top of page

บทวิจารณ์ หนังสือดุจนาวากลางมหาสมุทร

วาณิช จรุงกิจอนันต์



(ตอนที่ 1)


ผมกำลังหาหนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร อยู่ รู้ข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นเวลาเดียวกับ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์) ผู้เขียน กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ ขอกราบขอบพระคุณคุณหญิงมา ณ ที่นี้ด้วย


ดุจนาวากลางมหาสมุทร เป็นหนังสือเชิงสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวของตระกูลหวั่งหลีซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อกว่าร้อยปีก่อน

ตระกูลหวั่งหลีเป็นตระกูลจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด มีบทบาทสำคัญในเชิงเศรษฐกิจการค้าพัฒนามากับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง นับแต่บรรพบุรุษรุ่นแรกจนถึงปัจจุบันเป็นตระกูลเก่าแก่และมีบทบาทในสังคมไทยไม่น้อยกว่าตระกูลอื่นใดที่มาจากเมืองจีน คุณหญิงจำนงศรีนั้น ครึ่งหนึ่งท่านเป็น 'หวั่งหลี' อีกครึ่งหนึ่งท่านเป็น 'ล่ำซำ' ผมอ่านหนังสือเล่มนี้รวดเดียวจบ ส่วนหนึ่งด้วยความสนใจเรื่องคนจีนในเมืองไทยโดยส่วนตัว อีกส่วนหนึ่งมาจากที่คนเขียน เขียนได้น่าอ่าน น่าติดตาม ต้องกล่าวคำนิยมไว้ก่อนว่า คุณหญิงจำนงศรีผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นผู้ที่ใช้ภาษาดีเยี่ยม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษนั้น ต้องนับว่าเป็นเลิศ


จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน เคยอ่านรายงานจากสัมมนาเรื่องการแปล ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในรายงานนั้นมีที่คุณหญิงจำนงศรีแปล “ร้อยชู้หรือจะสู้เนื้อเมียตน เมียร้อยคนหรือจะสู้พระแม่ได้” เป็นภาษาอังกฤษ ผมจำในรายละเอียดไม่ได้ว่าเขียนภาษาอังกฤษว่าอย่างไร จำได้แต่รู้สึกเมื่ออ่านว่าภาษาอังกฤษที่แปลนั้น ไพเราะได้โวหารกวี ได้อรรถรสเทียบเท่าต้นฉบับที่เป็นภาษาไทย


คุณหญิงจำนงศรีท่านเคยแปลเรื่องสั้นของผมสองเรื่อง คือเรื่อง เพลงใบไม้ และ ผาติกรรม เป็นภาษาอังกฤษ แปลดีกว่าที่ฝรั่งเคยแปลไว้มาก ได้รสอย่างที่ผมคิดว่าควรจะได้ เมื่อเปรียบกับภาษาไทย


ผมอ่าน ดุจนาวากลางมหาสมุทร ด้วยความเข้าใจ เกือบจะเรียกได้ว่าปรุโปร่งถึงพัฒนาการของตระกูล ทั้งนี้เพราะผมเป็นลูกจีน เกิดและโตในสังคมคนจีนในเมืองไทย เข้าใจความรู้สึกนึกคิดและวัฒนธรรม เห็นความเจริญและตกต่ำของคนจีนเมืองไทย ซึ่งเริ่มต้นมาไม่แตกต่างจากตระกูลหวั่งหลี


หลายตอนในหนังสือผมอ่านด้วยความรู้สึกกินใจ จับใจ เหตุเพราะนึกถึงเตี่ยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ผู้เขียนอ้างถึงข้อเขียนของ สุภางค์ จันทวานิช จากหนังสือ ถิ่นกำเนิดของชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทย “ชาวแต้จิ๋วจึงมีคำกล่าวเล่นๆ ที่เรียกว่าซาซัวหรือซัวสามประการ ประการแรก ได้แก่ จ่อซัว หมายถึงการเป็นเจ้าสัว...ประการที่สอง ได้แก่ ตึ่งซัว หมายถึงการได้กลับเมืองจีน...ประการสุดท้าย ได้แก่ งี่ซัว หมายถึงสุสานวัดดอน คือการถูกฝังแบบผีไม่มีญาติ...”


เตี่ยผมมาเมืองไทยแล้วก็ไม่เคยได้กลับไปเมืองจีน ไม่ได้เป็นเจ้าสัว และดีหน่อย ที่ไม่ได้เป็นงี่ซัว ไม่ได้ฝังแบบผีไม่มีญาติที่วัดดอน ยังได้เผาที่วัดหัวลำโพง


ผมโตมาในตลาดชุมชนชาวจีนต่างจังหวัด ได้เห็นซาซัวมาครบถ้วน คือได้เห็นคนที่เป็นเจ้าสัว คนที่ได้กลับเมืองจีนและคนที่ตายแบบผีไม่มีญาติ ซึ่งซัวสุดท้ายนี้อาจจะรวมถึงพี่ชายของเตี่ยผม


เตี่ยผมมาจากเมืองจีนด้วยกันสามคนพี่น้อง เป็นชายเรียงกันมา โดยเตี่ยผมเป็นคนสุดท้อง มาเมืองไทยในปีสองสี่หกศูนย์ซึ่งเตี่ยอายุสิบเก้าปี มากันแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่มีคนในตำบลเดียวกันนำทางมาก่อน ก็ได้รับการช่วยเหลือในเรื่องการทำมาหากิน


อาแปะพี่ชายคนโตและเตี่ยผมเอางานเอาการทำมาหากิน อาแปะคนโตค้าไม้ เตี่ยผมค้าข้าว แต่อาแปะที่เป็นคนกลางนั้นดูเหมือนจะไม่เคยค้าขายอะไร รับจ้างนั่นนี่ไปเรื่อย รับจ้างสุดท้ายคือ รับจ้างอยู่โรงหมู เมาเละทั้งชีวิตจนถึงตาย ก่อนตายเตี่ยผมตัดญาติเลยทีเดียว เพราะห้ามเท่าไรก็ไม่ฟังในเรื่องกินเหล้า


อาแปะผมคนนี้ตายใต้ถุนตลาด บริเวณบ้านของเจ้าของโรงหมู ป่วยหนักตัวบวมตีนบวมอยู่นาน ไม่มีใครดูแลเอาใจใส่ ผมในวัยไม่ถึงสิบขวบเกือบจะเป็นคนเดียวที่ไปดูอาการ แล้วก็ไปบอกเตี่ยซึ่งทำงานเป็นหลงจู๊โรงสีในตลาดเดียวกัน เตี่ยผมเป็นห่วง แต่ไม่ยอมมาดู


สองวันก่อนอาแปะจะตาย ผมไปบอกเตี่ยว่าอาแปะขี้ดำ เตี่ยผมดูจะรู้ทันทีว่าเวลาตายของอาแปะมาถึงแล้ว เตี่ยล้วงกระเป๋าหยิบส่งให้ผมยี่สิบบาท บอกให้เอาไปให้อาแปะ ผมเอาไปให้อาแปะ อาแปะก็สั่งทันทีว่าให้ไปซื้อเหล้ามา


อาแปะได้กินเหล้าอีกครั้งหนึ่ง และรุ่งขึ้นก็ตาย ผมอยู่ตลาดบ้านสุด อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าของตลาดซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีเป็นเจ้าสัวในตระกูลหิรัญยะวะสิต แม่บ้านผมนั้นมาจากแปดริ้ว เป็น ตระกูลเจ้าสัวในตระกูลวัฒนสินธุ์ ซึ่งว่าไปแล้วทั้งสองตระกูลที่ผมคุ้นเคยนี้ก็มีวิธีแบบอย่างในการเริ่มต้นสร้างฐานะในเมืองไทย ไม่ได้แตกต่างจากตระกูลหวั่งหลี หรือตระกูลเจ้าสัวทั่วไปในเมืองไทย ก็ทำโรงสี โรงเลื่อย ค้าข้าวและมีที่ดินมากมายมาในทำนองเดียวกัน


จะต่างกันก็แต่ว่าเป็นเจ้าสัวต่างจังหวัดกับเจ้าสัวกรุงเทพฯ การเป็นเจ้าสัวในกรุงเทพฯนั้น โอกาสที่จะขยายกิจการให้ร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไปมีมากกว่า


การที่คนจีนมาเมืองไทยแล้วจะเป็นเจ้าสัวได้นั้น มีองค์ประกอบหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ ร่ำรวยมีทุนมาจากเมืองจีน อีกอย่างหนึ่งคือ มาจากเมืองจีนแบบจนแล้วมุมานะขยันขันแข็ง เก็บเงินแล้วคิดหาทางที่จะลงทุน


เตี่ยผมพอใจกับการค้าขายข้าวที่ทำอยู่ ไม่คิดจะเก็บเงินไปลงทุนขยับขยาย ไม่มีความคิดจะเป็นเจ้าของโรงสี พอใจแค่การเป็นลูกจ้าง คือเป็นหลงจู๊โรงสี และด้วยความที่เป็นปัญญาชนปนความเป็นศิลปิน เอ็นจอยการกินเหล้าอย่างยิ่ง ทำให้ขาดคุณสมบัติในทุกประการที่จะเป็นเจ้าสัว ผมก็เลยเป็นลูกเจ๊กลูกจีนธรรมดา ไม่ได้เป็นลูกเจ้าสัว

 

(ตอนที่ 2)


หนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร ให้ภาพสายตระกูลหวั่งหลีจากจุดเริ่มต้นที่เมืองจีนตลอดมาจนถึงเมืองไทยในยุคนี้ได้ดี ทำให้เห็นภาพได้ว่าถ้าเดินย้อนรอยหารากประวัติชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งในตระกูลหวั่งหลีวันนี้ ก็อาจพอรู้ว่าจะเดินไปทางใดสายใด และสายนั้นก็จะย้อนกลับไปถึงหมู่บ้านหวั่งหลีในเมืองแต้จิ๋วได้


ทำให้พอจะมองเห็นภาพได้ว่า บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว หรือจีนอื่นๆ ในเมืองไทยมีเส้นทางความเป็นมาอย่างไร ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่และการอพยพ ซึ่งทำให้ผมนึกภาพออกของเตี่ยผมสมัยที่ยังอยู่เมืองจีนและสมัยที่อพยพได้บ้าง


เตี่ยผมเกิดที่ตำบลปะจุยโอ้ว หมู่บ้านอะไร อำเภออะไรไม่รู้ อาจจะเป็นแถวๆ ไม่ไกลจากเมืองซัวเถา ไม่ไกลจากหมู่บ้านหวั่งหลีนักก็ได้ เตี่ยผมก็คงจะลงเรือที่ซัวเถามาเมืองไทยเหมือนกัน


ตระกูลหวั่งหลีนั้นแซ่ตั้ง เตี่ยผมแซ่เจี่ย พวกแซ่เจี่ยนั้นดูเหมือนจะไม่มากนักชุมนุมกันแถวสุพรรณบุรีแยะเจ้าสัวซีพีคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ท่านก็เป็นพวกแซ่เจี่ยเหมือนกัน และมีญาติๆ โยงๆ ไปถึงย่านสุพรรณบุรีด้วย


ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมนึกภาพบรรพบุรุษผมในเมืองจีนไม่ออกเลยนะครับ วาดภาพในความคิดเอาก็คลาดเคลื่อนคลุมเครือเต็มที


ผมเคยนึกๆ ฝันๆ อยู่เหมือนกันเมื่อนานมาแล้ว ว่าอยากจะไปเมืองแต้จิ๋ว ไปสืบสาวเรื่องราวบรรพบุรุษของตน แต่นึกฝันไปอย่างนั้น เป็นเรื่องเกินกำลัง เกินฐานะ และไม่มีเรื่องราวอะไรมากที่จะให้สืบค้น ก็คงจะเป็นครอบครัวหนึ่งที่ยากจนในหมู่บ้านหนึ่งที่จนยาก ไม่มีชาติตระกูลเชื้อสายทรัพย์สินอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ที่จะบอกกล่าวถึงและเรื่องราวทั้งหลายก็คงขาดห้วง ขาดตอน


หนังสือเล่มนี้มีภาพประกอบมาก และเกือบทั้งหมดเป็นภาพเก่าที่หาดูได้ยาก ผมนึกเสียดายอยู่นิดที่ภาพส่วนใหญ่พิมพ์เล็กไปหน่อย ภาพในหนังสือมีส่วนช่วยให้เข้าใจและนึกเห็นภาพตามที่ผู้เขียนเล่าได้มาก แต่ที่ผมว่าจะมีสักภาพหนึ่งแล้วไม่มีก็คือภาพของสาแหรกตระกูล


ขอแนะนำว่า หากจะมีการพิมพ์ครั้งต่อไปควรเพิ่มเติมไว้ เพราะช่วยให้อ่านได้เข้าใจสะดวกขึ้น ไม่อย่างนั้นต้องอ่านย้อน อ่านทวนบ่อยๆ เนื่องจากจำไม่ได้ว่าคนที่เอ่ยถึงเป็นใคร มาทางสายไหนแน่ แล้วผมก็อยากจะรู้นะครับว่าสายตระกูลหวั่งหลีในรุ่นผู้เขียน คือคุณหญิงจำนงศรีนั้น มีใครกันบ้าง โยงกับสายตระกูล

ล่ำซำแล้วแตกลูกแตกหลานไปอย่างไร


ผมยังนึกว่าคุณหญิงจำนงศรีผู้เขียนเรื่องนี้ น่าจะเขียนเล่าประวัติตัวเอง ผมว่าเรื่องราวคุณหญิงในวัยเด็กสมัยที่อยู่กับคุณยายนั้นน่าสนใจมาก


ความที่ผู้เขียนเจตนาจะเล่าเรื่องตระกูลหวั่งหลีในภาพรวมนะครับ เลยทำให้ประหยัดการเล่าเรื่องในรายละเอียดที่ผมอยากรู้ต่อเป็นต้นว่า เรื่องการทำขนมหวานและอาหารการกิน


ผู้เขียนยกตัวอย่างการทำอาหารชนิดหนึ่งของตระกูลหวั่งหลี เป็นอาหารที่ผมคิดว่าต้องลองทำกินแน่ๆ อาหารที่ว่านี้ก็คือปลาทูทอด เป็นปลาทูทอดกระป๋อง ทอดปลาทูนึ่งไฟอ่อนๆ เสร็จแล้วแช่น้ำมันหมูไว้นานเกินเดือน เมื่อจะกินนำมาทอดใหม่ กินโดยการยำหรือคลุกน้ำพริก เรียกว่าปลาทูทอดกระป๋องเพราะบรรพบุรุษของตระกูลหวั่งหลีทำปลาทูทอดที่ว่านี้ใส่กระป๋องส่งไปให้ญาติกินที่เมืองจีน ผมเห็นสูตรแล้วคิดว่าอร่อยแน่ๆ ครอบครัวเก่าแก่ไม่ว่าคนไทยหรือคนจีนก็ตาม มักมีสูตรอาหารอร่อยเฉพาะตัวที่ทำกินเป็นประจำ เป็นอาหารประเภทเถ้าแก่ชอบกิน


อ่านจากคำนำแล้วผมรู้สึกว่าผู้เขียนออกจะมีความกังวลว่า ตนเองกำลังเขียนหนังสือตำราประวัติศาสตร์ เกรงความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ผมไม่รู้สึกว่าหนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร เล่มนี้เป็นหนังสือหรือตำราประวัติศาสตร์ คิดว่าดูจะเป็นการดีที่ผู้เขียนไม่พยายามเขียนด้วยท่าทีและระบบคิดของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะต้องมีการแยกแยะวิเคราะห์ถึงเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ในเชิงวิชาการ อันเป็นไปได้ว่าจะไม่ทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านเพลินอย่างที่เป็นอยู่


เป็นงานเขียนเรื่องเล่าในเชิงสังคมวิทยามากกว่า อ่านสบายๆ เหมือนเรื่องเล่าสู่กันฟัง


คำนำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับหนังสือเล่มนี้ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “...ส่วนที่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือความรู้สึกที่ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงความพอใจอย่างลึกๆ ของผู้เขียนเอง ซึ่งได้ค้นพบรากเหง้าของตัวเอง และด้วยเสน่ห์อันนี้ของหนังสือ ก็ทำให้คนเชื้อสายจีนในเมืองไทยซึ่งครั้งหนึ่งถูกกำหนดให้เป็นคนนอกได้ความรู้สึกอย่างเดียวกัน ว่าส่วนหนึ่งของรากเหง้าของตัวเองนั้นอยู่ในสังคมไทยนี่เอง นับเป็นความรู้สึกที่ให้พื้นที่ยืนแก่คนเชื้อสายจีนได้อย่างมั่นคงขึ้น อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของตัวเอง”


ผมติดใจประเด็นความเห็นของอาจารย์นิธิตรงนี้ เพราะตัวเองนั้นเป็นลูกเจ็ก ซึ่งเคยมีความรู้สึกเป็นคนนอก


ความรู้สึกผิดหวังในชาติกำเนิดของตัวเอง เกิดกับผมในสมัยเด็กๆ ผมน้อยใจว่าตัวเองใช้แซ่ แม้จะเปลี่ยนจากแซ่แล้วก็ยังน้อยใจว่า นามสกุลตัวเองนั้นยาวเป็นนามสกุลเจ็กจีน น้อยใจที่ตัวเองไม่สามารถจะเรียนโรงเรียนนายสิบนายร้อยได้ เพราะเตี่ยเป็นต่างด้าว


ความรู้สึกเป็นคนนอกของผมหายไปนานนมแล้วครับ เมื่อไหร่ก็ไม่ได้จำ แต่เคยมีผู้ใหญ่สูงอายุคนหนึ่งในบ้านเมืองเคยกล่าวกับผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งในเชิงชอบใจผม เมื่อได้อ่านข้อเขียนในระยะแรกๆ บอกว่าไม่ได้มีปมด้อยในเรื่องความเป็นลูกจีนของตัวเองเลย


เคยมีนะครับ พอโตขึ้นรู้จักตัวเอง รู้นิสัยสันดานตัวเอง รู้นิสัยสันดานไทยผมก็รู้สึกว่ามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นลูกเจ็กคนนอกที่มีพื้นที่ยืนในเมืองไทยแล้ว


ถ้าเป็นนาวากลางมหาสมุทร ก็ถึงฝั่งเกยตื้นและจอดปลดระวางบนแผ่นดินไทยนี้เรียบร้อยแล้ว.

 

จาก: ดุจนาวากลางมหาสมุทร(1) และ ดุจนาวากลางมหาสมุทร(2) โดย วาณิช จรุงกิจอนันต์ ใน มติชนสุดสัปดาห์

ดู 29 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page