โดย มะกล่ำ
แรกเห็น คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ผู้หญิงในวัยปลายสี่สิบ ผิวขาวจัดตัดกับเก้าอี้สีดำตัวสูงใหญ่ที่เธอนั่งรอ เธอยิ้มกว้างรับผู้มาพบ พลอยให้ห้องเล็กๆ นั้นสว่างไสวขึ้นฉับพลัน แล้วเอ่ยขึ้นอย่างถ่อมตัวเช่นทุกครั้งที่ได้คุยกันว่า “อายจริงๆ ที่ใครๆ จะมาคุยด้วย ก็จับโน่นนิดนี่หน่อยพอเขาถามว่าจะอ่านผลงานได้ที่ไหนก็ ไม่ทราบจะตอบอย่างไร”
ก่อนอื่นขอเท้าความไปถึงผลงานที่คุณหญิงจำนงศรีเอ่ยถึง อันได้แก่งานกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษ งานแปลวรรณกรรมของนักเขียนไทยร่วมสมัย (รวมทั้งผลงานของอัศศิริ ธรรมโชติ ในชุด "ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ของทิพวาณี สนิทวงศ์ฯ ในชุด “เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก” เรื่องสั้นของนิมิตร ภูมิถาวร, กวีนิพนธ์และกวีร้อยแก้วบางชิ้นของ “ท่านอังคาร” และของกวีรัตนโกสินทร์ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” และเพลง “หนึ่งเดียวคนนี้” ของนักร้องยอดนิยม อัญชลี จงคดีกิจ) บทละคร “สิ้นแสงตะวัน” ซึ่งได้รับรางวัล “จอห์น อี เอกิ้น ฟาวเดชั่น” บทกวีร้อยแก้วเล่าเรื่องไทยๆ ด้วยมุมมองใหม่ การแปลบทกวีอังกฤษและอเมริกันเป็นไทย และงานวิจารณ์ภาพยนตร์และละคร การแปล "ไตรภูมิพระร่วง" โดยเธอเป็นหนึ่งในคณะผู้แปลในโครงการวรรณกรรมอาเซียน งานล่าสุดคือบทเขียนเรื่อง “Boat Barges and Thai Literature” ให้กรมประชาสัมพันธ์ เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคในเดือนตุลาคมนี้
ผลงานเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์กระจัดกระจายอยู่ตามเอกสารของสถาบันต่างๆ คนไทยน้อยคนนักจะได้อ่าน น่ายินดีที่งานวิจารณ์ละเม็งละครในช่วงหลังของเธอเริ่มหันมาใช้ภาษาไทยในการสื่อกับผู้อ่านบ้างแล้ว แต่ประจักษ์พยานจากผลงานที่ผ่านมา กระไรเลยคุณหญิงจำนงศรี นักเขียน นักแปลกวี และ
นักวิจารณ์ท่านนี้ยังขัดเขินที่จะแสดงทรรศนะ เพื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่สนใจ
คุณหญิงจำนงศรี รัตนินเป็นธิดาของคุณจุลินทร์ และ คุณสงวน ล่ำซำ ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสี่และภรรยาคู่ชีวิตของ นายแพทย์อุทัย รัตนิน ภูมิหลังในวัยเด็กของคุณหญิงก่อนที่จะหันมาจับงานแปลและงานขีดเขียน เธอเล่าให้ฟังพอเป็นกระสาย แต่ก็พอจะทำให้นึกเห็นโลกของเด็กหญิงจำนงศรี ในวัยเยาว์ได้ไม่ยากนัก
“เป็นเด็กบ้านสวนฝั่งธนค่ะ กระโดดน้ำตูมๆ ช้อนปลาเข็มบ้าง ซุกซนไปวันๆ แต่ก็ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ นึกออกมั้ยคะว่า อย่างจะช้อนปลาเข็ม มันก็ต้องใช้ศิลปะนะคะ เราต้องรู้จักธรรมชาติของน้ำ ธรรมชาติของปลา เคยหัวทิ่มจมโคลนในท้องร่อง ก็เลยรู้จักธรรมชาติของโคลน (หัวเราะ) ด้วยเหตุนี้กระมังคะ ความสนใจในเรื่องศิลปะจึงเกิดขึ้น การได้สัมผัสกับของจริงไม่ใช่เขียนกันแค่ทฤษฎี สรุปง่ายๆ ว่า ที่บังอาจ (เน้นเสียง) วิจารณ์การละครเนี่ยทั้งๆ ที่เรียนถึงแค่อายุ 18 คงเป็นเพราะมีโอกาสสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้มาก”
คุณหญิงจำนงศรีจบการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนราชินี แถวปากคลองตลาด แล้วนิราศจากเมืองไทยไปอังกฤษ แต่ก่อนหน้านั้นน่าชื่นใจที่เมล็ดพันธุ์ของความเป็นไทยได้แทงยอดและยืนต้นอยู่แล้วอย่างแข็งแรงในหัวใจของเด็กหญิงวัยสิบสองผู้นี้...อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
น่าอัศจรรย์ใจอย่างไร คุณหญิงจำนงศรี ได้จำลองโลกในวัยเยาว์ในช่วงนั้นให้ฟังดังนี้
โลกของเด็กหญิงจำนงศรี ในอดีตนั้นซึมซับเรื่องราวในวรรณคดีไทยของไทยไว้อย่างเต็มเปี่ยม จากทั้งการอ่าน ฟัง และการดูนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรที่โรงละครเก่าที่ไฟไหม้ไปนานแล้ว การรบทัพจับศึกระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์แห่งกรุงลงกา อย่าว่าแต่เรื่อง รามเกียรติ์ ราชาธิราช เลย วรรณคดีชั้น อิเหนา น่ะหรือ เธอก็ได้อ่าน ได้ฟังมาแล้วเต็มสองหู แต่เรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นไม่มีหวัง เพราะบทอัศจรรย์มันร้ายนัก ในความเห็นของคุณยายของเด็กหญิง
นอกจากนั้นเด็กหญิงจำนงศรีเมื่อครั้งยังอยู่ในเมืองไทย ก็ขึ้นเวทีรำละครไทยเฉิบๆ มาแล้ว ชีวิตที่อวลด้วยกลิ่นไอความเป็นไทยนั้น เป็นชีวิตในท่อนแรกที่เธอได้พบในครอบครัวธุรกิจตระกูล “ล่ำซำ”
ส่วนชีวิตท่อนที่สองกลับตาลปัตร เนื่องจากเป็นโลกอีกโลกหนึ่งที่ประกอบด้วย คิงเลียร์ แม็คเบธ เฮมเล็ต และผลงานอีกหลายชิ้นของมหากวีอังกฤษ เช็คสเปียร์ รวมทั้งงานละครของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอร์ และ อิบเซ่น ที่ถือกันว่าเป็นนักการละครยุคใหม่
ในครั้งนั้นกิจกรรมที่เสริมความเข้าใจให้เธออย่างยิ่งยวด และเธอได้มองเห็นคุณประโยชน์ของมันเป็นอย่างยิ่งในช่วงหลัง คือ การได้เรียนได้วิเคราะห์ ได้ถกเถียง และได้ช่วยจัดการแสดงละครโรงเรียน จากบทละครเหล่านั้น เธอรักการดูละคร ภาพยนตร์ และมีความสุขมากเวลาได้ไปนั่ง เดินๆ ตามหอศิลป์
นี่เรากำลังก้าวเท้าเข้าสู่โลกแห่งการพินิจพิเคราะห์สรรพสิ่งในรูปของศิลปะ หรืออีกนัยหนึ่งผลงานการวิจารณ์ของคุณหญิงจำนงศรี เมื่อได้แสดงทรรศนะเหล่านั้นให้ปรากฏเป็นข้อเขียนต่อสาธารณชน
“ไม่เคยเรียนทฤษฎีการวิจารณ์” เธอกล่าว ประสบการณ์ในชีวิตของคุณหญิงจำนงศรีได้ตกผลึกและกลั่นกรองออกมาเป็นทรรศนะที่เธอมองงานวิจารณ์และนักวิจารณ์ด้วยกันเองดังนี้
“คิดว่านักวิจารณ์ควรรู้จักมองตัวเองเสียก่อนที่จะไปมองงาน การรู้จักตัวเองนี่เข้าหลักพุทธศาสนานะคะ คงไม่มีปุถุชนคนไหนหรอกที่ทันกิเลสของตัวเองไปเสียหมด แต่สิ่งที่เราควรทำ คือ พยายามมองตัวเองอย่างน้อยก็พอให้รู้บ้างว่าเรามีอคติกับอะไร ฉันทาคติกับอะไร ถ้าเรารู้จักสิ่งนี้แล้วนะคะ จะช่วยให้งานของเรามีความเป็นกลางได้มากขึ้น”
คุณหญิงจำนงศรี เริ่มทำงานครั้งแรกหลังจากกลับมาจากเมืองผู้ดีอังกฤษ ด้วยการทำงานในหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ถือได้ว่าเธอเป็นนักข่าวสตรีอายุน้อยที่สุด ที่รับความรับผิดชอบเป็นบรรณาธิการคุมหน้าสตรีและสังคม ที่น่าทึ่งในยุคนั้น คือ เมื่อ 28 ปีล่วงมาแล้ว
ในระหว่างการพูดคุย ถ้าไล่สายตาละเรื่อยไปข้างตัวเธอ ชั้นหนังสือที่อัดแน่นด้วยตำราศิลปะทั้งไทยทั้งเทศ เป็นข้อพิสูจน์ความเป็นผู้ใฝ่ศึกษาของเธออย่างโจ่งแจ้ง กลับมาอีกที ก็ต่อเมื่อเธอได้เสริมคำพูดข้างต้นให้กระจ่างขึ้นว่า
“ไม่ใช่เพราะเราเป็นนายทุน เราดูละครที่ต่อต้านนายทุน เราก็บอกว่าเป็นละครที่ไม่ดี คือ คนเรามักจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราไปดูโดยรู้ตัวว่าเรามีอคติกับอะไร ใจเราจะเป็นกลาง และมองงานในฐานะเป็นศิลปะที่สื่อความคิด ความรู้สึก สรุปแล้วนักวิจารณ์เปิดใจให้กว้างกับทุกอย่าง แต่จะเปิดได้ยังไง ถ้าเราไม่รู้จักจุดอ่อนของเราไม่ใช่จุดแข็งนะ เพราะถ้าคิดว่าฉันเก่งยังงี้ยังงั้น ก็ไม่ต้องเป็นนักวิจารณ์” คุณหญิงจำนงศรี พูดถึงตรงนี้แล้วก็หัวร่อ อาจจะนึกขำที่ต้องมา “เล็คเชอร์” ให้ “นักเรียนตัวน้อย” ฟังนอกห้องเรียนอีกกระมัง
สุ้มเสียงมีชีวิตชีวาของเธอดังต่อไป “บางคนว่าต้องใช้ภาวะวิสัยในการวิจารณ์ อย่าเอาอารมณ์ตัวเองเข้าไปเกี่ยวนะ อันนี้ก็สงสัยอีก ไม่น่าเป็นไปได้ เป็นคนซะอย่างจะไม่ให้เอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวเสียเลยได้อย่างไร เขียนอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ ตอนนี้กำลังพูดจากอีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่ค้านตัวเองนะ เอาว่ายังงี้ ตัวเองเป็นคนที่รักงานศิลปะทุกประเภท เวลาไปดูหนังหรือละครก็พกเอาความรัก วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ ดนตรี สถาปัตยกรรม และอะไรต่างๆ เข้าไปด้วย เมื่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นบนเวทีหรือจอมัน คือการรวมศิลปะเหล่านี้เข้าด้วยกันและสื่ออารมณ์ออกมาอย่างมากมาย จะไม่ให้สื่ออารมณ์นั้นลงบนกระดาษบ้างเชียวหรือ คงเป็น “ภาวะวิสัย” ล้วนๆ ไม่ได้แน่”
ระหว่างที่ทำงานหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอยู่ 3 ปี ก่อนที่จะลาออกมาใช้ชีวิตแม่บ้าน คุณหญิงเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์บ้าง ละครการกุศลสมัยนั้นบ้าง มาเริ่มเขียนงานวิจารณ์ภาษาอังกฤษอีก เมื่อได้ไปชมโขน เรื่อง หนุมานชาญสมร ของ อาจารย์เสรี หวังในธรรม ที่โรงละครแห่งชาติ
ส่วนงานวิจารณ์โดยใช้ภาษาไทยชิ้นแรก คือการวิจารณ์ละครเวทีเรื่อง กันตัน ของภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และต่อมาเป็นงานวิจารณ์ละครชิ้นล่าสุดของ คณะละครสองแปด ซึ่งเธอเขียนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยรวมแล้วไม่กี่ชิ้นเท่านั้น
“ถ้ามีอิสระมากกว่านี้ คงเขียนมากกว่านี้มาก” คุณหญิงว่า เนื่องจากการหยิบปากกาขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของใครต่อในสังคมลมโชยของกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับ คุณหญิงจำนงศรี โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวโยงถึงเรื่องจิตใจอันแสนจะเปราะบางของทั้งสองฝ่าย คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน และผู้วิจารณ์
“บางคนเรารู้ว่า เราวิจารณ์ได้ บางคนก็แตะไม่ได้ เราจะรักษาความเป็นเพื่อนหรือไม่ มีคนเค้าว่า เราแหย ก็ยอมรับว่าใช่ วันที่เขียนวิจารณ์หนุมานชาญสมรนั้นเหงื่อแตก เพราะความอยากจะวิจารณ์มันมีเยอะ เห็นข้อเสียและข้อดีของมันอย่างมากมาย คุณเสรี หวังในธรรมมีความริเริ่ม ตั้งแต่เรื่อง มารซื่อชื่อพิเภก แล้ว แต่ท่านไม่ใช่นักการละครที่สามารถผูกบทและสร้างตัวละครให้มันแน่นและให้เข้มข้น น่าเสียดาย ในเมื่อฝีมือนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรดีจริงๆ คุณเสรีนั้นเป็นผู้ใหญ่ที่เรานับถือมาก จะขอความช่วยเหลืออะไร ท่านก็กรุณาร่วมมือเสมอ ตอนดู มารซื่อชื่อพิเภก ยังไม่กล้าเขียน พอถึง หนุมานชาญสมร ความแหยมันแพ้ความอยาก เขียนเสร็จแล้วศรีเหงื่อแตกเลย เพราะวิจารณ์งานของผู้ที่เราเคารพ ไม่ทราบว่าคุณเสรีได้อ่านหรือไม่ ท่านไม่เคยแสดงความไม่พอใจ อย่างนี้เราก็สบายใจ” นี่คือการกระทำแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” เป็นหนึ่งในหลายตัวอย่างที่เธอหยิบยกขึ้นมา
ระยะเวลา 3 ปีเศษ ในอาชีพนักหนังสือพิมพ์ของคุณหญิงจำนงศรี สิ้นสุดลงเมื่อเธอตัดสินใจหันมา
ใช้นามสกุล “รัตนิน” อาชีพจับปากกาของเธอทุกวันนี้ จึงไม่ใช่งานที่ต้องกระทำตามหน้าที่ หากแต่เป็นงานอิสระที่เจ้าตัวตั้งใจ “เมื่อตั้งใจทำก็ต้องไม่กลัวใครโกรธ จึงใช้ชื่อจริงในการเขียนงานวิจารณ์ทุกชิ้น”
“เห็นด้วยกับ คุณหญิงจินตนา (ศ.คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร) และใครๆ ที่พูดกันว่า จะต้องมีพื้นฐานความรู้รอบตัว ความรู้ด้านศิลปะที่ดีอยู่ในตัวนักวิจารณ์ อันนี้สำคัญ เพราะบางครั้งพบว่านักวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ วิจารณ์หนังฝรั่งโดยขาดความเข้าใจวัฒนธรรม สัญลักษณ์ ปรัชญาของเรื่อง”
“ข้องใจอยู่อย่างหนึ่ง ทำไมเราวิจารณ์นาฏศิลป์และละครของกรมศิลปากรกันน้อยเหลือเกิน การแสดงไทยๆ ประเภทต่างๆ ก็เหมือนกัน ถ้ามีการเขียนก็เชียร์ไปเลย โดยขาดการวิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ ทำไมเราไม่วิจารณ์กันจริงๆ บ้าง”
ข้อวิจารณ์ไม่ว่าจะวิจารณ์ศิลปะประเภทใดนั้น น่าจะมีทั้งทางด้านบวกและด้านลบ “คิดว่าถ้างานศิลปะชิ้นไหนที่วิเศษจนติอะไรไม่ได้เลย มันคงเป็นอะไรที่เทวดาประทานลงมา ถ้าศิลปินคนไหนพอใจงานของตัวจนคิดว่าไม่มีที่ติ ศิลปินคนนั้นก็คือศิลปินที่ “ตาย” แล้ว มีงานบางงานที่แย่มากหน่อย ถ้าเป็นประเภทนี้ คงไม่คิดอยากวิจารณ์ บอกตรงๆ ว่าตัวเองแหย อันที่จริงเห็นใจคนที่ต้องทำหน้าที่วิจารณ์นะ ติมากนักก็โดนพรรคพวกเค้าเล่นงาน...เละ จะด้วยความจริงใจหรืออะไรก็ตาม ก็จะถูกโจมตีว่า เป็นพรรคพวกกัน เห็นมั้ยคะ เมืองไทยมันเป็นยังงี้ คือสังคมมันแคบ แข่งขัน แล้วแตกแยกเป็นพวก นักวิจารณ์จะวิจารณ์ด้วยความจริงใจอย่างไร ก็มีทางถูกมองว่าไม่จริงใจอยู่ดี”
คุณหญิงสรุปประโยคสุดท้ายให้นักอ่านที่กำลังติดตามข้อเขียนของเธอให้ใจหายเล่น เพราะอย่างไรก็ตาม หลายช่วงของการพูดคุยในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า เธอยังไม่หมด “ไฟ” ในการเขียนบทวิจารณ์เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาในการบ่มความรู้สึก “อยาก” ดังที่เธอมักจะเอ่ยถึงเสมอในตอนต้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่คุณหญิงให้ความสำคัญอย่างเอกอุ ก็คือ ผู้ชมหรือผู้เสพงานศิลปะชิ้นนั้นๆ เอง “เราจะผลิตงานยังไง ถ้าคนขี้เกียจไปดู สมมุติว่าละครอย่างละครสองแปด เท่าที่ผ่านมาสังเกตว่า วันแรกๆ ไม่มีคนดู จนกระทั่งการวิจารณ์มันออกมาเป็นการใหญ่ เสร็จแล้ววันสุดท้ายจะแย่งที่นั่งกันดู”
ทำอย่างไรเล่าให้ทรรศนะในการเสพหรือดูงานศิลปะในบ้านเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เป็นการรำพึงขึ้นมาในยามบ่ายวันนั้นของคุณหญิง ทั้งยังเป็นเครื่องย้ำให้เธอได้ประจักษ์อย่างดีว่า ในวัยเด็กนั้นเธอได้รับโอกาสอย่างมากมายจากครอบครัว
และทำอย่างไรเล่ากับการพัฒนาคุณภาพของนักแสดงในการเสนอศิลปะสู่ผู้ชม เหล่านี้ล้วนเป็นคำถาม คำปรารภที่แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับการแก้ปัญหา แต่คุณหญิงจำนงศรี นักดูละครเวที และแม้ละครทีวีในจอตู้ ก็อดจะพูดถึงไม่ได้
“เรื่องความสามารถของนักแสดงบ้านเราก็ยังเป็นปัญหา เทคนิคการแสดงเป็นแค่เครื่องมือ หมายความว่า มันต้องพัฒนาความลึกของจิตใจด้วย เพราะการแสดงคือการเอาตัวเองไปเป็นคนอื่น ถ้าเข้าใจบทอย่างตื้นๆ การแสดงมันก็ต้องตื้นไปด้วย ชอบดู นพพล (นพพล โกมารชุน) เขาน่าจะแสดงละครเวทีบ้าง คิดว่าเขาคงเป็นคนที่อ่านมาก และเข้าใจอะไรๆ ที่ซับซ้อนได้ดี ไม่รู้จักเขาหรอกนะคะ เดาเอาจากการแสดงของเขา”
ความคับข้องใจของคุณหญิงจำนงศรีทั้งหลายทั้งมวล ในที่สุดแล้วก็กลับมาถึงประเด็นเรื่อง การศึกษาในสังคมไทย ถ้าจับประเด็นไม่ผิด หัวข้อการศึกษาดังกล่าวนี้เอง ที่เธอกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ การสนทนากับเธอคงจะยังไม่จบอย่างง่ายๆ ถ้าเราจะต้องมาคุยกันต่อถึงเรื่องที่สนใจอีกเรื่องหนึ่งในประดาหลายเรื่องที่เธอกำลังทำ
“อายจริงๆ ที่อุตส่าห์มาคุยด้วย ทั้งๆ เป็นคนจับโน่นนิดนี่หน่อย ไม่ค่อยจะมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน” เธอพูดอย่างนี้อีกแล้วก่อนที่จะจากกัน
ไม่รู้หรือไรว่า ผู้เขียนขัดเขินในความรู้น้อยนิดของตัวเองเสียยิ่งแล้ว
ขอเมืองไทยมีแค่ สิบ คุณหญิงจำนงศรีเท่านั้น โลกคงน่าพิสมัยกว่านี้อีกพะเรอ...
จาก: คอลัมน์ บานชื่น
Comments