(ค.ศ.1940-1945/ พ.ศ.2483-2488)

ในวัยที่ยังจำความไม่ได้ กลับเป็นช่วงเวลาที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต่อชีวิตของคุณหญิงจำนงศรี
ด้วยเหตุที่มารดาจากไปก่อนวัยอันควร ทั้งในช่วงเวลานั้น สงครามโลกครั้งที่สองก็ปะทุขึ้น เกิดสมรภูมิรบ
เกือบทุกพื้นที่ของโลก เด็กๆ จำนวนมากที่มีชีวิตและเติบโตขึ้นในเวลาเดียวกันนี้ ต่างเผชิญกับความโหดร้ายและยากลำบากในหลากหลายรูปแบบ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตต่อมาอีกยาวนาน ในอีกด้านหนึ่งว่ากันว่า
ความทรงจำถึงสงครามโลก ส่งผลให้คนรุ่นนี้ “เกรงกลัวสงครามและใผ่หาสันติภาพ”
เด็กยามสงคราม
นับตั้งแต่นาซีเริ่มขึ้นสู่อำนาจในทศวรรษที่ 1930 อังกฤษเริ่มเตรียมรับมือกับสงครามที่อาจจะเกิดขึ้น
มีการสร้างหลุมหลบภัย และเตรียมหน้ากากแก๊ส กว่า 38 ล้านชิ้น พร้อมเตรียมอพยพเด็กๆ ออกจากเมือง
ในเวลานั้นอังกฤษเป็นที่พักพิงของเด็กสเปนราว 4,000 คน ที่หลบหนีการจับกุมในช่วงการต่อสู้กับลัทธิฟาสซิส และนับตั้งแต่ เดือนธันวาคม 1938 เด็กยิวจากเยอรมัน ออสเตรีย เชคโกสโลวาเกีย ราวหมื่นคน
ถูกผู้ปกครองส่งมาอังกฤษเพื่อหลบหนีนาซี (ส่วนเด็กเชื้อสายยิวที่ไม่สามารถหลบหนีจากเขตยึดครองของนาซี ก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ)
ในวันที่ 1 กันยายน 1939 สองวันก่อนการประกาศสงครามกับเยอรมัน รัฐบาลอังกฤษเริ่มการอพยพเด็ก
ออกจากเมือง นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ในอังกฤษ เด็กส่วนใหญ่เดินด้วยรถไฟไปกับโรงรียนและอาศัยกับ
พ่อแม่อุปถัมภ์ในชนบท
เมื่อเยอรมันเริ่มรุกรานฝรั่งเศส และโจมตีอังกฤษทางอากาศ นำไปสู่การอพยพรอบสอง และเด็กหลายพันคนถูกส่งข้ามทะเลไปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอาฟริกาใต้ ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของอังกฤษ ครั้นฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วในฤดูร้อนปี 1940 หมู่เกาะเล็กๆ ในช่องแคบอังกฤษ ถูกเยอรมันเข้ายึดครอง เด็กจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะแถบฝั่งตะวันออกของเกาะอังกฤษ ต้องอพยพอีกครั้ง ในขณะที่ชาวออสเตรียและเยอรมันในอังกฤษ ราว 14,000 คน รวมทั้งเด็ก 500 คน ถูกส่งไปกักขังที่เกาะแมน(Isle Of Man) ในฐานะพลเมืองของชาติศัตรู

หลังถูกทิ้งระเบิดต่อเนื่อง เด็กจำนวนหนึ่งในลอนดอนกลายเป็นเด็กไร้บ้าน
Photo By The original uploader was Sue Wallace at English Wikipedia.
- Transferred from en.wikipedia to Commons., CC BY-SA 2.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=9433649
เยอรมันโจมตีอังกฤษอย่างหนักหวังเผด็จศึกโดยเร็ว โดยการถล่มลอนดอนอย่างต่อเนื่อง 57 วัน ตามด้วยการโจมตีเมืองใหญ่อื่นๆ และท่าเรือ ในระหว่างนี้ มีเด็กเสียชีวิต 7,736 คน และ 7,622 คน บาดเจ็บสาหัส
เด็กจำนวนมากกลายเป็นกำพร้าหรือสูญเสียพี่น้อง พลัดพรากจากครอบครัวและไร้บ้าน
อังกฤษตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารและเสื้อผ้า สินค้าจากต่างประเทศไม่สามารถเข้าถึงเกาะ ทำให้ต้องปันส่วนอาหาร ทั้งเนื้อสัตว์ น้ำตาล เนย ชีสและไข่ เด็กๆ ช่วยปลูกผักที่บ้านและโรงเรียน เมื่ออายุครบ
18 ปี เด็กชายต้องเข้าร่วมกองทัพ ช่วยป้องกันการโจมตีทางอากาศ เช่น การส่งข่าว ระวังไฟทำงาน
อาสาต่างๆ ซึ่งเป็นงานอันตราย ทำให้เด็กจำนวนมากเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ส่วนเด็กผู้หญิงถูกเกณฑ์ เข้าร่วมในงานด้านอื่นๆ อาทิ งานพยาบาล งานในโรงงาน ขณะที่เด็กอายุน้อยกว่า นั้น ถูกคาดหวังให้ทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น เก็บเศษโลหะ กระดาษ แก้ว และเศษอาหารเพื่อนำไปรีไซเคิล
แม้จะอยู่ในภาวะสงคราม เด็กๆ ก็ยังมีเวลาเล่นและหาความบันเทิง โรงภาพยนตร์ได้รับความนิยม
จากทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและเด็กเล็ก ของเล่นและเกมเกี่ยวกับสงครามก็เป็นที่นิยมอย่างมาก รวมทั้งการ์ตูนและหนังสือที่เน้นความ กล้าหาญและการผจญภัย
เในปี 1942 ทหารอเมริกันขึ้นฝั่งอังกฤษเตรียมเผด็จศึกฝ่ายอักษะในยุโรป เด็กๆ ในอังกฤษได้ทำความรู้จักวัฒนธรรมอเมริกัน ผ่านชอคโกแลต หมากฝรั่ง และงานเลี้ยงเต้นรำ เป็นความสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงที่สงคราม
ญี่ปุ่นเกรียงไกร
ขณะที่สงครามเริ่มขึ้นในยุโรป ประชาชนสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ต้องการให้อเมริกัน
เข้าร่วมสงคราม แต่ความเห็นของสังคมเปลี่ยนไป เมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาร์เบอร์ รัฐฮาวาย ใน
วันที่ 8 ธันวาคม(วันที่ 7 ในอเมริกา) 1941 ส่งผลให้อเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามเต็มรูปแบบ และส่งทหารเข้าไปในยุโรป

เพิร์ลฮาเบอร์ถูกโจมตี เรืออริโซนาไฟไหม้
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Attack_on_Pearl_Harbor#/media/File:The_USS_
Arizona_(BB-39)_burning_after_the_Japanese_attack_on_Pearl_Harbor_-_NARA_195617_-_Edit.jpg
ในวันเดียวกันนี้ ญี่ปุ่นส่งกองเรือขึ้นฝั่งไทยและมาลายู เปิดฉาก “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ในเวลานั้น
ญี่ปุ่นสามารถยึดครองเกาหลี แมนจูเรีย และอินโดจีนของฝรั่งเศส เป้าหมายต่อไปคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ทั้งนี้ญี่ปุ่นมุ่งขจัดอิทธิพลอเมริกาในน่านน้ำแปซิฟิก และดำเนินแนวทาง “จัดระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก(New order in East Asia)” ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นแนวคิด “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา (Greater East Asia Co-Prosperity Sphere)” ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ญี่ปุ่นใช้ในการทำสงคราม โดยระบุจุดประสงค์ว่า เพื่อสร้างสันติภาพและความมั่นคงขึ้นในเอเชียตะวันออก ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ จากแองโกล-อเมริกา มีเป้าหมายในทางปฏิบัติคือ ปลดปล่อยเอเชียจากจักรวรรดิตะวันตก และสร้างเขตพึ่งพาตนเองในทางเศรษฐกิจ โดยมีญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยแมนจูเรีย เกาหลีและจีน อาศัยวัตถุดิบจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน
ภาพจาก http://www.cu100.chula.ac.th/story/419/
อย่างไรก็ตาม ญี่ป่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในไทยก่อนหน้านี้ สืบเนื่องจากการปลุกกระแสชาตินิยมของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ในวันที่ 8 ตุลาคม 1940 (พ.ศ.2483) และรัฐบาลตอบสนองทันที โดยส่งกองกำลังข้ามพรมแดนเข้ายึดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
การต่อสู้ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ยืดเยื้อถึงเดือนมกราคม 1941 (พ.ศ.2483) ญี่ปุ่นเสนอเข้ามาไกล่เกลี่ย
ความขัดแย้ง เป็นผลให้ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนบางส่วน(ในลาวและกัมพูชา ปัจจุบัน) ให้ไทยเข้าไป
จัดการปกครอง โดยเป็น 4 จังหวัด คือ พิบูลสงคราม จำปาศักดิ์ พระตะบอง และล้านช้าง
บทบาทครั้งนี้ของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลไทยมองเห็นอิทธิพลญี่ปุ่นในเอเชีย ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและ
ปะทะกับกองกำลังชายฝั่งของไทยบริเวณจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เวลา 2 นาฬิกาของวันที่ 8 ธันวาคม 1941 (พ.ศ.2484) ช่วงสายวันเดียวกัน รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ออกคำสั่งให้หยุดยิงและประกาศข้อตกลงยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย โดยญี่ปุ่นจะเคารพในเอกราชและอธิปไตยของไทย
แต่ 3 วันต่อมาญี่ปุ่นเสนอให้ไทยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นทหารญี่ปุ่นจำนวนนับแสนนายอยู่ในประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเห็นต่างออกไป ด้วยเชื่อว่าแม้ญี่ปุ่นรวมถึงพันธมิตรฝ่ายอักษะ จะได้เปรียบในระยะแรกของสงคราม แต่ในที่สุดก็ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะศักยภาพทางเทคโนโลยี ทรัพยากร และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่อาจเทียบกับสหรัฐอเมริกาได้

ข่าวประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรของไทยและข่าวท่าทีของญี่ปุ่นในปีถัดมา
ภาพหนังสือพิมพ์ จากหอสมุดแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย ในวันที่ 21 ธันวาคม 1941 (พ.ศ.2484) ไทยลงนามในกติกาสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง ขึ้นไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 25 มกราคม 1942 (พ.ศ.2485)รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้เกิดขบวนการเสรีไทยในอเมริกาและอังกฤษ ประกาศเจตนารมย์ไม่ยอมรับการประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรของรัฐบาล ต่อมามีการจัดตั้งเสรีไทยในประเทศ โดยนายปรีดี ตอบรับเป็นหัวหน้า
ช่วงครึ่งแรกของปี 1942 เป็นช่วงเวลาที่กองทัพญี่ปุ่นมีชัยในทุกสมรภูมิ เริ่มจากเข้ายึดครองฟิลิปปินส์
ในเดือนมกราคม ต่อด้วยสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ และพม่าในเดือนมีนาคม ในระหว่างสงครามญี่ปุ่นได้
โอนดินแดนบางส่วนที่ยึดจากอังกฤษคืนให้แก่ไทย คือ รัฐในมลายูประกอบด้วย ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู
ปะลิส และสองรัฐในแคว้นไทยใหญ่ คือ เชียงตุง และ เมืองพาน
การขยายอำนาจของญี่ปุ่นในน่านน้ำแปซิฟิก ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรถูกตัดขาดจากออสเตรเลีย ในขณะที่
ทางด้านยุโรปกองเรือของอังกฤษสูญเสียครั้งใหญ่ ทั้งหมดทำให้ทำญี่ปุ่นก้าวสู่ความเกรียงไกร
การโต้กลับของฝ่ายสัมพันธมิตร
อย่างไรก็ดี สหรัฐพยายามตรึงกำลังในแปซิฟิก และสถานการณ์เริ่มพลิกผันหลังยุทธการมิตเวย์
ในเดือนมิถุนายน ปี 1942 ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และส่งผลให้ญ่ปุ่นเสียจุดยุทธศาสตร์สำคัญในแปซิฟิก ต้องยกเลิกแผนการเข้ายึดครองออสเตรเลีย และลดความสำคัญของกองเรือลง รวมถึงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการรุกขยายอาณาเขต เป็นการตั้งรับและป้องกัน
หลังจากนั้นกองทัพญี่ปุ่นประสบความยากลำบากในเอาชนะในทุกแนวรบ เนื่องจากกองทัพที่อยู่ห่างไกล
จากประเทศประสบภาวะขาดแคลนเสบียง แต่ญี่ปุ่นยังคงเลือกที่จะทำสงครามต่อไป
สถานการณ์ของญี่ปุ่นทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามเร่งหาทางออกในกรณีที่จะต้องยกเลิก
การเป็นพันธมิตรและสู้รบกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามปลายเดือนกรกฎาคม 1943 (พ.ศ. 2487) จอมพล
ป. ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังแพ้มติเรื่องการจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง รัฐบาลนายควง
อภัยวงศ์ เข้ามาบริหารประเทศแทน แม้รัฐบาลใหม่ยังคงปฏิบัติตามสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น
ต่อไป แต่ในเบื้องหลังรัฐบาลอยู่ภายใต้การสนับสนุนของขบวนการเสรีไทย
ในเวลานั้นอเมริกาเริ่มคุกคืบในแปซิฟิก และพยายามเอาชนะสงครามโดยเร็ว ในปี 1945 หลายเมืองในญี่ปุ่นถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมรับการเจรจายอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข กระทั่ง ถึงวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ปีเดียวกัน อเมริกาตัดสินใจทั้งระเบิดปรมาณู ในฮิโรชิมาและนางาซากิตามลำดับ
และในวันที่ 8 เดือนเดียวกัน รัสเซียเข้ายึดแมนจูเรียจากการยึดครองของญี่ปุ่น

จักรพรรดิญี่ปุ่นบนเรือมิสซูรี
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Surrender_of_Japan#/media/File:Surrender_of_Japan_-_USS_Missouri.jpg
จักรพรรดิญี่ปุ่นยอมจำนน และสงครามแปซิฟิกจบลงในวันที่ 14 สิงหาคม 1945 (วันที่ 15 ในญี่ปุ่น)
และมีการลงนามยอมจำนนอย่างเป็นทางการบนเรือรบ USS Missouri ของอเมริกา ในวันที่ 2 กันยายน 1945 (พ.ศ.2488)กลางอ่าวโตเกียว
ก่อนหน้านี้ ทางด้านยุโรป ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบก ในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 และเริ่มปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของนาซี กระทั่งถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 สงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปยุติลง
สังคมและวัฒนธรรมช่วงสงคราม
นอกจากผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ในอีกด้านหนึ่งสงครามส่งผลต่อการเร่งพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดสิ่งประเดิษฐ์ ใหม่ๆ จำนวนมาก ทั้งยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม อาทิเช่น บทบาทของผู้หญิงที่เปลี่ยนไป ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น กลายเป็นแรงงานหลักในภาคอุตสาหกรรม
เป้าหมายที่จะเอาชนะสงคราม ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านศิลปะ กล่าวคือ ภาครัฐให้ความสำคัญกับการใช้สื่อบันเทิงเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนสนับสนุนการทำสงครามและให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เช่น การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา รวมถึงภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญกับความรักชาติและเสียสละเพื่อชาติ

Casablanca ภาพยนตร์ที่เน้นผลกระทบของสงครามและความเสียสละเพื่อชาติ
ภาพจาก https://www.imdb.com/title/tt0034583/mediaviewer/rm3513358336/
ในอเมริกา หลังญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ สงครามเป็นประเด็นในทุกสื่อ ในส่วนของภาพยนตร์ หนังแนว
สัจจะนิยมสะท้อนความเป็นจริงของสังคมได้รับการสานต่อจากทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มจากหนังสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น The Grapes of Wrath (1940) จากวรรณกรรมของ จอห์น สไตน์เบ็ค
How Green Was My Valley (1941) ของจอห์น ฟอร์ด เจ้าพ่อหนังคาวบอย สู่ประเด็นความขัดแย้ง
ทางการเมืองและสงคราม เช่น หนังต่อต้านฟาสซิสต์ The Great Dictator (1940) ภาพยนตร์พูดเรื่องแรกของชาลี แชปปลิน หนังสงคราม ส่งเสริมความรักชาติ สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีจำนวนมากและหนึ่งในนั้น คือ ภาพยนตร์คลาสสิค Casablanca (1942) ของ Michael Curtiz
ศิลปะบันเทิงในช่วงสงคราม ส่งผลให้ความรักชาติหลอมรวมอยู่ในวัฒนธรรมสมัยนิยม ทั้งในยุโรป อเมริกา
รวมถึงเอเชีย อีกทั้งสงครามโลกครั้งที่สองก็ยังคงเป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาล ในการผลิตงานศิลปะ
จนกระทั่งเวลานี้
ชาตินิยมและรัฐนิยม
ในประเทศไทยก็เช่นกัน รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายชาตินิยมและรัฐนิยม ครองอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้สถานการณ์สงคราม ตามคำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” โดยอาศัยสื่อ ทั้งใบปลิว
หนังสือพิมพ์ ภาพบนตร์ ละคร ฯลฯ เป็นเครื่องมือสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาล และตรวจจับสื่อที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล อาทิ หนังสือพิมพ์ต้องรายงานเฉพาะข่าวดีของสงครามจากแหล่งข่าวฝ่ายอักษะ รวมทั้งไม่รายงานปัญหาภายในประเทศ

หนังสือพิมพ์ในเวลานั้น เสนอข่าวเกี่ยวกับข้อบังคับตามรัฐนิยม เช่น ให้สวมหมวก ให้ยืนเคารพธงชาติ
และห้ามกินหมาก นอกจากนี้บริเวณหัวหนังสือพิมพ์สรีกรุง จะมีคำขวัญ "เชื่อพิบูลสงครามชาติไม่แตกสลาย"
(ภาษาไทยในเวลานั้นเป็นไปตามรัฐนิยม) ภาพหนังสือพิมพ์จาก หอสมุดแห่งชาติ
รัฐบาลประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ กำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวไทย เช่น
การเคารพธงชาติ พูดภาษาไทยสำเนียงภาคกลาง นอกจากส่งเสริมชาตินิยม รัฐยังมุ่งเน้นสร้างความทันสมัย โดยมีวัฒนธรรมตะวันตกเป็นตัวแบบ (ในขณะที่พยายามขจัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และการเมือง
ของชาติตะวันตก ตามอุดมการชาตินิยม) เช่น การกำหนดให้แต่งกายตามแบบตะวันตกและให้สวมหมวก
ห้ามกินหมาก อันแสดงถึงความไม่มีอารยธรรม เป็นต้น
การควบคุมสังคมและนโยบายชาตินิยม ส่งผลให้วรรณกรรมของไทยในช่วงสงครามแยกออกเป็น 2 แนวทางหลักๆ คือ แนวส่งเสริมความรักชาติ โดยเชื่อมโยงกับความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ตามนโยบายของรัฐ มีนักเขียนคนสำคัญคือ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ที่มีผลงานทั้งนวนิยาย เพลง และบทละคร จำนวนมาก อาทิเช่น บทละครเลือดสุพรรณ เพลงตื่นเถิดชาวไทย เพลงรักเมืองไทย ฯลฯ
ส่วนกลุ่มนักเขียนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ มีทั้งหยุดเขียน และแสวงหาแนวทางใหม่ๆ อาทิ
หลีกเลี่ยงไปเขียนเรื่องเมืองสมมติ เพื่อเสียดสีการเมือง เช่น เมืองนิมิตร ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ พัทยา ของ ดาวหาง
นักเขียนในกลุ่มนี้ ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตก และพัฒนางานวรรณกรรมอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะเรื่องสั้น ทที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก จิตวิญญาณของมนุษย์ และความเป็นปัจเจก
ซึ่งเป็นค่านิยมใหม่ ตัวละครรวมถึงโครงเรื่องมีความซันซ้อนมากขึ้น และนิยมการจบแบบหักมุม เช่น
ผลงานของ ยาขอบ มาลัย ชูพินิจ(เจ้าของนามปากกา แม่อนงค์ เรียมเอง และ น้อย อินทนนท์) มนัส
จรรยงค์ อ.อุดากร อิศรา อมันตกุล
นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมในช่วงสงคราม ทั้งการอพยพ และความยากลำบาก ตลอดจนการเอารัดเอาเปรียบและความเร้นแค้น ทำให้เกิดเรื่องสั้นและนวนิยายที่ แสดงภาพความซับซ้อนและด้านมืดในจิตใจมนุษย์ การแหวกกรอบศึลธรรม ในขณะที่นโยบายรัฐ มุ่งเชิดชูและเคร่งครัดศีลธรรม อาทิเช่น แผ่นดินของเรา ของ แม่อนงค์ เรื่องสั้นของ อ.อุดากร เป็นต้น
ชาวจีนในเงาชาตินิยม
นอกจากส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไทยโดยทั่วไปแล้ว นโยบายชาตินิยม ของรัฐบาลจอมพล ป. ส่งผลกระทบต่อชาวจีนในไทยอย่างใหญ่หลวง และนำไปสู่ความขัดแย้งกับกลุ่มชาวจีนชาตินิยม โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ในขณะจีนกำลังทำสงครามกับญี่ปุ่นที่เข่นฆ่าชาวจีน
อย่างโหดร้าย
นโยบายชาตินิยมของรัฐบาล มีเป้าหมายลดบทบาททางเศรษฐกิจของชาวต่างชาติ โดยรัฐบาลเข้ามาลง
ทุนทางธุรกิจ รวมทั้งรับโอนจากกิจการจากชาวยุโรปที่หนีภัยสงคราม ทำให้เกิดรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นครั้งแรก
พร้อมกันนั้นมีการโฆษณาโน้มน้าว และเรียกร้องให้คนไทยหันมานิยมสินค้าไทย
แม้นโยบายชาตินิยมจะคลอบคลุมทั้งชาวตะวันตกและชาวจีน แต่เนื่องจากมีชาวจีนอยู่ในเมืองไทยจำนวนมาก โดยหลักๆ นโยบายรัฐจึงมีทิศทางของจุดมุ่งหมายที่ต้องการลดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวจีนลง โดยใช้มาตรการหลายอย่าง เช่น สงวนอาชีพให้คนไทย ขึ้นภาษีธุรกิจจีน เรียกคืนสัมปทาน เป็นต้น
นอกจากด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลยังพยายามควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีน โดยเฉพาะ
กลุ่มชาตินิยมจีน ที่เคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นในรูปสมาคมลับ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามขั้วการเมืองในจีนเวลานั้น คือกลุ่มนิยมจีนคณะชาติภายใต้การนำของเจียงไคเช็ค และกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง ทั้งสองกลุ่มอาศัยเงินสนับสนุนจากพ่อค้าจีน
รัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งใกล้ชิดกับญี่ปุ่น พยายามควบคุมกลุ่มต่อต้าน โดยการดำเนินการแบบเด็ดขาด
ทั้งตรวจค้นโรงเรียนจีน สำนักพิมพ์ สมาคมจีน รวมกึงการจับกุมและเนรเทศ ในฐานเป็นบุคคล
ที่ไม่พึงปรารถนา มีชาวจีนหลายพันคนถูกเนรเทศด้วยข้อหานี้ ต่อมารัฐบาลได้สั่งปิดโรงเรียนจีน ในฐานเป็นแหล่งเผยแพร่ลัทธิชาตินิยมจีน ทำให้ในช่วงสงครามไม่มีโรงเรียนจีนเหลืออยู่เลย
นอกจากนี้ ในปี 1941 (พ.ศ. 2484) รัฐบาลประกาศเขตหวงห้าม จำกัดการตั้งถิ่นฐาน ของชาวจีนใน
จังหวัดสำคัญๆ หลายภาค เช่น ลพบุรี เชียงใหม่ ลำปาง ฯลฯ ผู้ที่อาศัยในเขตหวงห้าม ต้องอพยพออก
ภายใน 90 วัน สร้างความเดิอดร้อนให้กับชาวจีนอย่างมาก
จนกระทั่งรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม พ้นจากอำนาจ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง เนื่องจากเสรีไทย
ที่หนุนหลังรัฐบาล มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนคณะชาติและสมาคมลับของชาวจีนที่ต่อต้านญี่ปุ่นเช่นกัน
สำหรับตระกูลล่ำซำ ซึ่งเป็นคหบดีจีนคนสำคัญของพระนคร กระแสชาตินิยมส่งผลสะเทือนตั้งแต่ก่อน
ไทยเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น เมื่อรัฐบาลเรียกคืนสัมปทานป่าไม้กลับเป็นของรัฐ และต้องหยุดธุรกิจโรงเลื่อยตามมา ส่งผลให้สูญเสียบ้านประจำตระกูลไป ต่อมาปี 1939 (พ.ศ.2482)นายอึ้งยุกหลง ผู้นำตระกูลรุ่นสอง ซึ่งเป็นปู่ของคุณหญิงจำนงศรี ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตในบ้าน และไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์หรืออั้งยี่(สมาคมลับ) ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ในเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น

คุณหญิงจำนงศรี และพี่ชายทั้งสอง ถ่ายในปี พ.ศ.2483
ในภาพคุณไพโรจน์ ล่ำซำใส่ปลอกแขนไว้ทุกข์ ให้กับคุณปู่อึ้งยุกหลง ที่เพิ่งเสียชีวิตในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด ตระกูลล่ำซำก็สามารถผ่านกระแสชาตินิยมไปได้ โดยมีธุรกิจใหม่คือ Loxley Rice
Company Limited ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการส่งออกสินค้ารวมทั้งข้าว ช่วยให้คืนสถานะได้ในเวลาต่อมา
และในปี 1940 (พ.ศ.2483) เมื่อคุณหญิงจำนงศรี อายุได้ 1 ขวบ บิดา คือ คุณจุลินทร์ ล่ำชำ ได้รับตำแหน่งประธานหอการค้าไทย และจัดตั้ง “วิทยาลัยการค้า” (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ) ขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป. ที่ต้องการฝึกให้คนไทยมีความสามารถทางธุรกิจและการค้า
ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย
บทความเรื่อง ล่ำซำ ผู้สร้างตำนานธนาคารกสิกรไทยสู่ความยิ่งใหญ่ (กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 เมษายน 2543) ระบุว่า รัฐบาลจอมพลป. ให้ความเชื่อถือ จุลินทร์ ล่ำซำ เป็นอย่างสูง และมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของรัฐบาล(ร้อยละ 70) และสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์(ร้อยละ30)

ตึกห้างไทยนิยมผ่านฟ้า มีชื่อติดอยู่ด้านหน้า ภาพถ่ายราวปี 1960 (พ.ศ.2503) โดย Harrison Forman
จาก https://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/id/28819/rec/65
คุณหญิงจำนงศรี เขียนถึงบริษัทนี้และคุณพ่อว่า ในช่วงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพ
เป็นเวลาที่ครอบครัวของคุณหญิงย้ายจากบ้านตระกูลหวั่งหลีที่สาธร มาอยู่บ้านที่คุณพ่อคุณหญิง
ปลูกขึ้นใหม่ในสวนส้มโอย่านสำเหร่ ชื่อว่า บ้านสุขจิตต์ กระทั่งมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใกล้ๆ สำเหร่
ครอบครัวคุณหญิงย้ายไปอยู่บางหว้าในช่วงสั้นๆ ก่อนกลับมาที่บ้านสำเหร่อีกครั้ง โดยมี คุณบรรยงค์ ล่ำซำ และครอบครัวของ คุณเลียบกับคุณเจริญศรี รักตะกนิษฐ หลบภัยสงครามจากฝั่งกรุงเทพมาอยู่ด้วย
“คุณเลียบในช่วงนั้นเป็นผู้ช่วยคุณพ่อจัดการบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงครามตั้งขึ้นไม่กี่เดือนก่อนสงครามโลกจะระเบิดในยุโรป เมื่อปี พ.ศ.2482(1939)...บริษัทไทยนิยม
พาณิชย์ จำกัด ได้เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของประเทศไทย สมัยนั้นเรียกว่า “ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า” เพราะตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ใกล้สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.2484ซึ่งลุกลามมาถึงไทยนั้น คุณพ่อและคุณเลียบก็ยังต้องออกไปดูแลที่บริษัทนี้เกือบทุกวัน”
ห้างไทยนิยม จึงยังคงเปิดให้บริการในช่วงสงคราม แม้ว่าสินค้าจะขาดแคลน อาจารย์ใหญ่ นภายน เล่าถึงห้างสรรพสินค้าแห่งแรกนี้ ไว้ในบทความเรื่อง “ถนนนราชดำเนินที่ข้าพเจ้ารู้จัก” (วารสารเมืองโบราณ ปีที่31 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2548) ว่า
“ตรงหัวมุมตึกแถวล็อกแรกขวามือ ด้านสะพานผ่านฟ้า เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยสมัยนั้น มีชื่อว่าห้างไทยนิยม แต่ละวันมีผู้มาอุดหนุนอย่างเนืองแน่น ห้างนี้ตั้งอยู่นานแล้วเลิกกิจการไป..”
ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า เป็นอาคารตึกสูงห้าชั้นรูปทรงทันสมัย เช่นเดียวกับอาคารอื่นๆ ริมสองข้างถนน
ราชดำเนิน ที่รัฐบาลจอมพล ป.ให้สร้างขึ้นใหม่พร้อมกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในปี 1939 (พ.ศ.2482)
โดยมีเป้าหมายเพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และพัฒนาบริเวณนี้ให้เป็นศูนย์กลางความเจริญก้าวหน้ารวมถึงเป็นต้นทางจากกรุงเทพฯไปยังหัวเมืองต่างๆ

โรงแรมรัตนโกสินทร์ ภาพถ่ายราวปี 1960 (พ.ศ.2503) โดย Harrison Forman
จาก https://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/id/28370/rec/155
นอกจากอนุสาวรีย์ ยังมีอาคารพาณิชย์ โรงแรม (โรงแรมรัตนโกสินทร์) และโรงภาพยนตร์(เฉลิมไทย)
ที่ออกแบบเป็นโรงละครมาตรฐานสไตล์โรงโอเปร่าสองชั้น อาคารทั้งหมดมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ คือเป็นคอนกรีตเปิดพื้นผิววัสดุ ไม่เน้นลวดลายประดับ แต่สงครามทำให้โครงการก่อสร้างโรงภาพยนตร์หยุดชะงัก มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2491
ความเป็นอยู่ ‘สมัยญี่ปุ่นขึ้น’

ด.ญ.จำนงศรี ล่ำซำ ปี พ.ศ.2484
คุณหญิงได้บันทึกเรื่องราวของครอบครัวในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา(พ.ศ.2484-2489) จากคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิด ไว้ในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณไพโรจน์ ล่ำซำ หรือ ‘พี่เบิ้ม’ ของคุณหญิงไว้ว่า
“คนที่มีชีวิตในช่วงเวลานั้น อย่างเช่น นายเสงี่ยม แก้วแดง ผู้เป็นพี่เลี้ยงของพี่เบิ้มและข้าพเจ้า
เรียกช่วงนั้นว่า ‘สมัยญี่ปุ่นขึ้น’ และเล่าถึงความยากลำบากนานาประการของคนไทย รวมทั้งที่รัฐบาล
ให้ยกบ้านส่วนตัว และสถานที่ของรัฐบางแห่ง เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ให้เป็นที่พักของทหารญี่ปุ่น
คุณยายแจ่ม หวั่งหลี จำต้องยกตึกข้างๆ บ้านหวั่งหลีบนถนนสาธรที่เราอยู่กัน ให้กองทหารญี่ปุ่น
คุณยายซึ่งเป็นคนสะอาดเรียบร้อย เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความอึดอัดใจในช่วงนั้นว่า บางครั้งทหารญี่ปุ่น
จะทิ้งถุงคล้ายลูกโป่งเล็กๆ ที่มีน้ำบรรจุอยู่ลงมาที่พื้นด้านล่าง คุณยายต้องบอกในคนในบ้านคอยไปตรวจเก็บ ด้วยเกรงว่าพี่เบิ้มและน้องๆ จะเอาไปแล่น วัตถที่ว่านี้คืออะไร ก็แล้วแต่ใครจะเดา”
ในเวลานั้นพี่ชายทั้งสองคนของคุณหญิง คือคุณไพโรจน์และคุณโพธิพงษ์ ล่ำซำ ที่คุณหญิงเรียกว่า
‘พี่ปี๊ด’ เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ และต้องขาดเรียนบ่อยๆ ในช่วงสงคราม เพราะโรงเรียนสวนกุหลาบอยู่ข้างสะพานพุทธและโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการโจมตี
“ในเดือนเมษายน 2488 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโปรย ‘ฝนเหล็ก’ ชุดใหญ่ลงที่โรงไฟฟ้า
แต่พลาดเป้าไปโดนวัดเลียบจนพังระนาบ มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก แม้แต่โรงเรียนสวนกุหลาบ
เองก็ยังโดนลูกหลง เคราะห์ดีที่เป็นช่วงเวลาปิดเทอม
"คงเป็นเพราะคุณพ่อได้คาดการณ์ไว้ถึงเรื่องนี้ จึงได้สร้างอาคาร ในบ้านสวนสุขจิตต์ที่เราเรียกกันว่า
“ศาลา” เพื่อให้เด็กๆ ได้นั่งเรียนหนังสือ ใต้ศาลานี้มีห้องใต้ดินที่คุณพ่อสร้างไว้ เพื่อหลบภัยจากระเบิด
ของฝ่ายพันธมิตร”
ห้องใต้ดินที่เป็นหลุมหลบภัย คุณหญิงเขียนบันทึกจากความทรงจำของ คุณลลนา รักตะกนิษฐ์ บุตรสาวคนโตของคุณเลียบไว้ว่า
“...ช่วงนั้นข้าวยากหมากแพง ยาไม่ค่อยมี ใครป่วยก็ไม่ได้ไปโรงพยาบาลเหมือนสมัยนี้
แต่มีหมอมารักษาที่บ้าน...ที่บ้านสำเหร่ทำหลุมหลบภัยไว้ เป็นหลุมหลบภัยขนาดใหญ่มาก มีห้องน้ำด้วย
แต่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์เลย เวลาเสียงหวอ (คือเสียงสัญญาณ ท่ีรัฐบาลใช้เตือนภัยทางอากาศ) ดัง
ทุกคนจะรีบลงหลุมหลบภัย ผู้ใหญ่ จะหอบข้าวของหอบกระเป๋าลงไปด้วย และต้องใช้ตะเกียง เพราะเวลา
เสียงหวอดังหมายถึงเขาจะตัดไฟฟ้า
... ภายในนั้นกว้างมากเป็นเหมือน ห้องโถงใหญ่ๆ กว้างประมาณ 3-4 เมตร ยาวประมาณ 6-8 เมตร หลุมหลบที่อื่นเขาเป็นพื้นปูน แต่ที่บ้านสำเหร่เป็นพื้นไม้...ส่วนใหญ่ระเบิดจะลงช่วงกลางคืน และมักจะมาแต่หัวค่ำ เราจึงกินข้าวกันเร็ว พอ 6 โมง กว่า ผู้ใหญ่ก็ต้อนพวกเด็กๆ ลงไปในหลุมกันแล้ว ไปซนกันในนั้น... ถ้าเด็กๆ อยู่นานหน่อยก็กางมุ้งเอา มีผู้ใหญ่ช่วยกำกับ ใครหลับง่ายปลุกยากก็นอนข้ามคืนในหลุมหลบภัยนั้นเลย... ระเบิดลงแทบทุกวัน เสียงหวอมาก่อน วันไหนเสียงหวอร้องถี่ก็รอกันอยู่ในน้ันเลย....”

คุณหญิงจำนงศรีกับพี่ชายและคุณทวีนุชในวัยแบเบาะ
น้องสาวของคุณหญิง คุณทวีนุช ล่ำซำ เกิดในปี 1941 (พ.ศ.2484) ก่อนการเริ่มต้นของสงคราม
มหาเอเชียบูรพาไม่นานนัก ในช่วงปลายสงครามที่ฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิดหนักมาก คุณทวีนุชซึ่งมีอายุราว 3 ขวบ ป่วยและเป็นช่วงขาดแคลนยา “มีช่วงหนึ่งที่นุชป่วยเป็นปอดบวม คุณยายแจ่มเล่าว่า ต้องเอากอเอี๊ยะมาปิดหน้าอก แล้วอุ้มขึ้น อุ้มลงหลุมหลบภัยที่สำเหร่กันอยู่นั่น นับเป็นบุญที่นุชรอดมาได้”
ปีแห่งความสูญเสีย

คุณหญิงกับคุณแม่ พี่ชายและน้องสาว ภาพนี้ถ่ายในปีที่คุณแม่ของคุณหญิงเสียชีวิต (พ.ศ.2485)
เหตุที่คุณยายแจ่มต้องเป็นผู้ดูแลหลานเล็กๆ ก็เพราะคุณแม่ของคุณหญิง คุณสงวน (หวั่งหลี) ล่ำซำ
เส้นเลือดในสมองแตก เสียชีวิตอย่างกระทันหันในวัยเพียง 33 ปี เวลานั้น คุณหญิงยังไม่ครบ 3 ชวบ
และคุณทวีนุช 1 ขวบ ส่วนพี่ชายสองคน อายุ 9 และ 7 ขวบ คุณหญิงได้เขียนเล่าไว้ว่า
“วันนั้นเป็นไหว้ครบรอบวันตายของคุณตาตันลิบบ๊วย หวั่งหลี ที่บ้านหวั่งหลีฝั่งธน ริมแม่น้ำ
เจ้าพระยา คุณแม่ฟุบหมดสติไปขณะกำลังก้มลงไหว้ และถูกนำไปบ้านหวั่งหลีสาทร แล้วจึงเสียชีวิตในอีก 6 ชั่วโมงต่อมา เมื่อคุณแม่เสียแล้ว คุณพ่อก็นำศพมาตั้งที่บ้านสำเหร่
“ลูกชายทั้งสองจำคุณแม่ได้ค่อนข้างชัดเจน ในบันทึกพี่เบิ้มเล่าไว้ว่า ‘คุณแม่เป็นคนสอนให้เรียน
หนังสือ พร้อมๆ กับน้องปี๊ด’ สำหรับตัวข้าพเจ้ากับนุชนั้น แน่นอนว่าเล็กเกินกว่าที่จะจำอะไรได้ แต่คาดเดาว่า คุณแม่คงเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เพราะสมัยยังเป็นเด็กทั้งนุชและข้าพเจ้าจำได้ว่า หน้าห้องที่คุณพ่อคุณแม่เคยนอน มีตู้หนังสือตั้งอยู่สองตู้และมีหนังสืออัดแน่นเต็มตู้”

คุณหญิงจำนงศรีและพี่ชายทั้งสอง ในงานศพของคุณแม่
“เนื่องจากคุณแม่เป็นคนขึ้นชื่อเรื่องฝีมือการทำอาหาร หนังสืออนุสรณ์งานศพของท่าน จึงเป็นตำรา
อาหารขอหม่อมราชวงศ์เตื้อง สนิทวงศ์ ชื่อ ตำรับสืบสาย ชื่อของข้าพเจ้าในหนังสือเล่มนั้นสะกดว่า ‘จำนงสรี’ เป็นการสะกดตามรัฐนิยม...”

ข่าวน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2485 ภาพในหนังสือพิมพ์ มีคำบรรยายว่า "จะขึ้นรถหรือลงเรือ"
ภาพหนังสือพิมพ์จาก หอสมุดแห่งชาติ
ปีที่คุณแม่คุณหญิงเสียชีวิต เป็นปีน้ำท่วมใหญ่ คุณหญิงเขียนเล่าไว้ว่า
“คุณแม่เสียได้ 2 เดือน ยังไม่ทันเผา น้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ
ก็เริ่มขึ้น ทุกคนต้องย้ายข้าวของขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 บันทึกกันไว้ว่าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมมีน้ำลึกถึง 2
เมตรกว่า น้ำท่วมอยู่นานถึง 3 เดือน ไม่ว่าใครจะไปไหนก็ต้องพายเรือไป การตกปลา บนถนนสาทรเป็นเรื่องธรรมดาๆ ได้ความว่า โรงเรียนปิดกันหมด
“ เมื่อน้ำลดและปลงศพคุณแม่แล้ว คุณพ่อก็ให้คุณอาเล็ก ล่ำซำ มาอยู่ช่วยดูแลพวกเรา”
สิ้นสุดสงคราม
แม้สงครามส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าในทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่
ในช่วงสงครามธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชาวตะวันตกต้องหยุดกิจการไป
เปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยเข้าไปแทนที่ ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี จากเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2485
ถึงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2488 อันเป็นเดือนและปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อค้าคหบดีและขุนนางรวมทั้งนักการเมือง ได้มีการรวมตัวกันก่อตั้งกิจการธนาคารพาณิชย์ถึง 5 ธนาคารด้วยกัน
เริ่มจากการรวมธนาคารมณฑล จำกัด ตามด้วยการก่อตั้งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ซึ่งก่อตั้ง ขึ้น เมื่อ วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2488 โดยมี โชติ ล่ำซำ (พี่ชายของบิดาคุณหญิง) เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก
นับเป็นธนาคารที่สองของตระกูลล่ำซำ หลังจากที่ธนาคารแรก คือ ธนาคารก้วงโกหลง ล้มเลิกกิจการไปในปี พ.ศ.2480

ธนาคารกสิกรไทย ถนนเสือป่า
ภาพจากhttps://www.kasikornbank.com/th/about/information/pages/company-background.aspx
คุณหญิงบันทึกเรื่องราวการก่อตั้งธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญของตระกูลล่ำซำ ไว้ว่า
“วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2488 ...ซึ่งเป็นวันอัตวินิบาตกรรมของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
ในหลุมหลบ ภัยใต้ดินของเขาที่นครเบอร์ลิน คุณลุงโชติ ล่ำซำ ร่วมกับพี่น้องและเพ่ือนฝูงนักธุรกิจ
มองว่าสงครามมหาเอเชียบูรพาน่าจะยุติลง ในไม่ช้า จึงรวมตัวกันก่อต้ังธนาคารกสิกรไทย ในวันที่ 8
มิถุนายนของ ปีนั้น โดยมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เป็นการมองการณ์ไกลและใกล้ที่เฉียบคม เพราะอีกเพียง 2 เดือนต่อมา สงครามมหาเอเชียบรูพาก็สิ้นสุดลงจริงๆ”
หลังสงครามสิ้นสุดลงในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 (พ.ศ.2488) ท่ามกลางความยินดีของผู้คนที่ได้ทราบว่า
ญี่ปุ่นวางอาวุธแล้ว อีกหนึ่งวันถัดมา นายตันซิวเม้ง หวั่งหลี ผู้นำตระกูลหวั่งหลี พี่ชายของคุณแม่คุณหญิง
จำนงศรี ซึ่งขณะ นั้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพาณิชย์จีนแห่งประเทศไทย ถูกยิงตายด้วยอาวุธสงครามที่ท่าน้ำของสมาคมฯ

นายตันซิวเม้งและภรรยาทองพูล(ล่ำซำ) หวั่งหลี
(คุณทองพูลเป็นพี่สาวของคุณพ่อของคุณหญิง ส่วนคุณตันซิวเม้งเป็นพี่ชายของคุณแม่ของคุณหญิง)
คุณหญิงเขียนเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ขณะนั้นเป็นยามเย็น ท่านกำลังไปลงเรือ เพื่อข้ามฟากไปบ้านหวั่งหลีที่ฝั่งธน...นอกจากเป็นคุณลุงแล้ว ท่านยังเป็นมิตรสนิทของคุณพ่อ” ความตายของนายกสมาคมพาณิชย์จีน สะท้อนความขัดแย้งของขั้วทางการเมือง ทั้งในประเทศจีนและประเทศไทย การประคองตัวอย่างยากลำบาก ของนักธุรกิจเชื้อสายจีนและชาวจีนในเวลานั้น โดยเฉพาะผู้นำสมาคมพาณฺชย์จีน ที่ต้องอยู่ระหว่างกลุ่มผู้รักชาติที่ต้องการให้สนับสนุนการต่อต้านญี่ปุ่น กับรัฐบาลไทยชาตินิยม ที่เรียกร้องให้สนับสนุนนโยบายรัฐ เช่น การให้สมาคมพาณิชย์จีนช่วยเกณฑ์แรงงานชาวจีน ไปช่วยสร้างทางรถไฟไปพม่า ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นชนวนสำคัญที่สร้างความไม่พอใจ ให้กลุ่มชาตินิยมจีนบางกลุ่ม และเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายตันชิวเม้ง ซึ่งหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ และเป็นเรื่องติดค้างของครอบครัวและคนในตระกูล ต่อมาอีกหลายสิบปี
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากความวุ่นวายทางการเมืองทั้งในประเทศไทยและจีนช่วงหลังสงคราม อีกหลายสิบปีต่อมาจึงได้มีการรวบรวมหลักฐานจากเอกสารและผู้เกี่ยวข้อง ให้ได้ทราบว่า นายตันชิวเม้ง เป็นผู้มีบทบาท สำคัญในการช่วยเหลือกรรมกรจีนและสนับสนุนการทำงานของฝ่ายเสรีไทย ดังรายละเอียดในหนังสือ
ดุจนาวากลางมหาสมุทร ที่คุณหญิงจำนงศรีได้ค้นคว้าและเขียนเล่าเรื่องราวของตระกูลหวั่งหลีไว้

คุณหญิงจำนงศรีกับพี่ชายและน้องสาว ในช่วงงานศพของคุณแม่(สงวน ล่ำซำ)
ชีวิตในช่วงสงครามสิ้นสุดลง แต่ความตายของแม่ส่งผลต่อชีวิตของคุณหญิงตลอดมา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ
ในเวลานั้นคุณหญิงอายุเพียงสองขวบเศษ ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ต่างจากพี่ชายทั้งสองที่โตพอจะเข้าใจแล้ว ส่วนน้องสาวก็ยังเล็กมากอายุเพียงขวบเดียว
คุณหญิงในเวลานั้นได้แต่สงสัยและรอคอยแม่ที่หายไป ดังที่คุณจุลินทร์ได้เขียนไว้ ในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจ คุณสงวน ล่ำซำ ว่า
“สงวนได้พยายามอบรมและเลี้ยงดูบุตรทั้ง 4 ด้วยความเอาใจใส่ การทนุถนอม ได้เป็นไปหย่างดีมาก
ตามนิสัยของเขาซึ่งได้ถูกท่านบิดามารดาอบรมมาแล้วแต่เยาว ฉเพาะบุตรชายทั้ง 2 ซึ่งได้เข้าโรงเรียนแล้วนั้นเมื่อกลับบ้านเขาได้พยายามอบรมเกี่ยวกับการสึกสาและการรักชาติด้วยตนเอง สงวนได้เอาหนังสือรัถนิยม 11 ประการ ไห้เด็กทั้ง 2 ฝึกหัดเขียนเปนกิจประจำ เมื่อล่วงลับไปแล้ว บุตรหยิงน้อยคนที่ 3
ซึ่งยังไม่เดียงสา ได้เขย่าชายเสื้อและเร้าถามฉันเสมอๆ ว่า แม่ที่เปียกแป้งไห้ฉันกินเวลากลางวัน
และกล่อมไห้ฉันนอนเวลากลางคืนนั้นไปไหน เมื่อไรจะกลับมา...”
คุณหญิงพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ชีวิตที่มีแม่เป็นอย่างไร ไม่เคยรู้ เช่นเดียวกับคนที่มีแม่ ก็ไม่รู้ว่าไม่มีแม่เป็นอย่างไร เป็นประสบการณ์ที่แทนกันไม่ได้”
ข้อมูลอ้างอิง
อภิญญา นนท์นาท ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า ใน https://www.muangboranjournal.com/post/ThaiNiyom-building?fbclid=IwAR3HjCQShxmBe4nkyJc9y4EQy6L339Vw1OKJexzKw-L0Gnb7gnX31rCebBQ