top of page

บนปลายสองข้างของความสำเร็จและล้มเหลว

(ค.ศ.1980-1999/พ.ศ.2523-2542)



“ ช่วงสี่สิบปลาย ห้าสิบต้น ทุกข์มาก เป็นช่วงที่แย่ที่สุด สมองกับใจเหมือนเครื่องซักผ้า ที่ข้างในสกปรกมากๆ... กลัว โกรธ อยาก ไม่อยาก สารพัน เหมือนผ้าสกปรก ที่หมุนวน อัตตาตอนนั้นมันข้นคลัก เคราะห์ดีที่ช่วงหนึ่ง พอจะมีสติถอยออกมา มองเห็นได้เลยว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นต่อไป คงไม่ฆ่าตัวตาย ก็เป็นบ้า ” คุณหญิงจำนงศรีเล่าถึงช่วงวิกฤตของชีวิต


ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ โลกท้ายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เต็มไปด้วยวิกฤตและความผันผวน ค่ายคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ล่มสลายลง ในขณะที่ค่ายทุนนิยมประชาธิปไตยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่ชี้ให้เห็นว่าการเติบโตแบบไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ไม่มีจริง



โลกกำลังก้าวผ่านจากยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล มกราคม ปี 1982 ‘คอมพิวเตอร์’ ขึ้นปกนิตยสาร Time แทนที่ภาพบุคคลแห่งปี โดยรับการยกย่องให้เป็นเครื่องจักรแห่งปี (Machine of the Year) ประกาศการมาถึงของยุคคอมพิวเตอร์ เมื่อประกอบการพัฒนาเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ที่เริ่มขึ้นในทศวรรษ1990 ถือเป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญในรอบศตวรรษ นับจากการปฏิวัติยานยนต์และอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตอนต้นศตวรรษที่ยี่สิบ


พลังอนุรักษ์ยุค 80


ขึ้นทศวรรษ 1980 จอห์น เลนนอน หนึ่งในสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมต้านและการต่อต้านสงคราม ถูกยิงเสียชีวิต โลกหมุนเข้าสู่อนุรักษนิยมใหม่ ภายใต้การนำของผู้นำสองมหาอำนาจโลก ประธานาธิบดีโรนัล เรแกน (1981-1989) ของสหรัฐฯ และ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (1979- 1990) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้หญิงคนแรกของโลกตะวันตกที่ดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมือง


ประธานาธิบดีเรแกนและนายกรัฐมนตรีแทตเชอร์ ที่แคมป์เดวิด ปี 1986


ตรงกันข้ามกับ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ไอดอลของหนุ่มสาวยุค 60 เรแกนเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน คือ 69 ปี (ต่อมาโดนัล ทรัมป์ ทำลายสถิตินี้ เขาอายุ 70 ปีตอนรับตำแหน่ง ประธานาธิบดี ) เรแกนยึดถือแนวคิด “ความเข้มแข็งคือสันติภาพ” เน้นสร้างความยิ่งใหญ่ให้อเมริกา โดยเพิ่มแสนยานุภาพให้กองทัพและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้เหนือกว่าสหภาพโซเวียต ดำเนินนโยบายแข็งกร้าว ในการป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งหมดส่งผลให้ เรแกนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยต่อเนื่องกัน


ทางด้านยุโรป แทตเชอร์ดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน คือส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรี ต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน ตอบโต้การท้าทายอย่างแข็งกร้าวในสงครามฟอล์กแลนด์ (ปี 1982) นำอังกฤษคืนสู่ความยิ่งใหญ่ เป็นหนึ่งในมหาอำนาจช่วงสงครามเย็น ทำให้เธอได้รับสมญานามว่า ‘สตรีเหล็ก’

แทตเชอร์ได้รับชัยชนะเลือกตั้งถึง 3 ครั้งต่อกัน ครองอำนาจอยู่ถึง 11 ปีเศษ


นโยบายแข็งกร้าวของเรแกนและการท้าทายโซเวียต สร้างความหวาดหวั่นว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ ทว่าในปลายทศวรรษที่ 1980 พร้อมๆ กับการหมดอำนาจของแทตเชอร์และเรแกน ลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง


สายลมของความเปลี่ยนแปลง


“..Blows straight into the face of time

Like a storm wind that will ring the freedom bell..”


เพลง Wind of Change ของ สกอร์เปียนส์ วงร็อคเยอรมัน บอกเล่าความใฝ่ฝันถึงเสรีภาพ ในห้วงเวลาที่ สงครามเย็นใกล้จะสิ้นสุดลง เพลงนี้เขียนขึ้นในปี 1989 ไม่กี่เดือนก่อนกำแพงเบอร์ลินถูกทลายลง ส่งผลให้เยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกรวมกันประเทศเดียวอีกครั้ง และสองปีถัดมาสหภาพโซเวียต ก็ล่มสลาย


กำแพงเบอร์ลินที่บางส่วนถูกทำลาย

ภาพของ Jurek Durczak from Poland


สหภาพโซเวียตสะสมปัญหาภายในมายาวนาน สืบเนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง นำไปสู่การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่รัฐใช้งบประมาณจำนวนมากกับการสร้างอำนาจ ทางการทหารและการพัฒนาด้านอวกาศ เมื่อประกอบกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศราคาตกต่ำลง ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ส่งผลให้เศรษฐกิจของรัสเซียสู่ภาวะวิกฤต


ความพยายามที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ และให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้นของ ประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ ไม่ทันต่อเวลา ในที่สุดเขาต้องลาออกจากตำแหน่ง และในวันถัดมา 26 ธันวาคม 1991 รัฐสภาโซเวียตให้การยอมรับเอกราชของประเทศใหม่ 15 ประเทศ คือ Armenia, Azerbaijan, Belarus, Estonia, Georgia, Kazakhstan, Kyrgyzstan, Latvia, Lithuania, Moldova, Russia, Tajikistan, Turkmenistan, Ukraine, และ Uzbekistan นับเป็นจุดสิ้นสุดของหนึ่งในประเทศ ที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลก และถือเป็นการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น


ไม่เพียงแต่ในรัสเซีย ก่อนสิ้นทศวรรษที่ 1980 อำนาจเผด็จการในหลากหลายรูปแบบ ถูกท้าทายจาก ประชาชนที่แสวงหาเสรีภาพ เริ่มจากกระแสต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก คือ ฮังการี เชโกสโลวัก โรมาเนีย


ในเอเชียพรรคคอมมิวนิสต์จีนเผชิญกับการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1989 จบลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลเติ้ง เสี่ยวผิง มีผู้คนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และส่งผลต่อการจำกัดการแสดงออกทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่จนถึงปัจจุบัน (2023)


การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ภาพของ AlcorBlack2 , CC BY-SA 4.0,


ทางด้านไต้หวัน ในปี 1987 รัฐบาลก๊กมินตั๋งประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ที่ใช้ควบคุมประชาชนมาตั้งแต่ปี 1949 พร้อมประกาศให้มีการเลือกตั้ง


นอกจากนี้ รัฐบาลทหารในหลายประเทศก็ต้องหลีกทางให้ประชาธิปไตย เช่น อาร์เจนตินา อุรุกวัย บราซิล ชิลี รวมทั้งในเกาหลีใต้ ที่เกิดการประท้วงการต่อต้านผู้นำเผด็จการ ประธานาธิบดีชอนดูฮวาน และเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจู เดือนพฤษภาคม 1980 จบลงด้วยการส่งปราบปรามประชาชน โดยกองกำลังตำรวจทหารติดอาวุธ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก เหตุการณ์นี้จุดเริ่มต้นของประท้วงอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การปฏิรูประบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา


ในฟิลิปปินส์ อำนาจเผด็จที่ต่อเนื่องเกือบยี่สิบปีของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอส ถูกทำลายด้วยการปฏิวัติพลังประชาชน ในเดือนกุมภาพันธ์ 1986 การเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่ฝ่ายประชาธิปไตยของ ประธานาธิบดีโคราซอน อาคิโน โดยรวมเป็นไปอย่างสันติ แม้มีการปะทะกันในตอนต้นระหว่าง ทหารรัฐบาลกับทหารแปรพักตร์ ส่วนประธานาธิบดีมาร์กอสลี้ภัยการเมืองไปสหรัฐฯ


ยุคคอมพิวเตอร์


หลังปี 1980 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer :PC) ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นที่นิยมใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นของเครือไอบีเอ็ม หรือ แอปเปิล ที่ผลิต Macintosh ออกมาแทนที่ Apple II ในขณะที่ทางด้านซอฟต์แวร์ Bill Gates และ Paul Allen ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft เปิดตัว Word โปรแกรมประมวลผลคำที่เรียบง่ายและใช้งานได้จริง ในปี 1983 ตามด้วย Windows ในปี 1985 ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก


ในขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ประสบความสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งสามารถสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 1983 ผ่านเครือข่ายยุคแรกที่พัฒนาโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ: ARPANET

และเมื่อขึ้นทศวรรษ 1990 Tim Berners-Lee ประสบความสำเร็จในการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า World Wide Web และเปิดให้ใช้ทั่วไปในปี 1991 ยุคใหม่ของการสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ถือกำเนิดขึ้น


เวิลด์ไวด์เว็บทำให้บุคคล หน่วยงาน รวมถึงองค์กรธุรกิจ สามารถแบ่งปันข้อมูลของตนกับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ คนอื่นๆ ส่งผลให้เว็บไซต์หลากหลายประเภทเกิดขึ้นมากมาย อีเมล์เข้ามาแทนที่การส่งจดหมายและโทรเลข อินเตอร์เน็ตได้รับความสนใจใช้งานอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อขึ้นศตวรรษใหม่


โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี และโทรศัพท์มือถือ


ทศวรรษ 1980 บริษัทเคเบิ้ลทีวีเริ่มเข้ามาแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์ ผ่านเทคโนโลยีโทรทัศน์จานดาวเทียม ไม่นานผู้คนก็เริ่มคุ้นเคยกับชื่อบริษัทเคเบิลอย่าง HBO Cinemax ฯลฯ ในขณะที่สงครามอ่าวปี 1980 ทำให้ช่องเคเบิ้ลทีวี CNN ของ เท็ด เทอร์เนอร์ กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก ในฐานะผู้กระจายข่าวผ่านดาวเทียม ให้สามารถรับชมได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง และหนึ่งปีต่อมา MTV (Music Television) เปิดตัวเป็นเครือข่ายเคเบิลที่ปฏิวัติวงการดนตรีและแฟชั่น


มาดอนนาบนเวที Live Aid ปี 1985

ภาพของ Pelo magazine #250, Public Domain,


มิวสิควิดีโอบน MTV สร้างชื่อเสียงให้ศิลปินอย่าง มาดอนน่า, พรินซ์, วิทนีย์ ฮูสตัน และไมเคิล แจ็คสัน ซึ่งมิวสิควิดีโอ 'ทริลเลอร์' ช่วยสร้างยอดขายแผ่นเสียง 600,000 แผ่น ภายใน 5 วัน หลังออกอากาศครั้งแรก MTV ยังมีอิทธิพลต่อแฟชั่น ผ่านเสื้อผ้า หน้า ผม ของเหล่าศิลปินในมิวสิควิดีโอ เช่นที่ มาดอนน่า เอ็มซีแฮมเมอร์ และ บอย จอร์จ กลายเป็นสไตล์ไอคอนประจำยุค


Motorola DynaTAC 8000X รุ่นปี 1984


การสื่อสารก้าวกระโดดไปอีกขั้น ในปี 1984 เมื่อโมโตโรล่าเปิดตัว Motorola DynaTAC 8000X โทรศัพท์เซลลูลาร์แบบพกพา น้ำหนัก 1 ปอนด์ 12 ออนซ์ (ราวครึ่งกิโลกรัม) สูง 13 นิ้ว ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ในเวลานั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโทรศัพท์มือถือ จากนั้นเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์มีขนาดเล็กลง และผู้คนจำนวนมากสามารถครอบครองได้


วิกฤตเศรษฐกิจ


หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ในช่วงทศวรรษที่ 1980 โลกเข้าสู่การจัดระเบียบใหม่ สหรัฐอเมริกากลายเป็น มหาอำนาจหนึ่งเดียว เนื่องจากรัสเซียอยู่ในความสับสนภายใต้การปฏิรูปของ บอริส เยลต์ซิน ส่วนจีนอยู่ในช่วงเพิ่งฟื้นตัวจากความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของ เติ้งเสี่ยวผิง และ เจียงเจ๋อหมิน เรียกได้ว่า ทุนนิยมเสรีเติบโตอย่างไร้คู่แข่ง


การค้าเสรีที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติขยายการลงทุนมายังเอเชีย เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจใน ไทย เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ในยุค 1980 -90 ก่อนที่จะขยายการลงทุนไปยังอินโดจีน ที่เริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในเวียดนาม


ในเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกจนถึงทศวรรษที่ 1980 ส่งผลให้ GDP ต่อหัวของญี่ปุ่นสูงที่สุดในโลก และ ชื่อเสียงของบริษัทญี่ปุ่น เช่น โซนี่ โตโยต้า ฮอนด้า ฯลฯ เป็น ที่ยอมรับกันในระดับโลก แต่เมื่อถึงทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ที่เรียกกันว่า ทศวรรษที่สูญหาย (Lost Decade) เนื่องจากแรงเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์

การเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดลงจนเหลือเพียงประมาณ 1% เศษ ๆ ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาอื่นๆ มาก เหตุการณ์นี้ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในทศวรรษต่อๆ มา


เข้าสู่ปลายทศวรรษ 1990 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง (1997) เริ่มจากประเทศไทย ที่มีการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ของสถาบันการเงินซึ่งกู้เงินตราต่างประเทศมาในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เมื่อค่าเงินบาทถูกโจมตี ในขณะที่สำรองเงินตราระหว่างประเทศมีจำกัด รัฐบาลจำต้องเปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ค่าเงินบาทตกต่ำลง ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดตัวไปลงผลกระทบทางการเงินทั่วเอเชีย


เอดส์แพร่ระบาด


ในปี 1981 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ของสหรัฐฯ เริ่มรายงานเกี่ยวกับการระบาดของภาวะสุขภาพผิดปกติในกลุ่มเกย์ ที่ต่อมารู้จักในชื่อ ‘เอดส์’ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เอดส์แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ป่วยอย่างน้อย 100,000 ราย ในสหรัฐอเมริกา และประมาณ 400,000 ราย ทั่วโลกภายในสิ้นทศวรรษ 1980


การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเริ่มขึ้นในปี 1987 ตามมาด้วยการรักษารูปแบบอื่นๆ แต่โรคนี้ยังคงเป็นภัย คุกคามต่อสุขภาพต่อมาอีกหลายทศวรรษ และเมื่อถึงปลายทศวรรษ 2000 องค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์อยู่ประมาณ 33.3 ล้านคนทั่วโลก


สองแพร่งของความก้าวหน้าทางการแพทย์


ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ค้นพบว่าโรคบางชนิดเกิดขึ้นในระดับยีน อาทิเช่น มะเร็ง ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน เป็นที่มาของความพยายามที่จะใช้การรักษาด้วย ‘ยีนบำบัด’ โดยมีการทดลองในสัตว์ตั้งแต่ปี 1985 ส่วนการทดลองในมนุษย์เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1989 เป็นการทดลองการติดแท็กยีน ก่อนนำไปสู่การใช้ยีนบำบัดที่แท้จริงครั้งแรกในเดือนกันยายน 1990


นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการคัดเลือกเพศและการฝากตัวอ่อน โดยในปลายปี 1989 ทารกจากการคัดเลีอกเพศเกิดขึ้นในห้องทดลองและคลอดในเดือนกรกฎาคม 1990 ส่วนการตั้งครรภ์แทนเริ่มต้นครั้งแรกในปี 1985 และเด็กคลอดในปี 1986 เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ผู้หญิงสามารถเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดได้โดยไม่ต้องตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีอัลตราซาวน์นำไปสู่การทำแท้งเพื่อเลือกเพศลูกในอินเดียและจีน


ร่างสตัฟของดอลลี

ภาพโดย Toni Barros from São Paulo, Brasil - Hello, Dolly!, CC BY-SA 2.0,



ส่วนการ 'โคลน' ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเริ่มต้นขึ้นในยุค 1980 เช่นกัน โดยแกะ ‘ดอลลี’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโคลนตัวแรก ปรากฏตัวต่อสาธารณชน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1997 นำไปสู่การถกเถียงถึงความเหมาะสมและข้อกังวลด้านชีวจริยธรรมเกี่ยวกับการโคลนนิ่งมนุษย์ ที่ยังคงดำเนินมาจนถึงเวลานี้


เพศสภาพและความเท่าเทียม


ช่วงทศวรรษ1980 เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงก้าวขึ้นเป็นผู้นำในหลายประเทศ นอกจากมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ยังมี คอราซอน อาคิโน ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์ อินทิรา คานธี ประธานมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งในปี 1980 ก่อนถูกองครักษ์ 2 คน กระหน่ำยิงเสียชีวิต ในปี 1984

เหตุจากความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวซิกข์ หลังกองทัพของรัฐบาลสังหารหมู่ชาวซิกข์ที่วิหารทองคำ ในอมฤตสระ


เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์กับประธานาธิบดีเรแกนและภริยาที่ทำเนียบขาว ปี1985

ภาพจาก Series: Reagan White House Photographs, 1/20/1981 - 1/20/1989Collection: White House Photographic Collection, 1/20/1981 - 1/20/1989 https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=92634303


ส่วนสตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนี้ คือ ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งเสกสมรสกับ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารของอังกฤษ การถ่ายทอดสดพิธีเสกสมรสทางโทรทัศน์ทั่วโลกในปี 1981 มีผู้ชมกว่า 750 ล้านคน ไดอาน่าได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดในโลก จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในปี 1997 ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าสลดทั้งในอังกฤษและทั่วโลก


กล่าวโดยรวม สถานการณ์ของสิทธิสตรีดีขึ้นโดยลำดับ และนับจากทศวรรษที่ 1900 มีการขยายสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) มากขึ้น โดย องค์การอนามัยโลกถอด ‘รักร่วมเพศ’ ออกจากรายการโรคในปี 1990


หนังยุค 80-90


ทศวรรษที่ 1980 เป็นยุคทองของ ‘หนังวัยรุ่น’ เช่น Class, Pretty in Pink, St. Elmo's Fire ภาพยนตร์ยอดนิยมหลายเรื่องมีภาคต่อไปจนถึงศตวรรษที่ 21 เช่น แนวสยองขวัญ อย่าง Friday the 13th, A Nightmare on Elm Street, Halloween ภาคต่อหนังแอ็คชั่น อาทิ Indiana Jones, Die Hard, Lethal Weapon, Rambo The Terminator, Aliens, RoboCop ฯลฯ


โปสเตอร์ไททานิก

ภาพจาก Titanic, a production of Paramount Pictures, 20th Century Fox and Lightstorm Entertainment. - & quote;

Titanic Movie Poster (#2 of 9)". IMPAwards. June 26, 2008. Retrieved March 12, 2019., Fair use, https://en.wikipedia.org/w/index.php?curid=60210840


ในทศวรรษถัดมา(1990) ภาพยนตร์แนวอาชญากรรมและสายลับได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น Pulp Fiction, L.A. Confidential, Goodfellas, The Godfather Part III และ ในปี 1998 Titanic (ออกฉายปลายปี 1997) ขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล โดยทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ และรักษาสถิตินี้ไว้จนถึงปี 2010 Avatar (ออกฉายในปลายปี 2009) ภาพยนตร์ของผู้กำกับ

คนเดียวกัน เจมส์ คาเมรอน ชิงตำแหน่งนี้ไป


ด้านลบของการพัฒนา


26 เมษายน 1986 เกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ‘เชอร์โนบิล’ (Chernobyl) ระเบิด ในยูเครน ซึ่งเวลานั้นยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต สารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากแพร่กระจายไปทั่วยุโรป คร่าชีวิตผู้คนทันที 47 คน และอีกจำนวนมากเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับรังสีในเวลาต่อมา ผู้คนราว 300,000 คน ต้องอพยพย้ายถิ่น กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตขณะนั้น กล่าวในภายหลังว่าภัยพิบัติเชอร์โนบิล “อาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในอีก 5 ปีต่อมา”


โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลหลังเกิดอุบัติเหตุ

ภาพจาก IAEA Imagebank - 02790015, CC BY-SA 2.0,



ภัยพิบัติเชอร์โนบิลมีผลกระทบอย่างมากต่อความคิดเห็นของประชาชนทั่วโลก ในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากการพัฒนา รวมถึงปัญหาโลกร้อน ที่สืบเนื่องมาจากการเผาผลาญ เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้า (ในขณะที่การใช้พลังงานนิวเคลียร์มีปัญหาความเสี่ยงจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี) และเชื้อเพลิงรถยนต์


ในปี 1992 การประชุม Earth Summit จัดขึ้นที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อม กลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับรัฐบาลและประชาคมระหว่างประเทศ นำไปสู่การสร้างกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ประสานความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ และการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพการป้องกันการทำลายป่าฝนเขตร้อนของโลก


นอกจากนี้ยังมีภาคประชาชน หน่วยงานเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง ที่มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะและภาครัฐ หนึ่งองค์กรที่มีชื่อเสียงที่สุดในระดับโลก คือ กรีนพีซ


ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามทิศทางการพัฒนาของไทย ยังคงมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากร กลายเป็นความขัดแย้งหลักในสังคม ระหว่างภาครัฐที่เป็นเจ้าของโครงการพัฒนาต่างๆ และบริษัทเอกชนเจ้าของสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ กับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม


ประชาธิปไตยครึ่งใบ


ในช่วงทศวรรษ 1980 ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบที่เรียกกันว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ซึ่งเริ่มจากสมัย พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (พ.ศ. 2520-2523) ต่อด้วย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531) เป็นช่วงเวลาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 ที่ร่างขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่ในขณะเดียวกันเปิดช่องให้ทหารและข้าราชการมีอำนาจ ผ่านการเปิดให้

มีนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงคณะรัฐมนตรี 'คนนอก' ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภามีที่มาจากการแต่งตั้ง


กล่าวโดยรวมประชาธิปไตยครึ่งใบ เปิดให้ประชาชนได้มีเสรีภาพในบางระดับ และในแง่มุมของอำนาจรัฐ เป็นการจัดสรรอำนาจให้ภาคธุรกิจ ได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายผ่านพรรคการเมือง แทนการผูกขาดอำนาจโดยกองทัพเหมือนสมัย จอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส


ประธานาธิบดีเรแกนต้อนรับพลเอกเปรมที่ทำเนียบขาว

ภาพจาก Ronald Reagan Presidential Library


ตลอดระยะเวลา 8 ปี ของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ข้าราชการโดยเฉพาะ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดนโยบายรัฐ และในช่วงเวลานี้ นโยบายเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนจากการอิงกับภาคเกษตรกรรม เป็นการส่งเสริมการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะสิ่งทอ อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารสัตว์ อาหารทะเล ผลไม้ ฯลฯ


พร้อมกันนั้น รัฐเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program) ที่ประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึก เปลี่ยนภาคตะวันออกให้กลายเป็นพื้นที่ อุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นตลาดภายนอกประเทศ


ทั้งหมดส่งผลให้ไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค เช่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไทยได้รับสมญานามว่า 'ดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia)' เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ไทยก้าวเข้าสู่ยุคทองทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำมากยิ่ง เกิดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากร รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น การสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า ฯลฯ


เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า


หลัง พล.อ. เปรม ประกาศยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค


เวลานั้นเป็นปลายยุคสงครามเย็น รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอินโดจีนภายใต้แนวคิด ‘เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า’


แม้รัฐบาล พล.อ.ชาติชายจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุน อาทิ รถไฟฟ้า ทางด่วนในกรุงเทพมหานคร และโครงการพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ ฯลฯ จนทำให้ไทยได้รับขนานนามว่า 'เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย' ตามรอยเสือสี่ตัว คือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่รัฐบาลถูกครหาว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นที่มาของฉายา ‘บุฟเฟต์คาร์บิเนต’ อีกทั้งมีความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล และความขัดแย้งกับกองทัพ


ท้ายที่สุด จบลงด้วยรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ที่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และนายทหาร จปร.5


คณะ รสช. ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์ว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 6 เดือน ในระหว่างนั้นจะตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งให้ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามรัฐบาลของนายอานันท์มีความขัดแย้งกับ รสช. ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่จะฟื้นฟูอำนาจของฝ่ายทหารในหลายเรื่อง อาทิ การซื้ออาวุธ การแต่งตั้งรัฐมนตรีคมนาคม และโครงการโทรศัพท์สามล้านเลขหมาย


ฝ่ายทหารตัดสินใจให้รัฐบาลของนายอานันท์ดำเนินต่อไป จนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่และคณะ รสช. ได้ให้สัตย์ปฏิญาณว่า “จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2535 พรรคสามัคคีธรรม ของ รสช.ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณหัวหน้าพรรค มีปัญหาเคยถูกปฏิเสธวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกา พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เป็นที่มาของวลี “เสียสัตย์เพื่อชาติ”


พฤษภาทมิฬ


การปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อคงอำนาจของฝ่ายทหาร การก่อตั้งพรรคสามัคคีธรรม และการขึ้นสู่อำนาจของพลเอกสุจินดา นำไปสู่การประท้วงของประชาชน โดยเริ่มขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2535 เรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก


ผู้นำของกลุ่มประท้วงมาจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา รวมถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ผู้ร่วมประท้วงส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเมือง ที่ต่อสู้กับการควบคุมข่าวสารของรัฐบาลด้วยการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ติดต่อรายงานสถานการณ์ระหว่างกันและติดต่อกับสื่อมวลชนเป็นที่มาของชื่อ ‘ม็อบมือถือ’


พฤษภาทมิฬ

ภาพโดย Ian Lamont [harvardextended.blogspot.com] - Thai Protests in May 1992 in Bangkok

near the Democracy Monument, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=26228576


การปราบปรามผู้ชุมนุม เริ่มต้นในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 จนกระทั่งถึงเที่ยงคืนของวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม องคมนตรี นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการชุมนุม เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเรียกร้องให้ “ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน” สถานการณ์ความรุนแรงยุติลง


ในระหว่างการปราบปรามรัฐบาลพลเอกสุจินดาควบคุมการเผยแพร่ข่าวของสื่อในประเทศ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือ เคเบิ้ลทีวี รวมถึงการขัดขืนคำสั่งของสื่อในประเทศ ทำให้เหตุการณ์ที่ทหารยิงเข้าใส่ประชาชน ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า พฤษภาทมิฬ เป็นที่รับรู้ในประเทศและเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยสำนักข่าว BBC และ CNN


อย่างไรก็ตามจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน


วิกฤตต้มยำกุ้ง


หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พลเอกสุจินดาลาออก สมาคมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย 3 สมาคมสำคัญ คือ สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า และ สภาอุตสาหกรรม ร่วมกับผู้แทนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกแถลงการณ์ร่วมกันมีใจความสำคัญ ขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำการที่นำไปสู่ความไม่สงบทางการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชน โดยการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับการแก้ไข


นายอานันท์ ปันยารชุนได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลชั่วคราวอีกครั้ง อำนาจรัฐกลับเข้ามาที่ระบบรัฐสภา ทว่ารัฐบาลต่อๆ มา ถึงแม้มาจากการเลือกตั้ง กลับถูกโจมตีอย่างหนักด้านความล้มเหลวในการบริหารประเทศและคอร์รัปชัน


จนกระทั่งเกิด ‘วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง’ ในเดือนกรกฎาคม 2540 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไทยต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก กองทุนระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) วิกฤตนี้ส่งผลกระทบไปทั่วเอเชีย


วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง สืบเนื่องมาจากในช่วงเวลานั้นมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุน ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ นำไปสู่การลงทุนและกู้ยืมมากขึ้น อีกทั้งผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา อันถือเป็นยุคทองของเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคธนาคารผ่อนปรนกับการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับการเปิดให้มีสถาบันทางการเงิน ที่ไม่ใช่ธนาคารเกิดขึ้นจำนวนมาก เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน จึงมีธนาคารและสถาบันทางการเงิน จำนวนมากล้มละลาย หรือถูกสั่งปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนในวงกว้าง ลูกจ้างจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์ถูกทิ้งร้าง ที่ดินและบ้านจำนวนมากถูกนำขายทอดตลาด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว


วันที่ 11 ตุลาคม 2540 รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2540 และ 1 เดือนต่อมา พล.อ.ชวลิต ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ยุควรรณกรรมเฟื่องฟู


ในบรรยากาศประชาธิปไตยครึ่งใบ นักคิด นักเขียน ตลอดจนกวี ทั้งที่กลับจากป่าและอยู่ในเมือง ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เนื่องจากสภาพสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป งานในแนวเพื่อชีวิตที่มุ่งต่อสู้กับชนชั้นปกครอง เปลี่ยนไปเป็นการต่อสู้กับสิ่งที่ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ เรียกว่า ‘ศัตรูที่ลื่นไหล’ ที่คู่ขัดแย้งไม่ชัดเจน เป็นได้ทั้งรัฐ ทุน ธุรกิจ รวมถึงคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ ที่ตัวเอกต้องเผชิญกับคนทั้งหมู่บ้าน


ช่วงนี้นับเป็นช่วงเวลาของความก้าวหน้าในแวดวงวรรณกรรมไทย ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา โดยเฉพาะในส่วนของเรื่องสั้น สถาบันต่างๆ ริเริ่มจัดการประกวดและให้รางวัลด้านวรรณกรรม อาทิ เช่น รางวัลช่อการระเกด ของนิตยสารโลกหนังสือ การประกวดเรื่องสั้นของ นิตยสารสตรีสาร สมาคมภาษาและหนังสือ ฯลฯ และรางวัลที่มีชื่อเสียงที่สุดและสร้างความสนใจในสังคมมากที่สุด ด้วยเป็นรางวัลใหญ่ระดับภูมิภาค คือ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ (Southeast Asian Writers Award : S.E.A. Write) เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2522 เป็นรางวัลที่มอบให้แก่กวีและนักเขียนในประเทศรัฐสมาชิกแห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน


ในความคึกคักของถนนหนังสือ มีนักเขียนใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และผลงานมีความหลากหลาย ตั้งแต่วรรณกรรมสะท้อนภาพชีวิตคนระดับล่าง ชาวบ้าน แรงงานในเมือง เรื่องราวในชนบท เช่นผลงานของ มาลา คำจันทร์ ชาติ กอบจิตติ จำลอง ฝั่งชลจิตร วัฒน์ วัลยางกูร นิคม รายวา ฯลฯ งานสะท้อนภาพสังคมกลุ่มอื่นๆ เช่น ชนชั้นสูง ชนชั้นกลางระดับสูง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทมยันตี งานกะเทาะเปลือกของผู้ดีใหม่ การดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และปัญหาต่างๆ ของชนชั้นกลางในเมือง เช่น ผลงานของ กฤษณา อโศกสิน สุวรรณี สุคนธา


นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมเพื่อความบันเทิง ที่มีทั้งบันเทิงสอดสาระ ซึ่งแพร่หลายในวงกว้างและมีนักเขียนยอดนิยม เช่น มนันยา จันทรำไพ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ฯลฯ ขณะเดียวกันยังมีเรื่องแต่งเพื่อความบันเทิงที่เป็นพิษต่อสังคม แต่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนส่วนใหญ่ เช่น นวนิยายประเภทยั่วยุทางเพศ ห้ำหั่นบู๊ล้างผลาญ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นต้น


เมื่อการเมืองไทยก็ถึงจุดวิกฤติอีกครั้งใน เดือนพฤษภา 2535 กวีและนักเขียนจำนวนมากได้บันทึกและเล่าถึงเหตุการณ์นี้ ทั้งในเวลานั้นและเวลาต่อมาในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือผลงานของ จิรนันท์ พิตรปรีชา ที่เขียนไว้ในบทกวี ฝนแรก ว่าเหตุการณ์นี้ “เลี้ยงพืชกล้าประชาธิปไตย”


พุทธสังคมนิยมและสันติวิธี


ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ท่ามกลางแนวคิดที่รุนแรงทั้งของฝ่ายขวาและฝ่ายปฏิวัติ มีกระแสความคิดที่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง คือ ธัมมิกสังคมนิยม ของท่านพุทธทาสภิกขุ และ แนว อหิงสา ที่มี ส.ศิวรักษ์ เป็นแกนนำ


ในปี พ.ศ. 2517 ศิษย์ของ ส.ศิวรักษ์ อาทิ ประชา หุตานุวัตร วิศิษฐ์ วังวิญญู สันติสุข โสภณสิริ ร่วมกันตั้งกลุ่ม ‘อหิงสา’ ซึ่งมีเป้าหมายต่อสู้กับรัฐด้วยสันติวิธี ด้วยหลักพุทธศาสนาและอหิงสา โดยเผยแพร่ความคิดผ่านวารสาร ‘ปาจารยสาร’


ต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น มีการลอบทำร้ายและลอบสังหารผู้นำนักศึกษา ชาวนาและกรรมกรจำนวนมาก ประชา หุตานุวัตร เลือกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์และได้พบกับ พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ (ท่านพุทธทาสภิกขุ ) ที่สวนโมกขพลาราม เป็นที่มาของหนังสือ เล่าไว้ในวัยสนธยา ซึ่งได้รับการยกย่องว่า นำเสนอตัวตนและธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ได้อย่างที่ไม่มีใครเสมอเหมือน


ในเวลานั้น ท่านพุทธทาส ได้นำเสนอแนวทาง ธัมมิกสังคมนิยม หรือ พุทธสังคมนิยม ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้เคยเขียนอธิบายไว้ว่า

“...ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เขียนและพูดเรื่องธัมมิกสังคมนิยมไว้มาก โดยเฉพาะในช่วงหลัง 14 ตุลา มีการพูดถึงสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์กันมาก แต่ท่านอาจารย์พุทธทาสเห็นว่า สังคมนิยมแบบพุทธศาสนานั้นดีกว่า ท่านให้ชื่อว่า ธัมมิกสังคมนิยม ...ท่านพูดว่า สังคมนิยมคือการที่ผู้คนเห็นมนุษย์ (ที่จริงรวมถึงสรรพสัตว์ด้วย) ว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เป็นเพื่อนที่ร่วมสากลจักรวาลเดียวกัน...มีการแบ่งปันกัน ระหว่างเพื่อนมนุษย์… จัดสรรตามความจำเป็น เพื่อให้เกิดความสามารถในการอยู่รอดและพัฒนาตนได้



“ท่านพุทธทาสก็เล่าว่า ตอนเป็นเด็กเวลาไปเฝ้านา โยมแม่จะให้คาถากันขโมย คาถากันขโมยนี้เป็นภาษาไทย มีข้อความสั้นๆ ว่า ‘ นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน’ ท่องคาถานี้เมื่อใด ขโมยจะหายไปหมด นี่คือน้ำใจที่มุ่งแบ่งปัน ซึ่งเป็นธรรมดามากในชุมชนสมัยก่อน พุทธสังคมนิยมไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน เคยมีมาก่อน แต่ว่าได้เสื่อมสลายไป ท่านพุทธทาสจึงเชื่อว่า สังคมนิยมแบบพุทธเป็นเรื่องที่เป็นไปได้”


พระไพศาลวิสาโล สาราณียากรของปาจารยสาร เขียนไว้ว่า ข้าพเจ้าเอง…ได้รับอิทธิพลจากข้อคิดและงานเขียน ของพี่ประชามิใช่น้อย โดยเฉพาะในช่วงที่พี่ประชาใช้ชีวิตทวนกระแสในเพศสมณะ ถ้าพี่ประชาไม่ได้ก้าวเดินบนเส้นทางนี้มาก่อน ข้าพเจ้าอาจไม่ได้บวชมาจนถึงวันนี้


ทั้งนี้ก่อนบวช พระไพศาลไปทำงานด้านพัฒนาชนบทและรู้จักกับหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณที่ วัดป่าสุคะโต ในปี 2523 ต่อมาเมื่อมีปัญหาความเครียดจากงานและตัดสินใจบวช จึงได้ไปอยู่วัดป่าสุคะโตจนเวลานี้ ปัจจุบันพระอาจารย์ไพศาลวิสาโล ยังคงมีบทบาทสำคัญในการนำหลักธรรมะมาเชื่อมโยงกับสังคม และปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ ‘การตายอย่างสันติ’


ด้านพระประชา (ประชา หุตานุวัตร) หลังลาสิกขา ยังคงทำงานพัฒนาสังคมโดยอาศัยพื้นฐานทางศาสนา เช่น เสมสิกขาลัย ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพื่อพัฒนาผู้นำรากหญ้า อาศรม วงศ์สนิท สร้างพื้นที่ทดลองใช้ชีวิตของนักกิจกรรมทางสังคม มุ่งสร้างชุมชนวิถีทางเลือกใหม่ และในปี 2548 ตั้งสถาบันยุวโพธิชน ด้วยแนวคิดของพุทธทาสภิกขุที่ว่า “ศีลธรรมของเยาวชนคือสันติภาพของโลก


แม้เป็นกระแสเล็กๆ ในเบื้องต้น แต่กลุ่มที่ต่อสู้แบบสันติวิธีค่อยๆ เติบโตขึ้นในรูปแบบขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ผลักดันทหารออกจากการเมือง แทนที่แนวทางโค่นล้มอำนาจรัฐ


นับจากปี พ.ศ.2520 มีการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ขึ้นจำนวนมาก ทั้งองค์กรต่างประเทศและในประเทศ โดยหลักๆ องค์กรเหล่านี้มุ่งเน้นแก้ปัญหาอันสืบเนื่องจากการพัฒนา สร้างสังคมที่ยุติธรรมและสงบสุข อาทิ เช่น องค์กรด้านสิทธิเด็ก องค์กรด้านพัฒนาชนบท องค์กรทำงานกับคนจนเมือง เป็นต้น


ในปี พ.ศ.2535 เมื่อทหารพยายามกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชนไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อต้าน ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ


คุณหญิงจำนงศรีได้เขียนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไว้ใน น้ำใสสะอาดที่นิ่งอยู่ในขัน หนังสือ อนุสรณ์ชีวิต นายไพโรจน์ ล่ำซำ ว่า


“วันหนึ่งในช่วงที่เหตุการณ์กำลังเขม็งเกลียวนั้น ข้าพเจ้าและพี่เบิ้ม (ไพโรจน์ ล่ำซำ)นั่งคุยกัน ข้าพเจ้าบอกว่า ในเมื่อพี่เบิ้มเป็นเพื่อนกับพลเอกสุจินดา ตั้งแต่สมัยกรมข่าว ก็แน่นอนว่าได้รับฟังแต่ข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ของฝั่งทหาร ข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก มีบรรณาธิการบริหาร ชื่อ พิภพ ธงไชย ผู้มีบทบาทสำคัญในการประท้วง ข้าพเจ้าถามพี่เบิ้มว่าสนใจจะฟังมุมมองความคิดของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไหม แน่นอน...พี่เบิ้มสนใจ


“ข้าพเจ้าจึงจัดแจงนัดหมายให้พี่เบิ้มและคุณพิภพมาคุยกันที่ห้องทำงานของข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลจักษุรัตนิน วันนั้นทั้งสองคุยกันอย่างเป็นมิตร โดยคุณพิภพเป็นคนพูดเสียส่วนใหญ่ ส่วนพี่ชายของข้าพเจ้า นั่งฟังอย่างสนอกสนใจ พร้อมกับตั้งคำถามเป็นระยะๆ ก่อนจะแยกจากกันพี่เบิ้มหันมาพูดข้าพเจ้าว่า “อืม..เขาเป็นคนดีนะ”


ส่วนเหตุที่คุณหญิงเป็นที่ปรึกษาให้กับสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กนั้นสืบเนื่องจาก ในช่วงที่ลูกๆ เติบโตขึ้นแล้ว คุณหญิงเริ่มต้นสานต่อความสนใจและความตั้งใจที่มีมาแต่เดิม คือ การเขียนหนังสือและการศึกษา


เติมฝันและเกียรติภูมิ



ในวัยปลาย 30 คุณหญิงกลับเข้าชั้นเรียนอีกครั้ง สานต่อความตั้งใจที่จะเรียนด้านวรรณคดี ตั้งแต่ครั้งเรียนจบมัธยมที่อังกฤษ ในเวลานั้นคุณหญิงเรียนจบระดับO Level เตรียมทำ A Levelเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย


“อยากเรียนทางวรรณคดี แต่คุณพ่อเริ่มไม่สบาย ท่านอยากให้กลับมาทำงานธุรกิจของครอบครัว แปลกนะ คุณพ่อถามว่าจะเรียนวิชานี้ไปเพื่อสอนหรือ ก็ตอบว่าไม่ ตอนนั้นอายุสัก 16 มีความรู้สึกว่า การสอนคงน่าเบื่อ แต่เดี๋ยวนี้กลับพบว่าการสอนนั้นทั้งสนุก ทั้งเป็นการให้และการรับ ได้รู้จักเด็ก ได้ทราบว่าเด็กคิดอย่างไร ได้เรียนรู้สารพัด ที่พูดอย่างนี้อาจจะเป็นเพราะไม่ได้สอนเป็นงานประจำก็ได้นะคะ แค่เป็นอาจารย์พิเศษ หรือวิทยากรเป็นครั้งคราว” คุณหญิงให้สัมภาษณ์กับนิตยสารดิฉัน ในปี 2529


“เมื่อจำนนกับเหตุผล (ในตอนนั้น) ก็เบนมาเรียนเลขานุการ แต่ไม่จบ เพราะมัวแต่หนีไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะบ้าง ไปฟังเลกเชอร์ตามพิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ต่างๆ บ้าง...เวลาเดียวกันคุณพ่อก็ยังให้ไปเรียนวิชาทำกับข้าว และอะไรอีกเยอะแยะ ที่ขำที่สุดคือเรียนวิชานางแบบ ทั้งๆ ที่ตัวเตี้ย หัวโตอย่างนี้แหละค่ะ ครูเขาอุตส่าห์ให้กำลังใจว่าเท้าเล็กอย่างนี้หากินเป็นนางแบบรองเท้าได้ (หัวเราะ) ให้เรียนอะไรก็เรียน แล้วก็กลับมากรุงเทพฯ”


ดังนั้นเมื่อลูกๆ โตขึ้น คุณหญิงจึงปลีกตัวเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และจบปริญญาตรีเมื่ออายุ 42 ปี โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาวรรณคดีอังกฤษ

“จบการศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2525 รุ่นเดียวกับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์" การกลับเข้าไปคลุกคลีกับวรรณคดีอีกครั้ง เป็นแรงส่งให้คุณหญิงกลับสู่โลกของนักเขียน


ในปีเดียวกันนี้ (พ.ศ.2525) ประเทศไทยกำลังจัดงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในครั้งนั้น คุณหญิงมีโอกาสใช้ความสามารถด้านภาษา ทั้งทำงานแปลและเขียนบทความ คุณหญิงเล่าไว้ในปี 2529 ว่า


“งานแปล งานเขียนบทความที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของไทยให้ฝรั่งอ่านนั้น เห็นจะเริ่มจากตอนฉลอง 200 ปีกรุงเทพฯ ที่ใครๆ ก็วานให้เขียนโน่น แปลนี่ เป็นภาษาอังกฤษ ดิฉันก็ทำ ยิ่งทำยิ่งสนุก ภูมิใจนะคะที่เกิดมาเป็นคนไทย


“..เวลาแปลนี่ ไม่ได้แปลตรงตัวนะคะ ต้องเรียกว่าแปลและเรียบเรียงจะถูกกว่า จะคำนึงว่าผู้อ่านเป็นฝรั่ง พื้นฐานทางวัฒนธรรมเขาต่างจากเรา ต้องมีอุบายในการแปล ให้เข้าใจ น่าสนใจ สนุกและไม่เบื่อ ในเรื่องนี้การเขียนก็เหมือนกันค่ะ” งานแปลที่แพร่หลายงานหนึ่งในช่วงนั้น คือ หนังสือเล่มใหญ่ในชุดหนังสือพระที่นั่งวิมานเมฆ และงานสำคัญอีกงานหนึ่ง คือ งานเตรียมเอกสารภาษาอังกฤษ และร่วมเป็นวิทยากรในการอบรมมัคคุเทศก์นำชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว เนื่องในโอกาสการฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี


ผลงานในช่วงการฉลองกรุงฯ ส่งผลให้คุณหญิงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า ใช้คำนำหน้านาม ‘คุณหญิง’ ในปี พ.ศ.2526


จากนั้นคุณหญิงได้ทำงานแปลและงานเขียน เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยออกสู่วงกว้างต่อมาอีกหลายเรื่องทั้งงานคลาสสิกและร่วมสมัย อาทิ เป็นคณะทำงานแปล ไตรภูมิพระร่วง (Traibhumikatha) ในโครงการวรรณกรรมอาเซียน (Anthology of ASEAN Literatures) งานเขียนเรื่อง Boat Barges and Thai Literature ให้กรมประชาสัมพันธ์ เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค




คุณหญิงเล่าไว้ในการให้สัมภาษณ์กับ จุดประกาย น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ปี 2542 ว่า


“ถ้าถามว่าแปลอะไรยากที่สุด คงจะเป็นพวกกวีนิพนธ์ ทั้งสมัยใหม่และสมัยโบราณ ยากที่สุดเห็นจะเป็น 'กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง' คือแปลให้ไพเราะ ให้ได้เสียง ได้ความรู้สึก ได้ความตรงกับต้นฉบับ แล้วสั้นๆ อยู่ในบรรทัด ตามวรรค ของต้นฉบับให้ได้ด้วย ให้ไม่เชย ไม่ดูพิลึกในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากและโครงสร้างต่างกับเรามาก ให้ฝรั่งอ่านแล้วมีอารมณ์คล้อยตาม คิดดูซิคะ ‘เรื่อยๆมาเรียงๆ นกบินเฉียงมาทั้งหมู่’ หรือ ‘แก้มช้ำช้ำใครต้อง อันแก้มน้องช้ำเพราะชม’ และที่สนุกที่สุดเห็นจะแปลร่ายใน 'ลิลิตพระลอ' ท้าทาย ดีมาก ให้ได้เสียง ได้จังหวะ ไม่หลุดความ หลุดอารมณ์…"


กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ได้รับการยกย่องในความไพเราะและลักษณะพิเศษของบทประพันธ์ที่ จึงเป็นสิ่งท้าทายอย่างสูงสำหรับผู้แปล ในอันที่จะคงคุณค่าทางวรรณกรรมนั้นไว้ คุณหญิงแปลกาพย์เห่เรือเสร็จสิ้นภายในสองสัปดาห์ ด้วยการทำงานในสถานที่สงบยิ่ง


“ดิฉันไปนั่งแปลที่วัด เพราะว่าสงบดี วัดแรกที่วัดเขาสันติ และอีกวัดหนึ่งคือวัดดอนธรรมเจดีย์ ได้ถือโอกาสปฏิบัติธรรมไปด้วย” คุณหญิงให้สัมภาษณ์ไว้ในปี พ.ศ. 2537 อันเป็นปีที่ กาพย์เห่เรือ ภาคภาษาอังกฤษ ‘VERSE FOR THE ROYAL BARGE PROCESSIONS’ ได้รับการตีพิมพ์ เพื่อสนองพระราชดำริแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะทรงพระราชทานเผยแพร่วรรณกรรมไทย ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติแก่พระราชอาคันตุกะชาวต่างประเทศ ในวาระที่กรุงศรีอยุธยาได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก


หนังสือเล่มแรก


ในขณะที่ทำงานแปล คุณหญิงเริ่มกลับมาทำงานเขียนที่เคยเริ่มไว้แต่ครั้งเยาว์วัยอีกครั้ง ทั้งนี้งานเขียนชิ้นแรก ในชีวิตของคุณหญิงที่ได้รับการตีพิมพ์ คือเรื่องสั้นชื่อ The Moth ที่เขียนขึ้นในปี 1955 (พ.ศ. 2498) ในห้วงเวลาไกลบ้านอยู่ในอังกฤษ จากนั้นอีก 30 ปีเศษ จึงมีผลงานหนังสือเล่มแรก On The White Empty Page ตีพิมพ์ในปี 1988 (พ.ศ. 2531) คุณหญิงได้เล่าถึง ดร. มนตรี อุมะวิชนี ที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่ทำให้ชื่อ ‘Chamnongsri L. Rutnin’ เกิดขึ้นในฐานะนักเขียนและกวี




"หลังจาก “The Moth” เรื่องสั้นที่เขียนไว้เมื่อตอนอายุราว 16 ปี และได้ตีพิมพ์ในวารสารสามัคคีสาร ของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในอีกราว 2 ปีถัดมา ก็ไม่ได้มีผลงานอะไรออกมาอีกเลย กระทั่งอาจารย์มนตรี ได้อ่านงานที่ป้าเขียนไว้เรื่อยๆ ตรงนั้น ตรงนี้ เป็นแบบบันทึกความคิด ที่ไม่ได้คิดว่าจะตีพิมพ์ แต่อาจารย์อ่านแล้วก็ว่า..นี่เป็นงานกวีนิพนธ์.. คือสำหรับเรามันเป็นแค่บันทึก


ดร.มนตรี อุมะวิชนี และคุณหญิงจำนงศรี


"หลังจากนั้น อาจารย์ก็เลือกบท A women to her daughter ท่านบอกนี่ไม่ใช่แค่แม่เขียนถึงลูกสาว แต่เป็นบทกวี ซึ่งตอนแรกยังไม่มีชื่อบท ท่านก็ช่วยตั้งชื่อ แล้วส่งไปให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ตีพิมพ์ นี่เป็นครั้งแรกที่มีคนบอกว่าเราเป็นกวี คือท่านเป็นคนที่ช่วยกระตุ้นเตือน ว่าเราเป็นกวี และเอางานไปตีพิมพ์ เพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็น” ในช่วงปี พ.ศ.2525-26 จึงมีบทกวีของคุณหญิงตีพิมพ์ใน นสพ.บางกอกโพสต์ หลายบท ก่อนจะมีการรวมเล่มในอีกราว 5 ปีต่อมา


"คุณสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ จากสำนักพิมพ์ Pleasant Media มาหาที่บ้าน ว่าน่าจะรวบรวมงานที่เขียนๆ ไว้ และขอตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือรวมบทกวี โดยตั้งชื่อว่า On the white empty page ซึ่งเป็นชื่อบทกวีบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ด้วย บทนี้มีที่มาจากอาจารย์มนตรีเช่นกัน คือ ท่านรู้สึกว่าเราเป็นกวี แต่ไม่ผลิตงาน ตอนนั้นตอบท่านไปว่า ก็ไม่รู้จะเขียนยังไง ที่ผ่านๆ มา เวลาจะเขียน..ก็เขียน แล้วก็ไม่ค่อยเขียน ท่านบอกให้เอากระดาษสีขาววางไว้ข้างหน้า มีปากกาไว้ด้ามหนึ่ง เขียนอะไรก็ได้ลงไปบนกระดาษ แล้วมันจะออกมาก สุดท้ายจึงได้ออกมาเป็นบท On the white empty page”


รายละเอียดเรื่องนี้ คุณหญิงได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ นิตยสารสกุลไทย ช่วงเวลาที่ On the white empty page พิมพ์เสร็จใหม่ๆ ใน ปี 2531 ว่า


“...อันที่จริงกระดาษสีขาว ที่ว่างเปล่านั้น มันเรียกร้องชักชวนมากทีเดียวนะคะ มันทำให้รู้สึกอยากหยิบปากกา หรือหาสีมาระบาย ความรู้สึกนึกคิดลงไปให้มันเกิดความหมายขึ้นมา ดิฉันคิดว่าคนที่ถนัดด้านดนตรีก็คงระบายออกไปเป็นโน้ตดนตรีละมัง คุณสมศักดิ์ สกุลอิสริยาภรณ์ ผู้ออกแบบปก เข้าใจความหมายดี เธอบอกให้ดิฉัน ใช้สีระบายอารมณ์ลงบนกระดาษ แล้วเธอก็เลือกไปใช้บนปก สามรูปอย่างที่เห็นอยู่นั่นแหละค่ะ”



ในครั้งนั้น คุณหญิงได้ตอบคำถามที่ว่าการเป็นนักเขียนหรือกวีเป็นพรสวรรค์หรือไม่ ไว้ว่า


“เรื่องขีดๆ เขียนๆ นี่ก็ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับพรสวรรค์หรือไม่ จะว่ารักทั้งการอ่านและการเขียนละก็ใช่ เป็นผู้หญิงที่เรียนหนังสือน้อย เขียนเพราะรัก ก็เลยเขียนให้ตัวเองอ่านเป็นส่วนใหญ่... ไม่ได้เขียนให้คนอื่นอ่าน ก็เลยไม่ได้เก็บเอาไว้ ไม่นึกว่ามีคุณค่าอะไร ก็เลยจำไม่ได้แน่นอนว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไร เมื่อเล็กๆ อยู่ที่บ้านฝั่งธนฯก็ชอบแต่งเรื่อง แต่งนิทานอยู่ในสมอง...”


“...เขียนเพราะเป็นความสุขส่วนตัวที่จะเขียน มันทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ได้คำตอบใหม่ๆ ได้...จะพูดว่าอย่างไรดี...ได้เอื้อมไกลขึ้น กว้างขึ้นในแง่ของความคิด ความรู้สึก จินตนาการ ความเข้าใจ และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ...ดิฉันมีกิเลสมากนะในเรื่องภาษาเพราะมันมีแสง มีเสียง ประสมลีลา มีอื่นๆ อีก

แม้กระทั่งอุณหภูมิ..”


ในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2565 คุณหญิงได้พูดถึงประเด็นการเขียนเพราะอยากเขียน เพิ่มเติมว่า "เรื่องนี้อาจจะดีสำหรับคนที่อยากจะเขียน เพราะบางทีเราเขียน ไม่ใช่เพราะเราคิดว่าเราเขียนได้ แต่เราเขียนเพราะว่าอยากเขียน กับเพราะว่ามันมีอะไรข้างในตัวเรา ที่มาของผลงานจึงไม่ใช่ว่า ‘ฉันจะ เป็นนักเขียน’ ตรงนี้อยากจะเล่าไว้ เผื่อใครที่อยากจะเขียน”


นอกจากนี้คุณหญิงได้เล่าถึงผู้ที่มีความสำคัญต่อการทำให้งานเขียนเพราะอยากเขียน ได้รับการเผยแพร่ และช่วยให้ได้ค้นพบศักยภาพของตนเองว่า


"อีกท่านที่มีบุญคุณกับป้า ผลงานของท่านอาจไม่ลึกเท่าอาจารย์มนตรี แต่ท่านมีอารมณ์ขันมาก คือ ท่านจันทร์จิรายุ รัชนี ท่านเป็นอีกคนที่คอยเตือนให้ว่า เราเป็นกวี ท่านไม่เรียกชื่อ แต่จะเรียกว่า กวินี ท่านเห็นก็จะเรียก ‘อ้าว มานี่ กวินี’ ในตอนนั้นที่ป้าไม่คิดว่า ใครจะเห็นเราเป็นกวี


"ที่ลืมไม่ได้อีกท่าน คือ อาจารย์เจตนา นาควัชระ ที่ให้กำลังใจว่า งานที่เขียนๆ ไว้ ดีพอที่จะพิมพ์เป็นเล่มให้ผู้สนใจได้อ่าน และเมื่อรวมเล่มท่านกรุณาช่วยเขียนบทนำและวิจารณ์ ท่านเขียนด้วยแง่มุมที่ละเอียดลึกซึ้ง ทำให้ผลงานของเราดีขึ้นไปกว่าที่ป้าเห็นมาก”

ในบทสัมภาษณ์ของนิตยสารสกุลไทย คุณหญิงเล่าถึงการคัดเลือกบทกวีที่เขียนไว้เพื่อรวมเล่มว่า

“ความที่เขียนเพื่อตัวเอง ตอนมารวมเล่มก็เลยเรียงลำบาก ไม่ทราบว่าบทไหนเขียนเมื่อไร รู้สึกว่าเรียงงานของตัวเองยากพอๆ กับแปลงานของตัวเอง เวลานี้ทราบแล้วว่าแปลงานของตัวเองนั้น แปลไม่ได้”


ในการรวมเล่มครั้งนี้จึงมีคุณดนู ฮันตระกูลมาช่วยจัดลำดับให้ในทำนองเดียวกับการเรียบเรียงบทเพลง ส่วนการแปลผลงานบางบทในหนังสือเล่มนี้ มี ดร.สุธีรา จงสถิตวัฒนา เป็นผู้แปล และในเวลาต่อมา (ปี 2532) คุณหญิงได้ร่วมกับอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา แปลบท ‘หยดฝนกับใบบัว’ จาก Raindrop and Lotus leaf หนึ่งในบทกวี ที่รวมอยู่ในหนังสือ On The White Empty Page ซึ่งกระทั่งทุกวันนี้ คุณหญิงถือว่า อาจารย์เทพศิริ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานเขียนภาษาไทย


คุณหญิงและอาจารย์เทพศิริ อ่านบทกวีหยดฝนกับใบบัว ในงานคอนเสิร์ตเบิกหล้าฟ้าใหม่


“ได้ทำงานแปลบท 'หยดฝนกับใบบัว (Raindrop and Lotus Leaf)' ด้วยกัน กับคุณเทพศิริ สุขโสภา ตอนนั้นป้าไม่มีความมั่นใจในภาษาไทยของตัวเอง ส่วนอาจารย์เทพศิริท่านก็ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ก็เลยแปลร่วมกัน แต่ในด้านความงดงามของภาษาเป็นของคุณเทพศิริทั้งหมด ผลจากการแปลร่วมกันนี้ ป้าถึงได้เขียนภาษาไทยได้อย่างที่ใครๆ ว่า เขียนได้ไพเราะ ทั้งที่ตอนแรกภาษาไทยไม่ถนัดเลย แต่ก็ไม่ยากนักเพราะมีพื้นฐานอยู่ ต้องขอบคุณคุณเทพศิริ ทำให้ได้เรียนรู้การเขียนภาษาไทยที่งดงาม"


การแปลและอ่านบทกวี ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้อาจารย์เทพศิริซึ่งเป็นนักเดินทางเพื่อเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง ชักชวนคุณหญิงมาร่วมสนับสนุนโครงการผลิตหนังสือดีสำหรับเด็กของมูลนิธิเด็ก โดยคุณหญิงรับเป็นที่ปรึกษาให้กับ สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก และได้มีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาหนังสือสำหรับเด็ก ทั้งในด้านเนื้อหาและ รูปแบบในเวลาต่อมา


งานหลากมิติ


นอกจากงานเขียนบทกวีภาษาอังกฤษ คุณหญิงจำนงศรียังเขียนบทละครไว้สองเรื่องด้วยกันคือ สิ้นแสงตะวัน ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่น (บทละคร) ของมูลนิธิ John A. Eakin พ.ศ. 2525 และ ขอบฟ้าของแก้วตา (Kaewta’s horizon) เป็นงานเขียนในโครงการสร้างสรรค์บทละครไทย ของคณะละครสองแปด ซึ่งมีการนำเสนอต่อผู้ชมในรูปแบบการอ่านบทละคร และรวมเล่มในชื่อ 5 บทละครเวทีไทย (ปี พ.ศ.2534)




ส่วนผลงานการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ คุณหญิงทำต่อเนื่องมานับแต่ครั้งฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี ซึ่งมีทั้งงานที่รับทำในวาระต่างๆ และงานที่อ่านแล้ว ‘ชอบ’ ทั้งผลงานคลาสสิกและร่วมสมัยจำนวนมาก อาทิ บางบทของลิลิตพระลอ บทกวีและเรื่องสั้น โดยเฉพาะผลงานที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ซึ่งคุณหญิงได้แปลไว้จำนวนมาก อาทิ ชุดขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ของ อัศศิริ ธรรมโชติ ผาติกรรมและเพลงใบไม้ ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ปณิธานกวี ของ อังคาร กัลยาณพงษ์ มือนั้นสีขาว ของ ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้แปล บึงหญ้าป่าใหญ่ ของ เทพศิริ สุขโสภา




ในการให้สัมภาษณ์ นิตยสารสกุลไทย คุณหญิงได้เล่าถึงการทำงานแปลในเวลานั้น(พ.ศ.2531) ว่า “มีทั้งร้อยแก้ว และบทกวีค่ะ ทั้งงานเก่าและงานร่วมสมัย เจ้าฟ้ากุ้ง สุนทรภู่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อัศศิริ ธรรมโชติ และอังคาร กัลยาณพงษ์ พยายามแปลเอาวิญญาณ ท่วงทำนองและอารมณ์ของภาษา ต้องซับเอาทำนอง จังหวะ สีสัน ของต้นฉบับ ทำให้ตัวเองเกิดอารมณ์ร่วมกับผู้เขียน และเข้าใจความหมายอย่างชัดเจน แล้วถึงจะถ่ายทอดออกมา การแปลวรรณกรรมเป็นศิลปะใน ตัวของมันเอง


“งานเขียนของตัวเองนั้นมันไหลออกมาตามธรรมชาติ เป็นงานที่ออกมาโดยตรง เป็นขั้นตอนที่ไม่มีกรอบต่างๆ ที่บังคับเราอยู่เหมือนงานแปล ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในวิญญาณของนักเขียนคนโน้น คนนี้ หรือของคนที่ต่างยุคต่างสมัยจากตัวเราเองไปตั้งเป็นศตวรรษฯ ขณะที่เป็นนักเขียน เรารับผิดชอบกับความคิด ความรู้สึกของตัวเอง


“แต่นักแปลต้องแบกภาระความรับผิดชอบหนักกว่าเพราะเป็นของคนอื่น และเป็นคนอื่นที่ มีความวิเศษเฉพาะตัวแต่ละคน สำหรับตัวดิฉันเองรู้สึกว่าแปลยากกว่าเขียนเองค่ะ แต่ในเมืองไทยเรา มีงานวรรณกรรมที่ดีๆ มาให้เรารัก เราก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมาแปล เป็นกิเลสนะคะ เพราะมีความรู้สึกว่า เมื่อเราแปล เรามีส่วนในงานขึ้นนั้น เหมือนกับเรารักบทกวีบทไหน เราก็หยิบมาอ่านให้คนอื่นฟัง อ่านให้ดีที่สุด

ที่เราจะทำได้ เหมือนกับแปลให้ดีที่สุดที่เราจะทำได้"




ในช่วงเวลานี้ คุณหญิงยังมีผลงานบทความภาษาอังกฤษ ด้านวรรณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยมีประเด็นร่วมอยู่ที่การแนะนำวรรณกรรมและเรื่องเล่า รวมถึงถ่ายทอดเรื่องราว โลกทัศน์ และวัฒนธรรมของไทย ให้แพร่ขยายกว้างออกไปในกลุ่มผู้ไม่รู้ภาษาไทย ทั้งในรูปแบบงานเขียน แปล และทำรายการวิทยุ Voices and Ways of Thai Literature ให้วิทยุแห่งประเทศไทย อาทิ การนำนิทานและตำนานมาเล่าใหม่ คือ โมรา (The Origin Of Gibbons) พระลอ (The Story of Pra Law) จระเข้เมืองพิจิตร (The Battles of the Crocodiles) และมโนราห์ (The Story of Manohra, The Bird Maiden) บทวิเคราะห์เรื่อง Nature in the Service of Literature และ Boats, Barges and Thai Literature




คุณหญิงจำนงศรียังมีงานบรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มจากการชักชวนของคู่สะใภ้ ศ.ดร.มัทนี รัตนิน ซึ่งเป็นอาจารย์สอนศิลปะการละคร ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณหญิงได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2531 ว่า


"เป็นอาจารย์พเนจร คือใครเชิญไปสอนก็ไป เคยเป็นทั้งอาจารย์พิเศษและวิทยากร ที่สอนเป็นเรื่องเป็นราวจริงอยู่พักหนึ่ง ก็วิชาวิจารณ์การละครและภาพยนตร์ ที่ธรรมศาสตร์ สองสามปีมาแล้ว เลิกเพราะเป็นวิชาที่ต้องใช้เวลามาก วิชาแปลและวรรณคดีเคยไปทั้งที่ธรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ สำหรับจุฬาฯ เคยแต่ไปเป็นวิทยากร อ้อ ที่สนุกมากก็เมื่อสมัยที่ไปทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรวิชาอารยธรรมตะวันตก ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์"



ในจำนวนงานที่หลากหลายของคุณหญิง ยังมีงานเขียนบทภาพยนตร์ เรื่องระย้า(2524) จากบทประพันธ์ของ สด กูรมะโลหิต กำกับโดย เพิ่มพล เชยอรุณ อีกด้วย


3 คนจากซ้าย ดร.มัทนี รัตนิน คุณหญิง และ อุชเชนี


ผลงานที่สร้างความสนใจและกลายเป็นกระแสในเวลานั้น คือ การอ่านบทกวีประกอบการแสดงดนตรี ที่เริ่มต้นจาก งานคอนเสิร์ต มาลัยหลากสี หาทุนให้ศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนประภาคารปัญญา (กรกฎาคม 2531) ซึ่งคุณหญิงจำนงศรีเป็นผู้อ่านบทกวี ขอบฟ้าขลิบทอง ของอุชเชนี (ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา) ประกอบดนตรีประพันธ์โดย ดนู ฮันตระกูล บรรเลงโดยวงไหมไทย


งานคอนเสิร์ตเบิกหล้าฟ้าใหม่ (จากซ้ายไปขวา) เทพศิริ สุขโสภา คุณหญิงจำนงศรี

นรินทร ณ บางช้าง อรชุมา ยุทธวงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ จรัล มโนเพ็ชร


ต่อมา ในปี 2532 คุณหญิงจำนงศรี ร่วมกับคุณดนู ฮันตระกูล จัดทำคอนเสิร์ต เบิกหล้าฟ้าใหม่ หาทุนให้แก่ มูลนิธิดวงประทีปเพื่อมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิ-วัฒนา ใช้ในโครงการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับแม่และเด็ก และรณรงค์เรื่องป้องกันโรคเอดส์ คอนเสิร์ตนี้ได้รับความชื่นชมจากสื่อว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการแสดงที่เป็นการประสานระหว่างดนตรี บทกวี เพลงและนิทานกวี เป็นการร่วมงานของผู้มีชื่อเสียงในวงการแสดง ดนตรี และวรรณกรรม อาทิ เทพศิริ สุขโสภา จรัล มโนเพ็ชร นพพล โกมารชุน นรินทร ณ บางช้าง อรชุมา ยุทธวงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บรรเลงดนตรี โดยวงไหมไทย ซึ่งเป็น วงจุลดุริยวงค์ (Chamber Orchestra) มีดนู ฮันตระกูลเป็นผู้ประพันธ์ดนตรี และวาทยกร


คุณหญิงเขียนเล่าเรื่องนี้ ในปี 2566 ว่า


ครั้งหนึ่งนานแสนนานมาแล้ว


ป้าศรีเป็นโปรดิวเซอร์ จัดงานคอนเสิร์ต วงไหมไทย ของคีตกวี ดนู ฮันตระกูล ร่วมกับการร่ายบทกวี โดยให้ “คำกวี” เสียงดนตรี ภาพ แสง และการเคลื่อนไหวของวาทยกร ผู้ร่ายบทกวี และนักดนตรี สอดสร้อยร้อยกันเป็นสุนทรียะในรูปแบบใหม่ (สำหรับสมัยนั้น)

เป็นงานเวที ที่ให้ชื่อว่า ”เบิกหล้าฟ้าใหม่” ดนตรีบรรเลงโดยวงไหมไทย ของ ดนู ฮันตระกูล เพื่อเปิดหอประชุมเมืองไทยประกันชีวิตชีวิต ถนนรัชดาภิเษก

จัดแสดงกี่รอบก็ขายตั๋วได้หมดเกลี้ยง เพิ่มรอบก็แล้ว ก็ขายตั๋วหมดอีก จนคุณนพพล บอกว่า ผมต้องเล่นละคร เล่นหนัง ผมไม่มีคิวให้แล้ว

บทกวีเป็นของ เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ และ จำนงศรี รัตนิน

ส่วน จรัล มโนเพชร มาร่วมด้วย เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า

คำเพลงของเขานั้น งดงามและมีลักษณะเป็นกวีนิพนธ์ชัดๆ

รายได้จากงานนั้น บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต มอบให้กับ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมในพระราชินูปถัมภ์



ใครเป็นใครในรูป ดูกันเอาเองนะคะ

เอ้าบอกก็ได้

จากซ้ายไปขวา ดนู ฮันตระกูล

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน

เทพศิริ สุขโสภา

โพธิพงศ์ ล่ำซำ

นรินทร ณ บางช้าง

จรัล มโนเพชร

เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์

อรชุมา ยุทธวงศ์

นพพล โกมารชุน

(ปัจจุบันเป็นศิลปินแห่งชาติกันหลายคนอยู่ )

งานนี้คุณไข่ แห่งไข่บูติก เป็นผู้ออกแบบและตัดเย็บร่วมการกุศลด้วย

โดยใช้ผ้าพิมพ์ลายไทย ของร้านโขมพัสตร์ หัวหิน

รู้สึกขอบคุณมาจนทุกวันนี้ เพราะสวยเหลือเกิน เข้าไฟได้งามเหลือเชื่อ

การถ่ายภาพยุคนั้นไม่เนี๊ยบเหมือนยุคนี้ ส่วนวิดิโอที่ถ่ายไว้ก็หากันไม่เจอแล้ว”




ในคอนเสิร์ต เบิกหล้าฟ้าใหม่ คุณหญิงจำนงศรี และ เทพศิริ สุขโสภา ร่วมกันอ่านนิทานกวี หยดฝนกับใบบัว ต่อมาได้มีการนำผลงานชุดนี้ไปบันทึกเสียงจำหน่ายในรูปแบบเทปคาสเส็ต


ทว่าท่ามกลางความสำเร็จ ชื่อเสียง และเกียรติยศที่ถ่าโถมเข้ามา ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นความล้มเหลว อย่างถึงที่สุดของชีวิตภายใน คุณหญิงสรุปไว้ว่า “ความสำเร็จกับความล้มเหลวเป็นคนละปลายของไม้ท่อนเดียวกัน


ในวังวนของความทุกข์


ป้าศรีว่า เป็นช่วงของความหลงกับ...สิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นความสำเร็จ น่ากลัวมาก ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่หรอกค่ะ มันหลงกับชื่อเสียง กับสารพัด ตอนนั้นเป็นช่วงที่งานเริ่มเป็นที่ยอมรับ ...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหนึ่งที่คนสมัยนี้คงลืมหมดแล้วล่ะ ที่คุณดนู ฮันตระกูล เอางานกวีนิพนธ์ของ ป้าศรี และของ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไปทำเป็นงานคอนเสิร์ตใหญ่ และคอนเสิร์ตนั้นขายตั๋วดีมาก…เรารู้สึกว่าเราเว่อร์ไปเลย มันก็เลยพาชีวิตเราทำอะไรที่มันไม่ถูกต้อง…มันไม่ใช่ของจริง แล้วมันทุกข์ มันทุกข์มาก...” คุณหญิงในวัย 76 ปี ให้มุมมองย้อนกลับไป ในรายการLighthing Talk กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง


ส่วนเหตุที่ดำเนินไปถึงจุดนั้น คุณหญิงจำนงศรีได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร Hello ในปี พ.ศ. 2556 ไว้ว่า


“16-17 ปีแรกป้าศรีทำงานโรงพยาบาลตลอด ทำหลายอย่างมาก ทำทั้งวัน ถึงตีหนึ่งตีสองก็บ่อยมาก ไม่ได้ไปไหนหรือทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเองเลย…


แต่ถึงจุดหนึ่งใจมันจะขาด อยากเหลือเกินที่จะพบ ที่จะคบคนที่สไตล์เราบ้าง สไตล์ศิลปิน นักเขียน อยากทำสิ่งที่ตัวเองรัก พออายุใกล้จะ 40 ก็เริ่มกลับมาทำงานเขียนอีกครั้ง เจียดเวลาทีละนิด เริ่มจากการแปลงานไทยเป็นอังกฤษ ทั้งกวีนิพนธ์ ทั้งวรรณกรรม แล้วก็เริ่มกลับมาเขียนงานของตัวเอง


ทั้งนี้เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ที่อังกฤษ ชีวิตในโรงเรียนของคุณหญิงประกอบด้วย ยามบ่ายวันอาทิตย์ ที่เริ่มต้นด้วยเพลงคลาสสิค จากนั้นครูใหญ่ซึ่งเป็นจิตรกรจะนำหนังสือดีๆ มาอ่านให้เด็กๆ ฟัง เป็นโลกที่ประกอบด้วย คิงเลียร์ แม็คเบธ เฮมเล็ต ฯลฯ และผลงานอีกหลายชิ้นของมหากวีอังกฤษ เช็คสเปียร์ บทละครของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอร์ และ อิบเซ่น นักการละครยุคใหม่ รวมถึงเรื่องลึกลับของ แอดการ์ อลัน โป หนึ่ง

ในนักเขียนคนโปรดของคุณหญิง


การได้เรียน ได้อ่านบทกวี วิเคราะห์ พูดคุย ถกเถียง จัดการแสดงละครโรงเรียน และความสุขยามเดินตามหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ และเข้าโรงละคร เป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อครั้งคุณหญิงทำงานข่าวพร้อมรับหน้าที่เขียนวิจารณ์ศิลปะและภาพยนตร์ และกลายเป็นสิ่งทีโหยหาในช่วงสิบกว่าปีของการสร้างครอบครัว ดังนั้นเมื่อกลับไปเรียนวรรณคดี จึงเหมือนการกลับคืนสู่โลกวรรณกรรมอีกครั้ง


คู่สะใภ้ มัทนี (รัตนิน) ให้ไปเป็นวิทยากรที่ธรรมศาสตร์ก็ไป เขียนบทละครส่งประกวดชนะ ไปรับรางวัลที่โรงแรมโอเรียนเต็ล มีหนังสือพิมพ์มารุมสัมภาษณ์ โอ๊ย อัตตามันพองใหญ่ ที่นี้เบรกไม่อยู่” และคุณหญิงรับเขียนบทภาพยนตร์ เรื่องระย้า(2524) นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในครอบครัว


“เราก็เห็นใจเขานะ รู้สึกผิดมาก แต่มันเหมือนหม้ออัดที่เพิ่งเปิดฝา ยิ่งตอนฉลองกรุงเทพฯ ครบสองร้อยปี มีการฉลองใหญ่ แขกสำคัญๆ เข้ามามากมาย พระที่นั่งวิมานเมฆที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้บูรณะ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ เราก็ไปช่วยด้านภาษาอังกฤษ ชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ก็อินมากๆ ยิ่งได้เป็นไกด์ภาษาอังกฤษให้แขกเมืองเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ รวมทั้ง Director ของ Smithsonian ด้วย


“หมอเขาก็ไม่ว่านะที่ทำงานถวายเจ้านาย แต่เราก็ยิงเหลิง ยิ่งหลง ยิ่งซ่า ว่างั้นเถอะ น่าเห็นใจเขา เขาทุ่มใจให้โรงพยาบาลก็อยากให้เมียทุ่มเหมือนแต่ก่อน


“หมอยิ่งโกรธ เราก็ยิ่งกลัว ยิ่งกลัว ก็ยิ่งหิวการยอมรับ และความชื่นชมจากคนข้างนอก ก็ยิ่งได้ก็ยิ่งอยาก มันเป็นวงจรอุบาทว์ เหมือนคนติดยา ตอนนั้นขาดธรรมะ ยิ่งได้รับการชื่นชมก็ยิ่งเหลิง ร้องเพลงไม่เป็นก็อ่านบทกวีสิ ไปจัดรายการเพลงกวี


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณหญิง และ เทพศิริ สุขโสภา ร่วมอ่านบทกวีในงานเบิกหล้าฟ้าใหม่

.

“สนุกมากเมาเวที เป็นไอ้โง่ที่ดิ่งเหวเพราะหลงคิดว่าตัวเองเก่ง” ในขณะที่ความสัมพันธ์ตึงขึ้นเรื่อยๆ จนทุกข์สุดๆ “อารมณ์ความคิดต่างๆ วนเหมือนผ้าสกปรกในเครื่องซักผ้าที่ไม่มีผงซักฟอก ยิ่งวนยิ่งขุ่นคลั่กขึ้นทุกที นรกในใจไง”


“ความสำเร็จ กับความล้มเหลวน่ะ มันเป็นคนละปลายของไม้ท่อนเดียวกัน...เริ่มมองหาทางออก ไม่งั้นคงเป็นบ้าหรือฆ่าตัวตาย”


สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผลงานของคุณหญิงบนเวที เบิกหล้าฟ้าใหม่ บทกวี หยดฝนกับใบบัว อยู่บนหลักธรรมในพุทธปรัชญาว่าด้วย ‘ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง’ และอาจจะเป็นแก่นนี้ที่ดำรงอยู่ภายใน เป็นผลให้คุณหญิงได้พ้นจากวังวนแห่งความทุกข์ด้วยวิถีธรรมในเวลาต่อมา


วิถีธรรม


“เริ่มสังเกตอาการของความคิดของตัวเองว่า ความคิดมันวนอยู่กับตัวฉัน และก็ของฉัน และเห็นกระบวนการของความคิด ว่ามันวนอยู่กับความอยาก ความไม่อยาก ความเอา เอาไม่ได้ เอาได้ ความโกรธ ความกลัว คือสามอย่างนี้ ความจริงมันเป็นอันเดียวกันหมด มันพ่วงกัน คนไม่รู้ คำว่าคนไม่รู้นี่ คนอย่างป้าศรีในขณะนั้น มันไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วมันอันเดียวกันหมด คือ เพราะอยากจึงกลัว กลัวเสีย จึงโกรธเมื่อไม่ได้อย่างใจ มันเป็นวังวนที่น่ากลัวมากนะคะ มันหมุนลง


“แต่ว่าจะเป็นโชคหรืออะไรก็ไม่ทราบนะคะ เราเห็นมัน คือ ถึงจุดที่มันไม่ไหวแล้ว เราเห็น เมื่อเราเห็นและจะออกจากมัน คือรู้ แต่ออกไม่ได้ค่ะ จากวังวนอันนี้” ในจุดที่ทุกข์ที่สุด คุณหญิงหวนคิดถึงเมื่อครั้งไปปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของคุณแม่สามีที่อ้อมน้อยอยู่ 3 วัน ที่แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ได้สัมผัสธรรมชาติของกายและใจ “ได้เห็นความอยาก ความคิด ความกลัว ความยึดในตัวตนว่ามันโยงกันจนทำให้ทุกข์ใจอย่างไร”


คุณแม่ของ นพ.อุทัย เป็นผู้จุดประกายให้คุณหญิงที่ในวัยสาวไม่ได้ยึดถือศาสนาใดเป็นสรณะ หันมาสนใจพุทธศาสนา “สมัยสาวๆ ตอนอายุ 18-22 ปี ตอนนั้นเราประกาศตัวเลยว่าไม่มีศาสนา ศาสนาพุทธนี่เป็นอะไรที่ดูหมิ่นดูแคลน แล้วตอนไปเรียนอยู่ต่างประเทศ เราก็ฟังคัมภีร์ไบเบิลทุกวันนะ แต่ทั้ง 2 อย่างเราไม่ยอมรับทั้งคู่"


หลังจากแต่งงาน “ตั้งแต่อายุยังไม่ 30 คุณแม่หมออุทัยถูกจักรยานชนกระดูกแขนแตก เห็นท่านสงบ ไม่โกรธ ไม่เดือดร้อน ถามว่าเจ็บไหม ท่านก็บอกว่าเจ็บสิ แต่มันก็เป็นแค่ ‘เวทนา’ เราก็อย่าเอาใจไปยุ่งกับมัน แล้วท่านก็อธิบายขันธ์ห้า เราก็เอาสิ เที่ยวไปหาหนังสือทั้งอ่าน ทั้งถก ทั้งฟัง คือเป็นคนเชื่อสติปัญญาตัวเอง แบบนักเรียนนอกไง คุณแม่ว่าศึกษาทฤษฎีเยอะแล้ว เข้าห้องทดลองได้แล้ว ตัวเองนั่นแหละเป็นห้องทดลอง ก็ไปเลย ลูกยังเล็กๆ ก็ไปแค่ 3 วัน ไปอยู่คนเดียว ไม่พบใคร ไม่พูดกับใคร แค่อยู่กับปัจจุบันของกายกับใจ นั่นแหละการปฏิบัติธรรมครั้งแรก แต่แล้วก็กลับมายุ่งกับชีวิตครอบครัวและการงาน แต่นั่นก็เป็นเชื้อให้อยากกลับไปปฏิบัติฯ อีก ตอนทุกข์มากเมื่ออายุจะห้าสิบ” คุณหญิงเล่าถึง การแก้ทุกข์ด้วยธรรมะไว้ในการให้สัมภาษณ์หลายวาระ


“...อานิสงส์ของการปฏิบัติฯ ในสมัยนั้น ที่ผุดขึ้นในใจ ให้ได้ปีนขึ้นจากก้นเหว มีคนแนะนำให้ไปสวนโมกข์ของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่สุราษฎร์ธานี…


“ตอนที่ไปสวนโมกข์น่ะ ทุกข์สุดๆ คนที่ช่วยมากตอนนั้นคือคุณพี่รัญจวน (อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง) ทั้งสอน ทั้งดุ ทั้งให้กำลังใจ ท่านย้ำเตือนตลอดให้เพียรพยายามฝึกสติ ให้รู้กาย รู้ใจ


เข้าคอร์ส 10 วัน คุณพี่รัญจวนเป็นอาจารย์ ตื่นตีสี่ เดิน 2 กิโลกว่า มาฟังท่านอาจารย์พุทธทาสเทศน์ที่วัดทุกวัน พอเข้าคอร์สครั้งที่ 6 รู้ตัวว่าต้องปฏิบัติฯ ให้ต่อเนื่อง ก็ขอท่านอาจารย์มาอยู่ที่วัดสวนโมกข์ ไปบ่นกับท่านว่า อยากออกธุดงค์เหมือนพระป่า ท่านบอกว่าไม่ได้ ผู้หญิงมันอันตราย ท่านให้ไปอยู่บ้านไม้ริมป่าห่างจากใครๆ จะขออยู่เดือนหนึ่ง คุณพี่รัญจวนบอกว่าไม่ให้กำหนดเวลา มันเป็นอนาคต

ให้อยู่แค่วันต่อ จะกลับบ้านเมื่อใดก็กลับ


“อยู่วันต่อวันไปถึง 3 เดือน ชีวิตภายในค่อยๆ เปลี่ยนไป เพราะได้เห็นวงจรการหนีทุกข์ แสวงสุขของนก ของสัตว์ รวมทั้งหมาแมวที่คนเขาเอามาปล่อยวัด ได้เห็นความเป็นความตายอยู่รอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นมด แมลง ตุ๊กแก หนู ที่อาศัยบ้านร่วมกับเรา ได้เห็นว่าเรากับเขากลัวทุกข์ หิวสุขเหมือนกัน เห็นความเปราะบางของชีวิต มันค่อยซึมเข้าถึงใจ พอความสำคัญของ ‘ฉัน’ จางลง ‘ปัญหาของฉัน’ก็เบาตาม ใจก็เป็นสุขขึ้นตาม ‘เป็นสุข' กับ 'มีความสุข' ไม่เหมือนกันเลย ความ ‘เป็นสุข’ อยู่ที่จิตที่สุขง่ายทุกข์ยาก ‘มีความสุข’ มันเป็นความสุขที่ได้จากสิ่งภายนอก มีได้ก็หมดได้”


คุณหญิงเขียนเล่าไว้ในหนังสือ ‘ฝนตกยังต้องฟ้าร้องยังถึง’ ว่า “ข้าพเจ้ากลับกรุงเทพฯ หลังจาก 3 เดือนของการเรียนรู้ด้านปฏิบัติที่สวนโมกขพลาราม โดยตั้งใจว่าจะกลับไปอยู่สวนโมกข์ต่อไปอีกเรื่อยๆ แต่อาจารย์คุณรัญจวนเห็นว่าข้าพเจ้าเริ่มติดสำนัก ติดอาจารย์ เริ่มมีอุปาทานว่าสำนักเรานี้ดีกว่าสำนักอื่นใด ท่านจึงแนะนำให้ไปปฏิบัติต่อที่วัดป่าทางภาคอีสาน เพื่อที่จะได้มุมมองที่หลากหลาย และมีใจที่เปิดกว้าง


ท่านอาจารย์พุทธทาสและคุณหญิง


“เมื่อไปกราบลาท่านอาจารย์พุทธทาส พร้อมกับเรียนท่านว่าจะไปปฏิบัติธรรมต่อที่ภาคอีสาน ท่านอาจารย์ใช้เวลานานนับชั่วโมงในการเทศน์ด้านการปฏิบัติ และการตอบคำถามต่าง ๆ อย่างละเอียดลออ แตกต่างจากเมื่อสมัยแรก ๆ ที่ข้าพเจ้าไปถึง ทั้งนี้เพราะท่านพูดเสมอว่าการเรียนรู้นั้น ต้องมีภาคปฏิบัติเป็นสำคัญ เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วก็จะมีพื้นฐานในการซักถามให้ได้ประโยชน์อย่างจริงจัง”


จากนั้นคุณหญิงไปปฏิบัติธรรมต่อที่วัดดอยธรรมเจดีย์ กับพระอาจารย์แบน(พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร หลวงปู่แบน ธนากโร) อีก 3 เดือนเต็ม


บทสุดท้ายของนักสู้


ในช่วงเวลาเดียวกันคุณหมออุทัยได้เห็นผลจากการปฏิบัติธรรมของคุณหญิง มีความสนใจที่จะไปปฏิบัติธรรมเช่นกัน โดยได้เตรียมลางานไว้ 7 วัน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น คุณหมอเดินทางไปอเมริกาเพื่อผ่าตัดมะเร็งปอด โดยไม่ได้บอกกับครอบครัว

ศ.นพ.อุทัย รัตนิน


คุณหมออุทัยตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ปอด ในเดือนพฤศจิกายน 2535 เมื่อไปประชุมวิชาการ ที่เมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส และเดินทางไปพักกับเพื่อนรัก นพ.โสภณ นาคไพรัช ที่โอคลาโฮมา เพื่อตรวจเช็คร่างกาย


จากนั้นคุณหมอเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อตรวจซ้ำ และตัดสินใจไปผ่าตัดที่อเมริกาในวันที่ 3 ธันวาคม โดย วางแผนว่าจะเข้ารับการผ่าตัดและพักฟื้นที่ที่บ้านคุณหมอโสภณ แล้วค่อยเดินทางกลับเมืองไทย โดยไม่ให้ผู้ใดรู้ว่าเป็นมะเร็ง อันอาจจะทำให้ครอบครัว ญาติพี่น้อง คนไข้ และผู้ร่วมงานขวัญเสียโดยไม่จำเป็น


การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตามในวันที่สามหลังการผ่าตัด ปอดข้างดีมีอาการหายใจล้มเหลว (Adult Respiratory Distress Syndrome, ARDS) นับเป็นเรื่องแปลกที่เวลานั้น ทุกคนในครอบครัวมีกิจธุระให้ไปรวมอยู่ที่สหรัฐอเมริกาพอดี คุณน้ำผึ้งติดตามสามีไปประชุม คุณน้ำหวานและคุณน้ำอ้อยกำลังเรียนปริญญาโท คุณหญิงจำนงศรี ไปเยี่ยมและพักอยู่กับ คุณน้ำอ้อย ส่วน คุณไต๋ เรียนแพทย์อยู่ที่ โตรอนโต แคนาดา ทุกคนจึงเดินทางไปเยี่ยมคุณหมอได้อย่างรวดเร็ว


จากซ้ายไปขวาแถวยืน นพ.สรรพัฒน์(ไต๋) คุณจิตรจารี(น้ำอ้อย) นพ.อุทัย คุณอโนมา(น้ำหวาน) คุณจตุพร (เต้ย)

แถวนั่ง คุณวรัดดา(น้ำผึ้ง) และ คุณหญิง


คุณหญิงเขียนถึงช่วงสุดท้ายในชีวิตของคุณหมออุทัย ไว้ในหนังสือ ‘นัยน์กาย นัยน์ใจ’ หัวข้อ จุดสุดท้ายของนักสู้ ว่า


"กลไกของกายช่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์สะท้อนกันกับใจอย่างน่าอัศจรรย์ สังคม สิ่งนอกกาย อดีต อนาคต หมดความหมาย เมื่อความรอดของชีวิตแขวนอยู่กับลมหายใจที่จะอำนวยให้ออกซิเจนในเลือดคงระดับความเพียงพอ ปัจจุบันทุกขณะจิตเท่านั้นที่สำคัญยิ่ง เพราะจะต้องประคองดุลยภาพของกายกับใจไว้ให้ได้ ถึงแม้จะใช้เครื่องช่วยหายใจปอดของหมอก็ยังส่งออกชิเจนสู่เม็ดโลหิตได้ในปริมาณน้อยมาก ทุกครั้งที่หมอใช้ความคิด หรือมีอารมณ์ ไม่ว่าจะพอใจ ไม่พอใจ หรือเกิดอาการตื่นเต้น กังวล ร่างกายหมอจะเรียกใช้ออกชิเจนมากกว่าที่ปอดจะกรองให้ได้...


ข้าพเจ้าและลูก ๆ ที่เฝ้าดูผู้ที่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตเรา รู้สึกได้ถึงความเปราะบางของชีวิต และความจริงที่ว่า อารมณ์ความคิดของเราฆ่าเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตของอาการเจ็บป่วย กายกับใจ คนเราก็มีอยู่เพียงแค่นี้


เราห้าคนแม่ลูกเช่าห้องในโรงแรมใน Baptist Medical Center ซึ่งมีทุกอย่างพร้อมสรรพ เราผลัดกันขึ้นไปเฝ้าหมอในห้องไอซียู ในระยะแรกหลังการเจาะคอใส่เครื่องช่วย แพทย์อนุญาตให้หมอเขียนหนังสือโต้ตอบกับผู้ที่เข้าเยี่ยมได้


น้ำผึ้ง ตั้งข้อสังเกตว่า


"เราเคยแอบน้อยใจว่าพ่อเห็นงานสำคัญกว่าอะไรอื่น แต่ในช่วงสุดท้ายนี้ พ่อไม่ได้เขียนถามถึงงานเลยแม้แต่นิด ลายมือขยุกขยิกเพราะอ่อนแรงของพ่อเป็นคำถามเกี่ยวกับแม่และลูกๆ ทั้งสิ้น เป็นตัวอักษรที่ตอกย้ำในใจเราว่าพ่อรักเราแค่ไหน"


กลางดึกวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม ทางห้องไอซียูบอกข้าพเจ้าและลูกๆ ว่าหมอเหลือเวลาอีกน้อยมาก อาการของหมอเหมือนคนนอนหลับ แต่พยาบาลบอกเราให้พูดกับหมอเพราะการรับรู้ดีมาก เขาบอกว่าหมอจะรู้แม้กระทั่งว่าเสียงพูดเป็นเสียงของใคร ช่วงเวลากว่า 2 ชั่วโมงสุดท้ายของชีวิตหมอ จึงเป็นช่วงที่เราเตือนหมอให้ระลึกรู้ถึงกุศลกรรมที่หมอได้กระทำไว้มากมาย จึงไม่มีอะไรที่หมอต้องห่วงหรือต้องกังวล ให้หมอปล่อยวางจากทุกสิ่ง ใจได้สงบรู้อยู่กับปัจจุบัน ไม่อาลัยกับอดีต ไม่กังวลถึงอนาคต ไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งที่เราเห็นหมอขยับริมฝีปากตามคำ "พุทโธ" ที่เราบอกข้างหู ขณะร่วมกันทำใจให้เป็นสมาธิ


เห็นได้ว่าหมอพยายามมีสติรู้ปัจจุบันในคำภาวนาจนถึงวาระสุดท้าย และสิ้นลมอย่างสงบ ในเวลา 2 นาฬิกา 3 นาที วันเสาร์ ที่ 19 ธันวาคม 2535 โอคลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา



คุณหญิงสรุปไว้ในเวลาต่อมาว่า “ชีวิตที่ผ่านมาถึงมีลบ ก็มีบวกก็เยอะมาก มีลูกดีๆ สี่คน ได้ช่วยหมออุทัยตั้งโรงพยาบาลจักษุรัตนินขึ้นมา... ก็รู้สึกภูมิใจนะคะที่วงการแพทย์ยกย่องหมออุทัยว่า เป็นผู้บุกเบิกวิทยาการสมัยใหม่ทางจักษุวิทยาให้กับบ้านเมืองเรา เขาเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาจักษุฯที่รามาธิบดี และริเริ่มอะไรใหม่ๆ เยอะ แล้วก็ช่วยคนไม่ให้ตาบอดมานับไม่ถ้วนจริงๆ วันเวลายุคนั้นผ่านไปสิ้นไป แต่ไม่มีอะไรสูญเปล่าหรอก เป็นประสบการณ์ที่สะสมมาเป็นตัวเราในวันนี้”


“...ทุกวันนี้ไม่จริงจังกับความทรงจำ ไม่ตั้งใจลืมนะ แต่ไม่ค่อยเชื่อมัน เรื่องเดียวกันคนสองคนมักจะจำเพี้ยนกัน ที่เล่ามานี่ก็เหมือนเอาชีวิตมาคลี่ดู จะผิดเพี้ยนแค่ไหนก็ไม่รู้...รู้สึกเหมือนฉายหนังที่เราเคยเล่น และเราวันนี้ก็ไม่ใช่ตัวละครตัวนั้นแล้ว ถ้าคนอื่นเรียนรู้เรื่องที่เล่านี้ และช่วยให้เขาดูแลความสัมพันธ์ในชีวิตเขาให้ดีได้ ป้าศรีก็จะดีใจมาก ถือว่าเป็นบุญ”


พันธะ

ภาพถ่ายโดยคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


Shall I ever escape the Wheel

When colour enchants me so,

Light that lurks in quiet eyes,

And smiles that do not show?


Will my breath always be taken

With treasures from kindred minds,

Kindness that comes without a voice,

Starlight in the dark deep sky?


Will my head always reel

When moonlight dances on water

Or solemnity fills a child's eye

Or an infant's hand curls

around my finger?


บทกวี Bondage ใน On The White Empty Page



คุณหญิงเคยพูดถึงบทกวี Bondage ไว้ว่า "เรื่องราวในชีวิตที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงกับความตายมีอยู่มาก ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับความตาย เมื่อประกอบกับวันเวลาในโลก ที่ได้เห็นทุกข์ ทั้งจากการปฏิบัติธรรมและการเผชิญชีวิต เป็นสองขั้วทั้งทางโลกและทางธรรม ทำให้รู้ว่าสิ่งต่างๆ ล้วนแล้วแต่จับต้อง ยึดมั่นไม่ได้ ได้เห็นอนิจจังของสรรพสิ่ง ทำให้ไม่อยากจะเกิดอีก แต่ในขณะเดียวกัน ก็รู้สึกรักชีวิตเหลือเกิน 'รักชีวิต' ไม่ใช่ว่ารักตัวกลัวตายแต่รักในความงดงามมหัศจรรย์ของชีวิต...


“เหมือนกับว่าความตายที่ทำให้เราเห็นทุกข์ ในขณะที่ความงามของชีวิตที่ผูกเราไว้ เป็นสองสิ่งที่คู่กันมา การปฏิบัติธรรมและความเป็นกวี ทำให้เราเห็นทั้งสัจจะที่ช่วยให้เราพ้นทุกข์ไปได้ และความงามที่รั้งเราเอาไว้ให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร เป็น ‘พันธะ' ที่ทำให้ไปถึงจุดสุดท้าย ที่ไม่อยากเกิดอีก...ยากมาก"


ทศวรรษที่ 1990 ผ่านพ้นไปด้วยความพิเศษกว่าทศวรรษก่อนหน้า เนื่องจากเป็นการสิ้นสุดของศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงเวลาที่คนบนโลกในขณะนั้นเกิดและเติบโตขึ้นมา วันเวลาพ้นผ่าน ทั้งความสุขและความทุกข์ก็สิ้นสุดลง พร้อมๆ กับเกิดขึ้นใหม่ บนกงล้อเวลาที่หมุนโดยไม่เคยหยุดยั้งเข้าสู่ศตวรรษใหม่

 



ดู 70 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page