top of page

ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดากับป้าศรี

จาก: Podcast สมองใส...ใจสบาย


Photo by Khunying Chamnongsri Hanchanlash



หลังๆ ป้าศรีจะได้รับเชิญให้ไปพูดเวทีต่างๆ เรื่องธรรมชาติกับธรรมะ และความเป็นธรรมดากับชีวิต ป้าศรีอยากจะเชื่อมโยงธรรมะกับธรรมชาติให้ได้เข้าใจ และเข้าถึงความคิดของป้าศรียังไงบ้าง


ป้าคิดว่า สำหรับป้าธรรมะคือ ธรรมชาตินั่นเอง คือเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราและนอกตัวเรา ทั่วไปหมด เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย สิ่งที่ตามมาจากเหตุปัจจัย ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด


อยากให้อธิบายความเชื่อมโยงธรรมะกับธรรมชาติให้เป็นรูปธรรม


ถ้าเราสังเกตความเป็นไปของทั้งความรู้สึกนึกคิด ทั้งร่างกายเราเอง การเคลื่อนไหวของเรา มันมีธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความคิดเปลี่ยนตลอด คือคิดแบบนี้ เป็นแบบนั้น คิดเรื่องเดียวกัน มันมีต้น มีกลาง มีปลาย มันมีหายไป พอรับรู้อะไรมาก็ความคิดนั้นอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะน้อย อาจจะมาก ไม่มีอะไรคงที่เลย โกรธแล้วก็หายโกรธ ไม่โกรธแล้วก็มาโกรธ มันเป็นธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง และการทรงอยู่ไม่ได้ มันเป็นกระแส ในระดับเดียวกันแบบเป๊ะ ๆ มันไม่มีหรอก ถ้าใครสังเกตความโกรธของเราเอง เหมือนกับเวลาที่ดูละครมันจะมีขึ้นมีลง ถ้าโกรธมากๆ ก็เท่ากับว่าเราเข้าไปอยู่ในอารมณ์นั้นมาก ก็เหมือนว่าเราเข้าไปอยู่ในมัน เราไม่เห็นสัจจธรรมของมัน เราไม่เห็นความจริงของมัน เราอาจจะรู้สึกว่ามันโกรธเป็นแท่งเลย แต่ถ้าเราถอยออกมามองอาการของความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ แม้กระทั่งความเกร็งของร่างกาย เราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วมันเป็นแค่กระแส โกรธจนตัวสั่นมันก็เป็นกระแสนะ


ป้าศรีเคยมีภาวะแบบนั้นไหมคะ โกรธจนตัวสั่น


อันที่จริงโกรธไม่ถึงกับตัวสั่น แต่การที่ตัวเองมันอาจจะบอกว่าไม่ทราบว่ายังโกรธอยู่หรือเปล่า ยังเกิดอาการโกรธบ้างหรือเปล่านี่ ตอบไม่ได้แล้วนะคะ แต่ว่ามันมีเหตุการณ์เฉพาะตัว ที่ก็ไม่แน่ใจว่าควรจะเล่าหรือไม่เล่า แต่ว่ามันมีความโกรธอยู่อันหนึ่ง เพราะว่าจุดอ่อนของป้าศรีคือ “มานะ” เป็นความรู้สึกว่าตัวเองทำได้ และก็รู้ว่าพูดตรงๆ เลยก็คือว่า “คิดว่าตัวเองเก่ง” ว่างั้นเถอะ อันนี้คือจุดปัญหาที่ติดตัวมากับป้าศรีตั้งแต่ยังเป็นสาว เอาอย่างนี้ละกัน มันเป็นสิ่งที่เรียกกันว่ามานะ


ทีนี้ก็วันหนึ่งคุยอยู่กับท่านหนึ่งที่เป็นที่นับถือของสังคม แล้วก็ท่านพูดอะไร นี่เป็นเวลานานแล้วนะหลายปี ท่านพูดอะไรก็ไม่ทราบ ที่มันกระทบความรู้สึกอย่างแรง ความรู้สึกของมานะ ตัวตนว่าฉันเก่ง มันเกิดอาการโกรธ แต่ว่าในภาวะนั้น มันแปลกที่ว่า มันมีการเห็นความโกรธนั้น เห็นเป็นกระแส เหมือนกราฟที่ขึ้นลง มันไม่ใช่แค่กราฟ เป็นการสั่นสะเทือนที่ทำให้เกิดเส้นของกราฟนั้น มันเห็นอย่างชัดเจน แล้วก็ในขณะเดียวกันเราก็ยังคุยกับท่านนั้นต่ออย่างเป็นปกติ อันนี้ที่มันเห็นเลยว่า ธรรมชาติของความโกรธมันเป็นยังไง และมันมาจากตรงไหน อาการของมันเป็นยังไง แต่ว่าการที่ว่ามันมาจากไหน มันอาจจะไม่เห็น มันมาเห็นทีหลัง แต่ที่เรากำลังเห็นอารมณ์นั้น การทำการของอารมณ์นั้น หน้าตาของอารมณ์นั้น มันทำให้เรารู้เลยว่า อ๋อ มันเป็นแค่กระแส เหมือนกระแสไฟฟ้าหรือกระแสอะไร ที่มันติ๊ดๆๆ แล้วมันก็มีมากน้อย มีขึ้น มีลง มันเข้าหลักพระพุทธธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์” ลักษณะ 3 ประการ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง คือตั้งอยู่ไม่ได้ อันที่ 3 มันเป็นแค่ process มันเป็นแค่กระบวนการ มันไม่ใช่อะไรของใคร นึกออกไหมมันเป็นธรรมชาติของมันเอง พอเห็นเช่นนั้น มันก็ไม่เป็นสิ่งที่เป็นเรื่องเป็นราว แม้กระทั่งธรรมชาติของร่างกายที่เรากำลังพูดอยู่ มันก็เป็นธรรมชาติของสมอง


เราเห็นวงจรของสิ่งที่มันเกิดขึ้น มันมีผลยังไงกับอารมณ์ของเรา ทำให้เราโกรธน้อยลง หรือหายโกรธได้ง่ายขึ้น หรือเฉย ๆ มันมีผลยังไงบ้าง


ป้าตอบตามความสัจจะจริงและจากใจ ป้าไม่แน่ใจ แต่เดี๋ยวนี้ป้าก็ไม่ค่อยโกรธอะไรแล้ว มันมีระดับของความไม่พอใจ พอใจ ไม่พอใจ แต่ที่จะโกรธนี่ นึกไม่ออกค่ะ จำไม่ได้ ไม่เชิง มันไม่เกิดก็ไม่เกิด ธรรมชาติของมันเอง

ป้าขอแก้คำพูดด้วยซ้ำไปว่ารู้เท่าทัน ป้าก็ไม่รู้ว่ารู้เท่าทันมันหรือเปล่า มันเป็นธรรมชาติของเราเอง

กว่าที่เราจะไปเห็นจุดที่เราเห็นได้ ป้าศรีใช้เวลาฝึกตรงนี้ยังไง


ป้าคิดว่าอย่าไปฝึกแล้วก็คิดว่าจะได้ เพราะว่าในขณะที่ฝึกมันไม่ได้ แต่ว่าถ้าคำสอนของพระพุทธองค์เรียกว่าเป็นการสูตรมายะ ท่านสอนให้เราได้ฟัง ได้ยิน ได้คิด พอได้ฟังได้ยิน มันก็มาถึงจุดที่เราได้คิด คือระดับต้นคือได้ฟัง ได้อ่าน เขาเรียกว่าสูตรมายปัญญา เรียนรู้จากการอ่าน เป็นปัญญาขั้นต้น คือรู้จากคนอื่นเขา แต่ถ้าเราให้เวลาให้ใจเราได้สงบพอที่ให้การใคร่ครวญมันจะเป็นอย่างสุขุมและลึกซึ้ง มันจะมาถึงอีกระดับหนึ่งเรียกว่า จินตมายปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการคิด การใคร่ครวญ การนำสิ่งที่ตัวเองได้สัมผัสได้รับรู้ได้อะไร เห็นขึ้นมาในการเข้าใจ


นิยามของคำว่าใคร่ครวญในความเห็นของป้าศรีมันเป็นยังไง


มันก็ต้องประกอบไปด้วยความคิด ความจำ พิจารณา ถึงได้บอกว่ามนุษย์เรารียนรู้จากคนอื่นด้วย เรียนรู้จากตัวเองด้วย ป้าอาจจะยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น อยากจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนป่า ป้าชอบ คือมีความสุข สะอาด เวลาที่อยู่กับป่า ธรรมชาติ กับน้ำ ซึ่งหลายๆ คนไม่เข้าใจว่าถึงได้หาสถานที่อย่างนั้น ตั้งแต่สาวๆ ตั้งแต่เด็กๆ เลยด้วยซ้ำ พูดแล้วมันก็จะถอยหลังไปไกลมาก


เอาอย่างนี้ดีไหม ป้าเป็นคนที่ถูกส่งไปต่างประเทศตั้งแต่ยังเด็กๆ เลย ตั้งแต่อายุ 12 แล้วเครื่องบินก็ยังเป็นเครื่องบินใบพัดเลย เพราะงั้นอย่าได้คิดเลยว่าจะได้กลับเมืองไทยง่ายๆ ไปอยู่ในประเทศที่คนผิวขาว และบังเอิญโรงเรียนอยู่กลางป่าที่อังกฤษ ถ้าใครไปดูใน GPS New Forest , New ที่แปลว่า ใหม่ Forest ที่แปลว่า ป่า จริงๆ มันเป็นป่าที่เก่าที่สุดของอังกฤษด้วยซ้ำไป แต่เขาเรียกว่า New Forest จากสมัยกี่ศตวรรษมาแล้วก็ไม่รู้ โรงเรียนเราไปอยู่กลางป่าเลยค่ะ


ที่นั่นเป็นที่ที่ป้าสัมผัส เอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้าป้ามีความสุขอย่างมากมายที่ในโรงเรียน ที่ป้าก็สื่อสารไม่ค่อยได้ เป็นเด็กต่างชาติคนเดียว เด็กที่อาจจะต่างชาติอีกคน มีแม่เป็นอเมริกัน มีพ่อเป็นอังกฤษ เพราะงั้นป้านี่ผิวก็ต่างจากเขา ภาษาก็แทบจะไม่รู้เรื่อง วัฒนธรรมคนละเรื่องกัน แล้วถูกไปปล่อยแบบนั้น ทุกข์ไหมคะ ทุกข์มากนะคะ เพราะฉะนั้นความทุกข์มาก เหงา เข้ากับเขาไม่ได้ ตอนหลังมันก็เข้าได้พอภาษามันได้พออะไรมันได้ แต่ตอนต้นมันเป็นตัวประหลาดมาก เรียนหนังสือก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง คือ 6 เดือนแรกอยู่กับแม่บ้านเพื่อเรียนภาษาอังกฤษ แต่มันก็ไม่พร้อมที่จะเข้าโรงเรียนที่เป็นเด็กอังกฤษทั้งหมดและสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด วัฒนธรรมอังกฤษจ๋าเลย


เพราะฉะนั้น ความทุกข์มันเป็นพลังอันหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เราพิจารณา การที่อยู่กลางป่า การพิจารณามันอาจจะง่ายขึ้น เราเห็นทุกสารพัดทุกข์ที่อยู่ในป่า สมัยนั้นมีการล่าหมาจิ้งจอกด้วยหมา ทารุณมากเลยคือ คนอยู่บนม้าแล้วมีหมาเป็นกลุ่ม ไล่ล่า เดี๋ยวนี้มันผิดกฎหมายแล้ว แต่สมัยป้ามันไม่ผิดกฎหมาย แล้ว New Forest เป็นจุดหนึ่งของการล่าหมาป่าอะไรอย่างนี้ มันเห็นทุกข์ค่ะ เห็นความโหดร้าย เห็นใบไม้ร่วง เห็นใบไม้ผลิ มันเห็นทุกข์ในใจตัวเราเองด้วย แต่ทุกข์นั้นก็เปลี่ยนแปลง อย่างเช่น เราไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่มันเกิดความสงบขึ้นมาในใจ แล้วความสุขของป้าอีกอย่างคือ ตอนที่เราไปนอนอยู่ใต้ต้นไม้ แล้วดูใบไม้มันเคลื่อน แล้วทะลุขึ้นไปเห็นท้องฟ้าหน่อยๆ เห็นแสงเงามันเคลื่อนเห็นอะไรแบบนั้น อันนี้มันธรรมะกับธรรมชาติหรือเปล่า

เหมือนกับนักบวชที่จะเข้าป่าเพื่อเข้าไปฝึกฝนตัวเอง มันมีความเชื่อมโยงที่ทำให้เราได้เห็น

ความเป็นไป


แต่จริงๆ แล้วป่ากรุงก็สามารถเป็นที่เรียนธรรมะได้เหมือนกัน เราต้องสัมผัสกับสารพัดอย่าง สารพัดคน สารพัดสถานการณ์ เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงได้อยู่เรื่อยๆ สมมติเราเดินเข้าไปใน party ขณะที่เราเดินเข้าไป เราเห็นคนนี้ เห็นคนนั้น แต่ขณะที่เราเดิน ภาพมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จริงๆ มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติ แม้กระทั่ง party ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่มารวมกันเพื่อความสนุกสนานบันเทิงถูกไหมคะ จริงๆ แล้วจะดูให้ดีๆ ปฏิบัติธรรมที่ไหนก็ได้


คำว่าปฏิบัติธรรมป้าไม่ทราบว่าแปลความได้ถูกต้องหรือเปล่า แต่สำหรับป้าคือการเห็น 3 สิ่ง คือ ความไม่เที่ยง ความทรงอยู่ไม่ได้ และความเป็นกระแสของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เวลาเราไม่ละเอียดพอ เราไปจับมันเป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยกลายเป็นนิสัยของการคิดอย่างนั้น มองอย่างนั้น เพราะงั้นการปฏิบัติธรรมนั้นทำที่ไหนก็ได้


กลับมาคำว่าธรรมชาติ คำว่าธรรมชาติของป้า ถึงแม้จะเป็นคนที่อยู่ป่าเยอะ ออกป่าเยอะมาก ไปอยู่คนเดียวตามป่าเยอะมาก แต่จริงๆ แล้ว เวลาไปอยู่ตามป่าตามเขาสำหรับป้ามันง่ายขึ้น เพราะว่ามันมีความสงบของสิ่งแวดล้อมทำให้อะไรตกผลึกได้ง่ายกว่า แต่จริงๆ แล้วที่ไหนก็ได้ เข้าไปใน party เราก็ยังใคร่ครวญได้ คำว่าใคร่ครวญ นี่ทำให้เป็นนิสัยสิคะ ทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของเรา และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นธรรมชาติของเราคือ การเข้าถึงความสงบหรือความว่างในจิตของเราเองได้พอสมควร ที่มันจะมีสิ่งที่เขาเรียกว่า ภาวนาปัญญา มันผุดขึ้นมาได้ มันจะผุดขึ้นมาเมื่อไหร่เราไม่รู้ แล้วก็อย่าไปหวังมัน



Photo by Khunying Chamnongsri Hanchanlash


มันสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเราได้ไหม สิ่งที่เราฝึกฝนทางธรรมะมันช่วยเราไหม


มันก็กลายเป็นเรื่องของธรรมชาติอีกนั่นแหละ มันก็เหมือนกับใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วง บังเอิญมีช่วงที่เคยไปอยู่กับท่านอาจารย์พุทธทาส ที่สวนโมกข์ ได้เห็นคำว่าได้ใคร่ครวญเยอะ แล้วมันใคร่ครวญในลักษณะ “อ๋อ” แต่ไม่ใช่ อ๋อ ภาวนาปัญญานะคะ แต่อ๋อ จินตมายปัญญา ตัวอ๋อนี่ต้องอ๋อด้วยใจจริงๆ ป้าพูดหลายหนแล้ว ป้าอยู่กับกุฎิที่สวนโมกข์สมัยโน้น สมัยนี้เป็นไงไม่ทราบ สมัยโน้นคนเอาหมาเอาแมวมาปล่อยเยอะมาก แล้วมันก็มีกระบวนการของการออกลูก ผสมพันธุ์ แล้วก็ตาย แล้วก็แย่งกัน ทะเลาะกันอะไรต่ออะไร คือเราเห็นธรรมชาติของมัน แล้วเราก็จะเห็นนกที่เราเห็นว่าสวย ที่ร้องเพลงเพราะเชียวที่อยู่บนต้นไม้ที่อยู่ข้างกุฎิเรา เราก็มองเขาชินกับเขา วันดีคืนดีเราออกจากกุฏิมาก เราเห็นเขาเป็นเปลือก คือหมาแมวพวกนี้มันก็หิวกันตลอดเวลา ถึงแม้พระท่านจะให้มันยังไง มันก็จะหิว หรือตะกละ หรืออะไรก็ว่าไป มันกิน วิธีที่มันกินนะคะ มันกินเก่งมากเลย มันกินข้างในหมดเลย ตับ ไต ไส้ พุงไม่เหลือเลย เนื้อไม่เหลือเลย เหลือแต่หนังกับสิ่งที่มันกินไม่ได้ คือมันยังเป็นตัวอยู่นะ มันก็ “เออ” ขึ้นมาเลยว่า “เออ เราก็เหมือนกัน เวลาตัวอะไรมากินตับ ไต ไส้ พุงเราหมด มันก็เหลือแต่หนัง” ใช่ไหมคะ อันนี้มันเป็นจินตมายปัญญา คือ เห็นตามนั้นจริงเลย


ทุกวันนี้ป้าศรีมีเวลาใช้เวลากับธรรมชาติรอบตัว เพื่อมีการใคร่ครวญกับธรรมชาติรอบตัวเหมือนเมื่อตอนที่ยังเด็กยังไงบ้างไหม


ป้ายอมรับว่าป้าก็ไม่ค่อยได้ใคร่ครวญอะไรแล้ว ป้าก็อยู่กับมันอย่างที่มันเป็น เมื่อกี้ที่ก่อนจะคุยกันป้าก็เอาต้นสารพัดต้นมาปลูกบนระเบียงคอนโด คอนโดชั้น 15 ป้าก็นั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ก็นั่งมองเขาเฉยๆ ไม่ได้ใคร่ครวญอะไร อยู่กับสิ่งที่มันเป็นแค่นั้นเอง สิ่งที่มันเห็น

เวลาที่เราได้นั่งอยู่เฉยๆ กับสิ่งที่มันเป็น กับสิ่งที่มันมีความสุข มีความนิ่ง หรือสภาวะอะไรที่เกิดขึ้นกับตัวเรา


มันก็เป็นอย่างนั้นแหละค่ะ อย่าไปคิดอะไรมาก ไม่ต้องคิดว่ามันสุขหรือมันทุกข์ มันก็เป็นอย่างที่มันเป็น นี่คือธรรมชาติของเราเอง ป้าอยากจะบอกว่า จริงๆ แล้วเราไม่ต่างกันเลย มันเป็นธรรมชาติของความรู้สึกนึกคิด มันเป็นธรรมชาติของการรับรู้ มันเป็นธรรมชาติของกาย เราเหมือนกันหมดค่ะ เพียงแต่เราไปแยกเราว่านี่เรา นี่เธอนะ ทำไมเราไปแยก ก็เพราะประสบการณ์มันไม่เหมือนกัน มันก็เลยไม่ไปเข้าใจว่าประสบการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งมันหล่อหลอมวิธีคิดขึ้นมาเป็นยังไง เราเองก็ถูกประสบการณ์สิ่งแวดล้อมอะไรหล่อหลอม คำว่าหล่อหลอม มันหมายความว่าเราสัมผัสด้วยกาย ด้วยหู ด้วยตา จมูก ด้วยลิ้น อะไรก็ว่าไป ทุกขณะที่เราสัมผัส เรามีความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบ แล้วเราก็มีการปรุงต่อด้วยการเอาสิ่งที่มันหลงเหลือฝังอยู่ในประสบการณ์เก่าๆ มาผสมผสานมันก็ไปอย่างนี้ แต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกันสิคะ


แต่จริง ๆ ธรรมชาติของกายของใจเรา กระบวนการของมันเป็นกระบวนการเดียวกัน แต่ตัว input สิ่งที่เป็นตัวสัมผัสแล้วก็ไปหล่อหลอมผสมผสานวิธีการมันเป็นเหตุปัจจัยต่อกัน มันก็เลยเกิดความแตกต่างอย่างนั้น เพราะงั้นพฤติกรรมมันก็ต่างกันออกไป คนนี้เห็นอันนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่อีกคนเห็นว่าไม่ควรทำ เพราะว่ากระบวนการของขันธ์ 5 ตัวกาย กับความรู้สึกนึกคิด และการรับรู้ มันเป็นกระบวนการของมันเอง


 

รับชมเนื้อหาเต็มได้ที่ :https://www.youtube.com/watch?v=UvrMK5Sld88


 


ดู 26 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page