มต้น ในวัย 57 ปี ป้าศรีบอกว่าสบายๆ มากขึ้น แต่ว่าการปรับตัวเข้ากับสังคมในช่วงเวลานั้น ไปไหนแล้วคนมอง คนถาม
ป้าศรี : ไม่ต้องปรับค่ะ เพราะว่าคนถามก็มี กลายเป็นแบบให้สัมภาษณ์ ก็ให้ไป ตามวิสัยของช่วงนั้นๆ ตอนนี้ถ้าให้สัมภาษณ์อีก มันก็คงไม่ตรงกับสมัยนั้นนะคะ ก็ไปเรื่อยๆ ไม่มีปัญหาอะไรมาก คือลูกๆ ก็ตั้งคำถามเหมือนกันตอนแม่ตัดสินใจ แต่พอไปรู้จัก อ. ชิงชัย เราก็จัดทริปกันไป ให้ไปอยู่ด้วยกัน 3-4 วัน แล้วกลับมาเขาก็โล่งอก
ณัฏฐา : รู้สึกว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัย 57 ปีไหมคะ สำหรับใครหลายๆ คนในวัย 57 ปี อาจจะรู้สึกว่า คนเริ่มบอกว่าชั้นแก่แล้ว ชั้นเริ่มสูงอายุแล้ว แต่ป้าศรีเหมือนกับจะเริ่มชีวิตครอบครัวอีกครั้งในวัย 57 ปี
ป้าศรี : มันคงเป็นชีวิตคู่มากกว่านะคะ คือลูกๆ แต่งงานหมดแล้ว ก็เหลือเราแค่สองคน ป้าว่า มันก็สนุกดีนะคะ ตอนแรกๆ ก็สนุกดี แล้วต่อๆไป มันก็สบายขึ้นๆ น่ะค่ะ แล้วสนุกกับสบายมันก็ต่างกันนะคะ
ณัฏฐา : ที่สบายขึ้นๆ คือในแง่ว่าผ่านโลกมาแล้วระดับนึง ยอมรับมากขึ้น
ป้าศรี : แม้กระทั่งใน 20 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ด้วยกันเนี่ย 19 ปี มันต้องมีการต้องปรับตัว ป้าเองก็เรียนรู้เยอะเรียนรู้ที่สุดว่าไอ้การปรับตัวเนี่ยคือตรงไหน คือจะไปบังคับให้เขาลดความอ้วน แล้วจะโกรธที่เขากิน อะไรต่ออะไรเนี่ย เสร็จแล้วมันไม่สุขทั้งเรา ทั้งเขาค่ะ มันไม่ดีค่ะ เราก็รู้ถึงความไม่ดีของมัน เราก็เรียนรู้จากมัน เดี๋ยวนี้ก็ช่างเขา คือไม่ต้องไปบังคับกันเพียงแต่คอยดูให้กินยา คือถ้าจะไปบังคับนี่ ก็แค่สะกิดๆ มันไปของมันเองค่ะ
ณัฏฐา : นอกจากชีวิตส่วนตัวในด้านน่ารักๆ แล้ว ที่ได้ใช้ชีวิตคู่เริ่มต้นครั้งที่สอง ตอนนี้ป้าศรีหันมาเขียนหนังสือหรือว่าพยายามที่จะกระตุ้นคนให้รับมือกับความสูงวัยอย่างมีสติ
ป้าศรี : อันที่จริงป้าไม่ได้เขียนหนังสือเพื่ออะไรนะคะ อย่างเช่นหนังสือที่วางตลาดอยู่ตอนนี้ เข็นครกตัวเบา ก็เป็นการรวมเล่มของงานเก่าๆ กับงานใหม่นิดหน่อย คือจริงๆ แล้ว เขียนเป็นการเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเล่ามากกว่า มาเล่าโดยมีมุมวิเคราะห์ มุมอารมณ์ขัน มุมมอง คิดขึ้นมาได้ จากประสบการณ์นี้เราคิดอะไรขึ้นมา เหมือนกับมาแชร์กับคนอ่านมากกว่านะคะ ไม่ได้คิดจะสอนใคร
ณัฏฐา : ที่จริงป้าศรีนี่เป็นนักเขียนมาอย่างต่อเนื่องเลยนะคะ ในวัยนี้รู้สึกว่า พลังในเชิงความคิด การจดจำการร้อยเรียงถ้อยคำต่างๆ ลดลงไปบ้างไหมคะ
ป้าศรี : ความจำน่ะค่ะ ไปหมดแล้วค่ะ ไปแล้ว เจอะคุณณัฏฐายังจำไม่ได้เลย ว่าเคยเจอ จนกระทั่งคุณณัฏฐาเตือน ใครที่เจอคุณณัฏฐานี่ เขาก็ไม่ลืม ป้าก็อุตส่าห์ลืมจนได้ คือป้าลืมเยอะค่ะ ลืมเยอะมาก
ณัฏฐา : แต่ว่าการลืมอาจจะช่วยอะไรบางอย่างไหมคะ
ป้าศรี : สบายดี จะอะไรกันนักหนา ยังไงมันก็จะตายอยู่แล้วค่ะ มันคงอีกไม่นานนักหรอก สบายดีนะคะ สบายดีตรงที่เรารู้ว่า มันเหลืออีกไม่เยอะแล้ว เพราะฉะนั้นทุกวันมีความหมายมากนะ คือยิ่งแก่ยิ่งรู้สึกขอบคุณชีวิตที่นำสารพัดอย่างมาให้ ให้ประสบการณ์ ป้าเคยผ่านร้อนหนาวมาเยอะนะคะ ทุกข์ก็ทุกข์เยอะมาก ทุกข์จนด้นไปอยู่กับอาจารย์พุทธทาสตั้งสามเดือน ซึ่งจริงๆ มันเป็นทุกข์ที่ดีมากเลย เพราะมันพลิกชีวิตเราเลย
ณัฏฐา : พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมคะ ว่าความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสตอนนั้นคืออะไรคะ
ป้าศรี : คือป้าขอไม่เล่ารายละเอียดนะคะ เพราะว่ามันก็ไม่มีความสำคัญแล้ว แต่ว่าไอ้ตัวความสำคัญอยู่ที่ว่า ทุกข์มันเป็นอย่างไร ความคิด ความกังวล ความโกรธ ความอยาก ความกลัวมันวนกันยังไง อันนี้น่าสนใจมาก ถ้าไม่ทุกข์ถึงขนาดนั้นไม่เห็นค่ะ ไม่เห็นว่ามันวนอยู่ในตัวเราเหมือนเครื่องซักผ้า ที่ผ้าสกปรกๆ มันตีกันอยู่ในนั้น แล้วเราก็รู้ว่า เฮ้ย มันเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ แต่จะออกจากมันยังไง ป้าไปที่สวนโมกข์ คือเราไปเข้าอบรม 6 ครั้งแล้วตัดสินใจไปอยู่เลย อยู่กับผ้านุ่งไม่กี่ผืน เสื้อสีขาว 3-4 ตัวเท่านั้นเองนะคะ มันมหัศจรรย์นะคะ 3 เดือนคือที่ป้าหัดอยู่วันต่อวัน ก็เพราะที่สวนโมกข์ คือที่สวนโมกข์มีท่านอาจารย์ดีคือ ทั้งท่านพุทธทาสและท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ท่านบอกว่า อย่าบอกว่าจะอยู่อีกกี่วัน อยู่วันต่อวัน จนกระทั่งถึงวันที่จะไม่อยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้นป้าหัดอยู่วันต่อวันตั้งแต่วันนั้น ไม่คิดถึงพรุ่งนี้ ไม่ตั้งเป้าว่าจะอยู่กี่วัน ปรากฏอยู่ถึงสามเดือนโดยวันต่อวันนะคะ จนกระทั่งต้องกลับมาเพราะว่าลูกสาวบอกว่าต้องกลับมาช่วย เขาจะไปปริญญาโทค่ะ
ณัฏฐา : ต่างกันยังไงคะ ระหว่างก่อนหน้าที่จะไปกับพอไปอยู่แล้ว บอกว่าฝึกเลยว่าต้องอยู่วันต่อวัน ใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน
ป้าศรี : มันดีมากเลยค่ะเพราะวันต่อวันนี่เราไม่คิดถึงอนาคต เราอยู่กับความรู้สึกขอบคุณที่มันมีวันนี้ คือป้าเป็นคนชอบเดินป่านะคะ ที่สวนโมกข์บางทีป้าก็ออกไปเดินป่า มันก็รู้สึกชื่นอกชื่นใจกับต้นไม้ ใบหญ้า เราจะสังเกตตัวสัตว์ ตัวแมลง มีเวลาที่จะสังเกต มันอยู่กับปัจจุบันน่ะค่ะ แล้วมันรู้สึกขอบคุณที่มีทุกสิ่งทุกอย่างให้เราเห็น ให้เราเรียนรู้ คือเราเห็นนกร้องเพลงเพราะเชียว เราฟังมันด้วยความขอบคุณมัน คือเราเห็นทุกวันมันสดชื่นค่ะ
ณัฏฐา : การปฏิบัติหมายความว่าพอหลุดจากความทุกข์ได้ไปสัมผัสจริงๆ อยู่กับธรรมชาติ แบบวันต่อวัน จริงๆ ก็คือหัวใจส่วนนึงของความเป็นพระพุทธศาสนาอยู่กับหลักธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งด้วยหรือเปล่าคะที่อยากบอกกับผู้สูงอายุ หรือน่าจะเป็นคนทุกคนเลย นั่นจะทำให้มีความสุข
ป้าศรี : คือคิดว่า 'ตัวฉัน' น่ะไม่สำคัญอะไรหรอก แค่นี้แหละค่ะก็มีความสุขแล้ว ท่านสอนอนัตตาค่ะ ปัญหาของฉันมันจะใหญ่มาก ต่อเมื่อตัวกูมันใหญ่มาก สำคัญมากกับตัวฉัน ป้าก็ยังเป็นค่ะ ไม่ใช่วิเศษ ก็หลุดเข้าไปบ้าง แต่ว่ามันมีสติที่จะถอยออกมา ไม่ได้วิเศษอะไร
ณัฏฐา : เป็นเรื่องที่ยังต้องฝึกอยู่ทุกวันใช่มั้ยคะ
ป้าศรี : มันไม่ได้เกี่ยวกับฝึกหรือไม่ฝึก มันรู้ตัวอยู่ก็โอเค ชีวิตช่วงนั้น มันอยู่สี่สิบปลายห้าสิบต้นนะคะ สี่สิบนี่ทุกข์มาก มันมีแต่จะเอาน่ะค่ะ เกียรติยศ ชื่อเสียงสารพัด ความรัก ความอะไร มันเยอะไปหมด มันเป็นช่วงที่แย่ที่สุด แล้วเมื่อมาอยู่ที่สวนโมกข์ เมื่อเห็นว่าวงจรของชีวิต มันก็แค่ 'แสวงสุข หนีทุกข์' กันอยู่ทุกคน แล้วมันก็ต้องตาย แล้วเราก็คือส่วนหนึ่งของทุกอย่างนะคะ ป้าอยู่กับสัตว์เยอะมาก หมา แมว ตุ๊กแก แมงมุม และทางใต้นี่ทุกอย่างใหญ่หมดนะคะ แมงป่องช้างนี่น่าดูเลย เราไปโดนเข้านี่ เราตายเลย มันหมิ่นเหม่ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นไอ้ความสำคัญของตัวกู มันจะแค่ไหนเชียว
ณัฏฐา : ตอนนั้นป้าศรีเล่าว่าอายุประมาณ 40-50 ตอนนี้ 76 ก็น่าจะผ่านไปกว่า 20 ปีแล้วนะคะ
ป้าศรี : ค่ะ หลังจากนั้นป้าไปอยู่อีสานอีกสามเดือนนะ ไปปฏิบัติต่อ เพราะอาจารย์รัญจวนบอกว่าอย่ายึดสำนัก ให้อยู่กับแค่ปัจจุบัน ให้รู้ว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง มันขาดดุลยภาพ คือมันต้องรักษาดุลยภาพอยู่ตลอดเวลา จริงๆ แล้วทุกอย่างมันเป็นกระบวนการไปหมด อยู่แค่นี้ค่ะ ไปอยู่ที่ไหนก็ได้
ณัฏฐา : ทุกวันนี้ในวัย 76 ปี ป้าศรียังพูดถึงตัวเลขอายุได้แบบสบายๆ มีอารมณ์ขันด้วยนะคะ แล้วที่คนบอกว่าอายุเป็นแค่ตัวเลข ไม่ใช่แล้วสิคะ
ป้าศรี : แล้วตัวเลขในบัญชีธนาคารสำคัญไหมคะ ตัวเลขอายุ 76 นี่ มันเหลืออีกไม่มาก อายุขัย เพราะฉะนั้นแต่ละวัน มีความหมายมากเลย ที่จะใช้ให้ดีที่สุดกับตัวเอง กับโลก เราขอบคุณโลกจริงๆ เงินในธนาคารเหลือแค่ไหน ใช้ยังไง ให้มีผลที่ดีที่สุดกับตัวเองกับคนอื่น และก็เป็นความมั่นคงใดๆ ด้วย เพราะฉะนั้นแค่ตัวเลขนี่ มันอาจจะไม่ใช่แค่ มันอยู่ที่เราคิดยังไงกับมันใช่ไหมคะ
ณัฏฐา : ทำยังไงให้มีความสุขที่สุดกับตัวเลขที่แต่ละคนมี
ป้าศรี : และไม่ใช่สุขของตัวเองเท่านั้น เพราะแค่สุขแค่ของตัวเอง ไม่สุขจริงนะคะ เพราะว่าพอแก่ลง เราเข้าใจแล้วว่ามนุษย์หรือทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดมาในโลกนี้เพื่อดุลยภาพ เพื่อความสุข เพื่อให้โลกดีขึ้น เพื่อให้โลกมันทรงอยู่อย่างมีดุลยภาพค่ะ ทีนี้ อย่างเรื่องน้ำนี่ เราจะเห็นได้ชัดเลยนะว่า ถ้าเรารู้ตัวว่า ตั้งแต่เล็กมาจนโต เรามีชีวิตอยู่ไม่ได้โดยไม่มีน้ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราขอบคุณน้ำ เราจะรักษาต้นน้ำไหม เราจะไม่ตัดป่า เราจะไม่กอบโกย ในที่สุดมันกลับมาหาตัวเรา ในเวลานี้เราแล้ง ดินไม่อุ้มน้ำ พอดินไม่อุ้มน้ำ พอแล้งก็ไม่คายน้ำลงมา เราทำตัวเราเอง เพราะเราขาดความเข้าใจที่จะขอบคุณทุกอย่างในชีวิต ที่ชีวิตให้เรา
ณัฏฐา : แต่ผู้สูงอายุจำนวนมาก ส่วนใหญ่เลยนะคะ ป้าศรีน่าจะเป็นคนที่มีความสุขจริงๆ กับชีวิตที่มีขึ้น แต่เทียบกับผู้สูงอายุจำนวนหนึ่ง อาจจะรู้สึกเหงา
ป้าศรี : จะบอกว่าป้าไม่มีปัญหาเลย มีค่ะ อยู่ที่จะมองค่ะ อยู่ที่ว่าเราเปลี่ยนมันได้ อันไหนเราจัดการได้ อันไหนเราจัดการไม่ได้ ต้องรู้จักดูค่ะ แต่ว่าเวลานี้ป้าทิ้งไอ้การจัดการต่างๆ ให้ลูก เยอะมากเลยค่ะ เห็นว่าเขาปวดหัวไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันเนี่ย แต่สิ่งที่เขาทำได้ เราไม่ยุ่งนะคะ เราไม่ดูด้วยซ้ำว่าเขาทำถูกทำผิด ปล่อยเลย เพราะว่าสมมุติว่าเราตายวันนี้ มันก็ต้องปล่อยอยู่แล้วถูกไหมคะ แต่ว่าอะไรที่เขามาขอให้เราช่วย เราก็ทำค่ะ มันถึงเวลาแล้ว บอกลูก สมมุติว่าแม่ตายแล้ว แต่ถ้าแม่ช่วยอะไรได้ มาบอก
ณัฏฐา : คือหมายถึงตอนนี้ให้ลูกนึกไปเลยว่าแม่ตายแล้วเหรอคะ
ป้าศรี : คือพูดอย่างนี้ แต่ไม่ได้พูดกับเขาซีเรียสถึงขนาดนั้นหรอกค่ะ บอกว่าถ้าเขามาด้วยปัญหาอะไร นี่ๆลูกสมมุติว่าแม่ตายแล้ว อันนี้อันนึง แล้วอีกอย่างก็คือ อันที่จริงอาจารย์ชิงชัยกับป้าทำงานเยอะมากนะ คือแต่ละวันเลขาผู้ช่วยต้องดูเลยว่าจะจัดยังไง อะไรยังไง แต่ว่ามันไม่รู้สึกเยอะเลยค่ะ เพราะว่าก็ทำๆ ไป อะไรเข้ามา ก็ทำๆ ไป อย่างเช่นเมื่อวานนี้พบตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาแรงงานและอาชีพ เขาก็มาคุยปัญหาให้เราฟังว่า คนที่เขาดูแลอยู่เป็นพวกอาชีพนอกระบบน่ะค่ะ เขาขาดอะไรบ้าง เขาขาดการติดต่อกับโลกปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเขาผลิตอะไรหรือเขาทำอะไรเนี่ย เขาจะต้องมีการเชื่อมกับโลกปัจจุบันเพื่อว่าการผลิตของเขาจะได้ไปกับความต้องการของโลก หรือว่าเขาขาดเรื่องบัญชี เรื่องอะไร ทันทีเลย ป้าก็จะรู้สึกว่า มาคุยกับคุณณัฏฐาวันนี้ ป้าก็จะขอแทรกเข้ามาในเรื่องวันนี้ว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเยอะมากเลย กำลังรีไทร์กันเยอะมาก มาสิคะ มาทำให้ชีวิตเป็นสุขเหมือนป้า คือมาทำสิ่งที่โลกยังต้องการน่ะค่ะ ป้าเอง ป้ามีเฟซบุ๊ค เฟซบุ๊คที่ว่า ป้าทำเรื่องคุณภาพความคิด คุณภาพความแก่ คุณภาพความตาย คือทำเหมือนเป็นนิตยสาร คือเขามาบอกเลยค่ะว่า ตัวเองมีศักยภาพอะไร เคยเป็นผู้จัดการอะไร เคยเป็นผู้อำนวยการอะไร มีอะไรจะมาช่วยคนกลุ่มนี้บ้าง นี่ของโปรดของป้า ผ้าขาวม้าผ้าฝ้าย ผ้าขาวม้าที่นั่นที่เขาทอกัน ป้าก็ยังไม่เคยพบเขาเลยกลุ่มนี้ เพิ่งพบเมื่อวาน ป้ารู้สึกล่ะ นี่เป็นความสำเร็จอีกความสำเร็จหนึ่ง ของที่เรารักคือผ้าขาวม้านะคะ เราอุดหนุนที่โน่นที่นี่ กำลังจะเอาต้นทุนของเรา คือเรื่องคุณภาพความแก่คุณภาพความตาย จะเอาไปเล่นเกมกับเขา นัดกันแล้วว่าจะลงไปตรงนั้น อะไรอย่างนี้ค่ะ ป้าอยากจะชวนคนแก่ด้วยกันนะคะ ใช้ชีวิตอย่างนี้ค่ะ มีความสุขมากเลย
ณัฏฐา : เมื่อสักครู่ป้าศรีพูดคำว่าความสำเร็จนะคะ พูดถึงคำว่า 'ความสำเร็จ' สำหรับป้าศรีหมายถึงอะไรคะ
ป้าศรี : ความสำเร็จสำหรับป้าศรี ป้าศรีคิดว่า อะไรก็ตามที่มันมีผลดีกับตัวเองและดีกับคนอื่นพร้อมๆ กันไป เพราะฉะนั้นแล้ว สำหรับป้าศรีความสำเร็จมันเป็นรายวัน อย่างเช่นเมื่อวานนี้เจอะกับกลุ่มนี้ เราประสานกันได้ เรามีต้นทุนอันนี้ เขาขาดอันนี้ เขามีต้นทุนอันนี้ เราจะแลกเปลี่ยนกันละ คือการรับกับการให้มันเป็นวงจร มันขาดกันไม่ได้
ณัฏฐา : ไม่ต้องไปมองถึงเรื่องใหญ่ๆ ชื่อเสียง เงินทอง ทรัพย์สินมหาศาล
ป้าศรี : ไม่ต้องไปมองว่า เราเป็นฝ่ายให้ค่ะ ขณะที่เราเอาต้นทุนเราไปแชร์กับเขา เขาก็ให้กลับกับเราทั้งความรู้ความเข้าใจ ทั้งมิตรภาพ ได้คืนมาเยอะแยะเลยค่ะ มันเป็นวงจรเดียวกัน อย่าไปตัดว่าชั้นเป็นผู้ให้ เขาเป็นผู้รับ หรือเขาเป็นผู้ให้ ฉันเป็นผู้รับ ถ้าคุณตัดแบบนี้ เท่ากับคุณไม่ไปกับวงจรของธรรมชาติ
ณัฏฐา : ป้าศรีคะ ยุคปัจจุบันกำลังมีความพยายามที่จะช่วยผู้สูงอายุเยอะมาก โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเรื่องเตือนให้กินยา กินข้าว ไปหาหมอ จะดีไหมคะ
ป้าศรี : ดีค่ะ ป้าว่าอะไรก็ดีทั้งนั้น ทำให้มันเป็นบวกนะคะ แล้วผู้ทำ ป้าก็รู้จัก เราเรียกว่าอู่ ชื่อจริงว่าอะไรไม่รู้ เขาทำดินสอ เขามีความสุขมากเลย เขาคิดทุกวันจะทำไงให้ดีขึ้นสำหรับคนแก่ ไม่ใช่แค่คนไทยนะคะของโลกทั้งโลก รู้สึกอู่เป็นมนุษย์ที่มีความสุขมาก แล้วป้าก็โชคดีมากเลยไปขึ้นเวทีพูดกับเขา ไปรู้จักเขาตรงนั้น ตอนนี้รู้สึกอบอุ่นกับเขามาก นี่ค่ะความสุขของคนแก่ อย่าไปหวังจะเอาแต่จากลูก ลูกจะต้องมาหาชั้น ลูกป้ายุ่งทำงานแทนป้า ก็ไม่มีเวลามาหาป้า ป้าก็ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร
ณัฏฐา : ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียจะเป็นเพื่อนให้ผู้สูงอายุได้ดีไหมคะ ผู้สูงอายุควรจะหันมาเล่นโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์
ป้าศรี : ป้าก็เล่นเยอะนะ ป้าทำเรื่องเฟซบุ๊คสนุกมากค่ะ คือเรามีอะไร เราก็อ่านจากคนอื่น และอะไรที่มันดีเราก็เอามาให้คนของเรา ตอนนี้ ตัวเลขอีกละ จะสำคัญไม่สำคัญไม่รู้ คืออย่าไปติดกับมันน่ะ คือว่าโอเค มันมีผลแค่ไหนนะคะ ตอนนี้ก็ตกประมาณสองหมื่นกว่าคนมั้งคะ เราก็รู้ว่าไอ้สิ่งที่เราทำอยู่เนี่ยมันคงโอเค เพราะว่ามันโตขึ้นเรื่อยๆ คือตัวเลขมันบอกเราว่าโอเค หรือไม่โอเค ถ้าเราทำแล้วมันไม่โอเค เราก็จะได้เปลี่ยน ชีวิตก็เหมือนน้ำค่ะ มันไปเจออะไรตรงนี้เป็นหินอยู่ มันก็ไปทางนี้ได้ อะไรได้
ณัฏฐา : สำหรับผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งอาจจะรู้สึกเป็นทุกข์ อาจจะเรื่องของสุขภาพร่างกาย หรือว่าลูกหลานไม่มาห้อมล้อม ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ควรจะต้องพยายามสร้างความมั่นใจยังไงคะ
ป้าศรี : อันที่จริงเราจะต้องเข้าใจเด็กนะ เราจะต้องเข้าใจลูกหลานว่า โหอายุสี่สิบห้าสิบนี่ ภาระเขาเยอะมากเลย แต่เขาก็รักเรา เขารักเราแน่นอนไม่มีปัญหา แต่เวลาเขาจะมีให้เราถึงอย่างที่เราต้องการหรือไม่ เพราะว่าความต้องการของคนนึง บางทีมันอาจจะมากกว่าที่เขาเอง เขาก็ต้องไปตอบสนองของความต้องการของอีกตั้งหลายๆ ส่วน ของลูกเขา ของสามี ภรรยา ของชีวิตเขาเอง ก็เยอะนะคะ ตอนนี้ยิ่งคนแก่เยอะขึ้นๆ ในสัดส่วนต่อคนอายุน้อย ต้องเห็นใจคนอายุน้อย เรานี่แหละจะเป็นเพื่อนกันเองได้ คนแก่กับคนแก่นี่แหละจะเป็นเพื่อนกันเองได้ คนแก่กับคนแก่นี่แหละจะเยี่ยมกันเองได้ ป้าอยากจะสร้างอันนี้ ยังไม่ได้สร้างกำลังอยากจะสร้างมากเลย คือชุมชนคนแก่ที่ดูแลกันเอง จะทางเฟซบุ๊ค ทางไลน์ ทางการถึงกันเมื่อคนหนึ่งป่วยไป แม้กระทั่งไม่รู้จักกันเลย สร้างเครือข่าย แล้วเมื่อคนหนึ่งต้องการ คนหนึ่งล้มป่วย คนหนึ่งขาดอะไร บอกมา คนที่ไม่เคยเห็นกันเลยไม่ต้องรู้จักกันเลยวิ่งไปทำให้กัน โอ้โฮมันจะอบอุ่นมาก ป้าอยากจะเริ่มอันนี้ค่ะ กำลังเริ่มอยู่ เรามีเกมไพ่ไขชีวิตที่เราเล่นกัน ทำให้ได้คิดเกี่ยวกับชีวิต ใครอยากให้ไปทำ บอกนะคะ ทำอยู่กับเครือข่ายพุทธิกาค่ะ ของท่านอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ณัฏฐา : คือแทนที่จะนั่งรอความตาย หรือว่านั่งรอที่วันที่ชีวิตจบในเชิงสังขาร ช่วงนี้ต้องใช้เวลาให้มีประโยชน์มากที่สุด
ป้าศรี : ให้มันสดใสที่สุดค่ะ เพราะว่าเราเหลืออีกน้อย
ณัฏฐา :เป็นแง่คิดที่มีประโยชน์มากค่ะจาก คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ หรือป้าศรีนะคะ ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะคนสูงอายุวัยเดียวอย่างแน่นอน แต่หมายถึงทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องค่ะ ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติสนิท สมาชิกในครอบครัวนะคะ ที่จะช่วยกันประคับประคองทั้งอารมณ์และจิตใจเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งในระดับครอบครัวและในระดับสังคมค่ะ วันนี้ขอบพระคุณป้าศรีมากค่ะ ทั้งหมดคือตอบโจทย์และที่นี่ไทยพีบีเอสค่ะ ดิชั้น ณัฏฐา โกมลวาทิน สวัสดีค่ะ
Comments